ความคิดกระจัดกระจายของผมไม่ถูกกวาดมารวมกองกันนานมากแล้ว
เมื่อถูกชวนให้พูดถึงงานที่กำลังทำอยู่ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดระเบียบความพินาศในหัวมาจัดเรียงด้วยการเขียนขึ้นใหม่ ด้วยสถานการณ์ของผมต้องขอกล่าวว่าไม่พร้อมจะทำอะไรที่ดูเหมือนฉลาดๆ สักเท่าไหร่ ด้วยโลกส่วนตัวกับงานกึ่งแรงงานที่ทำอยู่ประจำ การเขียนอะไรยาวๆ ดูจะขัดแย้งกับวิถีชีวิตอย่างยิ่ง
หลายคนเห็นภาพลวงตาว่าผมเป็นคนทำงานศิลปะ จากการที่มีงานแสดงผลงานอยู่สามสี่ครั้ง จริงๆ ผมเรียกตัวเองว่าแรงงานทางศิลปะเสียมากกว่า ด้วยเงินที่ได้จากงานรับจ้างปีนตึกเพื่อทาสีบ้าง วาดโน่นนี่นั่นบ้าง และค่าแรงในอัตราจ้างเท่าอาชีพอื่นๆ ในสายงาน ‘ช่าง’ ก็ยิ่งตอกย้ำความไม่พิเศษของผมในฐานะ ‘ศิลปิน’ อย่างที่หลายคนเคยรับรู้มาจากศิลปินคนอื่นๆ
แต่นั่นก็มิได้สลักสำคัญใดๆ กับทุกท่านที่กำลังอ่าน
ชีวิตอันโลดโผนของครอบครัวในยุคเผด็จการเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ผมได้กลับมาวาดรูปจนถึงปัจจุบัน
นรก 6 ตุลา The Gate of Hell
นักเสพศิลปะดูรูปที่ผมวาดแล้วมักบอกว่าเขาเห็นความแค้นข้างใน กระทั่งได้ยินคำสบถหยาบคาย
ผมตอบด้วยอาการพยักหน้างึ่กงั่ก บางทีวาดไปก็ไม่รู้ตัวเองเหมือนกันว่างานพาเราไปจบที่จุดไหน หลายๆ ครั้งผมพยายามทำตัวสงบในงานแล้ว แต่สุดท้ายมันก็เป็นไปอย่างที่มันเป็น
พ่อน่าจะเป็นคนหนึ่งในประเทศไทยที่มีบัญชีแค้นกับฝ่ายเผด็จการยาวเป็นหางว่าว มันสะท้อนออกมาในงานของเขา วิถีชีวิตของเขา ซึ่งผมไม่เคยเข้าใจจนมาเจอกับตัวเอง วันที่พ่อต้องลี้ภัยไปในต่างประเทศ เพื่อนๆ ของพ่อซึ่งผมรู้จักดีถูกบังคับสูญหายคนแล้วคนเล่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมเห็นบัญชีแค้นของพ่อเช่นเดียวกัน
หลังประยุทธ์และพวกทำรัฐประหาร พ่อเลือกทิ้งบ้าน-ออกเดินทาง ขณะที่ผมยังติดอยู่กับตัวเอง ช่วงนั้นทำงานเป็นครูประถมฯ ที่กาญจนบุรี ผมไปขอพักอาศัยอยู่ในโรงเรียน กินนอนอยู่ที่นั่น 3 ปี โดยไม่ได้บอกใครว่าทำไมถึงไม่กลับบ้าน (ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปที่บ้านตลอด 3 ปี) แต่ครั้นจะทิ้งบ้านที่ไทรโยคไปเลยก็ไม่ได้ มันทั้งห่วงทั้งกลัว
บางวันโทรฯ คุยกับพ่อดึกๆ นั่งใต้อาคารในโรงเรียนผมก็ร้องไห้ออกมา เป็นเช่นนี้บ่อยๆ
บ่อยจนพ่อคงรำคาญ เขาถึงหาทางออกให้ว่า
“แกเขียนกลอนเปล่าได้นะ พ่อเคยอ่านที่แกเขียน”
มันไม่แฟร์เลย เพราะสถานการณ์ตอนนั้นพ่อน่าจะเครียดกว่าผมมาก กลับต้องมาปลอบไอ้ลูกแหง่ที่โตเป็นควาย
แต่สุดท้ายผมก็เขียนกลอนเปล่าจริงๆ เขียนเพื่อใช้ระบายอารมณ์ทางการเมือง ซึ่งบางชิ้น พี่ๆ บางคนช่วยเอาไปออกอากาศให้ตามเว็บไซต์
