พี่หนึ่งครับ
ดูเหมือนว่าแสงแดดจะกลับมาบ้างแล้วครับ เมื่อมองออกไปข้างนอกหน้าต่างก็จะเห็นแสงเงาของตึกรอบๆ ตัดกันไปมา บางครั้งเป็นรูปสามเหลี่ยมคางหมู บางครั้งเป็นเหลี่ยม หลบอยู่บริเวณมุมของตัวอาคาร ต้นไม้ไร้ใบไหวกิ่งเบาๆ ดูราวกับเพิ่มความระมัดระวังขึ้นจากเดือนก่อนที่หิมะและลมหนาวขั้วโลกกระแทกกระทั้นมันจนไร้ทิศไร้ทาง บ้างหักร่วงกราวลงมายอมรับชะตากรรม ก่อนถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลกวาดใส่ถุงเอาไปทิ้ง
ผมจำได้ว่าหลายปีก่อนในคืนข้ามปี เสียงพลุ เสียงประทัด และเสียงเฉลิมฉลองอะไรต่างๆ จะดังระเบิดทั่วไปหมด เช้าวันปีใหม่ผมเดินออกไปซื้อของ เห็นตู้ไปรษณีย์ไฟไหม้แตกพังยับเยิน เป็นหลักฐานว่ามีใครบางคน (จากงานวิจัยน่าจะเป็นเด็กหนุ่ม และถ้าเพิ่มอารมณ์ของยุคสมัยเข้าไปด้วยก็น่าจะเป็นเด็กหนุ่มจากต่างชาติ ไม่ตะวันออกกลางก็เอเชียกลาง) จุดพลุแล้วเกิดอยากจะส่งไปให้ใครบางคนในตู้จดหมาย แต่สงสัยจะรีบหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ ดันลืมเขียนชื่อที่อยู่ผู้รับเสียอย่างนั้น
ในรอบปีหนึ่ง คงจะมีไม่กี่ครั้งที่คนจะปลดปล่อยเอาอะไรๆ ที่ตลอดปีที่ผ่านมาถูกห้าม ถูกปรามาสติเตียน เป็นชั่วขณะสั้นๆ ที่การเฉลิมฉลองลัดเลาะเลียบเส้นแห่งความโกลาหล ทั้งหลายครั้งก็แปรไปเป็นความโกลาหลบ้างก็มี – ในแง่นี้ คืนขึ้นปีใหม่ถือเป็นครั้งหนึ่งในไม่กี่ครั้งนั้น
แต่ปีนี้ต่างออกไปครับพี่ โรคระบาดที่กินเวลามาตั้งแต่สองปีก่อน ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบสงัดลง แทบจะไม่มีคนออกมาเฉลิมฉลองนอกบ้าน เสียงพลุ เสียงประทัดต่างๆ ก็ถี่น้อยลง เสียงยางล้อรถเร่งกรีดถนนเงียบลงไปกว่าเดิม เหมือนทุกอย่างถูกจัดเก็บเข้าลิ้นชักชั่วคราว และไม่แน่ใจจะถูกนำกลับมาใช้เมื่อใด
แต่ประเพณีก็ดิ้นรนต่อสู้ของมันไปไม่ย่อท้อครับ แทนที่คนจะไปแออัดกันอยู่ในห้างเพื่อซื้อของขวัญคริสต์มาส ก็จะเห็นคิวของลูกค้าที่ต่อคิวรับของที่สั่งออนไลน์และให้มาส่งทางไปรษณีย์ แต่ละคนหอบหิ้วกล่องกันพะรุงพะรัง สวีเดนเป็นประเทศที่ผลิตลังและกล่องเยอะ (รวมทั้งกระดาษทิชชู่ด้วย) เพราะมีต้นไม้เยอะและตัดโค่นต้นไม้ตลอดเวลา กล่องกระดาษและถุงกระดาษจึงเป็นส่วนประกอบของชีวิตคนที่นี่
หรือในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นพนักงานบริษัทส่งของต่างๆ ทั้งขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ ขับรถ ไปส่งสินค้าต่างๆ ตามออร์เดอร์ลูกค้าในช่วงปลายปีและปีใหม่ยุ่บยั่บไปหมด พนักงานเหล่านี้ได้ค่าจ้างเป็นชั่วโมง และไม่ต้องพูดถึงความมั่นคงของการงาน เพราะยิ่งส่งมากก็ได้มาก และเมื่อไม่มีของจะส่งก็ตกงานเท่านั้น
