“20 บาทเท่าเดิม” นี่คือราคาข้าวกะเพราหมูสับร้านอาหารตามสั่งในเมืองน่าน ของ เอ๋-นพดล ทับทิมแดง เขาเกิดที่กรุงเทพฯ ยายเลี้ยงที่อ่างทอง ถึงห้าขวบ แม่ที่เป็นคนน่านพากลับมาเติบโตยังดินแดนถิ่นเหนือในบ้านไม้หลังน้อยๆ ตรงมหาวงศ์ซอย 2 จบประถมฯ ที่จุมปีวนิดาภรณ์ ม.ต้นที่นันทบุรี และจบ ม.6 หลักสูตร กศน.
“เสียดายเวลาช่วงเรียนจบ ม.ต้นใหม่ๆ เตร่ไปเตร่มา งานการไม่ทำ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน วัยรุ่นกำลังอายุเลขสิบกว่าๆ รักสนุก ชอบเที่ยว มาจริงจังทำงานตอนอายุยี่สิบกว่าแล้ว ทำงานอยู่ในห้างนราฯ เป็นพนักงานห้างเติมของเงินเดินอยู่ได้ปีกว่า ออกไปเป็นพีซีขายกางเกงยีนส์อยู่พัทยาไม่ถึงปีก็กลับมาน่านช่วยอาจารย์ที่รู้จักเขาคุมห้องซ้อมดนตรีกับคุมร้านเกม ทำได้ระยะหนึ่งได้เงินเดือนน้อย อยู่ที่เดิมไม่ได้
“จนมาเจอกับแฟนคนปัวก็ตามเขาเข้ากรุงเทพฯ ไปทำงานฝ่ายจัดของส่งสินค้ากับบริษัทญาติแฟน อยู่ได้ไม่ถึงปี กลับมาน่านเทียวขึ้นเทียวลงบ้านผมบ้านแฟน พออายุเกือบสามสิบถึงได้ทำงานส่งเครื่องดื่ม ประมาณปีกว่าก็ตัดสินใจออกอีก ทำงานตั้งแต่อยู่หรูบนห้างจนมาขายแรงขนของ”
ณ วัย 41 ปี เขาอาศัยอยู่ในบ้านไม้หลังเก่ากับครอบครัวและใช้พื้นที่หน้าบ้านเปิดร้านอาหารตามสั่งที่หลายคนในเมืองน่านเลือกผูกปิ่นโตในยุคที่น้ำมันขึ้น ของแพง ค่าแรงเท่าเดิม
ทุกคนน่าจะรู้จักร้านก๋วยเตี๋ยวโฮเด้งหรือไม่ก็โกเด้งกันอยู่แล้ว วันนี้ nan dialogue ชวนไปทำความรู้จักกับร้านเอ๋เด้งตามสั่งราคา 20 บาท
มาเริ่มขายอาหารตามสั่งเพราะว่า ?
ทำงานเป็นลูกจ้างคนอื่นมีทั้งความกดดันและโดนด่า วันหนึ่งไปส่งของที่ต่างอำเภอ เจอร้านอาหารตามสั่งร้านหนึ่ง ในใจคิดขึ้นมาว่าแบบนี้ผมก็ทำได้ กับข้าวชอบทำอยู่แล้ว คิดในใจว่าถ้าไม่ไหวกับงานนี้จริงๆ จะลาออกไปทำร้านเอง
ตอนทำงานร้านขายเครื่องดื่ม แฟนผมขายขนมจีนน้ำเงี้ยวที่บ้าน ยังไม่ได้ขยายมาเป็นร้านแบบนี้ มีโต๊ะอยู่ตัวเดียว คิดว่าไปขายของกับเมียก็ดีเหมือนกัน เก็บความคิดไว้ในใจ พอผ่านไปได้เดือนหนึ่ง รับเงินเดือนสุดท้ายตัดสินใจออกเลย ลงทุนซื้อของ ซื้อเตา ซื้อแก๊ส กระทะ หม้อข้าว เตรียมของ ศึกษาเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการทำอาหารแล้วเปิดร้านขยายพื้นที่เพิ่ม
