ตุลาคมปีที่แล้ว nan dialogue ลงบทสัมภาษณ์ของ แช่น-กันต์ฤทัย ธุระกิจเสรี นักศึกษาไทยในอังกฤษไปแล้วครั้งหนึ่ง
ตัวท็อปที่น่าน ถูกตบที่เตรียมฯ เติบโตจากอักษรฯ อินเตอร์ฯ กำลังสร้างตัวตนในอังกฤษ
พฤศจิกายนปีนี้ หญิงสาวเรียนจบและเริ่มต้นทำงานแล้ว (อยู่ในกลุ่ม Big 4 ซึ่งเป็น 4 บริษัทประเภท Professional service ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ช่วงเวลาเพียงปีเศษๆ จากรั้วมหาวิทยาลัย ใครคนหนึ่งเคลื่อนย้ายบทบาทและคลาสเรียนไปสู่โลกของผู้ใหญ่ โลกธุรกิจการงาน จะหนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี เวลามีค่าเหนือการประเมินค่า เราจงใจจดบันทึกเรื่องราวนี้อัพเดตไว้อีกครั้ง เพื่อแสดงผลเชิงประจักษ์ว่าขณะที่ชีวิตหนึ่งเดินหน้าไป วันเวลาผ่านไป ผ่านไป และผ่านไป ประเทศที่รักของเราเดินหรือหยุด ผู้นำรัฐบาลและผู้มีอำนาจเดินหรือหยุด หรือถอยหลัง
ก่อนเปิดประตูเข้าห้องเรียน แวะไปเที่ยวกันสักหน่อย ฟังประสบการณ์เดินทางสั้นๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และไปบินเยอรมนีคนเดียว เที่ยวสี่วัน หญิงสาวพบเจออะไร..
“ประทับใจเยอรมนีมาก คิดว่าน่าสนใจกว่าอังกฤษ อาจจะพออยู่นานเริ่มวน ชิน ไปที่ใหม่ๆ ทำให้ตั้งคำถามย้อนกลับมาที่เราอยู่ เกิดข้อเปรียบเทียบ”
แค่สี่วัน จะเห็นอะไรมากมาย ?
“เป็นไปได้ว่าอาจเห็นแต่ข้อดีมั้ง ชอบพิพิธภัณฑ์คนยิวที่แฟรงก์เฟิร์ต เล่าเรื่องนาซี สงครามโลกครั้งที่สอง น่าสนใจว่าประเทศที่ไปทำกับคนอื่นขนาดนั้นทำไมถึงยอมสร้างมิวเซียมคนยิว เห็นแล้วพบว่าเขาตระหนักในประวัติศาสตร์ ตั้งใจทำให้เด็กรู้จริงๆ ไม่เหมือนอังกฤษที่ไปล่าอาณานิคม แต่ไม่พูดถึงเลย ขณะที่คนเยอรมันเขายอมรับ ทำให้ประทับใจมาก คอนเทนต์ดี มีโซนให้เด็กเล่น สร้างบ้านแบบคนยิว ทำขนมปังแบบคนยิว ได้เรียนรู้คัลเจอร์ พูดถึงตอนสงคราม เยอรมนีทำอะไรเขาบ้าง มีมุมเขียนแหก เขียนด่านักการเมืองดังๆ นักปรัชญาคนนั้นคนนี้เหยียดคนยิว เขายอมด่าคนของตัวเองเพื่อยอมรับว่าเกิดอะไรขึ้น
“ได้เห็นภาพทางโรงเรียนพาเด็กมาศึกษา เราไม่ค่อยเห็นสิ่งนี้ในอังกฤษ ยังพูดอยู่ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นเจ้าโลก เคยไปดูพิพิธภัณฑ์สงครามที่อังกฤษ เขาพูดว่าตัวเองไปชนะที่นั่นตั้งสองรอบ คือยึดติดว่าเก่ง เหมือนยังผยอง เทียบกับเยอรมันเราจะเห็นความแตกต่าง ระบบขนส่งสาธารณะสะอาดกว่า ดีกว่า ช่วงที่ไปมีข่าวว่าเขากำลังจะออกตั๋วเดือน ราคา 9 ยูโร ขึ้นได้ทั้งรถไฟ รถบัส เพื่อให้คนจนเดินทาง พรมแดนประเทศแถวนั้นติดกัน เลยไม่แยกฉันเธอ ต่างจากอังกฤษ ภูมิศาสตร์การเมืองอาจมีผลต่อวิธีคิด เป็นเกาะอยู่คนเดียว ฉันเก่ง ฉันดี เด็กรุ่นใหม่อาจอยากเข้ายูโร แต่ผู้ใหญ่ดีใจที่ได้ออกจากอียู ..ก็ดี ได้เห็นแต่ละประเทศ รู้สึกชอบเยอรมนีเป็นพิเศษ การเล่าประวัติศาสตร์เขาทำถึงขั้นนั้นได้ ไม่เพียงแค่ไม่ชาตินิยม แต่ยอมรับข้อเสียของประเทศตัวเองด้วย มันต้องแฟร์จริงๆ กับการรับรู้ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีกลิ่นอายชาตินิยมหลงเหลือเลย
