1.
ปี 2023 เป็นปีที่ชีวิตของผมกลับมา ‘ชีพจรลงตีน’ อีกครั้ง
‘ลงตีน’ ทั้งในแง่การทำงาน
‘ลงตีน’ ทั้งในแง่การเดินทาง
เมื่อสิ้นปีก่อนโน้น ผมสลัดยูนิฟอร์มพนักงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว จากเคยตาลีตาเหลือกตื่นเช้าฝ่ารถติดไปเข้าออฟฟิศใจกลางกรุง เดี๋ยวนี้ปล่อยเซอร์ นุ่งขาสั้น นั่งเคาะแป้นพิมพ์ทำงานอยู่บ้านบ้าง ร้านกาแฟบ้าง บางวันกระแดะไปนั่งทำทรง Digital Nomads อยู่ริมแม่น้ำริมทะเล ตามเสียงเรียกร้องของหัวใจและตามใจตีน
ชีวิตที่โบกมือบ๊ายบายงานประจำเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ความเครียดหายไปกว่าครึ่ง เช่นเดียวกับรายได้ แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่าดีเหมือนกัน มีเยอะแม่งก็ถลุงใช้ไม่บันยะบันยัง มีน้อยกลับกลายเป็นใช้อย่างระมัดระวังจนเงินเหลือหน้าตาเฉย
วิถีฟรีแลนซ์ พ.ศ.นี้ ไม่มีเวลามานั่งติสต์แตก เว้นวรรคไปชาร์จแบตฯ เติมพลังได้นานเท่าที่ต้องการ เพราะโลกแห่งความเป็นจริงไม่โรแมนติกเลย มันกวนส้นตีนกว่าที่คิด โดยเฉพาะในวันที่คุณยังต้องปากกัดตีนถีบ และภาระค่าใช้จ่ายยังคงทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงและไร้ความปรานี
เมื่อโอกาสเข้ามาก็ต้องฉวยคว้าไว้ก่อน เหมือนคนรอรถเมล์สายดึก ผ่านมาแค่ชั่วโมงละคัน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแค่ไหนก็ห้ามเผลอหลับ เพราะไม่รู้ว่าคันต่อไปจะมาถึงเมื่อใด และเราอึดพอที่จะรอมันไหวไหม รู้ตัวอีกทีก็ทะลึ่งพรวดขึ้นไปอยู่บนรถแล้ว โดยไม่อาจล่วงรู้ว่ารถเมล์ที่เราขึ้นนั้นจะตรงไปบ้านหรือมุ่งหน้าสู่ขุมนรก
บางครั้งขึ้นผิดคันก็เสียเวลา เสียอารมณ์ บางคราวขึ้นถูกคัน เจอโชเฟอร์ขับดี กระเป๋ารถเมล์สายฮา เปิดเพลงไพเราะ ถนนโล่ง หนทางราบรื่น ลมพัดชวยชื่นจากบานหน้าต่างปะทะใบหน้า ก็ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาบ้าง
ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ทำงานหลากหลายแนว ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาช่วยวางแผนผลิตคอนเทนต์ให้สื่อกีฬาน้องใหม่ (วงการกีฬาเนี่ยนะ ?) เป็นบรรณาธิการตรวจต้นฉบับให้เพจธุรกิจ (เพจคุณภาพของคนรุ่นใหม่ไฟแรง) เป็นหัวหน้าทีมพีอาร์จัดงานมหกรรมหนังสืออิสระ (ลูกพี่เก่าเรียกใช้บริการ จัดงานหนังสือในสถานีกลางบางซื่อ) ผลิตคอนเทนต์ให้คอนเสิร์ตเพลงร็อกเพื่อชีวิต (หวานหมูสำหรับแฟนพันธุ์แท้เพลงเพื่อชีวิต !) เป็นบรรณาธิการคุมทีมนักเขียนทำโปรเจ็กต์สัมภาษณ์ผู้คนในวงการน้ำหมึก (ภารกิจภาคภูมิใจ of the Year) ร่วมทำหนังสือครบรอบกึ่งศตวรรษขององค์กรแห่งหนึ่ง (สำนวนไทยว่าไงนะ จับพลัดจับผลู?) เขียนบทสารคดีและออกกองถ่ายทำคลิปวิดีโอให้มูลนิธิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า สำนักพิมพ์ แม้กระทั่งโปรโมตงาน open house ของฟาร์มวัวแห่งหนึ่ง !
