เขียนรูปร่าง สร้างร่องรอย คิดอะไร อยากรู้อะไร ก็ร่างไว้บนกระดาษ จดบันทึกเพื่อเปลี่ยนสีเสียงที่อยู่ในหัว เผื่อวันหนึ่งเราจะลงมือให้โทนสีที่คิดฝันเป็นภาพจริง คือรู้จดรู้จำ เพราะอยากทำเลียนแบบลีโอนาร์โด ดาวินชี คนที่ผ่าศพเพื่อเขียนตำรากายวิภาคให้เราได้ศึกษา เขียนรูปร่างคนมาจนถึงทุกวันนี้ มีตัวอย่างดีๆ ก็อยากทำตาม
สมุดบันทึกได้บริหารความฝันที่อยู่รอบตัว ช่วยให้คิดช่วยให้จำ หลากหลายความคิดแวบสร้างความเข้าใจและยังช่วยเชื่อมโยงถึงสิ่งที่ยังไม่รู้ ให้รู้ เพื่อปรับใช้ในกระบวนการวาดรูป อะไรที่ต้องรู้ให้ได้ อะไรควรรู้ อะไรไม่ต้องรู้ มาดูกันในสมุดบันทึกเล่มเก่านี้มีอะไรบ้าง
1
Edvard munch จิตรกรชาวนอร์เวย์ เป็นคนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนรวมทั้งตัวเรา ด้วยสีของมุงค์ให้ความรู้สึกลึกในความคิดของเรา ผลงานของเขามีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างอิมเพรสชันนิสม์และเอกเพรสชั่นนิสม์ แต่ช่วงท้ายของชีวิต ผลงานจะออกแนวสัญลักษณ์มากขึ้น ตอนวัยรุ่นเขาทิ้งการเรียนที่โรงเรียนวิศวกรรมไปเรียนศิลปะแทน เขามุ่งมั่นที่จะเป็นจิตรกร ในสมุดบันทึกของเขาเขียนไว้ว่า “ในงานศิลปะของฉัน ฉันพยายามอธิบายชีวิตและความหมายของมันให้กับตัวเอง” ช่วงเด็กเขาสนใจงานอิมเพรสชันนิสม์ ทำงานคล้ายจะเลียนแบบมาเน่ต์ ซึ่งทำให้งานของเขาไม่น่าสนใจ ตอนหลังเขาสรุปว่า งานแนวอิมเพรสชั่นนิสม์คล้ายกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกินไป เขาเปลี่ยนแนวไปลงลึกกับอารมณ์และพลังในตัวเอง ช่วงคิดทบทวนนั้น เขาได้ข้อสรุปให้ตัวเองว่าควรเขียนชีวิตตัวเองและสำรวจภาวะอารมณ์ของตัวเขาเอง เปลี่ยนวิธีคิดชีวิตก็เปลี่ยน เขาเกิดแนวคิดใหม่ จากชายหนุ่มที่สูญเสียแม่ น้องและคนรัก ชีวิตที่ผิดหวังในทุกเรื่อง ทำให้โรคภัยถามหาเขาบ่อยครั้ง ด้วยข้อจำกัดนี้ เขาจึงต้องทำงานศิลปะเยียวยาตัวเองในบ้าน
เขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ เขาสนใจสำรวจจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของตัวเอง ภาพเขียนส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับจิตใจ เป็นภาพที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวและพลังความไร้เหตุผลของจิตใจ จุดเด่นของเขาน่าจะอยู่ที่การนำเสนออารมณ์ เห็นความรู้สึกชัดเจนกับเส้นสายลื่นไหล มีใครบ้างไม่รู้จัก The Scream ภาพที่โด่งดังที่สุดของเขา เขาอธิบายการเขียนรูปนี้ว่าเขาได้ยินเสียงร้องของธรรมชาติ รูปหน้าคนที่เขาวาดคือตัวแทนความวิตกกังวล มีนักออกแบบและจิตรกรรุ่นหลังนำภาพนี้มาตีความใหม่ เขียนในเนื้อหาใหม่มากมายในวันนี้
2
งานของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ไม่ได้สมบูรณ์แบบเลิศลอยมหัศจรรย์อย่างเรมบลังค์ แต่งานเขามีพลังต่อคนทั้งโลก เขาเป็นศิลปินในยุคหลังสมัยใหม่ มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลังมากแค่ไหนคงไม่จำเป็นต้องพูดถึงอีก Van Gogh Alive