ตั้งแต่ปลายปีผมก็พักการต้องเดินทางหลายชั่วโมงไปทำงานแล้วครับ และคงจะไม่ต้องเดินทางไกลไปทำงานอีกอย่างน้อยๆ สักสี่ห้าเดือน ฉะนั้นช่วงนี้ก็คงจะเป็นการทำงานจากบ้านเสียส่วนใหญ่ นี่ด้วยเป็นเพราะจำนวนคนติดโควิดที่มากขึ้นด้วย ทำให้หลายๆ อย่างกลับมาเป็นการระมัดระวังไม่ให้มีการรวมตัวกันในที่สาธารณะเหมือนช่วงต้นปีที่แล้ว
ถึงตอนนี้คนจำนวนมากก็คุ้นเคย และเหน็ดเหนื่อยกับการอยู่บ้านแล้ว (แน่นอนว่าคนที่เลือกทำงานจากบ้านไม่ได้นั้นมีมหาศาลกว่ามาก) กิจกรรมต่างๆ วนเวียนอยู่กับบ้าน และสิ่งที่ทำได้ในบ้าน อย่างในประเทศเขตหนาว ตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไปก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่คนจะใช้ในบ้านมากกว่าที่อื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีโรคระบาดหรือไม่ก็ตาม เพราะอากาศที่ทั้งหนาวและกลางวันที่แสนจะสั้น หลายคน (อย่างน้อยก็ชนชั้นกลาง) ก็จะใช้เวลาพิจารณาว่า จะตกแต่งบ้าน หรือซ่อมแซมบ้านอย่างไร
ผมไม่มีปัญหาเรื่องนี้ครับ เพราะผมเช่าบ้านเขาอยู่ พอไม่ใช่บ้านของเรา เราก็ไม่ต้องคิดเรื่องจะไปตกแต่งอะไร หมดปัญหาชนชั้นกลางลงไป เหลือปัญหาว่าจะเอาอะไรกิน ลูกจะกินอะไร จะประหยัดค่าน้ำมันรถอย่างไร พอหนาวแล้วเสื้อผ้าลูกพอไหม พอลูกไม่สบายมียาสามัญประจำบ้านในลิ้นชักไหม ร้านสหกรณ์ที่ซื้อของกินของใช้ประจำเขามีส่วนลดอะไรบ้างในอาทิตย์นี้
แค่นี้ก็ไม่ต้องเสียเวลาเลือกว่า ฝักบัวห้องน้ำจะเอาแบบจากเพดานหรือแบบถอดได้ โคมไฟจะใช้ของอิเกียหรือพอล เฮนนิงเซน เก้าอี้จะซื้อจากร้านจุสก์หรือร้านฟริทซ์ แฮนเซน เสื้อหนาวจะซื้อของเอฟจอล แรเวนหรือซื้อร้านเอาท์เลทโรงงาน หรือเฮชแอนด์เอ็ม ฯลฯ เพราะไม่ใช่เรื่องของผม ตราบเท่าที่มันยังทำงาน ยังใช้ได้ ยังไม่ขาด ยังพอซ่อมได้
ถ้าว่ากันด้วยปัญหาเรื่องการงาน ก็มีเพียงว่า หนังสือเล่มใหม่จำนวนนับไม่ถ้วนที่อยากได้ มีเล่มไหนที่ยืมห้องสมุดได้ หรือโหลดฟรีได้บ้าง หรือถ้าเหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ ก็ต้องยอมอ่านหนังสือเป็นพีดีเอฟ ซึ่งจะอย่างไรๆ ผมก็อ่านได้ไม่นานนัก หากแต่เพราะความจำเป็น จึงทำให้ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านไปมาก ซึ่งก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ทั้งนี้ด้วยสถานการณ์บังคับ
ผมเคยคิดครับพี่ ว่าถ้าโตขึ้นแล้ว อยากจะมีออฟฟิศและห้องสมุดเป็นของตัวเอง สะสมหนังสือที่ชอบ และห้องสมุดส่วนตัวนั้นก็จะโตไปกับผมด้วย แบบพวกหนังฝรั่งที่ขุนนางยุโรปเขามีห้องสมุด และมีหนังสือรายล้อม มีบันไดปีนขึ้นไปหาหนังสือ มีลูกโลกสักลูกก็จะโก้ไม่หยอก
