nandialouge cover
interview

77 ปี ภัทรุตม์ สายะเสวี ชีวิตแปลว่าการเขียนรูป

ณ วัย 75 ปี เขาเขียนรูป อยู่บ้านที่ท่าวังผา กับภรรยา และแมวตัวหนึ่ง–เมื่อสองปีก่อน ผมเคยเขียนถึงเขา ศิลปินคนสำคัญของน่าน เวลาผ่านไปเขายังทำงานอย่างเข้มข้นคงเดิม (เพิ่มเติมคือแมวอีกสองตัว)

passion เหลือเฟือ มานะอุตสาหะเหมือนม้าหนุ่ม แข็งแรงทรงพลัง

แท้จริงร่างกายของเขาแทบจะเป็นเมืองหลวงของโรคภัย

“ที่รักษาอยู่ก็มีอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า พาร์กินสัน แคลเซียมน้อย ต้องกินแคลเซียมเสริมทุกวัน และโรคอะไรอีก ผิวหนัง มีสะเก็ดที่หัว บางอย่างนี่ดีขึ้นเยอะ หน้าชา ปวดหัว ไม่ทราบว่าเป็นอะไร หมอไม่บอก โรคไอกรน เวลานอนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่งั้นเดี๋ยวหลับไปเลย ใส่มาห้าหกปีแล้ว

“สองสามเดือน ไปกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง เพื่อหาหมอ บางครั้งหกเจ็ดหมอ ในโรงพยาบาลเดียวกันนั่นแหละ หมอบางคนนัดทุกหกเดือน บางคนนัดทุกสามเดือน”

โควิดโคเวร ส่งผลกระทบต่อเขา–เหมือนกับเราทุกคน การเดินทางเป็นไปได้ยาก แพทย์พยาบาลจำต้องเหินห่าง หยูกยาว่ากันทางขนส่งไปรษณีย์ แต่วิถีคนเขียนรูปไม่แปรเปลี่ยน

เมื่อวาน, ครบรอบวันเกิด 77 ปี วาระที่สมควรเฉลิมฉลอง ผมแวะไปหาเขาอีกครั้ง

มีโอกาสบุกเข้าถึงถิ่นถ้ำเสือใหญ่แล้วจะกลับออกมามือเปล่าก็ดูกระไร เลยขออนุญาตบันทึกเสียงบางช่วงบางตอนมาฝาก..

 

nandialogue

 

ครบ 77 ปี ถือว่าอยู่ในวันที่สบาย หรือไม่สบายใจยังไงบ้างครับตอนนี้ การเขียนรูปยังสนุกอยู่มั้ย

เฟรมหมด ชะงักไปสองเดือน นี่เพิ่งจะได้มาเมื่อไม่กี่วัน งานผ่อนคลาย ไม่เครียด ค่อยทำไป สบายๆ

เทียบกับสามสี่ปีก่อนถือว่าดีขึ้นมั้ย

ดีขึ้น ความเครียดไม่ค่อยมี ตอนนี้เขียนรูปเสร็จเร็วขึ้น แต่มันก็เปลือง (หัวเราะ) เปลืองสี เฟรม และไม่มีที่จะเก็บ ถ้าไม่มี ‘ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ’ ช่วยเอาออกไปบ้าง ก็ลำบาก การแขวนที่นั่นช่วยได้เยอะ สองปีที่ผ่านมาทำได้ค่อนข้างถูกใจ ไม่ถูกใจก็แก้ใหม่ แก้แล้วไม่ถูกใจอีก ก็มี อย่างรูปครูไพบูลย์ (บุตรขัน) แก้หลายหนแล้วไม่ถูกใจซะที ตอนนี้ก็ยังไม่ได้

ยังเอาอยู่มั้ย หรือเลิกแล้ว

เอา เขียนมาปีกว่า และหยุดไป พอนึกขึ้นมาได้ก็กลับมาเขียนใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้ คิดว่าได้ ยังไงก็ต้องได้

ทำไมถึงอยากเขียนรูปครูไพบูลย์

ชอบแก รูปเขียนผมได้อิทธิพลจากครูไพบูลย์ กับเพลงคลาสสิก ผสมกัน ตอนนี้มันมีในยูทูบ มีเด็กตัวเล็กๆ เป็นญี่ปุ่นคนนึง กับรัสเซียคนนึงมั้ง เด็กญี่ปุ่นอายุประมาณเจ็ดขวบเล่นไวโอลินเก่งมาก เด็กรัสเซียก็เล่นเครื่องดนตรีโบราณอะไรไม่รู้ ไม่รู้จัก น่ารัก เด็กญี่ปุ่นเล่นคล่องเป็นมืออาชีพเลย

