interview

Heal หัวใจ ขี่มอไซค์เที่ยวน่าน 

เราเจอกันที่ร้านน้ำเงี้ยว

‘ก้อย’ วุฒิภัทร ผ่องแผ้ว วัย 30 ปี เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ จ.นครสวรรค์ ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะทำธุรกิจสอนหนังสือ แค่พักร้อนจากออสเตรเลีย เดินเล่นตลาด เจอคนชวนให้ลอง กลายเป็นติดใจอยู่ยาว ส่วนอนาคตไกลๆ อยากไปอยู่เดนมาร์ก เพราะระบบสังคมการเมืองที่นี่ล้มเหลวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สิ้นหวัง กฎหมายอาญามาตรา112 มีไว้ทำไม ในเมื่อมนุษย์คือความเท่าเทียม

‘ไผ่’ รัมภ์รดา สอาด กราฟิกดีไซเนอร์วัย 27 ปี เป็นรุ่นน้องจากคณะสถาปัตย์ ลาดกระบัง จบมาทางด้านถ่ายภาพทั้งคู่ เวลาหนึ่งปีที่พบกันในรั้วมหาลัยสร้างความสัมพันธ์แข็งแรง แม้แยกย้าย อยู่คนละจังหวัด ยังติดต่อและหาเวลาเดินทางด้วยกันเสมอ เช่นครั้งนี้ที่เลือกน่านเป้าหมาย บินมาแล้วเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่ขึ้นดอย

เป็นภาพแสนสามัญเหลือเกินสำหรับชาวต่างชาติ แต่กับคนไทยก็ถือว่าอยู่ในหมวดหมู่ชนกลุ่มน้อย เป็นการท่องเที่ยวสายทางเลือกซึ่งน่าสนใจว่าเธอทั้งคู่มีวิธีคิดและพบเผชิญสิ่งใด

ประเทศไทยออกกว้างใหญ่ ทำไมต้องน่าน ?
ไผ่ : ไผ่กับพี่ก้อยมาน่านหลายครั้ง บางครั้งต่างคนต่างมา บางครั้งมาด้วยกัน ล่าสุดรู้ตัวอีกที น่านอีกแล้ว ทั้งที่มาบ่อยมาก ปีละครั้ง สี่ปีมาแล้ว
ก้อย : สิ่งหนึ่งที่น่านไม่เปลี่ยนคือคน คือเราเป็นพวกไม่แพลน อยากไปไหน ไป อยากทำอะไร ทำ น่านเป็นเมืองเดียวที่ถ้าเรากำลังหันซ้ายหันขวา ถ้ามีใครสักคนอยู่แถวนั้น เดี๋ยวเขาจะเข้ามาถาม น้องจะไปไหน มีอะไรให้ช่วยมั้ย เป็นคำถามที่เราได้ยินบ่อยๆ ทำไมคนที่นี่ถึงน่ารัก เราสามารถคุยกับใครก็ได้โดยไม่มีฉากกั้นกับคนที่ไม่รู้จัก ตั้งแต่ครั้งแรก อายุสิบแปดที่มา จนวันนี้ยังรู้สึกว่าเขายังเป็นเหมือนเดิม
ไผ่ : ชอบที่มันไม่พลุกพล่าน ทุกครั้งที่มามันเรียบง่าย ไม่วอแว ธรรมชาติทุกอย่างลงตัว เมื่อก่อนไผ่นั่งรถทัวร์ มาถึง จะไปที่พัก บางครั้งนั่งรถแดง เขาไปส่งเราถึงที่พัก ทั้งที่ไม่ใช่เส้นทางที่ผ่าน เราว่าแม้มาคนเดียว มันง่าย ลงตัว และไม่เปลี่ยน

โรแมนติไซส์หรือเปล่า น่านเป็นแบบนี้จริงๆ หรือที่อื่นก็เป็น เพียงแต่พวกคุณอาจจะยังไม่เคยไป ?
ก้อย : เป็นคนเที่ยวมาเยอะ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไปโซโลทริป หรือไปกับครอบครัว ไปกับเพื่อน ที่บ้านทำบริษัททัวร์ เราเที่ยวมาตั้งแต่เด็ก โชคดีที่ได้เห็นคนค่อนข้างเยอะ ในพื้นที่แตกต่าง แม้กระทั่งบางหมู่บ้านอาจจะเป็นชนเผ่า เราเห็นการเปลี่ยนแปลงมาเยอะ แต่น่านไม่เปลี่ยน แม้หลายคนพูดว่าร้านกาแฟเยอะขึ้น ที่พักเยอะ ก็เป็นความจริง ในเมื่อธุรกิจเติบโต สังคมเคลื่อนไป เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ก้อยว่าคนที่นี่ก็ยังไม่เปลี่ยน เลยยินดีที่เราอยากกลับมาบ่อยๆ ปีละครั้ง น่านเป็นเหมือนที่ฮีลจิตใจ ทุกๆ ที่มีเสน่ห์ของมัน แต่เสน่ห์ที่นี่ตอบโจทย์เรา ไม่ว่าคุณอยากจะมาแบบไฮเกรดก็ได้ หรือบุกป่าฝ่าดง มันตอบทุกโจทย์

ปกติเที่ยวแบบไหน ไลฟ์สไตล์จริงๆ ของคุณ
ก้อย : ไม่มีปกติ ขึ้นอยู่ว่ามากับใคร เรามีเพื่อนหลายกลุ่ม บางทีขับรถไป
ไผ่ : เมื่อก่อนนั่งรถทัวร์ สมัยยังเรียนหรือทำงานใหม่ๆ สิบกว่าชั่วโมง ก็นั่งไหว มาถึงเช่ามอไซค์หรือขึ้นรถแดง พอโตขึ้นรู้สึกว่าเหนื่อย งั้นนั่งเครื่องบิน แล้วมาเช่ามอไซค์ 

ขี่มอไซค์เที่ยวมาสักกี่ครั้งแล้ว
ก้อย : ครั้งแรก
ไผ่ : หลายครั้ง แทบทุกครั้ง เพราะสะดวกดี ไปไหนก็ได้

ขี่มานานกี่ปี ทำไมกล้าขี่ขึ้นดอยชันๆ มันไม่ง่ายเท่าไร
ไผ่ : เคยไปเที่ยวภาคอีสาน ไปกับเพื่อน ขี่สามจังหวัด เลย หนองคาย อุดรฯ เราเป็นคนขี่ได้ ไม่รู้ว่าทางข้างหน้าเป็นไง แต่ไป ตอนเที่ยวปายก็ขี่มอไซค์อย่างเดียวเลย ไม่รู้ว่าทางข้างหน้าเป็นไง แต่ไปเรื่อยๆ ไปได้เท่าที่กำลังเราไหว ไม่ไหวก็พัก ไม่รู้สิ มันสะดวกดีมั้ง ขี่มาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมฯ 

รอบนี้ ที่แพลนแบบนี้ ไปมากี่ที่
ไผ่ : สองที่ คืนแรกกิ่วกาหลงแคมป์ อ.สันติสุข วันที่สองไปสะกาด เกวะตะโฮมสเตย์ หาที่พักมาก่อน เราทั้งคู่ชอบประมาณนี้ ที่พักธรรมชาติแบบชาวบ้านหน่อย ไม่ต้องสบายมากก็ได้ เน้นเสพบรรยากาศ อยากอยู่กับธรรมชาติให้เยอะสุด ก็หาเอาตามที่เราชอบ จองเรียบร้อย แต่ไม่มีแพลนว่าวันนั้นๆ เราจะไปไหนหรือทำอะไร แค่มีที่พัก ขี่มอไซค์ เจออะไร ชอบตรงไหน จอด แค่นั้นเลย

ไม่เคยไปมาก่อน ไปจริงแล้วเป็นไงมั่ง
ก้อย : ชอบ ที่ประทับใจที่สุดน่าจะเป็นคนแปลกหน้า เพื่อนที่มาจอย เต็นท์ข้างๆ สนุกที่สุดเลย อย่างที่บอก เสน่ห์คนน่าน พี่ๆ เขาเป็นคนในเมืองมาเที่ยวดอย มากันสักหกคน เตรียมอาหารมาเอง ปิ้งย่างหมูกระทะ แบ่งเรา น้องกินมั้ย ดื่มมั้ย คนน่านเขาเป็นแบบนี้ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่กลุ่มนี้ แต่เจอตลอด เราชอบ แต่รอบนี้แค่รู้สึกว่าอากาศมันไม่เย็น และฝนตก เจอฝนตกทุกวัน เมื่อกี๊ขี่มาก็เปียก ซึ่งมันก็สวยในอีกแบบ ฝนตกก็ตกไป ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ฟ้าฝน และคืนที่สองก็เหมือนกัน ไปเจออาจารย์จาก ABAC ท่านหนึ่ง เป็นต่างชาติ แล้วก็มีพี่ที่ทำแอป food delivery ในกรุงเทพฯ สายแคมปิ้ง เดินป่า เขาเล่าให้ฟังว่าไปนอนที่นั่นที่นี่มา ที่ตลกคือเจ้าของบ้านทิ้งเราไปเลย ปล่อยให้อยู่กันแค่สองหลัง ไม่มีเซอร์วิสอะไร ก็ดี มีแต่ความเงียบ เมื่อวานไม่มีฝน ดาวสวย

ระหว่างทางเจอปัญหาอะไรมั้ย
ก้อย : มีค่ะ ทางค่ะ ไม่ได้คาดคิดว่าจะขนาดนี้ ทางลูกรังที่เป็นถนนเก่าที่ไม่ได้รับการซ่อมบำรุง เราไม่รู้ว่าที่เขาเขียนไว้ให้ มันต้องจอดรถที่จุดไหน เราขี่มอไซค์ไปเรื่อยบนทางลูกรัง ขี่ไปบ่นไป (หัวเราะ) มันจะรอดมั้ย ไปสักครึ่งทาง เริ่มคิดว่าหรือเราจะหยุด ให้เขามารับดีกว่า พอไปถึง โอเค น่ารักตรงที่พอตื่นเช้าไปคุย เขาบอกว่าหมู่บ้านนี้เป็นที่ที่เขาอนุรักษ์ไว้ เป็นพื้นที่ของป่าสงวน ใช่ ประมาณนั้น เลยไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น รีสอร์ตก็สุดท้ายแล้วที่เขาอนุญาตให้สร้าง น่าจะจำกัดด้วยว่าให้พักกี่คน

