ไม่มีกลิ่นศิลปะ NFT ไม่ใช่ Appropriation art ( ศิลปะการหยิบยืม ) จึงไม่ได้อยู่ในกระแสให้ใจสั่นกับยอดกดไลก์ ปนฉงนกับมูลค่าที่อ้างไว้เป็นดัชนีชี้วัด วาดรูปคน สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเลือกการกระทำของตนได้นี่แหละ ที่เรายังเชื่อว่าอันนี้แหละ ที่อยู่ที่เกิดของประสบการณ์ทั้งนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าโลกจะโกลาหลเป็นรอบที่ 4 รอบที่ 5 แล้วก็ตาม ที่อยู่ของจิตสำนึกขาว เทา ดำ ที่อยู่ของฝันและปรารถนาไม่จบไม่สิ้นนี่แหละที่ยังจะเขย่าโลกรอบใหม่ให้สั่นสะเทือน
ทำไมต้องแสดงงาน คำถามที่ถูกถามและถามตัวเองอยู่บ่อยครั้ง หากศิลปินไม่แยแสสิ่งใดก็ไม่จำเป็นต้องแสดงงาน ไม่เคยมีใครบอก คงไม่ต้องถึงมือนักสังคมศาสตร์มาอธิบายว่าในสถานการณ์หนึ่ง มนุษย์จะมีพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่งเสมอ คงเพราะเคยเห็น แล้วก็ทำตามกันมา เมื่อตั้งใจทำให้ดีและไม่เคยเห็นข้อเสียหายแล้วทำไมจะไม่ทำ แล้วถ้าหายใจเข้าออกเป็นจิตรกรรม เป็นประติมากรรม ไปแข่งคณิตศาสตร์ดีดลูกคิดรางแก้วก็คงไม่สามารถ
การวาดรูปก็เหมือนเรากำลังเดินทาง เคยไหม นั่งเรือหรือเดินป่า สองข้างทางที่เรามองผ่านทุกครั้ง เกาะแก่งที่อยู่นอกสายตามาตลอด แล้ววันหนึ่งเราหยุดมองมัน เดินเข้าไปหายใจอยู่ตรงนั้น เราได้ค้นพบได้สัมผัสประมาณเกาะเสม็ดเมื่อยังบริสุทธิ์ เราได้ค้นพบป่าบุ่งป่าทามแหล่งใหม่ที่สวยสงบงาม หลังภาวะโดดเดี่ยวระหว่างทำงาน เมื่อค้นพบความงามแล้วเราจะไม่แบ่งเพื่อน มันได้หรือ
กับอีกหลายๆ คำถาม ดูรูปแล้วไม่เข้าใจ รูปแบบที่วาดเหมือนจริงค่อยยังชั่วหน่อย ดูรู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร วาดเรือ วาดบ้าน หรือรถถัง แบบนี้โอเค เขียนเหมือนมาก คนวาดเก่งจริง..อือ..อันนี้เป็นคำตอบ ไม่น่าแปลกใจที่เกือบทั้งหมดถ้าไม่ใช่รูปเหมือนจริง ประมาณว่าศิลปินใช้รูปเป็นสัญลักษณ์แทนค่าความคิดความรู้สึก เช่น ศิลปินบางคนใช้ผ้าเช็ดหน้าแทนความผิดหวัง เพราะเมื่อทิ้งกันไปมันคือผ้าซับน้ำตา บางคนได้ผ้าเช็ดหน้าจากคนที่รักกันดี ประสบการณ์ทั้งรูปธรรมและนามธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ศิลปินโลกระดับเคยพูดว่าชอบก็คือชอบ เราชอบเสียงไก่ขันนกร้องโดยที่เราไม่เข้าใจภาษาของมันเลย ดูงานศิลปะที่ดี มันจะสื่อสารกับเราเอง รูปทรงไม่เหมือนจริง แต่ส่วนประกอบอื่นภายในภาพ ถ้ามันถูกสร้างขึ้นด้วยเลือดด้วยเนื้อคนทำ สิ่งที่เกิดจากหยาดเหงื่อเลือดเนื้อนั้นมันจะส่งเสียงบอกเราเอง
