essay

ตาม ‘ตะวัน วัตุยา’ ไปหาความล้มเหลวใหม่ๆ

หลายเดือน, หลายปี, ในชีวิตช่วงหนึ่ง ผมเจอ ตะวัน วัตุยา บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเวลากลางคืน และส่วนใหญ่ที่ว่าก็มักนั่งดื่ม ซึ่งถ้าเป็นที่บ้าน ดื่มสักพักเขาจะขอตัวไปเขียนรูป

วันคืนช่วงนั้นวนเวียนอยู่เช่นนั้น ดึกๆ นึกอะไรไม่ออก ทางออกของผมคือไปหาเขา

วันที่เพื่อนกวีถูกยิง โลกทั้งใบคล้ายมืดสนิท แต่ประตูบ้านตะวันเปิดโอบกอดต้อนรับ

ผมรู้จักเขาจากการไปสัมภาษณ์ ใช่, จากการทำงาน เห็นผลงานของเขาแล้วอยากคุยด้วย และถัดมาก็เลยเถิด เคยตามเขาไปปารีส-บูดาเปสต์, ไปเรือนอินทร์ เพื่อเสวนาคารวะ สุจิตต์ วงษ์เทศ, เคยไหว้วานใช้งานเขาเขียนรูปปกหนังสือหลายเล่ม เช่น โปสต์การ์ดจากทับแก้ว, ทางโลก และ ความมืดกลางแสงแดด, เคยสัมภาษณ์เขายาวๆ ลงนิตยสาร IMAGE, เคยร่วมจัดเวทีแลกเปลี่ยนกับคนหนุ่มสาว, ชวนมาเขียนหนังสือ, เขียนภาพประกอบใน WRITER ยุค บินหลา สันกาลาคีรี ฯลฯ

แล้วเราก็จากกันไปนานปี ครั้งหลังสุด บังเอิญพบกันในม็อบ ‘แบม-ตะวัน’ หน้าหอศิลป์กรุงเทพ ถัดมาอีกวัน เขาพาไปชมเซ็กซ์มิวเซียมที่พัฒน์พงศ์ ไม่ว่าผ่านไปกี่ปี เขายังเป็นผู้ให้ เป็นผู้เปิดโลกใหม่ๆ เสมอ

ไม่ว่าผ่านไปกี่ปี พลังความหลงใหลในศิลปะไม่เคยลดลง ผมชอบแนวคิด ‘ไปหาความล้มเหลวใหม่ๆ’ ของเขามาก ชอบความกล้าหาญในการเดินไปข้างหน้า ราวสิบปีก่อนผมเคยเขียนความเรียงชิ้นหนึ่งถึงเรื่องนี้

เดือนหน้า ตะวัน วัตุยา จะไปจีน

ศิลปินหนุ่มเจ้าของเส้นสีและเนื้อหาฉูดฉาด ท้าทายขนบ มีโปรแกรมแสดงเดี่ยวที่ 798 ภายในปีนี้ เขาใช้วิธีบังคับตัวเอง โดยจะบินไปทำงานที่ปักกิ่งเป็นเวลาสามเดือน บรรลุผลหรือเสร็จเร็วก็อาจกลับก่อนกำหนด แต่เบื้องต้นตั้งใจไว้แบบนี้ คือโยนชีวิตลงไปแลก เลือกในเส้นทางที่ไม่เปิดโอกาสให้เลือก เหยาะแหยะไม่ได้ ผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้ เสียเงินและตัดสินใจไปแล้วมีทางเดียวคือต้องลุย

ภาษานักเลงโบราณก็น่าจะประมาณ ‘ทุบหม้อข้าว’ ไม่หันหลังอาลัยอดีต หรือมัวยึดติดปัจจุบัน

เป้าหมายชัดเจนแล้วเดินหน้าอย่างเดียว

หากเป็นหญิงสาว จีนกำลังสวยสะพรั่ง เป็นตลาดใหม่ของโลกที่มาแรงและมีอัตราการเติบโตสูงสุด

