ภาพ อัฟการ์และน้องชายอัมฌั๊ร ลูกชายวัยน่ารักของอาร์ฟาน วัฒนะ เจ้าของกิจการร้านกาแฟแนว SLOWBAR ชื่อ IDEOLOGI ตั้งอยู่ถนนวรคามินทร์ เทศบาลสุไหงโกลก อัฟการ์วัย 4 ขวบ และอัมฌั๊ร 14 เดือน กำลังวิ่งเล่นในร้านกาแฟ วันที่พ่อของเขาเดินทางไปพบเจ้าพนักงานที่กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส จากการนัดส่งสำนวนผู้ต้องหาให้กับอัยการ
ด้วยช่วงวัยที่กำลังเติบโตของลูกชายทั้งสอง กับถนนที่พ่อของเขาเลือกชีวิต เสรีภาพ การต่อสู้ทางการเมือง ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงทั้งในแง่มุมกฎหมายและวิธีการอื่นๆ ทำให้ผมเขียนบันทึกเรื่องราวของอาร์ฟาน วัฒนะ ในฐานะพ่อของเด็กชายสองคนนั้น
เพื่อนที่เคยมีช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมร่วมกัน และเจ้าของร้านกาแฟ IDEOLOGI พื้นที่ให้ผู้คนได้พบปะทำกิจกรรมอยู่เสมอ อาร์ฟานกำลังต้องคดีความจากกรณีต่อเนื่องเหตุการณ์อุ้มข้ามแดนนายยะห์รี ดือเลาะ ที่กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างชุมชนมลายูกับฝ่ายความมั่นคง โดยทางอัยการนัดส่งตัวครั้งที่ 1 วันที่ 7 ธันวาคม 2023 ด้วยข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา ความผิดตามมาตรา 83 มาตรา 116 และมาตรา 138
อาร์ฟานกำลังศึกษาต่อปริญญาโท สาขาการจัดการความขัดแย้ง Centre for Peace and Conflict Studies (CPCS) ประเทศกัมพูชา ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับแนวทางการแสวงหาทางออกทางการเมือง เทอมนี้เขาเลือกหยุดพักการเรียนไว้ก่อน ด้วยปัจจัยครอบครัว คดีความ และกิจการร้านกาแฟ ที่กำลังเติบโตในอำเภอสุไหงโกลก เขาสนุกอยู่กับเปิดร้านกาแฟ เปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนคนชายขอบ เยาวชนหลายคนที่เป็นลูกค้าประจำเป็นเด็กๆ เติบโตในบริบทสังคมชายแดน
ช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตจากมัธยมฯ ขึ้นสู่มหาวิทยาลัยเป็นปีแห่งโรคระบาด หลายคนตัดสินใจไม่เรียนต่อ ทำงานหาเลี้ยงชีพในขณะที่แบกความฝันของชีวิตด้วย ผมมีโอกาสสนทนากับเยาวชนเหล่านี้อยู่บ้าง พวกเขาหลายคนมีชีวิตในท่วงทำนองเดียวกัน แบกข้าวสารตั้งแต่เด็กจนโตหาเลี้ยงตนเอง เรียนสายอาชีพเพื่ออนาคตของการเป็นช่างไฟ แต่ต้องหยุดพักเพื่อทำงานส่งน้องเรียนต่อ
บาริสต้าของร้านกำลังเรียนต่อการศึกษานอกระบบ เพื่อสะดวกต่อการทำงานและเรียนไปด้วย เขาบอกว่าถ้ามีโอกาสจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย อาสาสมัครทำงานเกี่ยวกับการจัดการศพอัธยาศัยดี มีรอยยิ้มที่เป็นมิตร ละทิ้งความฝันจากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เงินเดือนนักฟุตบอลในลีกภูมิภาคมันไม่เพียงพอ เขาจำเป็นจึงแบกกระเป๋าเป้เดินทางกลับบ้านทำงานค้าขายออนไลน์และช่วยงานที่บ้าน
พวกเขาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการจากไปอย่างเจ็บปวดของเพื่อนรักด้วยโรคซึมเศร้าในช่วงปีที่ผ่านมา มันยังคงหลอกหลอนพวกเขา เพื่อนทำงานแบกข้าวสาร เพื่อเป็นเสบียงแห่งการเดินทางแบกความฝัน สุดท้ายเขาจากไปด้วยสาเหตุจากการเป็นโรคซึมเศร้า พวกเขาบอกว่าสังคมจะตัดสินเพื่อนอย่างไรไม่สำคัญ สำหรับเรา เขาคือเพื่อน และเราเองเป็นคนที่ละเลยมองไม่เห็นว่าเพื่อนกำลังเผชิญกับสิ่งใดในช่วงชีวิตที่ผ่านมา
