สไตล์ไหนสวยสุดและยากสุด เคยได้ยินคำถามแบบนี้ไหม
คำถามง่ายๆ สุดคลาสสิก จิตรกรมือใหม่ใสบริสุทธิ์ ถามให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นก่อนลงมือ คำถามที่ยากจะตอบสั้นๆ ส่วนใหญ่เมื่อเริ่มวาดรูป เป้าหมายคนวาดก็คงอยากวาดให้เหมือนแบบมากที่สุด เราว่าทุกสไตล์ยากง่ายพอๆ กัน เพราะทุกสไตล์มีท่วงทำนอง มีวิถีลีลาหรือรูปแบบเฉพาะ ทำให้รู้หลายๆ แบบก่อน แล้วเราจะรู้ด้วยตัวเองว่าแบบไหนยากหรือแบบไหนง่าย สไตล์ค่อยว่ากันทีหลัง ถ้าไม่ได้อยู่ในสนามแข่งเพื่อรับรางวัล จะเขียนสไตล์ไหนก็ว่าไป เอาอย่างใจนึกสนุกเป็นที่ตั้ง
ทำไปๆ ใจเราจะรู้เองว่าจะหยุดที่แบบไหน ทุกแบบมีวิธีมีวิถีเฉพาะให้ค้นหา และไม่ยาก ถ้าใจอยากทำ
ดวงหน้าขาวผ่องนวลใยไร้ไฝฝ้า สวยไม่มีที่ติ ชอบใช่ไหมแบบนี้ ถ้าชอบความสมบูรณ์แบบ ความชอบจะบอกให้เราอดทนนั่งเกลี่ยสีให้ละเอียดลออ เล็ง Perspective ให้แม่นๆ ใจจะบอกให้เราเก็บรายละเอียดให้หมดจด ทุกจุดทุกรอยยับย่น แต่ถ้าเขียนไปๆ แล้วหมดแรงดึงดูด หมดใจไม่อยากเขียนต่อ ก็แสดงว่าความจริงแล้ววิธีแบบนี้อาจไม่ใช่เรา
ทุกสไตล์มีวิธี เขียนให้เหมือนจริงดีไหม หรือจะเขียนแบบประทับใจในสีสัน เขียนแบบแสดงอารมณ์ความรู้สึก เขียนโต้ตอบการรับรู้ เขียนความคิดเห็นหรือเขียนความรู้ จะนิยมชมชอบการเขียนแบบใดก็ตาม เราว่าทุกวิธีไม่ใช่สัญชาตญาณ
ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย เกิดมาแล้วแกะหินอ่อนได้นุ่มเนียนราวมีผืนผ้าคลุมอยู่อย่าง Michelangelo ทำได้ทันที ปั้นคนได้ราวกับมีเลือดเนื้อสูบฉีดอยู่ข้างในแบบ Auguste Rodin น่าจะเป็นปาฏิหาริย์มากกว่าเรื่องจริง
Francis Bacon ยังต้องมีครู ภาพคนที่เขียนด้วยวิธีของ Picasso ดึงดูดใจให้เขาอยากเขียนรูปคน ชีวิตระทมขมขื่นของเขาเข้ากันได้ดีกับวิธีเขียนแบบ abstract เขียนหน้าบิดๆ เบี้ยวๆ ของปิกาสโซ ลักษณะการตัดทอนลดรูปหน้าของปิกาสโซ เป็นภาพที่เขาต้องการแสดงออก ทุนเดิมเหล่านี้ทำให้เขาเห็นวิธีแสดงออกอย่างไม่สนใจกติกาวิธีเขียนรูปแบบเดิม
ศิลปินยิ่งใหญ่ที่ดูแปลกประหลาดอย่าง Salvador Dali ยังมี Sigmund Freud เป็นผู้สร้างแรงจูงใจและเป็นผู้เปิดอาณาจักรขุมความรู้ให้เขาใหม่ รูปนาฬิกาเหลวที่เราเห็น ก็เป็นจินตนาการจากจิตใต้สำนึกของเขา ความจริง Dali ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ทดลองทำงานหลายสไตล์ ทั้งแบบ Impressionism, Poitilism , Cubism , Futurism จนสุดท้ายเขาหยุดอยู่ที่งาน Surrealism ว่ากันว่า งานแบบดาลีสำคัญโดดเด่นสุดในศตวรรษที่ 20 นี้
ชอบใครและได้ฝึกแบบที่ชอบ เราจะได้คำตอบเองว่ายากหรือง่าย
มีใครอยู่ในใจไหม ไม่แปลกที่เราจะมีครูมีคนที่ชอบ ชอบใครบ้างเมื่อดูงาน Pop Art หลงใหลงานใครในกระแส Expressionism ชอบงานใครในแบบ Impressionism