เป็นที่รู้กันว่าปารีสคือศูนย์กลางของศิลปะเมื่อร้อยปีที่แล้ว ก่อนจะย้ายไปปักหลักในอเมริกาหลายสิบปี และในนาทีนี้จีนก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของโลกอย่างชนิดอะไรก็หยุดไม่อยู่ กำลังซื้ออยู่ที่นี่ ทุนใหม่อยู่ที่นี่ กระทั่งศิลปินรุ่นใหม่ๆ ของจีนเองก็ขายได้ราคาว่ากันที่หลักร้อยล้าน หลายชิ้นงานเริ่มกลายเป็นต้นแบบให้นักเรียนศิลปะในอาเชียนแกะรอย

เมื่อก่อนด่าจีนว่าลอกฝรั่ง ตอนนี้เราลอกจีน

จีนโดดเด่นโดยภาพรวมและความกว้างใหญ่ของตลาดศิลปะ แต่ถ้าเจาะจงลงไปเป็นเรื่องๆ อย่างงานอาร์ตแฟร์ ตะวันบอกว่าจีนก็ยังสู้สิงคโปร์และฮ่องกงไม่ได้ สองประเทศนี้แทบไม่มีทรัพยากร แต่การจัดการเยี่ยมยอด เดินเข้าไปไม่เคยมีความรู้สึกยี้ หรือเลือกงานของศิลปินคนนี้มาได้อย่างไร

“ที่จีนยังมีนะที่หลุดๆ เข้ามา แต่ที่สิงคโปร์นี่เข้าไป บางทียังแอบนึกว่าของเรากระจอกสุดหรือเปล่าวะ”

อาร์ตแฟร์ที่สิงคโปร์ชัดเจนว่าเน้นค้าขาย เขาจัดเวลาให้อาร์ตคอลเล็กเตอร์เข้าไปชมก่อน ตามด้วยสื่อมวลชน และรุ่งขึ้นอีกวันถึงเป็นคิวของบุคคลทั่วไป

แม้จะเคยไปโซโลมาแล้วที่ญี่ปุ่น เบลเยี่ยมและฝรั่งเศส ตะวันบอกว่าการไปโชว์เดี่ยวที่จีนครั้งนี้นับว่าเป็นไฟต์สำคัญ ด้วยสถานที่และบรรยากาศทางศิลปะที่เป็นเทรนด์ของโลกนั้นอย่างหนึ่ง และสอง, เขาเพิ่งจะทิ้งสีน้ำ หันมาเอาดีกับสีน้ำมันเมื่อไม่นาน

จากกระดาษสู่แคนวาส จากความบอบบางพลิ้วไหวมาสู่อะไรที่เข้มข้นเป็นเนื้อเป็นหนังมากขึ้น ด้วยวิธีคิดท้าทายตัวเองว่าไปหาความล้มเหลวใหม่ๆ เขาใช้เวลาไม่นานก็สามารถปรับตัวและเข้าใจ ไม่มีอะไรน่ากังวลเลย ช่วงนี้นับเป็นวันเวลาที่ดีของชีวิต เขาเขียนรูปได้ทุกวัน

‘ได้’ ในความหมายน่าพึงพอใจ ได้ดั่งใจ งานสีน้ำมันขนาดสองเมตร ตะวันเอามันอยู่ภายในคืนเดียว กลางคืนเท่านั้นที่จินตนาการตะวันเจิดจ้าฉายแสง

ใช่, เขาเป็นพวกค้างคาวไฟ ถ้ายังไม่ถึงเที่ยงคืนคล้ายมือไม้มันแข็ง

เริ่มงานห้าทุ่มหรือสองยาม แล้วไปเลิกราวตีสี่ตีห้า

ผีสางนางไม้มาช่วยวาดหรือเปล่าไม่รู้ เพราะดูเขาทำงานไปไม่นานผมก็จะหลับ พอตื่นมาภาพทั้งภาพปรากฏเต็มเฟรม มองหาเจ้าของผลงานก็เหมือนเดิมคือนอนสลบอยู่บนเตียง ผมแวะมาพูดคุยและดูเขาเขียนรูปหลายครั้ง เข้าใจว่าเราไม่เคยเจอกันตอนเช้าเลย ส่วนใหญ่ผมน่าจะหมดสภาพไปไม่เกินตีหนึ่งซึ่งนั่นเขาเพิ่งเริ่มงานได้ไม่นาน พอผมตื่น เขาคงเพิ่งวางพู่กันและปิดไฟนอนไปไม่นานเช่นกัน

