art & culture

ว่าด้วยเรื่องป้าย

ข้างเสาไฟมีป้าย นี่ก็ป้าย เดินข้ามถนนมาแล้วก็ยังมีป้าย เขาปักไว้เต็มบ้านเต็มเมืองตอนนี้ ป้ายผู้เสียสละอยากมาเป็นปากเป็นเสียงแทนเรา เขาบอกว่าอย่างนั้น เราไม่รู้ว่ามีเลือกตั้งมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่รู้ไม่ว่าที่ไหน ได้ยินเหมือนๆ กันว่าการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยันเลือกผู้ใหญ่บ้าน ซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีชุดโฆษณาขายฝันชุดใหญ่อยู่บนป้าย ที่บอกว่าเขาสามารถทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้ดีกว่าคนอื่น 

องค์ประกอบบนป้ายมีอะไรบ้าง ลองไปจดดู อันแรกเลยก็หมายเลขผู้มีจิตอาสาอยากมาเป็นผู้แทนฯ อันที่สองคือตัวอักษรบอกสรรพคุณตัวเล็กตัวใหญ่ มีคำขวัญประจำพรรคและอันต่อมาร่วมสมัย เขาใช้สื่อออนไลน์มาใช้บนป้ายหาเสียงแบบให้สแกน อันสุดท้ายที่เราว่าน่าสนใจคือภาพประกอบ แทบทุกป้ายคือเขาใช้รูปหน้าตัวเอง 

เรื่องราวเนื้อหาบนป้ายที่แต่ละพรรคบอกว่าจะทำถ้าเขาได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นผู้แทนฯ เขาต่อต้านเผด็จการ เขาจะให้อำนาจประชาชน จะกระจายอำนาจ จะปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น เขาจะปฏิรูปเรื่องปากท้อง ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เขาจะสร้างความสุขให้พวกเรา

งานป้ายหาเสียง ป้ายประท้วงหรือป้ายในวาระใดก็ตาม ควรเป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากนักออกแบบ ทำให้สวยงาม 

ศิลปินร่วมกับนักกิจกรรมหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม วิธีทำป้ายแบบเก่า เขาทำเพื่อแจ้งข่าวหรือโน้มน้าวให้คนเข้ามาร่วมกิจกรรม ข้อความหรือภาพ จะเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์พื้นฐานให้ชาวบ้านเห็นต่างและเห็นตาม จะได้ผลอย่างไรเป็นไปทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับข้อความหรือภาพในป้ายนั้น เรารู้กันดีว่า เรื่องป้ายบางทีก็เป็นเรื่องยั่วยุ ทำให้เกิดเรื่องเครียดใหม่ๆ บานปลายได้ แต่งานป้ายน่าจะเป็นวิธีที่ใช้งบน้อยสุดแล้วเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ 

งานป้ายนำมาใช้สร้างจิตสำนึกทางสังคม สร้างเครือข่ายได้ เพราะเข้าถึงมวลชนได้ง่าย เมื่อต้องการสื่อสารถึงคนจำนวนมาก งานป้ายจึงควรเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีความงาม

งานออกแบบป้ายมีหลายระดับ ลองออกไปเดินดู ป้ายประท้วงป้ายหาเสียงที่ไหนในโลกก็ไม่แตกต่าง แม้จะคาดคั้นอยากได้คะแนนแค่ไหน ป้ายนั้นสมควรมีความงามแฝงอยู่ คำสัญญาว่าจะทำถ้าได้รับเลือกหรือความในใจอื่นๆ ที่อยากสื่อสารในระดับป้ายข้างถนนก็ทำให้สวยงามได้ ในเนื้อหาเดียวกัน ถ้าศิลปินหรือนักออกแบบได้คิดตั้งแต่ต้นทาง เราก็สามารถทำงานป้ายหาเสียงให้มีเนื้อหาเป็นที่จดจำ แทนการทำป้ายที่มีแต่รูปหน้า แต่ถ้าผู้สมัครคนนั้นคิดใหม่ ออกแบบป้ายตัวเอง คิดเรื่องนโยบายหรือเรื่องราววีรกรรมช่วยสังคมหรืออื่นๆ ที่คิดว่ามันขาย เอาความประทับใจในอุดมคติทางการเมืองของตนมาทำป้ายให้เป็นงานอาร์ต ทำให้เป็นงานระดับมิวเซียม จบฤดูหาเสียงก็ไม่มีใครทิ้งป้ายนี้ไป 

