essay

หมดศรัทธามหาวิทยาลัย

มีทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวไว้ว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิง เมื่อก่อนเราใช้มือเป็นขาหน้าในการเดิน
เมื่อเริ่มวิวัฒนาการทางความคิด มีสมองใหญ่ขึ้น เราจึงต้องการสรีระใหม่ในการเดินให้คล่องตัวกับศรีษะที่หนักขึ้น
เราจึงเปลี่ยนขาหน้าเป็นมือและเดินสองขา
เผ่าพันธุ์มนุษย์เคลื่อนไหวได้ช้าลง แต่มีพลังทางความคิดมากขึ้น

ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ตั้งใจเรียน มีเหตุผลที่คิดออกคือไม่ชอบครู และไม่ชอบเนื้อหาวิชาการ
มีคำพูดที่ครูมักพูดกับเด็กนักเรียนว่า
“ถ้าโง่ขนาดนี้แล้วไม่อยากเรียนอีก ก็ลาออกไปเลี้ยงควาย”

คนเลี้ยงควายโง่ยังไง ?
เลี้ยงควายมันง่ายหรือ ?
เลี้ยงควายมีต้นทุนเท่าไหร่ ?

ผมได้แต่สงสัยในตอนนั้น คนที่ไม่เรียนในห้องควรโดนตีตราว่าโง่หรือ ทั้งที่นอกห้องเรียนมีความรู้อยู่มากมาย
ทำไมเราไม่ได้เล่าเรียนวรรณกรรมของประชาชน ?

ก่อนที่จะรู้จัก ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ผมไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าวรรณกรรมของ ‘คนไทย’ นั้นมีเสน่ห์เพียงนี้ มีวรรณกรรมที่สะท้อนเรื่องราวแห่งยุคสมัย สะท้อนความคิดและวิถีชีวิตของประชาชนในแต่ละยุค แต่ละพื้นที่ แต่การศึกษาไทยกลับอยากให้เด็กรู้จักแค่ ‘สุนทรภู่’

นี่เป็นเพียงแค่ช่วงหนึ่งในชีวิตการศึกษาของผมที่ผ่านมา
ทำไมผมถึงไม่ชอบเรียน ?

เคยพยายามชอบมาหลายครั้งแล้วครับในช่วงเปลี่ยนผ่านวัยเช่น ประถม-มัธยม
มัธยม-มหาลัย ก็หวังว่าจะเจออะไรที่ดีขึ้น
แต่ก็ได้แต่ผิดหวังทุกครั้งไป

ในการศึกษาดนตรี มีคำกล่าวกันว่า
“ดนตรีคลาสสิคคือรากฐานของดนตรีทุกอย่าง”

ใช่ครับ ทฤษฎีคลาสสิคนั้นนักศึกษาดนตรีควรต้องรู้ไว้
แต่จะมาบอกว่าดนตรีแขนงไหนคือรากฐานของดนตรีทุกอย่างนั้นเท่ากับว่าคุณไม่ได้ให้เกียรติดนตรีสักแขนงเลย

ดนตรีและศิลปะทุกแขนงนั้นสะท้อนเรื่องราวของบุคคลต่างเผ่าพันธุ์ ต่างยุคสมัย ต่างบริบททางสังคม จะมาพูดว่าคนตะวันตกกำเนิดรากฐานดนตรีทุกอย่างในโลกนั้นผมว่ามันไม่ถูกต้องนัก

โลกของเราบอบช้ำกับแนวคิดนี้มานานขนาดไหน แนวคิดที่ว่าคนเผ่าพันธุ์หนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งฉลาดที่สุด มีสิทธิ์เป็นผู้กำหนดทุกอย่าง ชี้ถูกผิดทุกอย่าง เพียงเพราะเขาเขียนตำรามาก่อน

อาจารย์ที่พูดอย่างนี้อาจจะแต่เพียงอยากให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการเรียนก็ได้ จึงต้องสร้างวาทกรรมจอมปลอมขึ้นมา แต่การศึกษาควรเปิดโลก ไม่ใช่ปิดโลกสิครับ การศึกษาควรทำให้เรามองทุกอย่างรอบตัวเป็นความรู้และสอนให้เราตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ไม่ใช่สอนว่าอะไรถูกผิด อะไรคือความรู้ แล้วทำให้เด็กพัฒนาแต่อีโก้ว่าตัวเองเรียนมา ผมว่ามันไร้ประโยชน์

