essay

Now and Then 

พอล แมคคารท์นีย์ บอกว่า “ในวันที่สูญเสียจอห์นไป เรารู้ว่าทุกอย่างมันจบลงแล้ว”

ใช่, เมื่อได้รับรู้ข่าวว่า The Beatles วงดนตรีที่ผมรักและชื่นชอบ จะมีกำหนดการปล่อยเพลงสุดท้าย Now and Then ในปีนี้ ความรู้สึกของผมปะปนไปด้วยความดีใจ ตื้นตัน และใจหายในเวลาเดียวกัน

การจากไปอย่างกะทันหันของ จอห์น เลนนอน ในปี 1980 สร้างความเศร้าเสียใจให้แก่แฟนคลับทั้งในยุคนั้นและเวลาถัดมา แต่มันคงเทียบกันไม่ได้เลยกับความเสียใจของ ‘เพื่อน’ เพราะพวกเขาทั้งสี่เติบโตมาด้วยกัน

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความเมื่อปีที่แล้ว ว่าช่วงเวลาที่ ‘สี่เต่าทอง’ ร่วมสร้างสรรค์ดนตรีและเดินทางร่วมกันมันไม่เคยหายไปไหน หากมันจะฉายวนซ้ำๆ ในจิตใจของแฟนเพลงเสมอ และสำหรับสมาชิกวงก็คงเป็นเช่นนั้น 

ในช่วงปี 1995 สมาชิกที่เหลืออยู่ของ The Beatles ประกอบไปด้วย พอล แมคคารท์นีย์, ริงโก้สตาร์ และ จอร์จ แฮร์ริสัน มีโอกาสได้เข้าสตูดิโอด้วยกันอีกครั้งเพื่อสร้างสรรค์บทเพลงโดยมีวัตถุดิบจากเทปเดโม่ของ จอห์น เลนนอน ที่อัดไว้ในช่วงปี 1970-1980 ขณะที่เขาอาศัยอยู่ New York กับครอบครัว 

Free as a Bird ถูกปล่อยออกมาในปี 1995 ตามด้วย Real Love ในปี 1996

Now and Then ในวันนั้นยังไม่สำเร็จด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่ไม่สามารถแยกเสียงร้องของ จอห์น เลนนอน ออกจากเทปเดโม่ได้ดีอย่างที่ควร โปรเจ็กต์จึงถูกหยุดไว้ที่ตรงนั้นเพื่อรอวันที่จะหาทางได้ 

แต่เวลาและสังขารมนุษย์ไม่อาจหยุดรอคอย

ในปี 2001 จอร์จ แฮร์ริสัน ในวัย 58 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่นำความเศร้ามาสู่แฟนเพลง และ ‘เพื่อน’ ผู้ร่วมชีวิตกันมา

เทคโนโลยีหลังยุค 2000 พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปี 2021 สารคดีชุด Get back ปล่อยออกมาสู่สายตาแฟนเพลง

มันเป็นเหมือนของขวัญที่เหล่าแฟนคลับสี่เต่าทองไม่คาดคิดว่าจะได้รับ รวมถึงนักศึกษาดนตรีในเมืองไทยคนหนึ่ง ฟุตเทจในสารคดีที่ผมดูซ้ำไปซ้ำมาเกือบสี่รอบสร้างแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้กับผม ทั้งในแง่ดนตรีและการใช้ชีวิต 

Now and Then สานต่อโปรเจ็กต์ในปี 2022 และในที่สุดก็ถูกปล่อยออกมาในปีนี้

นี่เป็นเหมือนคำขอบคุณและคำบอกลาที่มอบให้กัน 

จาก ‘เพื่อน’ ถึง ‘เพื่อน’

จาก ‘ศิลปิน’ สู่ ‘แฟนเพลง’

“I know it’s true
It’s all because of you
And if I make it through
It’s all because of you”

เนื้อเพลงส่วนหนึ่งจากเพลง Now and Then

ครั้งแรกที่ผมได้ฟังเพลงนี้และรับชมคลิปเบื้องหลัง มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก 

ผมรู้สึก ‘ดีใจ’ ที่ได้ฟังเพลงใหม่จากวงดนตรีที่รัก ‘ตื้นตัน’ ที่ได้เห็นฉากจบของเรื่องราวอันสวยงาม และ ‘ใจหาย’ ในเวลาเดียวกันที่เพลงนี้คงจะเป็นบทเพลงสุดท้ายแล้วจริงๆ

ถ้าพูดในมุมของดนตรีแล้วบทเพลงนี้มันช่างสมบูรณ์และถ่ายทอด DNA ของ The Beatles อยู่อย่างไม่ผิดเพี้ยน เขาทั้งสี่สร้างสรรค์บทเพลงนี้ด้วยความรักร่วมกัน แม้จะเป็นต่างช่วงเวลา

ในมุมของแฟนคลับ สิ่งที่อยากจะพูดกลับไปมีแต่คำว่า “ขอบคุณ”

“ขอบคุณ” ที่ดนตรีของคุณทำให้ผมมองโลกใบนี้อย่างสวยงามขึ้น “ขอบคุณ” ที่มอบความหวังให้กับชีวิตในวันที่คิดจะยอมแพ้

ความอาลัยต่อช่วงเวลาอันสวยงามที่เคยผ่านมาล้วนเกิดในใจของทุกคน ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม แต่ message หลักของผลงาน The Beatles ที่ผมได้เรียนรู้คงจะเป็น “จงใช้ชีวิตด้วยความรัก อย่าลืมมอบความรักให้ตัวเอง และแบ่งปันแก่ผู้อื่น”

ไม่ว่าจะเพลงเมื่อยุค 1960’s หรือเพลงที่ปล่อยออกมาในยุคหลังจากนั้น ผลงานของพวกเขายังอบอวลไปด้วยความรักที่ได้มอบให้โลกนี้อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

นี่คือความสวยงามของดนตรีและศิลปะ ไม่ว่าผลงานจะผ่านมาแล้วกี่ปี ไม่ว่าผู้สร้างจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ แต่ดนตรีและศิลปะจรรโลงและเยียวยาจิตใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี และมีผู้คนใหม่ๆ เจนเนอเรชั่นต่อไปที่จะได้รับคุณค่าของสิ่งนี้อยู่เสมอ

ขอบคุณสี่เต่าทองและทีมงานผู้เกี่ยวข้องทุกคน ในทุกช่วงเวลา 

จากส่วนลึกของจิตใจ.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องโดย Passakorn


เกี่ยวกับผู้เขียน : ‘วินเนอร์’ พัสกร สหชัยรุ่งเรือง นักศึกษาปี 4 คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังสนุกกับการเล่นดนตรีและเขียนเพลง (เดี่ยวและแบนด์) ทดลองฟังผลงานเขาได้ที่เพจ Passakorn

You may also like...