art & culture

ผู้เปลี่ยนเกม

Marcel Duchamp สร้างผลงานชื่อ Fountain ด้วยการใช้โถปัสสาวะชายเป็นสื่อวัสดุ ติดตั้งบนแท่นสี่เหลี่ยมสีขาว แล้วให้เพื่อนช่างภาพ Alfred Stieglitz เป็นผู้ถ่าย ผลงาน Fountain ที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ร่วมแสดงในหอศิลป์ชิ้นนี้คือผู้เปลี่ยนเกมศิลปะไปตลอดกาล

ผลงานชื่อ ‘น้ำพุ’ เป็นการนำผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเครื่องจักรกลมาใช้เป็นวัสดุในการแสดงความคิดของศิลปิน ปรากฏการณ์นี้ ท้าทายความหมายเดิมของคำว่า ‘ศิลปะ’ ซึ่งศิลปะยุคอะคาเดมิกกำหนดคุณค่าของงานไว้ว่า ผลงานศิลปะต้องเป็นสิ่งที่เกิดจากฝีมือและปัญญาของมนุษย์เท่านั้น ในขณะที่ดูชองป์นำโถฉี่มาจัดวาง แล้วตั้งชื่อให้ผลงาน

โถฉี่ไม่มีเนื้อหาทางอารมณ์ ไม่ได้เกิดจากทักษะของคน แม้ว่าก่อนจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ งานต้องเกิดจากการปั้นมือด้วยดินเหนียวหรือทำแม่พิมพ์ก่อน รวมถึงต้องผ่านกระบวนการความร้อน เคลือบแข็ง ซึ่งผลผลิตจากระบบสายพาน หมายถึงสามารถทำออกมาได้ในจำนวนมหาศาล

ศิลปินร่วมสมัยสายช่างคิดเกิดพุทธิปัญญาสว่างวูบวาบ ถ้าผลงาน Fountain นับเป็นศิลปะ แล้วจะยังนั่งหลังขดหลังแข็งเกลี่ยสีหรือนวดดินไปทำไม เปลี่ยนเข็มทิศชี้ไปทิศทางใหม่ดูชีวิตจะสว่างไสวกว่าก็เป็นได้ ความคลุมเครือในคุณค่าใหม่เขย่าหัวสมองศิลปินสายถนัดคิดจำนวนไม่น้อย พวกเขาหันหลังให้ความหมายจากตำราเล่มเก่าที่ว่าศิลปะควรเป็นต้นแบบและมีหนึ่งเดียว ศิลปะควรเป็นตัวแทน เป็นอุปมาอุปไมยของอะไรบางอย่างในสังคม ควรแฝงไว้ด้วยอุดมคติที่สูงส่ง

ที่สำคัญคือ ศิลปะจะมีคุณค่าต่อเมื่อสามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางความรู้สึกได้

โถฉี่ไม่ใช่งานชิ้นเดียวในโลก หาได้ง่าย แล้วคุณค่าทางสุนทรียภาพคืออะไร อยู่ส่วนไหนของงาน ข้อขัดใจสงสัยเหล่านี้มันเกิดขึ้นและส่งผลสะเทือนต่อโลกศิลปะอย่างไร

ดูชองป์ผู้สร้างงาน ‘น้ำพุ’ กลับมีความเห็นว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องสวยงามหรือประดิดประดอยขึ้นด้วยทักษะล้ำๆ ความคิดของศิลปินควรสำคัญกว่าตัวงานที่มักจะถูกครอบครองด้วยนายทุน หรือมีกลุ่มคนเพียงเล็กน้อยที่สามารถชื่นชมงานนั้นได้ เขามีเจตนาสอบทานความคิดของศิลปินในช่วงเวลานั้นด้วย ดูเหมือนตัวเขาเองอาจกำลังสนุกสนานกับการเกิดใหม่ การขยายตัวของปริมาณการบริโภคที่รุ่งเรืองสุดขีดในยุคอุตสาหกรรม ความตื่นตาตื่นใจต่อสภาพสังคมรอบตัวภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาจทำให้เขามองเห็นอะไรบางอย่าง บวกกับความคิดที่เขาเห็นว่า ศิลปะตกเป็นของมีค่าสำหรับนายทุนเท่านั้น

เขาปรารถนากระตุ้นให้โลกศิลปะตั้งคำถาม ทบทวนวิธีให้คุณค่าใหม่เกี่ยวกับศิลปะ  

ความตั้งใจและบริบทในการนำเสนอวัตถุใดๆ ที่ได้คัดเลือกมาแล้ว เราสามารถทำให้สิ่งนั้นเป็นงานศิลปะได้ ในประเด็นนี้ดูเขามีเจตนายั่วล้อให้คนคิดเรื่องอัตลักษณ์และความเป็นต้นแบบว่ายังจำเป็นอยู่ไหม ซึ่งความเห็นหรือเจตนาของการทำงานศิลปะ ในรูปแบบของดูชองยังเป็นสิ่งที่ตกทอดมาถึงวันนี้ เป็นเชื้อปะทุให้ศิลปินรุ่นหลังได้ตรวจสอบคุณค่าและรูปแบบกระบวนการทำงานศิลปะต่อมา 