ไผ่ขี่มอไซค์มาเยอะ เคยมีอุบัติเหตุอะไรมั้ย
ไผ่ : ไม่เคย แต่มีนาทีที่เกือบๆ ตอนนั้นไปแม่กำปอง ขึ้นทางเนินสูง มอไซค์ไม่มีเกียร์ รถติด รถยนต์เยอะ ติดบนเนิน ขึ้นไปแล้วค้างเติ่ง เลยเหมือนมีวืดไปบ้าง ก็ใจหายแวบนึง บอกตัวเองว่าต้องขี่ระวังขึ้น ไม่ถึงกับว่ากลัวหรือทำให้ไม่กล้าไปอีก

ความเห็นต่อการใช้มอไซค์ คิดว่าไม่อันตรายเกินไป ?
ก้อย : อันตรายค่ะ
ไผ่ : อันตราย

แล้วทำไมถึงกล้าเอาชีวิตมาเสี่ยง ?
ตอบพร้อมกัน : เสี่ยงไม่เสี่ยงมันอยู่ที่เรา
ก้อย : มันไม่ได้อยู่ที่องค์ประกอบรอบข้าง
ไผ่ : ถ้าเราเซฟ เรามีสติในการขับรถ มันพอคอนโทรลได้ คือเราคอนโทรลคนอื่นไม่ได้หรอก แต่คอนโทรลตัวเองได้

คุณสองคนเห็นเหมือนกันว่าค่อนข้างอันตราย ?
ก้อย : ใช่ค่ะ

แต่มั่นใจเอาอยู่ ?
ก้อย : ไม่ได้มั่นใจว่าเอาอยู่ แต่รู้ความสามารถของเราว่าแค่ไหน มั่นใจเกินไปก็ไม่ดี หรือไม่มั่นใจเลยก็ไม่ดีเหมือนกัน

ที่ว่าอันตราย มันเรื่องอะไร ตรงไหนที่อันตราย
ก้อย : เรื่องการซ่อมบำรุงไม่มี สร้างแล้วจบ การจำกัดน้ำหนักของรถบรรทุกก็มีผล รถใหญ่ๆ ที่มาใช้ ใช้บ่อยแค่ไหน มีการตรวจสอบหรือเปล่า เส้นสาย เครื่องหมายจราจรต่างๆ ชัดเจนหรือใช้งานได้ดีมั้ย เราไม่ได้สบประมาท เรามองในมุมของคนใช้รถใช้ถนน ถนนที่สวยสุดที่น่านก็ซ่อมบำรุงกันเต็มที่ แต่อย่างช่วงเจ็ดกิโลฯ ที่เราขี่เข้าไปหมู่บ้านบนดอย ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ขี่รถก็เรียกว่าแทบจะต้องปะยางทุกวัน แล้วลูกเล็กเด็กแดงล่ะ คนท้อง เขาไม่ได้รับการคมนาคมที่สะดวกสบาย

คุณคงเห็นข่าวบ่อยๆ ที่ชาวต่างชาติขี่จักรยานหรือมอไซค์ในไทยแล้วเสียชีวิต คิดเห็นยังไงกับเรื่องแบบนี้
ไผ่ : ไผ่ว่าเขาไม่ชินเส้นทาง บางคนเป็นมือใหม่ แล้วยิ่งเส้นทางไม่ดี เครื่องหมายไม่ชัด เขาเลยอาจไม่ได้ระมัดระวัง ประเมินเพื่อนร่วมทางดีเกินไปด้วย ไผ่ว่าคนต่างชาติกล้า มั่นใจในตัวเองมากว่าฉันทำได้ และไม่เซฟตี้ ที่นี่มันไม่เหมือนบ้านเขา

ทั้งที่รู้ว่าไม่ปลอดภัยนัก แต่คุณยืนยันจะใช้ชีวิตแบบนี้ อย่างทริปนี้ คือยังไงก็ไม่มีเหตุผลที่จะเลิกขี่มอไซค์ ?
ไผ่ : ใช่, เราไม่ได้ขี่ทุกวัน เรามาเที่ยว ครั้งนี้เราอยากใช้มอไซค์ รู้เหตุผลของตัวเอง และระวังตัวอยู่แล้วในทุกครั้ง ส่วนตัวคิดว่ามาขี่ต่างจังหวัดไม่อันตรายเท่าขี่ที่กรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ที่กรุงเทพฯ น่ากลัว

ใช้มอไซค์มั้ย ชีวิตประจำวันที่กรุงเทพฯ ?
ไผ่ : ใช้อยู่แค่แถวบ้าน ไม่ไปต่างเขต

ที่บอกอันตรายกว่า คือยังไง
ไผ่ : คนกรุงเทพฯ รีบ รถเยอะ ซอกแซกกันไปเรื่อย รถยนต์ไม่พอใจมอไซค์ มอไซค์ไม่พอใจรถยนต์ ต่างคนต่างรีบ โอกาสจะเกิดอันตราย เฉี่ยว ชน ก็เยอะ

ที่เลือกขี่มอไซค์ คงไม่ใช่เรื่องเงิน ไม่ใช่เพราะประหยัด ระหว่างรถยนต์กับมอไซค์ ทำไมเลือกมอไซค์
ไผ่ : ได้ฟีลดีนะคะ บนถนน ถ้าอยู่ในรถยนต์ มันปลอดภัยแหละ แต่ขี่มอไซค์ เรารับลม รับบรรยากาศ รับธรรมชาติ มันฟีลเต็มที่
ก้อย : แค่อยากทำอะไรที่ไม่ค่อยได้ทำ และอยากทำ อยู่นครสวรรค์ขับรถยนต์ 

โดยปกติ เวลามาเที่ยว ชอบที่จะอยู่สองคน คุยกันเอง หรือชอบคุยกับคนแปลกหน้า ?
ก้อย : ไปไหนทีก็มีเพื่อนใหม่ตลอด สามารถมีเพื่อนได้ทุกที่ ก้อยชอบคนแปลกหน้า คุยได้หมด ประสบการณ์เขา ประสบการณ์เรา การแชร์บางอย่างเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนแน่นอน กับคนใหม่ๆ ไม่ว่าไทยหรือต่างชาติ

ก้อยมักเป็นฝ่ายเริ่มต้นคุยก่อนได้มั้ย
ก้อย : ได้ มักเป็นฝ่ายเริ่ม

ดูยังไง คนนี้จะคุย หรือไม่คุยดีกว่า
ก้อย : ไม่มีเลย ดูไม่ได้หรอก มันต้องลองคุยก่อน ทักก่อนสักประโยคแล้วเขาตอบกลับมาว่าไง ไปต่อดีมั้ย หรือยังไง

ไผ่ล่ะ
ไผ่ : ไผ่เข้าหาคนไม่เก่งเท่าพี่ก้อย มีสเปซนิดนึง คุยได้ แต่จะไม่ยาว อาจคุยแป๊บนึงแล้วพัก กลับไปอยู่ในโหมดของเรา

อันตรายมั้ย คนแปลกหน้า ?
ก้อย : ไม่มี

หรือว่าฝ่ายเราไปทำอันตรายเขาหรือเปล่า
ไผ่ : ไม่มีๆ (หัวเราะ) เราไม่น่ากลัว

ไม่มีประสบการณ์แย่ๆ ?
ก้อย : ไม่มี ไม่เคยเจอ

การเจอผู้คนในทริปนี้มีอะไรน่าสนใจ หรือจากการเดินทาง มีมั้ยที่บางคนยังอยู่ในชีวิต เป็นความทรงจำที่ดี ?
ก้อย : ชอบคุยกับคนแปลกหน้า ปกติเราจะมีคอนแทกต์ของทุกคน แต่ทริปนี้ไม่ได้ขอ มันไม่มีคำว่าที่สุด มันเป็นความทรงจำ แต่ถ้าพูดสถานที่มา คิดถึงใคร อาจจะมีเรื่องเล่าต่อ ให้เล่าช็อตบายช็อต มันเยอะมากเลย 

ของไผ่ มีมั้ย ?
ไผ่ : เคยไปหมู่บ้านหนึ่งที่แม่ฮ่องสอน ครั้งแรกที่ไป จนถึงทุกวันนี้ยังคีพคอนเน็กชันกันอยู่ เราไป เข้าร้านกาแฟ เขาเป็นคนที่นั่น แต่เราไม่รู้ พอคุยกัน มันเหมือนรู้จักกันมานาน เหมือนบ้าน เขาแชร์นั่นนี่ บอกว่าตอนเย็น มีล้อมกองไฟนะ มาแจมได้ คือเพิ่งเจอกันเอง เราว่ามันดีเนาะ เหมือนครอบครัว ทั้งที่เพิ่งเจอกัน รู้สึกเหมือนรู้จักมานาน

ไผ่ออกเดินทางช้าเร็วอย่างไร ที่อยากจะเที่ยว สนใจอะไร อยากออกไปดูโลกข้างนอก ?
ไผ่ : เอาจริงๆ เลยคือชอบอยู่กับธรรมชาติ อยากเสพธรรมชาติ แค่นั้นเลย รู้สึกว่าเบื่อกรุงเทพฯ มาก เกิดและโตที่นั่น โคตรเบื่อเลย อยู่ลาดกระบัง ทำงานในเมือง เบื่อ everyday ของเรามันเป็นแบบนั้น อยากตื่นขึ้นมาแล้วเจอสีเขียว ป่าเยอะๆ ธรรมชาติดีๆ อากาศดี นั่นคือสิ่งที่ผลักออกมาข้างนอกแบบนี้ 

มีเชื้ออะไรในตัวมั้ย นาทีที่รู้สึกว่าฉันจะไปแล้ว จากหนังเรื่องไหนหรือเปล่า
ไผ่ : ไม่มีเลย เป็นแค่ตัวเรา อยู่ในจังหวะเวลาที่มันพอดี เราโตขึ้น รู้สึกว่าไปไกลได้มากกว่านี้ เราอยากทำ เราทำได้ ก็ไปเลย 

ย้อนทบทวนอดีต มีเรื่องร้ายๆ บ้างมั้ยในการเดินทาง
ก้อย : มีแต่เรื่องตลก เป็นตลกร้ายมากกว่า ตอนปีสาม ไปเชียงใหม่กับเพื่อนๆ สี่คน ไปไหว้พระ แล้วจู่ๆ มีคนตะโกนว่ารังผึ้งแตก ทุกคนโดนต่อยหมด ยกเว้นก้อยคนเดียว ออกจากโบสถ์ ทุกคนวิ่งหนี น่ากลัวมาก มันตลกตรงที่มีเพื่อนคนนึงตัวมันใหญ่ แล้วคูน้ำในวัดตื้นแค่นี้ มันเอาตัวลงไปแช่เพราะกลัวโดนต่อย แต่โดนแล้ว ต้องเอารถพยาบาลไปส่ง รพ. เลย สภาพที่เห็นเพื่อนแล้ว โอ จริงดิ ช่วยเพื่อนเด็ดเหล็กในออก กลับมาที่พัก ทุกคนป่วย นอน ตื่นมาก็หน้าตาบวม และไปเที่ยวต่อ ตลกดี 