“ส่วนสวิส ที่จำได้คือแพงมาก (หัวเราะ) แพงจนอยู่ไม่ได้ ..อยู่ยุโรป มีความสุขกับความเรียบง่าย ทางเท้าดี อากาศดี แค่ออกไปเดินก็มีความสุข แต่กับคนไทย ถ้าเอามาโพสต์แบบนี้ว่ามีความสุขง่ายๆ มันจะดูน่าหมั่นไส้ ทั้งที่จริง ถ้าประเทศเราดี สิ่งนี้มันน่าจะให้กับทุกคนได้จริงๆ โชคร้ายว่าเรายังเดินทางไปไม่ถึงจุดนั้น อยู่กรุงเทพฯ ต้องมีเงิน จะไปกิน ไปเที่ยว นั่งบีทีเอส ต้องใช้เงินเยอะ เดินก็ไม่ได้ มีเงื่อนไขในความสุขตลอดเวลา คือต้องยอมรับว่าคุณภาพเมืองมีผลต่อไลฟ์สไตล์และแนวคิดของคนมากๆ”
ผ่านอารมณ์ผ่อนคลายแบบหนักๆ คราวนี้มาฟังชีวิตนักศึกษาไทยในอังกฤษ
“จบตั้งแต่เดือนมิถุนาฯ ค่ะ รับปริญญาแล้ว ผ่านพ้นช่วงเรียนหนัก” ระหว่างรอเริ่มงานแรกที่โน่น แช่น กันต์ฤทัย บินมาน่านเพื่อพบปะครอบครัว พักสมอง
“ที่มหา’ลัย มีชมรมเยอะ เลยเรียนไปด้วย ทำกิจกรรมด้วย Durham เป็นเมืองเล็กๆ ไม่หวือหวา ไม่มีที่ช็อปปิ้ง ส่วนใหญ่ก็ไปห้องสมุด ไปปิกนิกกับเพื่อน ทำงานที่ปรึกษาในชมรม เคยมีลูกค้าเป็นมูลนิธิในอินเดีย ผู้หญิงโดนกีดกันการศึกษา เขาให้ช่วยสร้างแบรนด์ ทำยังไงให้น่าเชื่อถือ คนจะได้บริจาค โปรเจ็กต์นั้นทำสามเดือน ประชุมทุกวีก มีเมนเทอร์อาสามาช่วย คอลคุยกับลูกค้าที่อินเดียตลอด ถามเขาว่าอยากได้อะไร ถือเป็นไฮไลต์ที่ได้ทำ เนื้อหาเป็นเรื่องสังคมที่เราสนใจ พวกสิทธิสตรี การศึกษา อีกชมรมหนึ่ง ไปประสานงานอีกมูลนิธิหนึ่งกับประเทศเคนยา ทำเกี่ยวกับน้ำสะอาด เพราะที่แอฟริกา ระบบประปาไม่ดี เด็กติดเชื้อ คนมีประจำเดือน ล้างไม่ได้ ทำให้ขาดเรียน ก็ช่วยประสานงานระหว่างมหา’ลัยกับมูลนิธิ เป็นตัวกลางช่วยคุย และจัดงานครั้งหนึ่งในวันสตรีสากลโลก”
หลักๆ คือกิจกรรมสองอันนี้ นอกนั้นเรียนและอยู่กับเพื่อน ?
“อ้อ เคยอาสาไปช่วยงานบ้านแมว คุณป้าคนหนึ่งเค้าเปลี่ยนที่จอดรถเป็นที่พักแมวจร รับเงินบริจาค เพื่อเอามาซื้ออาหาร อาบน้ำ ทำหมัน พอมันดูดีเขาจะประกาศหาคนรับเลี้ยง ป้าแก่แล้ว เราไปช่วยเขาทำความสะอาดกรงแมว เล่นกับแมว คือเอาแรงเด็กไปช่วย เคยไปมาสองครั้ง อยู่ช่วยงานทั้งวัน คุณป้าทำแซนด์วิชให้กินด้วย น่ารักดี”
การเรียนเป็นยังไงบ้าง ?
“ก็ดี ช่วงโควิดไม่ได้เข้าห้องเล็กเชอร์มาปีกว่า ตื่นเต้น ชอบบรรยากาศการอ่านแล้วมาถกกัน ช่วงฝึกงานก็ได้สกิลเพิ่ม จบแล้วขอพักวิชาการ อยากหาความรู้ผ่านการลงมือทำ เลยยังไม่เรียนต่อ ป.โท”
ยากมั้ย การเรียนที่โน่น ?
“พอดีว่าชอบในสิ่งที่เรียน เลยไม่ใช่ปัญหา ถ้าไปเรียนหมอคงทุกข์ (หัวเราะ) แช่นเรียนคณะสังคมวิทยา สนุก เป็นคนชอบ learning ไม่ชอบนั่งในกล่อง ชอบเรียนรู้ เห็นโลกภายนอก ทำงาน”
เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองยังไงบ้างมั้ย ?
