วันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1938 มีคอนเสิร์ต From Spirituals to Swing ณ Carnegie hall ในนคร New York
จุดประสงค์ของผู้จัดงานคือการนำดนตรีตั้งแต่รากของแจ๊ส จนถึงแนวแจ๊สในปัจจุบัน (ปัจจุบันในขณะนั้นคือปี 1938) มาให้ผู้ฟังได้เสพ ได้รับรู้ความเป็นมา
ศิลปินในไลน์อัพ เช่น The Count Basie Orchestra, Sister Rosetta Tharpe, Sonny Terry
ในช่วงหนึ่งของการแสดง John Hammond ผู้จัดงานได้นำแผ่นเสียงของ Robert Johnson ขึ้นไปเปิดโดยวางเครื่องเล่นแผ่นเสียงไว้บนเวที ผู้คนปรบมือ โห่ร้อง บทเพลง Delta Blues ของโรเบิร์ตดังก้องเข้าไปถึงในจิตใจของผู้ชม
แต่น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตไปก่อนงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ประมาณ 6 เดือน
มีคำกล่าวประมาณว่า
“ไม่มีใครเล่นดนตรีบลูส์ได้เหมือนคนผิวสีใน Mississippi เพราะบลูส์อยู่ในตัวพวกเขาอยู่แล้ว”
Robert Johnson เกิดปี ค.ศ. 1911 ที่เมือง Harzelhurst รัฐ Mississippi สหรัฐอเมริกา
ในทศวรรษ 1910 – 1920 รัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกายังมีการเหยียดสีผิวค่อนข้างรุนแรง แม้แต่คนผิวสีที่มีฐานะก็โดนกลั่นแกล้งและทำร้ายได้ง่ายๆ ด้วยกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่คนผิวขาว
โรเบิร์ตเติบโตมาด้วยการเป็นคนงานในไร่ คนงานผิวสีในตอนนั้นไม่มีแม้แต่วิทยุ มีกฎห้ามผิวปากร้องเพลงระหว่างทำงาน โอกาสในการฟังดนตรีผ่อนคลายมีแค่ประมาณ 1 วันต่อสัปดาห์ ที่จะมีนักดนตรีมาบรรเลงในไร่
บลูส์ในยุคนั้นไม่ได้รับการยอมรับมากนักจากทั้งคนขาวและคนผิวสี มีคำกล่าวหาว่านี่คือดนตรีของ ‘ปีศาจ’
ชีวิตของโรเบิร์ตดำเนินไปด้วยความรู้สึกของการเป็นคนแปลกแยก เขาเริ่มตระเวนเล่นดนตรีตามเมืองต่างๆ ตั้งแต่อายุ 20
มีอยู่ช่วงหนึ่งปีที่เขาหายไปและกลับมาด้วยฝีมือที่เก่งกาจแบบที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนได้ จนมีตำนานกล่าวไว้ว่าเขาได้ ‘ขายวิญญาณให้กับปีศาจ’ เพื่อแลกกับฝีมือในการเล่นดนตรี
Robert Johnson เสียชีวิตในวัย 27 ปี มีผลงานบันทึกเสียงทั้งหมด 29 เพลง บทเพลงของโรเบิร์ตมีอิทธิพลต่อศิลปิน Blues ในยุคถัดมาและถือเป็นรากเหง้าของดนตรี Rock n Roll
“ถ้าผมไม่ได้ฟังแผ่นเสียงของ Robert Johnson ในวันนั้น เนื้อเพลงหลายๆ เพลงของผมคงไม่ได้ถูกเขียนออกมา” Bob Dylan ให้ข้อมูล
กับตัวเอง แม้ผมจะห่างไกลจากโรเบิร์ตค่อนข้างมาก เขาเป็นศิลปินที่ผมเคยเห็นรูปถ่ายเพียงแค่สองรูป และแทบไม่มีฟุตเทจหรือวิดีโอให้ชม ทว่าเสียงร้อง เสียงกีตาร์ ดนตรีจากโรเบิร์ตสำหรับผมมันสะท้อนวิถีชีวิต สะท้อนบรรยากาศสังคมกลิ่นอาย หรือแม้แต่สภาพอากาศของชีวิตคนผิวสีในยุคนั้นได้อย่างสมบูรณ์