เขาว่ากันอย่างนี้ รูปวาดไม่มีแนวคิดก็เหมือนผลงานของแรงงานฝีมือ ไม่มีค่าอะไรเป็นได้ อย่างมากก็เพื่อประดับประดาตกแต่งสถานที่ แต่ถ้าศิลปินไม่เข้าใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ไม่เข้าใจการเติบโตของทุนนิยมอุตสาหกรรมใหม่ ไม่สนใจสาเหตุของวิกฤติการเงินในตลาดกลุ่มใหม่ เขาจะทำเรื่องนั้นได้ไหม สงครามโลกครั้งใหม่ ใครจะอยู่ฝ่ายใคร ถ้าไม่ต้องไปรับผิดชอบเรื่องการถ่ายทอดพลังงานในระบบนิเวศ เรื่องใหญ่ไกลตัวเกิน ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนใจ.. ใช่ไหม
เพราะรูปคนสะท้อนเรื่องราวรอบตัวในสังคมที่เราเข้าถึงรู้และเห็นความเป็นไป จำไม่ได้ว่าเริ่มเขียนคนมานานแค่ไหนแล้ว เขียนบ่อยแค่ไหน ถ้าดูจากงาน (รูปขาวดำ) ที่ผ่านมาคงพอจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ครูบอกว่าถ้าจะเขียนคนต้องเขียนให้เห็นเลือดฝาด แล้วจะเขียนยังไง ไม่มีใครอธิบายได้หรอกว่าต้องยังไง ก็ลงมือลงแรงเท่านั้นจึงจะได้คำตอบ
ในวงเล่า เพื่อนเราพูดคุยกันบ่อยๆ ว่าผู้หญิงวาดรูปไม่กล้าแสดงออก ไม่อาจหาญพูดความรู้สึกจริงเช่น การคุกคามทางเพศ ไม่เห็นเขียนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ยิ่งเรื่องสงครามการเมืองยิ่งดูจะห่างไกล ส่วนใหญ่ยินดีพอใจเล่นตามกระแสกุลสตรี เขียนดอกไม้ใบหญ้า จะมีพอให้เห็นประเด็นทางสังคมเด่นชัดอยู่บ้างก็อยู่ในกลุ่มศิลปินหญิง Performance Art ยิ่งงาน visual ร่วมสมัยยุคฟองสบู่ ลองยกมือขึ้นมานับนิ้วดู มีกี่คนที่ทำเรื่องราวชีวิตจริงจัง
ไม่ต้องย้อนไปถึงยุคขรัวอินโข่งที่นับเป็นยุคเริ่มต้นของการวาดรูปแบบตะวันตก ปักหมุดเริ่มต้นจากเมื่อมีโรงเรียนเพาะช่างแล้ว เรามีศิลปินหญิงกันกี่คน และความเป็นจริงคือเราอยู่ในฐานะผู้ตามมากกว่าที่จะเป็นผู้กำหนดกระแสศิลปะของโลก ยิ่งวันนี้ลมตะวันตกปะทะกระแสลมตะวันออก อำนาจทุนนิยมใหม่ก่อให้เกิดศิลปะรูปแบบแปลกประหลาด ดูใหม่ไปตามสภาพสังคมเสมือน หลายอย่างดูเลื่อนไหลล่องลอยในโลกความจริงความลวง