ไผ่มีเรื่องร้ายๆ มั้ย
ไผ่ : เคยไปเดินป่าทริปหนึ่ง ไปรถทัวร์ แต่รถที่เราจะไปมันหมด เลยต้องไปนั่งรถเสริม ไปถึง ดีเลย์ เกินเวลาไปมาก ไปหาลูกหาบก็ไม่มีแล้ว ไปเมา ไปงานแต่งใครแล้วไม่รู้ อ้าว ฉิบหาย เราต้องขึ้นดอยแล้ว เลยตัดสินใจกับเพื่อนว่าไม่ต้องหาบแล้ว เดี๋ยวกูหาบเอง ขนของเอง ไม่มีไกด์ ไม่มีทางที่ชัดเจนว่าต้องไปทางไหน เดาเอา เดินไปๆ คนบอก ผิดทาง ต้องไปทางนี้ กูจะรอดป่าววะ ก็เดินไปเรื่อยๆ เหนื่อยมาก หาบของหนักมาก ไปถึงมันมืดแล้ว เรายังหาที่พักไม่เจอเลย หลงทางด้วย ทำไงดี เริ่มตระหนก เพื่อนว่ากางเต็นท์ตรงนี้เลยมั้ย ไผ่ว่าไม่น่านะ ไปอีกเถอะ สุดท้ายคือมันมืดมากค่ะ ไฟฉายเราก็ริบหรี่มาก เดินไป เหมือนเห็นแสงอยู่ข้างบน ได้ยินเสียงคนคุยกัน มันมีคนอยู่ตรงนั้น เรารีบเดินขึ้นไป ไผ่ไปกับเพื่อนสี่คน แต่ขึ้นไปสองเพราะอีกคนเป็นตะคริว เดินไม่ไหว เลยแยกกัน ไปหาที่พักก่อน ไปเจอกลุ่มคนที่อยู่ข้างบน หินชั้นใหญ่ เราปีนขึ้นไป เหวี่ยงกระเป๋าขึ้น เขาช่วยเรา เขาไม่รู้จักเรานะคะ ถามว่าถึงแล้วเหรอ เขาบอกไม่รู้ ผมหลงเหมือนกัน เราก็ ฉิบหายแล้ว ทำไงดี เลยตัดสินใจว่านั่งรอเพื่อนตรงนี้ เจอคนอื่นบ้างแล้ว แต่เอาไงดี ช่วยกันหาทาง คนที่เขามาถึงก่อนโทรฯ หาเพื่อนเขา มีสัญญาณพอดี บอกให้มารับหน่อย มาถึงแล้ว ปรากฏว่าข้ามลำธารไปนิดเดียว ก็ถึงที่พัก ..นึกว่าจะไม่รอด ทริปนั้นเป็นความโชคร้ายในความโชคดีที่เรายังเจอคน นึกว่าไม่เจอใครเลยและไม่รอดแล้ว เป็นเรื่องที่จดจำ ก็สนุกดี

เป็นเรื่องจำเป็นแค่ไหนที่คนไทยต้องไปเที่ยวต่างประเทศ
ก้อย : ขอคำถามอีกที

ข้อดีของการไปเที่ยวต่างประเทศ ?
ก้อย : แต่ละคนมีเป้าหมายในชีวิตที่ต่างกัน เคยเจอน้องคนหนึ่งถามว่า ชีวิตเจ๊ เป้าหมายคืออะไร เที่ยวอย่างเดียวเหรอ เราบอกว่าเที่ยวส่วนหนึ่ง แต่การใช้ชีวิตมันหมายความว่าคุณจะไปทำอะไรก็ได้ที่คุณไม่เคยทำ เช่น ก้อยทำธุรกิจ เราพอใจกับมันแล้ว จะไม่ใช้คำว่าประสบความสำเร็จ แค่เราพอใจ เราอยากทำธุรกิจที่มัน challenge เรามากกว่า ที่มันพัฒนาศักยภาพเรามากกว่า ก็ไป อยากลองทำอะไร ก็ทำ เหมือนที่พี่ถามว่าทำไมทริปนี้ใช้มอไซค์ ก็ไม่เคยทำ ก็เลยทำ ขณะเดียวกัน บางคนบอกว่าเที่ยวในประเทศดีกว่า ดีค่ะ ชอบแบบไหน แต่ละคนต่างกัน เพื่อนบางคนเห็นเรามาแบบนี้บอกสนุกจังเลย แต่เขามาไม่ได้ เขาจะถามทำไมๆๆ เกิดแต่คำถาม ขณะที่เรา เที่ยวต่างประเทศก็มีแบบที่เราชอบ จำเป็นขนาดนั้นมั้ย อยู่ที่คน ถ้าถามก้อย เราชอบ explore อยู่แล้ว ไม่ว่าทริปนั้นดี หรือไม่ดี มุมมองก้อย เที่ยวต่างประเทศคือการหา inspire ใหม่ๆ ให้ตัวเอง ในสิ่งที่หลายอย่างเราไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต ทุกครั้งที่ไปต่างประเทศ เราได้ไอเดียใหม่ๆ มาพัฒนาตัวเองเสมอ 

ยกตัวอย่างหน่อย สิ่งที่ได้จากต่างประเทศที่เมืองไทยไม่มีให้ ?
ก้อย : ไม่ว่าต่างประเทศ หรือในประเทศ ก้อยชอบคุยกับคนแปลกหน้า ล่าสุดที่ไปเกาหลี เรามีเพื่อนเกาหลีเยอะ เจอกันตอนไปเรียนต่างประเทศ คัลเจอร์ช็อกหน่อยๆ เรามีเพื่อนที่เป็นเกาหลี และเพื่อนของเพื่อนที่เป็นเกาหลี เขาเป็นพวกชาตินิยม เขาพูดแบบนั้น มีความ conservative บางอย่าง เช่น ฉันไม่คุยกับต่างชาติ ด้วยเหตุผลว่าไม่รู้จะคุยอะไร และฉันไม่เห็นต้อง respect ยูเลย เพราะยูไม่ใช่เพื่อนฉัน ซึ่งถ้าเป็นเพื่อนเรา คนไทยเราจะไม่ทำแบบนี้ มันจะมีเรื่องแบบนี้ หรือเวลาไปร้าน ไปซื้อของ เป็นคนไทยจะถามว่ารับอะไรดี มีอะไรให้ช่วยเหลือมั้ย มี service mind ชัดเจน แต่ไปที่นี่ เราสังเกตว่าเขาจะรีบทำทุกอย่าง ทำเหมือนไม่เต็มใจ ขอลองเสื้อผ้า ก็ลองสิ หน้าเฉยๆ ไม่ยิ้ม เราถามเพื่อนเกาหลีว่านี่คือความปกติมั้ย เขาบอก เอ้า ทำไมคนเราต้องยิ้มตลอดเวลา ฉัน do my job แล้วไง ก็จบ นี่คือ service ที่ดีแล้วนะ เราก็ หา อะไรนะ เขาเลยบอกว่า เดี๋ยวทำให้ดู แปลงร่างเป็นคนเกาหลีให้ดู เล่นกันในกลุ่ม เวลาอยู่ในที่ทำงาน หน้าแบบนี้ เวลาอยู่กับเพื่อนหน้าแบบนี้ เขามีเหตุผลว่าไม่จำเป็นต้อง make friend หรือ friendly กับคนอื่น เพราะมันเสียเวลาชีวิต

Do my job คือจบ ?
ก้อย : ใช่ even customer นี่คือที่เราเจอ หรืออย่างออสซี่กับนิวซีแลนด์ก็ต่างกัน เลยรู้สึกว่าโอเค ก้อยถึงชอบเจอคน ชอบเรียนรู้วัฒนธรรมไปเรื่อยๆ เห็นความแตกต่างจากชีวิตคน

ไผ่ล่ะ ?
ไผ่ : ไผ่ชอบไปต่างประเทศ ชอบเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น ภูมิทัศน์ ภูมิอากาศ อาหาร การขนส่งบ้านเขาแม่งโคตรสะดวก บางที่เขาไม่ค่อยใช้รถ เขาเดินกันว่ะ คนบ้านเราไม่ชอบเดินเพราะร้อน ทางไม่ดี ใช้รถดีกว่า แต่บ้านเขาคือเดินชิว อากาศเย็นสบาย เราชอบเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น มันเซอร์ไพร์สเราในหลายแง่มุม มันเปิดโลก ที่นี่เป็นแบบนี้ มีแบบนี้ด้วยว่ะ ไม่เคยเห็น ถ้าไม่ออกมา จะรู้มั้ย ไม่รู้ โลกเราก็จะแคบนิดเดียว

เช่น ที่ไหน ยกตัวอย่างหน่อย
ไผ่ : ยังไปไม่เยอะ ไปแค่เกาหลีกับเวียดนาม สิ่งที่ไผ่มองเวียดนามคือใกล้บ้าน แต่เจริญมาก ถนนนี่โอ้โฮ สะอาด ต่างจังหวัดของเขา ที่ประทับใจมากคือถนน มันแบบ นี่เวียดนามเหรอ ถนนสะอาดมาก กรุงเทพฯ ยังไม่ดีเท่า ว้าวมาก เฮ้ย เขาไปไกลแล้วเนาะ ถ้าเราไม่มา เราไม่ได้เห็นเลยนะ ที่เกาหลี ขนส่งมวลชนเขาสะดวกกว่ากรุงเทพมากๆ คอนเน็กต์กันได้หมด ของเรา อีหยังวะ ถึงนี่ต้องใช้อีกบัตร ไม่สะดวกเลย เป็นเหตุผลว่าทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงต้องใช้รถ เพราะเขาไม่สะดวกในการใช้ขนส่งสาธารณะ ทำไมรถติด นี่ไง มันไม่สะดวก ก็ต้องใช้รถส่วนตัวไง ก็เลยรถติด ถ้าทำให้การเดินทางสะดวก คุณมีรถไฟความเร็วสูงไปต่างจังหวัดทุกที่ คนก็ใช้ ถ้าเขาสะดวกสบาย แต่มันไม่สะดวกไง ถึงต้องใช้รถส่วนตัว นั่นคือเหตุผลว่าทำไมรถติด ไม่ยอมแก้สักที ไม่เคยถูกแก้

เป็นคนที่เดินทางคนเดียวได้มั้ย
ไผ่ : ได้

ไปไหนมา ?
ไผ่ : ทำได้ แต่ส่วนใหญ่มีเพื่อน การเดินทางคนเดียวก็ดี แต่มีเพื่อนไปด้วยมันดีกว่า เคยครั้งหนึ่ง ไปต่างจังหวัด การไปคนเดียวทำให้เรามีสติ ต้องจดจ่อกับทุกอย่าง ถ้ามีเพื่อน กูปลอดภัย มีคนคอยถาม คอยช่วยกันดู 

