interview

คนพัทลุง ทำแกงใต้ ขายที่น่าน

‘อาภรณ์ นิลศิริ’ บ้านเกิดอยู่พัทลุง แนะนำตัวเองว่าเป็นคนพัทลุงดั้งเดิมด้วยน้ำเสียงแจ่มใส เป็นลูกคนที่สิบจากพี่น้องทั้งหมดสิบสองคน จบมัธยมฯ ปลายจากใต้แล้วเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นเด็กวัด เรียนต่อรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สามปีเรียนจบ หางาน ทำงานราชการอยู่พังงาช่วงหนึ่ง ขอย้าย วัยหนุ่ม ไม่มีพันธะ ไม่มีภาระ เขาขอท่องเที่ยวภาคเหนือ พบรักกับสาวน่านที่แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันอาภรณ์อายุห้าสิบปี ลูกสาวสองคน คนโต ม.3 คนเล็ก ป.6 ยังคงทำงานราชการ เปิดร้านอาหารปักษ์ใต้ชื่อ ‘ครัวพัทลุง’ ริมถนนบ้านฝายแกเป็นรายได้เสริม

ตั้งใจแต่แรกเลยไหมว่าจะเปิดร้านอาหาร ?
อย่างน้อยที่สุดคิดอะไรไม่ออกก็ขายอะไรก่อนก็ได้ อยากได้ที่ที่มันติดถนน ก็มาหาอย่างนี้แหละ อยากสร้างบ้านอยากสร้างอะไรแบบนี้ เรามองว่าถ้ามีที่ติดถนนหรือทำเลดีๆ ด้วยก็น่าจะโอเค เผื่อได้ทั้งอยู่อาศัยและค้าขายเสริม เราชอบทำกับข้าวอยู่แล้ว ขายข้าวแกงก็เคยทำตอนอยู่แม่ฮ่องสอน ทำทุกอย่างที่เป็นรายได้เสริม ที่มันสุจริต แล้วเราก็ได้กินได้ใช้ด้วย

เลือกทำเลตรงนี้แต่แรกเลยเหรอ ?
ตอนแรกที่ย้ายมาทางฝั่งบ้านพ่อตารู้สึกมันแคบ บ้านแช่พลางชื่อมันก็บอก แช่พลาง ตำบลท่าน้าว อำเภอภูเพียง น้ำมันชอบท่วม ที่มันเล็กๆ แล้วพอดีที่ทำงานเราก็อยู่ฝั่งนี้ก็เลยมองว่าน่าจะมาหาที่แถวๆ นี้ดีกว่า ศูนย์ราชการก็น่าจะย้ายมาอยู่แถวนี้ ก็เลยย้ายมาหาซื้อตอนปี 52

ตอนนั้นศูนย์ราชการยังไม่ตั้ง ?
ยัง แต่เหมือนเขามากันที่ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว 

พอรู้ว่าจะมีศูนย์ราชการเลยมาซื้อที่ตรงนี้ ?
ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือน้ำมันไม่ท่วมไง เมืองน่าจะขยายมาทางนี้ โตมาทางนี้ จากการคาดเดาของเรา 

ทำไมถึงเลือกมาทำที่นี่ ไม่ทำที่พัทลุง ?
ได้แฟนที่นี่ คนน่านเขาคงไม่ไปอยู่ทางใต้มั้ง เราเองก็อยากมาลองอยู่ทางนี้บ้าง อาจจะชอบ ทางเหนือมีหนาว มีฝน มีหมอก มีร้อน ทางใต้เรามีแค่สองฤดู ร้อนกับฝน ลองอยู่ที่อื่นบ้างก็ดี เหมือนพืชพันธุ์น่ะ มันก็อาจจะไปเจริญเติบโตที่อื่นบ้าง ยางพารายังมาปลูกทางเหนือ ไม้บางชนิดยังมาปลูกทางนี้