Bangkok รอบสองที่ กทม. ปลายเดือน แต่มาโชว์คราวนี้มีค่าวิชา ภาพเขียนของเขาโดดเด่นที่การใช้สีและรอยป้ายของแปรง ขีดสั้นๆที่ไม่เคยมีมาก่อน กับเนื้อหาที่ลึกและดูเหมือนชีวิตจริง ทำให้ภาพเขียนของเขาเหมือนกำลังเล่าเรื่องราวของชีวิต เขาพูดว่าสีมีน้ำหนักทางจิตใจและศีลธรรม เรื่องคนนี้ไม่ต้องพูดเยอะ ใครๆ ก็รู้ว่าพลังเขาแค่ไหน เป็นเรื่องเศร้าที่เหล่าศิลปินจากไปเร็วเกิน
3
มาร์ก ชากาล ศิลปินที่ผสมผสานประเพณีโบราณของยิวเข้ากับการเขียนแนวอะคาเดมิค แล้วสร้างสไตล์ตัวเอง นักเขียนในยุคของเขาเรียกรูปแบบนี้ว่า supernationalism
เขาเป็นหนึ่งในเพนเตอร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องสี สีที่ดีที่สุดของเขาคือสีแห่งความรัก ภาพแขนซ้ายของชายหนุ่มที่โอบกอดหญิงสาวในลักษณะขนานกับพื้นดินแต่ล่องลอยในอากาศ ชื่อภาพคนรักเหนือเมือง
บางทีคนเราก็เหมือนถูกกำหนดมา เมื่อทนายความท้องถิ่นเดินเข้าแกลเลอรีเห็นและชอบภาพของเขา พร้อมกับบอกให้เจ้าของแกลเลอรีให้ชวนเขามาคุยกัน เพื่อนำเขาไปปารีส เมืองหลวงของโลกศิลปะที่ทุกคนต้องไป จากศิลปินยากจนเขาได้ก้าวไปยืนแถวหน้าที่ปารีส งานของเขาโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าปิกัสโซ
4
แจคสัน พอลล็อก ไอคอนอเมริกัน ภาพหยดสีที่มีคนลอกเลียนจริงจังจนเอฟบีไอจับได้ วิธีหยดสีที่ทำให้ศิลปะอเมริกันแจ้งเกิดในโลกของ Old Master Art เพราะเทคนิคนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในยุโรป หนังสือ LIFE สื่อใหญ่ของโลก ชวนคนถกเถียงกับปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่นี้ ให้ผู้รู้นักเชี่ยวชาญวัฒนธรรมมาคิดว่า งานเขาที่ว่าเป็นโดดเด่น ในฐานะงานเด่นของต้นศตวรรษที่ยี่สิบนี่ดีหรือยัง ใช่ไม่ใช่ บางคนบอกว่ามันน่ากังวลที่ศิลปะสมัยใหม่นี้ไม่ใส่ใจศีลธรรมเท่าที่ควร แม้แต่ ออสการ์ ไวด์ กับคนเขียนดอกไม้แห่งความชั่วยังมาปกป้อง เขายืนยันแนวคิดว่าศิลปะต้องมุ่งที่ความงามของตัวงาน ไม่ต้องเกี่ยวกับการเมือง
มีนักวิจารณ์ชื่นชมรูปดังของเขาชื่อ Pollock Cathedral ว่าเป็นภาพที่ดีที่สุดที่ทำขึ้นฝั่งอเมริกา ในขณะที่ความเห็นฝั่งลอนดอนบอกว่ามันก็แค่วอลเปเปอร์ชัดๆ เมื่อมีความเห็นขัดแย้งแบบนี้ นิตยสาร LIFE จึงเชิญตัวศิลปินไปพูดถึงงานของเขา บอกแนวคิดการทำงาน พร้อมๆ กับพาดหัวข่าวบทความว่าเขาคือจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกาหรือไม่ มีคนอ่านเขียนตอบความเห็นนี้ห้าร้อยคน มากในห้วงเวลานั้น ทั้งปฏิกิริยาจากคนอ่าน นิตยสาร และกระแสสังคมศิลปะขณะนั้นตอบรับและทิศทางนี้ว่าเป็นศตวรรษแรกของอเมริกา ชุมชนศิลปะรับรู้และส่งเสียงสนับสนุนงานเขาว่าเป็นภาพที่มีชีวิต เป็นลักษณะเฉพาะของอเมริกัน
5
ใครจะไม่อยากไปสตูดิโอ 54 ของ แอนดี วอร์ฮอล์ คนที่สร้างตำนาน มาริลิน มอนโร ให้มีคุณค่ามากกว่าเป็นสัญลักษณ์ทางเพศที่วงการภาพยนตร์ยกให้ ทั้งที่จริงเธอเป็นได้มากว่านั้น หลังเธอเสียชีวิต แอนดี วอร์ฮอล์ เอารูปเธอมาพิมพ์สกรีนสีทอง พิมพ์หลายรูป และใช้สื่อทุกช่องทางทั้งออนไลน์ออฟไลน์ พร้อมกับเล่าเรื่องราวของเธอในด้านการแสดงที่วงการภาพยนตร์ไม่ยอมรับ สุดท้ายด้วยการทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมร่วมสมัยภาพรูปร่างสมบูรณ์แบบที่เป็นสัญลักษณ์ทางเพศนี้ยังหายใจอยู่ในผนังบ้าน ราวกับว่าเป็นสินค้าบริโภคอุปโภคอย่างหนึ่งด้วยฝีมือคนนี้ คนที่พูดว่าทุกคนในโลกนี้มีชื่อเสียงได้ราวๆ สิบห้านาที แล้วจะเงียบไป