“คิดว่าควบคุมชีวิตตัวเองได้มากขึ้นนะคะ ทำตามแพลน จะปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ได้แล้ว ทำหลายอย่าง สมัครงาน เรียนด้วย สี่ห้าอย่างในวันเดียวกัน ต้องคุมให้ได้ บอกตัวเองว่าห้ามไถมือถือนานเกิน หรืออย่ามัวแต่ดูเน็ตฟลิกซ์ ทำงานก่อน หรือเรื่องออกกำลังกายที่ไม่เคยทำ ก็พยายามไปวิ่งทุกวัน นอกนั้น.. ปีนี้เปิดใจในการคอนเน็กต์กับคนอื่นมากขึ้น ยังชอบอยู่คนเดียว แต่เพื่อนก็น่ารักกับเรา ปีสุดท้ายแล้วน่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อนชวนไปทำขนม ไปเที่ยว บางทีเหมือนไม่ได้สาระมาก อ่านหนังสือสนุกกว่า แต่ปีสุดท้ายพยายามไปเจอเพื่อน นั่งเล่น คุยเล่น สุดท้ายกลายเป็นโมเมนต์ที่ดี ตัดสินคนให้น้อยลง เปิดใจมากขึ้น หาเพื่อนใหม่หลายๆ วง บิวต์ความสัมพันธ์กับเพื่อนให้ดี บาลานซ์การอยู่คนเดียวกับการอยู่กับคนอื่น เฮลตี้มากขึ้น กว่าตอนมาใหม่ๆ สงบใจกับตัวเองมากขึ้น”
เพื่อนเป็นคนที่ไหนบ้าง ?
“อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ คนไทยก็มีสนิทบ้าง ในฟีลคนไทย ขณะที่เพื่อนต่างชาติเขาจะเล่าเรื่องประเทศเขา มันน่าสนใจดี คนไทยบางทีติดหรู ดูรวยๆ รวยมาก มันก็คนละฟีลกับเรา แช่นว่าเด็กแต่ละประเทศมีอารมณ์ของตัวเอง คนรวยจีนกับรวยฮ่องกงก็ต่างกัน จีน อาจจะติดแบรนด์เนมหน่อย ถ้าอินเดีย เขาตั้งใจเรียนมาก ติดดิน สรุปคือใครจะเป็นยังไงมันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมเขาด้วย ก็ดี ได้เห็นหลายๆ แบบ สลับไปมา อยู่กับคนไทยบ้าง ต่างชาติบ้าง แต่ตอนหลังคิดว่าเพื่อนคนไทยหาเมื่อไรก็ได้ คนต่างชาติไม่มีโอกาสเจอบ่อยๆ เลยอยู่กับเขามากหน่อย จัดเวลาแฮงเอาต์ สนุกดี”
อยู่อังกฤษ ว่างตามข่าวสารเมืองไทยบ้างมั้ย ?
“ตามบ้าง แต่อยู่ไกลอาจไม่อินเท่าคนที่นี่ ตามทวิตเตอร์บางทีก็ท็อกซิก มีแต่คนด่ากัน เรื่องกัญชา ข่าวประชุมสภา มีไฮไลต์อะไรก็อ่าน คือการด่า การวิจารณ์ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่เราต้องมองให้รอบ เรามายังไง จะไปยังไงต่อ อย่างกลับมาไทยรอบนี้ก็ตั้งคำถามอยู่ เช่น ทำไมแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร อยู่อังกฤษ ดึกแค่ไหน เรียกอูเบอร์ มันดูปลอดภัย ถึงแม้หลับในรถก็ไม่โดนอะไร สบายใจ ความปลอดภัยดี บ้านเรามันไม่ได้น่ะ นั่งแกร็บดึกๆ เพื่อนต้องโทรฯ ตามตลอด อูเบอร์ที่โน่นรู้สึกได้ว่าปลอดภัย แต่ทุกอย่างมันโยงกับการเมืองด้วย ถึงอยากให้บ้านเราแก้โครงสร้าง”
ขณะที่โลกก้าวหน้าไป มองมาเมืองไทย มันเท่าเดิมหรือก้าวหน้า ?
“เทคโนโลยีก้าวหน้า หรือคุณชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯ คนดีใจกันเยอะและรอลุ้นว่าจะยังไงต่อ เริ่มมีอีเวนต์นั่นนี่ โอเค เพิ่งเริ่มคงยังแก้จุดใหญ่ไม่ได้ แต่จุดเล็กเราเห็นแนวโน้มว่าน่าสนใจ เขามาจากคนที่ประชาชนโหวตมาจริงๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ค่อยปลดล็อกไปทีละจุด และต่างจังหวัดควรได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ บ้าง ..กลับมาไทย ไม่ได้มองว่าเป็นเจ้า กลับมาช่วยประเทศไทย แต่คิดว่า ถ้าเรามีความรู้ความสามารถ ก็อยากกลับมา ไม่ใช่อี๋ ไม่อยากอยู่ ไม่เจริญ อยากไปอยู่ยุโรป ทุกประเทศมีโพเทนเชียลที่จะพัฒนาได้ เพื่อนหลายคนที่ไปเรียน ป.โท พอได้คุย ก็เห็นเลยว่าเขามีแพสชั่น อยากกลับมาไทย อยากบริหารให้หลายๆ อย่างดีขึ้น บางคนเรียนเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา เขามีความรู้และอยากกลับมา ก็ดีนะที่ทุกคนแคร์บ้านเมือง เห็นโลกกว้าง รู้จุดอ่อนจุดแข็งแล้วเอาข้อดีของแต่ละที่มาปรับใช้ ดูว่าอะไรเวิร์ก”
แต่คุณคือ.. ยังไม่อยากกลับตอนนี้ ?