ดูแล้ว คือยังไง

ดูบ่อย ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่นั่น บทเพลงมันสร้างความบันดาลใจ โดยมีความน่ารักของเด็กช่วยเสริมเข้ามาอีก

ได้เขียนรูปเด็กสองคนนี้มั้ย

ไม่ได้เขียน เขียนไม่ได้ ไม่มีรูปถ่าย ถึงมีก็คงเขียนไม่ได้ ไม่ถนัด มันต้องใช้ drawing มาก

ที่บอกว่าได้รับอิทธิพลจากครูไพบูลย์ มันเป็นยังไง เพลงกับ painting มันเชื่อมกันตรงไหน

อารมณ์ เชื่อมทางอารมณ์ ได้บรรยากาศ มีน้ำหนัก เพลงมันก็มีน้ำหนักเหมือนสี มีน้ำหนักมีจังหวะ เหมือนสี
ความไพเราะของเสียงก็เหมือนสี เสียงที่ไพเราะก็เหมือนเสียงสวยๆ เหมือนสีที่สวยๆ ..ฟังครูไพบูลย์มานานแล้ว แต่ยังประทับใจอยู่ ฟังคนอื่นไม่ประทับใจอย่างนี้ ไม่ค่อยติดใจกับนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ ผมอาจเป็นคนงมงายกับของเก่า ประทับใจงานเก่าๆ เอาความรู้สึกนั้นมาเขียนรูป ไม่ใช่เขียนตามเพลง รูปแบบต่างๆ ผมสร้างขึ้นมาใหม่

เพลงของครูไพบูลย์ที่บอก ชอบนักร้องคนไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า

ศรคีรี ศรีประจวบ ผมเคยพูดกับเพื่อนเมื่อสามสิบปีก่อนได้มั้ง เปรียบเทียบเพลง ‘ลานรักลั่นทม’ กับบทกวีของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ผมว่ายิ่งใหญ่พอกัน ตอนนั้นไม่มีใครคิดหรอกว่าครูไพบูลย์เป็นกวี เพลงของครูเป็นคีตกวี คนส่วนใหญ่ฟังได้แต่ความไพเราะ แต่ไม่รู้จักความเป็นกวีของแก ช่วงนั้นเพลงลูกทุ่งก็ยังไม่เป็นที่นิยมของนักศึกษารุ่นใหม่ด้วย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพลงลูกทุ่งเริ่มเกิด ก็จากงานของครูไพบูลย์ เพลง ‘น้องนางบ้านนา’ ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนถึง ผมฟังตอนเกิดเหตุเลย หน้าวัดบวรฯ ที่จอมพลถนอม (กิตติขจร) ไปบวชเณร นักศึกษาแพทย์เปิดเพลงนี้ ‘น้องนางบ้านนา’ มันเพราะมาก ฟังแล้วหัวใจเต้นแรง

ช่วงหลังๆ ก็ยังฟังอยู่ตลอด ?

ฟัง เปิดเพลงคลาสสิกตอนทำงาน เพลงลูกทุ่ง ฟังก่อนนอน เคยอ่านบทความของนักเขียนเก่า เทพ จรดล เขียนใน ‘ภูกะดึง’ หรือ ‘ชาวกรุง’ ไม่แน่ใจ แล้วก็มีงานของ จิ๋ว บางซื่อ บางเพลงผมยังไม่เคยฟัง มีเยอะนะเพลงที่เคยอ่าน แต่ยังไม่ได้ฟัง จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ฟัง ก็อยากหาฟัง ..นานแล้ว ผมเคยเขียนสีน้ำมันจากการฟังเพลงคลาสสิก ชื่ออะไร จำไม่ได้ แล้วก็มีเรื่องหุ่นกระบอกหลงรักหญิงสาว อะไรทำนองนี้ ฟังแล้วผมเอามาเขียนรูป เรื่องเพลงนี่มีส่วนสำคัญที่สุดเลย
เขาเขียนเพลงออกมาได้ไพเราะอย่างนี้ แล้วเรา.. มันน่าจะเขียนรูปที่สวย หรือมีคุณค่าอย่างนี้ได้บ้าง
เพลงเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ เป็นความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่สร้างสรรค์ออกมาได้

(เขาบอกว่า พูดมากแล้วเจ็บคอ ไปหาหมอในเวียงมาแล้วรอบหนึ่งก็ยังไม่หาย พูดอะไรนิดหน่อย ก็เจ็บ)

 

nandialogue

 

เป็นโรคใหม่ที่เพิ่มมาอีก ?