“การศึกษาต้องทำให้โลกกว้างขึ้น มิใช่แคบลง”

ปัจจุบันผมเรียกได้ว่าผมหมดศรัทธากับการศึกษาจริงๆ ครับ ผมเข้าใจได้แล้วว่าระบบต่างๆ (โดยเฉพาะในไทย) ไม่เคยพัฒนาเพื่อผู้เรียนเลย เพราะเขาไม่เคยเอาผู้เรียนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว
ผู้เขียนหลักสูตร เขียนหลักสูตรเพื่อให้พวกเขาประเมินผลได้ง่าย และมีวาทกรรมลวงโลกมากมาย ตัวชี้วัดต่างๆ มีเพื่อให้เขาสำเร็จความใคร่ทางชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นในนามสถาบันหรือในนามส่วนตัว

นักเรียน นักศึกษา ทำอะไรได้บ้าง ?

มีสิ่งที่ผมอยากจะพูดกับคุณ คนหนุ่มสาววัยศึกษาเล่าเรียน
อย่างแรกคืออย่าลืมว่าระบบการศึกษานั้นต้องรับใช้เรา ต้องทำให้เราสะดวกต่อการเติบโตทางความรู้ มิใช่บังคับล่ามโซ่ บังคับให้เราเชิดชูหรือเป็นฟันเฟืองในระบบซะเอง เราไม่ควรต้องทำเหมือนภาครัฐหรือโรงเรียนมีบุญคุณต่อเรา เพราะมันคือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรต้องได้รับการศึกษา

อย่างที่สอง ถ้าวันนี้เราทุกคนต้องเป็นฟันเฟือง เราต่างรู้ว่ามันไม่ยุติธรรม แต่ละคนอาจจะเจอมามากน้อยไม่เท่ากัน แต่ผมรู้ว่าในใจลึกๆ ถ้าคุณยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ คุณจะมองมันว่าถูกต้องไม่ได้หรอก เราควรต้องช่วยกันแก้ไขเท่าที่จะทำได้ ทั้งเพื่อตัวเองและเยาวชนในอนาคต ฟังเฟืองเป็นหมื่นตัวหยุดทำงานพร้อมกันมันคงต้องสร้างผลกระทบได้บ้าง

อย่างที่สามคือเราควรมีองค์กรนักเรียนนักศึกษาที่เหนียวแน่น เพื่อต่อรองกับผู้ที่มีอำนาจ ในเมื่อเราเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบการศึกษาหรืออาจเรียกได้ว่า ‘ธุรกิจการศึกษา’ ในปัจจุบัน เราควรต้องมีเสียงอำนาจเพื่อต่อรอง ไม่ใช่ยอมเป็นแกะที่โดนต้อนไปตามกันเป็นฝูงมาตลอด

การนัดหยุดเรียนประท้วงควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และควรเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ

บทความนี้จะเป็นบันทึกที่เกิดจากข้อเท็จจริงและประสบการณ์ส่วนตัวมารวมกัน แต่การเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดไม่ได้จากแรงคนคนเดียว ผมเพียงแต่ทำเท่าที่ทำไหว

สุดท้ายผมมองว่าทั้งชีวิตคือการเรียนรู้ ถ้าเรามีใจอยากจะเรียนรู้ อย่าให้ระบบการศึกษาบั่นทอนเราจาก ‘การศึกษา’จริงๆ ที่เราสร้างให้ตัวเองได้เสมอตลอดทุกช่วงวัย

ปล. ขอบคุณอาจารย์ที่ดีทุกท่านในชีวิต แม้จะมีไม่มาก แต่อาจารย์เหล่านี้ทำให้ผมเข้าใจความหมายของคำว่า ‘การเรียนรู้’ ในวิธีที่ควรจะเป็น.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องโดย Passakorn


เกี่ยวกับผู้เขียน : ‘วินเนอร์’ พัสกร สหชัยรุ่งเรือง นักศึกษาปี 4 คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังสนุกกับการเล่นดนตรีและเขียนเพลง (เดี่ยวและแบนด์) ทดลองฟังผลงานเขาได้ที่เพจ Passakorn

You may also like...