“ไหนๆ ไปแล้วน่ะค่ะ เรื่องวีซ่าด้วย จากนักเรียนเป็นทำงาน มันต่อได้เลย ก็คิดว่าขอทำงานที่โน่นสักพัก”
งานอะไร ?
“ที่ปรึกษาธุรกิจ รับงานรัฐบาลด้วย กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข และมีลูกค้าพวกมูลนิธิใหญ่ๆ ด้วย ทำเป็นทีมๆ ละ 5-10 คน แล้วแต่ขนาดโปรเจ็กต์ 2-6 เดือน จะเพิ่มกำไรยังไง ลดค่าใช้จ่ายยังไง หรือเจาะตลาดใหม่ยังไง ธุรกิจออกแนวสังคมมากขึ้น ลดคาร์บอนยังไง ทำให้แรงงานดีขึ้นยังไง คุณภาพสาวโรงงาน บริษัทที่ทำคล้ายๆ เอเจนซี่ ช่วยคิดให้เขา ต้องทำงานกับข้อมูลและลูกค้า รีเสิร์ชมา วิเคราะห์ให้เขา เสนอแนวทางว่าควรทำไงต่อ เลือกงานนี้เพราะสนุก ได้ทำกับลูกค้ากับหลายๆ อุตสาหกรรม ได้เห็นหลายวงการ พลังงาน การบิน แฟชั่น หรือองค์กรรัฐบาล ..เป็นบริษัทเอกชนที่มีสาขาทั่วโลก 190 ประเทศ เมืองไทยก็มี บริษัทนี้เริ่มต้นที่อเมริกา แต่สำนักงานใหญ่อยู่ลอนดอน บางประเทศมีหลายสาขา ตามหัวเมือง หนูเคยตั้งแพลนว่าอยากทำงานในองค์กรบริษัทใหญ่ๆ สักครั้งในชีวิต อยากรู้ว่าเขาทำงานยังไง อยากเจอคนหลายๆ แบบ เพื่อนบางคนจบมาอยากทำของตัวเองเลย start up แต่เราอยากทำกับคนอื่นก่อน อยากได้คอนเน็กชั่น ได้เจอคนที่มีหลายๆ แนวคิด”
ณ นาทีนี้ เมื่อส่งข้อความไปถามข่าวคราวอัพเดต แช่นตอบว่า “ตอนนี้กำลัง training ช่วงท้ายๆ คือก่อนเริ่มงานจริง บริษัทจัด training 5 สัปดาห์ ให้คนที่เริ่มงานใหม่ที่เข้าพร้อมกันปีนี้มาเทรนด้วยกันก่อน โดยฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม, พรีเซนต์งาน, ใช้โปรแกรมที่สำคัญให้เป็น, ทำให้สนิทกับคนในบริษัทมากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือความหลากหลายของบริษัทค่ะ มีคนจากหลายชาติมากกว่าที่คิด ไม่ได้มีแค่คนอังกฤษ มีเพื่อนจากทุกทวีปเลยค่ะ ทั้งไทย จีน โคลอมเบีย ไนจีเรีย ฮ่องกง อียิปต์ แต่ละคนจบจากหลายสาขามาก ทั้งสังคมวิทยา วิศวะฯ รัฐศาสตร์ เคมี ทั้งๆ ที่งานเกี่ยวกับธุรกิจเป็นหลัก มันดีนะ การที่ background แต่ละคนต่างกัน ทำให้เวลาทำงานได้เสนอมุมมองที่ต่างกันไปด้วย ทำให้การแก้ปัญหาให้ลูกค้ารอบด้านมากขึ้น”
ได้อะไรจากการเป็นนักเรียนอังกฤษ ?
“รู้ว่าจบไป ได้เงินเดือนเหมาะสม หรือสมมุติตกงาน ก็มีเงินเดือนจากรัฐมาช่วยเลี้ยงสองสามเดือน ช่วยให้คนทำอะไรได้ตามความฝัน นี่คือความรู้สึกที่เขาให้กับประชาชน การผ่านมหา’ลัยนี้ สำหรับคนอังกฤษเองมันคือพรีวิเลจเหมือนกัน แต่มันก็เป็นระบบสังคมที่สนับสนุนให้คนกล้าทำอะไรก็ได้ เอาจริงๆ อังกฤษเหลื่อมล้ำทางชนชั้นเยอะ แต่มีหลายๆ โครงการมาช่วยบ้าง อาจไม่เพอร์เฟ็กต์ แต่มีมากกว่าบ้านเราแน่นอน ทำให้คนกล้าทำ เช่น เรียนสายสังคม แต่สมัครงานในแนวธุรกิจได้ เราเป็นแค่เด็กต่างชาติ แต่เราสมัครงานที่นี่ได้ เพราะเขาไม่กีดกันเชื้อชาติ สีผิว เพศ ที่โน่นการเขียน Resume เขาห้ามใส่หน้า อายุ เพศ กระดาษขาวโล่งๆ ไม่มีใบหน้า บอกแค่ชื่อ จบ เพื่อลดการเหยียดหรืออคติในทางโครงสร้าง การรับคนทำงานเขาเน้นความหลากหลาย ผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลือง เวลาพีอาร์ก็มักไม่เอาคนขาวมาแปะ เพื่อบอกว่าคนเท่ากันนะ เราทำได้นะ เคยมีคนทำได้ โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ สีผิว ลึกๆ แล้วคนขาวยังครองบริษัทนั่นแหละ แต่อย่างน้อยเขาพยายาม”
เงินเดือนน่าพอใจมั้ย ?
