interview

มาแล้ว ‘ยืน หยุด ขัง’ ที่น่าน ติ๊กต่ายรับไม้แบมตะวัน ‘ไทยเฉยเราจะตายกันหมด’

สิบปีก่อน ตอนข่าว ‘อากง sms’ แรงๆ เราแบ่งผู้คนในสังคมไทยได้สองกลุ่ม กลุ่มแรก ตระหนักรู้ถึงรากปัญหา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กลุ่มที่สอง–ใครคืออากง ?

เรื่องร้ายแรงและวิปริตปานนั้น มันมีจริงๆ มีเสมอ กับคนที่อ่านหนังสือออก ใฝ่ธรรมะ ใช้อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ทว่าไม่รับรู้เลยถึงความป่าเถื่อนอยุติธรรมที่รัฐไทยกระทำต่อประชาชน

กรณี ‘แบมตะวัน’ ก็คล้ายกัน ยังมีอยู่แหละกลุ่มคนสุขสบายที่ปิดหูปิดตา ไม่ไยดีชะตากรรมมนุษย์ กระทั่งเยาะเย้ยสมน้ำหน้าเหล่านักสู้ผู้กล้า แต่โลกก็มีคนอีกบางจำพวกที่ ‘ขอไม่ยอม’ อาสาเปิดหน้าลุกขึ้นสู้ และสนับสนุนให้ปลดปล่อยนักโทษการเมือง

‘ติ๊ก’ วิทยา ไชยคำหล้า อดีตพ่อค้าปลาทองวัยเบญจเพส บ้านเกิดอยู่เชียงใหม่ ตอนนี้ย้ายมาอยู่เวียงสา ผ่านเวทีม็อบมามาก ทั้งเชียงใหม่และนั่งรถไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ

‘ต่าย’ เอกสิทธิ์ ไทยน้อย คนนนทบุรี เรียนจบ ม.บูรพา เคยทำงานที่ร้านหนังสือ The Writer’s Secret ของ บินหลา สันกาลาคีรี เป็นบาริสต้าที่ on the rose สองปีที่ผ่านมาขึ้นมาแสวงโชคที่น่าน มีที่ดินเล็กๆ แปลงหนึ่ง เขียนบทกวี เลี้ยงแมวสามสี่ตัว และรับจ้างทั่วไป

ทั้งคู่รู้จักกันผ่านค่ายฝึกเขียนเมื่อปลายปีที่แล้ว ถูกคอถูกใจร่วมอุดมการณ์ ‘คนเท่ากัน’ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย พวกเขาทนไม่ไหว ทนไม่ได้ที่จะนิ่งเฉยดูดาย เมื่อ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ อรวรรณ ภู่พงษ์ ถอนประกันตัวเองเดินกลับเข้าเรือนจำ ยอมอดข้าวอดน้ำ เอาชีวิตเข้าแลก เพื่อส่งเสียงต่อศาลให้คืนความยุติธรรม

เพื่อนพี่น้องคนหนุ่มสาวติดคุก คนข้างนอกถือป้ายไปยืนกลางสี่แยกเพื่อบอกเล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา

เย็นย่ำ, สี่แยกกลางเมืองหน้าพิพิธภัณฑ์ ถนนคนเดินหน้าวัดภูมินทร์ บางคนไปหาของกิน บางคนไปดีดกีตาร์ร้องเพลง บางคนนัดหวานใจไปดินเนอร์ในบรรยากาศกระซิบรัก ติ๊กกับต่ายถือป้ายไปเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา ยกเลิก ม.112

ที่รู้จักกันมานาน ชายวัยใกล้ๆ สามสิบคนนี้ไม่ได้ชื่อต่ายหรอก แต่ตำรวจเรียกเขาแบบนี้ ไม่รู้ไปจำมาอีท่าไหน คนบอกก็บอกตรงๆ คนเรียกงง จำผิดเฉย หนุ่มนนท์คนชอบดื่มเบียร์บอก เอาๆ ต่ายก็ต่าย

ชื่อมันเรื่องเล็ก คนที่อดข้าวเอาชีวิตเข้าแลกโน่นเรื่องใหญ่ กระบวนการยุติธรรมที่หน้าด้านไม่ยอมยุติธรรมสักทีนั่นก็ด้วย เรื่องใหญ่มาก

เรื่องมันเป็นมายังไงถึงออกมายืน ?
ต่าย “ติ๊กไปทำกิจกรรมที่เชียงใหม่ ขากลับ เขาทักมาว่าอยากทำ ‘ยืน หยุด ขัง’ ที่น่าน ก็เลยถามกันว่าที่ไหน ยังไงดี สรุปว่าเอาเลย เย็นวันรุ่งขึ้น พุธที่ 25 มกราฯ มีผม ติ๊ก และเพื่อนอีกคนหนึ่ง”

เป็นการตัดสินใจออกไปยืนครั้งแรก ?
“ใช่ ถ้าไม่นับพวกกิจกรรมที่ทำในกรุงเทพฯ”

มันต้องใช้ความกล้าหาญ หรือประเมินความเสี่ยงยังไงบ้างกับการจะออกไปทำอะไรแบบนี้ ?
“ผมไม่คิดมากนะ รอคนเปิดมากกว่า พอติ๊กบอกจะเอา เราเอาด้วย ..ประเมินความเสี่ยงมั้ย เราว่าคนในคุกเขาเสี่ยงกว่าเรา เขาเสียอะไรไปเยอะกว่าเรา เราแค่ไปยืนถือป้าย ไม่ได้เหนื่อยอะไรนักหนา”

ย้อนไปดูตรงเหตุผลอีกที เพราะอะไรประชาชนคนหนึ่งถึงต้องออกไปยืนบอกให้ศาลทำตัวให้เป็นศาล ?

