ความรู้ไม่ใช่สามัญสำนึกที่รู้หิวรู้อิ่มมาตั้งแต่เกิด
เราจะรู้ได้ยังไงว่านี่คือรูปวาดของฟรีด้า คาโลห์ (Frida Kahlo) ศิลปินหญิงชาวเม็กซิกันที่ชีวิตแสนจะหวือหวา เราจะรู้ได้ยังไงว่าเพลงกำลังใจที่ หงา คาราวาน ร้อง ใครเป็นคนแต่ง
“ขุนเขาไม่อาจขวาง สายทางเที่ยงธรรมได้ ความหวังยังพริ้งพราย เก่าตายมีใหม่เสริม …”
เราจะรู้ได้ยังไงว่าภาพเขียน The Night Watch ของเรมบลังค์ยิ่งใหญ่เพราะอะไร
ไม่รู้ เราก็ต้องไปอ่าน ไปทำให้ตัวเองรู้
Rembrandt Van Rijn เป็นใคร ทำไมครูให้เป็นการบ้าน ไปลอกรูปของเขาในวิชา Reproduction ทำไมครูจึงชี้ทางให้ไปศึกษาผลงานของเขา ผลงานที่ให้ความรู้เรื่องแสงเงาระดับเทพ ภาพ Saskia in Red Hat สวยมาก ภาพ Portrait of Saskia Van Uylenburgh และผลงานอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งรูป Self Portrait ที่เรมบลังค์เขียนภาพเหมือนตัวเองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1641 จนถึงวันนี้ กว่าสี่ร้อยปีมาแล้ว ความเทพยังไม่เปลี่ยน
สีของเรมบลังค์ซับซ้อนมหัศจรรย์ ทีแปรง (stroke) ก็เดาไม่ถูก เกลี่ยน้ำหนักยังไงก็แกะไม่ออก ป้ายด้วยน้ำหนักมือแค่ไหน ปาดจากซ้ายไปขวาหรือจากบนลงล่าง (โอยย.. หัวจิปวด) เขาเขียนแสงเงายังไงจึงทำให้ภาพดูลึก มีบรรยากาศกว้างไกล มีอากาศปกคลุม
เขียนยังไงจึงทำให้ดูเหมือนว่าคนคนนั้นเขาหายใจได้จริงๆ ความพิเศษของเรมบลังค์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดชั่วข้ามคืน
คนเราไม่ได้เกิดมาแล้วรู้ทุกเรื่องทันที
สนใจอะไรก็ทำไปอันนั้น อยากขับเครื่องบินก็ไปหาวิธีเอา อยากทำบะหมี่เป็นก็ไปแสวงหาอาจารย์ อยากวาดรูปก็ไปขวนขวายเรียนรู้ รักสิ่งไหนก็ทำสิ่งนั้น ถ้าใจรักจริงจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ใจเรานี่แหละมันจะร้อนรนพาไปเจอแหล่งความรู้เอง
เรมบลังค์ได้ทำแล้ว เขาใช้วิธีผสมสีของเขา วิธีเกลี่ยสีแบบเขา เขียนภาพผลงานยิ่งใหญ่เท่าที่มนุษย์จะทำได้ ผลงานเรมบลังค์มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่จดจำของชาวโลก เขาใช้แสงเงาสร้างระยะใกล้ไกลเพื่อให้เกิดภาพลวงตา วิธีนี้ตอนหลังมีนักวิชาการมาตั้งชื่อให้ว่า Chiaroscuro
พื้นผิวที่อยู่ในระนาบเดียวกัน เมื่อระบายสีด้วยวิธี Chiaroscuro จะทำให้ภาพนั้นเกิดมิติ มีระยะใกล้ไกล มีอากาศปกคลุม เรมบลังค์เขียนรูปด้วยวิธีนี้ เมื่อกว่าสี่ร้อยปีที่ผ่านมา ความน่าทึ่งในการใช้แสงเงาสร้างจุดเด่นเมื่อเขียนภาพคน ความซับซ้อนของแสงเงาแบบเรมบลังค์ ยังเป็นเรื่องมหัศจรรย์ใจของนักศึกษาศิลปะจนถึงทุกวันนี้ และยังส่งผ่านมาถึงวงการถ่ายภาพ
กว่าสองร้อยปีที่แล้ว Louis Jacques Mandé Daguerre ร่วมมือกับ Joseph Niepce พัฒนาวัสดุอุปกรณ์บันทึกภาพจนได้กล้อง The Daguerreotype เขาขายความรู้นี้ให้รัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือที่อธิบายวิธีเก็บบันทึกภาพ ต่อมาก็มี Sir john F.W. Herschel เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาสนับสนุน นำเสนอข้อค้นพบใหม่ เขาอธิบายวิธีบันทึกภาพด้วยแสงที่สัมพันธ์กับวัสดุไวแสง
ความรู้นี้เป็นที่มาของศัพท์คำว่า Photographic เรื่องนี้ เพื่อนช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพแบบ high contrast บอกว่า ให้ถามเขาสิแล้วเขาจะอธิบายเรื่องนี้ให้ฟังอย่างละเอียด วิธีจัดแสงแบบ Rambrandt Lighting