“พอใจอยู่ค่ะ พอกินพอใช้ มีเก็บ เราเป็นเด็กจบใหม่ ลองแบบนี้ไปก่อน ตั้งแต่แรก พอเราเห็นคนเอเชีย คนอินเดีย ทำได้ คิดว่าจุดนี้สำคัญ ทำให้เรามั่นใจ เหมือนเด็กน่าน อยู่ป่าเขา คนอีสาน วันหนึ่งได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ตำแหน่งดีๆ ทำให้มั่นใจ ตรงกันข้าม ถ้าคนไม่รู้ หรือระบบสังคมซัพพอร์ทไม่ดีพอ อาจวนลูปเดิม ซึ่งไม่ใช่ความผิดเขา แต่โดนมัดมือชกด้วยระบบสังคม อีกอย่างคือเรื่องบันไดทางสังคม สังคมที่ดีคือทุกคนสามารถไต่เต้าจากชาติกำเนิดขึ้นไปได้ พ่อแม่คุณอาจไม่ได้เรียนหนังสือ แต่รุ่นลูกก้าวหน้าได้ ไปได้ดีกว่าพ่อแม่ ฐานะ ชาติกำเนิด คุณไปได้หมดโดยไม่มีเพดาน”
ในนามของนักศึกษาไทยคนหนึ่งซึ่งไปอยู่ยุโรปแล้วจริงๆ ความรู้สึกมันคือเท่าเทียมนานาชาติหรือยัง หรือด้อยกว่า ?
“เทียบกับฝรั่ง ปีแรกไม่ถึงกับกลัว แต่รู้สึกว่าไม่ใช่ที่ของเรา แต่พอปีสุดท้าย บอกตัวเองว่าเราคู่ควรกับมัน เราได้วีซ่า เราจ่ายค่าภาษี และประกันสุขภาพเหมือนที่คนอังกฤษจ่าย สัญชาติเหมือนเรื่องสมมุติ เรามีสิทธิเท่าเขา แต่ถ้าเทียบกับคนไทยกันเอง หนูไม่เชื่อในคำว่า Model Minority คนที่เก่งสุดในชนกลุ่มน้อย หนูไม่อยากตั้งตัวหรืออยากให้คนมองแบบนั้น เพราะเอาตามตรง เทียบกับคนไทยอื่นๆ เราเกิดมาโชคดี พ่อแม่ซัพพอร์ททางการเงินได้ ก็ไม่อยากบอกว่า นี่ ฉันทำได้ คนอื่นก็ต้องทำได้ หนูเข้าใจว่าคนอื่นอาจไม่มีโอกาสเท่าเรา เรามาได้นี้เพราะเราโชคดีด้วย อยากบอกว่าตัวเองโชคดีมากกว่าจะบอกว่าตัวเองเก่ง ยอมรับจุดนี้ก่อน ที่บ้านซัพพอร์ทดี โอเค มีคนรวยกว่าเรามาก และเขาอาจไม่ขวนขวาย อยู่ที่การเลี้ยงดู เขาต้องการคนละแบบกับเรา แต่ถึงเราเกิดมายังไง ถ้าใฝ่รู้ มันก็ช่วยเราได้”
หญิงสาวบอกว่าเข้าใจคนที่ต้องต่อสู้ เรียนไป ทำงานไป “เข้าใจจริงๆ ว่าต้องลำบาก เขามีอุปสรรคมากกว่าเรา เหมือนเด็กบ้านรวยที่ขึ้นบันไดเลื่อนไปรับปริญญา แต่เด็กบ้านจนต้องตะเกียกตะกาย ก็อยากบอกว่า เราไม่ใช่คนเด่นดี หรือตัวแทนหมู่บ้านเอเชีย ก็แค่คนธรรมดาที่โชคดี และชอบเรียนรู้ การชอบเรียนรู้ไม่ได้ฆ่าใคร”
เท่าที่เจอ คนไทยในอังกฤษเป็นยังไงบ้าง ?
“เพื่อนของเพื่อน บอกไม่ได้ว่ารวยแค่ไหน รู้แต่รวยมากๆ แบรนด์เนมทั้งตัว สมมุติเรียกแท็กซี่ ต้องพรีเมี่ยม ราคาบวกไปอีกสามเท่า นั่งรถลีมูซีน มันเว่อร์มาก เหมือนในละครจริงๆ เท่าที่รู้ คนพวกนั้นไม่ค่อยอยู่ทำงานต่อ แต่จะกลับไปทำธุรกิจที่บ้าน พ่อฝากเข้าบริษัทตัวเอง ยังไงก็มีงาน ไม่ได้บอกว่าเขาไม่เก่ง แต่เขาโตมาบนกองเงินกองทองจริงๆ ไม่มีหรอกที่จะมาสมัครงาน 18 ที่เหมือนหนู (หัวเราะ) กลับมาไทย พวกเขามีตำแหน่งแมเนเจอร์สวยๆ คือรวยแบบ.. บ้านอยู่ตรงข้ามช็อปชาแนลในลอนดอน แบบเว่อร์มาก เอาแม่บ้านจากไทยไปอยู่ด้วย มีห้องนอนแม่บ้านด้วย อยู่อังกฤษ แต่ตื่นเช้ามาได้กินข้าวผัดผักบุ้ง เหมือนเป็นคนไทยที่ไม่ได้อยู่ผืนดินเดียวกับเรา บางคน.. เขาไม่รู้เลยว่าข้าวที่ไทยจานละเท่าไร ให้เดา เขาว่าสองร้อยมั้ง คือโลกของเขาไม่รู้เลยจริงๆ ว่าอาหารข้างทางที่เมืองไทย 40-50 บาท”
ไม่ได้แกล้ง ?