ดูไม่ปลอดภัยมั้ย ไปคนเดียว ?
ไผ่ : ไม่ ก็แค่ระวังตัวมากขึ้น จะนอนหลับบนรถ ทำอะไร เผลอ ลืมโน่นนี่หรือเปล่า 

ก้อยเดินทางคนเดียวมั้ย
ก้อย : ประจำ 

เรื่องเพศมีความหมายอะไรมั้ย ดูไม่ปลอดภัย ?
ก้อย : ไม่มี อยู่กับใจล้วนๆ ว่าอยากไปหรือเปล่า เป็นผู้หญิงที่เดินทางคนเดียวตลอด เดือนหน้าก็จะไปเวียดนามคนเดียว ทำแบบนี้มาตั้งแต่อายุยี่สิบสอง หลังจบลาดกระบังแล้วไปต่อออสเตรเลียสามปี เลยเพื่อนเยอะ

เรื่องเดินทางคนเดียว ?
ก้อย : ก้อยไม่ชอบวางแผนอะไรเลย ทริปทุกอย่างวันต่อวัน อยากไปที่ไหน ไปเลย การวางแผนทำให้ชีวิตเราเกิดข้อผูกมัด แน่นอน ปัญหาที่ตามมา ค่าใช้จ่ายที่อาจ over budget เรารู้ เผื่อใจไว้แล้ว สภาพอากาศ เราไม่รู้ว่าฝนมา หิมะตก เราไม่ได้เตรียม ทุกอย่างหาเอาข้างหน้า ก็ดีเหมือนกัน การไม่ศึกษาอะไรก็เป็นปัญหา เลือกที่จะไม่ศึกษา เจอแต่สิ่ง unexpect เข้ามา มีทั้งดีใจ เสียใจ พร้อมเผชิญ ผู้หญิงหลายคนมีการเตรียมพร้อม นู่นนี่นั่น เชื่อมั้ย ก้อยไปเที่ยวคนเดียว จนเพื่อนต้องซื้อ emergency belt ไว้กระชากแล้วจะมีเสียง ติ๊ดๆ ให้มีติดตัวไว้บ้าง แต่ข้อดีเลย ข้อเดียว เป็นคนระวังตัวเอง จะไม่เดินข้างหน้าอย่างเดียว ตาจะอยู่ข้างหลังด้วย เป็นคนเดินระวัง แล้วก็มีครั้งหนึ่ง เดินทางคนเดียวและปวดใจมากคือการไปญี่ปุ่น สองสัปดาห์ สี่เมือง หลง หลงจริงๆ คนญี่ปุ่นพูดอังกฤษไม่ได้ เขาดร็อปเราไว้กลางทาง พอลงรถมา ซ้าย ขวา เราไม่รู้เลยว่าอยู่ไหน เขาคงบอกว่าให้รอและต่อขึ้นรถไปอีกสาย แต่คุยกันไม่เข้าใจ ลงมา น้ำตาไหล อยู่ไหนวะเนี่ย ทำไมทำตัวแบบนี้ ก็มีซีนแบบนี้ (หัวเราะ) สุดท้ายกระโดดขึ้นสักคัน เดี๋ยวหาทางไปได้เองแหละ พอไป สวยดี และจะปิดแล้ว ต้องขึ้นรถกลับ ไป นั่งอยู่จนพระอาทิตย์ตกดิน และเราไม่รู้อีกว่ารถไฟรอบสุดท้ายหมดกี่โมง ขอร้องเจ้าหน้าที่ ขึ้นไป หาทางจนกลับที่พักได้ ไม่มีภาษาอังกฤษเลย ต่างอำเภอ ก็สนุกดี เพราะเป็นคนชอบหลงทางอยู่แล้ว 

ไม่แพลนเฉพาะเดินทางใช่มั้ย เวลาทำงานแพลนหรือเปล่า
ก้อย : แพลนหนักมาก แค่รู้สึกว่าการเที่ยวมันคือสรีระของก้อย คือเรารู้ว่าเราไปไหน เดี๋ยวอากาศดีๆ มันจะมาหาเราเอง อากาศที่ดีคือผู้คนโดยรอบ เรามีมือ ตา แขน ขา ไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น อยากไปไหนก็ไป บางทีการแพลนมากๆ ถ้าล้มเหลว เรารับไม่ได้กับตรงนั้น

กลัวความล้มเหลว ?
ก้อย : ไม่ค่ะ ถ้ากลัวคงทำธุรกิจไม่ได้ จริงมั้ยคะ กลัวความคาดหวังมากกว่า ความคาดหวังที่เราคิดว่ามันจะต้องสวยเบอร์นี้ จะต้องดีเท่านี้ 

ปกติปล่อย ?
ก้อย : ใช่, อากาศจะเป็นยังไง ช่างมัน พร้อมเท่าที่พร้อม ซึ่งถ้ามีคนมาถามว่าผู้หญิงเที่ยวคนเดียวรู้สึกยังไง ผู้หญิงแบบไหน ต้องดู บางคนเที่ยวแบบก้อยไม่ได้ เราเลยไปคนเดียว เรารับได้กับสิ่งไม่คาดหวัง ต่างจากธุรกิจนะคะ ถ้าไม่แพลน มันไม่รู้ว่าจะไปซ้ายหรือขวา เราเป็นผู้บริหารด้วย ถ้าวันนี้ไม่ชัดเจนกับสิ่งที่เราทำ มันไม่ใช่

ตอนทำงานแพลนมาเยอะแล้ว เที่ยวเลยไม่แพลน ?
ก้อย : ใช่, ตัด แบ่ง แยก

เวลาทำงาน คือ 9 to 5 แพลนตลอด ?
ก้อย : ใช่
ไผ่ : เหมือนคนคิดมาเยอะแล้ว แพลนตลอดเวลา วันหนึ่งเราอยากพักจากตรงนั้นบ้าง โดยที่กูไม่อยากคิดอะไรแล้ว
ก้อย : เมื่อกี๊บอก 9 to 5 ใช่มั้ย 9 to 9 to 11 ค่ะ เวลาทำงาน no break 24 h 7 days

ยุ่งขนาดนั้น ?
ก้อย : ยุ่งค่ะ อย่างแรก เรื่องงาน อย่างสอง เรื่องบ้าน เพิ่งสร้างบ้านให้คุณแม่ เราดูแลคนเดียวทุกอย่าง เครียดเรื่องบ้านมาสองปี เพราะทุกอย่างเรานำเข้า ทำทางให้คนที่นั่งรถเข็นได้ แพลนเผื่ออนาคต มีเรื่องจุกจิกต้องจัดการ ทำบ้านด้วย ทำธุรกิจด้วย

ต่างกันมั้ย ก้อยเที่ยวเป็นสรีระ ไผ่เป็นอะไร
ไผ่ : แพลนค่ะ ทำงานออฟฟิศ ไม่เหมือนพี่ก้อย เราอยู่กันคนละโพสิชั่น รู้ว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง เราเป็นคนทำงานออฟฟิศ อยู่ในมาร์เก็ตติ้ง มีเพื่อน ผู้จัดการ หน้าที่มีอะไร ทำตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง อะไรรีบ รอได้ ทำตามสเต็ป ถ้ามาเที่ยวก็ไม่ค่อยแพลนเหมือนกัน เราหาแค่ที่พักว่าเราอยากไปที่ไหน ระหว่างนั้นคือไปเรื่อยๆ เกิดอะไรขึ้นก็ตามนั้น ไม่ฟิกซ์ว่าวันนี้เก้าโมงไปนี่ สิบโมงไปนี่ ทำไมต้องบังคับตัวเองขนาดนั้น ตอนทำงานเราบังคับตัวเองมากพอแล้ว มาเที่ยว ควรปล่อยตามธรรมชาติ ตามที่มันจะเป็นไป
ก้อย : จริง
ไผ่ : มึงจะฟิกซ์อะไรนักหนา ทำงานก็.. เสร็จยัง งานนี้เอาก่อนเที่ยง เย็น เสร็จยัง มันเหนื่อยแล้ว เราปล่อยมันไปบ้างเถอะ 

คู่นี้ถูกใจกันตอนไหน ทำไมมาเที่ยวด้วยกัน เพื่อนพี่น้องมหาลัยเยอะแยะ ทำไมไม่ใช่คนอื่น
ไผ่ : จำไม่ได้ ไม่รู้เหมือนกัน จำจุดเริ่มต้นไม่ได้ด้วยซ้ำว่าสนิทกันตอนไหน

กี่ปีมาแล้ว
ไผ่ : ไผ่อยู่ปีหนึ่ง พี่ก้อยปีสี่ เรียนภาคเดียวกัน เคยเห็นกัน ไม่รู้คุยกันอีท่าไหน อยู่ดีๆ สนิทกันเฉยเลย เหมือนคนคุยกันถูกคอ ไลฟ์สไตล์คล้ายกัน คุยภาษาเดียวกัน ทำไมคุยครั้งเดียวแล้วคลิกเลยวะ กับคนอื่น คุยสิบครั้งกูไม่คลิกเลย 

เจอปีเดียว ก้อยก็ไปแล้ว ?
ไผ่ : ใช่ สั้นมาก ก็งงอยู่

คนนี้งง ก้อยงงมั้ย
ก้อย : งงค่ะ (หัวเราะ) จำไม่ได้จริงๆ เริ่มต้นยังไง
ไผ่ : เหมือนอยู่ดีๆ ก็เข้ามาในชีวิต โดยเราไม่ตั้งใจว่าคุณต้องเข้ามา ทุกวันนี้เป็นไปแล้ว เหมือนคนที่ค่อยๆ ซึมเข้ามา สนิทกันโดยที่เราไม่รู้ตัว

ชอบอะไรในตัวไผ่
ก้อย : กระจก เขาคือกระจก หันไปไม่ต้องพูด โอเค ทั้งคู่ถ้าเราทำงาน ต้องหา priority ที่มันชัดเจนว่างานคุณ คุณทำไปเลย งานเรา เราทำ ขณะเดียวกันเมื่อวันหนึ่งที่คุณมาเที่ยว จะเห็นว่า goal เดียวกัน เช่น เราไม่ต้องแพลน ไปนอนที่นี่ๆ นะ โอเค ข้างทางอยากแวะ แวะ มันเป็นแบบนี้ทุกครั้ง เราจะไม่มีปัญหาเรื่องจุกจิก ไม่พับผ้าห่ม ตื่นสาย กินไม่ได้ ไม่มีเรื่องจุกจิกที่ผู้หญิงหลายคนเป็น เราก็เป็นผู้หญิง บางคนเขาจะมีมุมแบบ ถ่ายรูปให้หน่อยสิ นู่นนี่นั่น ซึ่งก้อยไม่ใช่คนแบบนั้น เรียนถ่ายภาพทั้งคู่ แต่ไม่ชอบถ่ายรูป ถ้าเราเป็นคนขับ เค้าจะเป็นคนดูทาง เหมือนกัน สวิตช์ตำแหน่งโดยไม่ออกคำสั่งใคร ก้อยกับน้องมีตรงนี้ที่แชร์กัน มันไม่ต้องอธิบายอะไรเยอะ

