อาจดูแปลกแตกต่างจากที่เคยทำ เพราะการงานครั้งนี้คือทำภายใต้โจทย์ทั้งเนื้อหาและกระบวนการ ที่กำหนดโดยศิลปินที่คิดร่วมกับคิวเรเตอร์ แล้วสรุปเป็นแนวคิดหลักของโครงการทำศิลปะเพื่อคนไร้บ้าน สูงวัย ขยาย (ความ) คือชื่อโครงการ
คิวเรเตอร์บอกเราแบบนี้ ศิลปินที่เข้าร่วมจะทำงานตามแนวคิดนี้คือวันนี้สังคมเมืองขยายตัว คนแก่ชราที่อยู่คนเดียวเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปีจนไทยกลายเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คนที่มีลูกหลานดูแลต้องการการใส่ใจที่แตกต่างไปจากหญิงชายชราที่ขาดคนดูแล ไร้ที่พักพิง ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะประคับประคองดูแลความความรู้สึกของผู้สูงวัย คนส่วนใหญ่ที่ออกจากบ้านไปอยู่อย่างคนไร้บ้าน มีทั้งแบบสมัครใจ จำใจ รวมทั้งถูกผลักไส ด้วยทัศนคติใหม่ที่มองว่าพ่อแม่คือภาระส่วนเกิน ไม่ใช่เรื่องของความกตัญญูรู้คุณ
คนสูงวัยกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในยุคศิลปะร่วมสมัย ยุคที่กิจกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคมอย่างซ่อนตัว และมีอยู่จริงเช่นบาร์โฮสท์และอื่นๆ การชักชวนให้คนแก่ถักโครเช่ต์ ในขณะที่ไทยเป็นเมืองร้อน ให้ทำดอกไม้กระดาษหรือนั่งพับถุง ก็ไม่ใช่ทุกคนจะถักหรือพับได้ นอกจากทุนทรัพย์ที่ต้องจัดหามาสร้างกิจกรรมแล้ว ข้อจำกัดทางร่างกายที่เป็นธรรมชาติ ตามวัย ความเจ็บป่วยและข้อจำกัดทางอารมณ์ที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดนี่แหละ เราจะดูแลความเสื่อมถอย ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในสังคมผู้สูงอายุได้อย่างไร
ทั้งที่มีสถานให้พักพิงแล้ว ทำไมจึงยังมีคนที่สมัครใจกินนอนข้างถนน ในวันฝนตกแดดออก ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ทั้งหมด
ตามเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ปารีส นิวยอร์ก โตเกียว คนไร้บ้านมีทุกที่ คนจรนอนข้างถนน นอนในที่สาธารณะ ใต้สะพานไม่มีที่พักเป็นหลักเป็นแหล่ง เรามีตึกร้างเยอะแยะ เรามีขยะอาหารเหลือกินมากมาย แต่เราก็ยังมีคนหิว ความหิวเป็นปัญหาของปัจเจกบุคคลไหม
คนไร้บ้านที่มาอาศัยวัด เขาเล่าว่า บ้านก็มี ลูกเมียก็มี แต่ไม่อยากอยู่ เมียติดเหล้า ลูกติดแฟน ไม่เคยเห็นหน้า จำไม่ได้ว่าเคยมีลูก ตัวเองก็ติดเหล้า มากวาดใบไม้ กวาดขยะลานวัด คอยไล่หมาแลกกับข้าวก้นบาตร ที่วัดมีห้องน้ำหนักเบาครบ นอนศาลาวัด หลับแล้วก็ไม่รู้ว่ามียุงไหม ยุงกัดก็ไม่ตาย เป็นผู้ชายก็ดีหน่อย ถ้าผู้หญิงที่มาส่วนใหญ่ก็แบบพิการ น่าสังเวช ไม่มีใครกล้ายุ่ง ก็พออยู่ได้ ช่วยงานแม่ชีไป นานๆ จะมีถุงยังชีพมาแจก
เพราะขี้เกียจ ล้มเหลวแล้วไม่แก้ตัวใหม่ ตอนหนุ่มสาวทำอะไร ทำไมไม่ทำงาน เก็บออม แก่ตัวก็สายไป หลากหลายความเห็นถึงสาเหตุ ยิ่งบางความพิการ บางคนก็ผิดหวังลูกหลานไม่เลี้ยงดู บางคนทำงานไม่ประสบความสำเร็จ บวกทัศนะที่ผิด ยิ่งมุ่งไปโทษฟ้าโทษดิน บางคนมีประวัติเสียหาย ยากที่จะกลับตัว เรียกร้องสังคมให้โอกาส ฯลฯ
โครงการทำงานศิลปะเกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ภาพใหญ่ของคนจรไร้บ้าน ไม่ว่าจะอาชีพอะไร ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องส่วนตัว เช่น หย่าร้าง ความบกพร่องทางกาย ตกงาน ผิดหวังน้อยใจ ไม่มีหน่วยงานไหนคอยสนับสนุนดูแลช่วยเหลือ และอีกปัจจัยคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมมันมีอยู่จริง
การทำศิลปะของเราชิ้นนี้ ทำให้เขามีปากเสียง พูดให้คนได้ยิน มีศิลปินหลายคนในโครงการเข้ามาทำกับคนไร้บ้านจริง ทำเพื่อให้เรื่องราวของคนไร้บ้านที่ยากไร้ ที่ใช้ชีวิตตามพื้นที่สาธารณะถูกมองเห็นในสังคม ภาพที่เห็นคุ้นเคยกันดี ภาพที่คนไม่กล้าสบตา ไม่เคยเข้าไปรับรู้ ทำศิลปะสะท้อนภาพทั้งหลายเหล่านี้ให้คนในสังคมรู้จัก โดยเฉพาะในสังคมเมือง ว่ามันมีอยู่ ฉากชีวิตความยากลำบากที่แตกต่างกัน คนเหลือเฟือก็ลำบากจากความเบื่อหน่ายที่มีจนล้นเกิน อย่างที่ศิลปินตะวันตกที่จำชื่อไม่ได้ เคยเขียนไว้ว่า Protect me From what I want นั่นแหละ
เราเขียนแนวคิดในการทำงานครั้งนี้ไว้ว่า ข้อผิดพลาดไม่ใช่เรื่องที่เราออกแบบไว้ มนุษย์ไม่ได้ต้องการความบกพร่อง ไม่ว่าจะทางใจหรือทางกาย แต่เมื่อมันเกิดขึ้น ดำรงอยู่ เราจะเมินเฉย ทอดทิ้งให้ความบกพร่องนั้นบาดเนื้อตัวไปจนวาระสุดท้ายทำไม
ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม งานเปิดแสดงจนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2023 ที่ ชั้น 9 หอศิลป์กรุงเทพมหานคร เชิญชวนไปดูงานหลากหลายรูปแบบที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมผู้สูงวัย เป็นการทำงานศิลปะจาการสำรวจแนวความคิดทัศนคติที่มีต่อสภาวะสังคมผู้สูงวัย ความเข้าใจและการเห็นความสำคัญของผู้สูงวัย รวมประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยอย่างนโยบายของรัฐ สุขอนามัย สาธารณสุขที่อยู่อาศัย ค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี โดยนำเสนอผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินหลายสาขา สถาปนิก นักออกแบบ นักมานุษยวิทยาและกลุ่มเครือข่ายปฏิบัติการทางสังคม เพื่อสะท้อนความรู้และแง่มุมหลากหลายที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้สูงอายุในบ้านเรา
คงมีบางแง่มุมให้ภาพชัดกับเราได้ว่า ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จงใจจะไม่มีบ้าน.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’