ต่ายบอกว่า “เพราะมันมีคนที่กำลังจะตายอยู่จริงๆ เพียงเพราะเขาเรียกร้องความยุติธรรม ประเทศแบบไหนกันที่คนต้องเอาความตายของตัวเองไปแลกกับความยุติธรรม เราดูว่ายังไม่มีคนที่น่านทำกิจกรรมอะไร ไม่เห็นใครเลย คุยกับเพื่อนชื่อจั๊ม เขาบอกน่านก็เป็นแบบนี้แหละ น่านเนิบเนิบ ชอบอยู่เงียบๆ จนเงียบไปหมด ไม่มีคนทำ เราเลยต้องออกไป”

ยิ่งไม่มีใครทำ มันยิ่งต้องใช้ความกล้าเยอะขึ้นไปอีกหรือเปล่า การตัดสินใจที่จะออกไปยืนกลางแจ้ง ?
“เราเป็นตัวประหลาดมั้ง ตำรวจมาถาม น้องเป็นคนที่ไหน อยู่น่านมั้ย ไม่รู้จะตอบอะไร กูรู้ว่ากูคนไทย และมันมีเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ มีคนกำลังจะตายจริงๆ ทำไม ถ้ากูเป็นคนที่อื่นแล้วกูยืนที่นี่ไม่ได้เหรอ ..ถามว่าต้องใช้ความกล้าแค่ไหน ไม่มีหรอก ก็แค่ยืน ตั้งใจแต่แรกด้วยว่าจะไม่ปิดหน้า ไม่ใส่แมส ตอนหลังตำรวจเขาก็เล่นประเด็นนี้ ทำไมน้องไม่ใส่แมส พี่ยังใส่เลย คือเราตั้งใจแบบนี้ว่าไม่ปิดหน้า ติ๊กบอกว่าอยากให้ใส่ เราบอกไม่เอา”

โดยธรรมชาติจริงๆ เลย แง่ความกล้าหาญ ถ้าให้คะแนนตัวเอง คิดว่ามีความกล้าระดับไหน ?
“ไม่ค่อยว่ะ เป็นที่รู้กันว่าผมชอบการกินเบียร์เงียบๆ รักการอ่านหนังสือเงียบๆ ไม่ชอบการออกมาทำอะไรแบบนี้ แต่มันไม่มีคนทำ ไม่รู้สึกสะทกสะท้อนใจกันบ้างเหรอวะ เขากำลังจะตายน่ะมึง เออ เราคงรู้สึกกับมันมากมั้ง ทำให้เราต้องออกมา ทั้งที่ปกติคงไม่ใช่วิสัย”

หันไปทาง ติ๊ก วิทยา เขาบอกว่าน่านเคยมีม็อบโบว์ขาว มีและหายไปนาน

“น่านควรจะต้องมี ผมไปเชียงใหม่ ไปกรุงเทพฯ มันมีเพื่อนๆ ทำอยู่ เวลากลับบ้าน ผมอยากทำที่ใกล้บ้านตัวเองได้ พูดแบบนี้ไป เพื่อนๆ บอกว่า มึงดูดีๆ นะ ดูหน้าดูหลัง เมืองนี้มันรอยัลลิสต์จัด”

เขาพูดแบบนั้นแล้วคุณว่ายังไง ?
“ไม่กลัว แค่รู้สึกว่าคงจะดีมาก ถ้าสังคมช่วยกันตั้งคำถามในสิ่งที่เราทำ มันไม่ได้จะสื่อสารให้คนแตกแยก แบ่งซ้ายขวา ไอ้เหี้ยนี่สามกีบ แต่เราอยากโชว์ข้อความที่สื่อสารว่า ม.112 กับ ม.116 มีปัญหาจริงๆ ให้ทุกคนตั้งคำถามว่ามึงมาทำอะไรกันเนี่ย อยากให้เพื่อนในโซเชียลรับรู้ อยากให้คนน่านรับรู้ เดินตลาดก็รู้ ในโซเชียลก็รู้ เราอยากเป็นส่วนนึง อยากเปิดตลาดน่านให้มีข้อถกเถียง มีอะไรสร้างสรรค์ ทำให้เห็นว่ามีคนต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม”

ไปยืนมาหลายวัน พบเจออะไรบ้าง ?
ต่ายบอกว่า “สองวันแรกเราตั้งเวลาว่าจะยืน 112 นาที ตั้งเวลาไว้ในมือถือ แต่ยืนได้ประมาณสี่สิบนาที รถตำรวจมาจอด ตำรวจในเครื่องแบบประมาณสิบคน ล้อมหน้าล้อมหลังเรา ถามเป็นใคร จากไหน”
ติ๊กเสริมว่า “เขาเข้ามาด้วยท่าทีเกรี้ยวกราด ถามว่าคุณเป็นคนจังหวัดไหน ใครส่งคุณมา พยายามจะเชิญตัวไปคุยที่โรงพัก ผมบอกไม่ไป เอาหมายมา เราแค่มาเรียกร้อง ไม่ได้ชุมนุมอะไรใหญ่โต แค่มาแสดงสัญลักษณ์”
ต่าย “จะเอาเราไปให้ได้”
ติ๊ก “เขางง ช็อกที่ไม่เคยเจอแบบนี้ เขาว่าเราไม่ใส่แมส ผมบอกไม่ใส่แล้วยังไง กฎหมายมันยกเลิกไปแล้ว คุณไม่รู้ข่าวเหรอ พูดแบบนี้เขาโกรธ โกรธจัด เดินไปไหนไม่รู้ สักพักกลับมา เอาตำรวจบ้านชุดลายพรางมาเต็มหลังรถกระบะ กดดัน ล้อมหน้าล้อมหลังเรา”

ใช้คำพูดยังไง คำถาม หรือข่มขู่ ?
ติ๊ก “เจอหน้าเรา เขาวางตัวเป็นศัตรู ไม่อ่าน message ไม่ดูเนื้อหา”
ต่าย “เหมือนเขาตกใจ น่านไม่เคยเจอแบบนี้ มีสองกลุ่ม ในเครื่องแบบกับนอกเครื่องแบบ นั่งให้กำลังใจเราก็มี แต่เขาต้องถ่ายรูปส่งหัวหน้าเขา วันแรก นอกเครื่องแบบนั่งข้างหลังเรา ในเครื่องแบบมาถามว่า มากันกี่คน พวกข้างหลังด้วยหรือป่าว ซึ่งข้างหลังคือนอกเครื่องแบบ”
ติ๊ก “มันไม่รู้จักกัน”
ต่าย “เป็นอีกหน่วยนึง ปกครอง ทหาร ตำรวจ แม่งเยอะไปหมด มีหลายส่วน”