ตั้งแต่เปิดร้านจนถึงทุกวันนี้เป็นหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน ข้าวผัดกะเพรา ข้าวผัดกระเทียม ข้าวผัดกะปิ ข้าวผัดพริกแกง ผัดถั่ว ผัดเขียวหวาน ผัดพริกหนุ่ม หมูผัดกะปิ ผัดไข่วุ้นเส้น ข้าวต้ม ไข่เจียว ผัดเปรี้ยวหวาน ผัดผักกาด ผัดผักบุ้ง ผัดผักรวม แพนง สุกี้ ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว ขนมจีนน้ำเงี้ยว ประมาณนี้
เริ่มต้นขายวันแรกเป็นอาหารตามสั่ง 10 บาท เมนูแบบที่ขายทุกวันนี้ ปรับเปลี่ยนบางอย่างที่คนไม่กิน อะไรที่กินเยอะหน่อยก็เอามาใส่เพิ่ม มีเนื้อให้เลือกสองอย่าง หมูหมักและหมูสับ ขายพร้อมกับน้ำเงี้ยวของแฟนผม ขายตั้งแต่ปี 50 จนถึงทุกวันนี้ 15 ปีแล้ว
เป็นคนทำอาหารมาก่อนหรือเปล่า
ใช้วิธีครูพักลักจำ ชอบกินอาหารตามสั่ง ชอบทำกับข้าวเป็นประจำรู้ว่าต้องใส่อะไร ลองทำแบบนั้นแบบนี้ รสชาติใช้ได้แล้วคิดทำให้เป็นเอกลักษณ์ ลองผิดลองถูกหลายๆ ครั้ง ตอนขายแรกๆ รสชาติอาจจะยังไม่ถูกปากลูกค้ามาก เน้นขายถูก อร่อยไม่อร่อยไม่มีใครว่า
พอจับทิศทางได้ว่าลูกค้าชอบรสชาติแบบไหน รสชาติของร้านอื่นๆ เป็นยังไง ไปไล่ชิม เมนูที่ดัดแปลงจากไปชิมของร้านอื่นมีเหมือนกัน รสชาติปรับเปลี่ยนได้ตามแต่ลูกค้าจะสั่ง
ปี 50 เศรษฐกิจเป็นยังไง
ตอนนั้นอะไรๆ ยังไม่แพง ใช้ข้าวหอมปทุมกระสอบไม่ถึงพัน อยู่ที่หกร้อย ข้าวหอมมะลิเจ็ดร้อยแปดร้อยเอง แก๊สอยู่ที่ถังละสองร้อยกว่า น้ำมันพืช น้ำมันปาล์มถุงละ 29 บาท หมูสามกิโลร้อย ถูกมาก ร้านหมูกระทะเปิดกันเพียบ
ขาย 10 บาทได้อยู่ปีสองปี ปรับขึ้นเป็น 15 บาท เพราะแก๊สเริ่มปรับ ข้าวเริ่มปรับราคาตามเศรษฐกิจ ยืนราคา 15 บาทมาได้ประมาณปีกว่า จนถึงราคาข้าวกระสอบละพัน แก๊สขึ้นสี่ร้อยกว่า ปรับเป็น 20 บาท จนถึงปัจจุบัน ตัดส่วนค่าเช่าที่ ค่าน้ำค่าไฟออกไป เพราะขายในบ้านตัวเอง ขายราคานี้อยู่ได้
ตอนนี้ราคาวัตถุดิบเป็นยังไง
ข้าวหอมปทุมซื้อร้านที่รู้จักกันเขาลดให้ ตอนนี้กระสอบละหนึ่งพัน ถ้าขายดีๆ ไม่ถึงเดือนประมาณสองอาทิตย์กว่าก็หมด วันไหนขายดีไม่ถึงสองอาทิตย์ด้วยซ้ำ ส่วนราคาหมูขึ้นๆ ลงๆ เมื่อเช้า (10 มีนาคม 2022) บอกจะปรับขึ้นอีก ซื้ออยู่ที่ ’โลฯ ละ 180 บาท จากคราวก่อนอยู่ที่ 160-170 บาท เดือนที่ขึ้นเป็นข่าว 190 บาท ที่อื่นขาย 200 กว่า ดีที่ได้ซื้อกับขาประจำที่ซื้อมาเป็นสิบๆ ปีได้ราคาทุน ช่วงนี้จะเป็นปัญหาเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้น