มองย้อนกลับไปแล้วกลายเป็นเรื่องน่าขัน ยิ่งคิดถึงเรื่องนี้เวลาทำงานบนรถไฟแล้วยิ่งตลกไปใหญ่ สุดท้ายอะไรทั้งหมดทั้งมวลยกห้องสมุดที่ผมเคยคิดเอาไปไว้ในในก้อนเมฆ แล้วบัตรผ่านเข้าไปในห้องสมุดนั้นคือสัญญาณไวไฟ
จริงๆ แล้วจะว่าไปผมไม่ค่อยมีข้อแม้ในชีวิตมากนักครับพี่ แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมยังถือเป็นข้อแม้สำหรับสถานที่อยู่อาศัยหรือเมืองที่อยู่ นั่นคือการมีระบบห้องสมุดที่ดีพอสมควร
สำหรับผมห้องสมุดที่ดีในที่นี้ไม่ใช่อาคารใหญ่โตหรูหรา (คือถ้าทำได้ก็ดี แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ทำกันแล้วเพราะเปลืองไฟ) แต่มีระบบที่ดี โดยเฉพาะระบบการยืมข้ามห้องสมุด ซึ่งผมถือว่าสำคัญต่อห้องสมุดประชาชนเล็กๆ ทั้งหลายทั้งมวล คือเราสามารถยืมหนังสือจากห้องสมุดที่ใดก็ได้ในโลกนี้ ผ่านห้องสมุดประชาชนที่เราเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งนี้เพราะห้องสมุดประชาชนทั้งหลายไม่ได้มีเงินมากมายจะซื้อหนังสือเข้ามาเก็บ หรือมีพื้นที่มากมายเพียงพอ การขอยืมข้ามห้องสมุดจึงเข้ามาแก้ปัญหานี้ แน่นอนว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งอยู่บ้าง แต่บางกรณี อย่างเมืองที่ผมอยู่ ผมสามารถยืมหนังสือจากห้องสมุดในยุโรปได้โดยไม่เสียเงิน หรือเสียเงินบ้างเล็กน้อย
ระบบห้องสมุดที่ดีในที่นี้จึงรวมถึงการจัดทำรายชื่อหนังสือและระเบียน รวมทั้งเชื่อมโยงเข้ากับฐานข้อมูลของห้องสมุดอื่นๆ เพื่อผู้ใช้สามารถเข้าไปค้นหา และทำเรื่องขอยืมข้ามได้
ดังนั้นไม่ว่าผมจะไปอยู่ที่เมืองไหน ผมก็จะเดินเข้าไปทำความรู้จักกับห้องสมุดของเขาก่อน และไม่รู้ผมคิดไปเองหรือเปล่าว่า ห้องสมุดประชาชนนั่นแหละสะท้อนบุคลิกภาพของเมืองนั้นๆ
ในสแกนดิเนเวีย เขาพยายามแก้ปัญหาการเข้าถึงห้องสมุดในเมืองที่อยู่ห่างไกล ด้วยการมีรถเมล์ห้องสมุด ซึ่งจะวิ่งไปที่เมืองนั้นๆ นี้้ๆ สัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง ผู้ใช้ก็สามารถจองหรือยืมหนังสือล่วงหน้าเอาไว้ก่อนรถเมล์จะมาด้วย
ดังนั้นผมจึงเป็นนักยืมข้ามห้องสมุด เชี่ยวชาญเรื่องการกรอกแบบฟอร์การยืมหนังสือ เมื่อส่งเรื่องไปแล้ว ก็จะเฝ้ารอว่าหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้จะมาถึงเมื่อไหร่ บางครั้งก็ใช้เวลามากอยู่เหมือนกัน เมื่อปีที่แล้วผมยืมวิทยานิพนธ์จากฝั่งอเมริกา กว่าจะมาถึงก็สองเดือน ผมแทบลืมไปแล้ว หรือด้วยความที่เขาไม่ได้มีเงินมาก ผมจะยืมหนังสือที่ใหม่กว่าห้าปีไม่ได้ รวมทั้งยังยืมได้ไม่เกินครั้งละห้าเล่ม ซึ่งก็น่าหงุดหงิดอยู่บ้าง แต่ก็เข้าใจเขา เพราะเงินการบำรุงห้องสมุดเหล่านี้มาจากเงินภาษี และเทศบาลก็ใช้จ่ายกับเงินห้องสมุดน้อยลงๆ ทุกปี อ้างว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง ใช้อินเทอร์เน็ตแทน
