สวัสดีพี่หนึ่งจากพะงันอีกครั้งครับ
คำถามหนึ่งที่พวกเรามักจะได้รับเสมอทั้งตอนกลับไปกรุงเทพฯ และตอนกลับมาที่พะงันก็คือ เดินทางกันอย่างไร คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเรานั่งเครื่องไป-กลับ แต่รู้ไหมครับ ตั้งแต่เดินทางมารู้จักพะงันเมื่อปีที่แล้ว ผมไม่เคยเดินทางวิธีอื่น นอกจากการขับรถยนต์ส่วนตัว ที่บอกว่าอยากจะลองนั่งรถทัวร์บ้างก็ยังไม่สบโอกาส พอบอกว่าขับเอง พวกก็จะถามอีกว่าขับรวดเดียวเลยรึ ? ไม่เหนื่อยหรือไง ?
ตอบตามตรงว่าที่ยังทำแบบนี้หลายๆ ครั้งได้อยู่ทั้งไปและกลับก็เพราะเมีย โดยส่วนใหญ่ระยะเวลาประมาณ 10 ชั่วโมงบนระยะทางปริ่มๆ 700 กิโลเมตร คือช่วงเวลาที่ผมคุยกับเมียได้ดีที่สุด
แปลกๆ แต่จริง เราเริ่มคุยกันจริงๆ จังๆ ก็เมื่อลูกหลับ เรามักคุยกันเรื่องลูกและเพื่อนๆ ลูก พูดถึงเพื่อนที่พะงันและกรุงเทพฯ พูดถึงคนบนฟ้า (เพื่อนเราที่ตาย) และคนที่ควรอยู่ในนรก (ผู้ที่ไม่ใช่เพื่อนและยังมีชีวิตอยู่เป็นขวากหนามให้พวกเราสาปแช่ง)
พื้นที่เล็กๆ ตอนหน้าของรถคือทำเลทองและเวลาสวรรค์ของเราสองคน บทสนทนาของเราลื่นไหลต่อเนื่องประสานจังหวะไปกับการหมุนของล้อและพวงมาลัยในเส้นทางบนถนนเพชรเกษม อาจด้วยว่ามันเป็นการเดินทางที่เราต่างพอใจ พอใจที่จะกลับไปพบเพื่อนเก่าที่บางกอก และพอใจที่จะกลับมาพบเพื่อนใหม่ในพะงันที่พวกเราเริ่มผูกพัน เรานินทาคนนู้นและชื่นชมคนนี้บ้างตามประสาผัวช่างคิดและเมียช่างคุย นอกจากจะเป็นเพื่อนคุยที่ดีที่สุดระหว่างผมขับรถแล้ว ในบางช่วงเวลา เมียอันเป็นที่รักยังสามารถรับไม้ต่อเพื่อขับแทนได้อย่างดีเวลาผมง่วงหรือล้า
ความสุขจากการได้ ‘คุย’ กันจริงๆ ทำให้ระยะทางที่ดูเหมือนไกลนั้นไม่น่าเหนื่อยหน่ายขนาดนั้น นี่คือคำตอบหลักๆ ที่ผมใช้ตอบคำถามยอดฮิตจากมิตรสหาย
ทุกวันนี้เวลาขับรถทางไกลนี่ผมจอดรถเพื่อแวะพักบ่อยขึ้น สองชั่วโมงต้องหาจุดพักสักที ลงไปยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำ ดูดยา อย่างน้อยสักสิบนาทีแล้วค่อยออกเดินทางต่อ ถ้าเป็นแต่ก่อนนี่ไม่ใช่อย่างนี้ ตอนวัยหนุ่ม ไอ้จ๊อกคนนี้ก็ออกจะห้าว อยากโชว์ความทรหดและความแมน พยายามขับรวดเดียวให้ได้ เหยียบคันเร่งก็เอามันจนมิด สวมบทบาทให้ตัวเองดั่งเป็นนักแข่งแรลลี่ นับเป็นหนึ่งความภูมิใจผิดๆ ที่เพิ่งมาคิดได้เอาทีหลัง จำได้ว่าสมัยนั้นผมขับรถกระบะโตโยต้าสี่ประตูสีทองๆ ที่เมียมาตั้งชื่อให้ในภายหลังว่า ‘คุณคาราเมล’ ขึ้นเชียงใหม่กับ วาด รวี ครานั้นผมจอดแวะแค่หนึ่งหรือสองครั้งก็ถึงที่หมาย