ไข่ขึ้นก็ซื้อกับขาประจำเขาคิดราคาทุนให้ ใช้ไข่เบอร์ 4 สลับกับเบอร์ 3 ป้าแกคิดให้แผงละ 90 แต่ถ้าเป็นร้านอื่นๆ อาจ 95-100 ร้านผมไข่ดาวขายฟองละ 5 บาท ยังขายเหมือนเดิม ไม่ได้ปรับขึ้น เนื้อกับไก่จะงดไปเลย เพราะว่าจะเพิ่มต้นทุน ถ้าราคานี้เพิ่มต้นทุนเข้าไปก็อยู่ไม่ได้ อีกอย่างคนกินเนื้อกับไก่ร้านนี้มีน้อย
ผักขึ้นลงตามฤดูกาล บางปีผักบุ้งขาด จากมัด 20 บาทต่อกิโลฯ ขึ้นเป็น 50 บาท ผักบุ้งลงถูกสุด 15 บาท คะน้าเหมือนกันช่วงไหนขาดขึ้นมา 40-50 ราคาลง 20 บาท ผักชีต้นหอมช่วงปลายปีจะไม่ค่อยมี กิโลฯ ละ 120 ขีดหนึ่ง 12 บาท ได้สองสามต้น ขึ้นๆ ลงๆ ไปตาม ดีมานด์ซัพพลาย มะนาวไม่ค่อยได้ใช้ ใช้กับข้าวผัดแค่นั้น ช่วงไหนแพงมากๆ บอกลูกค้างดไปก่อน ตามสั่งของผมไม่ค่อยได้ใช้มะนาวเยอะ มะม่วงจะเอามาใส่กับอะไรได้ ลุงก็พูดไป (หัวเราะ)
วันหนึ่งขายได้กี่จาน
ไม่ได้คำนวนหรือตั้งเป้าว่าวันหนึ่งขายได้กี่จาน ผมจะดูจากปริมาณข้าวในหม้อ อย่างข้าวหม้อใหญ่จะตวงประมาณ 20 ถ้วยเต็มหม้อพอดี ขายได้ประมาณ 30-40 จาน ราคาธรรมดา ถ้าข้าวหม้อใหญ่หมดถือว่าโอเคผ่าน ถึงจะไม่เยอะ แต่ได้กำไร ถ้าวันไหนได้หุงหม้อกลาง หม้อเล็กเพิ่ม ถือว่าวันนั้นดีมาก
ขายถูก คนสั่งเยอะ เหนื่อยมั้ย
ไม่ เป็นหน้าที่ รักที่จะทำแบบนี้ ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร การทำอาหารของผมมันคือการลงทุนที่ไม่ต้องลงทุน มีทักษะและทำประจำ เป็นกิจการของเราเองไม่ได้ไปทำให้ใคร เหนื่อยมากเหนื่อยน้อยอยู่ที่เรา ถ้าขยันหน่อย ก็หุงเพิ่ม วันไหนขี้เกียจก็หมดแล้วหมดเลย เป็นเจ้านายตัวเอง ไม่ต้องมาคิดว่าทำเยอะทำน้อย ทำเท่าที่เราทำได้
ตื่นเช้าตีสี่กว่า ไปซื้อของที่ตลาดสดตั้งจิตนุสรณ์ เตรียมเปิดร้านตอนเจ็ดโมง ขายของถึงบ่ายสามปิด ช่วงกลางวันคนจะเยอะสุด บ่ายสามปิดร้าน ล้างร้านเก็บของ ตอนเย็นแฟนพักผ่อน ผมไปวิ่งออกกำลังกายหนึ่งชั่วโมง กลับมากินข้าวพร้อมกัน อาบน้ำ นอนพักผ่อน นอนสามทุ่ม ตีสี่ตื่น วนลูป วันอาทิตย์หยุด แล้วแต่อยากลุกตอนไหนก็ลุก ไม่อยากลุกก็นอน บางวันไปเที่ยวห้าง บางวันไม่ไปไหนเลยก็มี
มีเหมือนกันที่ไฟมอด ขี้เกียจไม่อยากลุกมาทำงาน อยากพัก อยากทำอย่างอื่นบ้าง แต่ทำแบบนั้นไม่ได้ เป็นความเคยชิน พอเห็นลูกค้าผิดหวัง มาแล้วร้านปิด อยากมา อยากอิ่ม ถ้ายังลุกไหว ขี้เกียจยังไงก็ต้องลุกทำ ผมจะปิดร้านแค่ตอนไปธุระกับไม่สบาย
ลูกค้าเป็นกลุ่มไหน