ไผ่ : ไผ่ว่าคล้ายกันหลายเรื่อง มีอะไรพูดตรงๆ เลย บางคนเขารับไม่ได้นะ ทำไมแบบนี้สิ เราพูดตรงไปตรงมาโดยไม่โกรธกัน เข้าใจเจตนาทั้งคู่ รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ไปกับเราได้ทุกที่ หมายถึงว่าเขาลุยไปกับเราได้ ไม่มีที่แบบ กูไปไม่ได้ ทางไม่ดี เรารู้สึกว่าเขาลำบากกับเราได้ ในที่ทุกที่ที่เราอยากไป มันมีเขา เราว่ามันคือความสบายใจ ไม่เรื่องมาก ไม่เยอะ ร้านนี้สวย ไปมั้ย จอด เข้าไป แค่นี้ มันง่ายไปหมด จนเราคิดว่าทำไมมันฟรีจังวะ การมากับคนนี้มันสบาย เบา การไปกับบางคนก็สนุก แต่ทำไมเยอะจังวะ ต้องแพลนว่าไปร้านนี้ ร้านนี้ดัง ถ่ายรูปๆๆ มันเหนื่อย 

ก้อย : สังคมมันเรียกร้องให้คนมีแสงสว่างมาส่อง ก้อยว่ามันเหนื่อย

คุณไม่ต้องการ ?
ก้อย : ไม่ค่ะ ไม่เลย เพราะไม่งั้นคงไม่เลือกมาน่าน 

เรียนปีหนึ่งอายุราวๆ 18 ตอนนี้ 27 แปลว่าอยู่กันประมาณสิบปี ?
ไผ่ : ค่ะ

ใกล้ชิด ติดต่อ เห็นหน้ากันอยู่เรื่อยๆ ?
ไผ่ : นานๆ เจอกันที เพราะอยู่กันคนละจังหวัด แต่ทุกครั้งที่กลับมา ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่เคยรู้สึกว่าห่าง มันเหมือนเราอยู่ด้วยกันทุกวัน จริงๆ ไม่ได้อยู่ ไม่ได้คุยบ่อยด้วย ถ้าช่วงไหนจะไปเที่ยวกันก็คุยบ่อยหน่อย แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยน เหมือนเดิมมาก

ทะเลาะเบาะแว้ง ?
ก้อย : ไม่มีเลย
ไผ่ : มีแต่ด่าเรื่อยเปื่อย (ทำเสียงล้อเล่น) มึงทำไมทำแบบนี้ ทำไมไม่บอก บ่นเฉยๆ ไม่มีไร

ไผ่มีคนแบบนี้ในชีวิตหลายคนมั้ย
ไผ่ : เพื่อนไผ่ทุกคนลุยๆ แต่ระดับความลุยไม่เท่ากัน บางคนเรื่องมากในบางเรื่อง พี่ก้อยอะไรก็ได้ อะไรก็ได้ที่สุดแล้ว 

ชอบลุยๆ ?
ไผ่ : ใครเรื่องมาก ไผ่ไม่ชอบ ไม่ชอบคนเยอะ อันนี้กินไม่ได้ ทำไม ลำบากไม่ได้เหรอ ทำไมต้องสวย ต้องหรู ไม่เข้าใจ ไม่ใช่แนวนั้น ชอบชีวิตง่ายๆ อยู่กับคนกินง่ายอยู่ง่าย นอนง่าย ไม่เรื่องมาก นอนพื้นได้มั้ย กินอาหารแบบนี้ได้มั้ย ชอบแบบนั้น

ชวนวิเคราะห์อีกหน่อย สาเหตุที่ทำให้คุณคิดแบบนี้ เป็นคนแบบนี้ ประกอบจากอะไร ที่เติบโตมา ?
ก้อย : ก้อยไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวสมบูรณ์แบบ พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่ก้อยหกขวบ ทุกอย่างในชีวิตเป็นเรื่องของการไม่ถูกคาดหวัง มีพี่น้องสามคน เป็นน้องเล็ก พี่สาวเรียนเก่ง ทำงานดี ก้อยกลางๆ ไม่ใช่คนเก่ง เหตุผลที่ทำให้เราเป็นคนแบบนี้ หนึ่ง อาชีพที่บ้าน สอง แม่สอนเสมอว่าถ้าอยากได้เงิน เราต้องทำงาน

เขียนหลักการไว้ชัดเจนแบบนี้ ?
ก้อย : ใช่ คุณแม่ไม่เคยให้เงินลูกฟรีๆ ที่บ้านมีบริษัททัวร์ ไปขนกระเป๋า แม่ไม่อยู่ ก้อยพาลูกทัวร์ไปเองได้มั้ย รถตู้สองคัน ไปปาย ตอนนั้นก้อยอายุ 17 เราบอกได้ เพราะไปทุกปี เขาเชื่อใจเรา เราเป็นเด็กก็จริง แต่ไปทุกปี รู้ทุกที่ อะไรดีตรงไหน เตรียมตัวให้พร้อม เราอธิบายได้ อีกอย่าง การเที่ยวของไผ่อาจเป็นธรรมชาติ ก้อยคือคน คน develop คนเสมอ ไม่ว่าไปไหน เจอคนทัศนคติแบบนี้ เรารับมาหมด แต่เราไม่ judge อย่างหนึ่งคือไม่ชอบคนเห็นแก่ตัว เราเห็น แต่เราไม่รับ การเห็นว่าสิ่งนี้เปลี่ยนไปจากความไม่ตั้งใจ ตั้งใจ ไม่ว่าครอบครัว สังคม อาชีพ ผู้คนรายล้อม สำหรับก้อยมันคือการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องเที่ยว ทำงาน ปัญหาเกิด แก้ไขปัญหา แค่นั้น เลยทำให้รู้สึกว่าเรื่องบางอย่างแพลนได้ บางอย่างไม่จำเป็นต้องแพลน แต่ละวันที่ตื่นมา มองหาความสวยงามในชีวิตที่มาเติมเต็มให้เรารู้สึกว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เราทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร และมีสิ่งไหนที่เราอยากทำมั้ย นี่คือสิ่งที่ก้อยเป็นมาตลอด ไม่เคยลืม เป็นคนที่อยู่ได้ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลง

หนึ่ง ครอบครัวไม่พร้อม สอง อยากได้เงินต้องทำงาน มีข้ออื่นอีกมั้ย ?
ก้อย : ทุกอย่างเริ่มจากครอบครัว พอเราเห็นว่าไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ เราทำงานแลก เวลาทำงานเราได้อะไร เราได้เจอผู้คน การได้เจอผู้คน ไม่ว่าดีหรือไม่ดี มันหล่อหลอมความคิด การเปลี่ยนผ่านทุกอย่าง สังคมการเมืองมันส่งผลหมดเลยที่ทำให้เราเติบโตมาเป็นแบบนี้

โรงเรียนหรือมหาลัยมีบทบาทแค่ไหนกับคุณ
ก้อย : ไม่มีบทบาทอะไรในชีวิตเลยค่ะ ไม่มีเลย ในรั้วโรงเรียนและมหาลัยไม่ได้หล่อหลอมก้อยให้เป็นคนแบบนี้ สังคมที่อยู่ ผู้คนที่เจอ เพื่อนแม่ ก้อยมองภาพกว้าง เพื่อนพ่อ เพื่อนเราต่างหากที่มีผลมากกว่าสิ่งที่อยู่ในรั้ว

การศึกษาให้อะไรน้อย ?
ก้อย : น้อยค่ะ ให้แค่วิชาชีพ แต่ไม่ค่อยมีผลทางความคิด

การศึกษาไทยดีมั้ย
ก้อย : ไม่ดี การศึกษาไทยล้มเหลว ตั้งแต่รากหญ้า ทำไมประเทศนี้ จะได้ยินตลอดเลย พูดแล้วน้ำตาจะไหล เราส่งลูกไปโรงเรียนเพื่อซื้อสังคมให้ลูก เทอมละห้าแสน เทอมละล้าน หมื่น พัน ร้อย และเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา ทริปล่าสุดไปสะกาด เจอน้องคนนึงชื่อมืด เดินไปเรียนครับ อายุ สิบเอ็ดครับ แล้วมืดไม่ไปเล่นไหนเหรอ อ้อ พ่อกับแม่อยู่บ้าน ผมมา อยู่ที่นี่เดินมาเรียน เดินไปป่า ตกปลา ยิงนก เขาเล่าว่าเก่ง ใช้สกิล ตกปลา ยิงนก มีลูกค้ามา พาไปน้ำตกได้ มีค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ไปจุนเจือครอบครัว ถ้าไม่เรียนในเมือง หลังจากนี้ก็บวช เหมือนเด็กส่วนใหญ่ที่นี่ แล้วพออายุสิบสองก็แต่งงาน มีลูก ฟังแล้ว รู้สึกว่ารับเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ถ้าวันหนึ่งมีโอกาส มีเวลา ไปต่างอำเภอที่คนเข้าไม่ถึง เคยไปสอนเด็กอายุสิบสอง A B C ไม่รู้เรื่อง ในหนึ่งห้องเดียวกัน มีตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 พี่ว่าเด็กจะได้อะไร มันคือความล้มเหลวจริงๆ

เห็นที่ไหน
ก้อย : อำเภอตากฟ้า นครสวรรค์ โรงเรียนเล็กๆ มีเด็กแค่ 36 คน อยู่กลางทุ่งนา ตอนนั้นเป็นวันเกิด เลยชวนเพื่อน ความที่เราเปิดกวดวิชาอยู่แล้ว เราว่าเราซื้อของไปให้น้อง เราอยากเห็นว่าเป็นยังไง เราเห็นแล้ว โห จริงป่าวเนี่ย เรียนกันห้องเดียวเท่านี้จริงๆ เหรอ หนูกินอะไรกันลูก ขนาดนครสวรรค์ไม่ใช่พื้นที่ทุรกันดาร แต่ว่าการศึกษามันเป็นปัญหาจริงๆ กับการที่เด็กคนหนึ่งไม่ได้รับการศึกษา มันคือความไม่เท่าเทียมอะไรก็ไม่รู้ ทั้งที่เรามีอินเทอร์เน็ตใช้ อยู่บนดอยยังมีเน็ตแรงๆ อยู่ แต่ทำไมถึงไม่สามารถกระจายการศึกษาให้ทั่ว ระบบมันพัง โดยที่มันไม่ถูกหยิบยกมาแก้ไขให้มันดีจริงๆ สามัญสำนึกก็มีส่วน คนที่เป็นครูเพราะอะไร ครูหลายคนไม่ได้อยากเป็นครู ครูคืออะไร เคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือเปล่า 