เราออกเดินทางตอนดึกๆ เพื่อไปถึงเชียงใหม่เอาในช่วงเช้า พี่วาดคนเงียบนั้นพูดมากขึ้นกว่าปกติ เมื่อต้องเป็นผู้โดยสารที่นั่งข้างๆ คนขับ นอกจากคุยกันเรื่องหนังสืออย่างออกรสแล้ว เราสองคนยังลดกระจก เบาคันเร่ง จุดบุหรี่ดูดกันเป็นพักๆ ให้คลายง่วงโดยไม่ต้องจอดพัก ผมดูดเสร็จก็เขวี้ยงก้นบุหรี่ทิ้งลงถนน ส่วนพี่แกค่อยๆ สะบัดให้ดับแล้วเก็บเข้ากล่องทิ้งก้นบุหรี่ที่พกติดตัวเสมอๆ แกเล่าว่าติดนิสัยนี้มาจากตอนทำค่ายสิ่งแวดล้อมตอนเรียนมหา’ลัย
ทริปนี้แหละครับที่ผมได้ออกเดตกับผู้หญิงคนหนึ่งที่กลายมาเป็นภรรยาที่แสนน่ารักและน่าชังทุกวันนี้
เวลาเราบอกว่าการเดินทางนั้นให้อะไรกับเรา บางทีอาจดูเป็นคำพูดคิชท์ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความจริงอยู่เยอะ ผมอ่านงาน ‘ต้องเนรเทศ’ ของพี่วัฒน์ไปสองสามบทแล้ว สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้ก็คือว่าแกต้องใช้ความพยายามมากในการที่ต้องอยู่ต่างบ้านต่างเมืองให้ได้ ผมคิดว่าแกไม่ได้พร้อมหรืออยากจะเดินทางไปที่นั่น ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าแกไม่รู้จักเตรียมพร้อมนะครับ แต่แกคงไม่คาดคิดว่าเจ้าเมืองในเมืองที่แกพร้อมจะลงหลักปักฐานจะโหดเหี้ยมและอาจทำอะไรกับแกได้ขนาดนี้ ผมเองก็คิดแบบแกมาแทบจะทั้งชีวิตว่าคงจะไม่ย้ายไปบ้านอื่นเมืองไกล แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ทำให้คิดได้ว่าไม่ควรจะยึดติดและดื้อดึง การเดินทางมาอยู่เกาะพะงันนั้นทางหนึ่งก็เพื่อหลีกหนี ส่วนอีกทางซึ่งมาค้นพบตอนได้มาอยู่จริงๆ ก็คือเพื่อเตรียมความพร้อม
ณ ที่นี้ผมใช้เวลาคุยกับคนต่างชาติหลากภาษาอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่แค่ฝึกใช้ภาษาอังกฤษ แต่เพื่อฝึกที่จะเข้าใจธรรมเนียมและวิธีคิดของผู้คนอันหลากหลายอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดขึ้นแน่หากผมปฏิเสธการเดินทางแล้วจมตัวเองอยู่ในบางกอก หากวันดีคืนดีพวกเราสบโอกาสหรือมีเหตุต้องจำต้องลี้ภัย สำหรับผมการย้ายประเทศจะเป็นเรื่องบันเทิงเริงใจซะมากกว่าความทุกข์ระทม
พูดเรื่องเดินทางไกลแล้วก็อยากจะเล่าเรื่องเดินทางใกล้ๆ บ้าง นี่ก็สำคัญไม่แพ้กัน
วันนี้ระหว่างพาลูกมาสนามบอล ผมเห็นคนงานจำนวนหนึ่งกำลังง่วนก่อสร้างถนนอยู่หน้าสนามบอลพอดี แทนที่จะพาพวกเขาเดินดิ่งตรงไปยังสนามซ้อม ผมพาศิลป์และเซเฟอร์เดินไปดูใกล้ๆ ให้เห็นว่าถนนมันสร้างอย่างไร ใช้คนกี่คน จังหวะและทีมเวิร์กของการเท เขย่า เกลี่ย และปาดหน้าคอนกรีตเป็นอย่างไร พี่ๆ แต่ละคนต้องใช้ทักษะในการทำงานขนาดไหน พวกเขายืนดูกิจกรรมโยธาธิการนี้อย่างสนอกสนใจ
