รูปคนกินมันของแวนโก๊ะถูกคัดลอกมาแบบเหมือนเป๊ะ ลอกมาทั้งภาพเพื่อเปลี่ยนเรื่องราว วันนี้คนในครอบครัวจะเก็บกินความงาม ศิลปินจงใจคัดลอกภาพนั้นแล้วนำมาต่อเติม ปรับเปลี่ยน เพื่อให้เป็นงานของตัวเอง นักวิจารณ์เรียกงานประเภทนี้ว่าศิลปะการคัดสรรหยิบยืม (Appropriation Art)
บางคนบอกว่าฉกฉวย บ้างว่าหยิบยืมจัดสรร ว่ากันไปตามความคิดเห็น กระบวนการคือนำภาพที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ด้วยวิธีดัดแปลง ตัดมาบางส่วนหรือนำมาทั้งหมดแล้วเพิ่มเติม หรือนำมาจัดสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อให้เกิดผลทางความงาม
มีอะไรใหม่
ทุกอย่างเกิดดับ ซ้ำรอยเดิม คราบน้ำตารอยยิ้มปะปนอยู่กับเวลาที่เลื่อนไหล มีอะไรไม่เคยเกิดขึ้นบ้าง ศิลปินร้อยวันพันปีก่อนก็ทำมาแล้วที่บันทึกร่องรอยชีวิตสุขเศร้า ถ้าเราเคยได้ยินคำว่าภายใต้พระอาทิตย์ดวงนี้ไม่มีอะไรใหม่ ก็คงไม่แปลกใจกับภาพรวมของศิลปะร่วมยุคร่วมสมัย เพียงแต่ว่าราวสี่สิบปีมานี้กระแสต่อเติมลอกเลียนรูปเก่าเข้มขึ้นมาก โดยเฉพาะในสังคมอเมริกาและอังกฤษ รูปแบบงานศิลปะหยิบยืมนี้ แนบชิดติดคู่กันมากับกระแสบริโภค ด้วยอำนาจสื่อที่เร่งเร้าให้คนเสพติดการบริโภคให้ได้มากที่สุดไม่ว่าด้านไหน ใครๆ ก็อยากเป็นไอดอลในโลกทุนนิยม เรื่องราวพ่อรวยสอนลูกกับกำเนิดเถ้าแก่น้อยร้อยล้านสร้างภาพฝันมหัศจรรย์ขึ้นในจินตนาการของคนรุ่นใหม่ ใครๆ ก็มีสิทธิ์เป็นเศรษฐีใหม่ได้มากพอเท่ากับใครๆ ก็มีสิทธิ์ดังได้ชั่วข้ามคืน จะด้วยวิธีใดก็ได้
เราจึงเห็นภาพไอดอล ฮีโร่ จากสื่อออนไลน์ออฟไลน์ที่เห็นได้แทบทุกนาที ก็ไม่แปลกที่วิธีหยิบยืมภาพจำ หรือภาพที่มีชื่อเสียงในตลาดโลกอยู่แล้ว ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองกระแสตลาดที่ไร้พรมแดน ศิลปินสามารถสร้างภาพให้โด่งดังได้ทันที ตัวอย่างมีให้เห็นเป็นข่าวพาดหัวไม่เว้นวัน
หลากหลายความคิด หลากหลายเหตุผล
ศิลปินบางคนบอกกล่าวเป้าหมายในการนำภาพมาเล่าอีกครั้งก็เพื่อตั้งคำถาม บางคนอาจทำเพื่อเป็นคำตอบ บางศิลปินนำมาเขย่าความคิดผู้คนอีกครั้ง เกี่ยวกับเรื่องที่พ้นสมัยไป บ้างก็เล่าเรื่องราววันนี้ที่เป็นและสิ่งที่คาดว่ากำลังจะมาถึง ภาพผลงานที่นำมาทำใหม่ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและเศรษฐกิจการเมือง ส่วนใหญ่แล้วเมื่อคนทำต้องการสื่อสารเรื่องราวใด เขาจะคิดถึงหัวข้อที่เขาจะเลือกทำ ภาพที่ศิลปินหยิบยืมมาหมายความว่าเขาสนใจ เห็นความหมายและความสำคัญของภาพนั้น ทั้งในแง่แนวคิดเรื่องราว ยิ่งถ้าเป็นรูปที่มีชื่อเสียงนำมาบวกกับเนื้อหาของตนเองก็ทำให้โดดเด่นเป็นที่จดจำได้โดยเร็ว
ภาพแวนโก๊ะมายืนจ้องหน้าแล้วถามเราว่า–รู้ยัง ประเทศไทยกำลังจะมีเลือกตั้ง
ภาพนี้มีหลายวัตถุประสงค์ กระตุ้นให้คนดูสนใจสภาพสังคมรอบตัว ตั้งคำถามเพื่อหารายละเอียด เตือนให้คนรู้สิทธิและหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสังคม รูปแวนโก๊ะคือแรงบันดาลใจ เขาคือศิลปินในใจที่ใครๆ ก็รู้จัก ลอกเลียนเขียนให้เหมือนต้นแบบทุกอย่าง แล้วพิมพ์สีเพิ่ม ระบายสีทับบางส่วน หรือปะติดวัสดุลอยตัวเข้าไป รูปผลงานใหม่นี้อาจลบแนวคิดเดิมออกไป ได้เห็นมุมมองใหม่ หรือปรับเปลี่ยนวิธีเข้าใจในผลงาน