แล้วไผ่ล่ะ สิ่งที่หล่อหลอมคืออะไร
ไผ่ : มาจากการปฏิบัติของครอบครัวที่มีต่อเรา พ่อแม่ค้าขาย ไผ่ติดรถเขาไปตั้งแต่อนุบาล ช่วยเขาขายของ ตอนนั้นเราสนุก พอโต ม.1-6 ช่วยพ่อแม่ขายของที่ตลาด ทุกวัน ไม่มีเสาร์อาทิตย์ ไม่มีวันหยุด ขายอาหาร เลิกเรียน ไป นั่งรถสองแถวไปตลาด ทุกวัน ยันสามสี่ทุ่ม ถึงเก็บของกลับบ้าน มีเวลา กินข้าว ทำการบ้านตรงนั้น ถ้าไม่มี ไปกินข้าวที่บ้าน สี่ทุ่ม ห้าทุ่ม อาบน้ำ ทำการบ้าน เที่ยงคืน ตีหนึ่ง นอน ไปเรียน ทุกวัน ไปเรียนสาย เพราะว่าเราเหนื่อย แต่ไม่มีใครรู้ว่าหลังบ้านเราเป็นยังไง คนว่ามาสายอีกละ แต่ไม่มีใครรู้ชีวิต เรารับผิดชอบหน้าที่ ตอนเด็กเคยคิดว่าเหนื่อยจังเลย ทำไมต้องทำ ทำไมเลิกเรียนไม่ได้ติวกับเพื่อน ไปกวดวิชา ไปเดินห้าง ไปดูหนัง คิดนะ แต่มันคือความรับผิดชอบของเรา พ่อแม่เหนื่อย ต้องไปช่วยเขา ถ้าเราไม่ทำ ใครจะช่วย เพราะเขาต้องหาเงินมาให้เราเรียน 

มีพี่น้องมั้ย
ไผ่ : ไม่มีค่ะ ลูกคนเดียว พ่อแม่เป็นหนี้ เจ้าหนี้มาทวงบ้าง ต้องจ่ายเงินรายวัน ชีวิตไม่เคยสบายเลย ก็เลยเป็นคนลุยๆ ไงคะ เพราะไม่เคยสบายเลย ตั้งแต่เด็กคือเรียนโรงเรียนวัดแถวบ้าน ครูมีรถรับส่ง ฝากลูกไปกับรถคุณครู ไปกลับ ไว้ใจได้ เลี้ยงดูแบบนี้ตลอด ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน พ่อแม่ไม่เคย ลูกไปไหน ไปรับมั้ย ไม่มี ดึกแค่ไหน กลับเอง แท็กซี่ สองแถว ตอนอยู่ ป.4 ไปเรียน คนละเขต อยู่ลาดกระบัง ไปเรียนมีนบุรี นั่งรถเมล์ หลงไปก็มี ไม่เคยบอกที่บ้านเลย แค่ไม่อยากให้เขาเป็นห่วง เลยเป็นคนลุยๆ มาตั้งแต่ตอนนั้น พ่อแม่ไม่สปอยล์อะไรเลย ลำบากตั้งแต่นั้น ช่วงเรียน ม.3 พ่อแม่แยกกันอยู่ ไม่ได้เลิกนะ ต่างไปหางาน หนูอยู่กับพ่อ ไปเปิดบัญชีที่ธนาคารเอง ตอนอายุสิบห้า ครั้งแรกเปิดได้โดยไม่มีผู้ปกครอง เปิดเพื่อให้พ่อโอนเงินให้ รายเดือน ใช้เงินเป็นรายเดือนตั้งแต่อายุสิบห้า คิดเอง ใช้จ่ายเอง เลยไม่มีปัญหาการใช้เงินตั้งแต่นั้น ไปซื้อของเข้าบ้านเองทุกเดือน ส่วนตัว ส่วนรวม ตอนนั้นแม่ไม่ได้อยู่ด้วย เลิกเรียนไปท็อป ไปโลตัส เพื่อนถาม ไปทำไม ทำไมต้องทำ ก็อยู่กับพ่อสองคน แม่ไม่อยู่ ต้องทำ ไปกดเงินที่ธนาคาร เพื่อนถาม ทำไมมึงมีเอทีเอ็ม เพราะพ่อให้เงินเป็นรายเดือน โอนเข้าธนาคาร ไปกดเอง ซื้อของเข้าบ้านทุกเดือน เป็นแบบนี้มาตลอด เลยคิดว่านี่ละมั้ง วิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติกับเรา มันทำให้เรากลายเป็นคนไม่กลัวความลำบาก เพราะลำบากมาตั้งแต่เด็ก ชิน ไม่รู้สึกอะไรมาก

ปัจจัยอื่นที่มีต่อความคิด เส้นทางที่เลือกเป็น เลือกทำ ?
ไผ่ : เคยเห็นพ่อกับแม่เป็นหนี้มาตั้งแต่เกิด เลยคิดว่าจะทำยังไงก็ได้ให้กูไม่เป็นหนี้ เลยเป็นคนที่ไม่มีบัตรเครดิต ไม่กู้ ไม่ผ่อน ไม่อะไรทั้งนั้น เพราะไม่อยากเป็นหนี้ เพราะเห็นมา ทุกอย่างจะต้องใช้เงินสด ซื้ออะไร ใช้เงินสดเท่านั้น อยากได้เหรอ รอหน่อย แต่จะไม่.. ฉันอยากได้ตอนนี้ ผ่อนเอา ไม่ จะไม่ทำแบบนั้นเพราะเห็นพ่อแม่มาแล้วคิดว่าทำไมต้องเป็นหนี้ ทำไมระบบทุกวันนี้ทำให้เราต้องอยากเป็นหนี้วะ ฉันไม่อยากเป็นแบบนั้น 

ที่บอกว่าการศึกษามันแย่ ก้อย ในฐานะทำโรงเรียนกวดวิชา คิดว่าแก้ยากมั้ย มีวิธีหรือเปล่า
ก้อย : ไปเปลี่ยนตัวระบบไม่ได้ ก็พยายามให้มากที่สุดกับตัวบุคคล เด็กหลายคนทุกวันนี้เติบโตมาด้วยประโยคนึงคือเงินฉันใหญ่ อันนี้ช็อกมาก จ่ายแล้ว อันนี้คือว้าว ยังไงนะ จ่ายแล้ว ก็ต้องได้สิ โอเค มีปัญหาแล้ว มานั่งคุยกัน ด้วยความที่เราเจอคนเยอะ เราอยากรู้ความคิดเขา เขามองว่าโอกาสที่เขาจะได้เรียนเต็มที่ เขาไม่ได้เรียน โควิด ต้องมาเรียนออนไลน์ นี่คือขนาดเด็กที่มีโอกาสทางการศึกษาสูงมาก เขาไม่ได้รียน ถึงเวลาต้องมาเรียนพิเศษ ฉะนั้น การจ่ายเงินของเขาถือเป็นที่สิ้นสุด ฉันพยายามนะ แต่ฉันขอ short cut เด็กสมัยนี้ชอบทางลัดมาก ทุกคนค่ะที่เจอมา ก้อยพูดเสมอว่าก้อยไม่มีทางลัดให้ มีแค่ทริก ในที่นี้ขึ้นอยู่กับบุคคล อย่างหนึ่งคือเราจะไม่ยัดของใส่มือคนที่เขาไม่อยากได้ เช่น เด็กคนนี้มีบุคลิกแบบนี้ ทำไมเหรอ อะไรเหรอ พี่ก้อยมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง เจอคนนี้มา เขาเป็นแบบนี้ หนูว่ายังไง อยากเป็นคนนั้นมั้ย หรือเห็นอะไรที่ดีกว่านี้มั้ย ไหนลองเล่าซิ พอเราเริ่มเปิดใจเขาให้มากที่สุด เด็กที่มีมายด์เซตว่าเงินฉันใหญ่ เขาจะดร็อปลง เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่น พี่ก้อย วันนี้ขอไม่ไปเรียนได้มั้ย พอดีเพื่อนสอบตก ขอไปช่วยเพื่อนก่อน ซึ่งเขาไปช่วยจริงๆ เด็กเห็นแก่ตัวเยอะมาก และการจะเปลี่ยนเด็กเห็นแก่ตัวคนนึง มันต้องใช้เวลา สังคมที่เขาอยู่หล่อหลอมเขามาทั้งหมด นี่คือสิ่งที่ก้อยเจอ อาจจะเจอบ่อย เพราะว่าด้วยตัวสถาบันเราเซ็ตไว้ค่อนข้างสูง เด็กที่เข้ามาเป็นเด็กที่บ้านมีฐานะ ก้อยเป็นวิทยากร ทั้ง รร. มัธยมฯ ต้น มัธยมฯ ปลาย มหาลัย ราชภัฎ ยิ่งเจอเด็กหลายสังคม โดยรวมมันเป็นที่ระบบด้วย ทัศนคติของครูจะส่งให้เด็ก บวกหรือลบมากน้อยแค่ไหน มีผลมากๆ การใส่ใจ ถามว่าคนจะเป็นครูจริงๆ มีจริงๆ หรือเปล่า ณ ตอนนี้ มันเป็นตัวแปรสำคัญที่เด็กจะเจอ สำคัญมาก เราไม่ได้เป็นครู ทำไมเด็ก respect เรา ในฐานะอะไรก็ได้ จะเรียกก้อยอะไรก็ได้ อย่าเรียกว่าครูเพราะเรามีครูที่ดีจริงๆ ตอนเรียนลาดกระบัง ก้อยได้สิ่งดีๆ จากครู ในที่นี้ไม่ได้สอนแค่วิชา แต่สอนการใช้ชีวิต สอนความเป็นมนุษย์ สอนการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นี่เป็นสิ่งเดียวที่อยากกลับไปหาครู เราอยากปรึกษาครู นี่คือครูในมุมมองก้อย อยากเป็นครูแบบนั้น