เหมือนกับเช้านี้ ผมตื่นเจ็ดโมงครึ่ง แวบแรกก็ถามตัวเองเหมือนเคยว่าที่นี่ที่ไหน

กลิ่นสีอบอวลบางๆ ดึงสติกลับมารวดเร็ว หันไปมองภาพสองภาพที่ตะวันวาดเมื่อคืน งดงามอร้าอร่ามสมบูรณ์ ลายเซ็นตรงมุมขวาใต้ภาพอธิบายว่าเขาจบมันได้แล้ว

จบในคืนเดียว ภาษามังกรโบราณอาจเปรียบเปรยว่าจบด้วยกระบี่เพลงเดียว

ผมยืนสงบนิ่งหน้าภาพ มองรอยยิ้มและสรีระอวบอิ่มของหญิงสาว ผมเห็นเธอทั้งคู่ตอนยังเป็นเส้นไม่กี่เส้น ตื่นมาเธอกลายเป็นคนที่มีเลือดเนื้อนุ่มนิ่มน่าสัมผัส

หญิงสาวเปล่าเปลือยส่งยิ้มมาจากหลังเบาะมอเตอร์ไซค์ ใกล้ๆ กันเป็นภาพชายหนุ่มสี่คนยืนเรียงกันโดยมีสองสาวก้มลงไปทำท่าจะจับตรงนั้นของไอ้หนุ่มคนหนึ่ง ทุกคนไม่ได้สวมเสื้อผ้า

ยอดนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส เอมมานูเอล เปอตี พิงผนังอยู่อีกทาง ภาพนี้เขาเขียนให้ไรท์เตอร์ ใครติดตามนิตยสารนี้มาตั้งแต่แรกคงพอนึกออกว่า หากนักเขียนคือ อุรุดา โควินท์ ฝันถึงใคร ตะวันทำหน้าที่เขียนรูปชายคนนั้น

ภาพอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มีสองชิ้น วาดโดยยึดแบบจากปก ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ภาพหนึ่ง และอีกภาพเป็นแฟ้มไฟล์เก่าที่เขาค้นหามาจากอินเทอร์เน็ต นี่เป็นงานตามคำขออีกเช่นกัน ผมต้องการใช้เป็นปกหนังสือ ‘ความมืดกลางแสงแดด’ และเขาจัดให้ภายในสองวัน และมีสองแบบให้เลือก

ส่วนภาพสาวน้อยในเฟรมใกล้กันนั้นเข้าใจว่าเป็นใครสักคนที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต

งานหลายชิ้นของเขาเกิดจากความคิดถึง ความรักมีพลัง แต่บางทีพลังก็ไม่มีเหตุผลซับซ้อนมากไปกว่าการนอนไม่หลับ เมื่อไม่หลับก็ลุกขึ้นมาทำงาน

นอกจากสีและพู่กัน อุปกรณ์การทำงานของเขาคือเสียงเพลง เพลงอะไรก็ได้ ขอให้ผ่านกาลเวลามาสักระยะ

เช้านี้เพลงเงียบหายไปแล้ว กล่องไวน์แดงขนาดห้าลิตรถูกยกย้ายไปวางไว้มุมห้อง เบียร์ซื้อมาสี่ เปิดไปแค่สาม อีกขวดยืนสงบเงียบอยู่ใต้โต๊ะติดถังน้ำแข็ง แก้วบนโต๊ะใบหนึ่งยังมีของเหลวสีเหลืองอยู่เกือบครึ่ง แค็บหมูหมดเกลี้ยง ถั่วเหลืองเกือบเต็มถุง ชามก๋วยเตี๋ยวยกไปคืนแม่ค้าตั้งแต่เมื่อคืน

แดดแรงแต่เช้า นานๆ มีเสียงมอเตอร์ไซค์วิ่งเข้าซอย ไฟดับทุกดวง แต่แอร์ยังเย็น ซองบุหรี่ยับยู่ยี่

ผมถือแก้วไวน์ที่เปลี่ยนมาใส่เบียร์ไปเททิ้งในอ่าง ว่าจะล้าง แต่เปลี่ยนใจแช่ไว้ในซิงค์