Winslow Homer, John singer Sargent หรือ Paul Gauguin หรือคือทั้งหมดที่ชอบทั้ง Camille Pissaro, Pierre-Auguste Renoir, Edouard Manet และ Claude Monet ศิลปินที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ เขาต้องให้ความรักแค่ไหนนะ รูปวาดของเขาจึงบอกกล่าวเรื่องราวได้งดงามปานนี้ ดูอารมณ์สีน้ำของ Winslow Homer เขาเขียนน้ำใสทรายขาวราวกับสำลี พอเขียนน้ำลึกก็ดูลึกจนเกินจะกลั้นลมหายใจ
ชอบมากก็ลองเขียนแบบเขาดูก่อน ไม่แปลกที่จะเขียนตามแบบอย่างครู เพราะเราทำได้ไม่เหมือนแน่ๆ ในงานจิตรกรรมแบบ Paintery ลอกครูจะทำได้บางส่วนเท่านั้น เราลอกแบบไม่ได้ทั้งหมด แม้ในงามนามธรรมที่ไม่มีรอยแปรงให้ตรวจสอบก็ยังหาความแตกต่างจนได้ (มีหนังให้ดูวิธีตรวจสอบ ชื่อ Made You Look แม้จะลอกโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งก็ตาม หาดูได้ใน Netflix) ไม่เหมือนการลอกลายไทยที่อาจดูใกล้เคียงได้ เพราะลายไทยเขียนด้วยเส้นสม่ำเสมอ เส้นไม่มีน้ำหนักให้เห็นลักษณะเฉพาะบุคคล เว้นแต่ลายไทยประยุกต์ สกุลช่างร่วมสมัยที่เขียนกนกเปลวสะบัดราวเปลวเทียนโดดเด่นอยู่ในตอนนี้
ศิลปินในยุคเก่าก่อนอย่าง John Singer Sargent ก็ยังได้รับอิทธิพลจาก Diego velàzques, Jean Auguste และ Dominique Ingres
ถ้าสนใจรูปแบบสมัยใหม่ ติดใจ Jackson Pollock อยากทำงานสไตล์ Gestural abstraction บ้าง คือหยดสีไปตามธรรมชาติตามอารมณ์ของศิลปิน ตอนทำก็คงไม่ยาก ถ้ามีเรื่องราวในใจ แจ็คสันเขาทำจากแรงขับแรงกระตุ้นจากภายในไม่เกี่ยวกับสิ่งเร้าภายนอก เราว่างาน Gestural abstraction ดูทำง่ายแบบนี้ ถ้าไม่มีแก่น ไม่มีเรื่องอะไรอยู่ข้างใน มันคงจะโหวงเหวง ไม่ต้องรอให้ใครมาถาม คนทำก็คงจะรู้สึกเองว่าทำไมข้างในมันรู้สึกกลวง จะกล้าสบตาใครไหม ถ้างานนั้นไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ ไว้ในภาพ ผ่านมาเห็นแล้วก็ผ่านไปอย่างว่างเปล่า
เอา Process ไม่เอา Product ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่รื่นรมย์กับระหว่างทาง ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลใจกับภาพเขียนขนาดใหญ่หรือจะเขียนสไตล์ไหนดี เขียนแล้วมันจะอยู่ยั่งยืนนานแค่ไหน แค่ลงมือเขียนอย่างที่ใจมองเห็น
ช่วงโควิดออกฤทธิ์มากๆ เสิงสาง ครบุรี สีคิ้ว หนองบุญมาก พื้นที่คิวไร้อันดับสำหรับนักท่องเที่ยวคือเป้าหมาย ห่างคนห่างโรค เราได้ออกไปอยู่กับสภาพแวดล้อมใหม่ ด้วยความเอื้อเฟื้อของหนุ่มน้อยหน้ามนคนพื้นที่ อากาศใสๆ พื้นดินเหนียวปนทรายสีแดงๆ ดินสีเข้มข้นเหมือนสีน้ำตาลแดง Burnt Siena ที่บีบจากหลอด แนวร่องเตรียมปลูกมันสำปะหลังยาวเหยียดจรดขอบฟ้า เป็นภาพที่ไม่ชินตา ไกลออกไปบางแปลง ต้นมันสำปะหลังสูงและเขียวสดยืนต้นต่อเนื่องยาวขนานกันไป บางแปลงพร้อมเก็บเกี่ยว บางแปลงรอปลูกรอบใหม่ แนวสีน้ำตาลแดงดูดกลืนสีอื่นไว้แล้วสะท้อนสีตัวเองออกให้เห็นเป็นช่วงๆ