โดยเป้าหมายคือมาบอกให้หยุด ?
ติ๊ก “ใช่”

แล้วที่บอกว่ายืนได้ถึงนาทีสี่สิบแล้วยังไงต่อ ?
ต่าย “เราต่อรอง บอกพี่ ผมขอยืน 112 นาที เขาบอกแล้วจะรู้ได้ไงว่า 112 นาที เราโชว์มือถือ จับเวลาไว้ ยืนไปสักพัก เขาถาม น้อง เหลือกี่นาที เราก็ยกมือถือให้ดูว่าเหลือเท่านี้ สักพักมาอีกละ น้อง เหลืออีกกี่นาที ..ก็นี่ไง ดูเอา

เขาไม่มีนาฬิกาเหรอ ?
ต่าย “ไม่รู้แม่ง”
ติ๊ก “เขาบอกให้เราไปยืนข้างใน พยายามเปลี่ยนที่ เราบอก ผมประเมินแล้วว่าตรงนี้ได้ ไม่ขวางทางจราจร ไม่ได้เหยียบย่ำอะไรด้วย เขาบอกให้ไปข้างใน มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมอยู่แล้ว เราบอกว่าต้องการสื่อสาร message ให้คนเห็น ไม่ใช่ให้ต้นไม้เห็น”

สรุปคือทำให้หวั่นไหว หวาดกลัว เจอแบบนี้คิดจะเลิกยืนมั้ย ?
ต่าย “เพิ่งเริ่มวันแรกเอง เลิกได้ไง”
ติ๊ก “รู้สึกได้เลยว่าคนกลัว ไม่มีใครกล้ามาร่วมกับเรา เพราะเห็นเราโดนตำรวจล้อมขนาดนั้น”
ต่าย “ชวนใครก็ไม่มา บอกผ่านทางเครือข่ายนักเรียนน่าน ก็มาหย่อมนึง สี่ห้าคน เท่านั้นจริงๆ”
ติ๊ก “ไม่ถึงสิบ”
ต่าย “ไม่ถึง ยืนเจ็ดแปดวันแล้วก็ยังไม่ถึง”

เรื่องตำรวจ ทหาร ก็คุยกันจบไป ไม่มีอะไร ?
ติ๊ก “วันที่สองมาอีก มาถ่ายรูป ส่งงาน ยืนเรียง ข้างหลังแบกกราวนด์คือพวกเรา ถ่ายเสร็จเขากำลังจะไป ผมคิดว่ามันไม่ใช่ ไม่ได้ เลยวิ่งไปหาเขา ตำรวจวงแตก เราแค่จะไปบอก ไปคุยกับนายเขา เข้าไปคุยดีๆ ว่าผมมาทำตรงนี้ อยากให้พี่เข้าใจ ผมมาแสดงออก ส่งข่าว ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ส่วนกระดาษที่โปรย เราเก็บทุกครั้งแน่นอน เราแค่มาสื่อสารให้คนเข้าใจ เขาบอกว่าน้องก็ต้องเข้าใจนะ นี่คือหน้าที่ของพี่ พี่มาทำตามหน้าที่ของพี่ ผมบอก ผมก็มาทำตามอุดมการณ์ของผม ผมไม่ได้ต้องการคดีเพิ่ม ไม่ว่า พรบ. ความสะอาดหรืออะไรก็ตาม ข้าวของทุกอย่างเก็บทั้งหมด ไม่สร้างความเดือดร้อน ผมยื่นกระดาษให้เขา ที่เขียนยกเลิก 112 ปล่อยเพื่อนเรา อะไรพวกนั้น ผมต้องการให้เขารับรู้ในสิ่งที่ผมทำจริงๆ ไม่ใช่ว่าเจอหน้าก็มาไล่ผม มาเป็นศัตรูกับผม เขารับไป ก็โอเค ต่างคนต่างเข้าใจกัน ขอให้อยู่ในขอบเขต คุยกับเขาได้โอเค ก้าวผ่านไปขั้นนึง กูบอกมึงแล้วนะ ไม่ใช่ว่ากูไม่บอก นี่แหละ กูมีขอบเขต ที่ออกมาเรียกร้องมันมีกติกา มีขอบเขตอยู่ ไม่อยากให้เขาตื่นตกใจ”

เอาว่าเรื่องเจ้าหน้าที่ก็จบไป ?
ติ๊ก “แต่พวกนอกเครื่องแบบก็มาเฝ้าทุกวัน เขาเข้าใจ message เรา มาคุย มาถาม กินน้ำหรือยัง บางทีเอาน้ำมาให้”

รู้ได้ไงว่าเขานอกเครื่องแบบ ?
ติ๊ก “เขาแสดงตัวว่าเป็น”
ต่าย “เขาบอกเป็นทหาร มีลูกอยู่นครปฐม เล่ายาว เลี้ยงลูกยังไง ลูกไปม็อบ ผมก็ไม่ห้าม สรุปคือเขาเป็นคนก้าวหน้า ไม่ได้เป็นสลิ่ม”

พบเจออะไรอีก คนเดินผ่านไปผ่านมา เขาว่ายังไงกันบ้าง ?
ติ๊ก “พี่อั๋นอิ่มทุกคืน” ชายคนนี้ชื่ออั๋น แต่ตำรวจเรียกต่ายจนแทบจะลืมชื่อจริง

ต่าย “ใช่ๆ”
ติ๊ก “อิ่มตลอด”
ต่าย “มีกองเชียร์เดินไปเดินมา เขาจะรู้กันว่าเราทำอะไร ประชาชนชูสามนิ้วให้ บางทีหิ้วน้ำ หิ้วขนมมาให้”
ติ๊ก “ที่ประทับใจมาก น้องผู้หญิงสองคนในชุดนักเรียนสตรีศรีน่าน เขาวนมาถามเราว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาเห็นเรายืนแล้วตื่นตัว สักพักไปแล้วขับรถวนมาใหม่ ซื้อช็อกกาแลตสองอัน กับน้ำสองขวดมาให้เรา”