ใช่ ช่วงนี้เจ็บถี่ เจ็บมาก

แล้วโรคเก่าๆ ยังรบกวนแค่ไหน

มือสั่น รำคาญ ชีวิตประจำวันเขียนรูปไม่ค่อยได้ ไม่ได้ดังใจ พยายามจะเลี่ยง เขียนให้ง่ายที่สุด ไม่ใช้ฝีมือ สั่น แต่บางวันก็นิ่ง รูปของผมไม่จำเป็นต้องนิ่งมาก สั่นก็สั่นไป (หัวเราะ)

ที่บอกว่าไม่ใช้ฝีมือ แล้วใช้อะไร

สมอง ใช้อารมณ์ ความคิด จินตนาการ ฟังเพลงก็ช่วยเปิดจินตนาการ

สั่นก็ทำได้ เขียนรูปได้ ?

ได้ คิดว่าเขียนได้ ยังไม่ตันง่ายๆ

อายุ 77 ปี ความอยากเขียนรูปลดลงไปมั้ย

ไม่.. มันเป็นหน้าที่ ไม่ใช่หน้าที่หรอก เป็นความจำเป็นของชีวิต

จำเป็นยังไง

จำเป็นต้องเขียน ไม่เขียนก็เหมือนตัวเองไม่มีคุณค่า มันเหงา เขียนแก้เหงาด้วย แก้เครียด มันไม่มีค่า รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ถ้าไม่เขียนรูป ปล่อยเวลาผ่านไป ทั้งที่เวลาเหลือน้อยแล้ว ต้องเร่งหน่อย ยังไม่ถึงจุดหมาย

อีกไกลหรือเปล่า

คิดว่าไม่ไกล ถ้าทำไม่ได้ก็ถึงจุดจบ (หัวเราะ)

มั่นใจมั้ย ว่าจะสามารถไปถึงจุดหมายได้

มั่นใจ เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง นั่งอยู่คนเดียว คิดและมั่นใจว่าทุกอย่างในโลกนี้ ผมเขียนได้หมด

นั่นคือตอนไหน สมัยยังเรียนจิตรกรรมฯ อยู่ หรือว่าออกมาแล้ว ?

ออกมาแล้ว นั่งอยู่สนามหลวงคนเดียว ตอนทำงานก็เคยคิดว่าเขียนได้ แต่ไม่ได้ลงมือทำ ทำเล็กๆ น้อยๆ ที่หัวหน้าสั่งให้ทำ ก็เขียนได้ดังใจ เคยเขียนภาพประกอบให้หนังสือของอาจารย์ ชิน อยู่ดี ตอนหลังเป็นศาสตราจารย์ แต่ตอนนั้นแกทำงานอยู่ที่กองโบราณคดี ใช้งานผมเรื่อย เอาอะไรมาให้เขียนรูปประกอบหนังสือ ลายบ้านเชียง รูปขวานหินโบราณ
ตอนหลังแกเอารูปพวกสัตว์ล้านปี รูปไดโนเสาร์ มาให้ปั้น เป็นตุ๊กตาเล็กๆ ผมก็มีโอกาสช่วยทำให้

ปั้นด้วย เขียนด้วย ?

ปั้นด้วย เขาเอาปูนปั้นรูปสิงโตสมัยทวาราวดี มาจากนครปฐม เอามาตั้งหน้าห้องทำงานผม ผมเห็น ก็เลยไปซื้อดิน ใกล้บ้านผมมีช่างปั้นหม้อ ก็ไปซื้อดินเขามา เวลาว่างนั่งปั้นเป็นตุ๊กตา ใหญ่กว่าหัวแม่มือหน่อย ปั้นสิงโตแบบทวาราวดี คนเห็นก็ชอบ อาจารย์ชินเห็นว่าผมปั้นได้ แกเลยเอารูปไดโนเสาร์มาให้ปั้น มันบังเอิญมีเตาเผาไฟฟ้าที่ห้องทำงาน ผมปั้นเสร็จ รอแห้ง เอาเข้าเตาอบไฟฟ้า ก็น่ารักดี

ตอนนี้ยังปั้นได้มั้ย

มันไม่ได้ทำมานาน เมื่อก่อนตอนมีหลาน ลูกของพี่ชาย ผมปั้นพวก ป็อปอาย นกเพนกวิน ให้หลานเล่น เดี๋ยวนี้คงปั้นไม่ได้แล้ว มือไม่ไป

