รุ่นน้องคนหนึ่งตัดสินใจเข้าร่วมขบวนเอกราช ไม่รู้เขาไปร่วมเป็นสมาชิกตอนไหน ที่รู้ก็ด้วยเพื่อนส่งรูปเขามาให้ดู เขาถูกยิงตายในป่า คนหนุ่มอายุ 29 ตาตี่ รอยยิ้มสดใส ตายบนภูเขาตอนเช้า ประมาณเก้าโมง บนเขาบ้านดาฮง อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
สิ้นเสียงปะทะ ชาวบ้านพากันขึ้นเขา ผมดูจากไลฟ์ของสำนักสื่อในท้องถิ่น Wartani มันทั้งหดหู่ โกรธและกังวล บนภูเขาแบบนั้น ถ้าเป็นการปะทะจริงๆ ที่พักเล็กๆ ของกองกำลังติดอาวุธอาจจะมีระเบิด หรือการปะทะอาจยังไม่สิ้นสุดลง ทำไมถึงกล้าหาญขนาดนั้น ทำไม
ไม่กี่ปีก่อน เกิดเหตุกราดยิงชาวบ้านตัดไม้บนเขาตะเว เจ้าหน้าที่บอกว่าพวกเขาวิเคราะห์ผิด คิดว่าเป็นฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ เป็นโจรก่อการร้าย ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 3 คน ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นศาลอัยการส่งฟ้องคดีอาญา 71/2556 ฟ้อง 19 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คดีที่มีการไต่สวนความตายส่งฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ ตอนนั้นมีโพสต์ส่วนตัวของทหารนายหนึ่งที่บอกว่า วันนี้เขาล่าหมูสำเร็จ แล้วก็ลบไปเพราะกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้น และชี้แจงว่าเขาไม่ได้อยู่ร่วมปฏิบัติการในวันนั้น
เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างความทรงจำสะสมของคนพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่บ้านตีนเขาอย่างบ้านดาฮง วันนั้นมีชาวบ้าน พลเรือนหลายคนกำลังทำสวนกันอยู่ สิ้นเสียงปืน พวกเขาพร้อมเพรียงกันขึ้นไปดูเพื่อให้รู้แน่ชัดว่าไม่ใช่พ่อ ไม่ใช่แม่ ไม่ใช่ลูกหลาน ที่ต้องตายไปจากเหตุการณ์ที่โฆษกบอกว่าประเมินผิด
มะแอ ชื่อเล่นของนายไพศาล ซาเงาะ เป็นรูปแรก ๆ ที่ถูกปล่อยในโลกออนไลน์ ปรากฏตามกระดานต่าง ๆ เด็กหนุ่มยิ้มแย้ม แบกปืน AK-47 ผมจำเขาได้ เขาเคยเรียนในรั้วเดียวกันกับผม 3-4 ปี ก่อนย้ายกลับไปเรียนแถวบ้านเกิด เขาหายไปในความทรงจำของผมตั้งนานแล้ว ก่อนที่เขาจะหายไปจากหมู่บ้านของตนเองเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
บ้านเล็กๆ ริมธาร ด้านหน้าเป็นสนามฟุตบอล เขาหายไปหลังเจ้าหน้าที่บอกกับผู้นำชุมชนว่า มะแอน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่เกิดที่สนามบอล
และต่อมา ชื่อของเขาปรากฏตามป้ายตามจับหลังเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงเทพฯ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าใครจะไปทำอะไรหน้าบ้านตัวเองให้ตำรวจจับ ลุงเขาพูดลอยๆ ให้ผมฟัง ขณะหยิบข้าวเหนียวจิ้มแกงไก่ที่อยู่ตรงหน้า ผมหันไปตามเสียงลุง ที่ไวนิลประกาศตนชัดเจนว่าเขาชาฮีด [การตายที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชุมชนมุสลิม] รูปเขาถือปืนที่กำลังมองมายังผู้มาเยือน ในวันครบรอบ 7 วัน แห่งการจากไป
ผู้หญิงดวงตาที่คล้ายกับชาฮีดไพศาล ที่รอยยิ้มต้อนรับแขกผู้มาเยือนไม่ได้กลบคราบน้ำตา ร่องรอยแห่งความเศร้าโศกต่อการจากไป แม่ยกย่องว่าลูกของเขาเป็นหนึ่งในวีรบุรุษ พูดพลางยื่นเสื้อให้เพื่อนๆ ลูกชายที่มาเยือน ผมเห็นเสื้อสีน้ำเงินในถุงแล้วบอกกับแม่ว่า นั่นใช่เสื้อพละโรงเรียนของเราหรือเปล่า แม่บอกให้ผมเปิดดู
‘ให้เพื่อแทนความทรงจำ’ แม่บอก
ผมนิ่งเงียบเมื่อเปิดดูเสื้อตัวนั้น มันใหญ่ไปสำหรับไพศาล เท่าที่จำได้ตอนเล่นกีฬา เสื้อกีฬาหลายตัวมันใหญ่ไปสำหรับคนตัวเล็กๆ เสื้อตัวนี้ยังใหม่อยู่เลย เขาน่าจะมีโอกาสใช้มันได้ไม่กี่ครั้ง