ก็เลยได้มาอยู่น่าน ?
ผมอยู่ทางเหนือมาตั้งแต่ปี 40 อยู่แม่ฮ่องสอน 11 ปี แล้วก็ไปอยู่ตาก ย้ายมาอยู่น่านตอนปี 52 ตอนนั้นทำงานประจำอยู่ ก็ได้เจอแฟนที่แม่ฮ่องสอน แฟนเป็นคนน่าน ปี 52 ก็เลยย้ายมาอยู่น่าน มาทำงานที่ใหม่ที่น่าน รับราชการ

เกิดที่ใต้ ทำไมถึงย้ายถิ่น
อยากหาประสบการณ์ก่อน บ้านเราเคยอยู่มานาน เราโสด ไม่มีพันธะไม่มีภาระอะไร ก็ไปหาประสบการณ์ อย่างทางเหนือภาพวาดในอุดมคติหรือภาพที่เราคิดก็คือว่า เมืองหนาวดอกไม้สวยอะไรว่าไป ดอกไม้สวยคนงาม คนใต้ก็อาจจะอยากมาทางเหนือ 

แปลกถิ่นแปลกที่ไหมมาตอนแรก ?
ไม่นะ ตอนนั้นเราโสดอยู่ก็มีความตั้งใจว่าไปเที่ยวก่อนหรืออะไรก่อนก็ได้ ถ้าแก่หรือยังไงค่อยกลับมาบ้าน ไม่มีพันธะไง อยากมาใช้ชีวิต มาทำงานทางเหนือบ้าง มันมีหมอกมีเมฆมีดอกไม้สวยงาม มีผู้คนอัธยาศัยดี

เป็นอย่างที่คิดไหม
โดยรวมก็เป็นอย่างนั้น 

ซึ่งต่างจากคนใต้ ?
อาจจะต่างกันที่วัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต คนใต้ปกติก็ตัดยาง ทำนาทำไร่บ้าง บางทีเช้าทำอะไรเสร็จแล้วก็พักกินน้ำชา มาคุยกัน กินกาแฟ แต่ทางเหนือนี่แทบไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ สองคือเรื่องภูมิประเทศ ก็อาจจะทำให้คนมีความคิดต่างกัน แต่ว่าโดยรวมก็คือว่าทางเหนือเขาชอบสนุก เฮฮา อย่างคนน่านชอบม่วนใช่มั้ย น่านเนิบเนิบ

ครัวพัทลุง จังหวัดน่าน

 

อยู่น่านมา 13 ปี จริงอย่างว่าไหม น่านเนิบเนิบ ?
ก็ประมาณอย่างนั้น ประเพณี วิถีชีวิต หลายๆ คนพอใจอย่างนี้ อาจจะเป็นที่มาของน่านเนิบเนิบ สุขเข้าไว้ สนุกเข้าไว้

แล้วคนใต้เป็นคนยังไง ?
พัทลุงเป็นจังหวัดเล็กๆ เศรษฐกิจของเรายังเล็ก ถ้าเป็นจังหวัดก็คงเนิบเนิบเหมือนกัน เพียงแต่การพูดจาของคนใต้ก็อาจจะพูดเร็ว พูดสั้น พูดห้วนๆ จะให้มองก็คงต้องให้คนอื่นมองแหละว่าคนใต้เป็นคนยังไง พูดไปบางอย่างก็เอ๊ะ ใช่รึเปล่า หรือพูดเข้าตัวให้คนอื่นมองดีกว่าว่าคนใต้เป็นยังไง