มีทั้งงานที่ชอบมาก เพราะถนัด มั่นใจ แถมคนจ้างก็คุ้นเคยกันดี มีทั้งงานที่มอบประสบการณ์แปลกใหม่ ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนหรือห่างเหินไม่ได้แตะต้องมานาน และแน่นอนมันก็จะมีงานที่ เฮ้อ เมื่อไหร่จะเสร็จสักทีวะ (555)
อย่างที่ผมพูดอยู่เสมอว่าที่สุดของการเป็นฟรีแลนซ์ คือการได้ก้าวเท้าพาตัวเองออกจากจุดเดิมๆ ไปทำอะไรที่ไม่เคยทำ เจอผู้คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ภายใต้บรรยากาศสดใหม่
ยิ่งงานไหนได้เดินทางไกลไปต่างจังหวัด ฝังตัวลงพื้นที่นานๆ ยิ่งทำให้ผมมีความสุขเหลือเกิน เบื่อฉิบหายกับการประชุมออนไลน์ แต่งตัวเนี้ยบ วนเวียนอยู่กับคาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า และการจราจรติดหนึบ ขอออกไปเจอแดด ฝน ลมหนาว แม่น้ำ ทุ่งนา ป่าเขา เหมือนตอนวิ่งทำสกู๊ปพิเศษสมัยเป็นนักข่าว ก็ส่งผลดีต่อจิตใจอย่างไม่น่าเชื่อ
2.
ต้นเดือนธันวาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ผมเขวี้ยงชีวิตตัวเองไปไกลถึงอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หลังเคยไปเยือนหนล่าสุดเมื่อเกือบสิบปีก่อนโน้น คราวนี้ได้รับชักชวนจากพี่ชายสุดที่รัก –ภาสกร จำลองราช นักข่าวรุ่นเก๋าผู้ก่อตั้ง ‘สำนักข่าวชายขอบ’ ที่อาจพูดได้ว่าเป็นสำนักข่าวเพียงไม่กี่แห่งที่ยังมุ่งมั่นรายงานปัญหาชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ และชาวชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมืองไทยอย่างต่อเนื่องจริงจัง
พี่ภาสชวนผมไปงาน ‘ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง’ งานใหญ่ประจำปีของกลุ่มรักษ์เชียงของและพันธมิตรที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เพื่ออัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบมานานกว่าสามทศวรรษจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในจีน (ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 13 เขื่อน) ส่งผลให้ระบบนิเวศผันผวน ระดับน้ำขึ้นลงอย่างวิปริตผิดเพี้ยน พืชพันธุ์ปลาท้องถิ่นลดลงน่าใจหาย (บางชนิดก็ไม่ปรากฏให้เห็นนานหลายปี) แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาคอาเซียนกำลังจะถูกทำลายไปอย่างถาวร กระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขงตั้งแต่ไทย ลาว กัมพูชา จรดเวียดนาม ไม่นับความเสียหายที่จะเกิดกับธรรมชาติอันประเมินค่ามิได้
ทั้งหมดนี้แลกกับผลประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้ามูลค่ามหาศาลที่จะไหลเข้ากระเป๋าคนเพียงไม่กี่กลุ่ม
งานจัดกันเล็กๆ แต่อบอุ่น มีอ่านแถลงการณ์ วงเสวนาวิชาการ การแสดงศิลปะและดนตรี เป็นการพบปะอันเต็มไปด้วยมิตรไมตรีตามประสาพี่น้องร่วมอุดมการณ์ที่ต่อสู้เคียงบาเคียงไหล่กันมา