แม่ถามผมว่าอยู่ไหน มีครอบครัวหรือยัง คำถามแบบนี้เราคงพอที่จะเดาบทสนทนาต่อไปได้ ผมมีลูกสาวคนหนึ่ง จริงๆ ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้น ไพศาลก็คงจะแต่งงานอีกในอีกไม่ช้า ชีวิตเสี่ยงๆ ที่เขาเลือก แม่อยากให้เขามีผู้สืบทอด อยากให้เขามีครอบครัว ตอนนี้ไม่มีแล้ว เขาไม่มีผู้สืบทอด เฉกเช่นลูกพี่ลูกน้องของเขาที่เสียชีวิตไปข้างๆ กัน เขากำลังจะหมั้นหมายในอีก 3 วันก่อนที่จะเสียชีวิต ทั้งสองคนเสียชีวิตไปทั้งที่ยังไม่ได้แต่งงาน
แม่คงคิดถึงเขาที่เพิ่งจากไปไม่กี่วัน คงคิดถึงวันที่มีหลานเล็กๆ น่ารัก วิ่งเล่นตามสนามบอล
คงดี หากการจากไปของเขานั้นทิ้งทายาทแทนความทรงจำให้แม่ไว้ แต่ก็คงแย่ สำหรับภรรยาและลูกที่ต้องเป็นหม้ายและกำพร้าพ่อ คงมีหลายครอบครัวที่อยู่ในบริบทเหล่านั้น เวลาลูกถามว่าพ่ออยู่ไหน คำตอบเหล่านั้นก็คงไม่ง่ายพวกเขาจะตอบให้ลูกฟัง สงครามการปะทะกันด้วยอาวุธนี่มันจ่ายกันสูงขนาดนี้ แต่พวกเขาก็ดูเหมือนพร้อมที่จะจ่ายมัน มันผิดธรรมชาติของความรู้สึกของมนุษย์ ความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแบบนี้น่าจะมีวิธีการเผชิญหน้าที่สร้างสรรค์กว่าการฆ่าให้ตายไปข้างหนึ่ง หรือต้องแลกด้วยความรู้สึกพร้อมตาย
สันติวิธีอาจจะเป็นทางเลือกของคนขี้ขลาด ตามที่เพื่อนทนายเคยบอกไว้ตอนเป็นนักศึกษาด้วยกันก็ได้ ในขณะที่ปรากฏการณ์บอกว่าเรายังต้องการคนที่กล้าหาญ พร้อมตายแบบไม่ใช้อาวุธเพื่อเปลี่ยนวิถีแห่งการเผชิญหน้ามากกว่า
ใครเลือกทางไหน หวังว่าพวกเขาพร้อมที่จะจ่ายกันในทางนั้น ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เมื่อคนเขารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกมากนัก ในวันครบรอบ 7 วันแห่งการสูญเสีย เราทำได้เพียงเคารพทางเลือกของเขาเท่านั้น
แกงมัสมั่นไก่ที่กลุ่มหญิงค่อนข้างสูงอายุทำกันตั้งแต่เช้าตรู่อยู่ตรงหน้าเรา พร้อมกับข้าวและข้าวเหนียว วัฒนธรรม วิถีแห่งการเกื้อกูลของชุมชนยังคงปรากฏ ผมว่ามันมีความหมายมาก ๆ ถ้าเราไม่ตัดสินกันแบบหยาบๆ จนเกินไป ถ้ามองกันในระดับวิถีของชุมชนวัฒนธรรมที่เกื้อกูลกัน การดูแลผู้คนยังคงเข้มแข็งในตัวมัน ใครจะมองว่าสนับสนุนโจรก่อการร้ายก็ช่างแม่งเขา
เราทำอะไรเท่าที่ทำได้สำหรับคนที่ยังอยู่ ผู้คนมาเยือนไม่ขาดสาย เรื่องราวถูกส่งต่อสื่อสารออกไป พวกเขาคือวีรบุรุษของชุมชนมลายู
การตะโกนร้องว่า ‘จงเป็นอิสระ จงเป็นอิสระ’ เคียงข้างร่างที่ไร้วิญญาณของเขา ยังคงดังไม่ขาดหาย ใครจะตีความว่ามันคือการโห่ร้องว่า ‘เอกราช เอกราช’ ก็ได้ แล้วแต่ หากความหมายในตอนนั้นคือการโห่ร้องว่า ‘เอกราช เอกราช เอกราช’ ทำไมเราต้องโห่ร้องข้างๆ ร่างที่ไร้วิญญาณเหล่านั้น ผมว่าน่าจะมีคนมีชีวิตที่ยังสมควรแก่การฟังเสียงนี้ ฟังมันจริงๆ พวกเขาต่างหากที่สำคัญต่อการเปลี่ยนทิศทางของรัฐบาลของพวกเขาเอง
เพื่อนผมตายไปเพราะเขาเลือกทางนั้น เขาต้องการเป็นอิสระ ตอนนี้ผมหวังว่าเขาจะเป็นอิสระอย่างที่เขาใฝ่ฝัน เราต่างหากที่ยังถูกจองจำอยู่ในเสรีภาพจอมปลอม.
เรื่องและภาพ อัสมาดี บือเฮง
เกี่ยวกับนักเขียน : Awan หรือ อัสมาดี บือเฮง เกิดที่บ้านโคกนิบง ݢوء نيبوڠ หมู่บ้านเล็ก ๆ ชุมชนรอยต่อระหว่างจังหวัดปัตตานี-นราธิวาส ตามการแบ่งเขตปกครอง อยู่ตรงกลางระหว่างชายหาดและภูเขา เรียน มอ.ปัตตานี สาขาอิสลามศึกษา พยายามขายเสื้อผ้าออนไลน์ ฝันใฝ่อยากเป็นนักข่าว/นักเขียน เขาเชื่อว่าการเขียนสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพ และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้คน