เดินกลับมาพลิกดูภาพที่ตะวันปรินต์ไว้เป็นแบบวาดรูป ส่วนใหญ่เป็นภาพโป๊เปลือยยุคโบราณ และค่อนไปทางแฟนตาซี

บางภาพเขาวาดตามแบบเป๊ะๆ และบางภาพก็เลือกตัดและเติมบางสิ่งบางอย่างเข้าไป

อยากใส่อะไรก็ใส่ งานของเขาไม่เน้นเล่าเรื่องหรือบอกอะไรมาก ไม่ว่าเขียนรูปอะไรย่อมมีความหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่ต้องพยายามอธิบายความให้เยิ่นเย้อ

“Painting คือการวางสีลงไปบนแคนวาส” ตะวันบอกนิยามงานของเขา และย้ำว่ามีเท่านั้นเองจริงๆ

เขากำลังสนุกกับการเขียนรูป ถ้ามีสตูดิโอกว้างใหญ่จะสั่งเฟรมมาเป็นร้อย ใส่รถหกล้อมาเลย เขามั่นใจมากกว่าอย่างไรก็ใช้หมด แต่มีพื้นที่แค่นี้ก็ค่อยเป็นค่อยไป

แค่นี้ที่ว่าเป็นพื้นที่อุปถัมภ์ของเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักสะสมศิลปะ มันเป็นบ้านโล่งๆ ยังไม่มีคนเช่า เจ้าของเลยยกให้เป็นสตูดิโอชั่วคราว สรุปว่านอกจากเอื้อเฟื้อที่อยู่ ชายนิรนามคนดังกล่าวยังอนุเคราะห์ที่ทำงานให้ด้วย โดยตะวันจ่ายค่าตอบแทนเป็นภาพเขียนซึ่งบวกลบราคาแล้ว ทั้งอพาร์ทเมนต์และสตูดิโอมีมูลค่าสูงกว่าภาพของเขามาก

สูงกว่า เพราะนานๆ ครั้ง เจ้าของบ้านถึงจะมารับรูปแลกค่าห้อง

หรือมาก็ไม่ได้คุยเรื่องรูป “บางทีค่ำๆ มาเคาะประตู บอกเปลี่ยนเสื้อผ้า ไปเที่ยวกัน ..โน่น ไปดูหญิงที่พัทยา ..กลับเช้า”

ตะวันบอกว่าเขาโชคดี ในสถานการณ์จมๆ หนักๆ มักมีคนยื่นมือเข้ามาเสมอ

และโชคดี พอผ่านชีวิตที่หนักหน่วงจริงๆ งานเขาเริ่มขายได้ เขาไม่แน่ใจว่า ถ้าวันนี้ยังขายรูปไม่ได้เหมือนห้าปีก่อน จะยืนยันทำงานศิลปะอยู่ไหม อย่างที่รู้กัน เป็นครูกับหาทางเข้าบริษัท ทางเลือกของคนเรียนศิลปะบ้านเราดูจะมีแค่นั้น ซึ่งเขาเดินหนีมาตลอด หนีมาตั้งแต่สมัยเรียน คือไม่มุ่งเรียนเพื่อเกรด และไม่สนใจเรื่องส่งประกวด

เกรดไม่มี งานประกวดไม่ได้ ก็เท่ากับบีบทางเดินให้แคบลงไปโดยปริยาย

แคบ หรืออาจจะเหลือทางเดียวคือทำงานศิลปะ

ตะวันฉายภาพให้เห็นว่า บิ๊กอาร์ติสท์ในบ้านเรา เมื่อมีชื่อชั้นระดับหนึ่งแล้วมักจะทำงานอยู่บ้าน ไม่กระตือรืนร้นไปแสดงงานต่างประเทศ เพราะแค่ตั้งเฟรมก็มีคนมารอต่อคิวซื้อ

“นั่งกระดิกตีนรออยู่บ้าน” เขาพ่นบุหรี่ไปพลาง

“ถ้าผมขายได้แบบนั้นก็ไม่แน่ ไม่รู้ว่าผมจะทำตัวแบบนั้นมั้ย คือไม่คิดเรื่องพัฒนางาน ทำแบบเดิมๆ วาดแบบเดิมๆ ขายได้ จบ แต่ผมโตมาอีกอย่าง ทุกวันนี้คิดเรื่องความลึก อยากไปให้สุด อยากรู้เหมือนกันว่าจะทำได้แค่ไหน” 

