essay

20 ปี 11 เดือน

น่าแปลกที่ทุกวันนี้ไม่ค่อยอยากดูหนัง

ทั้งที่มีหนังหลักร้อยเรื่องอยู่ตรงหน้า แต่กลับขี้เกียจลุ้นว่าจะสนุกหรือเปล่า คุ้มเวลาไหม

เริ่มเลือกกินน้อยลง ไม่ค่อยอยากออกไปข้างนอกในวันหยุด ชีวิตที่สงบของผมคือการได้นอนเต็มอิ่ม ตื่นมากี่โมงก็ได้ ไม่ต้องคิดว่าวันนี้ต้องไปทำอะไรตอนกี่โมง 

หรือเราจะเริ่มเป็นผู้ใหญ่ ความหมายแห่งช่วงวัยอันลึกซึ้งนี้ขยับเข้าใกล้ตัวตนของเราเข้ามาในทุกลมหายใจ

ในช่วงวัยที่กำลังจะจบการศึกษา เหลืออีกหนึ่งปีที่ต้องถูๆ ไถๆ ให้เรียนจบ ผมได้นั่งทบทวนว่าตลอด 20 ปี 11 เดือนที่ผ่านมาผมหมดศรัทธาในสิ่งใด หรือคำพูดใดไปบ้าง

  1. ความยุติธรรม
  2. บาป กรรม
  3. การศึกษา
  4. สื่อกระแสหลัก
  5. ความเข้าใจจากผู้คน
  6. “คนดีไม่มีวันตาย”

นี่เป็นเพียงสิ่งที่คิดออกในเสี้ยววินาที

ตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ ทุกอย่างในสังคมดำเนินไปอย่างไม่น่าอภิรมย์มากขึ้น ข้าวของแพง สาธารณะทรัพย์สินค่อยๆ ทรุดโทรม อากาศเป็นพิษ โรคระบาด ช่างทำให้น่าหมดความหวัง ความรับผิดชอบส่วนหนึ่งผมโทษผู้ใหญ่

เราจะกลายเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราเกลียดตอนเด็กไหม ?

อันนี้ผมคงจะพยายามไม่เป็น 

แต่เด็กในอนาคตจะเกลียดผู้ใหญ่แบบเราไหม ?

เราจะกลายเป็นผู้ใหญ่ดื้อด้าน น่ารำคาญ ถ่วงความเจริญ แบบที่เราเคยมองไหม ?

อันนี้คงพูดยาก เพราะทัศนคติที่เราคิดว่าก้าวหน้าวันหนึ่งมันก็จะเป็นของโบราณ 

สิ่งที่มีประโยชน์ก็อาจกลายเป็นยาพิษได้ ไม่มีใครรู้

ฤดูฝนกำลังคืบคลานเข้ามา คนทำงานเริ่มเดินทางใช้ชีวิตกันลำบาก อากาศร้อนก็ยังไม่หมดไป กับเรื่องประจำวันที่น่าเบื่อหน่ายต้องทำตามระบบ ผมเริ่มปลงกับปัญหาในระดับมหาลัยเพราะสุดท้ายทุกคนไม่ได้มองมันเป็นปัญหาเหมือนเรา เราสู้ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์กับใคร แล้วจะมองว่าเป็นการยอมแพ้ก็คงได้ ผมเริ่มเข้าใจคนรุ่นก่อนที่คิดเหมือนกันแล้วละ ไม่ใช่เพราะเขาไม่พยายาม แต่กำลังของคนคนเดียว ไม่ว่าจะ ‘เยาวชน’ หรือ ‘ผู้ใหญ่’ มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ถ้ายังอยู่ในประเทศที่แสนจะลืมง่าย

‘ลืม’ แม้กระทั่งข่าวสารน่าสลดใจรายวัน

‘ลืม’ สิทธิที่ตัวเองพึงมี หรือบางคนอาจไม่เคยรู้

‘ลืม’ สิทธิของคนอื่นที่ตนควรเคารพ

‘ลืม’ ที่จะเลือกใช้คำพูด

‘ลืม’ ที่จะดูแลโลก

‘ลืม’ ชีวิตของจริง ไม่ใช่ในหน้าจอ

ผมคงไม่อาจพูดว่าความคิดของตัวเองนั้นถูกต้อง คนอื่นควรคิดตาม บทความนี้คงเป็นบันทึกความรู้สึกช่วงหนึ่ง บันทึกหนึ่งที่ผมคิดได้หลังจากลองฝึกนั่งสมาธิมาสองสามวัน

สำหรับบางคน คงคิดว่าคนเขียนโคตรงอแง 

ก็ไม่ว่ากัน

ผมเริ่มไม่เครียด ความเครียดกลายเป็นความปลง เป็นการมองดูอย่างสิ้นยินดี มันอาจมีความรู้สึกในนั้น แต่ผมยังคิดชื่อเรียกมันไม่ออก

โลกนี้ดำเนินไปไม่ใช่เพื่อเรา หรือเพราะเราคนเดียว

แต่ปัจจัยเดียวที่เราสามารถปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงได้คือ ‘ตัวเรา’ ทั้งในแง่จิตใจและร่างกาย 

ใช่, ตัวเรายังคงตอบสนองต่อสิ่งเร้า สิ่งต่างๆ รอบตัวก็มีผลต่อตัวเราในทุกๆ ด้าน เราอาจจะต้านมันไม่ได้ แต่เรารู้เท่าทันมันได้ว่าสิ่งใดทำให้เรายุ่งเหยิง, สิ่งใดทำให้สงบ, สิ่งใดที่มีความหมาย ที่สำคัญ เส้นทางที่เราอยากเดินคือทางไหน

ถ้ามันไม่เป็นตามแผนภาพในหัวได้ เราจะปรับยังไงให้ชีวิตยังพอจะน่าอภิรมย์บ้าง

ในวันที่พร้อมกว่านี้ผมคงแสวงหาตัวตนของเด็กคนนั้นมากขึ้น ตัวตนในวัยเด็กที่โดนขโมยและทำลายจากสังคมสิ่งแวดล้อมรอบข้างมาตลอดหลายปี

ตัวตนที่มี ‘ความรัก’ มากกว่าความเกลียดชัง หรือหวาดระแวง 

ยังดีที่เด็กคนนั้นยังมีชีวิตอยู่รางๆ ในดนตรีและศิลปะ.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องโดย Passakorn


เกี่ยวกับผู้เขียน : ‘วินเนอร์’ พัสกร สหชัยรุ่งเรือง นักศึกษาปี 3 คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังสนุกกับการเล่นดนตรีและเขียนเพลง (เดี่ยวและแบนด์) ทดลองฟังผลงานเขาได้ที่เพจ Passakorn

You may also like...