ผมเห็นนักข่าวไปอยู่ไม่กี่ช่อง ซึ่งนักข่าวที่ไปก็หน้าเดิมๆ แต่ยังดีที่ทุกคนล้วนเป็นนักข่าวที่เรียกได้ว่า Journalist จริงๆ คือลงพื้นที่จริง เกาะติดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นมืออาชีพสูง ที่น่าเศร้าคือนอกเหนือจากนักข่าวจำนวนหยิบมือที่มา พอเปิดมือถือไถฝีดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ดู (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็น X) แทบไม่มีข่าวนี้ถูกรายงานในสื่อกระแสหลักหรือสื่อออนไลน์มากนัก ทั้งที่เป็นประเด็นใหญ่ระดับชาติ
ผมไม่แปลกใจเท่าไหร่ เห็นมาชาชินทั้งในฐานะคนที่ชอบลงพื้นที่จริงสมัยทำสกู๊ปพิเศษ ทั้งในฐานะอดีตบรรณาธิการนั่งอยู่ในออฟฟิศกรุงเทพฯ ด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ข่าวสารที่เกิดขึ้นในสังคมมีมากมายไม่หวาดไม่ไหว ลำพังแค่จะเลือกหยิบข่าวไหนมานำเสนอก็ปวดกบาลแล้ว ข่าวนั้นก็ใหญ่ อยู่ในกระแส ข่าวนี้ก็หวือหวาดี คนอ่านเยอะแน่ๆ ข่าวโน้นก็ถูกจริตถูกรสนิยม อยากลงอ่ะ มีอะไรไหม
พื้นที่ก็จำกัด คนทำงานก็หัวหมุน บางครั้งอาจหลุดรอดสายตาไปบ้างก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา
แต่อีกด้านหนึ่งก็น่าเศร้าและควรยอมรับความจริงว่าหลายสำนักข่าวต่างวิ่งไล่ล่างับแต่ข่าวในกระแส ทั้งที่หลายข่าวเหล่านั้นไม่มีความสลักสำคัญ ไม่มีสาระประโยชน์ ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนเลย บางสำนักฉายวนแม่งอยู่แต่ข่าวลุงพลกับป้าแต๋น เน้นสีสันต่อล้อต่อเถียง แต่ความคืบหน้าทางคดีและเบื้องลึกเบื้องหลังที่เป็นแก่นสารจริงๆ กลับไม่ถูกรายงาน บางสำนักคลั่งไคล้ข่าวจำพวกคลิปรถชน คนตีกัน หมาแมวน่ารักชวนให้อมยิ้ม ซึ่งดูดมาจากคลิปวิดีโอเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือติ๊กต่อกของคนอื่นมาอย่างหน้าด้านๆ
ข่าวเจาะประเภทฮาร์ดนิวส์ สกู๊ปสารคดีเข้มๆ ซีรีส์ภาพถ่ายดีๆ แม้กระทั่งคลิปวิดีโอที่วิเคราะห์เจาะลึกสถานการณ์สำคัญจริงๆ มีการส่งนักข่าวออกไปลงพื้นที่ประสบปัญหา สัมภาษณ์คนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยนั้น ทุกวันนี้เหลือเพียงไม่กี่สำนักที่ยังทุ่มเทให้ความสำคัญอยู่ (ขอปรบมือให้ด้วยความชื่นชม) ส่วนใหญ่นั่งหน้าคอมพ์ ลอกข่าวยำข่าวกันเป็นเรื่องปกติแล้ว เพราะมันง่ายดี แถมฟรีด้วย
ออกไปบ้าง — หมายถึงคนที่เป็น ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ ในปัจจุบัน กรุณาเพลาๆ การนั่งแปลข่าวด้วยกูเกิ้ลทรานสเลตเพียงอย่างเดียว (บางบทความแปลออกมาชุ่ยๆ ผิดๆ ถูกๆ โดยไม่ดูบริบทของเหตุการณ์ บางข่าวแปลซ้ำกัน แต่ดันเข้าใจผิดว่าคนอื่นลอกงานตัวเองก็มี) เลิกก๊อปสเตตัสเฟซบุ๊กชาวบ้านมาลงเป็นข่าวโดยที่ไม่เคยคิดขออนุญาตเจ้าตัว หรือแม้แต่จะโทรฯ สัมภาษณ์เพิ่ม
ลงพื้นที่ให้มากขึ้นเท่าที่จะทำได้ ไปดู ไปคุย ไปฟัง ไปสบตากับชาวบ้าน ไถ่ถาม ไขข้อสงสัย หรือตบบ่าให้กำลังใจก็ยังดี เชื่อว่ายังไงก็ได้แรงบันดาลใจในการเขียนงานดีๆ ออกมาแน่ แต่ถ้ายังจมอยู่หน้าจอมือถือ งมอยู่แต่ในโลกโซเชียล ไม่เคยคิดจะออกไปไหน แล้วมาบ่นว่า “หมดไฟ” หรือ “ไม่รู้จะเขียนอะไร”
ถ้าเป็นน้องเป็นนุ่งหรือเพื่อนสนิทกัน ก็คงคันปากอยากสรรเสริญด้วยรักสักคำ –ควยมั้ย ไอ้สัส
3.
หลังจากลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขงที่เชียงของ ผมกลับกรุงเทพฯ ได้ไม่ถึงสัปดาห์ ก็ต้องบึ่งไปทำงานที่สระบุรีต่อ เปลี่ยนจากโหมดสโลว์ไลฟ์ริมโขงมาเป็นตะลุยทุ่งกว้างแบบคาวบอย กับงานผลิตคลิปวิดีโอสารคดีขนาดสั้นเพื่อโปรโมทฟาร์มวัวที่อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี
สารคดีโปรโมตฟาร์มวัว ! ได้ยินแค่นี้ก็โคตรมันส์แล้ว
งานนี้ได้รับว่าจ้างจากลูกพี่เก่า พี่ชารีฟแห่งสำนักพิมพ์ยิปซี เป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนฝูงว่า นอกจากจะเป็นคนทำหนังสือประวัติศาสตร์แล้ว หมวกอีกใบของเขาคือหมวกคาวบอย แกเป็นโคบาลเจ้าของฟาร์มวัวบราห์มันสายพันธุ์แท้ ไอ้วัวร่างสูงใหญ่บึกบึน สง่างามที่เขานิยมส่งประกวดกันนั่นแหละ
ผมรู้มาสักพักแล้วว่าพี่ชารีฟไปซุ่มศึกษาการทำฟาร์มเพาะพันธุ์ฺวัวบราห์มัน ทุ่มเงินซื้อที่ดินเป็นสิบๆ ไร่ ปลูกโรงเรือนอย่างดี จ้างคนงานมาดูแล ถึงขั้นผลิตหญ้าหมักเป็นอาหารวัวเอง ผ่านมาเกือบสี่ปีอาณาจักรของแกเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนในวงการวัว
วันดีคืนดี พี่ชารีฟอยากจัดงาน open house ฟาร์มวัว เชิญชวนบรรดากูรู เจ้าของฟาร์ม และใครก็ตามที่สนใจทำธุรกิจวัวบราห์มันมาเที่ยวชมและเลือกซื้อวัวสายพันธุ์แท้ที่แกประคบประหงมปลุกปั้นมากับมือ จึงโทรฯ ให้ผมยกทีมไปช่วยผลิตคลิปวิดีโอโปรโมทให้หน่อย ด้วยความชอบงานประเภทสารคดี ลงพื้นที่สัมภาษณ์คน ออกแบบการเล่าเรื่องผ่านภาพสวยๆ โปรดักชั่นเนี้ยบๆ เลยยกโขยงกันไปกินนอนที่ฟาร์ม ท่ามกลางลมหนาวสะใจช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ตื่นแต่เช้ามืด จิบไจ (ชาอินเดีย) แกล้มปาท่องโก๋ร้อนๆ เดินฝ่าสายลมเย็นสดชื่นไปยืนชมดวงตะวันค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้า ฉากหลังคือทุ่งข้าวโพดไกลสุดลูกหูลูกตา ไกลลิบๆ มีภูเขาลูกใหญ่ดำทะมึนน่าเกรงขาม แล้วฝูงวัวกว่าครึ่งร้อยก็ถูกต้อนออกจากคอก วิ่งกรูกันเป็นพรวนมุ่งหน้าสู่ทุ่งโล่งอันกว้างใหญ่ไพศาล
กลิ่นขี้วัวผสมกลิ่นปุ๋ยหมักลอยอวลในอากาศ ฝุ่นดินและเศษหญ้าที่ติดรองเท้ากลายเป็นความบันเทิงเริงรมณ์เล็กๆ น้อยๆ เหมือนสมัยที่เรายังเป็นเด็กซุกซนไม่หยี่หระกับความเลอะเทอะมอมแมม เสียงมอๆ ดังแว่วจากตรงนั้นตรงนี้ วัวน้อยใหญ่ก้มลงเล็มหญ้าอย่างไม่รู้อิ่มและขี้ออกมาทันทีอย่างไม่รู้จักอาย เราสบตากันแป๋ว ถ้ามันยิ้มได้มันคงยิ้มให้ (แล้วถามว่า –มองควยไรคับเพ่ !) แต่เป็นอันรู้กันโดยไม่ต้องพูดว่า กูกับมึงต่างก็อารมณ์แช่มชื่นเหลือเกินในยามเช้าที่งดงามเช่นนี้