เราว่าเรื่องราวของปัจเจก เรื่องเล่าจากมุมมองของเราเอง อาจเริ่มต้นจากการเห็นหรือเป็นเรื่องทุกข์ร้อนส่วนตัว แต่ก็มีส่วนเชื่อมโยงกับสังคมแน่ๆ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในรูในถ้ำ หนาวร้อนก็เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ของสังคมด้วยส่วนหนึ่ง แค่นี้พอไหมกับการที่จะสื่อสารกับสังคม แค่ลงมือทำสะท้อนสิ่งที่คิดสิ่งที่เห็น ฟังดูโรแมนติกดีไหม ไม่เคยไปขั้วโลกเหนืออาจไม่สะเทือนใจเท่าคนในพื้นที่ แต่เขียนเรื่องราวเท่าที่รู้ที่เห็นที่ได้เข้าไปหายใจอยู่ตรงนั้น แค่ไม่หลอกตัวเองปรับความชอบไปตามกระแสนิยม เป็นตัวของตัวเอง ทำสิ่งที่คิดไม่บิดเบือน ก็ทำไปเถอะ
ภาพที่ได้ชวนฝันใช่ไหม หรือปลอบใจตัวเอง แบบนี้ก็ได้หมด ถ้าศิลปินไม่ได้มุ่งค้นหาคอลเลกเตอร์ ไม่สนใจทำความรู้จักคิวเรเตอร์ รวมทั้งศิลปินอินเตอร์
รูปขาวดำทั้งหมดเป็นงานเก่าที่เล่าถึงเมื่อเริ่มเขียน nude หลากหลายตามจังหวะชีวิตที่ปะทะขึ้นๆ ลงๆ เขียนน้ำฟ้า ป่าทะเล กระแสที่วนมาบ่อยคือคน คนที่มีเนื้อหาเรื่องราวบรรจุอยู่มากมาย
ท่อนไม้สองท่อน เลื่อยออกมาจากต้นเดียวกัน ท่อนหนึ่งเอาไปผ่าเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เป็นได้แค่ไม้ฟืน กับอีกท่อนเขาเอาไปเหลา ไปกลึง ไปขูดขีดขัดมัน เพื่อบอกเรื่องราวเล่าเรื่องในหอศิลป์ เหมือนกันกับรูปวาด ถ้าไม่มี concept เขาว่างานอย่างนั้นก็เป็นได้แค่ผลงานแรงงาน
เนื้อหางาน nude ชุดใหม่ไม่ใช่เพื่อพื้นที่ NFT และก็ไม่ใช่ Appropriation Art ที่เป็นกระแสนิยม แต่เป็นเรื่องราวของคนที่เคลื่อนไหวโกลาหลกันอยู่ในยุคสมัยที่อะไรก็สุดล้ำ เรื่องราวของคนธรรมดา ชาวบ้านชาวสวนคนชั้นกลาง เพศทางเลือกหลากหลายชีวิตที่ยังเวียนว่ายหวานขมในสังคมกำลังพัฒนา เรื่องราวของคนที่หนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ร้อนหนาวกับเศรษฐกิจแบบนี้ การเมืองการปกครองแบบนี้ อยู่ในช่วงเวลาของกระแสปฏิรูปปฏิวัติวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณี ในขณะที่ไกลออกไปคู่ขนาน มีความเคลื่อนไหวของคนผู้กำหนดการกระทำของตัวเองกำลังทดสอบขีปนาวุธร่อนชนิดใหม่
ภาพวาดคนชุดนี้ มี concept หรือไม่มี ถ้าไม่คิดให้ใหญ่หรือไกลเกินตัว ลองนึกดูง่ายๆ ว่าทุกวันนี้เสียงหัวเราะ เสียงปาดน้ำตานั้นมีเหตุมาจากใคร.
ปัจฉิมลิขิต: เชิญชวนผู้สนใจดูงานนิทรรศการจิตรกรรมชุดใหม่ของผู้เขียนได้ที่ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (ถ.รัชดา) เริ่มวันที่ 2-16 พฤศจิกายน 2022 (เข้าชมได้ในเวลาราชการ) เปิดงานวันที่ 4 พฤศจิกายน 2022 เวลา 17.30 น.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’