ได้คุยแลกเปลี่ยนอะไรหรือเปล่า ?
ติ๊ก “คุยๆ เขาพอจะรู้ว่า 112 เป็นข้อหาอะไร แต่ไม่รู้สถานการณ์ตอนนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่าแบมกับตะวันอดอาหาร เขารู้สึกว่าการที่เรามาทำอะไรตรงนี้ดูเหมือนจะลำบากหรือเปล่าวะ เลยซื้อน้ำซื้อขนมมาให้เรา message ที่อยากไปให้ถึงก็คือเยาวชนเหล่านี้แหละ อนาคตของเขาด้วย อนาคตของเราด้วยเช่นกัน”

มีใครมาคุยยาวๆ แบบเอาจริงเอาจังบ้างมั้ย ?
ต่าย “ของผมมีเป็นสิบนาที เด็ก ม.ปลายจากเชียงรายมาแข่งศิลปหัตถกรรม คำถามเขาฉลาด เขาถามผมว่า พี่ครับ มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ ตอนนั้นเราก็นึกในใจ คงไม่รู้จริงๆ สินะ (หัวเราะ) โอเค ได้ เราอธิบายว่าตอนนี้มีคนโดนคดี 112 น้องรู้ใช่มั้ยว่า 112 คืออะไร มันเป็นแบบนี้ๆ มีคนอดอาหารแบบนี้ ผมรู้สึกว่าคำถามเขาฉลาด เพราะจะมีอีกคนที่ตั้งคำถามโง่ ตอนนั้นติ๊กไปเพอร์ฟอร์มราดสีใส่ตัว แล้วเดินกลับมา สีหยดอยู่บนพื้น มีคนนึงเดินเข้ามาถาม เรากำลังเก็บของ เขาว่าสีที่เลอะพื้น น้องจะล้างป่าว คือนึกออกมั้ย เราออกมาเรียกร้องว่าคนกำลังจะตาย แม่งมาโฟกัสที่สีหยดพื้นว่าใครจะทำความสะอาด นี่คือคำถามที่โง่”

ได้ตอบเขามั้ย ?
ต่าย “ตอบ และเรายืนล้างให้เห็นๆ สีมันล้างออก เอาขวดน้ำมาเท ล้าง มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลคนข้ามถนนเอาน้ำมาช่วยล้าง
ติ๊ก “เราเลือกสีโปสเตอร์ที่ล้างออกได้”
ต่าย “ทำไมเราต้องสุภาพขนาดนั้นว่ะ (หัวเราะ) บางทีก็คิดว่าเอาให้แม่งเป็นจารึกซะหน่อยน่าจะดี”

เท่าที่ยืนมา หรือเท่าที่เจอ ผลออกมาเป็นแง่บวกหรือลบมากกว่า ?
ติ๊ก “บวกมากกว่า แต่ก็มีที่เอาเราไปโพสต์แขวน ถามว่ามาเรียกร้องสิทธิ หรือย่ำยีเมืองน่าน”
ต่าย “ชอบมาก เขาใช้คำว่าย่ำยี โคตรชอบ”
ติ๊ก “มันคิดได้ยังไงวะ”

เขาถามว่าย่ำยีหรือเปล่า แล้วคุณตอบยังไง ?
ติ๊ก “เป็นสิทธิเสรีภาพสิ มันอาจดูแปลกเพราะที่น่าน ผมอาจเป็นคนเริ่มตั้งคำถาม ผมไม่ได้เขินอะไร ผมว่าเขาต้องโฟกัสอะไรผิดไปหรือเปล่า เพราะเขารังเกียจเราไปแล้ว คิดว่ามาย่ำยี เขามองเราเป็นศัตรูไปมั้ย ทั้งที่เราพูดถึงกฎหมาย”
ต่าย “สำหรับเรา มันคือการใช้สิทธิอยู่แล้ว อะไรคือการย่ำยีของคุณ ถ้าจะอธิบายย่ำยีในโพสต์นั้น เขาคงว่าผมไปยืนตรงรั้ว เหมือนจะอ้างพวก พรบ. ความสะอาด ม.36 พยายามจะยัดข้อหา เราก็ขำๆ ไม่มีอะไรจะเล่นแล้วใช่มั้ย ย่ำยีอะไรวะ อยู่เฉยๆ สิ ย่ำยี ปิดหูปิดตาตัวเองขนาดนี้ มึงไม่ทุเรศตัวเองเหรอวะ กับการแสดงออกของกูกลายเป็นย่ำยี โห มึงเปราะบางเหลือเกิน”
ติ๊ก “เหมือนว่าน่านไม่ใช่ประเทศไทย บ้านฉันมันจะวุ่นวายไม่ได้ ใครออกมาเรียกร้องแปลว่าย่ำยี มันไม่ใช่หรอก”

ระหว่างที่ยืน 112 นาที บางทีเกินด้วยซ้ำ ที่บอกว่าตั้งแต่สี่โมงไปถึงสองทุ่มก็มี คิดอะไรขณะสองมือชูป้าย ?
ต่าย “บางทีก็อั้นน้ำตานะ เหี้ยแม่งทำไมคนไม่เห็นกันเลยวะ เดินผ่าน เมิน คือมันมีนะ คนที่ให้กำลังใจเรา รู้ว่าเราทำอะไร ขับรถผ่านแล้วชูสามนิ้วก็มี แต่แบบบางพวก มึงจะไม่สนใจจริงๆ เหรอ ต้องให้กูเอาป้ายไปทุบหัวมึงมั้ย คือเขาไม่เห็นเลย ..ตรงที่เรายืนมันมีธงรูปดอกทานตะวัน โลโก้ที่กลุ่มประเทศทวยออกแบบ เราเรียกร้องเพื่อเพื่อนเรา และหันไปมองเด็กๆ ที่เดินผ่านไปมา ที่ยืนก็คืออนาคตของคนพวกนี้ มีวันนึงติ๊กไม่อยู่ ผมยืนอยู่คนเดียวก็เอาเลย (ท่องบทกวี ‘สถาปนาสถาบันประชาชน’ ของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ออกมา) เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์.. ท่องไปประมาณสี่หน้า”

พูดเบาๆ ?
ต่าย “ใช่ ออกเสียงพอให้ตัวเองได้ยิน”

