ภาพวาดดอกกุหลาบบนผนังเสาสูงสามเมตรในศูนย์การค้าย่านลาดพร้าว ภาพวาดด้วยมือจริงๆ ไม่ใช่ภาพกุหลาบจากแท่นพิมพ์ออฟเซท หรือภาพสกรีนแบบวอลเปเปอร์ สำหรับเด็กจบใหม่ไม่ชินเวที ได้ทำงานใหญ่ขนาดนี้ นี่คือโอกาส
ทำไมจะไม่ตื่นเต้น ในเมื่อมีโอกาสทำ แม้งานนั้นเป็นงานที่ต้องตัดสินคุณภาพโดยคนอื่นก็ตาม งานจะถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ของร้านยีนส์ชื่อดังวันนั้น
เราตั้งใจเขียนกลีบกุหลาบอย่างมาก (ตอนหลังมาดูจึงรู้สึกว่ามันเหมือนดอกไม้พลาสติก) ความเนียนเกิดจากการพ่นแอร์บรัช ไม่ใช้วิธีระบายสี ตอนนั้นคือทำเท่าที่คิดได้เท่าที่มีประสบการณ์ ทำยังไงให้เหมือนที่สุด ในวันนั้นเราคิดว่ามันดีสมบูรณ์สุดแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป อะไรที่ตั้งใจประดิดประดอยทำให้เหมือนจริง ดูจะเป็นเรื่องขัดใจ
ประสบการณ์ความงามที่พบที่ได้ลงมือต่อเนื่องมาบอกเราว่ามันยังไม่ใช่ สุนทรียภาพจากการลงมือ จะนำทางเราไปเอง เราจะรู้สึกว่ายังมีบางสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า อะไรก็ไม่รู้ยังมองไม่เห็น ชักชวนให้เดินต่อ ระหว่างวันระหว่างคืน เดินคนเดียวในความคิด จะมีชาวนาคนไหนปลูกข้าวแล้วไม่อยากได้ผลผลิตที่ดี มีวิธีปลูกที่มีประสิทธิภาพสูงเขาก็ต้องหา เราว่ามันเหมือนกัน
ภาพเขียนหลากหลายเทคนิคหลายอย่างเป็นแค่ทางเลือกทางทดลอง เราก็อยากเดินทางค้นหาคำตอบให้ตัวเองอยู่ดี วาดรูปแล้วใช่บ้างไม่ใช่บ้าง ถ้าไม่ชอบก็ทำใหม่ ให้โอกาสตัวเอง ถ้าเราเลือกข้างเลือกแบบเป็นตัวเอง ไม่เป็นน้ำขึ้นน้ำลงไปตามกระแสนิยม ก็เขียนไปตามใจตามโอกาสที่มี
ในอดีตชาวจีนโพ้นทะเลสอนลูกสอนหลานว่า โอกาสก็เหมือนออกซิเจนที่ปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศ เหมือนทองคำที่วางอยู่เกลื่อนกล่น มีมากจนได้ชื่อว่าแหลมทอง อยู่ที่ใครจะเห็น ไม่เห็น
แค่ฟังเสียงตัวเอง เสียงวิจารณ์เก็บไว้พิจารณาทีหลัง ประเมินแล้วยังไม่ชอบไม่ใช่ ก็ลองทำใหม่ แม้จะเป็นที่พอใจของผู้ให้โอกาสแล้วก็ตาม นักจิตวิทยาบอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ในใจใฝ่รู้ทุกเรื่องแหละ ยิ่งเป็นเรื่องที่คับข้องคาใจก็จะตะเกียกตะกายใฝ่หาคำตอบมาจนได้ เราไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีทางลัดใดๆ ที่มีก็แค่ใจล้วนๆ
บ่อยครั้งที่เดินผ่านแผงลอยขายพวงมาลัย วันที่หยุดดูกลีบกุหลาบถูกดึงออกมาเป็นกอง มองไม่เคยเบื่อ กุหลาบแดง (ไม่แสลงใจ) ดูไร้ราคา แต่ภาพที่เห็นข้างหน้าคือนวัตกรรม งานเหมือนง่ายที่ดูงามเพลินตา เป้าหมายของกลีบกุหลาบกองนี้จะถูกร้อยรวมเป็นมาลัย นี่คือการสร้างสรรค์ใช่ไหม ใครกันนะช่างคิดสรรหาดอกไม้นานาพรรณ ทั้งกลีบกุหลาบ กลีบกล้วยไม้ ใบเตย ใบโกศล ดอกรัก ดอกมะลิทั้งหมดนี้คือส่วนย่อยที่จะถูกนำไปประกอบกันเป็นสิ่งใหม่ รูปลักษณ์ใหม่ที่ผ่านการคิดสร้างสรรค์
