essay

เสียดาย, ไม่สูญเสีย

เขามีรูปร่างค่อนข้างหนา ไม่ถึงกับท้วม กล้ามเนื้อนับว่าดูแข็งแรง สูงไม่เกิน 170 มักจะก้มหน้าเดินช้าๆ สูบบุหรี่ไม่ค่อยหมดตัว จี้ดับเหมือนเสียดายแล้วเก็บใส่ซองบุหรี่ พอมีจังหวะอยากนิโคติน เขาเอาขึ้นมาจุดสูบใหม่

หลายครั้งผมเอ่ยปากขอบุหรี่ เขาหยิบยื่นให้ และอีกหลายครั้งที่เขาถามหามาร์ลโบโร ไลท์ แต่ผิดหวัง เพราะผมสูบแดง

เราสูบด้วยกันไม่ค่อยเป็นที่เป็นทาง มวลควันคลุ้งรบกวนชาวบ้านหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่ใช่ประเด็น

ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบเจอจนวันสุดท้าย เรียกว่านับนิ้วได้ที่เขาหัวเราะร่า ตลกโปกฮาไม่ต้องนับ ไม่มี ส่วนใหญ่เขาอยู่ในใบหน้าเรียบนิ่ง เผยยิ้มเป็นครั้งคราว คิ้วขมวดครุ่นคิดมากกว่าคนผ่อนคลาย 

อาจจะด้วยวัย ? ผมว่าไม่ใช่

มีอะไรน่าซีเรียสขนาดนั้น

ตั้งแต่มวลควันชวนคลื่นเหียนต่อผู้คนหลังรัฐประหารกันยายน 2006 เป็นต้นมา ผมน่าจะเจอเขาครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 งาน ‘กนกพงศ์ยังคงอยู่’ ที่ People Space ย่านแพร่งภูธร นักเขียนนักอ่านมากันแน่น 

‘กวีราษฎร’ อ่านบทกวีออกเสียงเพลินหู เปิดตัวบทว่า “ตายได้ดี พี่ที่รัก” ก่อนจะปิดท้ายว่า “อย่าไปเลย สวรรค์กวีรุจีรัตน์” 

งานรำลึกถึงคนตาย พี่น้องญาติน้ำหมึกมาพบปะพูดคุยด้วยความรักแท้ๆ น้าแกก็จัดให้ซะชวนร้าวรานหัวใจกันไปไม่น้อย บางคนลุกหนีและเหินห่างไปไม่กล้าสบตาน้าแกอีก

มองแบบเห็นอกเห็นใจ ก็เข้าใจได้ ขวบปีนั้นความคิดความอ่านทางการเมืองขณะนั้น นักเขียนที่ออกตัวกระแทกท้องสังคมศักดินา และเปิดหน้ารับแรงปะทะกับคนวงการเดียวกันนับนิ้วได้ไม่น่าเกินมือข้างเดียว

ผมจำไม่ได้ชัดนัก เขาผู้ซึ่งนั่งหลับตาเงยหน้าฟังกวีราษฎรอ่านบทกวีอยู่ข้างๆ คิดอะไร และรำลึกถึงเจ้าของงาน แผ่นดินอื่น ว่าอะไร แต่ในภาพใหญ่แห่งวิกฤติการเมืองขณะนั้น เขาไม่เลี่ยงหลบสายตาความจริงแห่งยุคสมัย ยุคสมัยที่ทำนักเขียนหลับใหลไปยามที่คณะนายพลเอารถถังออกมายึดอำนาจ แล้วมีแท็กซี่ไดรเวอร์แก่ๆ ไม่มีชื่อเสียง ขับรถเช่าหาเช้ากินค่ำของตัวเองออกมาชนรถถังจนตัวบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะแขวนคอในอีกเดือนต่อมา เพื่อประท้วงคำปรามาสจากนายพลที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” 