เหล่าช่างภาพแยกย้ายกันเก็บบรรยากาศกันอย่างเสรี บางคนส่งโดรนขึ้นบนท้องฟ้าเพื่อที่จะมองลงมาด้วยสายตานก อีกคนดูดยาสบายใจ พลางหยิบกล้องมือถือขึ้นเซลฟี่ แล้วก็กดวิดีโอคอลล์ไปปลุกสาวคนรัก หวังแบ่งปันโมงยามอันแสนสุข
ผมรู้สึกทึ่งและตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ในวงการวัวบราห์มัน ตั้งแต่เคล็ดลับการเพาะพันธุ์วัวจนกลั่นออกมาเป็นน้ำเชื้อขวดละหลักแสน วิธีการประคบประหงมดูแลวัวยิ่งกว่าลูกในไส้ ประเคนอาหารด้วยหญ้าหมัก อาบน้ำให้มัน ขัดสีฉวีวรรณให้มัน เทคนิคการดูวัวว่าแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่สวยและอนาคตไกล วิธีการกล่อมวัวให้โพสต์ท่าเท่ๆ สำหรับถ่ายภาพออกมาดูดี แม้กระทั่งถ้อยคำสำบัดสำนวนเวลาบรรยายสรีระของวัวนั้นก็ช่างสละสลวยเหมือนกำลังอ่านวรรณกรรมสักเล่ม
ยิ่งลงดีเทล ยิ่งสัมผัสได้ถึงแพสชั่น ความจริงใจ ชีวิตกลางแจ้งสไตล์ลูกทุ่ง เปี่ยมด้วยเสน่ห์แบบคาวบอย (แบบไทยๆ) พลางนึกถึงบทสัมภาษณ์ชื่อ ‘ขุดเขา แต่งกีบ ตีเบอร์’ ชีวิตและงานคาวบอยเชียงราย “ผมมีกินมีใช้เพราะตีนวัว” ที่เคยลงในเว็บไซต์ nan dialogue (คลิกอ่านที่ลิงก์นี้ https://www.nandialogue.com/interview-cowboy-aphiwat/ )
ถ่ายคนมาเยอะ พอมาถ่ายวัวก็ดีต่อใจไปอีกแบบ
4.
จบเรื่อง ‘ลงตีน’ ในแง่การทำงาน
ขอกลับมาพูดเรื่อง ‘ลงตีน’ ทั้งในแง่การเดินทางบ้าง
สิ่งที่วิ่งตีคู่ไปกับหน้าที่การงานคือความฝัน นอกจากการเขียนหนังสือ ผมอยากมี ‘บ้านริมน้ำ’ ครับ
ภาพในฝันที่คิดถึงคราใดก็ยังแจ่มชัดไม่เปลี่ยนแปลงคือภาพบ้านไม้เก่าๆ กลางดงไม้ร่มรื่น วางตัวอยู่ริมแม่น้ำสักสาย ริมคลองเล็กๆ ไม่ก็ริมลำห้วยอันห่างไกลจากชุมชน
ปีที่ผ่านมา ผมเริ่มจริงจังกับการขับรถตะลอนดูที่ดินซึ่งได้รับคำแนะนำมาว่า ‘ที่ดินสวยติดน้ำ ในราคาเอื้อมถึง’ เริ่มจากริมแม่น้ำบางปะกง รอยต่อระหว่างฉะเชิงเทรากับปราจีนบุรี ไปถึงแม่น้ำสุพรรณอันเงียบสงบในอำเภอเดิมบางนางบวช จากริมลำห้วยไหลแรงในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี สู่แม่น้ำแควน้อยในป่าดิบเมืองกาญจน์ ก่อนจะไต่ระดับไปทางเหนือถึงอำเภอแม่ริม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สุดท้ายแพ้ความไกลและฝุ่นควันพิษ เลยขอยกธงขาว กระทั่งคลำทางมาเจอกับที่ดินผืนหนึ่งซึ่งก้ำกึ่งอยู่บนเส้นเขตแดนนครปฐมกับอำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี
ขณะกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างช้าๆ ไม่เร่งรีบ ตามกำลังทรัพย์ ตามความเหมาะสมของจังหวะชีวิต ก็หวังว่าฝันจะเป็นจริงในไม่กี่ปีข้างหน้า