ทุกช่วงเวลาคือโอกาส ทำผิดบ้างถูกบ้างก็จะเป็นไรไป ไม่มีอะไรเป็นคำตอบสุดท้าย ตราบใดที่เงื่อนไขในใจคนเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ไม่รู้จบ คนเราทำอะไรก็ตามจะมีโอกาสลองผิดลองถูกได้กี่วันกี่คืน คิดแล้วไม่ทำก็คือฝัน ฝันแล้วทำคือโอกาส ถ้าไม่นั่งไม่นอนรอฝนฟ้ามาโปรดอย่างเดียว ถ้ายังหายใจได้ โอกาสสุดท้ายก็ไม่มีอยู่จริง
โจทย์ต่อไปของเราคือเขียนรูปยังไงให้มีชีวิตไม่เป็นแข็งพลาสติก เขียนความรู้สึก เขียนบอกความชอบ เขียนคำขอบคุณ หลายๆ เงื่อนไขทำให้ต้องลอง ลงมือหยิบโน่นนี่มาทำ กระดาษสา เป็นวัสดุหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อได้ลอง เขียน สีน้ำบนกระดาษสาให้ผลลัพธ์ที่ดี มีเอกลักษณ์ ทั้งไทยทำ ญี่ปุ่นทำดีหมด รวมทั้งจีนทำ
จากการเขียนเหมือนจริงที่ไม่ใช่คำตอบ เราจะทำมันให้ดีมีรายละเอียดสูงสุด ถ้าเราเป็นนักพฤกษศาสตร์ เขียนให้เห็นข้อเท็จจริงว่ากลีบเลี้ยงกุหลาบอยู่ตรงไหน อับเรณูเกสรเพศเมียกระจุกอยู่กลางดอกสีอะไร กลิ่นและกลีบสีอะไรที่ดึงดูดให้หมู่แมลงมาตอมน้ำหวาน แต่เมื่อความเหมือนจริงไม่ใช่เป้าหมายแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนวิธี
ทำทุกพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็นกระดาษอัดร้อนหรืออัดเย็น ผิวหยาบ ขรุขระหรือเรียบแน่นเนียน แผ่นไม้ ผ้าใบ ทุกอย่างต้องการเทคนิคเฉพาะที่เหมาะสม บนกระดาษสาก็ซึมไร้ทิศทางขนาดนั้น ใจๆ แล้วเทสีน้ำลงไปเลย แผ่นแล้วแผ่นเล่า สังเกตเรียนรู้ดูให้เห็น มันต้องมีอะไรสักอย่าง ในภาวะอย่างนี้ ใครที่ไหนจะตอบเราได้ นอกจากตาเราเห็นเอง
ใครๆ ก็มียุคเปลี่ยนผ่าน ช่วงแรก Georges Braque เพนเตอร์ชาวฝรั่งเศสก็ทำภาพพิมพ์ ทำงานประติมากรรม เขาเขียนรูปแนว Fauvism ด้วย สุดท้ายงานที่น่าจดจำของเขาก็เกิดในช่วงพัฒนาของแนวคิด Cubism ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ Picasso กำลังหลงใหลได้ปลื้มกับศิลปะแอฟริกัน ก่อนหน้านั้นปิกัสโซ (Picasso’s Period) เขาวาดรูป Head of sleeping women ร่างเพื่อจะเขียนรูปจริงชุด Les Demoiselles d’Avignon ช่วงนี้ทั้ง Braque ทั้ง Picasso ผลงานก็เปลี่ยนจากเดิม
อยู่ดีๆ กุหลาบแดงแรงฤทธิ์ก็ถูกนำมาฉีก สลายร่างพรางกายเป็นพวงมาลัย เขาจะทำได้ยังไง ถ้าไม่มีชุดความคิดนำมาก่อน ใครก็ไม่รู้ช่างคิดช่างจินตนาการ จับโน่นนี่มาผสมผสานจนสวยงาม เหมือนศิลปินกลุ่ม Cubism อย่าง Braque อย่าง Picasso ก็ต้องมีความคิดรวบยอดมาก่อนว่าจะหยิบเอาความลึกตื้นหนาบาง มาวางไว้บนระนาบเดียวกัน เพื่อให้เห็นทุกมิติในเวลาเดียวกัน โดยไม่ต้องเดินอ้อมไปดูด้านหลัง ไม่ต้องก้มหรือเงยดูสิ่งนั้นทุกอย่างวางให้เห็นเป็นระนาบเดียวคืองานคิวบิสม์ที่เราคุ้นเคยกัน