เขาเป็นต้นแบบในการสื่อสารผ่านเสียงเพลง
ผมไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเข้าใจชีวิตคนผิวสี ผมเพียงชอบศึกษาดนตรี ศิลปะ และประวัติศาสตร์
ชีวิตของโรเบิร์ตเป็นแรงบันดาลใจให้ผมในแง่ที่ว่าเป้าหมายหลักของชีวิตคือการสร้างสรรค์เสียงเพลง
‘ขายวิญญาณ’ อาจเป็นคำเปรียบเทียบกับการเสียสละบางอย่างเพื่อให้ได้เป็นคนที่ตนอยากจะเป็น เพื่อมีความสามารถจนเรายอมรับตัวเองได้ในโลกที่ไม่มีใครยอมรับเรา
ในการทำดนตรีของผมสุดท้ายคงอยากให้มันสำเร็จ ทำเป็นอาชีพหลักได้ แต่ถ้ามันไม่ได้ ก็ไม่อยากขายอุดมการณ์ไปเสิร์ฟทุนนิยม อยากให้ดนตรีของผมเป็นการ ‘พูด’ จริงๆ อาจจะทั้งพูดเพื่อตัวเอง หรือพูดเพื่อสังคม สื่อสารแทนความรู้สึกแทนผู้คนได้เหมือนดั่งดนตรีของโรเบิร์ต
ให้ดนตรีของผมมันทำหน้าที่ของมัน ดั่งที่ผมมักพูดเสมอว่า “เล่นดนตรีเพื่อต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเกลียด”
ดนตรีและศิลปะเป็นทั้งสิ่งที่จรรโลงใจ และเป็นอาวุธได้ในขณะเดียวกัน
เป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้ด้วยความงาม ส่งเสริมความเชื่อ ส่งเสริมแรงใจ สร้างความภูมิใจและความหวังได้
ทำให้คนไม่หยุดที่จะจินตนาการถึงชีวิตที่ดีขึ้น เป็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับความเศร้าหมองในจิตใจ
วันไหนที่ผมพอจะมีเงินมีเวลาได้ออกไปนั่งฟังวงดนตรีเล่นเพลงบลูส์ มันเหมือนการได้ไปสัมผัสแก่นแท้ของจิตวิญญาณ ที่ช่างหาได้ยากในชีวิตปัจจุบัน
“ยอมรับในตัวตนของตัวเอง อยู่กับมัน และอย่ากลัวที่จะแปลกแยก” เป็นสิ่งสำคัญที่ดนตรีบลูส์ได้สอนผม
คำสอนนี้ใช้ได้เสมอ เราทุกคนมีความเป็นปัจเจกในตัว อย่าปล่อยให้ทัศนคติหลักของสังคม หรือกระแสสังคมกลืนกินตัวตนของเรา อย่าหยุดที่จะมีความเชื่อเป็นของตัวเอง ความเชื่อนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร และเราสามารถถ่ายทอดมันได้ผ่านสิ่งที่ตนเองถนัด
สำหรับผม บลูส์เป็นมากกว่าดนตรี มันคือศิลปะในการใช้ชีวิต ศิลปะที่ไม่จำกัดไว้ให้คนกลุ่มใดหรือชนชาติใด.
.
ขอขอบคุณข้อมูลจากสารคดี Devil at the Crossroads, หนังสือ A Little History of the United States
เรื่องโดย Passakorn
เกี่ยวกับผู้เขียน : ‘วินเนอร์’ พัสกร สหชัยรุ่งเรือง นักศึกษาปี 3 (กำลังจะขึ้นปีสี่) คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังสนุกกับการเล่นดนตรีและเขียนเพลง (เดี่ยวและแบนด์) ทดลองฟังผลงานเขาได้ที่เพจ Passakorn