“เขาไม่รู้จริงๆ กับคนไทย ต้องดูว่าคนแบบไหนเข้ากับเราได้ ติดดินเหมือนเรามั้ย พ่อแม่มีตังค์ส่งจริง แต่ไลฟ์สไตล์ปกติ ไม่ได้บ้าแบรนด์เนมทั้งตัว กินอาหารทีเป็นคอร์สใหญ่ๆ กินทุกวีก เซ็ตหนึ่งเป็นหมื่นบาท มันเว่อร์จริงๆ ค่ะ เหมือนดูละคร เสาร์อาทิตย์ช็อปในห้าง ซื้อชาแนล คือสุดมาก คนไทยในอังกฤษ ขณะที่ทางบ้านหนูสอนมาอีกแบบ ไม่ตามกระแส เอาเงินไปเที่ยว กิน แบบคนปกติ”
เที่ยวกลางคืนมั้ย ?
“ไปบ้าง ที่นั่นมีผับเต้นๆ หนูชอบเต้นกับเพื่อนมากกว่า ไปผับ อยู่กับคนแปลกหน้ารู้สึกไม่ปลอดภัย เบียดๆ กัน ไม่ชอบ ไปแล้วเหนื่อย ไม่ผ่อนคลาย ปกติชอบไปบาร์แจ๊ส กรุงเทพฯ มีหลายร้าน เมืองที่หนูอยู่ไม่มีบาร์เท่าไร เป็นเมืองนักเรียน เด็กไปกินเหล้า เมา ไปผับ ไม่ใช่ฟีลเรา”
ชอบนั่งกินเหล้า ฟังเพลงสบายๆ ?
“ใช่ๆ ชอบแจ๊ส เหล้าเอาจริงๆ ก็ไม่อร่อยเท่าไร ถ้าชีวิตนี้ไม่ให้กิน ก็คือได้ เหล้าอร่อยแค่บางอย่าง ไม่ถึงกับชอบ กินได้ อยู่กรุงเทพฯ ชอบไปบาร์แจ๊สแถวพร้อมพงษ์ อารีย์ ทองหล่อ ไปนั่งฟังเพลงชิลๆ นั่งคุยกับเพื่อนในบาร์คนทำงานที่เขามาพักผ่อนตอนเย็น”
เอาแบบเร็วๆ ทำได้ทันที เมืองไทยของเราน่าทำอะไร ให้มันพัฒนาเหมือนชาวโลก ?
“เยอะมาก เช่น ระบบที่ใช้มือถือสื่อสารได้ เพื่อให้คนเข้าถึง การเดินทางที่ทำให้ง่ายขึ้น เรื่องการรักษาพยาบาล จองคิววัคซีน จองผ่านเว็บไซต์ได้เลย ที่ไทย ไม่รู้เขาลงทุนกับเว็บไซต์แค่ไหน ใช้ฐานข้อมูล ถ้าทำได้ มันง่ายมาก หรือเรื่อง.. บางบ้านไม่มีสมาร์ทโฟน คนบ้านนอกไกลๆ เราต้องมีห้องสมุดสาธารณะให้คนไม่มีคอมพ์ ไม่มีเน็ต มาใช้ได้ ที่ไทย หนูไม่รู้ว่าอินเทอร์เน็ตกระจายแค่ไหน รองรับทุกกลุ่มหรือยัง คือธุรกรรมอะไรก็ตามที่ทำกับรัฐ ที่อังกฤษเขาทำผ่านเว็บไซต์ได้หมด หน้าเว็บฯ Government UK ใช้ง่ายมาก ทั้งวีซ่า พาสปอร์ต ภาษี เว็บฯ เดียวกันหมดเลย เข้าใจง่าย ไม่ต้องสีสันเยอะ การเข้าถึง การใช้งานสะดวก เท่าที่รู้ คนไทยใช้สมาร์ทโฟนติดท็อปเท็นของโลก แต่รัฐบาลไม่เอาจุดนี้มาเชื่อมการบริการให้ง่ายขึ้น มันไม่ใช่อะไรที่เราไม่มี”
แช่นบอกว่าค่าหอพัก รวมอินเทอร์เน็ต ไวไฟ หรือซิมก็ราคาเท่าบ้านเรา เดือนละสี่ร้อย เน็ตไม่อั้น
“พอไปอยู่ ถ้าไม่นับค่าบ้าน หนูว่าค่าครองชีพอื่นๆ ราคาเท่าไทย หมู แชมพู ผัก ของใช้บางทีถูกกว่าอีก มีร้านทุกอย่างหนึ่งปอนด์ คือสี่สิบบาท ไม้ถูพื้น สบู่ แพงสุดคือค่าบ้าน ที่อังกฤษกฎหมายเอื้อนายทุนเหมือนกัน อาจไม่ดีเท่าทางสแกนฯ ค่าบ้านแพง ออกกฎหมายให้แลนด์ลอร์ดเก็บเท่าไรก็ได้ ไม่มีค่าขั้นต่ำ คนเลยเป็นโฮมเลสเยอะ พอไปอยู่ก็เห็นปัญหาของอังกฤษหลายอย่าง แต่โครงสร้างพื้นฐานเขาดีกว่าไทยแน่ๆ มั่นคงหมดแล้ว การเมือง โรงพยาบาล การศึกษา”
มันติดอะไร มันต่างตรงไหน ทำไมประเทศด้อยพัฒนาจึงยังไม่พัฒนาสักที ?