ตอนนั่งอยู่ที่สนามหลวงแล้วมั่นใจว่าทำได้ทุกอย่าง มันเป็นยังไง

เกิดความมั่นใจขึ้นมา ว่าเราทำได้ เขียนในแบบของตัวเอง เขียนสีน้ำ จะเขียนอะไรก็คิดว่าเขียนได้
แต่ความจริงก็คือแทบไม่ได้เขียนเลย ถ้าเขียน มันต้องเลือกเอาสักอย่าง ระหว่างการอนุรักษ์กับเขียนรูป ผมอยู่ข้างการอนุรักษ์ เพราะหน้าที่

(ภัทรุตม์รับราชการเป็นช่างอนุรักษ์ ทำหน้าที่ซ่อมจิตรกรรมฝาผนังอยู่ 37 ปี ก่อนจะครบวัยเกษียณเพียงปีเดียว 

เขาลาอออกมาเขียนรูป ให้รออีกปีเดียวก็ไม่ไหว อีกวันเดียวก็ไม่ไหว)

ความรู้สึกมั่นใจที่ว่าอยู่กับเรานานแค่ไหน

อยู่ตลอด จนกระทั่งลาออก มาตั้งต้นเขียนรูปใหม่ ก็หมดเลย พอทำแล้วถึงรู้ว่าทำไม่ได้

(เขาเคยเล่าความรู้สึกช่วงนั้นว่าเหมือนตกนรก มันทิ้งการเขียนรูปไปนานเกินไป ความมั่นใจนั้นแท้จริงคือความลวง พอลงมือแล้วเขียนไม่ได้ แต่เขาก็พยายามเขียนๆๆๆ จนถึงวันนี้ เขียนด้วยวิธีใหม่ๆ ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญแบบนักศึกษาจิตรกรรมคนเดิม)

ช่วงที่เรียน เคยมีอาจารย์บางคนพูดกับผมว่า–ภัทรุตม์ อย่าเลิกนะ สีน้ำ
แต่ผมเลิก (หัวเราะ) เพราะเลือกไปทำงานอนุรักษ์ เมื่อสองสามเดือนก่อน มีเพื่อนคนหนึ่งโทรฯ มา คือตอนผมแสดงงานที่หอศิลป์จามจุรี ปีก่อน เขาช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน จู่ๆ เขาโทรฯ มา บอกว่า ทำไมมึงไม่เขียนสีน้ำต่อ

ผมบอกเขาว่าทำไม่ได้ บอกไปด้วยความโกรธ ผมโกรธเขาว่าตอนนั้นทำไมมึงไม่เตือนกู นานมาแล้ว สมัยซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง มีเพื่อนอีกคนเขาพูดสะกิดในทำนองว่า ผมยังไม่มีผลงานเป็นของตัวเองเลยนะ ผมก็เถียงในใจ กูทำงานอยู่ทุกวัน ไม่นับเป็นผลงานเหรอ (หัวเราะ) คือตอนนั้นไม่เข้าใจ จริงๆ เขาคงหมายถึงงานศิลปะ สมัยเรียนศิลปากร ผมไม่ได้เก็บ เหลือสองรูปแค่นี้ (ในบ้านเขามีรูปสีน้ำเก่าแก่แขวนอยู่สองรูป เป็นงานที่ทำเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา) พวกงานที่เคยติดบอร์ด ไม่รู้หายไปไหนหมด ไม่ได้เก็บไว้เลย เคยไปแสดงที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ งานศิลปะนักเรียน แล้วมีครั้งหนึ่ง ตอนเรียนช่างศิลป มีงานแสดงที่สวนอัมพร เขาเอาทั้งงานของนักเรียนและอาจารย์ไปแสดง งานผมถูกเลือกไปโชว์ชิ้นหนึ่ง จำได้ว่า ขายได้สองร้อย และมีอาจารย์คนหนึ่งพูดเปรียบเทียบ ระหว่างงานของผมกับคนข้างๆ ซึ่งเป็นของอาจารย์อีกคน แต่อันนี้ไม่พูดดีกว่า มันเหมือนยกตัวเอง

รูปนั้นขายไปสองร้อย ?

เยอะนะ เงินสองร้อยตอนนั้น มีเพื่อนเคยส่งรูปไปแล้วชนะการประกวด ได้ออกทีวี ได้เงินมาห้าสิบบาท เลี้ยงข้าวต้มวัดบวรฯ ตอนนั้นยี่สิบกว่าบาท กินกัน 6-7 คน อิ่ม

ความคิดที่ว่าทำได้มันอยู่ในใจมาตลอด ?

