art & culture

ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง

212 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นอุณหภูมิน้ำเดือดที่ใช้ชงชากินทุกเช้า ทุกวัน

ไม่เคยนับจำนวนถ้วย ชงไปจนกว่าน้ำเดือดนั้นจะเย็นลง หมดสภาพ

เช้ามืด เงียบสงบ อากาศเย็นสบาย สมองปลอดโปร่ง เวลาชาเป็นห้วงยามที่สนิทสนมคุ้นเคยกัน ถ้าไม่ใช่อยู่ต่างถิ่นต่างที่ นี่คือเวลาที่รู้สึกปลอดภัยและชอบลากให้ยาวที่สุดของวัน

คอชาคนไหนไม่อยากได้กาชาดินเผาจากเมือง YIXING คงไม่มี

ไม่เคยได้ยิน กาดินเผาสีน้ำตาลเข้ม ทั้งสวยและดี ทิ้งใบชาไว้ข้ามคืนก็ไม่เสีย ยิ่งกาชาที่มีลายเซ็นช่างปั้นด้วยแล้ว นอกจากรสชาติใบชา ยังเหมือนได้ดื่มด่ำความงาม

ศิลปินคนปั้นกาเคยเล่าสั้นๆ ว่ากาดินเผา  ใช้เตาที่มีความร้อนสูงกว่าพันองศา ในดินจื่อชาที่ใช้ปั้นมีแร่เหล็ก ไมก้าและแร่ควอตซ์ คงจะคล้ายดินด่านเกวียนโคราชบ้านเอง  เผาแล้วผิวกาจะมีรูพรุนที่เล็กมากๆ จนน้ำซึมออกไม่ได้ ส่วนไอน้ำจะออกทางปากกา น้ำที่ขังอยู่ภายในจะอบอวลด้วยกลิ่นหอม และคงความร้อนไว้ได้นาน (มีแต่คนเย็นชาที่ชอบกินชาเย็น)

คอชาจริงๆ จะกินชาที่ชงด้วยน้ำเดือด แล้วรอให้ร้อนๆ อุ่นๆ พอกินได้ จึงไม่แปลกที่มีการขวนขวายหาวิธีทำให้ชาร้อนได้นานที่สุด

ขณะน้ำเดือดพลุ่งพล่าน ภาพความขัดแย้งก็แวบขึ้นมา มองกันคนละมุม เชื่อกันคนละอย่าง ศรัทธากันคนละเรื่อง เห็นกันคนละแบบ มีแต่ความขัดแย้งๆ

มีใครบ้างไม่เคยโกรธ ไม่เคยเสียใจ ไม่เคยน้อยใจเพราะผิดหวังจากความเชื่อที่แตกต่าง

เมื่อถูกขัดใจชวนให้อยากทะเลาะทันที อยากได้คำตอบเดี๋ยวนี้ทันที ความรู้สึกข้นๆ ร้อนๆ เหมือนน้ำเดือด กระเด็นใส่หน้าใส่ตาก็เกิดแผลพุพองได้ทั้งนั้น แล้วจะเหมือนคำพูดที่สาดใส่กันตอนหัวร้อนๆ ไหม

บางคำบางความยังกรีดรอยให้เกิดแผลเป็นได้

ถ้าเรารอให้เนื้อดินกาชาตื่นตัว รอให้ใบชาค่อยๆ คลายตัว น้ำเดือดก็ค่อยๆ อุ่นพอให้เรากินได้โดยปากไม่เป็นแผล

ถ้ารู้จักรอคอย ไม่บังคับคาดคั้น การปะทะกันด้วยความเห็นต่างทันที ก็ไม่มีโอกาสสร้างรอยแผลใหม่

รอสักนิดให้ความร้อนในหัวมันลดลง

212 องศาฯ ร้อนขนาดนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของน้ำชงชา

ความเสียใจอย่างที่สุด ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ควรถูกเยียวยาด้วยการเปิดใจคุยกัน ความเลวร้ายอย่างที่สุดไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่ความรักจะเยียวยา

มนุษย์คนไหนบ้างที่ไม่มีมุมอ่อนแอ.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ สุมาลี เอกชนนิยม

(ผลงานใหม่ เขียนปี 2022 ขนาด 11×16 นิ้ว สีอะคริลิก บนกระดาษ)


เกี่ยวกับผู้เขียน : สุมาลี เอกชนนิยม จิตรกรชาวร้อยเอ็ด จบช่างศิลปแล้วไปต่อจุฬาฯ ก่อนบินลัดฟ้าสู่มหาวิทยาลัย Sorbonne กรุงปารีส แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 1996 และทำงานสืบเนื่องเสมอมา มีโชว์ทั้งในและต่างประเทศ เคยเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อยู่ 19 ปี ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ใช้เวลาหลักๆ อยู่กับการเขียนรูป เธอเคยพูดกับมิตรสหายว่า ‘การเขียนรูปคือรางวัลสูงสุดที่มอบให้ตัวเอง’

You may also like...