อะไรคือศิลปะสมัยใหม่ (Modernism) หลายคนจะตอบคล้ายกัน อะไรที่ใหม่สุดอย่างสำนวน TikTok แบบทำทรงคือๆ หรือทรงอึ้งอย่างแบดดด ที่บางคนไม่ยอมเข้าใจความหมายนี่แหละทันสมัยสุดแล้ว
ศิลปะร่วมสมัย-ศิลปะสมัยใหม่-ศิลปะหลังสมัยใหม่ (Contemporary Art / Modern Art / Post-Modern Art) อะไรมาก่อนมาหลังก็ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ วันนี้ที่เราพูดกันว่าชอบทำงานศิลปะ แล้วเราก็ศึกษาคัดลอก มันดีแน่ๆ ถ้าเราลอกเลียนรูปแบบนั้นด้วยความเข้าใจ กระจ่างในทุกสถานภาพของงานรูปแบบนั้น เพื่อจะไม่ถกเถียงกันอย่างมึนๆ งงๆ ในตัวต้นแบบที่เราศึกษา มีเวลานั่งคุยศิลปะแบบนี้ที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ เมื่อวานก่อน เป็นเรื่องน่ายินดี
คำว่า ‘ศิลปะสมัยใหม่’ เขาใช้อธิบายลักษณะงาน แนวคิดและกระบวนการทำงานของศิลปินทั่วโลกในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะสากล ไม่ใช่ศิลปะที่อยู่ในสถานะใหม่ล่าสุด ถ้าจะเปรียบศิลปะสมัยใหม่เป็นกล่องไม้ขีด งานอิมเพรสชั่นนิสม์ / เอกเพรสชันนิสม์ / เหนือจริง และยิบย่อยอื่นๆ ก็คือก้านไม้ขีด เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่ให้แสงสว่างต่างกันในระยะสั้นยาว ส่วนศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยเรามีลักษณะแตกต่างจากสากลทั้งแนวคิดและกระบวนการ
ความเคลื่อนไหวของศิลปะสมัยใหม่ในลักษณะสากลคือผลงานที่เน้นตัวบุคคลมากกว่าสไตล์ คำว่า ‘มีเอกลักษณ์’ น่าจะเป็นจุดเน้นของช่วงเวลานี้ ความรู้เรื่องจิตวิทยากับฟิสิกส์ทำให้โลกทัศน์ของศิลปินยุคนี้เปลี่ยนไปเร็วขึ้นทั้งรูปแบบ / เทคนิคและวัสดุ ศิลปินสมัยใหม่มีทรรศนะทางกายภาพของโลกในแบบใหม่ บางอย่างก็ยากอธิบายหรือแยกส่วนอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นช่วงเวลาที่เน้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ส่วนบุคคลมากกว่าสนับสนุนศรัทธาความเชื่อเหมือนอดีต
ผลงานคือสิ่งที่ศิลปินสะท้อนภาพโลกที่เขาเห็น บางคนฝัน บางคนค้นหาเทคนิคและวัสดุใหม่ที่เป็นผลผลิตของเทคโนโลยี บางคนยังสนใจทำงานแนวกึ่งประเพณี บางคนคลุกอยู่กับภาพประทับใจในสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ
ภาพวิวทิวทัศน์สมัย ป.4 มันมีที่มา
ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยปักหมุดจากยุคสร้างชาติสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ศิลปะที่แต่เดิมอุปถัมภ์ค้ำชูโดยวัดกับวังที่สืบทอดประเพณีกันมานาน หลังการอภิวัฒน์ของคณะราษฎร สังคมไทยอยู่ในช่วงจัดระเบียบชีวิตใหม่ อำนาจการบริหารบ้านเมืองเปลี่ยนมือ ผู้ปกครองกำลังเร่งสื่อสารคำว่ารัฐธรรมนูญที่ยังเป็นของใหม่ คือทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สร้างบ้านแปงเมืองใหม่ให้มีรูปแบบตะวันตกมากขึ้น แนวคิดนี้เห็นชัดในงานสถาปัตย์ก่อน จากนั้นจึงมีการปั้นและวาดรูปแบบฝรั่ง มีครูฝรั่งเข้ามาสอนวิธีเขียนทัศนียภาพ ทำให้งานเขียนของช่างไทยถอยออกจากแนวอุดมคติมามีลักษณะเหมือนจริงมากขึ้น และค่อยๆ หลุดออกจากผนังมาอยู่บนผ้าแคนวาสขนาดเล็ก
และด้วยอำนาจการค้ำจุนดูแลศิลปกรรมของประเทศที่ถูกเปลี่ยนฐานมาอยู่ฝ่ายบริหารประเทศนี่เอง คณะราษฎรต้องเร่งขยายความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ในวาระฉลองรัฐธรรมนูญ กรมศิลป์จึงได้จัดประกวดศิลปกรรมแบบกำหนดแนวคิดชาตินิยม คือชักชวนให้ศิลปินเขียนภาพวิวทิวทัศน์ชนบทของไทย เขียนภาพภาคอุตสาหกรรมใหม่และภาคเกษตร เจตนาสร้างความภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอน
อำนาจเปลี่ยนมือ ศิลปะก็เปลี่ยนที่อยู่อาศัย การดึงศิลปะออกจากวังเป็นจุดเปลี่ยนที่พอจะมองภาพออก แต่เดิมในอดีตรูปวาดเป็นของฟุ่มเฟือยสิ้นเปลืองเกินกำลังชาวบ้าน ต้องอาศัยศรัทธาของคนในชุมชนสละทรัพย์เพื่อเขียนรูปเล่าเรื่อง เขียนในพื้นที่ชุมชนที่มีการรวมตัวกันอย่างโบสถ์วัดและวังเท่านั้น ชื่อ ‘ขรัวอินโข่ง’ นายช่างเอกถูกแทนที่ด้วย เหม เวชกร เรื่องราวพุทธศาสนาตามรูปแบบจากอินเดียลังกา ที่เขียนกันในยุคแรกๆ ก็ค่อยๆ ปรับคลี่คลายมา ชีวิตประจำวันช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย รัฐบาลมีนโยบายชักชวนประชาชนให้เชื่อผู้นำ คนเริ่มห่างวัดเพราะต้องขวนขวายทำมาหากิน วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนไปตามสภาพบ้านเมืองมีถนน รถราง มีหนังมีละครนอกวัง ศิลปะเริ่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวบ้านมากขึ้น
ถ้านับจากการรวมตัวของเหล่าศิลปินทุกแขนงในชื่อ ‘จักรวรรดิศิลปิน’ ที่ริเริ่มโดย สด กูรมะโรหิต และ เหม เวชกร ผลงาน ทัศนศิลป์ของศิลปินกลุ่มนี้ น่าจะทำให้เห็นภาพรวมของคำว่าศิลปะสมัยใหม่ของไทยในตอนเริ่มต้น
เหม เวชกร
เหม เวชกร ไม่ใช่สำคัญแต่ในฐานะผู้ให้แรงบันดาลใจสดในการก่อตั้งกลุ่มจักรวรรดิ แต่ เหม เวชกร มีงานที่หลากหลายทั้งวรรณกรรม จิตรกรรมและดนตรี งานของเหมและสมาชิกจักรวรรดิที่รวมตัวกันทำงานอยู่สองปี มีงานแสดงเป็นกลุ่มเป็นก้อนพอที่จะทำให้เราเห็นภาพรวมของศิลปะยุคสร้างชาติออก ศิลปินในกลุ่มรวมตัวกันแสดงงานจิตรกรรมและภาพถ่ายครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุง คนดูได้คุยกับคนวาดโดยตรงในงานไม่ผ่านคนกลาง ชาวบ้านเริ่มรู้จักศิลปะสมัยใหม่ของไทย