เขาเชื่อว่าศิลปินต้องพัฒนาตัวเอง การค้าขายนั้นจำเป็นแน่ๆ เพราะทุกคนต้องกินต้องใข้ แต่ค้าขายอย่างเดียวโดยไม่คิดเรื่องพัฒนา เขาว่ามันค่อนข้างสวนทางกับการทำงานสร้างสรรค์

ความหมายแรกๆ ของคำว่าสร้างสรรค์คือน่าจะมุ่งทำให้มันดีขึ้น

สวัสดิ์ ตันติสุข วาดรูปจนวันตาย ถวัลย์ ดัชนี แม้ว่างานเริ่มดูซ้ำไปซ้ำมา แต่เขาวาดรูปตลอด อยู่ว่างๆ ก็นั่งดรออิ้ง หรือแม้แต่ลุงแท้ๆ ของเขา นิติ วัตุยา ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ด้วยการเขียนรูปเขียนบทกวี

เขานับถือคนเหล่านี้ จดจำเอาเยี่ยงอย่าง

“บ้านเราไม่ค่อยมี painter รุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะเอนไปทาง photo ไม่ก็ VDO หรือเป็น conceptual เป็น installation ที่มีก็มักเน้นรูปแบบและมุ่งไปทางล่ารางวัล ในอาเชียน อินโดฯ กับฟิลิปปินส์มาแรงมาก บ้านเขาให้ความสำคัญกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ด้วย ของเรายังไม่ไปไหน ทั้งที่โลกไปไกลแล้ว โลกเปลี่ยนแปลงตลอด แต่เราไม่ค่อยจะยอมเปลี่ยน”

ตะวันเห็นว่าผู้ใหญ่หลายคนเคยก้าวหน้า กล้าหาญ แต่พอมีที่มีทาง มีตำแหน่ง น่าแปลกว่าคนเหล่านี้ย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายคอนเซอร์เวทีฟอย่างกลมกลืน ไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ ไม่สนใจสร้างศิลปะให้สุดทางของศิลปะ

ตะวันรู้ว่ามันอยู่ยาก การทำงานศิลปะอย่างเดียวในประเทศนี้ ไม่ว่านักเขียน กวี ศิลปิน ทุกคนล้วนต้องเผชิญปัญหาปากท้องทั้งสิ้น แค่เขาอยากยืนยันในความรัก

รักและศรัทธาในศิลปะแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่กับมัน

อยู่ง่าย ใช้น้อย นี่น่าจะเป็นกฎเหล็กของทุกคน เพื่อรักษาตัวตนและอุดมคติไว้ เพื่อให้ได้ทำในสิ่งที่รัก

ผู้ใหญ่คนหนึ่งเคยบอกผมว่า ดูแลงานให้ดี แล้ววันหนึ่งงานจะดูแลเรา

สองสาวในภาพที่เขียนขึ้นเมื่อคืนยังส่งยิ้มหวาน ตะวัน วัตุยา สร้างชีวิตเธอขึ้นมา และเธอก็ให้ศิลปินมีชีวิต ให้ข้าวปลา ให้ปัจจัยการดำรงอยู่ รอบปีที่ผ่านมาภาพเขียนจากห้องนี้เดินทางไปไกล ไปอยู่ในบ้าน ไปอยู่ในใจใครหลายคน

จวนจะเก้าโมงแล้ว ผมเก็บกระเป๋าเตรียมกลับบ้าน

กลับโดยไม่ได้ร่ำลาเพื่อนเหมือนอย่างเคย

ทั้งที่ยังไม่ได้เปิดประตู แต่รู้สึกว่าข้างนอกตะวันสาดแสงแรงกล้า.

 

 


 

เรื่องโดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

หมายเหตุ :
1 ความเรียงชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร GM ถัดมาถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ‘จุดเทียนทั้งปลายทั้งโคน’ (มีนาคม 2014)
2 ทั้งหมดเป็นภาพเก่าเก็บสะสม ปัจจุบัน ตะวัน วัตุยา เลิกบุหรี่มาแล้วแปดปี / โชว์ชุด ‘ตีท้ายครัว’ เขาทำงานตอนกลางวัน

You may also like...