โรงเรียนกวดวิชามีนักเรียนกี่คน
ก้อย : จำไม่ได้จริงๆ (หัวเราะ) ประมาณร้อยกว่า เด็กมัธยมฯ เป็นส่วนใหญ่ พยายามปรับที่มายด์เซ็ตเขา แค่นั้นเลย ถ้าเราช่วยปรับมายด์เซ็ตคนนึงให้ดีขึ้นได้ ก้อยว่าสำเร็จ ในมุมของก้อยไม่ใช่เรื่องแคเรียร์ ไม่ใช่สร้างรายได้เยอะขึ้น แต่สามารถสร้างระบบคิดดีๆ ส่งต่อให้พวกเขา แบบนั้นมากกว่า

ไผ่อยากมีชีวิตแบบไหน ที่เรียกว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ที่กำลังสร้าง มีหรือยัง หรือยังห่างไกล ?
ไผ่ : ตอบยากมาก อยากทำให้ที่บ้านเราดีขึ้น มันก็ดีขึ้นกว่าตอนแรก แต่เราอยากให้มันดีกว่านี้อีก อยากให้เขาสบาย หกสิบ อายุเยอะแล้วนะคะ อยู่บ้านเช่า เราเหมือนแบกรับความคาดหวังของเขา เพราะเราเป็นลูกคนเดียว ต้องมีนั่น มีนี่ มีโน่น ตามความคิดผู้ใหญ่ เราเข้าใจเขานะ เราก็พยายาม แต่บางครั้งมันก็รู้สึกว่าแล้วชีวิตเราล่ะ ก็เลยต้องแบบ ไปด้วยกัน อันนี้ไม่ชอบใช่มั้ย ไม่อยากทำ แต่ต้องทำเพื่อเขา

เขามาบอก หรือเราคิดเอง ?
ไผ่ : เขาบอก แกล้งๆ ไม่ได้ยิน แต่เรารู้แหละ 

น่าจะทำงานประจำไปอีกเท่าไร ที่บอกชอบสีเขียวมาก
ไผ่ : คิดอยู่ จริงๆ เป็นคนที่อยากออกไปทำอะไร แต่ไม่มีหัวธุรกิจ ไม่รู้จะทำไร ถ้าเราทำงานประจำ ลองหางานที่เราอยากทำมั้ย ที่เกี่ยวกับธุรกิจแบบเชิงวิถีชุมชนที่เกี่ยวกับชาวบ้าน ก็หาแบบนั้นอยู่ วันหนึ่งอาจจะเจอก็ได้ซึ่งเราน่าจะแฮปปี้ เงินก็มีส่วนเกี่ยวข้องว่าเราจะดูแลคนข้างหลังเราได้ไงวะ ถ้าเราไม่มีเงิน และอะไรจะมาจุนเจือเขา การต้องกินต้องอยู่มันต้องใช้เงิน หนูไม่ได้อยากโลกสวย

รายได้เขาไม่พอ ?
ไผ่ : ไม่พอค่ะ ไม่พออยู่แล้ว

ต้องทำงานประจำ และเสริม ?
ไผ่ : หนูไม่ชอบทำงานมากมายขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าทำแค่นี้ พอแล้วสำหรับเรา พักสองวัน แต่ทำงาน 10 ชม. หรือมากกว่านั้นต่อวัน ด้วยความที่เป็นงานโรงแรม จริงๆ ต้องทำวันเสาร์ แต่เหมือนว่าทบไป ปกติคนทำงาน 9 ชม. รวมพัก แต่ของไผ่ 10 ชม. ขึ้น งานไม่เสร็จก็ทำต่อ นั่งทำที่ออฟฟิศในโรงแรม เพิ่งย้ายมาทำได้ไม่กี่เดือน เป็นคนย้ายงานบ่อย เรารู้สึกว่าถ้าอยู่ที่ไหนแล้วที่นั่นหมดสิ่งที่น่าเรียนรู้ เราก็ไปต่อ โดยไม่สนใจว่ากูอยู่มานานหรือยังนะ หรือต้องรอครบปีก่อนมั้ย ไม่ ถ้าที่นี่หมดสิ่งที่เราอยากได้แล้วก็ไปต่อเลย 

ได้ใช้วิชาช่างภาพมาช่วยในงานบ้างมั้ย
ไผ่ : น้อยมาก ช่วงแรกๆ ใช้อยู่ ทุกวันนี้เป็นกราฟิกเต็มตัว ทั้งที่ไม่เคยเรียน ทำไม่เป็นด้วย ศูนย์เลย ได้มาจากทำงาน ฝึกไปเรื่อยๆ โชคดีที่แรกเขาให้โอกาส เจอคนที่ดี ลองทำๆ จากศูนย์ จนวันนี้ทำได้แบบนี้ เออ มันก็เดินมาไกล 

ทุกวันนี้มีกล้องใช้มั้ย
ไผ่ : มี แทบไม่ได้หยิบเลย ครั้งสุดท้ายจำไม่ได้ว่าเมื่อไรด้วยซ้ำ

ก้อยอยากมีชีวิตแบบไหน
ก้อย : เป็นแบบนี้แหละ 

อยู่กับธุรกิจสอนหนังสือ ?
ก้อย : มีธุรกิจที่อยากทำเยอะมาก นับไม่ถ้วน เป็นคนโอเวอร์แอกทีฟ ใช้คำนี้ดีกว่า เป็นคนบ้าพลังมาก ตั้งแต่เด็ก อย่างที่บอก ถ้าอยากมีเงินก็ทำงาน 

ช่วงโควิด คุณได้รับผลกระทบอะไรมั้ย
ก้อย : กระทบอยู่แล้ว แต่อย่าเอาเงินไปตั้งไว้เป็น goal ใหญ่ขนาดนั้นสิ คุณจะไม่มีความสุขเลย ทุกวันนี้ทำงานเพราะแพสชัน มีคนให้ไปเป็นวิทยากร ไม่มีเงินให้เลย คุยแล้วอยากไปก็ไป ถ้าไปคุยแล้วรู้สึกว่า คลิก ไป เดี๋ยวทำให้ ไม่ต้องเอาเงินมาล่อ ทุกอาชีพ ถ้าคุณทำงาน คุณได้เงิน ตราบใดที่ไม่ขี้เกียจ ก้อยทำงานแต่เด็ก แม่เป็น single mom เลี้ยงลูกสามคน เราเห็นแม่ทำงานหนัก กว่าจะได้เงินมา ฉะนั้น งานคืองาน ก็แค่ทำงาน มันไม่ได้ตาย 

ตอนจบลาดกะบัง ไปเรียนต่ออะไรที่ออสเตรเลีย
ก้อย : Marketing management แล้วก็ Human resource

แล้วโรงเรียนกวดวิชานี่มายังไง
ก้อย : แม่ป่วยค่ะ ย้อนไป มีนา 2019 กลับมาไทยครั้งแรก กะว่ามาฮอลิเดย์ ทำธุระบางอย่าง ปรากฏว่ามกราฯ แม่ผ่าตัดหัวใจ จะเรียกว่าเป็นโรคหัวใจได้มั้ย มันส่วนน้อยมากๆ หมอแค่เอาท่อไปขยายเส้นเลือดหัวใจ ทำให้โฟลขึ้น แต่เป็นหนึ่งในสิบล้านคนที่อาการแย่ ซึ่งแม่เป็น แย่ลงๆ เดินแล้วเหนื่อย จะล้ม แกล้งป่ะเนี่ย เราถาม ไม่อยากให้กลับไปออสฯ ไม่ใช่ ตอนนั้นเริ่มเครียด อยู่อาทิตย์ที่สอง ไม่รู้จะทำอะไร กาตาร์เปิดรับแอร์ ตอนนั้นไว้สกินเฮด ไม่คาดหวังว่าจะทำ เพื่อนบอก มึงลองไปสมัครเล่นๆ มั้ย เผื่อติด กูเพิ่งสกินเฮดนะ เราไปเชียงใหม่ ลองสมัคร สรุปว่าติดหนึ่งในห้า เอาไงดี สัมภาษณ์ไปเรื่อยๆ วันรุ่งขึ้นต้องไปต่ออีก เริ่มเครียด เจ๊บอก ทำไปเลย ไม่ต้องเป็นห่วงแม่ เดี๋ยวเขาดูเอง พี่สาวแต่งงานหมดแล้ว คนนึงอยู่เชียงใหม่ คนนึงอยู่กรุงเทพฯ แม่อยู่นครสวรรค์ เครียด เห็นแม่แล้วไม่ปกติ เลยเลือกว่าไม่เอาดีกว่า เดินไปบอกเขาตรงๆ ว่าสละสิทธิ์เพราะเรามีปัญหา เรื่องนี้ที่บ้านไม่รู้นะคะ สุดท้ายกลับไปอยู่บ้าน ก็ไปเดินเล่นในตลาด เจอคนทำโรงเรียนกวดวิชา ชวนไปทำงาน ก็บอกไปตรงๆ ว่าพี่ หนูสอนไม่ได้นะ เกลียดเด็ก กวนตีนมา หนูด่าเลยนะ พี่บอก ลองดูก่อน เข้าสอนคลาสแรก เด็กเจอเรา สอนที่พื้น อยากเห็นรีแอก ลงมานั่งเรียนที่พื้น วงกลม เจอแล้วมันไม่เป็นอย่างที่เราคิด วันนึงพอเรามาทำ มันก็เป็นสไตล์ที่เราชอบได้ เด็กมันแค่ตกใจครั้งแรก ครั้งที่สอง ปรับตัวได้แล้ว ธรรมชาติของอายุเขา เขาไม่จำเป็นต้องอยู่กับแพทเทิร์นนี้ตลอดไป ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเลยเลือกทำกวดวิชา

สรุปกลับไทยยาวเลย ไม่กลับอีก ?
ก้อย : ใช่, ทำกวดวิชา เลือกได้ก็อยากทำให้การศึกษาดี กวดวิชาเป็นแค่เงื่อนไขหนึ่งที่เด็กอยากแอชชีพเร็วกว่าคนอื่น เด็กที่มีความตั้งใจอยากจะเข้าที่นี่จริงๆ 

เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษอย่างเดียว ?
ก้อย : ใช่ อยากได้อะไร คาดหวังอะไร เขามีสิทธิ์ที่เขาจะพูดและเขาต้องการอะไร แล้วก็ทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้อง เอามาบอกกัน เดี๋ยวเราช่วยดูให้ มันเลยมาเรื่อยๆ ก้อยทำโรงเรียนกวดวิชามาสี่ปีแล้ว

ที่บอกว่าบ้าพลัง อยากทำอีกหลายอย่าง เช่น ?
ก้อย : อยากทำธุรกิจส่งออก ผลผลิตอะไรก็ตามที่มาในเรื่องแปรรูป มองตลาดทางฝั่งยุโรป สแกนดิเนเวีย