ต่อมาเหมและเพื่อนพ้องเริ่มบ่นเรื่องการขายงานในระบบธุรกิจแบบจำยอมของนายทุน จากจิตรกรรมมาต่อด้วยวรรณกรรม สองงานนี้เกี่ยวใกล้ชิดกัน การแสดงผลงานอื่นๆ และภาพประกอบหนังสือของเหมและเพื่อนสร้างกระแสให้ประชาชนทั่วไปสนใจรู้จักศิลปะมากขึ้นจนนำไปสู่แนวคิดทำหอศิลป์ขึ้นในสังคมไทย
แนวคิดของจักรวรรดิศิลปินคือศิลปะควรสวยงาม ไม่มีผลประโยชน์การเมืองแอบแฝงและเป็นของทุกชนชั้น คนทำศิลปะก็คือชาวบ้าน อาชีพศิลปินจึงควรละเว้นให้เขาอยู่เป็นอย่างอิสระ ไม่ครอบงำและฐานะศิลปินจะมั่นคงได้ต้องให้การส่งเสริมสนับสนุน แต่สุดท้ายอะไรก็เป็นไปตามข้อเท็จจริง สมาชิกกลุ่มรวมตัวกันอยู่ราวสองปีก็เลิกไป
สภาพตอนนั้นน่าจะพอมองออกว่าญี่ปุ่นเข้ามาวุ่นวายขอผ่านประเทศไทยไปรบพม่า สงครามโลกครั้งที่สองยังไม่จบ น่าจะมีการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ส่งข่าวสารมากมาย จักรวรรดิศิลปินปิดตัวไป แต่เชื้อไฟยังคงอยู่ สิบปีต่อมามีจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นปี 2490 (จำง่ายเพราะเกิดก่อนเราไม่นาน) จากจุดนี้ เมื่อเสร็จงานโชว์จะเอางานไปไว้ที่ไหน สถานที่จัดงานก็ปรับเป็นแกลเลอรีไปเลย ที่มาน่าจะออกแนวนี้ ตอนแรกจะว่าโชว์เฉยๆ ก็คงไม่ใช่ เจตนาอยากให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อรวมทั้งนายทุนขุนศึกอยากให้เข้ามาอุปถัมภ์งานศิลปะที่เป็นวัฒนธรรมของอารยะประเทศ สนับสนุนคนทำงานให้เลี้ยงตัวเองได้ทั้งช่างแนวประเพณีและสมัยใหม่
ลองนึกภาพตัวแทนของศิลปินระดับชาติอย่าง เหม เวชกร กับ Andy Warhol ทั้งสองอยู่ในยุคเดียวกัน ไม่ใช่เปรียบเทียบเพื่อจะบอกว่าอะไรดีกว่า แต่ทำให้เห็นว่าในช่วงศิลปะสมัยใหม่ของสากลกับศิลปะสมัยใหม่ของไทยมีลักษณะอย่างไร
งานของเหมส่วนใหญ่เขียนภาพชีวิตเป็นอยู่อย่างไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจตกต่ำโลกปั่นป่วนโกลาหล งานสิ่งพิมพ์เจริญก้าวหน้า นักเขียนต้องการภาพประกอบเรื่องมากขึ้น จักรวรรดิศิลปินเป็นที่รวมของช่างศิลป์สาขาต่างๆ มีผลงานแพร่หลายกว้างขวางขึ้น ภาพปกแรกหนังสือรุ่งอรุณน่าจะทำให้เราเห็นภาพรวมงานที่มีลักษณะไทยๆ ในยุคแรก คือ เหมเขียนเด็กหนุ่มสาววัยเบิกบาน นั่งใต้ต้นไม้ข้างหน้ามีดอกไม้ มองไกลออกไปจะเห็นพระอาทิตย์กำลังโผล่ขึ้นจากขอบฟ้า ข้างๆ กันเป็นโบสถ์ เจดีย์ในลานวัด นอกจากภาพปกแล้ว เหมยังเขียนภาพประกอบเรื่องขุนช้างขุนแผน พระเวสสันดร สังข์ทอง รวมทั้งผลงานอื่นๆ อีกมากมาย