อ่านหนังสือมั้ย ?
ต่าย “พกไป แต่ไม่มีเวลาอ่าน เพราะเราอยากดูฟีดแบกคนที่เดินผ่านไปมา ไม่อยากโฟกัสแค่หน้าหนังสือ พกสถาปนาฯ ไป กูยืน ต้องได้ ยืนตั้งหลายชั่วโมง ต้องได้ แต่ยังไม่ได้ บทนี้ จะจำให้หมด”

ทางคุณล่ะ ยืนนานๆ ส่วนใหญ่ในใจคิดอะไร ?
ติ๊ก “ยืนจนกล้ามขึ้น ชูป้ายตลอด แทบจะมีเพอร์ฟอร์มทุกวัน เอาเลือดราดตัวเอง คิดว่าจะทำยังไงให้คนเขาเห็น รู้อยู่แล้วว่าโดนกดดันขนาดนี้คงหาคนมาร่วมกับเรายาก คิดว่าจะมี message ป้ายอะไร อ่านให้ชัด เพอร์ฟอร์มศิลปะที่เรียกร้องความสนใจให้ผู้คน ให้เห็นว่ามันเจ็บปวด เราเจ็บปวด เตรียมเลือดไป ใส่โซ่ตรวน มัดเท้า มัดมือ เดินไปเกาะกลาง ผมใช้ที่ตรงนั้นเป็นเซ็นเตอร์ มันคือสี่แยกกลางใจเมือง น่านมีไม่กี่สี่แยกหรอก มันเป็นเกาะกลาง น่าจะเป็นเซ็นเตอร์ ก็ไปตรงนั้น ยืนราดเลือดใส่ชุดขาว เดินลากโซ่ไปมา เลือดก็ไหลมาพร้อมกับน้ำตารู้สึกว่ากูไม่อายใครอีกต่อไปแล้ว ใครจะมองกูเป็นเหี้ยหรือคนบ้าอะไรก็ช่าง แต่ขอให้คนสนใจสารที่เราส่งไป ที่เราชูป้าย โฟกัสตรงนั้นมากกว่าและคิดว่ามันมีหวัง มีคนเข้าใจว่าเราทำเพื่อความยุติธรรม”

ถ้าย้อนมองอดีต คุณออกมาทำกิจกรรมการเมืองสักกี่ครั้งแล้ว ?
ติ๊ก “เยอะมากเลย ในรอบสองปีมานี้ ตอนเอเปคก็ไป โดนกระทืบยับเลย”

ที่ถูกจับนั่นคือจบสิ้นไปหรือยัง มีคดีอะไรมั้ย ?
“มีอยู่ครับ ต้องไปรายงานตัวที่ศาล กุมภาฯ นี้ก็ไป”

คดีอะไร ?
“ร่วมกันชุมนุม ฝ่าฝืน ต่อสู้ ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ร่วมกัน 25 คน โดยมีหน้ากาก การเผาพริกเผาเกลือเป็นอาวุธ ..เป็นข้อกล่าวหาที่แย่ ก็ไม่รู้จะยังไง”

ถูกรุมทำร้าย ?
“ใช่ เป็นความทรงจำที่เจ็บปวดพอสมควร”

โดนอะไรบ้าง ?
“ทะลุความเจ็บตัวไปแล้ว ใจมันขาดไปแล้ว”

โดยรากลึกๆ หรือเหตุผลหลัก ทำไมคุณถึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะแนวคิดอะไร หรือเหตุผลไหนที่คิดว่าจะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ?
“หลักๆ ก็จากชีวิต เราดิ้นรนมา ไม่ได้เป็นคนรวย เป็นลูกแม่ค้าข้าวแกงธรรมดา ค้าขายดิ้นรนมา ทำหลายอาชีพ ชีวิตเราถูกกำหนดกับเบื้องบนอะไรสักอย่าง กับโครงสร้างที่มันกำหนดชีวิตทุกคนว่าต้องลำบาก ปีนี้เราต้องทุกข์ ปีหน้าเราต้องสบายกว่านี้ ตั้งหน้าตั้งตาทำงานไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าชีวิตเราอาจเหมือนแม่ที่ต้องทำงาน ขายข้าวไปจนตาย จนวันนี้ยังไม่ได้เลิกทำเลย ผมไม่อยากเป็นแบบนั้น เลยเอาตัวเองมาอยู่ในการต่อสู้ เพื่อไปเปลี่ยนแปลงจากข้างบนลงมาข้างล่าง ผมรับร่วมด้วยทุกหลักการ ไม่ว่าจากล่างขึ้นบนหรืออะไรก็ตาม ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ ผมก็พร้อมจะช่วย ..ไปม็อบคณะราษฎร คืนแรกที่เขาฉีดน้ำ ก็อยู่แนวหน้าตรงนั้น ตั้งแต่นั้นคิดว่าไม่ยุติธรรม ยืนยันความจริงแล้วว่ารัฐไม่ได้สนใจประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชนจริงๆ เราเรียกร้อง เขากลับทำร้ายเรา เราจึงต้องลุกต่อสู้”

ของคุณมีพื้นฐานมายังไง อะไรบ้างที่มีอิทธิพลทางความคิด ?
ต่าย “ยากมากที่จะบอกว่าจุดไหน แต่บอกได้ว่าแม่เป็นสลิ่ม ตัวเราไม่ได้มีความเป็นสลิ่มอยู่แล้ว ไม่รู้ทำไม แม่อาจเลี้ยงให้เป็นอิสระ ถ้าถามความประทับใจที่สุดหรือจุดเปลี่ยนแปลงคิดว่าคือการได้อ่านหนังสือ ‘6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ ของ ธงชัย วินิจจะกูล เราได้เห็นว่าใครอยู่เบื้องหลังจริงๆ ที่ไม่พูดกันซะที และประวัติศาสตร์ไม่สอนกันซะที อันนั้นเป็นเรื่องเจ็บปวด และมารู้สึกมากอีกทีกับเสื้อแดง”

