บางสิ่งที่อยากลืม เรากลับจำ บางสิ่งที่อยากจำ เรากลับลืม เคยได้ยินไหม เพลงเก่าแก่ในใจใครหลายคน คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขัน อยากลืมกลับจำ… ก็แบบนี้แหละคน
ไปน่าน ไม่ได้ไปเพื่อลบบางร่องรอย หลายคนไปแล้วกลับมีภาพจำใหม่ ปู่ย่าม่านอยู่บนข้าวของเครื่องใช้ติดหูติดตา ยืนอยู่ในทุกซอกทุกมุมของน่านวันนี้ ภาพยืนกระซิบรักทำให้บางหนุ่มสาวหวั่นไหว ภาพนี้กลายเป็น Viral ที่ส่งเสียงกระซิบเชิญชวนให้นักเดินทางค้นหา มุ่งมาสัมผัสภาวะงดงามนั้น
อะไรทำให้ภาพนี้เป็นภาพจำ
เพราะคนเราเข้าใจตีความสิ่งต่างๆ รอบตัวจากการมองเห็นได้ง่ายและไวกว่าการอ่านการฟัง ภาพกระซิบรักมีสถานะเป็นภาพจำล้ำหน้าสัญลักษณ์ประจำจังหวัดไปโดยเอกฉันท์
นักวิทยาศาสตร์บอกว่าการสื่อสารของมนุษย์เขาใช้ภาษากายซึ่งก็เป็นภาพบ่อยและมีพลังกว่าคำพูด นักการตลาดบอกว่าภาพที่ถูกนำมาใช้ซ้ำๆ ทำให้เกิดภาพจำ ความสำคัญอยู่ตรงที่การเลือก เลือกสิ่งนี้เพราะอะไร เช่น อเมริกาเลือกนกอินทรีเป็นตราสัญลักษณ์ประจำชาติเพราะมีลักษณะสง่างาม เป็นเครื่องหมายของสติปัญญา อำนาจและการเกิดใหม่ ซ้ำยังบินได้สูงกว่านกชนิดใดๆ
เราคงเคยได้ยินในวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่การพับหรือเขียนภาพนกกระเรียนพันตัวเพื่อต่ออายุผู้ป่วย เพราะมันเป็นภาพจำตัวแทนของความหวัง เหมือนภาพเช (Che Guevara) ยังไม่ตาย ตอนนี้เขาอยู่ท้ายสิบล้อเมืองไทย ยังอยู่บนหน้าอกของหนุ่มสาวร่วมสมัยมากมายหลายเชื้อชาติ รูปนักรบแบบกองโจรขวัญใจชาวบ้านถ่ายโดยช่างภาพคิวบา พอเขาเสียชีวิตภาพนี้ถูกพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก
มันกลายเป็นภาพจำไปเช่นเดียวกับภาพปู่ย่าม่าน, เหมา เจ๋อ ตง, โฮจิมินห์, วิคเตอร โจร่า และอื่นๆ ทั้งหมดนี้เกิดจากการทำซ้ำในพื้นที่แตกต่างกันไป
เสียงจากตัวจริง
เจ้าของหอศิลป์ถิ่นล้านนาบอกเล่าว่าภาพปู่ม่านย่าม่าน ตัดมาจากบางส่วนของภาพบนฝาผนังวัดภูมินทร์ หนานบัวผันวาดไว้ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่สี่ขึ้นรัชกาลที่ห้า แล้วผลงานคลาสสิกของสล่าชาวไทลื้อผู้นี้ก็โดดเด่นกลายเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด ที่มาของพิมพ์นิยมอาจเริ่มจากกว่าสามสิบปีที่แล้ว การบินไทยถ่ายภาพนี้ไปพิมพ์โปสเตอร์โฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องการเดินทาง เชิญชวนให้ไทยเที่ยวไทย และยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง
วินัย ปราบริปู ศิลปินล้านนาผู้ค้นคว้าที่มาของชื่อปู่ม่านย่าม่านที่ ‘หนานบัวผัน’ เรียกชายหญิงพม่านัยว่าเป็นสามีภรรยา ไม่ใช่ปู่ย่าที่ชราภาพ แต่หมายถึงหนุ่มสาวที่พ้นวัยเด็กไปแล้ว ภาพปู่ย่าม่านเป็นส่วนหนึ่งของภาพฝาผนังอยู่ด้านขวามือของวัดภูมินทร์ พอเดินเข้าวัด ด้านขวาติดประตูทางเข้า ภาพอยู่สูงเหนือระดับสายตาเล็กน้อย ชื่อ ‘ภาพกระซิบรักบันลือโลก’ ที่บัญญัติขึ้นโดยวินัย ปราบริปู ได้รับการบอกเล่าปากต่อปากจากประโยคบอกรักที่คัดลอกคำคร่าวมาจากเชียงใหม่ แล้วแปลโดย อ.สมเจตน์ วิมลเกษม วันนี้ Love story ของปู่ย่า สร้างพื้นที่ให้ story teller เล่าขานนักท่องเที่ยวได้คึกโครม (ใครจะไม่อยากฟังซ้ำ)
ขอยกอ้อยอครูหนานบัวผันก่อนในที่นี้ ใช่จะหาญกล้ามาวิจารณ์ภาพเขียนประจำถิ่นที่สร้างตำนานเป็นหนึ่งเดียวภาพจำของจังหวัดในประเทศไทย ไม่มีใครเหมือน ภาพจำที่เกิดจากท้องถิ่น แต่ติดหูติดตาชาวบ้านชาวเมืองมากกว่าตราที่กำหนดขึ้นโดยราชการ ติดหูติดตาโดยสมัครใจ ไม่ได้บังคับ ใช่ไม่ใช่ก็ลองตรวจสอบดูว่าข้อสังเกตนี้เป็นจริงไหม