ความรู้สึกไง เวลาผมไปไหนต่อไหน อย่างตอนไปทำงานที่อิตาลี วันว่างไปเดินในพิพิธภัณฑ์ รู้สึกว่ามันมีที่ว่างสำหรับผม

เห็นว่างานเราสามารถเขียนรูปมาแขวนโชว์ที่นี่ได้ ?

มั่นใจมาก ตอนนั้นยังไม่ได้คิดเรื่อง abstract ยังทำสีน้ำเป็นหลัก แต่ตอนนี้มาเขียน abstract ก็ไม่ดัดจริตเขียน มันไปของมันเอง รู้สึกเอง

เท่าที่เห็นมา เมื่อก่อนจะเน้น portrait กับ landscape

ก็ apply มาจากนั้น landscape ที่ทำก็ถูกใจ และก่อนนั้นมันมีบางชิ้นผมเขียนสลับ abstract ก็ชอบทั้งสองอย่าง แต่ตอนนี้ทำ abstract เป็นชุดไปเลย ไม่เชิงว่าจะทิ้ง portrait เวลาเห็นเด็กน่ารักก็ยังอยากเขียน คนแก่ก็เหมือนกัน เพราะผมรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยกับเด็ก กับคนแก่ เด็กผู้หญิงกับคนแก่ผู้หญิง คนแก่ผู้ชายไม่ค่อย ไม่มีความรู้สึก แต่เด็กผู้ชายบางคนก็อยากเขียน เด็กผู้หญิงนี่อยากเขียนไปหมด พวกสาวๆ ไม่อยาก เมื่อวานผมดูหนังในยูทูบ เขาเลี้ยงหมา มีลูกอ่อน เขาถ่าย แค่เห็นเขามองกล้อง ผมรู้สึกทนไม่ไหว หมายถึงตัวแม่เขานะ ดูมันดัดจริต ตั้งใจ ไม่ใสสะอาดเหมือนคนเป็นลูก เหมือนหมา เหมือนแมวที่เขาอุ้ม

 

nandialogue

 

โควิดอย่างนี้คงไม่ได้ออกไปถ่ายรูปเด็กๆ นานแล้ว ?

ใช่ อาศัยดูยูทูบ แต่ก็ไม่ได้เขียน ดูแค่น่ารัก บันดาลใจ พอจิตใจดี งานเราก็ไม่ขุ่นมัว ช่วงหลังรูปเด็กๆ ไม่มีให้เขียน landscape ก็ไม่มี เพราะไม่ได้ออกไปข้างนอก มันกังวล นานๆ เข้าเมืองหรือไปหาหมอ ก็พอเป็นโอกาสได้เห็นโลกข้างนอกบ้าง เห็นแล้วก็รู้สึกหมดนะ รู้สึกมาก มองทุกอย่างเป็นรูปเขียนไปหมด อย่างเวลานั่งรถมองเห็นทิวทัศน์ landscape สวยๆ ถูกใจ ผมนึกถึงรูปเขียน ต้องเขียนอย่างนี้ๆ

ถือว่าโควิดส่งผลมาก ?

มาก ชัดเจนที่สุดคือผมไม่มีรูปเด็กจะเขียน พวก landscape ก็เหมือนกัน มันไม่ค่อยได้ออกไปไหน

แล้วทำงาน abstract นานๆ รู้สึกเริ่มตันมั้ย

ไม่ตัน ผมดูอะไร มันก็เห็นเป็นรูปเขียน แม้แต่ดูรูปของศิลปินคนอื่นๆ มันก็เข้าตาเราได้ เข้าอารมณ์เราได้ แปลงมาเป็นงานของเราได้ ไม่ใช่ไปลอกเขานะ

คำว่าตัน ไม่เคยมี ?

ไม่มี อาจจะตื้อๆ บ้าง บางทีกูจะเขียนอะไรวะ แต่ไม่ตัน ไม่เรียกว่าตัน

มั่นใจว่าวันหนึ่งถึงจุดหมายแน่นอน ?

ถึง ถ้าไปโน่น (ชี้มือไปไกล แบบที่เข้าใจกันว่าหมายถึงต่างประเทศ) ถึงเลย

ที่บอกว่าอยากไปต่างประเทศ หมายถึงไปทำงาน ?