ช่วงยังไม่มีโซเชียล ยังไม่ตั้งเพจร้านเมื่อก่อน นักเรียน นักศึกษา อาชีวะ จะมาบ่อย เดี๋ยวนี้โตไปมีครอบครัวกันหมดแล้ว ผมขายราคาถูกให้กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย ร้านผมอยู่ในซอย ส่วนมากใช้วิธีปากต่อปาก ลูกค้าขาจรมาเจอ เห็นร้านอาหารตามสั่งราคาถูก พอกินเสร็จก็ไปชวนเพื่อน บอกต่อกัน
ขายราคาถูกกว่าร้านอื่นมีปัญหาเรื่องตัดราคามั้ย
ไม่มี เพราะไม่ได้ขายแข่งกับใคร ขายแต่ตอนกลางวัน และรัศมีรอบร้านผมไม่ค่อยมีร้านอาหารตามสั่ง ส่วนมากถ้าใกล้ที่สุดจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ คนละประเภท ตามสั่งจะมีผมอยู่ร้านเดียว ขายเจ็ดโมงเช้าถึงบ่ายสาม เรื่องตัดราคาตัดทิ้งได้เลย ลูกค้าเองมีสิทธิ์เลือก ผมขายแค่นี้พอ เวลาที่เหลืออยู่กับครอบครัว
ระหว่างราคาถูกกับอาหารอร่อยคิดว่าลูกค้าเข้าร้านเพราะแบบไหน
เรื่องราคาการันตีได้ว่าขายถูกแน่นอน เรื่องอร่อยไม่การันตีเพราะตัวลูกค้าต้องบอกเอง ปากแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนกินเหลือก็มี
ขายแค่นี้อยู่ได้เหรอกับเศรษฐกิจแบบทุกวันนี้
ต่างจังหวัดอยู่ง่ายกว่าในเมือง แต่เดี๋ยวนี้ไม่แตกต่าง ค่าครองชีพสูงเท่ากัน ดูอาหารแกงถุง กรุงเทพฯ 40-50 ต่างจังหวัดเหมือนกัน ไปดูร้านที่ต้องเช่าที่ ต้องขาย 30 บาทขึ้น ก๋วยเตี๋ยว 20-25 ไม่มี บะหมี่ 40 ขึ้น ผมถึงได้ขายราคาถูกๆ เพื่อที่จะดึงลูกค้าคนที่มีรายได้น้อย
เศรษฐกิจเปลี่ยนไปทุกปี อยู่ที่จะปรับตัวกับมันได้หรือเปล่า บางคนบ่นว่าข้าวของแพงขึ้น เงินเดือนเท่าเดิม แต่คุณไม่ยอมปรับตัว คุณเคยใช้วันละร้อย คุณก็ใช้วันละร้อยต่อไป สมมติได้ค่าแรงวันละสามร้อย ช่วงที่ค่าครองชีพยังต่ำๆ คุณใช้วันละร้อย ได้เก็บสองร้อยก็ยังโอเคอยู่ แต่พอค่าครองชีพมันขึ้นก็ต้องปรับตัว อันไหนไม่จำเป็นตัดออก ไม่ปรับตัวไม่พอใช้
ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง อยู่ที่การบริหารแต่ละรัฐบาลจะช่วยได้มากได้น้อย อย่างเรื่องสาธารณสุขบ้านเรา บัตรทองถือว่าโอเคช่วยประชาชนได้ อย่างวัคซีนที่ผ่านมาฉีดฟรี ถือว่าช่วยประชาชน ทุกรัฐบาลต้องเอาประชาชนมาก่อน
มีโอกาสปรับราคาขึ้นมั้ย
ผมพูดกับลูกค้าเสมอว่าถ้ามีเหตุต้องปรับจะบอกล่วงหน้าเป็นเดือน บางคนบอกให้ขึ้นราคาได้แล้วด้วยซ้ำ ผมยังยืนยันว่าไหวอยู่ แต่ถ้าแก๊สขึ้นถึง 500 บาท ปรับแน่นอน ข้าวถ้าขึ้น 1,200-1,300 บาท สินค้าสำคัญสองอย่างนี้ขึ้นสูงจนรับไม่ไหวจะปรับขึ้นจานละ 5 บาท ลูกค้าน่าจะเข้าใจเพราะราคาที่ผมขายยังถือว่าต่ำกว่าราคามาตรฐานร้านอาหารตามสั่งทั่วไป
ทำเท่าที่เราทำได้ ?