เขาสารภาพในงานวันนั้นว่าสิ่งที่ ‘ลุงนวมทอง’ ทำ เหมือนเขาถูกตบหน้า ชาไปทั้งตัว

จากวันนั้น ผ่านวันเดือนปี พอมีเหตุการณ์ฆ่าคนเสื้อแดง 2 ปีติดกันในเดือนเมษาฯ 2009-2010 จากคนสร้างสรรค์เรื่องสั้น-นิยาย หลงใหลกักตัวอยู่ในหมวดหมู่วรรณกรรม เขาขยับมาสร้างคำวิจารณ์การเมืองมากขึ้น หนักขึ้นขนาดเขียนอธิบายโต้แย้งชี้ช่องถึงความจำเป็นที่ควรมองให้ออกว่านักเขียนไทยกับการเมืองแยกขาดกันเป็นเรื่องคิดสั้น-ชวนฝันเพ้อเจ้อ เขาตะโกนดังๆ ให้หมู่มิตรรีบตื่นว่าโจทย์การเมืองไม่ได้อยู่แค่นักการเมืองเลว ทุนนิยมไม่ใช่กำแพงชั้นเดียวที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของวงการน้ำหมึก

เขียนมากๆ เข้าแล้วเหมือนไม่มีคนอ่าน เขาพาตัวเองไปขึ้นเวทีจับไมค์ปราศรัยกับมวลชน ขี่จักรยานยนต์ไปงานเสวนาในเมือง นอกเมืองก็นั่งเครื่องบินไป ตามระยะทางใกล้-ไกลเอื้ออำนวย

ใช่ภาระนักเขียนพึงกระทำมั้ย ผมไม่แน่ใจ 

เขาลังเลถามไถ่ตัวเองบ้างหรือเปล่า–กูทำอะไรอยู่ 

ไม่รู้หรอก แต่บ้านเมืองมันรวดร้าวหนักขึ้น เขาเลยชกหนักขึ้น ชกเหมือน แมนนี่ ปาเกียว ที่กำลังฮุกขวาใส่หน้าคู่ชกบนเวทีที่กำลังถ่ายทอดสดไปทั่วโลกในช่วงเวลานั้น

เอาสักหนึ่งตัวอย่าง บรรยากาศวันเวลาช่วงปี 2012  เพดานที่ปัญญาชนดันกันมายังไม่ถึงกับคำปราศรัยเวทีพ่อมดแฮร์รี่ของทนายอานนท์หรอก แต่พิษแห่งมาตรา 112 ก็เริ่มออกฤทธิ์เป็นคดีความ แพร่ลามจนน่าวิตก 

กรณีคำพิพากษาตัดสินจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ในมาตรา 112 ร่วม 7 ปีนี่ยิ่งชัด ชัดว่าวงการสื่อสารมวลเมิน บรรณาธิการรุ่นใหญ่ทั้งหลายเงียบ นักเขียนส่วนใหญ่เฉย แต่เขาโต้แย้งคำพิพากษาออกลำโพงในที่สาธารณะ

ผมได้ความรู้, เขาออกแรงไปขุดหาข้อกฎหมายมาอภิปรายยาวเหยียดเพื่อชี้ว่าคำพิพากษามีปัญหาขัดแย้งกันเอง ! ความสั้นๆ สรุปว่า เดิมบรรณาธิการเคยมีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2484 แต่ศาลอ้างเองว่ายกเลิกไปแล้ว กฎหมายใหม่ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ 2550 บรรณาธิการไม่ต้องรับผิดชอบแทนผู้เขียนที่เขียนเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่ศาลกลับให้สมยศผิด 112 แทน แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ด้วยซ้ำว่าสมยศเป็นเจ้าของงานเขียนที่เข้าข่ายนั้น การตีความออกทะเลของศาลอยู่เหนือหลักฐานพิสูจน์ทราบแน่ชัดแล้วได้อย่างไร 

นอกจากความรู้ ผมเห็นแววตาผู้คนที่กัดฟันไม่จำนนทุกข์ทนไปกับความวิปริตที่สมยศและหลายๆ คนเจอ ซึ่งมีเขาช่วยอภิปราย 