เปิดร้านอาหารใต้ที่น่าน เริ่มต้นยังไง
ให้ญาติพี่น้องทางใต้มาช่วยก่อน แต่ก็เหมือนอย่างที่บอก เขาอยู่ใต้ มันห่างบ้านห่างเมืองเขา เมื่อก่อนแฟนก็รับแม่ยายมาช่วยขาย แม่ยายอยู่ฝั่งอำเภอภูเพียง ไปส่งลูกเรียนแล้วก็ไปรับแม่ยายมาช่วยขาย ตอนหลังมันดูแลไม่ทัน ก็เหมือนกับเป็นภาระหนัก บางทีเราไปประชุม พอมีหุ้นส่วนก็เลยช่วยดูไปเลยในภาพรวม เราก็เป็นตัวเสริมไป บางอย่างเราทำคนเดียวไม่ได้ ก็เหมือนกับคนรวยๆ ระดับประเทศ เขาไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการหมดทุกที่ เขาดูในภาพรวมไป จ้างคนมาช่วย เพียงแต่ว่าของเรามันเล็กๆ จิ๊บๆ ก็ทำกันเอง พอได้กินได้ใช้ อาศัยว่าคิดอะไรไม่ออกก็กินข้าวไปอะไรไป คิดไปตามศักยภาพของเราว่าพอจะทำอะไรได้ ก็ทำไป บางทีถ้าไปคิดการณ์ใหญ่ แต่เราไม่มีเวลา ไม่มีเงิน มันก็ทำไม่ได้ เราไม่ต้องไปคิด หรือบางอย่างคิดได้ แต่เวลาไม่มีก็เลิกคิดอีก 

ค่อยๆ ทำ ตั้งแต่เล็กๆ ?
ใช่ๆ ก็ค่อยๆ ขยายเพิ่มเป็นร้านกาแฟ เพิ่มที่นั่ง

หุ้นส่วนนี่มาเจอกันได้ยังไง
เจอกันที่นี่แหละ ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไรกันหรอก 

คือไม่ได้ทำร้านเองเต็มตัว ?
เราไม่ได้เป็นหลัก เหมือนกับเป็นเจ้าของที่ ไม่ใช่เจ้าของร้านเต็มตัว เป็นคนเสริม แต่การทำร้านจริงๆ คือไม่ใช่เรา เวลาแบ่งกำไรกันก็ให้เขาไปเจ็ดสิบ เราสามสิบ จริงๆ ตรงนี้เหมือนรายได้เสริม อาชีพเสริม ทำก่อนไปทำงาน เที่ยงก็มาช่วยที่ร้าน ถ้าไม่มีธุระ มาช่วยเสิร์ฟบ้าง ช่วยดูแลบ้าง กินข้าวบ้าง เพราะที่ทำงานมันห่างจากนี้แค่กิโลฯ สองกิโลฯ

ญาติพี่น้องมีใครสนใจมาทำอะไรที่น่านไหม
เขาอยู่ทางโน้น การจะมาทำอะไรทางนี้มันยากอยู่ 

ร้านเปิดตั้งแต่กี่โมง ?
หกโมงเริ่มเปิด เจ็ดโมงก็พร้อมเกินครึ่ง แต่อาจยังไม่เสร็จทั้งหมด บางทีก็มีลูกค้ามากินแล้ว เราก็ขายไปเรื่อยๆ จนถึงเย็น ทำนู่นนี่บ้าง เวิร์คบ้างไม่เวิร์คบ้าง ปรับเปลี่ยนไป

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นใคร ?
คนน่านนี่แหละ คนเหนือ ถ้าเป็นกลางวันก็คนทำงาน เช้าคนเขามาทำงานผ่านมากินข้าวหน่อย คนใต้ยังมีน้อย วันหนึ่งได้เจอคนใต้สักคนนึง คนใต้จริงๆ แทบไม่ค่อยมี นานๆ หลงมาที

รู้จักกันหมดมั้ยคนใต้ในเมืองน่าน ?
ไม่เชิง มันก็จะมีกลุ่ม มีสโมสรอะไรอยู่ มีคนรู้จักกัน ถ้าคนมากินข้าวที่นี่ก็จะเป็นคนน่านนี่แหละ คนใต้เขาอาจจะทำกินเอง ถ้ามีครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น