เมื่อน้อยให้หาวิชา
ก็ถูกแล้ว เมื่อยังเป็นเด็กน้อยให้หาวิชา อย่าถามว่าทำไมต้องมีความรู้ เกิดมาแล้วต้องกินต้องอยู่ ความรู้เป็นเสบียงอุ้มชู สอนวิธีให้เราอยู่รอดจนถึงวันตาย
อะไรที่ไม่รู้ก็ออกไปเรียนรู้แล้วสร้างเครื่องมือของตัวเอง โลกมีมุมมืดมุมสว่างมีหนทางให้เลือกมากมาย โลกเขาจัดสรรหน้าที่ ให้แบ่งกันทำ ให้ชำนาญกันคนละเรื่อง อยากไปปลูกข้าวให้คนกิน อยากไปทำยารักษาเพื่อนๆ อยากก่อปูนสร้างบ้าน หรือเลือกทอผ้าห่มคลายหนาวให้เพื่อน ได้ทั้งนั้น เลือกแล้วคิดแล้วก็ลงมือ
เวลาพรรษามันจะมาพร้อมกับวุฒิภาวะ แต่ก็ช่างมันเถอะ วุฒิภาวะจะมากจะน้อยหรือไม่มี ก็ขอให้ลงมือสักอย่าง
เขาให้เรียนรู้ ไม่ใช่ให้เลียนแบบ
ในโลกความงามที่คนสร้าง โลกศิลปะ เขาให้เรียนรู้ไม่ใช่ให้เลียนแบบ ของสวยงามตามธรรมชาติมีอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยพลังล้นเหลือของมนุษย์อย่างเรมบลังค์ อย่างฟรีด้าหรือศิลปินระดับโลกคนอื่นๆ ด้วยสมองด้วยใจที่เห็นโน่นนี่งามก็อยากตอบโต้กับความงามนั้น มันเป็นธรรมดาของจริต รักชอบอะไรก็อยากแสดงออก เราจึงได้ยินท่วงทำนองจังหวะละมุนละไมบ้าง หนักหน่วงบ้าง ได้เห็นสีสันที่ตัดกันรุนแรงบ้าง กลมกลืนบ้าง แต่ใครจะอยากฟังเพลงเอื่อยอ้อยสร้อย ที่เนื้อหาวนๆ เป็นร้อย แต่บรรเลงด้วยทำนองเดียว
ไม่มีทางลัด ต้องพัฒนา
มีอาชีพอะไรที่ไม่ต้องพัฒนาตัวเอง ศึกษาศิลปินระดับโลกก็เพื่อสร้างประสบการณ์ความงาม ศึกษาผลงานหลากหลายก็ไม่ได้หมายถึงให้ลอกเลียน เราจะอยู่อย่างเลียนแบบคนอื่นทั้งผลงานและชีวิต มันจะเป็นไปได้อย่างไร
คนทำงานศิลปะ จะงดงามถ้าได้สร้างทางของตัวเอง ยืนยันบนเส้นทางของตัวเอง ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสทำเงินหรือมุ่งหน้าแต่จะหาทางลัด
ถ้าเป็นตัวเองอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ผลงานอาจดูแปลกแตกต่างจากกระแสนิยมก็จะเป็นไรไป
เพราะความงามคือความหลากหลาย ผิดบ้างถูกบ้าง มันก็คือการทดลอง เคยเห็นศิลปินต่างชาติเขียนข้อความหยอกล้อ ตั้งคำถามในงานศิลปะของเขาเองว่า If you make enough drawing mistakes, can it be called a STYLE (อย่างฮา 555) คิดแบบไหนก็ได้หมดแหละ สุดท้ายโลกสุนทรียะจะเป็นผู้ให้คำตอบแก่เขาเอง
ได้คุยกันสนุกๆ กับเด็กที่หน้าตาเป็นนางเอกไม่ได้ เธอบอกว่า เธออยากเป็นลิซ่า อยากเป็นแจ็คสัน หวัง แล้วเธอก็จะมีทุกอย่างแบบที่เขามี เอ่อ..เราก็อยากเป็นฟรีด้าที่ชีวิตแสนจะอึดอดทน เราก็อยากเป็นเรมบลังค์ที่เขียนรูปได้แสนวิเศษ
บทสนทนาอำๆ ขำๆ ผ่านไปหลายวัน แต่ความคิดไม่อำไม่ขำที่หลงเหลือคือ เราจะอยากเลียนแบบคนอื่นไปทำไม เลียนแบบทั้งการใช้ชีวิตและผลงานคนอื่น
ทำไมไม่เป็นตัวเอง เป็นตัวเองที่ไม่ต้องสวยนี่แหละ เขียนรูปก็เขียนแบบของเรา เขียนจากตัวจากใจของเรา อยากเป็นนักร้องนักเต้นก็เป็นในแบบของเรา
ทำให้สุดใจดินใจฟ้า เดี๋ยวอะไรๆ ก็มาเอง.
เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม
(งานใหม่ เขียนปี 2022 เทคนิคสีน้ำและอะคริลิกบนกระดาษ ขนาด 11×15 นิ้ว / ยกเว้นรูปแรก แนวนอน 11×33 นิ้ว)
เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’