ใช่ แต่ไม่ใช่นั่งเขียนข้างถนนนะ หมายถึงเขียนในห้อง ในบ้าน คิดว่าถ้าได้ไปจริง น่าจะเขียนได้เยอะ เพราะมันมีสิ่งใหม่ๆ ให้เราดู อยู่กับที่ ทำงานยาก มันต้องแสวง

คิดแค่ไหน เรื่องไปเมืองนอก จริงจังแค่ไหน

ร้อยเปอร์เซ็นต์

ยังไงก็จะไป ?

ไป ถ้าไม่มีตังค์ก็กู้ (หัวเราะ) ยืมตังค์น้อง

ไปเพื่ออะไร

เพื่อหาประสบการณ์ เพื่อหาสิ่งที่ไม่เคยเห็น เอามาเพิ่มใจเรา

ประเทศไทยไม่พอ ?

ไม่พอ ยิ่งแค่ใน จ.น่าน นี่.. ไม่พูดดีกว่า เอาว่ามันซ้ำซาก

เป็นต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สกลนคร ก็ไม่ได้ ?

คิดว่าไม่มีประโยชน์ มันต้องไปถึงสวรรค์

คำว่าต่างประเทศ มีระบุชัดๆ ในใจมั้ยว่าอยากไปที่ไหน

ยุโรป เพราะผมคลั่งไคล้อารยธรรมเดิมของเขา ของโบราณ ผมทำงานอนุรักษ์มาตลอด ผมเป็นห่วง คนไทยยังไม่เข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ ทุกอย่างเลย ทำอะไรผิดๆ ถูกๆ ที่ผมสะเทือนใจมาก คือที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่นั่นมีธรรมาสน์เก่าแก่ ทำด้วยปูนกับไม้ ผมคิดว่าเก่าที่สุดในบรรดาธรรมาสน์ในประเทศไทย สวยที่สุดด้วย มันผุพัง และไม่มีใครคิดจะอนุรักษ์ เห็นเขาสร้างของใหม่ๆ ประสาทอะไรล่ะ ที่สภาผู้แทนฯ หรือไง ลงทุนกันทีเป็นร้อยๆ ล้าน ลองนึกดูว่า ถ้าเราระดมช่างไม้ช่างปูนมาซ่อมธรรมาสน์ เสียงบนิดเดียว แต่ได้ของมีค่าคืนมา ฝีมือบรรพบุรุษ ฝีมือชั้นหนึ่ง สมัยผมไปทำงานที่วัดลำปางหลวง ไม่มีใครสนใจ รวมทั้งผมด้วย ไม่สนใจที่อนุรักษ์ เพราะมันอยู่นอกเหนือหน้าที่ จะเรียกว่านอกเหนือก็ไม่ถูก อาจจะไม่มีฝีมือ

สายเกินไปหรือยัง ถ้าจะเริ่มซ่อมบำรุงกันในวันนี้

ยังอยู่ ยังไม่สาย แต่เสื่อม ผุไปเรื่อยๆ ต้องรีบระดมคนมาดูแล น่าใจหาย ถ้าเสียมันไป ผมนึกถึงพระที่นั่งต่างๆ ลงทุนเยอะแยะ ยังทำขึ้นมาใหม่ได้ นี่ฝีมือบรรพบุรุษเราเอง หาไม่ได้แล้ว ทำไมเก็บรักษาไว้ไม่ได้ ทำไมไม่คิดจะทำอะไรให้มันคงอยู่ ของใหม่บางทีมันจำเป็นต้องมี แต่ให้มันเป็นความคิดใหม่ๆ นี่พูดถึงศิลปะ บางคนทำงานศิลปะแบบใช้ของโบราณเป็นต้นแบบ ความบันดาลใจ ผมพยามจะหลีกอันนี้ แต่ผมหวง หวงต้นแบบ ห่วง หวง

ที่บอกว่าคลั่งไคล้อารยธรรมยุโรปนี่คือเพราะว่าเห็นอะไรของเขา แล้วมันเชื่อมมาของเรายังไง