6
Giorgio Morandi เขารักความเงียบสงบมากกว่าชื่อเสียง ไม่สนใจที่จะทะเลาะกับผู้จัดงานแสดงที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ต่อเขามากเกินไป เขามุ่งมั่นอยู่กับแนวคิดอะคาเดมิคที่ศิลปินร่วมยุคเริ่มหันหน้าไปหาแอบสแตรกท์และอื่นๆ แล้ว เขายังเชื่อว่าศิลปินควรศึกษาเส้น สีและพื้นที่ว่างอย่างเข้มงวด เขาให้ความสำคัญต่อรูปแบบความงามที่เรียบง่ายแบบมินิมอล ความธรรมดาของสิ่งที่เขาวาดเช่น ขวด แก้ว เหยือกน้ำ ผลไม้ ได้แสดงให้เห็นความคิดของเขาที่บอกว่า หัวข้อนั้นมันไม่น่าสนใจ แต่มันทำให้คนวาดบรรลุผลสำเร็จในการรับรู้และตอบสนองตัวเองได้อย่างมั่นคง ก็ชอบที่จะทำแบบนี้ เท่านี้
7
ภาพเมืองเหงาๆ บอกอะไรเราได้บ้าง นักวิจารณ์เรียกภาพของเขาว่าเป็นภาพวาดเลื่อนลอย ซึ่งลอยๆ แบบนี้เป็นที่มาของแนวคิดเหนือจริง มันพัฒนามาเป็นเหนือจริง ฉากหลังในภาพของเขาส่วนใหญ่ดูเวิ้งว้างวังเวง น่ากลัว เขาเขียนภาพออกมาส่วนใหญ่เป็นแบบอุปมาอุปไมยมากกว่าที่จะวาดตัวแทนของสิ่งที่เขาเห็น อยากเขียนอะไรเหงาๆ ต้องเข้าไปดูวิธีเขียนความเหงาของเขาที่ภาพพลาซ่าร้าง ความร้างนี่แหละเอกลักษณ์ของเขาเลย Giogio De Chirico จิตรกรนักเขียนชาวอิตาลี คนที่สามารถเขียนรูปแบบตั้งคำถามได้ว่าเมืองใหญ่ที่ไร้ผู้คนหรือจะมีประโยชน์อะไร
8
ลืมไปได้เลยคำว่าหลักการนำ art elements มาจัดวางประกอบกันเพื่อให้เกิด movement, dimention ไม่มีไม่ต้อง สาดสี เทสี หยด เหวี่ยงด้วยแขนกลไปตามจิตใต้สำนึก ถ้าอเมริกาจะเลือกศิลปินที่เป็นไอดอลพอเปรียบกับศิลปินฝั่งยุโรปได้ก็ แจคสัน พอลล็อก นี่แหละที่พอเป็นหน้าเป็นตา เพราะงาน Abstract Expressionism ต้องถือว่าก่อเกิดที่นี่ ด้วยวิธีทำงานที่แปลกใหม่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน งานของเขาจึงพุ่งขึ้นโดดเด่น สังคมศิลปะต้องตั้งคำถามว่าเขาคือศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกาที่ยังมีชีวิตอยู่ใช่หรือไม่ จะอย่างไรก็ตาม เขาก็คือคนเปิดทางให้ศิลปินรุ่นใหม่ในโลกก้าวพ้นไปจากความหนักหนาของกรอบอะคาเดมิค
9
ตาจ้องตา วิธีนี้คือหลายคนค้นพบ จะเห็นสารบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ ทั้งศิลปิน คนดูเผชิญหน้าตัวเอง นี่คือกระบวนการทำงานของสมอง ทุกคนจะนิ่งคิดถึงเรื่องที่เคยผ่านมา ความเงียบจะทำให้สตินิ่ง เห็นภาพคมชัดในความคิด นี่เลยเจ้าแม่
Conceptual Art มาริน่า อับราโมวิค มาบรรยายในงาน Bangkok Art Biennale เธอบอกว่าศิลปะไม่ใช่เครื่องประดับ มันต้องมีความหมายมากกว่านั้น
10
Giorgio Morandi ศิลปินที่เงียบขรึม ทำงานด้วยสมาธิ มีชีวิตอยู่ด้วยความเรียบง่าย เขามั่นคงต่อสิ่งที่เขียน ไม่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งใดๆ ใครบางคนอาจมองว่าเขาล้าสมัย ในความคิดเขามองว่าบางคนกระโดดลงน้ำก่อนที่จะเรียนรู้วิธีว่าย.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’