กับงานบทกวีของไม้หนึ่งล่ะ ?
“รู้จักทีหลัง ก่อนนั้นไม่ได้อยู่สายนี้ แม่เป็นสลิ่ม แต่ตาดูช่องเสื้อแดง เขาเป็นอัมพฤกษ์ นอนดูทั้งวัน ตอนนั้นเรายังเด็ก ไม่รู้เท่าไร แต่ไม่ได้รัก ไม่ใช่สายเชิดชูใครมาตั้งแต่เด็ก กับพี่นักเขียนก็ไม่ทัน จริงๆ ทัน แต่ไม่เคยเจอ เสียดายที่ไม่ได้พูดคุย”

ที่กรุงเทพฯ เคยทำกิจกรรมอะไรหรือเปล่า ?
“เดือนกันยาฯ ตุลาฯ ม็อบสามนิ้วกำลังแรง มีครั้งหนึ่งชวนกันอ่านบทกวี เหตุการณ์เริ่มจากวงเล็กๆ ที่แยกสายมาจากม็อบใหญ่อีกที ใช้โทรโข่ง ไม่รู้ของใคร เราเห็นว่าตรงนั้นมีพี่ๆ นักเขียนนั่งกันอยู่ เลยชวนอ่านตรงนั้น นั่นคือเวทีแรก จบเสร็จตื่นมา ทักเพื่อนไปว่ากูอยากจัดงานอ่านบทกวี เพื่อนก็ยุ เลยเริ่มประสานงาน หาสถานที่ โต๊ะเก้าอี้ หาเครื่องเสียง จบในหนึ่งอาทิตย์ ทุกอย่างรวดเร็วมาก กระแสม็อบดี ตั้งชื่อ ‘ไฟมันมา อย่าให้มอด’ ไปอ่านบทกวีกัน จากคนที่ไม่เป็นอะไรเลย ไม่เคยจัดงาน ก็ได้ลอง”

เป็นไงวันนั้น คนมาร่วมแค่ไหน ?
“เยอะ เกินความคาดหมาย เตรียมเก้าอี้เสริมแล้ว เพิ่มแล้ว ไม่พอ ยืนล้นไปหมด ไม่น่าเชื่อว่าทำให้คนมารวมกันได้ขนาดนี้ อาจเพราะกระแสม็อบด้วยมั้ง ยกเครดิตให้ม็อบ”

ที่ออกไปยืนหยุดขังกันต่อเนื่องหลายวันมานี้ หวังผลยังไงบ้าง ?
ต่าย “มีนักข่าวมาถามเหมือนกัน”
ติ๊ก “เขาถามว่าพี่จะมายืนอีกถึงเมื่อไร จุกนะ ตอบไม่ได้”

แล้วตกลงบอกเขาว่าไง ?
“ตอบว่าจะยืนจนกว่า.. แค่นั้น พูดไม่ออก เขาพยักหน้าเข้าใจ เราไม่รู้จะพูดยังไง จะยืนจนกว่า จนกว่าอะไร เพื่อนเราตายเหรอ หรือยังไง ไม่รู้ดิ ก็ต้องทำให้มันเต็มที่ที่สุด”
ต่าย “เมื่อวานตัดสินใจว่าหยุดวันนึง จริงๆ ไม่อยากหยุดเพราะเราไม่รู้ว่าจะยืนได้อีกสักกี่วัน คือหมายถึงในเงื่อนไขว่าเราออกมายืนเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเราใช่มั้ย เพื่อนเรากำลังจะตายแล้ว เราจะยืนได้อีกสักกี่วัน เขาจะอยู่ได้อีกสักกี่วันวะ พอหยุด ไม่ได้ไปยืน ก็คิดว่า วันนี้กูน่าจะมายืน แต่คือบอกทางตำรวจแล้วว่าวันนี้เราไม่ยืน มันมีพิธีเปิดงานใหญ่ ปล่อยให้เขาสักวัน”

มีคุยกับตำรวจด้วย ?
ติ๊ก “มีๆ”
ต่าย “เขามาถ่ายรูปเราทุกวัน รูปที่เห็นส่วนใหญ่คือเขาถ่าย”
ติ๊ก “ผมบอกว่าพี่ถ่ายแล้ว ฝากส่งให้ผมด้วย”
ต่าย “เขามาทุกวัน เราไปถึงห้าโมง เจอละ อ้าว ว่าไง เริ่มกี่โมง เราตอบห้าโมงครึ่ง นี่หน่วยนึง สักพักอีกหน่วยมา อ้าว น้อง วันนี้เริ่มกี่โมง มึงทำงานทับซ้อนกันทำไมวะเนี่ย”
ติ๊ก “ตอบสามคนในวันเดียว สรุปคือมาคนละหน่วยงาน”
ต่าย “สามหน่วยมั้งที่ดูเราอยู่ ปกครอง ทหาร ตำรวจ”

คิดว่าจะมีผลใดๆ มั้ยที่ออกไปยืนรณรงค์แบบนี้ ?
ต่าย “อาจไม่ได้มีผลต่อการเรียกร้องว่ามาปล่อยเพื่อนเรา แต่สารของเราก็กระจายไปถึงคนจำนวนหนึ่ง ถ้าไม่มีเรา ถ้าเราไม่ยืน สี่แยกนั้นก็ว่างๆ มีแค่ไฟแดง อย่างน้อยในระหว่างไฟแดงที่รถหยุด คุณต้องเห็นป้ายเรา เออ ยังไงก็ต้องเห็น ก็มีผล”
ติ๊ก “ไม่ต้องเห็นหัวเรา แค่เห็นสิ่งที่เราต้องการสื่อ”
ต่าย “นี่คือผล มันอาจไม่ทำให้เพื่อนเราได้ออกมาหรอก แต่มันก็ทำให้คนได้รู้ไงว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น มีคนเดินผ่านมาถามเราจริงๆ ว่า-พี่ มันเกิดอะไรขึ้นเหรอ รปภ. ที่โบกมือให้คนข้ามถนน ถามว่า 112 คืออะไร อ๋อ แบบนี้ๆ ขอพี่ทำงานต่อ เดี๋ยวมาคุยด้วยอีก ยืนระยะห่าง คุยกัน เขารับรู้ นี่ไงผล”