กลอนเปล่าสำคัญกับชีวิตและอารมณ์ในแบบที่ผมไม่รู้ตัว มันคือภาพสเก็ตช์ชั้นดีที่ไม่เคยคิดถึง เป็นกลุ่มคำกระจัดกระจายที่หลายครั้งสร้างภาพนิ่งให้ผมใช้วาดรูปจนถึงปัจจุบัน
นิทรรศการ Boundaries Of Time
Curated by Pandit Chanrochanakit
ที่ Manycuts Art Space Ari
วันเวลาระเหเร่ร่อนในลาว พ่อดูเหนื่อย แปลกออกไปจากเดิมมาก ไม่เหลือเค้าของคนที่เคยเป็นนักเขียน (ยามหนีตายเช่นนั้นไม่มีใครมีแก่ใจจะเขียนอะไรสวยๆ หรอก) ด้วยความซื่อบื้อของผมมักจะคอยยุให้แกคิดถึงนิยาย หรืองานเก่าๆ ของตัวเองอยู่เรื่อย บางทีแกก็สนุกกับการคิดถึงงานเขียนเก่าๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้แกอยากเขียนงานใหม่ๆ
เช่นเดียวกันกับผม ภาวะลี้ภัยของพ่อสร้างความเศร้าและกังวลใจสารพัด ซึ่งไม่อาจนั่งลงวาดเป็นรูปอะไรได้ ชีวิตหลายปีในช่วงนั้นคือการตะลอนไปเยี่ยมพ่อในซอกมุมที่เขาหลบภัยจุดใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ จากกัมพูชา ขึ้นไปลาวเหนือ และย้ายลงมาที่นั่นที่นี่หลายแห่ง ชีวิตเหมือนกะลาหงายลอยออกไปกลางมหาสมุทร
ไม่จม แต่ก็ไม่เข้าฝั่ง ไม่รู้ชะตากรรม
จนกระทั่งพ่อได้ลี้ภัยไปฝรั่งเศส พายุค่อยสงบลงบ้าง ตัวผมได้ผ่อนลมหายใจ และนั่นจึงเป็นที่มาของงานเพ้นท์ติ้งหลายๆ ชิ้น
ต้นปีที่ผ่านมาผมและน้องๆ ไปเยี่ยมพ่อที่โรงพยาบาลประจำเมือง Bersancon เป็นช่วงชีวิตที่บีบหัวใจของพวกเราอย่างมาก พ่อล้มป่วยด้วยภาวะติดเชื้อภายหลังการผ่าตัด จนที่สุด พ่อจากไป ทิ้งงานชิ้นสุดท้ายเอาไว้ในนาม ต้องเนรเทศ หลังลี้ภัยในฝรั่งเศสได้เพียงสองปี
ส่วนที่พูดไม่ทัน แท้จริงผมอยากอวดว่า ไอ้ลูกชายไม่ได้เรื่องของพ่อปีนี้มันมีโชว์ตั้งสองนิทรรศการนะ
แสดงเดี่ยวที่ Manycuts Ari : Boundaries Of Time
แสดงกลุ่มที่สิงคโปร์ White Space Art Asia : Patterns Of Change
นิทรรศการ PATTERNS OF CHANGE
คัดเลือกศิลปินไทยโดย Charuwan Chanthop
ที่ White Space Art Asia Singapore
วันท้ายๆ ที่เราได้คุยกัน พ่อบอกว่างานของพ่อเหมือนการสอบที่ยังไม่รู้ผล
แต่ผมว่าพ่อรู้ผลสอบตั้งแต่เริ่มทำแล้ว
คำตอบของข้อสอบคือเสรีภาพ เสรีภาพที่จะต่อต้านเทวดาจอมปลอมทั้งปวงนั่นแหละ
ครั้งหนึ่งนั้นสนามหลวงดูเหมือนจะรวมพวกเร่ร่อนทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจมาก ผมเรียนจิตรกรรมปี 3 ที่ศิลปากร รั้วติดกับสนามหลวง (คั่นเพียงถนนสองเลน) ที่บอกว่าเร่ร่อนมิได้ดูแคลน แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆ ตามกายภาพ
หลายคนโซซัดโซเซมาพบปะรู้จักกันที่นั่น ตั้งกลุ่มกันชื่อ นปก.