ไม่ได้ขายนักท่องเที่ยวหรือมีรถทัวร์รถตู้มาลง ?
นานๆ ที อีกอย่างมันเป็นอาหารเฉพาะ เป็นข้าวแกงปักษ์ใต้ มันไม่เหมือนก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ข้าวซอย น้ำเงี้ยว อาหารเหนือ บางคนเขามาเหนือก็อยากกินอาหารเหนือ ความคาดหวังของคนก็อาจจะอยากกินอาหารเหนือ คล้ายๆ ว่าอาหารใต้กินตรงไหนก็ได้ อยู่กรุงเทพฯ ก็มีเยอะแยะ มาน่านแล้วยังมากินอาหารใต้อีก ก็เหมือนเวลาไปทะเลเราก็อยากกินซีฟู้ด ถ้าไปทะเลแล้วอยากกินข้าวซอยน้ำเงี้ยวมันก็แปลกประหลาด (หัวเราะ) 

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนน่าน ต้องปรับรสชาติอาหารไปตามลิ้นของคนในพื้นที่ไหม ?
จริงๆ อาหารใต้ไปเปิดตรงไหนก็ยากนะ ที่ยากคือถ้าอย่างร้านตามสั่งหรือร้านทั่วไป ข้าวแกงภาคกลาง รสชาติจะเผ็ดจัดก็ไม่จัด แต่กับอาหารใต้นี่หลักๆ มันก็จะขึ้นชื่อเรื่องเผ็ดร้อน เผ็ดจัด มันยากตรงว่าบางคนที่ชอบก็จะชอบไปเลย บางคนก็อาจจะรู้สึกว่าเผ็ด ไม่อยากกิน มันเผ็ดเกินไป

อาหารใต้ต้องรสเผ็ด ?
จริงๆ ไม่ได้มีเผ็ดไปทั้งหมด เรามีพะโล้ มีหมูหวาน มีไก่ต้มขมิ้น หมูต้มชะมวง อะไรที่จืดก็มี ไม่ได้เผ็ดร้อนไปทั้งหมด 

ส่วนไหนของอาหารใต้ที่ว่ายาก ?
มันยากตรง อาหารอื่นก็ทำไป ไม่เผ็ดไม่อะไร แต่พออาหารใต้นี่มันต้องเผ็ด พอเผ็ดคนก็จะมีความรู้สึกว่าไม่อยากกิน บางคนมากินยังรู้สึกว่าเผ็ดมาก เราก็ต้องหาสูตร หาส่วนผสมยังไง ถ้าทำแบบไม่จัดจ้านก็จะโดนบางคนว่าเอาใจคนพื้นที่ เอาใจคนเหนือ แต่ถ้าเผ็ดเหมือนทางโน้น ขนาดคนกินรสจัดๆ ทางนี้บางทีอาจจะกินไม่ได้ อาจจะรสจัดเกินไป สู้ไม่ไหว เขาก็ไม่มา ที่ยากก็คือว่าจะหาความเหมาะสมยังไง

ซึ่งก็ได้ความเหมาะสมแล้ว ?
ความจัดจ้านก็อาจจะมี แต่ไม่ได้เหมือน อาจจะเรื่องวัตถุดิบ วัตถุดิบเรื่องของพริกที่เอามาใช้ เพราะทางน่านส่วนใหญ่เขาจะเรียกว่าพริกจินดาหรือพริกแจวเป็นหลัก ทางใต้เขาใช้พริกชีหรือพริกแบบเหลืองๆ ส้มๆ ตอนอ่อนๆ มันจะเหลืองๆ ตอนเริ่มสุกมันจะเริ่มแดง อย่างพริกแจวที่เราใช้ เปลือกมันจะออกแข็งๆ เหนียวๆ อาจจะด้วยข้อจำกัดของวัตถุดิบบางอย่าง แต่เราก็ต้องมาหาสูตรที่เหมาะสมว่าพริกก็อาจจะพอได้ คนกินเผ็ดก็ยังได้อยู่ คนกินไม่จัดก็พอได้ มันยากตรงนี้ไง เหมือนที่บอก เผ็ดมากไปคนไม่กิน เราก็นั่งเฝ้าถาดเฝ้าหม้อ ส่วนที่เราพยายามก็คือว่าให้เผ็ดอยู่ อาจจะลดพริกลงไปนิดหนึ่ง แต่ส่วนผสมอย่างอื่นครบเครื่อง สมมุติถ้าไปกินทางใต้ ร้านนี้อาจจะแค่เจ็ดสิบหรือแปดสิบเปอร์เซ็นต์ หรือเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของบางคน ไม่ถึงร้อย แต่ว่าไม่ถึงร้อยนี่คือส่วนผสมอย่างอื่นเราถึงหมด ข่า ตะไคร้ ขมิ้น กระเทียม พริกไทยดำ เราใส่หมด ใบมะกรูดผิวมะกรูดพวกนี้ หอม กระเทียม ครบเครื่อง ไม่ได้ลดหรือตัดตัวใดตัวหนึ่งออกไป