สิ่งที่ทำให้คนในยุคนั้นตกตลึงไม่ใช่ตัวงาน แต่เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครเห็นในนิทรรศการมากกว่า

เมื่อโถฉี่ถูกส่งไปที่หอศิลป์ มันทำให้คณะกรรมการตกตลึงว่าใครเล่นตลก แล้วงานชิ้นนี้ก็ถูกคัดออกจากนิทรรศการของกลุ่ม The society of independent Artist ซึ่งดูชองป์คือหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ก่อตั้งสมาคมนี้ด้วย ไม่มีใครรู้ว่างานที่ถูกคัดออกนี้เป็นผลงานของเขา (ปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นผลดีต่อประวัติศาสตร์ศิลปะที่ตัวงานเป็นอิสระไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ เพื่อให้ผลงานได้พิสูจน์คุณค่าด้วยตัวเอง) วันนี้ เราได้เห็นกันแล้วว่า โถฉี่คือผลงานชิ้นสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์ศิลปะของโลกสมัยใหม่  

ดูชองป์ ผู้มาพร้อมกับคำว่า ‘วัตถุสำเร็จรูป’ Ready Made ลายเซ็นของเขาทำให้โถฉี่ธรรมดากลายเป็นศิลปะ แม้ว่าลายเซ็นนั้นจะเป็นนามแฝงก็ตาม ในความเห็นเรา ถ้าโถฉี่ไม่มีลายเซ็น งานนั้นอาจไม่มีความหมายใด แต่ดูชองป์จงใจที่จะใช้นามแฝง มันแสดงให้เห็นจิตวิญญาณขบถก็จริง แต่ลึกๆ เขาก็คิดเผื่อในการเปิดช่องทางพิเศษให้ตัวเอง ดูชองป์ไม่ใช่ไก่กาที่ไหน ช่วงวัยรุ่นก็ทำงานจิตรกรรม ภาพเขียนสีน้ำมันชื่อ the chess game แสดงให้เห็นช่วงเวลาของเขาที่อยู่ในร่มเงากลุ่มนิยมอนาคต (Futurism) มาก่อน

เขาอาจมาก่อนเวลา นั่นหมายถึงการเป็นต้นแบบ บางวาระศิลปินควรเพ้อเจ้อ (เพื่อนที่มีตำแหน่งนักเขียนกล่าวไว้) เพ้อเจ้อแล้วยังกล้าหาญพอที่จะนำเสนอความคิดตัวเอง ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน งานของเขาถูกปฏิเสธด้วยความเห็นว่า น้ำพุไม่มีเนื้อหาผิดศีลธรรมก็จริง แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นแค่อ่างอาบน้ำ เป็นของที่เราเห็นกันปกติในร้านค้าวัสดุก่อสร้าง แม้เขาจะสร้างแม่พิมพ์ด้วยมือ มันก็ไม่สำคัญ เขาแค่เอาของธรรมดาในชีวิตมาวางแล้วสร้างความคิดและมุมมองใหม่  ในช่วงเวลานั้น ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้เลยว่ามุมมองใหม่นี้จะส่งผลกว้างไกลในอีกกว่าร้อยปีต่อมา ว่ากันว่า ถ้าไม่มีโถฉี่ของ Marcel Duchamp ก็จะไม่มีกระป๋องซุปของ Andy Warhol ศิลปินป๊อบตัวตึงของวงการร่วมสมัยในวันนี้

ลายเซ็นที่เขาเขียนว่า R. mutt บนโถฉี่นั้น คือชื่อโรงงานผู้ผลิตเซอรามิครวมกับชื่อตัวตลกตัวหนึ่งในการ์ตูนที่เขาชอบ ไม่มีใครรู้ เขาแอบไปเอางานที่ถูกคัดออกมา แล้วเอาไปให้ Alfread Stieglitz เพื่อนช่างภาพ ภายหลังเขาเป็นคนเปิดเผยเองว่า งานที่ถูกคัดออกนั้นคืองานของเขาเอง ภาพที่เผยแพร่ไปทั่วโลกเป็นผลงานภาพถ่ายขาวดำของเพื่อนเขา ไม่ใช่ภาพถ่ายในหอศิลป์