พวกเขาอยากไถ่ถามผู้คนในบริบทแวดล้อมผู้มีอำนาจว่าจะรับผิดชอบการสูญเสียเหล่านี้อย่างไร ไม่ใช่แค่ตัดสินความที่ปลายของปัญหา
สำหรับผม บทสนทนาแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกับวัยรุ่นเหล่านี้ พวกเขามีวิธีคิดที่น่าสนใจ พวกเขาบอกว่าพื้นที่แบบนี้การพบปะกับเพื่อนใหม่ในร้านกาแฟกลายเป็นการเรียนรู้สำหรับพวกเขา ร้านกาแฟที่เปิดกว้างแบบนี้ โอบรับพวกเขาอย่างเป็นมิตรจึงสำคัญต่อช่วงวัยวัยรุ่นของพวกเขา ถ้าอาร์ฟานต้องอยู่ในเรือนจำก็คงเหมือนการทำลายพื้นที่ตรงนี้ไปด้วย หลังจากนี้อาจไม่มีเสียงกีตาร์ที่บรรเลงกันหน้าร้านกาแฟอีกต่อไป
เส้นทางที่เขาเติบโตและความไฝ่ฝันทางการเมือง
อาร์ฟาน ลูกชายคนโตของตระกูลวัฒนะ ลูกเปาะซู และนางอาซีกีน โซ๊ะโก ชีวิตเดินทางตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน อาร์ฟานย้ายจากพงกือปัสกลับบ้านไปยังหมู่บ้านเปาะเจะเต็ง บ้านเกิดของแม่ อาร์ฟานเดินทางออกจากหมู่บ้านอีกครั้งเพื่อเรียนต่อระดับชั้นมัธยมฯ ต้นในอำเภอตันหยงมัส ความเป็นวัยรุ่นจนเกินระดับที่รับไหวทำให้ครอบครัวจำเป็นต้องเปลี่ยนบริบทแวดล้อม
อาร์ฟานย้ายไปโรงเรียนใหญ่แห่งหนึ่งในเทศบาลนครยะลา เขามักเล่าถึงของฝากจากตันหยงมัสที่ถูกกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เคยรู้จักกันทิ้งร่องรอยไว้ในวันแรกแห่งการเปิดเทอม การย้ายโรงเรียนคือการเริ่มต้นใหม่ เขาตัดสินใจไม่ไปต่อบนถนนเส้นนั้น นั่นจึงเป็นแผลสุดท้ายในชีวิตวัยรุ่นของเขา
อาร์ฟานสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเมื่อถูกนำไปทำค่ายอาสา ลงชุมชนในช่วงมัธยมฯ ปลาย เขาเห็น เขาสัมผัสกับชีวิตผู้คนที่เป็นเหยื่อของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เฉกเช่นน้าชายของตนที่ถูกควบคุมตัวจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเช่นเดียวกัน ภาพจำการควบคุมตัว น้าชายถูกลากไปขึ้นรถเจ้าหน้าที่ ภาพจำต่อครอบครัวที่ต้องแบกรับความรู้สึกเหล่านั้น จุดเปลี่ยนนี้ทำให้ครอบครัวของแม่ต้องอยู่กับความยากลำบากในการต่อสู้คดีความ และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ทำให้บ้านของครอบครัวโซ๊ะโกกลายเป็นบ้านเป้าหมายที่ถูกปิดล้อมอยู่เสมอ
จากชีวิตทั่วไปของวัยรุ่น เที่ยว เกเร เล่นยา ตีรันฟันแทง ค่อยๆ เปลี่ยนสู่การสนใจประเด็นทางสังคม ค่ายอาสา ค่ายเด็กกำพร้า และการอบรมกฎหมายพิเศษ ช่วงมัธยมฯ ปลายเป็นเวลาที่เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย
อาร์ฟานนักศึกษารัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมฟื้นขบวนการนักศึกษามลายูในมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วยการก่อตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ซึ่งมีสุไฮมี ดูละสะ เป็นประธาน อาร์ฟานเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ประสานงานนักศึกษาและเป็นกรรมการฝ่ายการระหว่างประเทศ เขาเดินทางไปต่างประเทศหลากหลาย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ตุรกี เป็นต้น