ก้อยอยู่ในกลุ่มคนที่อยากย้ายประเทศมั้ย
ก้อย : ไม่ได้อยากตายที่นี่ คุยกับแม่แล้ว ชีวิตคือการดำเนินและอยู่กับการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เรารู้ว่าชอบอะไร แม่ตายเมื่อไร ก้อยไปเลยนะ ไปเลย ขายทุกอย่างทิ้งแล้วไปเลย ไม่รู้นะสุดท้ายจะว่าไปไหน แต่ใจเราอยากไปโคเปนไฮเกน อยากไปเดนมาร์ก ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้

ขอนิดนึง ?
ก้อย : urban planning โคตรดีเลย มองจาก bird eye view แล้ว ประเทศอะไรเนี่ย ทำไมมึงจัดสรรปันส่วนได้เซฟหมด for adult, for children สวัสดิการก็ดี เก็บภาษีสูงนะ แต่เรายอมจ่าย 

กำลังจะถามว่าประเทศไทยตอนนี้ดีหรือเปล่า อยากอยู่หรือเปล่า
ก้อย : ไม่ค่ะ ยังไงก็จะไป ไม่ได้รังเกียจประเทศนี้ ยังรักอาหารที่นี่ รักคนหลายๆ ที่ ยังมีเรื่องที่เราสามารถเยียวยาจิตใจกับมันได้ แต่ให้พูดถึงระบบ ที่นี่คือความล้มเหลวอย่างที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

ไม่มีแรงช่วยเปลี่ยนแปลงบ้าง ?
ก้อย : เปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรล่ะ ถ้าให้เราไปเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ เราไม่มี authority นั้น ถึงบอกว่าเราเปลี่ยนได้แค่กลุ่มเล็กๆ เปลี่ยนทัศนคติ จากบุคคลที่เราเข้าถึง หรือชุมชนเล็กๆ อย่างที่ไปสะกาด เห็นโรงเรียนแล้วอยากไปสอน นี่คือสิ่งที่ก้อยสามารถแบ่งเบาได้ ยังสามารถช่วยได้ สิ่งแวดล้อมมีปัญหาใช่มั้ย เดี๋ยวช่วยแยกขยะ สามารถทำได้ แต่ให้ไปแตะระบบ ก้อยทำไม่ได้

สมมุติไปเป็นนักการเมือง ?
ก้อย : ไม่.. มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ มันเป็นไปได้นานแล้ว ถูกมั้ยคะ มีความรังเกียจนักการเมือง ด้วยเหตุผลส่วนตัวมากๆ เมื่อเราไปสัมผัส อยู่กับคนกลุ่มนั้น เรารู้สึกว่าไม่มีความสุขแน่ๆ ไม่ใช่ไม่รักประเทศนี้ อยากได้อะไร คุณสั่งมา เราไม่ต้องเป็น boss ก็ได้ ให้เราไปทำเรื่องที่ดี เรื่องที่เราเจนจัดในด้านนั้น เราจะช่วยอย่างเต็มความสามารถ 

นักการเมืองก็มีหลายแบบ ?
ก้อย : นักการเมืองคือใคร โครงสร้างประเทศไทยล้มเหลวมาแต่เบื้องบน ไปอยู่ในจุดที่สูงขนาดนั้น เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า เราไม่รู้ ไม่สามารถพูดได้เพราะเราไม่ได้อยู่จุดนั้น เช่น วันนี้อยากบอกว่า อยากเปลี่ยนการคมนาคมให้ดี ขุดท่อ ให้น้ำไม่ท่วม บลาๆ บลาๆ พูดได้หมดเลย วันหาเสียง พอไปอยู่ตรงนั้นจริง ถามว่ากี่เปอร์เซ็นต์ที่ทำได้ ก้อยว่าอีกหลายคนมากๆ ในเจเนอเรชันนี้ที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ มีคนทำๆๆ กับอีกคน ทั้งไม่พูดและไม่ทำ อิกนอร์ ถ้าเป็นนักการเมือง เราพูดเยอะมากเลย แต่สุดท้าย เราทำได้แค่ไหน มันอาจมีอะไรมากั้นอยู่ก็ได้ เราก็อาจไม่สามารถพูดได้ว่า ถ้าเราไปตรงนั้นแล้วมันจะเปลี่ยนได้

ก้อนปัญหาประเทศนี้ใหญ่จนสิ้นหวัง ?
ก้อย : สิ้นหวังค่ะ ในเจเนอเรชันนี้คงไม่เปลี่ยน แต่เชื่อว่า empower ของทุกคนมันมี 

ไผ่คิดว่าช่วงนี้ประเทศไทยดีหรือเปล่า
ไผ่ : ไม่ค่ะ แต่ไผ่เชื่อว่าวันนึงมันจะเปลี่ยน คน เดี๋ยวเขาก็ตาย มันจะหมดรุ่นของมัน มันจะคนใหม่ๆ เข้าไปแทน เชื่อว่าถึงวันนั้นจะเปลี่ยน แค่ยังไม่ใช่ตอนนี้เท่านั้นเอง

อ่านข่าวการเมืองบ้างมั้ย ?
ไผ่ : น้อยมาก แค่เสพสื่อโซเชียลทั่วไป ไม่ได้แบบอินหรือเอาตัวเข้าไปขนาดนั้น

คุณล่ะ
ก้อย : บ้าง ไม่เยอะ ถ้ามีม็อบใกล้บ้าน ก็ไป ม็อบ democracy รู้สึกอยากไป อยากเป็นหนึ่งเสียงที่เปลี่ยนแปลง ถ้ามันมีโอกาสให้เปลี่ยน

ใกล้บ้านคือ..
ก้อย : นครสวรรค์ ถ้ามีม็อบ ก็ไป ถึงบอกว่ายังเชื่อใน empower ของเด็กรุ่นใหม่ แต่ไม่ใช่เป็นพวกคลั่งโดยปราศจากการคัดกรอง 

รู้จัก ม. 112 มั้ย
ก้อย : รู้จักค่ะ 

เห็นว่าอย่างไร
ก้อย : เขามีมาเพื่ออะไร เอาจริงๆ นะ อยากรู้ ถามก้อย ในฐานะความเป็นมนุษย์ รู้สึกว่ามนุษย์คือความเท่าเทียม แค่นั้นเลย คำเดียว ถ้าคุณคิดว่ามาตรานี้สร้างมาเพื่อความเท่าเทียมในสังคม ก็ให้มีต่อไป แต่ถ้าคุณคิดว่าสร้างมาตรานี้ขึ้นมาโดยมันไม่ส่งผลดีต่อประเทศนี้เลย ก็ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้

ไผ่เห็นว่าไง
ไผ่ : กำลังงงว่าประเทศมันคืออะไรก่อน หนึ่งคนเรียกว่าประเทศมั้ย ปกป้องหนึ่งคนคือปกป้องทั้งประเทศมั้ย ไม่ใช่ แล้วถ้างั้นเราต้องมีทำไม การมีสิ่งนี้เพื่อปกป้องคนคนนึง แทนที่จะปกป้องประเทศ เราปกป้องคนคนนึงเหรอ แล้วคนอื่นล่ะคืออะไร

ไม่น่าจะเมกเซนส์ ?
ไผ่ : ใช่

มีแพลนจะมาเที่ยวน่านอีกมั้ย
ไผ่ : มาค่ะ ยังไม่เบื่อ ไปเที่ยวกับใครก็ได้อีกฟีลลิ่งนึง คนละคน ประสบการณ์ที่ได้ก็คนละแบบ 

ก้อยล่ะเบื่อน่านหรือยัง
ก้อย : ไม่เบื่อ แต่ก็อยากลองที่อื่น ที่ใหม่ๆ ไม่เคยไป เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ เปลี่ยนตัวเองก่อน เวลาสอนเด็ก กลัวถูกสวนว่าที่มาสอนคนอื่น ตัวเองทำดีแล้วหรือเปล่า เรียนรู้ความบกพร่องทุกเรื่องในชีวิตเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ให้รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร อยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหน เราเลือกเอง 

ความรู้สึกต่อชีวิตวันนี้ ภาวะจิตใจ ?
ก้อย : ไม่สุขเกินไป ไม่ทุกข์เกินรับไม่ไหว บริหารทั้งร่างกายและจิตใจให้ดี แค่นั้นเลย ต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่ใช่ไม่มีเรื่อง มีทุกคน เรื่องธรรมดาของชีวิต ประเด็นคือคุณรับความธรรมดาของตัวเองได้ไหม บางคนรับไม่ได้ เกิดสภาวะปัญหาในใจขึ้น อันนั้นเราไม่ว่ากัน แต่ละคนแข็งแรงไม่เหมือนกัน

เคยล้มหนักๆ มั้ย เช่นว่านอนร้องไห้สามวัน ?
ก้อย : ไม่มี ถ้าปัญหาเกิดวันนี้ ภายใน 24 ชม. ต้องแก้เลย แก้ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ปัญหามีกันทุกคน เดือนเดียวก้อยเคยเจอ 6 ปัญหา เคยค่ะ โชคดีที่แก้ได้เร็ว เป็นคนไม่กลัวปัญหา พยายามแก้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

ปัญหาใหญ่ๆ เป็นเรื่องไหน
ก้อย : สุขภาพของแม่ เรื่องเงินก็มีเคยโดนโกง ลูกน้องหักหลัง มี มันมีหมด ความไม่เข้าใจของคนในครอบครัว ตัวแปรหลักเลยที่ทำให้ไม่ไหวนะ ศึกษาจิตใจตัวเองดีๆ ก่อน แล้วเราจะแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น 

คุณล่ะ ความรู้สึกต่อชีวิตวันนี้ ?
ไผ่ : ดีขึ้นในเรื่องครอบครัว เข้าใจกันมากขึ้น คุยกันตรงไปตรงมา โตขึ้นแล้วคิดได้มากขึ้น เป็นคนไม่ค่อยเครียด เคยมีคนถามว่าเครียดมั้ย ไม่ค่อยนะ อะไรที่เราเปลี่ยนไม่ได้ ตัดทิ้งเลย ไม่คิด ปลงเร็ว ปล่อยวางเร็ว เลยไม่ค่อยเครียด พอไม่เครียด เราเลยไม่ทุกข์

น่าจะออกจากกรุงเทพฯ มั้ย วันหนึ่งข้างหน้า ?
ไผ่ : คิดตลอด ไปอยู่ต่างจังหวัดดีมั้ย ต่างประเทศดีมั้ย ถึงเวลาก็ไป ถ้ามันใช่ ก็ไป ตอนนี้ยังอยู่กับที่บ้าน.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ภาพลายเส้น สุมาลี เอกชนนิยม

You may also like...