หมวกผ้าทอขุยๆ เป็นตารางหลากสีโดดเด่นอยู่บนหัวเขา เรียกทรงอะไรก็สุดปัญญาจะหาข้อมูลได้ นั่งอภิปรายเคียงข้างนักวิชาการทรงสุภาพที่ร่วมหัวจมท้ายช่วยชี้แจงแถลงไขถึงภัยแห่งมาตรา 112 อยู่นานแรมเดือน หลายครั้งผมถามไถ่เพื่อน รุ่นพี่ที่เห็นร่วมกัน มันคือหมวกอะไรวะ แต่คำตอบคงอยู่ในสายลม 

เอาเถอะ เรากำลังฟังที่เขาพูด

…..

เกินจะคาดเดาไปมากว่าอะไรทำให้เขาออกแรงขนาดนี้ถึงแรมเดือนแรมปี แต่มันก็สะท้อนอยู่ในหว่างคิ้วและริ้วรอยบนหน้าผากที่ยับย่นของเขา สะท้อนอยู่ในเสียงซืดนิโคตินเข้าปอดแรงๆ ของเขาว่าเรื่องราวของยุคสมัยเป็นเรื่องตลกร้าย

เอาอีกสักตัวอย่าง ปีนั้นคณาจารย์คณะนิติราษฎร์รวมตัวกับคณะนักเขียนแสงสำนึกแล้ว หอกดาบก่นประณามรุมมาทุกทิศทาง เหตุเพียงเพราะต้องการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 และรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อยื่นต่อรัฐสภา ค่าที่โทษมันหนักไป ใครก็ได้เป็นผู้ฟ้อง และกระบวนการยุติธรรมก็เน่าเสียตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

แทนที่จะนั่งเขียนหนังสืออยู่ในที่ของตัวเพลินๆ –ไม่ เขาลงใต้เสร็จไปอีสานต่อ เพื่ออภิปราย อภิปราย อภิปราย ต่อหน้านักศึกษาและชาวบ้าน เพื่อลากไส้วิกฤติการเมืองออกมาเป็นขดๆ ผ่าพิสูจน์ให้เห็นความเชื่อมโยงว่าผลพวงจากรัฐประหารให้กำเนิดมาตรา 112 ออกมาเป็นมาเฟียในเงามืด จ้องทำร้ายประชาชนผู้ใช้เสรีภาพคิดต่างทางการเมือง 

ว่าไปแล้วเหมือนจะง่าย หากใช้สามัญสำนึกพื้นฐานคนเท่ากัน มาตรา 112 ก็ประจานตัวเองคาตาว่าเบี้ยวบิดผิดเพี้ยน แต่ทำไมเหล่าผู้อ้างใช้สิทธิเสรีภาพสร้างสรรค์ผลงานยังเป่าสาก ทำไมยังมีศิลปินนักเขียนจำนวนมากขัดขวางการแก้ไข ทำไมๆๆ เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้แล้วในหนังสือ ความมืดกลางแสงแดด 

“เป็นระบบคิดที่ไม่มีการเชื่อมโยงกัน (พวกนี้) คิดว่าเสรีภาพตั้งอยู่ลอยๆ โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรก็ได้ เสรีภาพต้องตั้งอยู่บนสิทธิของมนุษย์แต่ละคน มันไม่ใช่อยู่ลอยๆ แต่ความคิดแบบนี้คือเสรีภาพลวงตา คืออำนาจที่แท้จริง เหนืออำนาจรัฐ อำนาจในสังคมไทย อำนาจแบบโบราณนี้ อำนาจแบบสิทธิธรรมยังดำรงอยู่ อำนาจของกษัตริย์ที่อ้างผีอ้างเทวดายังมีอยู่ในสังคมไทย และอำนาจนี้ยังทำงานอยู่”