ราคาอาหารมีการปรับขึ้นบ้างไหมตั้งแต่เปิดร้าน
ปรับบ้าง เพราะบางอย่างมันแพง เดี๋ยวนี้อะไรมันก็แพงหมด อย่างหมูเมื่อก่อนตอนเปิดร้านใหม่ๆ ยังไม่ถึงร้อยด้วยมั้ง เจ็ดแปดสิบเอง เดี๋ยวนี้หมูร้อยแปดร้อยเก้าแล้ว อย่างเนื้อ ก็ต้องขายแพงอยู่แล้ว เพราะเนื้อมันแพง บางเมนูเป็นกุ้ง เราก็ปรับ 

แต่น้ำพริกกะปิฟรี ?
ผักสดน้ำพริกกะปิฟรี อาหารใต้ต้องเป็นเอกลักษณ์ ต้องมีผักสดน้ำพริกกะปิ นี่ก็เป็นต้นทุนของเรา ร้านทั่วไปอาจจะไม่มี ยกเว้นร้านลาบมีผักสด แต่อย่างเราไปกินข้าวแกงภาคกลางก็ไม่มีใช่มั้ย ไม่มีผักสด ไม่มีน้ำพริกกะปิ 

จำเป็นต้องมีใช่ไหมน้ำพริกกะปิ ผักสด ไม่มีไม่ได้ ?
ถ้าไม่มีมันก็ไม่ใช่ ก็เหมือนกับหลายๆ อย่างของอาหารไทย เช่น ต้มยำ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ สมมุติเราไปอยู่ต่างประเทศ คือถ้ามันไม่มีอย่างนี้มันก็ไม่ใช่ เหมือนที่บอกนั่นคือเอกลักษณ์ของอาหารใต้ ทางเหนือทางอีสานเขากินลาบกินอะไรเขามีผักเคียง แต่ทางใต้นี่ข้าวแกงมันก็ต้องมีน้ำพริกกะปิ มีผัก คือหนึ่งมันเป็นสมุนไพร สอง อาหารมันเผ็ดร้อน ก็เอาผักมาเคียงไปอะไรไป บางทีแตงซื้อมากิโลฯ ละยี่สิบสามสิบ ถั่วฝักยาวสามสี่สิบ กิโลฯ นึง เราให้ลูกค้าฟรีๆ ไม่อิ่ม คุณก็ไปเติมได้ มันอาจจะไม่ได้มีความสมบูรณ์เป็นสะตงสะตออย่างทางใต้ พอมาอยู่ทางนี้มันแพง สะตอฝักหนึ่งเป็นสิบกว่าบาท บางช่วงฝักละยี่สิบบาทเลยก็มี เป็นกิโลฯ ที่ขายในแมคโครนั่นสามสี่ร้อยเลยมั้ง สะตอที่แกะเมล็ดแล้ว 