ติ๊กคิดว่ามีผลมั้ย ?
“เยอะครับ ขนาดตำรวจที่มาเฝ้ายังเข้าใจใน message ไม่ว่าแง่ไหน ผมน้อมรับทั้งผลดีร้ายที่ตามมา คดีอะไรก็ตาม รับทุกอย่าง”

ของเก่าก็มีอยู่แล้ว ?
“ใช่”
ต่าย “เป็นไปได้ก็อย่ามาเพิ่มเลย”
ติ๊ก “ผมชัวร์ในหลักการของตัวเอง ผมไม่ได้ฆ่าใคร ไม่ได้ทำอะไรให้เดือดร้อน ต่อให้คุณเอากฎหมายปาหี่อะไรมายัดให้ผมก็ตามเถอะ ผมก็พร้อมที่จะน้อมรับ”

การลุกขึ้นมาทำกิจกรรมแล้วเจอนั่นนี่สารพัด สรุปแล้วคิดว่ามันมาบั่นทอนหรือส่งเสริมให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก ?
ติ๊ก “ทั้งบั่นทอนและเข้มแข็งขึ้น บางทีรู้สึกแย่นะ ตำรวจตามไปหาเราที่บ้าน ไปหาบ้านแม่เรา ขู่เรา ใจหนึ่งก็อยากปิดซอยกระทืบ ใจหนึ่งก็อดทนไป มันทำให้เราเข้มแข็งขึ้น เราไม่ได้อ่อนแอ เราเจ็บปวดและผ่านมันมา มันสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ก็หนัก ทำให้เราอาจจะทะลุเกินหลักการไปสู่ความแค้นบ้างก็ตาม รู้สึกว่าเราต้องต่อสู้ และไม่หยุด อาจมีพักบ้าง แต่ไม่หยุด”

แล้วของคุณบั่นทอนมั้ย ?
ต่าย “ไม่เรียกบั่นทอน แต่มีเหตุการณ์กระทบใจ เมื่อวานก่อนคนจากปกครองมากินกาแฟที่บ้านๆ น่านๆ ร้อยวันพันปีไม่เคยมา ผมทำงานอยู่แม่งไม่มาเลย แต่เมื่อวานผมไม่ได้ทำงาน แวะมา ก็เจอหน้า ครูต้อมถามว่ารู้จักกันเหรอ เขาบอกรู้จัก เจอกันทุกเย็นเลย ในหัวเราคิด มึงมาทำไม มาเพื่อจะบอกว่า รู้นะว่าอยู่ที่ไหน หรืออาจแค่มากินกาแฟเฉยๆ ก็ได้ เมื่อวานก็เลยเซ็งๆ นิดนึง แต่ถามว่าจะทำให้กลัวหรือบั่นทอนมั้ย ก็ไม่”
ติ๊ก “เมื่อวานที่เราไปถนนคนเดิน เขาไม่วางใจหรอกว่าเราจะมายืนมั้ย เขาดักเราอยู่แล้ว คนเยอะมาก ใจจริงอยากยืน แต่ช่างมัน เว้นให้วันนึง”
ต่าย “บอกเขาแล้วว่าไม่ยืน เลยไปเดินเล่น กำลังซื้อของ เขาเดินมาสะกิดข้างหลัง ไง ได้ไรกินหรือยัง คือคนที่มาร้านกาแฟเมื่อวาน เราบอกแล้วว่าเราไม่ทำกิจกรรม แต่เขายังตามเราตลอด คอยมองเราอยู่ตลอด ทีแรกคิดว่าน่าจะไม่ เพราะเราแค่ตัวเล็กตัวน้อย ไม่มีใครสนใจติดตามหรอก สักพักมาสะกิดหลัง”
ติ๊ก “มันไม่วางใจหรอก มันถ่ายรูปเราส่งมา บอก–ฮั่นแน่ ไหนว่าไม่มา อ้าว ก็ไม่ทำกิจกรรมไง แค่มาเดินเล่นไม่ได้เหรอ เราเว้นไว้ให้แล้ว ให้เขารับแขกบ้านแขกเมือง”

ที่เห็นยืนๆ กันอยู่ในภาพ พวกเขาไม่ได้มา ‘ยืน หยุด ขัง’ แต่เป็นช่วงเตรียมก่อนเข้าพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของงานแข่งขันศิลปหัตถกรรมของนักเรียนภาคเหนือ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่ง ‘ติ๊กต่าย’ ตัดสินใจหยุดพักกิจกรรมออกไปชูป้ายหนึ่งวัน

อย่างที่รู้นั่นแหละ พัก และเพียงออกไปเดินเล่นก็มี ‘แฟนคลับ’ เดินตาม สะกดรอย ถ่ายรูป

เงิน เวลาและบุคลากรรัฐบ้านเรามันคงเหลือเฟือ บ่อยครั้งจึงมาทุ่มเทให้กับการจ้องจับผิดประชาชนแบบนี้

ต่าย “กลับมาที่คำถามว่าบั่นทอนมั้ย คำตอบคือไม่ คิดไว้แต่แรกอยู่แล้วว่าเปิดหน้า ไม่สนใจ ไม่ได้ทำอะไรผิด แค่แสดงออก”
ติ๊ก “ทีแรกอยากเซฟแกไว้ พี่อั๋นบอกว่าไม่ต้อง สง่าผ่าเผยไปเลย เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าหาญอยู่แล้ว”
ต่าย “เออ ตอนยืนคิดถึงคำนี้ด้วย ยืนเด่นโดยท้าทาย เด่นจริง ท้าทายจริง”
ติ๊ก “สองคนบนเกาะกลางถนน และตำรวจล้อม คือแบบ เหี้ยเอ๋ย”