เขาอนุรักษ์ดี วงการอนุรักษ์ของไทยผิดแนวทาง ในวงการนี้ มีคำพูดหนึ่งที่ว่า การอนุรักษ์ที่แท้จริงหมายถึงไม่ต้องไปแตะอะไรเลย ทำให้แข็งแรง แค่นั้น ผมว่าอันนี้อาจสร้างความเข้าใจผิดให้ช่างอนุรักษ์ไทยแทบทั้งหมด หมายถึงไม่ไปแตะ ผมว่ามันต้องแตะได้สิ ต้องเสริมส่วนที่เสียหาย นี่ ไม่ไปเสริม มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะช่างที่เขาทำมันมีจุดหมายของเขา หมายถึงของที่ชำรุดมันไปทำลายจุดหมายของช่างเดิม ถ้าเราไปเสริมให้เหมือนของเดิม มันก็ดี และเรามีวิธีที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างของใหม่ที่เสริม กับของเก่า มันแยกออก ไม่เสียหายอะไร ถ้าทำแบบนี้ ไม่ได้ทำของปลอมขึ้นมา นี่ไม่แตะ ไม่พยามแตะเลย ชาวบ้านมาดู เขาก็บอกว่าภาพเขียนชำรุด ผุพัง ทั้งที่ทำแล้ว ซ่อมแล้ว แต่ผู้ใหญ่เขาให้ทำแค่นี้ นโยบายมีแค่นี้ แต่ก็มีบางแห่งทำเต็ม ทำได้ อย่างวัดสำคัญๆ ผมถามหน่อยว่าทำไมต้องวัดสำคัญ วัดราษฎรธรรมดา อย่างวัดหนองบัว จ.น่าน ชาวบ้านมาดู เขาก็ต้องการดูเรื่องนิทาน ชาดก พุทธประวัติ ที่สมบูรณ์

เราควรทำให้สมบูรณ์ การเขียนเติมให้สมบูรณ์ พอชำรุดหรือเสียหายนิดหน่อย เราก็รู้ นี่ถ้าเสีย แล้วเราไม่ทำ เพิ่มแต่ความแข็งแรง ไม่เขียนเติมให้สมบูรณ์ พอชำรุด เราก็ไม่รู้ว่ามันอาการหนักแล้ว ช่างอนุรักษ์ตอนนี้ยังถือคติเดิม เคร่งครัดด้วย ไม่พยายามไปเสริม หรือเพิ่ม เขาคิดว่าเหมือนไปแข่งกับฝีมือช่างครู จริงๆ มันไม่ใช่แข่ง แต่ไปหนุนเขา อย่างงานปูนปั้น ผมทำปูนปั้นด้วย บางทีเขามีประเพณี คือมีงานแต่ละทีก็เอาน้ำปูนไปทาปูนปั้นที่มันเปรอะด้วยคราบตะไคร่ ฝุ่น จับ ทาให้ขาวไปหมด ทาไปทุกปีๆ ความหนาของปูนใหม่ก็ไปกลบลายเก่าหมด ผมไปแคะออกให้เห็นลายเดิม บางคนเขาบอก ไปทำลาย

เหมือนรูปเขียนของ Michelangelo อายุมันห้าร้อยปี เต็มไปด้วยคราบฝุ่น เขม่าเทียน รูปที่เป็นสีแดง สีฟ้า กลายเป็นออกมาทางน้ำตาล พอคนคุ้นตานานๆ ก็คิดเอาเองว่าศิลปินเขียนสีนี้ พอไปทำความสะอาดเข้า ได้เห็นสีแดง สีฟ้า ชัด สดมาก นี่ต่างหากของเดิม บางทีเรามัวไปห่วงคราบเขม่า ผมก็ทำแบบนี้ที่วัดพระสิงห์ เช็ดคราบเขม่าออก ปูนปั้นเหมือนกัน ผมจะให้เขาเห็นลายเดิมที่ช่างโบราณสร้าง รูป The Last Judgment ผมมีโอกาสขึ้นไปดูถึงข้างบน เขาพาขึ้นไป ตอนนั้นผมไปทำงานที่วาติกันพอดี เขาให้ขึ้นไปถึงเพดาน เห็นฝีมือชัดเจน โอ้โฮ เทวดา อันนั้นแหละ ฝีมือ Michelangelo จริงๆ ที่เห็นเป็นสีออกน้ำตาลนั้นไม่ใช่ นั่นมันคราบฝุ่นห้าร้อยปี จะเก็บรักษาไว้ทำไม

 

nandialogue

 

แปลว่าตั้งแต่เกษียณออกมาจากวงการอนุรักษ์ฯ ยังตัดใจไม่ขาด ?