จากการสะสมชั่วโมงบินต่างๆ อีกทั้งประสบการณ์ที่เติบโตในค่ายอาสา การลงชุมชน ทำให้เขากลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รณรงค์เรื่องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ซึ่งเขาเป็นคนที่ยืนยันมาโดยตลอดว่าการจัดการความขัดแย้งนั้นต้องเริ่มด้วยการคืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน
ประสบการณ์การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้เขาเรียนต่อเพื่อลงลึกขยายผลในเรื่องที่เขาสนใจ และยืนยันในสิ่งที่เชื่อ
คดีชายนิรนาม ที่ชื่อยะห์รี ดือเลาะ ในความเชื่อของครอบครัวและชุมชน
มีการพบศพนิรนามลอยน้ำอยู่ที่ชายแดนโกลก Rantau Panjang เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2022 และข่าวลือเกี่ยวกับการอุ้มข้ามแดนที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย คนมลายูที่ลี้ภัยไปอยู่ในมาเลเซียจากการต้องคดีความมั่นคง มีคนบอกว่าเห็นนายยะห์รี ดือเลาะ ถูกอุ้มบนถนนใกล้บ้านพัก
เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการพบศพปริศนา ศพดังกล่าวถูกนำไปเก็บไว้ที่โรงพยาบาลนานสามวัน ในวันที่สามครอบครัวยืนยันว่าเป็นศพของนายยะห์รี จึงขอนำศพกลับไปประกอบพิธีทางศาสนา ข่าวการถูกอุ้มจนนำมาสู่การเสียชีวิตนั้นกลายเป็นประเด็นที่สาธารณะให้ความสนใจ ไม่ว่าคนที่ถูกอุ้มจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม เขาไม่ควรถูกจับด้วยกระบวนการนอกกฎหมาย ยิ่งเป็นการอุ้มจากฝั่งมาเลเซียทำให้กลายเป็นประเด็นอำนาจอธิปไตย และคำถามต่อสถานะของมาเลเซียที่กำลังดำเนินบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาสันติภาพ
การอุ้มข้ามแดน กลายเป็นประเด็นใหญ่ในบริบทที่มีการประชุม APEC ที่กรุงเทพฯ หลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ที่เป็นการกระตุ้นปฏิกิริยาโต้กลับของขบวนการบีอาร์เอ็นในช่วงการประชุม APEC แม้ว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อขบวนการบีอาร์เอ็นคือการสื่อสารว่าจะไม่ปฏิบัติการทางอาวุธใดๆ ในช่วงการประชุมดังกล่าว แต่การกระทำการอุ้มข้ามแดนจนนำไปสู่การเสียชีวิตกลายเป็นคำถามใหญ่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ และการกระทำแบบนั้นเป็นประโยชน์ต่อใคร
การอุ้มข้ามแดนเป็นประเด็นที่ท้าทายมาเลเซียในแง่มุมด้านมนุษยธรรม และการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการกระบวนการสันติภาพ ระหว่างบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย
เมื่อศพนายยะห์รีกลายเป็นศพชายนิรนามครอบครัวและอาร์ฟานจึงถูกดำเนินคดี
ต้นเดือนตุลาคม 2022 ทางเจ้าหน้ายืนยันว่าศพที่ลอยอยู่ในแม่น้ำสุไหงโกลกสุดเขตแดนไทยมาเลเซียนั้นไม่ใช่ยะห์รี ดือเลาะ จากการพิสูจน์ลายนิ้วมือ ฝ่ายความมั่นคงแย้งว่าศพดังกล่าวไม่ใช่ยะห์รี ตามที่ครอบครัวและบีอาร์เอ็นออกมาสื่อสาร ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่าจำเป็นต้องขุดศพขึ้นมา ความขัดแย้งตึงเครียดจึงปรากฏอีกครั้งเมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรสุไหงปาดีลงพื้นที่เพื่อจะขุดศพนิรนามในวันที่ 10 ธันวาคม 2022 ที่บ้านพงกือปะ ซึ่งเป็นชุมชนที่อาร์ฟานเคยใช้ชีวิตช่วงวัยเด็ก