“การพัฒนา เราคงไม่ต้องตามยุโรปเพราะแบ็คกราวนด์ไม่เหมือนกัน คนเอเชีย โครงสร้างการทำงาน ระบบราชการยังติดอุปถัมภ์เยอะ แม้แต่ญี่ปุ่นก็มีระบบอาวุโส ต้องนอบน้อมผู้ใหญ่ หรือจะทำให้ผู้ใหญ่เสียหน้าไม่ได้ คือมันก็เท่ากับเริ่มต้นด้วยการมองคนไม่เท่ากัน เลยฝังรากลึกในระบบการปกครอง การจะพัฒนา วัฒนธรรมต้องแยกจากการเมืองให้ได้ หนูเชื่อในความเท่าเทียม เสมอภาค ขจัดความเหลื่อมล้ำ ถ้ากระจายอำนาจเรื่องนี้ได้จะเริ่มปลดล็อกปัญหาอื่นตามมา
“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ญี่ปุ่นทำได้ดีกว่ากรุงเทพฯ มีโอซาก้า โตเกียว เคยคุยกับเพื่อน ที่เยอรมนี เขาไม่มีมหา’ลัยอันดับหนึ่งอันดับสอง มีแค่มหา’ลัยตามหัวเมือง ไม่มีแรงกิ้ง จุฬาฯ ดีสุดอะไรทำนองนั้น ของเขาคือเท่ากันตั้งแต่แรก พอคุณภาพเท่า งบก็เท่ากัน อาจารย์ดีๆ กระจายไปทั่วประเทศ ความเท่าเทียมเลยเจริญกระจายได้หมด ไม่กระจุก บ้านเราไม่เจริญเพราะกระจุกอยู่ที่เดียว การศึกษาโดนกด ไม่ให้คิด เลยไปไม่ไกล สิ่งที่ถูกต้องคือเด็กต้องตั้งคำถามได้ เนื้อหากระตุ้นให้เด็กตื่นตัวกับสิ่งรอบตัว ไม่ใช่สอนแค่ว่า ร.1 ถึง ร.10 ทำอะไรบ้าง คือพูดแล้วมันเกี่ยวกันทุกเรื่อง หนูว่าปีนี้กับสิบปีข้างหน้าก็น่าจะเห็นความต่างอยู่ ค่อยดีขึ้น ตอนนี้ได้ยินว่าโรงเรียนบางแห่งก็ไม่อิงเจ้า ไม่ชาตินิยม กำลังทดลอง
“นักวิจัยเก่งๆ มีเยอะ ติดที่ไม่มีงบ มี แต่เอาไปลงเรื่องอื่น หนูว่าหลักๆ ที่ต้องเริ่มก่อนเลยคือเรื่องกระจายอำนาจ กับเรื่อง mindset แล้วก็การมองเจ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทั้งที่จริงทุกคนควรวิจารณ์ทุกอย่างได้ เพื่อพัฒนา ถ้าวิจารณ์ไม่ได้ ก็ไม่ต้องพัฒนาอะไรกันพอดี”
ไปอยู่ ไปเห็นประเทศที่เจริญแล้ว เคยรู้สึกมั้ยว่าไม่อยากกลับบ้าน เกลียดบ้านเกิดตัวเอง ?
“ไม่เกลียด ยิ่งเห็นที่อื่นดี ยิ่งอยากให้ที่นี่ดีขึ้น แค่บางทีมันก็รู้สึกบ้างว่า-อิหยังวะ (หัวเราะ) มีกลุ่มคนที่กีดขวางความเจริญจริงๆ เอาอำนาจไว้เท่านั้น เอาผลประโยชน์ตัวเองเท่านั้น แช่นเกลียดคนที่ทำให้เมืองไทยไม่เจริญมากกว่า ไม่ได้เกลียดประเทศ ความไม่เจริญคืออาการจากคนไม่ดีที่ทำแบบนี้ไว้ ศัตรูจริงๆ ของประชาชนคือคนที่กุมอำนาจ คนที่คงระบบนี้ไว้ หนูไม่ชอบคนพวกนี้ ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมเห็นแก่ตัว”
เป็นอาการที่มองเห็นแล้วยังไม่ถึงกับสิ้นหวัง ?