ผมอยู่แค่นี้มีความสุขแล้ว ไม่ได้หวังจะต้องมีบ้าน มีรถ มีลูก อุดมคติหรือจุดสูงสุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนต้องมีครบทุกอย่าง ผมแค่มีอยู่มีใช้ ไม่เป็นหนี้ถือว่ามีสุขแล้ว บางคนบอกว่าไอ้นี่มักน้อย ไม่ทะเยอทะยาน ไม่เป็นไรเพราะผมเห็นตัวอย่างจากคนที่ต้องมีครบทุกอย่าง พอมีแล้วต้องผ่อน ทำงานหนัก ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง หาใช้หนี้ มีปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง
ครอบครัวเดี๋ยวนี้อยู่กันไม่ยืด บางคนไม่ทันแต่ง อยู่แป๊ปเดียวเลิก มีทุกข์มากกว่าสบาย มีของมีอะไรเอาไว้อวดกัน ทุกวันนี้เห็นคนขับรถป้ายแดง ผมไม่อิจฉา เพราะเขาต้องเป็นหนี้ ผมขี่มอเตอร์ไซค์แว้นไปแว้นมาอย่างน้อยก็ซื้อเงินสด
ความสุขของผมคือตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองไม่เป็นหนี้ ไม่มีภาระต้องทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนเอื่อยเฉื่อย ไม่สนอะไร ทุกวันนี้มีกินมีใช้ จะพักผ่อน จะเที่ยวก็ไปได้ มีความสุขในแบบของเรา เห็นคนลงทุนเยอะๆ ลงทุนเพิ่ม ใหม่ๆ ดูคึกคัก ปรับเปลี่ยนตกแต่งอะไรเพิ่ม ถึงช่วงโควิดเกิดสถานการณ์คาดไม่ถึง ร้านรวงปิดกันไปเยอะ ต้องทิ้ง ผ่อนไม่ไหว เห็นใจพวกเขา ผมคิดว่าทำเท่าที่ทำได้คือดีที่สุดแล้ว
ที่คุณไม่มีลูกก็เพราะเศรษฐกิจ ?
รายได้ผมไม่สามารถเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้มีคุณภาพได้หรอก ถ้ามีลูกน่าจะเครียด เพราะว่าเด็กสมัยนี้เลี้ยงเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ ต้องดูแลให้เต็มที่ สมัยก่อนอะไรก็ไม่แพง สมัยนี้นมกล่องหนึ่งพันกว่าบาท ให้เด็กกินอาทิตย์หนึ่งก็หมด
ไหนจะค่าใช้จ่ายจิปาถะ เข้าโรงเรียนก็ค่าเทอม โรงเรียนสมัยนี้มันถูกที่ไหน สมัยผมเรียนฟรี มีเสียแค่เสื้อผ้า ค่าสมุดดินสอ ค่าเทอมไม่มี สอบทีเสียแค่ค่ากระดาษชีท สมัยนี้สอบทีเสียเท่าไหร่ อนุบาลถึงประถม เงินพันไม่ต้องพูด ถ้าอยากให้เด็กมีคุณภาพดีต้องมีจ่ายให้เขา ถ้ามีลูกยังไงก็ต้องใช้เงินตัวเองจนหมดถึงจะสร้างคุณภาพดีๆ ให้ลูกตัวเองได้ เผลอๆ จะเป็นหนี้เป็นสิน เครียดกว่าเดิมอีก ตัดสินใจว่าไม่มีดีกว่า
ผมเป็นคนไม่ชอบแก้ปัญหาข้างหน้า ชอบคิดตั้งแต่ต้นๆ ไม่ใช่มีแล้วค่อยไปแก้ แบบนั้นปวดหัว กดดัน ไม่เอาคือไม่เอา
วางแผนบั้นปลายไว้ยังไงคนไม่มีลูก
งานที่ทำทุกวันนี้ไม่ใช่งานหนัก เพียงแต่ต้องบริหารเวลา รักษาคุณภาพรสชาติให้คงที่ ไม่มีอะไรมาก เขย่ากระทะไม่ไหวเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ทำเท่าที่ไหวคิดว่าอีกหลายปี คนแก่ๆ อายุ 60 ยังขายของอยู่มีเยอะ ป้าบางคนลวกก๋วยเตี๋ยวขายอยู่ก็มี ผมยังต้องเก็บออมเงินสำรองไว้ เก็บเงินสักก้อนยามฉุกเฉิน