ไม่ใช่ตัดใจหรอก ผมฝัน ตั้งแต่ลาออกมาผมฝันตลอด ตอนทำงานมันอยู่กับงาน พอออกมา ฝันตลอด แล้วผมถือว่าเป็นฝันร้าย ฝันแทบทุกคืน บ้าอะไรก็ไม่รู้ บางทีฝันว่ากลับไปนั่งเรียนจิตรกรรมอีก เบื่อจังเลย ไอ้ฝันอันนี้ ออกมาตั้งนาน ยังฝันอยู่นั่นแหละ

ถ้าย้อนกลับไปดูตอนเป็นผู้ปฏิบัติงาน คิดว่าได้ทำหน้าที่ดีแล้ว หรือว่าค้างคาใจ

มีๆ มันไม่สมบูรณ์ ผมเคยพูดกับลูกน้องว่าหลังเกษียณแล้วผมจะเขียนหนังสือ เขียนเล่าข้อบกพร่องของผมในการอนุรักษ์ ถึงเวลาจริงไม่ได้ทำ เพราะมันลืมส่วนหนึ่ง กับไม่กล้า นี่ก็ถือว่าเป็นตราบาป

ในส่วนที่ลืมพอเข้าใจ แต่ไม่กล้านี่คือยังไง หมายถึงไม่กล้าประจานตัวเอง ?

ใช่ แล้วก็ไม่กล้าด่าคนอื่นด้วย แต่ก็จบไปแล้ว ผ่านไป เพราะทำไม่ได้แล้ว พยายามไม่คิดเรื่องอดีต ตอนนี้คิดถึงอนาคตมากกว่า อยากพัฒนาตัวเอง อยู่แค่นี้มันไปไม่ได้ไกลหรอก ไปได้ แต่อาจไปแค่คืบ ถ้าไปอยู่โน่น ไปได้เยอะ ไปได้ไกล ผมคิดว่าแบบนั้น

ต้องไปนานเท่าไร

แล้วแต่สภาพ

ต่ำสุดคือ..

ปีหนึ่ง เพราะจุดหมายไม่ใช่การไปเที่ยว ผมไปทำงาน ดูซิว่ามันจะก้าวหน้าขึ้นมั้ย ถ้ามันยังย่ำอยู่กับที่ ก็จะยอมรับ
แต่คิดว่าไม่อยู่ มันต้องก้าวไปข้างหน้า เบื่อการเมืองด้วย ทนไม่ได้ ทุกวันนี้ผมนึกถึงคำของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บ่อยๆ คือไม่อยากตายในสงครามการเมือง คิดว่าถ้ายังฝืนอยู่ที่นี่ ผมมีสิทธิ์ตาย

ด้วยสงครามกลางเมือง ?

มีสิทธิ์ ผมไม่มีแรงวิ่งหนีหรอก

คิดเห็นยังไงกับม็อบเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ชูสามนิ้วอยู่ตอนนี้

ผมสนับสนุนเด็กเต็มที่ เอาใจช่วยคนรุ่นใหม่ แทบจะไหว้มันเลย พวกเขามีบุญคุณกับประเทศชาติ ทำด้วยความรักชาติ เป็นคนที่มีคุณค่ามากกว่าผู้ใหญ่ทั่วไปเยอะแยะ แทบจะทั้งหมด พวกเขามีความรู้สึกว่าบ้านเมืองจมอยู่กับที่ ถอยหลังด้วย และเขารู้สาเหตุ ไอ้คนที่ไม่รู้สาเหตุ คนงมงายก็ต่อต้านเขา เขารู้สาเหตุ ต้นเหตุ เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องทุกข์ หมายถึงรู้ต้นเหตุแห่งทุกข์ คนหนุ่มสาวเขารู้ เขาเข้าใจ ไอ้พวกผู้ใหญ่นี่ต่างหากที่ยังโง่

ตอนเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) อดข้าว รู้สึกยังไง

กลัวเขาตาย กังวลไปถึงหลังการตายของเขา ว่ามันจะเกิดเหตุการณ์ใหญ่โต เหตุการณ์ที่คาดคิดไม่ถึง จะเกิดการรวมตัวครั้งใหญ่ ยิ่งกว่ายุคถนอมจับนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ผมเกรงว่าจะเกิดจราจล คน.. หมายถึงคนที่เข้าใจจะทนไม่ได้อีกแล้ว

เคยไปดูม็อบที่กรุงเทพฯ ด้วยตัวเองมาแล้ว ?

ไป เพราะต้องไปดู ถ้าทุกคนมัวแต่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัว ประเทศก็อยู่กับที่ ผมไปเพื่อสนับสนุน ไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่ง

พูดมาก เจ็บคอ พอแล้วนะ.

 

 

 

 

เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ภาพ: อธิวัฒน์ อุต้น

You may also like...