“ไม่ค่ะ เพราะเรารู้ว่าเรามีชีวิตอยู่ เราทำไปเพื่ออะไร และเอนจอยสิ่งที่ทำ ณ ตอนนี้ ถ้าไม่มีความสุขเลย มันเหนื่อยมากแน่ๆ ถ้าไม่รู้ว่าทำทำไม แช่นว่าเราต้องรู้ว่าทำเพื่ออะไร กับมีความสุขในสิ่งที่ทำอยู่ และอาจต้องมีเพื่อนหรือคนที่มีไฟ มาเติมไฟให้กัน ต่างคนต่างไม่สิ้นหวัง”
ยังไงก็ยังไม่ถึงขั้นว่ามองมาแล้ว ปัญหามันเยอะจนทนไม่ไหว เอาคืนไม่ได้ จะตายกันหมดแล้ว ?
“ถ้าเกิดเห็นข่าวก็รู้สึกบ้าง เช่น ตั๋วช้าง โอ้โฮ หนักและหลายชั้นจริงๆ จนไม่รู้จะแก้อันไหนก่อน หรือเรื่องค้ามนุษย์ เห็นแล้วปวดหัวมาก เขาทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ ประเทศไทย หรือเรื่องเกี่ยวกับการฟอกเงิน ไทยก็หนัก ทุกประเทศก็หนัก แก้ยาก แต่ค่อยทำไปได้ คนอังกฤษเหยียดคนดำก็มีอยู่ คนละแบบกับอเมริกา ก็พยายามแก้ ไม่สิ้นหวัง ที่ชัดๆ เลยตอนนี้คนรุ่นลูกกับพ่อแม่ก็คิดไม่เหมือนกันแล้ว มันก้าวหน้าอยู่ ถ้าช่วยกันขับเคลื่อน แต่ศัตรูอาจเป็นกลุ่มอำนาจเก่าเหมือนเดิม ก็หวังว่ามันจะเปลี่ยน ถ้ากล้าตั้งคำถาม
“แย่ แต่ยังหวัง เมืองไทย การศึกษาด้อยกว่าที่อื่นในเอเชีย ผลสอบไม่ดี มันเป็นอาการของระบบที่แย่ ต้องแก้ที่คนคุมระบบ”
แช่นบอกว่าการกลับมาอยู่บ้านสองเดือนก็รู้สึกเอนจอยอยู่ เทียบกับช่วงโควิดที่อยู่ๆ ต้องบินกลับบ้าน ช่วงนั้นสุขภาพจิตแย่มาก อุตส่าห์ไปอยู่อังกฤษหกเดือนแล้ว ทำใจลำบาก แต่ตอนนี้โอเค ห่างบ้านก็มีโฮมซิก คิดถึงเพื่อน คิดถึงพ่อแม่ อยู่ไกลบ้านย่อมเหงาบ้าง แต่การต่อสู้กับความเหงายังดีกว่าถ้าอยู่ที่นี่แล้วโกรธ แต่ไม่ทำอะไร หรือทำไมไม่สู้
“ค่อนข้างอินดีเพนเดนต์อยู่แล้ว คบเพื่อน แต่ไม่ตามใคร อยากทำงานไหน ถ้าเพื่อนไม่สมัคร หนูก็สมัครอยู่ดี เพื่อนใหม่หาได้เรื่อยๆ และไม่ทิ้งเพื่อนเก่า ยิ่งโต หนูว่าคนอื่นเขาไม่แคร์เราขนาดนั้นอยู่แล้ว เขามีชีวิตของตัวเอง เราก็มีชีวิตของเรา ถ้าคนเราตัดสินใจทุกอย่างโดยอิงกับคนอื่น มันไม่น่ามีใครได้ดีทั้งคู่ ทุกคนโตๆ กันแล้ว ดูแลตัวเอง ทางใคร ทางมัน ว่างก็มาเจอกันบ้าง หนูชอบเจอเพื่อนและชอบอยู่กับตัวเอง”
มั่นใจมาก ว่าเพื่อนใหม่หาได้เรื่อยๆ ?
“มันจะมาเอง ปีหนึ่งเจอคนเยอะ รอ ใช้เวลา การจะมีเพื่อนใหม่ต้องมีเหตุการณ์ได้เปิดใจกัน เช่น งานปีใหม่ ปาร์ตี้ อาจจะนั่งจิบไวน์ กินไปคุยไป ยิ่งโตขี้เกียจมีดราม่าเรื่องเพื่อน แค่ไม่ทำตัวร้ายต่อกัน จริงใจ แชร์ทัศนะกัน ก็โอเคนะคะ”
สนใจการบ้านการเมืองน้อยลงมั้ย ?
“ไม่ๆ ยังสนใจเหมือนเดิมค่ะ แค่อาจมีเวลาตามน้อยลง เพราะที่ผ่านมางานเยอะ แต่ติดตามตลอด ทั้งเมืองไทยและที่โน่น ขนหนังสือไทยไปอ่าน การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว เลนส์การมองโลกเป็นแบบนี้ไปแล้ว เอาง่ายๆ อย่างเรื่องทรูจะซื้อดีแทค มุมรัฐศาสตร์มันคือผูกขาด แต่คนเรียนธุรกิจอาจมองว่าบริษัทเขาเก่งจัง ทำได้ไง ความรู้มันเชปการมองโลก อยู่ที่ใครสะสมความรู้มาแบบไหน กว้างขวางหรือคับแคบ.”
บทสัมภาษณ์โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์