กระแสดังกล่าวทำให้มีการรวมตัวชุมนุมของชาวบ้านเพื่อไม่ให้มีการขุดศพ ด้วยเหตุผลและความเชื่อว่าการระทำดังกล่าวนั้นละเมิดต่อหลักความเชื่อ และเป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อเกียรติศักดิ์ศรีของผู้ตายและชุมชนอัตลักษณ์มลายูที่ศรัทธาต่อบทบัญญัติอิสลาม พวกเขามองว่าความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นก่อนการฝังศพ ซึ่งมาจากการละเลยของเจ้าหน้าที่เองในความรู้สึกของชาวบ้าน ทางครอบครัวจึงติดต่ออาร์ฟาน เพื่อให้เขามาช่วยสื่อสารเจตนารมณ์ของพวกเขา
ทางด้านหน่วยงานความมั่นคงให้ความเห็นภายหลังเกิดกระแสต้านไม่อนุญาตให้ขุด “เราไปดำเนินการตามกฎหมายแล้วเขาไม่ให้ขุด ก็ไม่เป็นไร เราก็ไม่ขุด เพราะเราถือว่าเราได้ทำตามกฎหมาย เนื่องจากหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าศพนี้ไม่ใช่นายยาห์รี ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ ทางฝ่ายปกครองเขาก็ยืนยัน ผมก็ไม่รู้ว่าเขาทำไปเพื่ออะไร (ครอบครัวที่คัดค้าน) เพราะไม่ใช่สามีเขา ไม่ใช่คนในครอบครัวของเขา ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเก็บศพไว้ทำไม” แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวในการให้ถ้อยแถลง
ครอบครัวของยะห์รีและอาร์ฟาน ถูกดำเนินคดีความ
ครอบครัวของยะห์รีและอาร์ฟาน ถูกดำเนินคดีความเพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ มีความมุ่งหมายอื่นที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง หลังจากปรากฏคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง 897/2023 คดีหมายเลขดำ อ.753/2023 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2023 กรณีขัดขวางการขุดศพชายนิรนาม ทำให้ภรรยาและแม่ของนายยะห์รี ถูกลงโทษจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากพวกเขาให้คำรับสารภาพ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรสุไหงปาดี ออกหมายเรียกอาร์ฟาน วันที่ 16 มีนาคม 2023 เพื่อสอบปากคำในฐานะพยานที่สถานีตำรวจภูธรสุไหงปาดี ตามด้วยหมายเรียกผู้ต้องหา เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2023 โดยมีเนื้อหา ด้วยเหตุที่ท่านต้องหาว่า “กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมด้วยสุจริต โดยมีเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร”
อาร์ฟานเข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 7 กันยายน และให้การปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา และขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง ต่อมาทางตำรวจนัดส่งสำนวนและผู้ต้องหาให้กับอัยการ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากเลื่อนมาแล้วสามครั้ง เมื่อกระบวนการเข้าสู่ชั้นอัยการแล้ว อาร์ฟาน ในฐานะผู้ต้องหามีทางเลือกตามระเบียบชั้นอัยการ คือการร้องขอความเป็นธรรมให้สั่งไม่ฟ้อง ในคดีความที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งสิ่งนี้เป็นการตีความหรือวินิจฉัยว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ’