ศิลปินระดับปิกัสโซ และจอร์จ บราค ก็เคยทำมานานแล้ว เขาจัดสรรหาวัสดุต่างๆ หนังสือพิมพ์ โน้ตเพลงฯ เอามาใช้ในงาน ดูชองก็เอาโถฉี่มาเป็นศิลปะวัตถุใช้โชว์ที่หอศิลป์ในนิวยอร์ก ว่ากันว่า หลังจากงานแสดงครั้งนั้นความคิดเห็นต่องานศิลปะของคนทั้งโลกก็เปลี่ยนไป เขาปรับเปลี่ยนวัตถุสำเร็จรูปให้เป็นงานศิลปะ ในตอนแรกก็สร้างความตื่นเต้นฮือฮา ถูกด่า ต่อมาภายหลัง งาน Ready Made กลับเป็นที่ยอมรับกันในประวัติศาสตร์ศิลปะจนถึงวันนี้ เขาว่าวิธีหยิบยืมวัตถุสำเร็จรูปที่เป็นผลงานของคนอื่นมาประกอบกันเป็นงานของตนเองได้สร้างแรงบันดาลให้ศิลปินรุ่นหลังทำตาม
การยอมรับผลงานชื่อน้ำพุหรือโถฉี่ ยอมรับงานชิ้นนี้ในฐานะผลงานศิลปะย่อมหมายถึงการเติบโตและการประยุกต์ใช้วัสดุสำเร็จที่เป็นเครื่องหมายของสังคมทุนนิยม
แนวคิดเรื่องหยิบยืมเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณสมัยใหม่
วันนี้ศิลปินทั้งสตรีทอาร์ต ศิลปะสมัยใหม่และศิลปินสายเทคโนต่างๆ มีจำนวนไม่น้อยที่โลดแล่นไปกับแนวคิดเรื่องหยิบยืมที่ สตีฟ จ็อบ เคยพูดว่าศิลปินที่ดีคัดลอก แต่ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ขโมย กระแสการคัดลอกหยิบยืมเป็นเรื่องธรรมดา เป็นที่ยอมรับในสังคม เมื่อวัตถุธรรมดากลายเป็นงานชิ้นเอกของนิทรรศการ ผู้จัดแสดงเผยแพร่งานเหล่านี้ทำแบบสอบถามคนดูส่วนใหญ่จะได้คำตอบว่า ผลงานศิลปะหนึ่งชิ้นเป็นจุดรวมแสดงให้เห็นหลายทักษะ เช่น การร่าง การลงสีการเจาะฉลุหรืออื่นๆ เห็นความสามารถในการจับฉวยสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเหตุการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งมานำเสนอ เมื่อคนดูเริ่มเห็นสิ่งของธรรมดาในชีวิตเป็นศิลปะ เขาจะเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับแนวคิด การเลียนแบบ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ศิลปะขั้นสูง เอกลักษณ์ หรือคุณสมบัติอื่นๆ จากที่เคยรับรู้
ถ้าเรานิยามความเป็นสมัยใหม่ คือการค้นหาวิธีแสดงออกแบบใหม่ไปเรื่อยไม่รู้จบ บางคนใช้ตัวเองเป็นวัตถุในการแสดงออก ใช้ตนเองผสมกับวัสดุอื่น อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า พาให้ศิลปินสนุกสนานในการเลือกใช้วัสดุใหม่ๆ ที่ก้าวตาม การเติบโตแบบก้าวกระโดดของระบบทุนนิยม ชาวโลกปรับตัวไม่ทัน ไม่สมดุล สงครามโลกได้เปลี่ยนโครงสร้างสังคม บวกกับอารมณ์ขบถของนักคิดศิลปิน ทำให้มีปรัชญาแนวคิดทางการเมืองใหม่เกิดใหม่ ความรู้ทางจิตวิทยาลึกและละเอียดขึ้น ทั้งหมดทำให้เกิดความเคลื่อนไหว เกิดวิธีการใหม่ ทั้งน่าตื่นตาและมีเอกลักษณ์มากมาย
Ready Made ที่ดูชองเอามาทำให้เป็นวัตถุทางศิลปะ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ชาวโลกเขามองศิลปะกันยังไง ทำไมเขาจึงใช้โถฉี่แสดงงาน เหมือนจงใจใช้สิ่งที่ไร้สาระ น่าประหลาดท้าทายความคิดเดิม ดูต่อต้านของเก่า และทำให้เกิดความคิดว่าอะไรก็เป็นศิลปะได้ งานชิ้นนี้ทำให้ดูชองยิ่งใหญ่ๆ พอๆ กับคนเก่าอย่าง เรมบลังค์, ดาลี, มุงค์ ผลงานประติมากรรมชื่อ ‘น้ำพุ’ ชิ้นเดียวนี้เขย่าความคิดของโลกศิลปะในด้านเนื้อหาและแนวคิด เป็นงานที่ผลักดันให้ชาวโลกศิลปินร่วมสมัยตั้งคำถามว่า มันคือศิลปะหรืออย่างไร ?