ถึงวันได้รายชื่อประชาชนกว่าสามหมื่นรายชื่อ เขาก็ไปร่วมยื่นถึงสภา เคียงข้างนักวิชาการหนุ่มสาว-อาวุโส รองประธานสภาฯ ลงมารับ วงล้อมสื่อมวลชนกดชัตเตอร์ แสงแฟลชสาดรัวถี่ๆ แต่แทบไม่มีใครรู้จักเขา แม้หมวกใบนั้นจะโดดเด่นอยู่บนหัวเขา ก็ไม่มีสื่อสนใจใคร่สัมภาษณ์ นักเขียนผู้ร่วมเสนอแก้กฎหมายวิปริตเป็นใคร นักเขียนผู้ร่างจดหมายเปิดผนึกถึงนักเขียนทั่วประเทศให้ร่วมลงชื่อคือใคร ช่างมันเถอะ เข้าใจได้ !

…..

ถึงปี 2014 นายพลคลั่งยังรัฐประหารยึดอำนาจต่อ นักกิจกรรมทยอยลี้ภัย นักการเมือง นักวิชาการ ถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหาร หลายคนถูกดำเนินคดีถูกจองจำ ต้องขึ้นศาลทหาร 

บ้านเมืองเงียบเชียบ ? ก็ถูกบางส่วน ความกลัวพัดมาราวพายุฝนหลังเดือนพฤษภาฯ หลายคนที่เคยฮึกเหิม ถ้าไม่ออกนอกประเทศก็ถอยกลับที่ตั้ง ดูทิศทางลม 

ผมไม่เคยถาม อะไรทำให้เขาอยู่ไม่สุข ยิ่งเสนอหน้าออกมาในพื้นที่เสี่ยง 

24 มิถุนายนปีนั้นและปีถัดๆ มา เขาชวนเพื่อนนักเขียนที่พอคุ้นหน้าตระหนักว่าอยากเผชิญหน้าอำนาจเถื่อน ไปที่หมุด 2475 เพื่อวางดอกไม้ให้วิญญาณคณะราษฎร

เพื่อจะกลับไปตั้งต้นที่หมุดหมายอำนาจสถาปนาราษฎรไทยมั้ย เพื่อจะขอกำลังใจจากวิญญาณผู้มาก่อนกาลหรือ เพื่อจะอะไร ก็สุดแล้วแต่จะคาดเดา

…..

จากนั้นมา หลังเขามอบความไว้วางใจพิมพ์ ปรัชญาเกรียน บทสัมภาษณ์ สมบัติ บุญงามอนงค์ ให้ ด้วยภาระงานและครอบครัวส่วนตัวผม เราเริ่มพบกันน้อยลงเรื่อยๆ ได้แต่ทราบข่าวคราวจากหนังสือที่เขาเขียนออกมาทุกปีๆ และผลึกความคิดทางการเมืองที่ยังแหลมคมทิ่มแทงอยู่ในโลกโซเชียลเช่นเคย เหมือนเขาไม่เคยหายไปจากการต่อสู้ 

เราพบกันอีกครั้งที่แยกคอกวัว ในวันคืนรำลึกวิญญาณ วัฒน์ วรรลยางกูร ‘นักเขียนราษฎร’ ที่ลาลับไปก่อน จบงานแล้วเราไปดื่มด่ำกันต่อที่ Moonshine Bar จนดึกดื่น 

เท่าที่จำได้ ความคิดสุดท้ายที่เขาปรารภ ว่าด้วยความกังวลต่อบ้านเมืองหลังการเลือกตั้งที่พรรคขวัญใจมหาชนจะแลนด์สไลด์ ฝ่ายประธิปไตยจะสะสางปัญหามาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์ที่อยู่กลางแจ้งในสายตาประชาชนแล้วอย่างไร 

“ใครจะไปรู้” ผมได้แต่คิดในใจ

เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนจากหลายปีที่ผ่านมา ข้อกังวลของเขาก็เป็นเรื่องเดิม คิ้วขมวดเหมือนเดิม ซืดบุหรี่เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเขาคิดช้าลง พูดช้าลง หลายครั้งดวงตาเหม่อลอย