มีบทสนทนาประสาชาวบ้านว่าด้วยภาพปู่ย่าม่าน ก่อนจะมาเป็นภาพขายในวันนี้ จะเห็นด้วยเห็นแย้งอย่างไร ก็ลองพินิจพิจารณา
นักโฆษณาประชาสัมพันธ์บอกว่า เรื่องรักใคร่มีใครไม่ชอบฟังซ้ำ เลือกรูปได้แล้ว ก็สร้างเรื่องราวให้ละมุนละไมตามที่ใจอยากให้เป็น เรื่องรักเป็นเรื่องพื้นฐานที่เข้าถึงทุกคน จะรักคุด รักคึกหรือรักร้าวราน เรื่องนี้ก็สื่อสารเข้าถึงทุกคนได้ง่าย ภาพคนยืนกระซิบแล้วใส่เรื่องราวเข้าไปว่ากำลังกระซิบรัก คนจะสนใจใคร่รู้ อยากฟังเรื่องเล่านี้ซ้ำๆ เรื่องราวสากลที่คนทุกชาติรักเป็น ท่าทางในภาพสามารถปั้นคำปั้นความทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้ง่ายกว่าภาพเนื้อหาอื่นๆ
ยิ่งนาทีนี้ที่โซเชียลมีเดียครองโลก ความถี่ของเรื่องเล่าเหล่านี้จึงดึงดูดกระตุ้นในคนอยากเดินทางมาดู
ภาพที่สื่อ tiktok บอกว่ามีความสมบูรณ์สุดทั้งด้านองค์ประกอบและอารมณ์สร้างสรรค์และภาพนี้แปลกแยกจากภาพอื่น ถึงขนาดเล่าว่าถ้าไปยืนตรงหน้าภาพแล้วรังสีความรักจากปู่ย่าม่านจะพุ่งเข้าใส่ ก็ติ๊กต๊อกๆ ตามกันไปดู
ภาพปู่ย่าม่านจะใช้หลักการประเมินผลแบบอะคาเดมิคคงยาก เพราะการเขียนรูปฝาผนังพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะ ภาพโดยรวมจะว่าเหมือนวรรณกรรมตัดปะก็คล้าย รูปเล็กรูปใหญ่ที่เป็นเนื้อหาของพุทธประวัติหรือวรรณกรรมท้องถิ่น วางเรียงรายสูงต่ำตามความคิดของช่าง ไม่มีกรอบขอบเขตชัดเจนตามหลักการจัดภาพ ลักษณะเด่นของจิตรกรรมฝาผนังพื้นบ้านไทยในทุกภาคไม่แตกต่างกันมากนัก ยกเว้นโบสถ์หรือสิมอีสานที่นิยมเขียนภาพไว้ด้านนอกโบสถ์ เพราะยุคเก่าเขาห้ามคนใส่ผ้านุ่งกระโปรงเข้าโบสถ์ ช่างจึงต้องเขียนภาพให้ผู้หญิงดูที่ผนังด้านนอกเท่านั้น
เนื้อหาส่วนใหญ่จะคล้ายกันเช่น เขียนพุทธประวัติ ชาดก นิทานพื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น มีรูปวิถีชีวิตพื้นบ้านเป็นเกร็ดย่อยแทรกอยู่ในภาพที่เป็นเรื่องหลัก ลักษณะงานแบนเป็นสองมิติเหมือนกัน แสดงระยะใกล้ไกลด้วยวิธีบังกันซ้อนทับ เมื่อต้องการเน้นจุดเด่นก็ใช้ขนาดที่แตกต่างกัน
ภาพที่วัดภูมินทร์จะคล้ายกับวัดบ้านยางที่อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ที่ช่างเขียนอิสระมาก วาดภาพพระทัดดอกไม้ที่ใบหูจงใจแสดงออกถึงเพศสภาพที่แท้จริง ช่างที่กล้าหาญเช่นนี้มีมากว่าร้อยปีแล้ว ลองเดินเข้าวัดภูมินทร์ ด้านซ้ายมือจะเห็นสองหนุ่มน้อยยืนสบตากันให้คนดูหวั่นไหวได้ไม่แพ้ท่าปู่ย่ากระซิบกัน ลองเข้าไปดู
เสียงของนักการตลาดไม่พลาดที่จะย้ำว่าความสำเร็จของการสร้างภาพจำเกิดจากอำนาจของทุน เสียงทุนใหญ่ย่อมดังไปไกลส่งเสียงดัง หลายคนบอกว่ารู้จักน่านจากโครงการต่างๆ ของทุนใหญ่ที่มาต่อยอดเศรษฐกิจในพื้นที่น่าน รู้จากโครงการสารพัดและจากสื่อกระแสหลักที่กระตือรือร้นแนะนำกิจกรรมต่างๆ ของนักลงทุน
จากหลากหลายกลยุทธ์ ไม่ว่าจากเสียงเชียร์แห่งสำนักติ๊กต๊อก, Content creator, Story Teller, กูรูการตลาด หรือใครจะคิดว่าภาพนี้กลายเป็นภาพจำของชาวโลกไปได้อย่างไร ก็แล้วแต่จะคิด สิทธิเสรีภาพเป็นของผู้เสพผู้ชมศิลปะ
ส่วนเรามองว่าทั้งเรื่องราวและกลยุทธ์การตลาดระดับเซียน เข้ามาทำให้งานศิลปะล้ำค่าของหนานบัวผันได้อยู่ในที่ที่คู่ควร.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’