พูดถึงเรื่องการเดินทาง ผมเป็นคนไม่ชอบนั่งเครื่องบินอย่างยิ่ง เกลียดการไปรอขึ้นเครื่องล่วงหน้ากว่าสองชั่วโมง โหลดกระเป๋าวุ่นวาย เดินเข้าประตูนั้นประตูนี้ให้เจ้าหน้าที่ค้นตัว ขึ้นเครื่องไปก็เจอกับพิธีการรุงรังเต็มไปหมด ที่นั่งแคบเหมือนนั่งอยู่ในส้วม จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงชอบขับรถไปต่างจังหวัด แม้จะไกลแสนไกลแค่ไหนก็ตาม
รถกระบะอีซุซุดีแมกซ์อายุสิบปี ระยะไมล์ทะลุสองแสนห้าหมื่นโลฯ แต่ด้วยการดูแลดีเยี่ยมไม่ขาดตกบกพร่อง ในสายตาผมมันยังคงสง่างาม บึกบึน และแรงดีไม่ต่างจากวัวระดับแชมเปี้ยนของพี่ชารีฟ เหยียบคันเร่งในความเร็วสบายๆ เปิดแอร์เย็นๆ คลอเคล้าเพลงเพราะๆ หิว เมื่อย เหนื่อยล้าก็จอดแวะปั๊ม ร้านลาบในเพิงมุงจาก หรือจะแวะตีกะหรี่ที่ตาคลีสักคืนแล้วค่อยเดินทางต่อตอนรุ่งเช้าก็ไม่เลว (ประโยคหลังพูดเล่นนะครับ ! สงสัยอ่านงาน ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มากไปหน่อย 55)
การอยู่คนเดียวหลังพวงมาลัยก็เหมือนการได้ครุ่นคิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ ในหัว เป็นการคุยกับตัวเองที่เพลิดเพลินยิ่งนัก สองตาจ้องมองถนนอันคุ้นเคยที่ผ่านมานับร้อยนับพันเที่ยว คิดถึงความหลังทุกครั้งที่ขับผ่าน ความทรงจำผิดแผกแตกต่างไม่ซ้ำกันเลย แม้จะเป็นถนนเส้นเดิม แต่เวลาเปลี่ยน ความคิดก็เปลี่ยน ประสบการณ์ก็เปลี่ยน แม้แต่คนข้างๆ ก็เปลี่ยน
ในวันหน้าถ้าขับผ่านมาบนถนนเส้นเก่า คนที่นั่งข้างเราวันนี้จะยังเป็นคนเดิมอยู่ไหม ใครจะไปรู้
การขับรถแล้วมีคนรู้ใจอยู่ข้างๆ ก็ดีไปอีกแบบ มันช่วยไม่ให้เหงา ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ว้าวุ่นจนเกินไป แทนที่จะฟังแต่เพลงวนๆ ซ้ำไปซ้ำมา การได้คุยกับคนข้างๆ คือช่วงเวลาแห่งการสนทนาอย่างลึกซึ้งโดยแท้จริง คนหนึ่งพูดระบายสิ่งที่อัดอั้นออกมา อีกคนนั่งฟังอย่างตั้งใจ สลับกันพูดสลับกันฟังถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยกระชับความสัมพันธ์ เคลียร์ปัญหาคาใจ จนเกิดเป็นความเข้าใจในที่สุด (ถ้าโชคดีนะ)
ปีหน้า 2024 ถ้าไม่มีอะไรผิดแผน เป้าหมายแรกของผมคือการขับรถลงไปสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นความต้องการลึกๆ ส่วนตัวที่อยากกลับไปอีกครั้ง หลังจากเคยไป ‘เกรียน’ อยู่ที่ปัตตานีอยู่ช่วงหนึ่งราวปี 2006 ในวันที่คำว่า ‘ไฟใต้’ ปรากฏอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกวัน วันที่ยังเป็นแค่หนุ่มน้อยไฟแรงแต่วู่วามและไร้เดียงสา ผู้กระสันอยากลงพื้นที่เสี่ยงอันตรายเพื่อพิสูจน์ตัวเองในฐานะนักเขียนสารคดี และวันที่การไปสามจังหวัดชายแดนใต้เหมือนกับตอนไปอินเดียคือ “มึงจะไปทำเหี้ยอะไร !”
จวบจนวันนี้หนังสือพิมพ์แทบไม่เหลืออยู่บนแผงแล้ว สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้เริ่มเบาบางจางหายไปจากสื่อแต่ความขัดแย้งที่ซับซ้อนและยาวนานยังคงดำรงอยู่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง จากอายุยี่สิบสองถึงครบสี่สิบบริบูรณ์ ผมก็อยากจะรู้เหมือนกันว่าสามจังหวัดชายแดนใต้จะเปลี่ยนไปแค่ไหนในสายตาและความรู้สึก
5.
‘ออกไปบ้าง’
ชื่อบทความชิ้นนี้ผมเอามาจากชื่อเพลงดังของวง ‘คณะสุเทพฯ’ (Suthep Band)
เป็นเพลงแนว feel good ฟังแล้วฮึกเหิม กระตุ้นให้เราออกเดินทางไปท่องเที่ยวในโลกกว้าง มองน้ำ มองฟ้า เจอผู้คนใหม่ๆ เพื่อค้นหาความหมายและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ แทนที่จะมานั่งเครียด จมอยู่กับตัวเอง ภายใต้บรรยากาศหม่นหมอง
หลายเดือนมานี้ ผมเปิดฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าเวลาขับรถ มันฟินสุดๆ ถ้าเปิดขณะกำลังขับอยู่บนถนนไฮเวย์โล่งๆ ในต่างจังหวัด และจำได้ว่าแทบจะสำเร็จความใคร่หลังพวงมาลัยเลยด้วยซ้ำ ตอนที่กำลังขับรถไต่ไปตามถนนคดเคี้ยวบนดอยอินทนนท์ สองข้างทางเป็นแนวต้นไม้เขียวครึ้ม เบื้องหน้าเป็นท้องฟ้ากว้างสดใส มีคนรักนั่งกุมมืออยู่เคียงข้าง หันไปเบาะหลังมีแมวสามตัวนอนหลับตาพริ้มอยู่ในกระเป๋าใบใหญ่
เวอร์ชั่นที่ผมชอบที่สุดคือเวอร์ชั่นเล่นสดริมถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ทุกคนเมาสุดเหวี่ยง ถอดเสื้อกระโดดโลดเต้น ทั้งนักดนตรีทั้งผู้ชม แล้วพร้อมใจกันแหกปากร้องเพลงนี้ไปด้วยกัน แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวฝรั่งที่ฟังไม่รู้เรื่อง ก็ยังอดไม่ไหวที่จะปล่อยตัวปล่อยใจไปกับเขาด้วย (คลิกดูได้ที่ลิงค์นี้ https://fb.watch/pkYloAjYeK/ )
สำหรับผม นี่คือดนตรีสดที่แม่งสดสมชื่อจริงๆ ดิบเถื่อน จริงใจ และเป็นธรรมชาติ
ถ้าไม่ดูดัดจริตเกินไปนัก ผมอยากอุทิศบทความนี้ให้กับพี่น้องผองเพื่อนทุกคน ทั้งคนที่เบื่อหน่าย หมดไฟ อกหัก ซึมเศร้า อยากออกเดินทาง อยากลาออกจากงาน แม้กระทั่งออกจากเมืองไทย ‘ย้ายประเทศ’ ไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน
ไปเถอะครับ ไปที่ไหนก็ได้ที่อยากไป ที่ไหนก็ได้ที่ทำให้เราสบายใจ ที่ที่เคยคิดเคยฝันไว้ว่าจะไปสักครั้ง จะใกล้หรือไกล จะไปแค่ชั่วคราวหรือไปแล้วไม่หวนกลับมาอีกเลยก็ตาม
ขอให้ทุกคนโชคดี และเดินทางถึงเป้าหมายโดยสวัสดิภาพ
สวัสดีปีใหม่ 2024 ครับ.
เรื่องโดย อินทรชัย พาณิชกุล
เกี่ยวกับนักเขียน : เดียร์ – อินทรชัย พาณิชกุล อดีตคนข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, บรรณาธิการ The Momentum, BrandThink ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ (เจ้าของหนังสือสารคดี ‘อย่าด่าอินเดีย’)