การที่เราแวะข้างทางเพื่อยืนดูอยู่ห้านาทีสิบนาทีก็พอจะให้อะไรกับเด็กๆ ได้อยู่ ทางไกลมีเรื่องดีๆ แต่ทางใกล้ก็ให้อะไรอยู่
ไม่กี่วันก่อนระหว่างยืนส่งลูกเข้าโรงเรียน ผมพบเดวิด (ลูกพี่ที่ผมเคยเล่นหมากรุกด้วย และตอนนี้มาเป็นเพื่อนร่วมทีมฟุตบอลอาวุโสที่เตะกันทุกสัปดาห์แล้ว) แกเล่าว่าระหว่างโรงเรียนเบรก แกจัดทริปสั้นๆ กับครอบครัวไปเที่ยวสมุยมาสามสี่วัน ระยะทางมันใกล้ๆ แค่นั่งเรือหนึ่งชั่วโมงก็ถึง แต่ไอ้ระยะใกล้ๆ นี่แหละที่แกว่าเหมือนได้เดินทางไกล สมุยมันคงวุ่ยวายและมีความเป็นเมืองใหญ่กว่าพะงันพอสมควร เดวิดผู้ซึ่งไปเพื่อดูหนัง (ผมลืมถามไปว่าคนที่นั่นยังยืนก่อนหนังฉายมั้ย) และช้อปปิ้ง จึงบอกว่าไปสมุยครั้งนี้รู้สึกดั่งกับว่าตัวเองได้ไปเยือนมหานครนิวยอร์ก 555
ด้วยมิตรภาพ
จ๊อก
ตอบ จ๊อก
นานกับไม่นาน ใกล้หรือไกล กระทั่งเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก มันไม่แน่ และมีตัวแปรหลากหลายอย่างที่คุณว่า
ตอนรอคอย ว้าวุ่นกระวนกระวายใจ แค่นาทีเดียวแม่งก็เหมือนโคตรนานราวตกนรกหมกไหม้ แล้วดูดิ สิบชั่วโมง กรุงเทพฯ ไปพะงัน กลายเป็นสวรรค์ซะงั้น
เราก็เป็นพวกที่ยังสนุกกับการนั่งรถไกลๆ (ยกเว้นนั่งรถทัวร์ /กลางคืน และมีคนจังไรคุยโทรศัพท์ เล่นไลน์–ส่งเสียงดังทั้งคืน เทคโนโลยีก้าวหน้า โลกยังมีผู้ล้าหลังเสมอ ..เอาใจช่วยให้พวกเขาและเธอวิวัฒน์ พัฒนาเรื่องกาลเทศะและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น) พื้นที่อันจำกัดในรถมันหนีไปไหนไม่ได้ ถ้าหงุดหงิดหรือมีเรื่องราวทะเลาะกัน ก็ถือว่าซวย แต่ถ้าเข้าใจเข้าขา แน่นอนว่านั่นคือเวลาที่เพลิดเพลิน ที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ที่ดีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นทริปลงล่องใต้ และอีกไม่กี่เดือนถัดมา ขึ้นเลียบเลาะริมโขง กับ บินหลา สันกาลาคีรี หรือเมื่อคราวที่ไปลุ่มน้ำสาละวินกับ ยุทธนา อัจฉริยวิญญู ฯลฯ หลังสุดนี่ก็มีคนร่ำๆ ชวนโรดทริปไปอุบลฯ กันอีกสักที
ไปกับคนถูกใจ ยังไงมันก็มันส์ ดูเหมือนจะเหลือแต่พะงันของคุณนี่แหละ ที่ยังงงๆ ว่าจะเอาไงกับชีวิต
