art & culture

ทางเลือก

ก็ลองถกเถียงกันดู ครูเคยบอกว่า ถ้าวาดแสงเงาแล้ว ก็ทำประเด็นแสงเงาให้ตลอด ความงามของแสงเงาตกกระทบของวัตถุใดๆ ถ้ามันจับใจมีหลายเหลี่ยมมุมให้มอง ก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนั้นไป ไม่ใช่บางเวลาก็เปลี่ยนไปเขียนการ์ตูน เดี๋ยวหันกลับมาเขียนบ้านร้างกลางเมือง กลับไปกลับมาแบบนี้ แกลเลอรีเขาไม่สนใจหรอก เขียน landscape, seascape อยู่ดีๆ ก็หันไปเขียน portrait เขามองว่ามันเป็นงานนับหนึ่ง เหมือนกับว่าผลงานนั้นจะถูกประเมินไปแล้วว่าไม่ดีพอ 

มีหลายสำนักคิดบอกว่า ศิลปินที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ยืนยันประเด็นเดียว

ความเห็นนี้ จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็แล้วแต่มุมมอง บางทีอาจเป็นเจตนาของศิลปิน จงใจตั้งใจทำอย่างนั้นอย่างเสรี เขาอาจไม่ใส่ใจแกลเลอรีหรือสนใจการยอมรับใดๆ เลยก็ได้ คำถามนี้จึงยากที่จะตอบให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เราควรเห็นชอบเปิดปลายทางไหม ให้เป็นประเด็นถกเถียงและเป็นทางเลือกของปัจเจกชน 

‘ไม้ใหญ่ให้ดอกผลในวันเวลาและสภาพที่เหมาะสม’ บอกรุ่นพี่ว่าอย่างนี้

สายไปเร็วไปไม่มีอยู่จริง เริ่มเมื่อไหร่ก็ได้ อยู่ที่กาลเวลาสอดคล้องต้องใจ ถึงวาระอยากลุกขึ้นมาทำความฝันวันวานให้เห็นเป็นรูปรอยชัดเจน ก็ลงมือ อยากเขียนก็เขียน ก็เท่านั้น บวกความมุ่งมั่น อดทน ทุ่มเท มีวินัย น่าจะเป็นนิสัยพื้นฐานที่ควรจะมี 

ภัณฑารักษ์ นักสะสม ศิลปินรุ่นครูบอกไว้ สร้างสไตล์ตัวเองให้ชัด ผลงานควรเห็นลายมือ เห็นแนวทางที่แตกต่างจากคนอื่น งานที่เอาแต่ลอกเลียน ยี่สิบคนเขียนเหมือนกันทั้งหมด มันจะน่าสนใจตรงไหน การสร้างสรรค์ผลงานสม่ำเสมอจะทำให้เห็นบุคลิกและทัศนะต่อการทำงานของศิลปิน ที่สำคัญไม่น้อยกว่าผลงานคือการพัฒนาคุณลักษณะของตัวศิลปินเองด้วย

คนที่คลุกอยู่กับเรื่องใดๆ ในที่สุดกลิ่นและเสียงมันจะออกมาเอง

กับคำถาม–แล้วจะสร้างงานศิลปะได้ยังไง สำหรับมือใหม่หัดเขียน ?

ก็เริ่มจากการทดลองทำ มองเรื่องที่สนใจให้ความสำคัญก่อน ประเด็นที่ตนสนใจ ที่เป็นธรรมชาติของตัวเราจริงๆ อยู่เมืองไทยเขียนรูป วิพากษ์วิจารณ์สงครามยูเครนโดยไม่ศึกษา ข้อมูลด้านลบด้านบวกมาจากไหน ถ้าไม่เคยเดินทาง เขียนรูปจากการรับฟังข่าวสารออนไลน์ ข้อมูลภาพมาจากแหล่งเดียว ไม่รอบด้าน ภาพที่เขียนอาจกลายเป็นการสื่อสารความเท็จก็ได้ ความลวงก็อาจกลายเป็นความจริง เหตุการณ์ที่ไกลตัวคลุมเครือจนเกินกว่าจะเข้าใจ ศิลปินก็ไม่อาจสื่อสารได้ชัดเจน 

ในทางตรงข้าม หากศิลปินเลือกเขียนเลือกทำในมุมที่เป็นธรรมชาติของตนจริงๆ ถ้าไม่ฝืนตัวเองสนใจไปตามกระแสโลกนิยม เราก็จะเห็นผลงานของตนเองในประเด็นที่เราสนใจ สำหรับการเริ่มต้นบนทางเลือกที่หลากหลาย ทบทวนความคิดตัวเองและใคร่ครวญ สไตล์หรือภาพลักษณ์มันก็หลอกกันไม่ได้ การทำงานในลักษณะนี้จะทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นๆ

เมื่อดูมากเห็นมาก ก็คงจะพบศิลปินในดวงใจสักคน ลองเริ่มเลียนแบบ ใช้วัสดุและกลวิธีจากตรงนั้นก็ได้ ไม่ผิดเลยที่จะบอกว่าเรารับอิทธิพลของใครบ้าง อย่าไปใส่ใจเลยว่าเรากำลังทำศิลปะสมัยใหม่หรือทำงานศิลปะร่วมสมัย ปล่อยให้เป็นงานของนักวิชาการที่จะขีดเส้นใต้ให้ว่ามันอยู่ช่วงเวลาใด