ล้ามั้ย อยากพักมั้ย.. ผมไม่ได้ถาม

แต่จู่ๆ ก็เหมือนได้คำตอบที่มาพร้อมกับภาพตัด 14 พฤษภาคม 2022 ข่าวออก เขาตามไปอยู่กับคณะผู้มาก่อนกาลแล้ว

อีกวันต่อมา มิตรสหายรุ่นพี่ผู้มีพระคุณแจ้งข่าวว่าเขาไม่ได้จบชีวิตตัวเองอย่างที่หลายคนเข้าใจ (ผมเองด้วย) จากการสนทนากับคุณแม่ของเขา หญิงร่างเล็ก ผอมเกร็งวัยกว่า 70 และภรรยาของเขา ทราบว่าเขาเป็นโรค Brief psychotic disorder มา 4-5 ปีแล้ว รักษาตามอาการจนดีขึ้นเป็นลำดับ 

2 ปีก่อน หมอให้เขาหยุดยาไป 1 ปีเต็ม เพิ่งจะกลับมาเริ่มกินยาอีกได้ไม่ถึงปี  

เขาเป็นลูกคนโต มีน้องชายและน้องสาว มีคู่รัก แต่ไม่มีลูก

สิงหาคม 2021 ครอบครัวของเขาต้องเจอเรื่องเศร้า น้องสาวขับรถพาพ่อกลับจากไปวิ่งออกกำลังกาย แต่แล้วก็ถูกรถมาชนอย่างรุนแรง คนขับคือหมอตำรวจ น้องกระดูกซี่โครงและหลังหัก ต้องรักษาตัวนานมาก และน่าจะวิ่งไม่ได้อีกหลายปี แต่พ่อต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนั้น และคดีความก็ไม่มีความยุติธรรมให้

ปะติดปะต่อได้ความว่าเหตุการณ์ที่พ่อเขาเสียชีวิต กระตุกให้อาการของเขากลับมาใหม่ 

เขาเริ่มเป็นกังวลทั้งคดีตำรวจชนที่ไม่คืบหน้า และพลอยกังวลเรื่องแม่ เขาเริ่มพูดไม่เป็นเรื่องเป็นราว คู่รักพาไปหาหมออีกต่อเนื่อง 

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เขาไม่ได้นอนถึง 2 วันเต็มๆ พออาทิตย์ก่อน เขาขึ้นไปนอนแล้วกระโดดลงมาจากระเบียงบ้าน สมองมีเลือดคั่ง ปอดและกระดูกหน้าอกช้ำหนัก ต้องใช้เวลารักษา แต่โรงพยาบาลกลับไม่ได้ให้เขารักษาตัวต่อเนื่อง แค่ให้เขาอยู่ nursing home 

เหมือนจะฟื้น แต่ก็ทรง อาการที่ปอดมากำเริบ พร้อมกับอาการ disorder ครอบครัวพาไปโรงพยาบาล แต่สถานการณ์โควิด มีคนอาการหนักกว่าเขา โรงพยาบาลไม่ต้องการรับคนเพิ่ม เขาจึงต้อง nursing home ต่อไป

วันสุดท้าย เขาถูกปั้มหัวใจ 3-4 รอบ ในที่สุดร่างกายก็ทนสภาพบอบช้ำไม่ไหว

…..