ปัญหาเหล่านี้ก็ผ่อนคลายลงไปหน่อยครับเมื่อผมทำงานในมหาวิทยาลัย ซึ่งเขามีทรัพยากรสำหรับเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะ แต่มันก็เป็นบริการกับคนในสังกัดมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่รวมถึงประชาชนและสาธารณะ (แม้ว่าคนทั่วไปอาจทำบัตรห้องสมุดได้ก็ตาม แต่ยืมข้ามห้องสมุดไม่ได้)
ช่วงผ่านปีใหม่ที่ผ่านมาผมไม่สบายอยู่หลายวัน เลยไม่ได้อ่านสิ่งที่อยากจะอ่านมากนักครับ จะมีก็ได้ผ่านตางาน เริงโลกีย์ที่ปราก ของฟิลิป ร็อท (ซื้อมา ไม่ได้ยืมจากห้องสมุด) ผมต้องสารภาพว่า ยังไม่ได้อ่านงานของร็อท และรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องหยิบขึ้นมาอ่านได้สักที สิ่งหนึ่งที่ผมสนใจเกี่ยวกับร็อทคือ เขาเคยให้สัมภาษณ์หลายสิบปีมาแล้ว และมีช่วงท้ายของอาชีพ ที่เขาพูดถึงความเกลียดชังงานของตัวเอง เหมือนผมจะจำได้ประมาณว่า เขาบอกว่าสุดท้ายนักเขียนจะเกลียดงานเขียนของตัวเอง เขาเป็นผู้ที่ประกาศออกมาได้ชัดเจนกว่าใครหลายคน ว่างานเขียนคือความทรมาน และเขาพอกับมันแล้ว – เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมอยากจะสำรวจ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผมหยิบ เริงโลกีย์ที่ปราก มาพลิก ไม่ใช่ด้วยเหตุผลหลักว่าอยากอ่านงานของร็อท แต่อยากอ่านงานแปลของ อ.บัญชา สุวรรณานนท์ มากกว่า
งานนี้คงจะแปลยากอยู่เหมือนกัน เพราะมีการใช้คำโจ๋งครึ่มอยู่หลายจุด โดยเฉพาะการแปลมาสู่คำไทยในรูป ‘เย็-‘ นั้นคงเป็นเรื่องที่ผู้แปลต้องอึดอัดอยู่มากพอสมควร ดีที่ได้พี่ม่อนมาเขียนคำตาม ซึ่งสรุปรวมตามคำของแกได้ว่า
“การนำภาษาตามถนนรนแคมของมนุษย์เดินดินมาไว้ในโอ่โถงของโลกวรรณกรรม ทั้ง ‘หี ควย เย็ด’ ถ้าโลกภาษาวรรณกรรมไม่อายจนหน้าแดงซ่าน รีบแต่งตัวเป็น ‘โยนี ลึงค์ สังวาส’ หรือเริงรมย์กวีอย่าง ‘กลีบดอกไม้แรกแย้ม แมลงภู่ เคลื่อนขยับไปตามครรลองก่อเกิดชีวิต’ ก็ควรมีปฏิกิริยาต่อต้าน อย่างขับไสไล่ส่ง ไม่นับรวมอยู่ในโลกภาษาชั้นสูงของวรรณกรรม นี่จึงเป็นงานตั้งคำถามและท้าทายสองทิศทาง ทั้งสภาพสังคมและโลกวรรณกรรม ที่เรื่องเล่านั้นดำรงอยู่”
อยากไปเยี่ยมพี่ที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ อีก คิดถึงเปลปากนั้น ฝากความระลึกถึงครูด้วยนะครับ
ย่าน Sofielund
Malmö
22 ม.ค. 2565
เกี่ยวกับผู้เขียน : ปรีดี หงษ์สต้น นักเขียน นักแปล นักวิชาการ ย้ายไปอยู่ประเทศสวีเดน เลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับสังเกตสังกาชีวิตที่เคลื่อนย้ายผ่านเวลาสถานที่ ภายใต้ระเบียบเสรีนิยมประชาธิปไตย