เราว่าภาพวาดวิวทิวทัศน์สมัย ป.4 คงรับอิทธิพลนี้มา เราจึงเห็นภาพภูเขาสองลูกมะพร้าวหนึ่งต้น พระอาทิตย์อยู่ระหว่างภูเขาแล้วก็มีนกบินสามตัว ตอนเด็กในโรงเรียนครูเราให้วาดภาพแบบนี้อยู่หลายปี
ข้ามมาอีกซีกโลก Andy Warhol ศิลปินร่วมสมัยกับ เหม เวชกร คนนี้น่าจะเป็นตัวแทนของศิลปินฝั่งตะวันตกในสมัยศิลปะสมัยใหม่ตอนปลายที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อกระแสศิลปะของทั่วโลก เรารู้กันอยู่ว่า ศิลปะเติบโตได้ดีในแหล่งทุนนิยมเข้มข้นสมบูรณ์ งานที่ดูเป็นสัญลักษณ์ของเขาคือรูปภาพกระป๋องซุป ภาพดาราดังของฮอลลีวูด กับเทคนิคซิลค์สกรีนที่สังคมปฏิเสธในตอนแรก เขาก็ถูกนักวิจารณ์ด้อยค่าว่าเป็นเพียงนักออกแบบโฆษณาที่หากินกับธุรกิจศิลปะจนเติบโตเป็นล่ำเป็นสัน แต่เขาก็ยืนยันทำด้วยเทคนิคนี้ จนกลายเป็นผู้นำกระแสแฟชั่นป๊อป (ถ้าว่างลองดูซีรีส์นี้ในเน็ตฟลิกซ์ มีรายละเอียดของศิลปินป๊อปโยงถึงนักแสดง นักดนตรี และนักเขียนอื่นๆ อีกมากมาย )
ไม่ใช่มีแต่ Andy Warhol ที่โดดเด่น เป็นศิลปินในยุคศิลปะสมัยใหม่ของประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ยังมีศิลปินอีกมากมายหลายคนที่ทำงานแต่ละช่วงเวลา ศิลปินต่างค้นหาพัฒนารูปแบบมากมายในยุคนี้ เช่น อิมเพรสชันนิสม์ เอกเพรสชันนิสม์และอื่นๆ ส่วนศิลปะสมัยใหม่ของไทย เราเริ่มเรียนเขียนเปอร์สเปคตีฟ เพื่อให้เขียนภาพได้เหมือนจริง เนื้อหาในภาพเขียนเริ่มคลี่คลายจากวรรณกรรมศาสนา ศิลปินของเราเริ่มศึกษาความงามตามแบบสากลจากหลักสูตรที่ถ่ายทอดในสถาบันทั้งเพาะช่าง ศิลปากร จนเกิดงานหลากหลายห่างไกลจากจุดเริ่มต้น หลายงานตั้งคำถามสร้างความสงสัย รอการวิเคราะห์อธิบายถึงศิลปะสมัยใหม่ของศิลปินไทย
อีกไม่กี่วันชาวโลกจะรื่นรมย์กับวันวาเลนไทน์ ศิลปะวันนี้เขาสื่อสารอย่างไรกันในวันแห่งความรัก
บางศิลปินอาจเขียนรูปนักบุญที่สละชีวิต เขียนหัวใจกับกุหลาบสีแดง ศิลปินร่วมสมัยบางคนอาจนั่งออกแบบ content เพื่อยิงขึ้นบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ตามสี่แยก YouTuber และ TikToker คิดสารพัดมุขที่ส่งเสริมเสรีภาพทางใจ บ้างถ่ายทอดความรักนั้นเป็นตัวหนังสือ เป็นรูปวาด
ส่วนภาพเขียนในวันวาเลนไทน์ของเราคือเก็บดอกหญ้ามาฝาก คนอื่นอาจหอบกุหลาบมาให้ ใจใครก็ใจใคร หนาบางต่างกัน
ที่ไม่ต่างอย่างแน่นอนแน่นหนัก คือภาพความรักของศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัยหรือศิลปะยุคไหนๆ จะมีไออุ่นจากหัวใจเสมอ.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’