เขาปฏิเสธงานของ Henry Matisse กับเพื่อนๆ อีกหลายคน ที่เขาเห็นว่า มาติส เขียนรูปก็แค่ให้เห็นสวยงามทางตาเท่านั้น ความคิดของเขาคือทำงานศิลปะ ควรเพื่อตอบสนองทางใจและผลงานควรทำด้วยแนวคิดและปัญญามากกว่าทำจากความงามที่เห็นอยู่ดาษดื่น

วิธีคิดของเขาคือ การเปลี่ยนบริบทของวัตถุธรรมดาในชีวิตประจำวัน ด้วยการกำหนดวัตถุนั้นให้เป็นศิลปะที่แสดงความคิดเห็นทางสังคม เขานำโปสต์การ์ดรูปโมนาลิซ่า ที่วาดโดย ลีโอนาร์โด ดาวินชี เอามาวาดหนวดและเคราเพิ่มเติม หลังจากนั้น เขาเปลี่ยนชื่อภาพจาก Mona Lisa เป็นงานชิ้นใหม่ชื่อ She is hot in the arse

ก่อนความคิดจะตกผลึก Duchamp เขียนรูปผู้หญิงลงบันได ภาพแสดงให้เห็นเส้นขอบของภาพเปลือยที่ทับซ้อนกัน ดูเคลื่อนไหว (อย่างน้อยรูปนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่า เขาอยู่ในช่วงเวลาที่ฝักใฝ่และชื่นชมเครื่องจักรบ้างแล้ว เขาวาดให้เห็นการแยกส่วน การคาบเกี่ยวกันของรูปทรง การสังเคราะห์แบบคิวบิสม์ (cubism) และการเคลื่อนไหวแบบฟิวเจอร์ริสม์  (futurism) เขาเขียนบรรยายภาพไว้ว่า เขาสร้างภาพนิ่งของการเคลื่อนไหว เพราะการเคลื่อนไหวเป็นนามธรรม เขียนคนให้เห็นชัดเจนในภาพ โดยไม่รู้ว่าคนจริงกำลังลงบันไดหรือไม่ รูปลงบันไดก็ถูกคัดออกจากเพื่อนกลุ่มคิวบิสม์ จัดแสดงที่หอศิลป์ในปารีส (ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวด จากความคลุมเครือ ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ เพราะการเขียนภาพผู้หญิงลงบันไดของเขาแปลกแตกต่างจากความคิดหลักของกลุ่มคิวบิสม์ในขณะนั้น)

การยอมรับสิ่งใดๆ ก็ล้วนต้องการเวลาให้คำตอบ ที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องของความกล้าหาญที่เขานำเสนอความคิดความเห็นตัวเองอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ดีกว่าการคล้อยตาม) ผลงานที่ถูกปฏิเสธครั้งที่สองนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญของเขา เมื่อเพื่อนไม่ให้ร่วมโชว์ที่ปารีส เขาส่งงานชิ้นผู้หญิงลงบันไดนี้ไปร่วมงาน Armory show ครั้งที่ 2 ที่นิวยอร์กทดแทน ดินแดนเสรีภาพในการนำเสนความคิดใหม่  พร้อมกับการเปลี่ยนสัญชาติฝรั่งเศสมาเป็นอเมริกันด้วย ก่อนจะหันหลังให้วงการศิลปะไปเป็นเซียนหมากรุก ทิ้งความคิดให้ศิลปินป๊อบอเมริกันหลายคนอย่าง Andy Warhol, Jasper John และ Robert Rauschenberg ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดและการดำเนินงานของศิลปินร่วมสมัยวันนี้คิดอย่างไรแทน

โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก เคยพูดว่า เขาไม่เคยเห็นผลงานศิลปะอะไรที่งดงามไปกว่างานของ มาแซล ดูชองป์ ที่ชื่อ ‘น้ำพุ’ เลย เขาเป็นสายแฟนคลับพวกฝรั่งเศส เห็นด้วยกับแนวคิดที่เอาของใช้ในชีวิตประจำวันมาใช้ก็เพื่อกระตุ้นปฏิกิริยาของคน เป้าหมายทางสุนทรียศาสตร์ของเขาคือการหาสิ่งอื่นมาแทนที่ศิลปะแบบเก่าที่เคยมองว่าสวย แล้วเขาก็เรียกงานนั้นว่าเป็นศิลปะของคนมีปัญญาสูง เขาให้ความสำคัญต่อปัญญาที่เกิดขึ้นจากการจัดวางในสภาพแวดล้อมใหม่มากกว่าวัตถุที่นำมาใช้

จะอย่างไรก็ตาม โถฉี่นี่แหละคือผู้สร้างแนวทาง conceptual art และคือผู้เปลี่ยนเกมศิลปะไปตลอดกาล.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม


เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด (เติบโตที่อุบลราชธานี) จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’

You may also like...