พ่อก็เป็นพวกเร่ร่อนทางการเมืองเช่นกัน เย็นวันนั้นพ่อโทรฯ มานัดเจอกับผมที่สนามหลวงฝั่งคลองหลอด มีไกด์แนะนำสวนสนุกการเมืองชื่อพี่ไผ่ หรือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีเสื้อแดงที่เราทราบกันดีในภายหลัง
และก็อย่างที่เรารับรู้ ก่อนรัฐประหาร 2014 เพียงเดือนเดียว พี่ไม้หนึ่งก็ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมกลางวันแสกๆ กลางเมืองหลวง
ไม่กี่ปีก่อนที่ลาว พ่อต้องโซซัดโซเซอีกครั้ง และเป็นสนามหลวงอีกครั้งที่ต้อนรับพ่อเอาไว้ เขาคือลุงสนามหลวง (นามแฝง) ผู้ลี้ภัยมาก่อนหน้า สมทบผู้ลี้ภัยอีกหลายราย เท่าที่ผมพอทราบจากพ่อในที่นี้มี สยาม ธีระวุฒิ เพื่อนของผมลี้ภัยอยู่ด้วยเช่นกัน
ช่วงของการไล่ล่า พายุการเมืองพัดพาบุคคลเหล่านี้หายไปจนหมด มันบังคับเราให้จำนน โกรธแค้น มองเห็น แต่เอาผิดมันเหล่านั้นไม่ได้
ผมวาดภาพของบุคคลทั้งสามไว้ในนิทรรศการ Boundarie Of Time ด้วยระลึกถึงเสมอในมิตรภาพ และสิ่งที่ทุกท่านยืนยันจนกระทั่งเราไม่อาจพบกันแล้ว
งานในชุดนี้ถูกแบ่งจำนวนเพื่อไปแสดงอีกนิทรรศการที่สิงคโปร์ ในชื่อ Patterns of change
งานทั้งหมดผมทำโดยคิดถึงความวิปริตที่มนุษย์กระทำต่อกัน ไม่ว่าการหลอกลวง การขับไล่ ความรุนแรง อะไรต่างๆ ที่บิดเบือนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นจนหมดสิ้น
วันที่ครอบครัวประสบภัยทางการเมือง (มึง–สลิ่ม จะคิดว่าคนพวกนี้แกว่งเท้าหาเสี้ยนก็ได้) ผมมานั่งถลกปมว่าตรงไหนที่น่าจะเป็นปมวิปริตของสังคมไทย
สุดท้ายก็ได้คำตอบให้ตัวเองว่าประวัติศาสตร์ไทยนี่แหละ ที่ทำให้คนจำนวนมากเป็นบ้า เริ่มจากตรงนั้น จึงมีงานต่อมาหลายๆ ชิ้น เช่น ภาพ 88 ปีหลังอภิวัฒน์ 1932, Hallow Man, นรก 6 ตุลา The Gate of Hell
ประชาทิพย์ ไม้หนึ่ง ก.กุนที
การทำงานกับประวัติศาสตร์กระแสรองเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็คลุมเครือด้วยปัญหาที่จะตามมาในอนาคต แน่นอนว่าประวัติศาสตร์กระแสรองถูกนำมาคัดง้างกับอำนาจโฆษณาชวนเชื่อของรัฐอยู่เสมอ ดังนี้ จึงเสมือนการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับความรักชาติอันดาษดื่นในผู้คนทั่วไป
แต่จะให้ผมทำอย่างไรได้ล่ะครับ
หากเราไม่ดูถูกกันเกินไป ชุดข้อมูลที่แตกต่างย่อมตัดสินผิดชอบชั่วดีได้ด้วยตัวคุณเอง และเมื่อคุณรู้ที่มาของผม ก็ยิ่งไม่ต้องสงสัยในสิ่งที่ผมคิดผมทำเลย
ผมเป็นศัตรูทางความคิดของคุณอย่างแน่นอน
หากเราไม่ดูถูกกันเกินไป ผมหวังว่าคุณจะรู้จักเข้าใจความแตกต่างอื่นๆ เสียบ้าง
ผมไม่เคยคิดจะไปตีหัวใคร และหวังว่าใครก็คงไม่มาตีหัวผมเช่นกัน
เพราะเราไม่คิดจับปืน พู่กันหรือปากกาเท่านั้นที่เป็นทางรบที่เราเลือก
อย่ามาสอนถึงราคาที่ต้องจ่าย เพื่อนพี่น้องเราจ่ายล่วงหน้าไปเยอะแล้ว หากไม่จำเป็น ผมจะไม่จ่ายอะไรอีก
“แกฆ่าได้ก็แค่คนคนหนึ่ง”
แต่ความตายตกลงซึ้งไร่นาสวน
ไม่จำเป็นอีกแล้วการไถพรวน
ผลิมิหยุดขบวนการอภิวัฒน์
ไม้หนึ่ง ก.กุนที
(จากหนังสือกวีราษฎร)
จนกว่าจะพบกันใหม่ ในงานชิ้นต่อๆ ไปของผม.
เรื่องและภาพ วนะ วรรลยางกูร
เกี่ยวกับผู้เขียน : วนะ วรรลยางกูร ลูกชายคนโตของนักเขียน ‘ต้องเนรเทศ’ จบจิตรกรรมฯ ศิลปากร ผ่านงานสอนหนังสือหลายปี เขียนบทกวี เขียนรูป และรับจ้างทั่วไป