มีคุ้มครองแค่บัตรทอง เวลาเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่เสียตังค์เพราะได้สิทธิ์พิเศษตรงที่บริจาคเลือดเป็นประจำ ประกันสังคมไม่ได้ทำ ไม่ประมาทกับสุขภาพตัวเองก็ถือว่าโอเค เรื่องเจ็บปวดมีมาอยู่แล้ว แต่ผมพยายามไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงกับเรื่องสุขภาพ ทุกวันนี้มีโควิด ไปไหนต้องระวังตลอด
เมื่อไหร่หมดแรง ทำไม่ไหว มีเงินเก็บสักก้อน ไปอยู่บ้านแฟนที่ต่างอำเภอ คงไม่มีรายจ่ายอะไรเยอะ กินอยู่ถ้าไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายไม่น่ามีปัญหา มีที่ทาง ปลูกผักกิน เลี้ยงไก่ หาอะไรเล็กๆ น้อยๆ ทำ
เคยมีหนี้มั้ย
เคยมีตอนผ่อนมอเตอร์ไซค์คันแรก Dream 110 คันที่สองก็ยี่ห้อเดิม รุ่นนี้ทน ไม่มีผลิตแล้ว พักหลังพยายามไม่เป็นหนี้อะไร
ทุกวันนี้ใช้เงินไปกับอะไรบ้าง
ลงทุนขายของ ใช้จ่ายภายในบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ปัจจัยสี่ ทั่วไป ซื้อข้าว ซื้อยา อาหาร อะไรฟุ่มเฟือยไม่เอา
นิยามคำว่าเงินคืออะไรในวัยนี้
ไม่ได้สำคัญ แต่จำเป็นต้องมี ผมไม่ได้เป็นคนบูชาเงิน ไม่ได้อยากมีเงินเยอะ แต่ความจริงลึกๆ ทุกคนคงอยากมีเงินเยอะๆ ทั้งนั้น ปัจจุบันต้องใช้เงินในการแลกเปลี่ยนซื้อสินค้า แต่ไม่ได้หมายความจะต้องมุ่งหาจะมีเงินเยอะๆ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา เรามีอาชีพสุตริต ทำเท่าที่ทำ เก็บเท่าที่เก็บ แค่นี้ถือว่าโอเค ไม่ได้เอาไปทุ่มซื้อหวย ไปเล่นการพนัน คือใช้เงินให้เป็น
15 ปี ที่ทำร้านมามีเวลาท้อแท้หรือไปต่อไม่ได้บ้างมั้ย
ผมไม่มีจุดนี้เลย เพราะปัญหาครอบครัวไม่มี หนี้สินไม่มี โฟกัสกับการดำเนินชีวิตได้ อีกอย่างขายถูกๆ แบบนี้ ลูกค้าน้อยเรายังอยู่ได้ ทุนไม่เยอะ ไม่มีส่วนต่างค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ ขายในบ้านของตัวเอง ไม่ต้องไปเช่าที่ ผมเป็นร้านเล็กๆ ขายถูกได้ วันไหนขายได้น้อยไม่เป็นไร พรุ่งนี้ลงมือใหม่
พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ?
บางคนอาจจะมองว่า ทำไมไม่ทะเยอทะยานอีกหน่อย ร้านผมสภาพเป็นไม้ เป็นหลังคาสังกะสี ได้จากบ้านเพื่อนที่เขารื้อจะทำบ้านใหม่ยกให้ พ่อเมียเอาไม้ไผ่เอามาให้ มาช่วยสร้าง บางคนถามว่าพี่ทำไมไม่ทำใหม่ ทำไมไม่ขยายอีกหน่อย มันเป็นทุนเป็นเงินทั้งนั้น มันจำเป็นหรือเปล่า เราไม่ได้ขายแข่งกับใคร ทำร้านใหญ่ๆ ทำร้านหรูๆ เอาเงินทุนไปทิ้งตรงนั้น
ร้านอยู่ตรงนี้เน้นขายอาหาร ไม่ได้ขายบรรยากาศ หิวมา อิ่มกลับไป จะเอาวิว มันไม่มี
ร้านนี้เรียกว่าเป็นความภูมิใจของชีวิตได้มั้ย
สร้างมากับตัว ไม่หรูหรา แต่ก็ช่วยให้มีกิน สร้างความมั่นคงได้ ช่วยคนอื่นให้ได้อิ่ม ถ้ามีทุนก็อยากทำให้แน่นหนา มีโต๊ะนั่งให้ทั่วถึงกว่านี้ ลูกค้าจะได้ไม่ต้องยืนรอ แต่ทำขนาดนี้ก็โอเค มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ไม่เป็นหนี้ เลี้ยงครอบครัวได้ แค่นี้ภูมิใจแล้ว.
nandialogue
เรื่องและภาพ: อธิวัฒน์ อุต้น