พี่ต้อม เป็นเอก บอกว่าหนังแกมักมีซีนในรถเสมอ คนสองคนอยู่ด้วยกันชิดใกล้ บ้างอยู่ในยามแรกรัก บ้างก็เป็นตอนเหนื่อยหน่าย ขบคิด หาทางออกไม่เจอ พื้นที่และเวลาในรถบอกเล่าอารมณ์ได้ดี เป็นสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่จุดคลี่คลาย หรือแตกหัก นอกจอหนัง ชีวิตส่วนตัวแกเคยผ่านนาทีวิกฤติ นั่งอยู่ในรถ ทะเลาะกับแฟน ต่างคนต่างเงียบ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง ไม่มีใครพูดอะไรเลย มีแต่ความอึดอัด กดดัน เสียใจ จุดพีกที่สุด แกบอกว่าเกือบๆ จะหักพวงมาลัยให้ชนเสาไฟฟ้า
คุณกับหมอหลินไม่ได้เพิ่งจีบกัน แต่ใช้ชีวิตครอบครัวมาเกินเจ็ดปี (เคยได้ยินพวกอาถรรพณ์เลขเจ็ดเลขแปดเลขเก้าอะไรพรรค์นี้ปะ แม่งไร้สาระฉิบหาย) ยังมีวัตรปฏิบัตินั่งรถเดินทางร่วมกันยาวๆ แบบฟังแล้วน่าอิจฉาเช่นนี้ เป็นอะไรที่จ๊าบจริงๆ กาลเวลามันควรทำให้สัมพันธภาพของคนเราลึกซึ้งขึ้น ต่อเติมเสริมส่งกันไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งอยู่ด้วยกัน มันควรยิ่งเข้าใจ นั่งเงียบๆ เราก็ชอบนะ เงียบมีสองแบบคือทะเลาะ โกรธ งอน ไม่มีอารมณ์จะพูด กับเงียบเพราะกูไม่มีเรื่องพูด คิดอะไรเพลินๆ อยู่ ชื่นชมทิวทัศน์ข้างทาง ร้องเพลงในใจ ฯลฯ ไม่ใช่เหม็นเบื่อ รำคาญ รังเกียจการพูดคุย สุดท้ายก็คงเป็นคู่ใครคู่มันนั่นแหละว่ะ ใครทำได้ ใครหาเจอ ก็อนุโมทนา เพราะยังไงคนเดินทางด้วยกัน แลกเปลี่ยนสนทนากัน (ไม่ว่าวัยหนุ่มสาวหรือแก่ชรา) มันเป็นภาพที่สวยงามจริงๆ
เข้ากรุงเทพฯ ไปเจอคุณรอบนี้เรานั่งรถทัวร์ ขากลับน่านใช้บริการเครื่องบิน ระยะเวลาประมาณชั่วโมงหนึ่งโดยปกตินั่งคิดนั่นนี่แป๊บเดียวกัปตันก็แจ้งเตรียมแลนดิ้ง รอบนี้เรานั่งติดฝรั่ง คงอารมณ์ค้างมาจากพักเกสต์เฮาส์บางลำพู ได้คุยกับคนต่างชาติ เลยถือโอกาสเซย์เฮลโหล เรื่องพวกนี้มันก็นิดเดียวจริงๆ นะ เริ่มกับไม่เริ่ม พูดกับไม่พูด บางทีเป็นจุดหักเหสำคัญ อย่างรอบนี้ เพียงเอ่ยปากทักทาย บทสนทนาอีกยาวเหยียดก็หลั่งไหล เกิดมิตรภาพใหม่ ก่อนแยกกัน เขาบอกขอบคุณที่ชวนคุย ปกติไม่ว่าใกล้ไกลแค่ไหน เดินทางกี่ทีๆ ก็จะนั่งหลับ ไม่ค่อยตื่นเต้นกับฉากชีวิตใดๆ แล้ว เพราะเดินทางมามาก (คนเยอรมัน, ทำงานในภาคธุรกิจ automotive engineering บินไปมาระหว่างยุโรป จีน เวียดนาม ไทย ภายหลังมาได้เมียอยู่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน) ลงเครื่องไปก็เตรียมทำงานต่อ แต่วันนี้มีความสุขกับเรื่องเล่า
ณ สถานที่และเวลาเดียวกัน หลับ กับลืมตา หาคนพูดคุย จึงไม่เหมือนกันเลย เรื่องพวกนี้ง่าย ใครๆ ก็รู้ แต่วิถีที่เลือกอยู่เลือกทำนั่นแหละที่ทำให้คนเราแตกต่างกัน.
เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน