essay

ลูกคนเดียว

“คนที่ตอนเด็กรวย โตไปจะจน คนที่ตอนเด็กจน โตไปจะรวย”

“ไอห่า เงินเดือนพ่อกูไม่ได้เท่าพ่อมึงนะ”

มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวไว้ว่า คนเรารวมกันด้วยความเกลียดมากกว่าความรัก ซึ่งผมเห็นด้วยค่อนข้างมาก

เราเกลียด เรากลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวสูญเสีย กลัวคนอื่นดีกว่า กลัวตัวเองไม่ดีเท่าคนอื่น หรือ ‘กลัวในสิ่งที่ไม่เข้าใจ’ นั่นจึงพัฒนาไปเป็นความเกลียดชังในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และนำไปสู่การสร้างชุดความคิดแห่งความเกลียดโดยการเหมารวม

ราวๆ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เด็กคนหนึ่งเข้าไปศึกษาเล่าเรียนตามการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนประถมฯ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการใกล้บ้าน ตามที่พ่อแม่เลือกให้และเห็นสมควร

“เป็นลูกคนเดียว แบบนี้ต้องเอาแต่ใจแน่ๆ” นี่เป็นคำพูดของครูคนหนึ่งที่ยังอยู่ในใจ

พ่อของผมเป็นหมอ อาชีพที่สังคมไทยให้ความสำคัญ และเป็นอาชีพที่ใครหลายๆ คนอยากเป็น แต่พ่อของผมไม่เคยดูถูกและด้อยค่าอาชีพอื่น ไม่เคยบังคับให้ผมต้องเป็นเหมือนพ่อ และไม่เคยยกตนสูงกว่าใคร

ผมเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่ยังไม่ได้มีพัฒนาการทางอารมณ์และยังอ่อนต่อโลก เป็นคนใจร้อนเรื่องชกต่อยก็มีตามภาษาเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่จะมีปัญหากับ ‘ปาก’ ของคนอื่น 

ด้วยความที่เรียนยังไงก็ไม่เข้าหัว และเป็นคนตั้งคำถามกับระบบการศึกษาที่พอมองย้อนกลับไปเราต้องยอมรับว่ามันล้าหลังจนเกินเยียวยา เคยมีปัญหาถึงขนาดด่าครู ซึ่งถ้าย้อนกลับไปได้ก็คงทำอีก เพราะการกระทำของครูพวกนั้นมันใช้อำนาจจนเกินไป และทำนิสัยที่เรียกว่า ‘ส้นตีน’ ใส่เด็กนักเรียนใต้การปกครอง

เข้าสู่ช่วงประถม 5-6 เริ่มมีปัญหามากทั้งกับครูและเพื่อน มักมีคำพูดเข้าหูว่า

“พ่อแม่ก็ดี ทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้”

“นี่พ่อเป็นถึงหมอนะ ไม่อายเหรอที่ทำตัวแบบนี้”

ผมก็ได้แต่คิดว่า–แล้วมึงข้องใจกับกู ทำไมต้องพูดถึงพ่อกูวะ ?

ทำไมเหรอครับ หมอ ทหาร จิตรกร ครู คนกวาดถนน ก็ล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกันไม่ใช่หรือ ทุกคนมีสิทธิ์ผิดพลาดและเรียนรู้ ทำไมเมื่อผมทำพลาดหรือไม่ถูกใจ คุณต้องเอาเรื่องชาติกำเนิดมาพูด มีอะไรก็มาคุยกันที่การกระทำสิ ไม่พอใจอะไรก็พูดมา กูจะทำอะไร พ่อกูไม่ได้เกี่ยวเว้ย !! 

กูมีสมอง มีความคิดของตัวเอง ที่บ้านมีตังค์ส่งเสียแล้วทำไมวะ พ่อแม่กูไม่เคยสอนให้กูเอาเปรียบใคร กูมีตัวตนของกู พ่อแม่กูให้โอกาสในการหาตัวเอง เขาส่องทางจากประสบการณ์ของเขาเหมือนคบเพลิง และไม่ได้ล่ามโซ่กูเหมือนสัตว์เลี้ยง

ตอนนั้นผมอาจจะยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เจอคืออะไร แต่ก็ทำให้รู้สึกแย่ เป็นต้นกำเนิดของนิสัยที่ไม่ชอบเข้าสังคม เพราะเบื่อหน่ายกับการถูกเหมารวม พอโตขึ้นมาอาจจะไม่ได้โดนพูดตรงๆ เหมือนตอนเป็นเด็ก แต่ก็สังเกตได้จากการกระทำของคนรอบตัว

แต่ตอนนี้ผม ‘ช่างแม่ง’ แล้ว ผมทำในสิ่งที่ผมเชื่อ และผมคิดว่าถูกต้อง

ผมเชื่อว่าพ่อแม่เป็นคนมีปัญญาและสอนผมมาดีในทุกๆ เรื่อง ผมมีเป้าหมาย และความฝันที่ผมต้องเดินด้วยตัวเอง ใครจะคิดยังไง ผมไม่สนใจแล้ว และผมรักพ่อแม่ รักครอบครัวของผม วันหนึ่งเขาต้องภูมิใจในตัวผมและไม่เสียดาย ‘ต้นทุน’ ที่เขาให้ผมมา 

การมี ‘ต้นทุน’ ในชีวิตไม่ใช่เรื่องน่าอาย และเราต้องใช้ต้นทุนนั้นให้คุ้มค่าและมีประโยชน์ที่สุด 

สุดท้ายใครจะคิดอะไร ผมไม่สน ถ้าไม่พอใจก็แค่มาพูดต่อหน้า ล้ำเส้นเมื่อไหร่ก็มาเคลียร์กัน จะด้วยวิธีไหนก็ว่าไป แต่ผมจะไม่เหมารวม ดูถูก หรือเหยียดหยามใครจากการมองเห็น ได้ยิน เพชรในจิตใจต้องดูความสว่างไสวกันอีกนาน และมันเจียระไนได้เสมอ

ผมจะทำเหมือนที่พ่อเคยสอนว่า “เราไม่ชอบอะไร โตไปก็อย่าเป็น และอย่าทำแบบนั้น”.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องโดย Passakorn


เกี่ยวกับผู้เขียน : ‘วินเนอร์’ พัสกร สหชัยรุ่งเรือง นักศึกษาปี 3 คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังสนุกกับการเล่นดนตรีและเขียนเพลง (เดี่ยวและแบนด์) ทดลองฟังผลงานเขาได้ที่เพจ Passakorn

You may also like...