ผลงานน้ำพุเกิดในยุค 60 จัดเป็นป๊อบอาร์ตที่เคลื่อนไหวด้วยอารมณ์ขันและความไร้เหตุผล ลักษณะเด่นของป๊อบอาร์ตคือส่วนใหญ่เล่นกับสื่อ ใช้รูปถ่ายที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน รูปมาจากสื่อกระแสหลักดูงาน แอนดี วอร์ฮอล์ จะเห็นได้ชัดเจน เขาใช้ภาพไอดอล ตัวตึงในวัฒนธรรมป๊อบอเมริกัน ภาพถ่ายจากงานโฆษณาสินค้า ดารา นักร้องมาริลิน มอนโร, อลิซาเบท เทย์เลอร์ คือเอาภาพบุคคลหรือสิ่งของธรรมดามาทำให้สำคัญขึ้นเปลี่ยนให้เป็นงานศิลปะ ทำซ้ำๆ คือวัฒนธรรมร่วมสมัย ชีวิตคนทั้งโลกอยู่ในระบบสายพาน รูปกระป๋องซุปที่คนคุ้นเคย เขาเอามาทำภาพพิมพ์ซ้ำๆ บอกปริมาณที่มีดาษดื่นเหมือนสิ่งอื่นในการตลาดร่วมสมัย
การคัดลอกหยิบยืม สำคัญตรงที่ช่วยผลักดันให้คนดูโต้ตอบและมีส่วนร่วมกับงาน ศิลปะวันนี้ให้ความสำคัญต่อทักษะและเทคนิควิธีน้อยลง ใครๆ ก็วาดรูปเป็นศิลปินได้ การคัดลอกด้วยเทคโนโลยีได้เปลี่ยนมุมมองของคนดูและเปลี่ยนวิธีคิดของคนทำไปแล้ว เปลี่ยนงานเคร่งเครียดมาตั้งคำถามใหม่ ยั่วยุ สร้างความสับสนพร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจ
กว่าสิบปีที่แล้วช่างภาพอเมริกันฟ้องศิลปินที่นำภาพของเขามาสร้างภาพปะติดโดยไม่ให้เครดิตและไม่ขออนุญาต ภาพของเขาถูกนำไปทำใหม่ด้วยการตัดต่อ ปะติดเพิ่มเติมแล้วยังขายไปในราคาประมูลค่อนข้างสูง ประเด็นนี้เป็นหัวข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์
ช่างภาพฟ้องทั้งศิลปินและหอศิลป์ที่จัดแสดงงานหยิบยืม รวมทั้งโรงพิมพ์ผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ประเด็นคือผู้ฟ้องชนะคดีในชั้นศาลสูงสุด คำตัดสินนี้ยังสนับสนุนศิลปินที่คิดงานด้วยตัวเอง ในฝั่งศิลปินที่หยิบยืมภาพถ่ายมาบอกว่าเขานำภาพที่ไม่มีคนรู้จักมาทำใหม่ให้โดดเด่นเป็นสาธารณะน่าจะถูกต้องแล้ว การปิดกั้นนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ เขาไม่ได้ทำอะไรให้ภาพเดิมเสียหาย
หลังโรคระบาดโควิด ทำให้ทุกบ้านปิดประตู เป็นช่วงเวลาโหดร้ายเงียบเหงา ระหว่างทาง wfh มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น การทำงานรูปแบบใหม่บวกกับความสามารถของโซเชียลมีเดีย เนรมิตเส้นทางใหม่ให้ใครๆ ก็เป็นช่างภาพ เป็นนักเขียนนักข่าว ศิลปินรุ่นใหม่ก่อร่างสร้างวัฒนธรรมป๊อบของตัวเองจากในบ้าน เขาพูดแฟชั่น เขาพูดภาษาเพลง เขียนเล่าเรื่องราวเหงาเศร้าบันเทิง เขียนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ในวงจรชีวิตมีอะไรใหม่ไปกว่านี้บ้าง
ใครจะเห็นด้วยกับฝ่ายศิลปินที่ทำศิลปะแบบหยิบยืมหรือสนับสนุนฝ่ายช่างภาพก็ว่ากันไป หรือเราควรสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริงให้มีอำนาจในโลกศิลปะ นี่ก็คือคำถามเก่า.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’