วาบแรกที่ทราบข่าว ผมคิดถึงวันที่เราทัวร์ลงใต้-ไปอีสานด้วยกัน คิดถึงวันที่ไปสภา คิดถึงวินาทีที่เขาย่อตัวคุกเข่าลงวางดอกกุหลาบที่หมุด 2475 คิดถึงเสียงและเนื้อหาที่ปราศรัย รวมถึงหมวกใบนั้นด้วย

“เสียดายว่ะ” ผมสบถกับหมู่เพื่อน 

วันกำหนดส่งเขาขึ้นเมรุ ผมติดรับส่งลูกสาวที่โรงเรียนที่เพิ่งเปิดเทอมวันแรก ได้แต่กระซิบบอกลูกที่เขาเคยอุ้มที่งานสัปดาห์หนังสือ ตั้งแต่ไอ้ตัวเล็กยังเดินไม่ได้ว่าเขาตายแล้วนะ ไอ้ตัวเล็กพยักหน้ารับรู้แถมถามตามประสาเด็กว่า “เขาไม่หายใจแล้วเหรอ” ผมได้แต่พยักหน้าตอบ

เสียดายที่เขาอยู่ไม่ทันรู้ข่าวว่า วันที่ 7 พฤศจิกายน 2022 ศาลพิพากษาหมอตำรวจคู่กรณีของครอบครับเขา ลงโทษจำคุก 6 ปี แต่คู่กรณีรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 3 ปี และให้รอลงอาญา 2 ปี แต่พี่น้องของเขาเตรียมยื่นอุทธรณ์

เสียดายจริงๆ ลองพิจารณาดู เขาผู้ซึ่งลุกขึ้นยืนตัวตรง งัดข้อกับมหากาพย์ Elephant in the Room มาร่วมทศวรรษ แต่ต้องมาช้ำใจ-ช้ำในตายไปก่อน หรืออันที่จริง ถ้าเขารู้ว่าคู่กรณีจะจ่ายค่าสินไหมเยียวยาให้ครอบครัวของเขา สำหรับผู้ตาย 1.5 ล้าน สำหรับผู้บาดเจ็บสาหัส 1 ล้าน เขาอาจจะมีแรงฮึดสู้ใหม่ สู้กับความวิปริตของสายธารความอยุติธรรม คนประสาบ้านๆ บวกลบคูณหารแล้วก็มองออกว่ารถปอร์เช่หรูของคู่กรณียังแพงกว่าชีวิตครอบครัวเขาหลายเท่านัก !?

เสียดายสุดจะบรรยาย เขาผู้ซึ่งก่อตั้งวารสาร UNDERGROUND BULETEEN และเคยแปล บันทึกสงครามปฏิวัติคิวบา ของ เช เกวารา ด้วยตัวเอง มันเป็นงานที่ผมอ่านซ้ำหลายรอบจนอยากพูดสเปนได้ จริงๆ เป็นโปรเจกต์ที่ยังไม่เสร็จ จำได้ว่าเขาเคยปรารภที่ไหนสักแห่ง ว่าอยากจะแปลต่อให้เสร็จ ทั้งบันทึกที่คองโกและโบลิเวีย

ในวันวัยของเขา งานหลายเล่มที่สำเร็จออกดอกผลไปแล้ว แต่อีกหลายงานคงยังค้างคา 

เสียดายเหลือเกิน

ถามว่าสูญเสียมั้ย

นอกจากลมหายใจและร่างกายที่ดับสลายไป ผมว่าไม่. 

 

 

nandialogue

 

 

essay : โต๊ะจเร

เรื่องและภาพ :  ธิติ อิสรสารถี


เกี่ยวกับนักเขียน : ธิติ อิสรสารถี คนขับรถ เจ้าของหนังสือสารคดี /ภาพ Promised Land ‘ประเทศเทา’, รวมบทกวีชุด ‘พี่ชาย การตาย และความไร้สุภาพ’, ปรัชญาเกรียน (บทสัมภาษณ์ สมบัติ บุญงามอนงค์), ฤดูกาลประชาชน และรวมบทสัมภาษณ์ว่าด้วย ม.112 ‘ความมืดกลางแสงแดด’ (ร่วมกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ผ่านงานสื่อสารมวลชนมาหลายสำนัก อาทิ CMYK, ปาจารยสาร, ข่าวสด, The101.World ปัจจุบันทำงานอยู่ที่วอยซ์ทีวี

You may also like...