กลางแดดจัดจ้า ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังราวสองคืบในมือของชาวไร่ถูกกดลงดิน ก้มๆ เงยๆ ราวไม่เคยปวดหลัง สลับเสียงพูดคุยหัวเราะ ด้วยความชำนาญ ไม่นานท่อนพันธุ์เหล่านั้นก็เต็มพื้นที่ยาวไปสุดสายตา สลับกับบางแปลงที่ปลูกก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อรากมันเติบโตเต็มที่ สมัยนี้เขาจะมีรถไถทุ่นแรง
แม้ช่วงเวลาเพียงห้าหกวัน ดูแสนสั้น แต่ถ้าเวลาผ่านไปกับลมหายใจที่ละเอียดๆ ยืนอยู่ ได้ดูได้เห็น ทั้งหลับและตื่นบนพื้นดินปลูกมันนี้ มันก็ไม่มีอะไรกั้นความรู้สึกเบิกบานใจในสิ่งที่เห็น ไม่ใช่วีรกรรมยิ่งใหญ่อะไร ไม่ใช่ภาพสุดท้ายที่โลกต้องบันทึก แต่ช่วงเวลาของความรู้สึก ลึกๆ คืออยากเขียน
ไม่ได้สะทกสะเทือนอะไรจากหยาดเหงื่อเพื่อชีวิต หรือแสงแดดที่แผดเผาเราอยู่ตอนนั้น แค่มีบางสิ่งบางอย่างในใจ
ในวงสนทนาเมื่อยามแดดบ่ายหายไปแล้ว สมาชิกใหม่ตามมากับมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างอย่างเท่ เพื่อนบ้านเดินมา พี่น้องมานั่งร่วมวงไถ่ถามความเป็นไปของชาวเรา ยังมีใครเศร้าเหงาอยู่บ้างไหม หรือวันนี้ใครๆ เดินไปอยู่แถวหน้าร่าเริงกันหมดแล้ว เพื่อนบ้านชาวไร่ทั้งรับจ้างเก็บหัวมัน ทั้งเก็บน้ำพักน้ำแรงที่ปลูกบนพื้นที่ของตัวเอง ทั้งเจ้าของรถสิบล้อขนมันไปส่งลาน
เรานั่งเก็บคำเก็บความ แตกต่างหลากหลายความคิด ผ่านเวลานาทีจนหลายชั่วโมง บางความจากปากชาวไร่ที่สมัครใจไม่เปลี่ยนอาชีพ แม้จะยังรับจ้างเก็บ ไม่เคยกลัวที่จะอยู่คนเดียว มาคนเดียวก็ไปคนเดียว
ยังไม่มีครอบครัวใช่ไหม ใช่–ตัวคนเดียว
อะไรที่มันผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป จะจมทุกข์อยู่กับมันทำไม ก็เดินหน้าต่อไป
แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับเราจะไม่ทำผิดแบบเดียวกันซ้ำๆ อีก เราควบคุมอะไรไม่ได้เลย อย่าว่าอย่างอื่นเลย แม้โชคชะตาตัวเราเองยังกำหนดไม่ได้ อยากถูกหวยก็ทำไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป ทำไงได้ แค่เราทำใจยอมรับ อยู่กับมันไป อยู่ด้วยพร้อมที่จะพบเจอการเปลี่ยนแปลง
ชาวบ้านอย่างเราจะเอาตัวเองไปอิงอกใครได้ ถ้าไม่ใช่ตัวเอง
ดึกแล้วอากาศเย็นลง วงสนทนาแยกย้าย เราเข้านอนด้วยความรู้สึก อืออ.. พรุ่งนี้เราจะวาดรูปพวกเขา นึกถึงคำถามที่เคยได้ยินมา สไตล์ไหนสวยสุด ดีสุด ชั่วโมงนี้เราไม่ได้สนใจเลยว่าจะเขียนสไตล์ไหน
ขอให้เราได้บันทึกความคิดคนเก็บหัวมัน บันทึกภาพและเสียงที่ได้ยินความเห็นแบบนี้ที่บ้านหนองหัวแรด.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’