ปิกาสโซ ก็เคยเขียนรูปเกอร์นิก้า ที่เนื้อหามาจากผลกระทบทางการเมือง 

Norman carberg ก็ทำประติมากรรมเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม หรืออย่างภาพการทรมานที่ Abu Ghraib ของsusan Crile แบบนี้คืองานทัศนศิลป์ที่เรื่องเกิดจากสงคราม ลองดูป้ายโปสเตอร์ของที่อื่นๆ

อะไรคือองค์ประกอบของป้าย ควรสวยงามด้วยไหม มันเปลี่ยนความคิดคนได้ ควรมีพื้นที่อยู่ในหอศิลป์ หรือเพียงอยู่ข้างถนน การถกเถียงหาความหมายคือหัวใจของงานนี้ ถ้าเราดูกันจริงจังตรงไปตรงมา มันเปลี่ยนความคิดเราต่อโลกได้อย่างลึกจริงไหม เราอาจได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตอนที่ศิลปะบนป้ายได้ทำหน้าที่ บางที่รูป/ข้อความ อาจทำให้เรากล้าหาญขึ้น และถ้าเรารวมกันจากการเห็นร่วมกัน วิกฤติที่มีผู้อาสามาแก้ไข ไม่ว่าเรื่องอะไร ความยากจน สังคมสูงผู้อายุ การย้ายถิ่นฐาน การเหยียดผิวเชื้อชาติ สิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้จริง

เราจำเป็นต้องคิดใหม่เกี่ยวกับแนวทางของป้ายที่จะใช้ในการเคลื่อนไหว ใช่/ไม่ใช่ ก็ไม่ได้ต้องการคำตอบ แค่ชวนคุยว่าป้ายเป็นรูปแบบที่มีพลังของการแสดงออก จะใช้ประท้วงหรือใช้สื่อสารก็ได้หมด การโชว์ป้ายไม่ใช่วิธีโหดร้ายป่าเถื่อนเลือดสาด ป้ายที่ออกแบบมาอย่างดี มีที่มาและสวยงามไม่ว่าที่ไหนในโลกจะได้รับการจดจำ 

การกดขี่มีเหมือนกันหมดทั้งโลก ในบ้านเราก็มีประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร รูปแบบการชูสามนิ้วยืมมาจาก Hunger games เป็ดเหลืองของ Peter Ganine ช่างปั้นชาวรัสเซียอเมริกัน ที่ได้จดสิทธิบัตรไว้ในรูปของเล่นลอยน้ำได้ มาเป็นที่นิยมดังจริงๆ ตอนที่ศิลปินชาวดัทช์เอามาทำเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ชื่อความสุขกระจายทั่วโลก เขาเอาไปลอยน้ำในหลายพื้นที่ทั่วโลก ที่เห็นเร็วๆ นี้น่าจะอยู่ที่ฮ่องกง

ก่อนหน้านี้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่เซอร์เบียเรียกร้องประชาธิปไตย เขาใช้เป็ดเหลืองเป็นสัญลักษณ์สะท้อนปัญหาสังคม ใช้เป็ดเพราะภาษาเขาคำว่า patka แปลว่าการฉ้อโกง และยังแปลว่าเป็ดอีกด้วย 