รูปทรงเหลี่ยมๆ เรขาคณิตปะติดปะต่อ ไม่เหมือนจริงไม่ต่อเนื่อง รูปแบบศิลปะอาฟริกันก็คงคิดต่อเนื่องใช้เวลาสะสมเอกลักษณ์แล้วถ่ายทอดกันมา โดดเด่นเห็นรูปแบบชัดเจน สร้างกลิ่นและรสให้ Picasso ประทับใจและนำไปใช้บ้าง Picasso เอาเส้น Haching ที่เห็นในงานมาเขียนบ้าง เขาเขียนแยกหัวแขนขาหน้าตาลำตัวออกเป็นส่วนๆ เหมือนนักประดิษฐ์คนคิดร้อยมาลัย พับใบโกศลใบเตย หรือแยกกลีบดอกกล้วยไม้ออกเป็นชิ้นแล้วประกอบสิ่งใหม่
สองวิธีนี้พอไหมสำหรับตัวอย่างการสร้างสรรค์
Takachi Murakami ศิลปินเอเชียที่โลดแล่นระดับโลกก็ไม่แตกต่างจากศิลปินระดับโลกตะวันตก ศิลปินที่เคยบอกว่า ส่วนตัวเขามองไปข้างหน้าตลอด ไม่สนใจงานเก่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานโชว์ที่ชิคาโก Institute of Chicago และ Vancouver Art Gallery ต่อด้วย The Modern Art museum at Fort Worth เขาบอกว่า มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะหยิบงานเก่าขึ้นมาดู งานเก่ายังมีส่วนที่เขาชอบและใส่ใจอยู่ เขาจะหันหลังให้งานเหล่านี้ไม่ได้ เขายังใช้แนวการ์ตูนที่ชอบและแนวคิดทางวัฒนธรรมมาเป็นทางของเขาเหมือนเดิม เพียงแต่เนื้อหา (Theme) ของเรื่องที่เคยชอบก็จะเปลี่ยนไป
วันนี้ดูงานเก่าเพื่อคิดต่อไปเป็นอะไรดี ศิลปิน Pop, Top Form อย่างทากาชิ มูราคามิ บอกเล่าถึงแรงกระตุ้นให้เขาทำใหม่ชุดใหม่อีกครั้ง หลังจากสึนามิสร้างความเสียหายมากมายเกินรับได้ เขาเป็นอีกคนที่เมื่อเริ่มเขียนรูป ก็อยากจะเขียนให้เหมือนแบบมากที่สุด ความเหมือนจริงเป็นพื้นฐานของการเรียน จนทำงานพักใหญ่แล้วเขาก็ได้คำตอบว่า จริงๆ แล้วในโลกศิลปะมันมีอะไรมากกว่าที่เห็น My Lonesome cowboy ที่หล่อด้วย fiber glass อันลือลั่นของเขา และผลงานโดดเด่นอีกหลายๆ เทคนิคที่อยู่ในกระแสศิลปะร่วมสมัยและความสนใจ Street Fashion แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้รับโอกาสจาก Louis Vuitton
จากวันนั้นถึงวันนี้ กุหลาบยังเบ่งบานได้เมื่อถึงเวลาเหมาะสม ภาพสีหวานและกลิ่นหอมไม่เคยจางจากความคิด บนผนังบนพื้นไม้ บนผ้าและบนกระดาษ จากเหมือนจริง ลองลดรูปตัดทอนจนไร้รูป ให้เหลือแต่สาระ ไร้ตัวตน ด้วยวิธีคิดชุดเดียวกันนี้ เราใช้ในการเขียนทั้งภูเขาทะเลหรือสื่อสารเรื่องราวอื่นๆ
กุหลาบอาจหมายถึงโอกาสที่ได้รับสำหรับการเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้น การร้อยมาลัยทำให้คิดเขียนกติกาสำหรับตัวเอง ที่สำคัญเราว่าบนเส้นทางโดดเดี่ยว จะล้มลุกคลุกคลานแค่ไหน ก็มีแต่ใจตัวเองที่เป็นเพื่อน จะมีใครให้คำตอบได้ดีเท่ากับตัวเรา มองให้เห็นแล้วสร้างโอกาส
ใครจะไปรู้ บางโอกาสก็พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’