ตำวันต่อวันเลยไหมน้ำพริก ?
ใช่ๆ ส่วนใหญ่วันต่อวัน

มีเยอะไหมลูกค้าที่ตักน้ำพริกและผักแล้วกินเหลือ
ถามว่าเยอะไหม บางทีก็อาจจะวัดยาก โอเค บางคนกินเหลืออยู่น้อยก็ยังพอได้อยู่ แต่บางคนเหมือนจิ้มสองสามที บางคนก็ตักเหมือนประดับบารมี เราก็ต้องทิ้งหมดแหละ ถ้าเหลือ เพราะจะไปรู้ได้ไงว่าคุณจะกินหรือไม่กิน พอออกมาจากตรงนู้นแล้วเราก็ต้องทิ้งหมด บางคนก็เหมือนมากับผู้ใหญ่ ก็คือตักมาไว้ก่อนแล้วผู้ใหญ่ไม่กิน 

มีวัตถุดิบอะไรบ้างที่ต้องสั่งมาจากพัทลุง ?
ก็มีเคยปลา กะปิปลา กะปิแกง กะปิสำหรับทำน้ำพริกกะปิ แถวบ้านผมก็จะมีกะปิสองแบบนี่แหละ กะปิทำแกงก็แบบนึง กะปิสำหรับทำน้ำพริกก็อีกแบบนึง ตอนเปิดร้านใหม่ๆ พริกแกงเราสั่งจากพัทลุงมาเลย กิโลฯ ละร้อยกว่า ค่าส่งก็เพิ่มอีก ค่าขนส่งกินไปอีก เดี๋ยวนี้ค่าขนส่งแพง หลังๆ พริกแกงเราก็มาทำเอง ซื้อเครื่องบดมาจากใต้ เครื่องบดสแตนเลสตัวใหญ่ๆ บดอย่างดี เหมือนที่เขาบดพริกแกงกันทางใต้ เรามาบดเอง มาใส่ส่วนผสมเองตามสูตรทางใต้ ไม่มีสารกันบูด อาศัยว่าเราทำบดแล้วก็แช่ตู้เย็นไว้ บางทียังไม่ถึงอาทิตย์หมดก็บดใหม่

ขายหมดทุกวันไหมอาหารแต่ละวัน ?
ส่วนใหญ่ก็หมด เพราะทำไม่มาก แต่ทำหลายอย่าง คนกินไม่เยอะ เราก็ทำไม่เยอะ บางอย่างหมดแล้วหมดเลย บางอย่างพวกผัดอะไรง่ายๆ ถ้ามีสั่งมาก็ค่อยทำเพิ่ม

เมนูไหนขายได้มากในแต่ละวัน
แกงไตปลา ปกติก็ทำเยอะหน่อย อย่างหมูหวานทำไม่เยอะ ถ้ามีคนสั่งค่อยทำเพิ่มไป เพราะหมูเรานึ่งไว้แล้ว หรือคั่วกลิ้งเราก็มีหมูบดหมูสับอยู่แล้ว ถ้าหมดก็ทำเพิ่ม

อาหารใต้พัทลุง กับตรัง อาหารใต้นครฯ เหมือนกันมั้ย ?
ไม่เหมือนซะทีเดียว ก็เหมือนเวลาคนพูด ภาคใต้เหมือนกันยังพูดไม่เหมือนกันเลย หรืออย่างคนเหนือ ลาบน่าน ลาบแพร่ ลาบเชียงใหม่ ถ้าลงรายละเอียดจริงๆ ก็ไม่เหมือนกัน ภาษาพูด เชียงใหม่จะพูดยาวๆ เนิบๆ หวานๆ แต่บางที่พูดเร็ว อย่างแม่ฮ่องสอนนี่เขาพูดไทยใหญ่ไปเลย หรือค่อนไปทางฝั่งลาวก็แบบเหมือนเหนือผสมลาวผสมอีสานไปทางนู้น