ประเมินไว้แล้วว่าตำรวจจะมา ?
ติ๊ก “ไม่ๆ”
ต่าย “เราว่าไม่ แค่มาแสดงออก ไม่คิดว่าจะมาล้อมหน้าล้อมหลัง ถามหมดเลย บ้านเลขที่ ขอดูบัตรประชาชน พักที่ไหน”
ติ๊ก “คำถามเขาคือมีมือที่สามหรือเปล่า เป็นคนของพรรคการเมืองหรือเปล่า ใครส่งคุณมา คุณคนที่นี่หรือเปล่า ก็บอกไปตามตรง ผมไม่ได้ยึดโยงพรรคไหน ไม่มีใครมีอำนาจสั่งมา”
ต่าย “เขาใช้ชีวิตอยู่กับคำสั่งมาทั้งชีวิต เขาไม่คิดว่าเราจะออกมาเอง ก็กูอยากจะยืนน่ะ”
ติ๊ก “เออ เหมือนเราโดนสั่งมา”
ต่าย “ทำไมจะต้องมีคนสั่ง”
ติ๊ก “มีคนหาว่าเราถูกจ้างมา มีคนเอาไปใส่ไฟ มั่วฉิบหาย พวกที่มองว่าเราย่ำยีน่าน”
ต่าย “หยุดยาหยีเมืองน่าน กะจะทำป้ายใหม่แซว ไหนจะเรื่องตำรวจ เรื่องอื่นๆ แต่ไว้ทีหลังเถอะ เราอยากเรียกร้องเรื่องปล่อยเพื่อนเรา หยุดยาหยีเมืองน่าน ไร้สาระว่ะ ไม่เอา หยุดย่ำยี เดี๋ยวกูเล่นคำให้ ..ไม่เอาดีกว่า ไร้สาระ”

บ่ายวันที่ 4 กุมภาฯ นาทีที่เราคุยกันอยู่ ล่าสุดมีแถลงจากผู้ปกครองเด็กสาวทั้งสอง ทุกคนกดโทรศัพท์เช็กข่าว
ติ๊ก “ร่างกายลูกเขาคงกลับไปเป็นปกติไม่ได้แล้ว”
ต่าย “แพทย์ยืนยันว่ายังไหว เราเป็นคนนอกก็คิด ไหวเหี้ยไร สิบห้าวันแล้วไม่กินข้าวกินน้ำ แพทย์บอกว่าไหว แน่เหรอ ไหวกี่วัน แม่บอกไม่น่าเกินวันจันทร์ ..ก็น่าเศร้า”

มาถึงวันนี้แล้วมีอะไรอยากสื่อสารไปถึงสังคมไทย ?
ต่าย “อยากย้อนกลับไปเล่าถึงเหตุผลที่ออกมายืนดีกว่า ระหว่างยืนก็คิดตลอดว่าถ้าวันข้างหน้ามีลูกมีหลานมาถาม เราจะตอบมันยังไงวะ ว่าในวันเวลาเช่นนี้ ที่เขาเรียกร้องความยุติธรรมกันแบบนี้ เกิดลูกหลานถามว่าแล้วตอนนั้นคุณลุงหรือคุณตาทำอะไรอยู่ กูจะตอบยังไง นั่งกินเบียร์ ดูข่าวอยู่ ไม่ได้ทำอะไร.. มันเลยต้องลุกขึ้นมาทำ เพื่อจะตอบตัวเอง ตอบลูกหลานเราได้ ส่วนเรื่องบอกสังคมไทยไม่มีหรอก มาขนาดนี้แล้วยังต้องให้บอกก็ นะ”

แล้วถ้าจะบอกแบมกับตะวันล่ะ ?
ต่าย “เป็นคนที่เรานับถือหัวใจ เราไม่ได้อยากให้เขาเอาชีวิตไปทำแบบนั้น เข้าใจที่เขาเลือก ..ก็เป็นคนที่น่านับถือ ใครมันจะไม่รู้ว่าอดอาหารอาจไม่ส่งผลอะไรหรอก เขาก็ยังทำ ยังสู้ เขายืนยันว่าจะทำ เขายืนยันสู้ เราก็ หัวใจเขาแม่งได้ว่ะ ให้เราทำคงไม่ไหว อยากให้เขาปลอดภัย”

คุณล่ะอยากพูดอะไรถึงแบมกับตะวัน ?
ติ๊ก “ยังอยากจะได้เจอกันอีก ไม่อยากให้เขาตายในสนามนี้ ผมรู้สึกเหมือนจะตายไปด้วยเลยจริงๆ มันจุกไปด้วย มันแทบจะ.. บอกว่าไงดีล่ะ รู้สึกแย่ อยากให้มีชีวิตกลับมา รู้สึกว่าเป็นคนที่ใจยิ่งใหญ่ เขาเสียสละ ผมก็มีความคิดเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อย่างนั้น ศรัทธาในสิ่งที่เพื่อนทำ อ้ำอึ้ง บอกไม่ถูก จะให้บอกว่ากูโอเคที่มึงจะตาย มันไม่ใช่ รู้สึกหดหู่ พวกเราอยู่ข้างนอกก็จะสู้ สู้ที่สุดเท่าที่จะสู้ได้”

ที่น่านมีกี่คน ?
ต่าย “ตอนนี้ก็สองคน”
ติ๊ก “เสิร์ชชื่อก็เจอ เราเปิดเผยทุกอย่าง ตำรวจชอบเช็กเราว่าคนน่านหรือเปล่า อู้เมืองได้ก่อ”
ต่าย “ทำไมวะ เคยถามเขากลับด้วยนะว่าแล้วพี่คนน่านป่าว เขาบอกว่าไม่ เราถามว่าแล้วมาอยู่ตั้งแต่เมื่อไร เขาบอกยี่สิบปี โอ้โฮ ยี่สิบปียังไม่ใช่น่าน มึงจะเป็นน่านเมื่อไร มึงต้องอยู่นานขนาดไหน กูไม่เข้าใจ”
ตกลงที่ออกมายืนนี่มีคนอยู่เบื้องหลัง หรือใครสั่งมา ?
ชายที่มีชื่อในบัตรประชาชนว่า เอกสิทธิ์ ไทยน้อย บ้านเกิดอยู่เมืองนนท์ บอกว่า “คนกำลังจะตาย เห็นอยู่ว่าไม่ยุติธรรม ยังต้องรอใครมาจ้างด้วยเหรอ”.

 

 

nandialogue

 

 

หมายเหตุ : ข้อเรียกร้อง 3 ประการของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ อรวรรณ ภู่พงษ์ มีดังนี้
1 ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
2 ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
3 พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116

เรื่องและภาพ วรพจน์ พันธุ์พงศ์

You may also like...