ชอบ Edvard Munch ใช่ไหม ถ้าสนใจเนื้อหาประเด็นความตาย ความอ่อนแอ ความหวาดกลัวของมนุษย์ที่เป็นเนื้อหาหลักในผลงานของเขา ชอบก็ศึกษาชีวิตและผลงานของเขา หรือจะชอบมากเมื่อเห็นงานสีแรงๆ หนักแน่นของเพนเตอร์เยอรมัน Emil Nolde หรือจะลองปลดปล่อยความคับแค้นใจเหมือนงานของ Tracey Emin ศิลปินคอนเทมฯ แถวหน้าของอังกฤษที่เธอบอกว่า เธอไม่ได้สะท้อนภาพสังคมหรือเหตุการณ์บ้านเมืองอะไรเลย เธอแค่เขียนชีวิตจริงของเธอ หรือจะคิดงานให้หวือหวาเหมือนคู่ซี้ที่โด่งดังของเธอ Damien-Hirst ที่ทำอะไรให้น่าทึ่งเสมอ หรือจะลองดูงานวาดเส้นที่สะท้อนภาพแรงงานสู้ชีวิต หนักแน่นกระทบกระแทกใจของ Kathe Kollwitz เมื่อได้เห็นอาจเกิดอาการอยากวาดรูปทันที หรือจะชอบงานศิลปินในช่วง low bow เจ้าพ่อป๊อปเซอร์เรียล Mark Ryden ใช่ไหม คนนี้ให้แรงมือแรงไม้ศิลปินร่วมสมัยไทยมากมาย 

อะไรทั้งหลายเหล่านี้มันจะดึงดูดให้เราเข้ามาใกล้ชิดพวกเขา อยากศึกษาสี รูปทรง การจัดวางองค์ประกอบและอื่นๆ งานของศิลปินรุ่นครู จะเป็นแนวทางให้เราเริ่มต้นได้ 

แต่มีกติกาที่ต้องรู้คือ เมื่อศึกษาผลงานระดับเวิลด์คลาสแล้ว ข้อมูลมากมายแค่ไหนก็เขียนเองไม่ได้ จนกว่าจะลงมือด้วยตัวเอง สิบร้อยครูอินฟูลเอนเซอร์ก็ไม่ช่วยให้เราเขียนรูปได้ ถ้าไม่ออกแรง เหมือนเรียนว่ายน้ำบนกระดาษเอสี่ เขียนให้มากเท่านั้น ทำตามแบบจนวันหนึ่งเราจะเห็นตัวเองเห็นทางที่จะเดินต่อได้เอง

อีกวิธีที่น่าจะดีคือ หาหนังสือ อ่านประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะบนโลกนี้มีอารมณ์ไหนเป็นของใหม่บ้าง นอกจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย และรัก โลภ โกรธ หลง คนรุ่นใหม่ก็มีคนใหม่กว่าแน่ๆ อย่าเผลอไป ให้ของเก่าบันดาลใจ ไม่เสียหาย ของเก่ามีคนทำไว้ดีเลิศประเสริฐแล้ว เพิ่มความเข้าใจและชี้ทิศทางให้เราได้ด้วยซ้ำไป อยากเดินบนหนทางราบเรียบหรือชอบเดินโดดเดี่ยว บนทางขรุขระ เราเลือกได้  ศึกษาจากสิ่งที่ตั้งอยู่ก่อนแล้ว ทำมากก็รู้มาก 

ประสบการณ์สุนทรียะบวกความเข้าใจกระบวนการจะพัฒนาวิสัยทัศน์และสไตล์เราไปเองโดยไม่รู้ตัว เมื่อมีโอกาสคุยกับนักสะสม คิวเรเตอร์ เจ้าของแกลเลอรี กับใครก็คุยได้ ไม่ต้องใส่ใจขนาดจะสร้างความประทับใจ เพราะคนเราชอบไม่เหมือนกัน แค่เลือกอย่างที่อยากเลือก เขียนสิ่งที่เราอยากเขียน

ปัจจัยภายนอกเหมือนมีคำแนะนำทางเลือกให้มากมาย แต่สุดท้ายอยู่ที่ตัวเราเท่านั้นที่กำหนดเส้นทางของตัวเอง เห็นชอบ ไม่เห็นชอบวิธีไหน อย่างไร ก็ทำไปตามเจตนาของเรา แต่นั่นแหละ โลกก็ซับซ้อนและไม่ได้มีด้านเดียว เมื่อมีศิลปินต้นแบบในใจหลายคน สำหรับการเริ่มต้นก็เท่ากับมีเส้นทางหลากหลายให้เลือก

ไม่เหมือนจังหวะของบางชีวิตที่โลกมีให้แค่สองทางเลือก ที่ไม่รู้จะหัวเราะหรือร้องไห้.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม

หมายเหตุบรรณาธิการ: ผู้เขียนแจ้งว่าก่อนจะวาดเขียน ทำงานได้พอใจตัวเอง ก็เคยผ่านชิ้นงานที่ลองผิดลองถูกและไม่ชอบใจมามาก รูปที่เลือกมาลงเป็นหลักฐานของแรงงานในวันเวลาแห่งการฝึกฝน หัดเขียน


เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’

You may also like...