อาหารพัทลุงต่างจากจังหวัดภาคใต้อื่นๆ ยังไง ?
ผมก็บอกไม่ถูก มันก็คงต่างกันแหละ แต่ต่างแบบไหนเราก็ไม่ใช่เซียนอาหารนะ แต่ว่ามันต่างกันอยู่ ผมไม่กล้าออกความเห็น กลัวจะไม่ตรง เพราะเราก็ไม่ได้เชี่ยวชาญหรือเคยศึกษาเรื่องอาหารมาแบบเป๊ะๆ 

มีช่วงที่ขายไม่ดีไหม ตั้งแต่ทำเปิดร้าน ?
ถ้ามันไม่ดีก็คือช่วงที่มันหยุดยาวนั่นแหละ ของเราขายคนพื้นที่ ไม่ได้เน้นนักท่องเที่ยว ลูกค้าก็อาจจะกลับบ้านบ้าง หรือญาติพี่น้องมาก็ทำกินกันเอง

เริ่มจากร้านอาหารใต้ ต่อเติมในส่วนของร้านกาแฟ มีแผนอยากจะทำอะไรเพิ่มอีกไหม
ที่พักก็สนใจนะ ถ้ามีทุนก็อยากทำ เกษียณแล้วก็พอมีรายได้ เราไปดูบางที่บางร้าน เขาก็ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ค่อยสะสม แต่งร้านทีละนิดละหน่อย ไม่ได้เป็นหนี้ แต่บางคนบอกว่าช้า เลยเริ่มจากการเป็นหนี้ กู้มาเลยสองล้านสามล้าน คนเรามีหลายแบบ บางคนเริ่มจากเล็กๆ เอากิ่งไม้เอาเศษไม้มาวาง ปลูกหญ้าตรงนี้ ตรงนั้นเอาต้นไม้มาปลูก ไม่ต้องเอาไม้ล้อมไม้ใหญ่ให้มันทันใจอย่างนั้น ค่อยๆ ทำไป บางคนเอาบ้านเก่ามารีโนเวท ก็แล้วแต่

ส่วนตัวมีหนี้สินไหม
มันก็หนี้สินปกติ เราไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมาก่อน ก็มากิน มาใช้ มาหา พ่อแม่ไม่มีสมบัติทิ้งไว้ให้ ทำงานข้าราชการ เงินเดือนก็อย่างว่า

ในฐานะของคุณพ่อลูกสอง อยากให้ลูกเติบโตแบบไหน
แล้วแต่เขา พ่อแม่ทุกคนก็อยากคาดหวังที่ดีที่สุดนั่นแหละ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ต้องไปตั้งหวังให้มันสูงหรอก ขอทั่วๆ ไป เป็นคนดี ให้เขาดูแลตัวเขาเองได้ จังหวะช่วงชีวิตหนึ่งก็ยกทรัพย์สินมรดกให้เขาไป ไม่ต้องไปหวงอะไร ลูกเขารับผิดชอบได้ ถ้าเขาอยากได้ ก็เอาไปเลยลูก ทำให้มันเกิดประโยชน์ ส่วนถ้ามันจะเจ๊ง ก็เรื่องของเขา เราไม่ต้องไปกอด ไม่ต้องไปหวง ไม่ใช่ว่ารอกูตายก่อนนะลูกเน้อ กว่าจะตาย จะอายุร้อยปีหรือเปล่าล่ะ ตอนนั้นลูกอาจจะอายุห้าสิบ.. ก็คงหมดไฟแล้ว ไม่ได้เอาไปต่อยอด

อะไรสำคัญสุดในการทำธุรกิจ
น่าจะเริ่มจากความตั้งใจของเรา อะไรที่เราตั้งใจมันน่าจะดี ความตั้งใจ ความต้องการ ความเอาใจใส่ ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินนะ สองคือถ้าเราได้รู้ลึกรู้จริงมันก็ยิ่งดี

อนาคตมีแผนกลับไปอยู่บ้านที่พัทลุงไหม
คงไม่กลับแล้ว ครอบครัวอยู่ที่นี่ ลูกเมียอยู่ที่นี่.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ กัญชญา อิสรวิถี

You may also like...