อาร์ฟานถูกแจ้งข้อกล่าวหาเนื่องจากเข้าไปช่วยครอบครัวที่เชื่อว่าศพนิรนามนั้นคือ นายยะห์รี ดือเลาะ ซึ่งตามหลักการทั่วไป การขุดศพถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการอิสลาม แม้ว่ามีข้อวินิจฉัยใหม่ในบริบทเฉพาะที่จำเป็นของปวงปราชญ์และมีการอ้างถึงการวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรี แต่ในมุมมองและความรู้สึกของชาวบ้านการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลสำคัญ ศพนิรนามอยู่ในโรงพยาบาลหลายวัน ไม่มีการพยายามตรวจสอบรายละเอียดอย่างจริงจัง จนสุดท้ายทางภรรยายะห์รียืนยันว่าศพดังกล่าวเป็นของสามีตน จากหลักฐานรอยแผลช่วงขาที่ตนจำได้ภายหลังการรับศพของครอบครัว เพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนา
กระแสการอุ้มข้ามแดนจนนำไปสู่การเสียชีวิตของยะห์รีกลายเป็นกระแสสังคม และมีการแถลงการณ์จากขบวนการบีอาร์เอ็นว่า ศพนิรนามนั้นเป็นยะห์รีจริง การยืนยันว่ายะห์รีเป็นสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็นจริงนั้น ถือเป็นกรณีแรกหรือเป็นกรณีเดียวที่มีการสื่อสารและยอมรับสถานะบุคคลว่าเป็นสมาชิกของขบวนการ
การปกป้องสิทธิมนุษยชนและการทำงานในสนามความขัดแย้งทางการเมืองเชิงอัตลักษณ์มันไม่ง่าย
ประธาน The Patani กล่าวถึงการดำเนินคดีความต่ออาร์ฟานว่า ทาง The Patani มองว่าเป็นการดำเนินคดีความอาญาที่สัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมทางการเมือง การทำงานของนักกิจกรรมในพื้นที่โดยพื้นฐานแล้ว ย่อมมีความเสี่ยงทางกฎหมายอยู่เสมอ ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่มีรายละเอียดซับซ้อน การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งจึงไม่ใช่การจัดการทางกฎหมายเท่านั้น ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานจำเป็นที่จะต้องแสวงหาทางออกในเชิงนโยบายอย่างจริงจัง
ทาง The Patani จึงยืนยันมาโดยตลอดว่าพัฒนาการของรัฐไทยนั้นมีความสำคัญต่อทิศทางการจัดการความขัดแย้ง การสนับสนุนเคลื่อนไหวให้ประเทศไทยเป็นรัฐประชาธิปไตย มีหลักธรรมาภิบาล จะช่วยให้เราแสวงหาทางออกร่วมกันในอนาคต ที่เป็นปัญหารากเหง้าทางการเมืองมากกว่าการจัดการทางกฎหมายที่ปลายเหตุ
อาเต๊ฟ โซะโก ประธาน The Patani กล่าวว่าสำหรับการต่อสู้ทางคดีความ ตอนนี้ทาง The Patani ได้เตรียมทนายความเพื่อยืนยันเจตนารมณ์การทำงานของอาร์ฟาน วัฒนะ ในฐานะเลขาธิการภูมิภาคขณะนั้น การให้การช่วยเหลือชาวบ้าน ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และการทำงานเพื่อให้บรรยากาศทางการเมืองนั้นเอื้ออำนวยต่อการแสวงหาทางออกทางการเมืองด้วยการไม่ใช้อาวุธ
เหนืออื่นใด ในระหว่างการสู้คดีนั้นเรามีความจำเป็นที่จะต้องประกันตัว เพื่อความสะดวกในต่อสู้คดี และมีความหมายต่อชีวิตครอบครัว ลูกๆ ของเขาที่กำลังเติบโต.
เกี่ยวกับนักเขียน : Awan หรือ อัสมาดี บือเฮง เกิดที่บ้านโคกนิบง ݢوء نيبوڠ หมู่บ้านเล็ก ๆ ชุมชนรอยต่อระหว่างจังหวัดปัตตานี-นราธิวาส ตามการแบ่งเขตปกครอง อยู่ตรงกลางระหว่างชายหาดและภูเขา เรียน มอ.ปัตตานี สาขาอิสลามศึกษา พยายามขายเสื้อผ้าออนไลน์ ฝันใฝ่อยากเป็นนักข่าว/นักเขียน เขาเชื่อว่าการเขียนสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพ และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้คน