นักออกแบบ คนต้นคิดเอาเป็นเป็ดมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองใช้ประท้วงเรียกร้อง ก็เพราะการไปดูเป็ดยางก็หมายถึงการไปดูเขาฉ้อโกงนั่นเอง หรือที่โคโซโว เขามีสำนวนว่าเปรียบเปรยว่า I will not pay the duck ความหมายโดยนัยคือประชาชนชาวบ้านคือแพะรับบาป ที่ฮ่องกงก็ใช้เป็ดยางเขาเอามาวางแทนรถถังล้อเลียนการปฏิวัติเทียนอันเหมิน ส่วนไทยเราเขาบอกว่าเอามาใช้เพื่อแสดงความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวเพื่อเน้นย้ำความไม่สมเหตุสมผลของการเมืองไทย ที่มาของการนำเป็ดยางมาใช้ก็แตกต่างกันไป ใครจะเห็นอย่างไรก็ว่ากันไป 

เราคิดว่าศิลปะเป็นภาษาหนึ่งและเป็นวิธีแสดงออกสื่อสารที่ดีมีพลังหลายระดับ สื่อให้เห็นใจหรือสร้างความเข้าใจได้ ระดับแตะเข้าไปถึงจิตวิญญาณได้ถ้าดีพอ ถ้านักออกแบบหรือศิลปินเข้าใจความต้องการของคน เพราะทั้งคนส่งสารและรับสารเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นประชากรโลกเหมือนกัน เราจึงอยู่ภายใต้การรับรู้เนื้อหาที่ศิลปะแสดงออกเหมือนกัน จะยอมรับหรือหลับหูหลับตา ในฐานะนักออกแบบหรือคนทำป้าย ศิลปินอิสระก็ทำได้หมด พูดความคิดความเชื่อของตนเองลงบนป้าย จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราต้องมีส่วนต้องรับผิดชอบว่างานนั้นสร้างผลกระทบหรือกระตุ้นให้เกิดอะไรไหม 

การสังหารหมู่ของนาซี ปิกาสโซเขียนความเจ็บปวดของชาวบ้าน เขาใช้สัญลักษณ์ เช่น กระทิง แสดงชิ้นส่วนของคน หลังจากโดนระเบิด หน้าคนบิดเบี้ยว แขน ขา แยกส่วนออกเป็นชิ้นๆ กระจัดกระจาย ถ้าสังเกต เราคงรู้สึกอะไรบ้างหรืออาจเรียกน้ำตาขึ้นอยู่กับว่าเขา เข้าใจนึกภาพสนามรบนั้นออก ใช้สีเข้ม เขียนให้เห็นอารมณ์หนักๆ เขานำรูปภาพมาจากหนังสือพิมพ์ ถ้าศิลปินเขียนรูปแบบนี้ก็เท่ากับเขากำลังใช้เสียงของเขา เรียกร้องหรือสื่อให้ใครๆ หันมามอง ดึงดูดให้คนหยุดคิดในสิ่งที่เห็นตรงหน้า ถ้าป้ายยักษ์ป้ายใหญ่ของเราได้คุณภาพระดับนี้คงดีไม่น้อย

คีท แฮริ่ง ศิลปินอีกคนที่ใช้พลังของตัวเองผ่านงานศิลปะ เขาทำป้ายประกาศให้คนเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับชุนชนเกย์ เขาบอกว่าคนเราจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ ถ้าเงียบไม่พูดไม่แสดงงออกอะไรก็เท่ากับตาย เขาใช้รูปสามเหลี่ยมสีชมพู ซึ่งแต่เดิมนาซีใช้ในค่ายกักกันบอกว่าเป็นกลุ่มรักร่วมเพศ ตอนหลัง LGTB ใช้รูปนี้เป็นสัญลักษณ์ในการปลดปล่อยเกย์

จากป้ายหาเสียง ที่งอกงามราวเห็ดโดนฝนต้นฤดู ถามตัวเองว่าเราจะใช้หนึ่งเสียงของเราให้เกิดประโยชน์ได้ไง การเรียกร้องโปสเตอร์ที่สวยงามได้กระตุกกระตุ้นให้คนคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง ความคิดนี้อาจเป็นแนวในการเปลี่ยนเชิงบวกของการทำป้าย

ข้างในหรือจิตใจดีมันดีแน่ๆ แต่ถ้าตั้งใจ เข้าใจ พยายามตกแต่งหน้าตาให้งดงามด้วย มันก็ไม่เลวใช่ไหม.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม


เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’

You may also like...