interview

ก่อนตลาดจะวาย โค้งสุดท้ายของแผงหนังสือพิมพ์ ที่น่าน

ยืนระยะมานานหลายสิบปีกับร้านเจริญภัณฑ์ ขายอุปกรณ์กีฬาและสิ่งพิมพ์รายใหญ่กลางอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ศรีวิไล ปังสุวรรณ ทายาทรุ่นสอง สืบทอดกิจการต่อจากพี่สาว เปิดขายหนังสือพิมพ์ที่ร้านมาตั้งแต่ตลาดเทวราชไฟไหม้ปี 1980 หน้าแผงวางหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ก และนิตยสารหลายฉบับ ดูหนาตาและหลากหลายกว่าร้านอื่น

แม้ผู้ขายจะบอกว่าลดการรับสิ่งพิมพ์เหลือเพียงสิบเปอร์เซ็นต์

“เราอยากขายนะ แต่หนังสือหลายหัวก็เลิกผลิต คู่สร้างคู่สม บางกอก ขวัญเรือน ก็ยังมีคนถามหา” 

“มติชนสุดสัปดาห์ขายได้ คนสนใจการเมืองอยู่ เนื้อหามีหลายแนว”  

ขาประจำเดลิเวอรี่ตามบ้านร่วมๆ ยี่สิบกว่าคน อ่านเล่มเดียวจบ 

“เราส่งไทยรัฐสิบเล่ม เดลินิวส์สิบเล่ม มติชน ข่าวสด ส่วนน้อย มีเล่มสองเล่ม”

 หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขายได้เยอะไหม ?

“ขายเพราะเอาไว้ตรวจสลาก มาสิบเล่ม ขายได้เจ็ดเล่มห้าเล่ม” คนต่างจังหวัดยังดูหนังสือ เพราะเดินทางสะดวก ผู้สูงอายุออกมาซื้อหนังสือเองได้ 

ลูกค้าส่วนใหญ่อายุเท่าไร ?

 “สี่สิบขึ้นไป ไม่ค่อยมีเด็กมาซื้อเลย มาทีนึง ตายายใช้มาซื้อไทยรัฐ เขาตะโกนขอซื้อไทยรัฐเล่มนึงครับ เรารู้แหละว่าเด็กคนนี้ไม่รู้จักหนังสือพิมพ์ ก็เลยถามผู้ใหญ่ใช้มาซื้อเหรอครับ เด็กพยักหน้า”

 สิ่งพิมพ์ชนิดไหนขายดีสุด ?

 “เมื่อก่อนหนังสือละครขายดี ดังๆ นี่คนยังหาซื้อไม่ได้ บทละครช่องวัน ช่องสาม ช่องเจ็ด เขาชอบอ่านย่อๆ ไม่ใช่ละเอียด เล่มละยี่สิบ ยี่สิบห้าบาท เลิกพิมพ์ก่อนโควิด จะว่าไปก็สมัยบิ๊กตู่นี่แหละ มันแย่มา 6-7 ปี คนหมดเนื้อหมดตัว” 

ช่วงโควิดระบาดหนัก ที่ร้านเป็นยังไง 

“ตามบ้านเขาไม่รับหนังสือพิมพ์กันหรอก เขากลัวติดโควิด คนก็ไม่ค่อยกล้าออกมา ..เงียบๆ ”   

คนขายอ่านด้วยหรือเปล่า ?

“มีข่าวดังๆ ก็เปิดอ่าน  ไม่ค่อยชอบการเมือง ชอบละครนิยายมากกว่า การเมืองอ่านแล้วปวดหัว ดูข่าวจากทีวีมากกว่าด้วย”

อยู่ได้ไหม ขายสิ่งพิมพ์ ?

 “ทุกวันนี้ติดลบนะ ขายจุกๆ จิกๆ ไป ค่าอาหารสามมื้อ ค่าน้ำค่าไฟก็ขึ้น แต่ต้องอยู่ให้ได้”

ละแวกอื่นๆ ร้านขายหนังสือพิมพ์อำเภอเมืองน่าน กระจายอยู่ท่ามกลางย่านการค้า และย่านคมนาคมที่สำคัญ ในเวลาเช้าบริเวณย่านเทวราช ร้าน จ.นครทองน่าน บริเวณสถานีขนส่ง ร้านข้าวแกงครัวป้าดำ 

ยังมีร้านขายส่งอย่างห้างนราพาณิชย์ อดีตร้านขายสิ่งพิมพ์รายใหญ่ที่เคยส่งสิ่งพิมพ์ให้สถานที่ราชการ ห้องสมุดประชาชาชน และกระจายหนังสือให้กับร้านตามต่างอำเภอ เจ้าของเล่าว่าตั้งแต่ขายหนังสือพิมพ์มาไม่มีจุดพีคสูงสุด มีขายได้เรื่อยๆ เป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เยอะ ถ้าหนังสือพิมพ์ขายไม่หมด สามารถเก็บคืนสำนักพิมพ์เป็นรอบรายเดือน กลุ่มคนวัยทำงานไม่ได้อ่านกันแล้ว ขายดีเฉพาะหลังหวยออก คนต้องตรวจหวยกับหนังสือพิมพ์ 

ส่วนอำเภอที่เป็นเส้นทางหลักเข้าจังหวัดน่านอย่างเวียงสา ไพบูลย์ ปังสุวรรณ เจ้าของร้านเครื่องเขียน บอกว่ามีร้านเดียวเปิดตั้งแต่เช้า ปิดประมาณหนึ่งทุ่ม โตมากับการขายสื่อพิมพ์ เห็นมามากกว่า 30-40 ปี รับสืบทอดธุรกิจต่อจากรุ่นพ่อ

“สิบปีที่แล้ว ร้านต้องเพิ่มแผงหนังสือยื่นออกไปข้างหน้าเลยนะ หนังสือบางหัวก็ต้องวางพื้น ที่ไม่พอ” 

แต่สิบปีนี้ ยอดขายแม้ว่าจะขายได้เรื่อยๆ ทั้งวัน หนังสือพิมพ์อย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ ต้องเอาล็อตเตอรี่มาเสริม อำเภอเวียงสา คนซื้อหวยมากพอสมควร

“หวยออก หนังสือพิมพ์ก็ขายได้หลายร้อยฉบับ”

ที่แผง ขายมติชนสุดสัปดาห์ได้ประมาณ 17 เล่มต่องวด หนังสือพิมพ์รายวันยังมีวางขาย และร้านปังสุวรรณมีบริการส่งเดลิเวอรี่ 

“ส่งตามสถานที่ราชการ ตามบ้านรวมสี่หัว ไทยรัฐอันดับหนึ่ง เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด รวมประมาณ 50 เล่ม แต่ก่อนขายได้มากกว่าเพราะราชการเขามีนโยบายให้เอาหนังสือพิมพ์ไว้ตามศาลากลางหมู่บ้าน แต่เดี๋ยวนี้เลิกไปแล้ว”

รับหนังสือพิมพ์มาทางไหน ? 

“หนังสือพิมพ์จะมาล่วงหน้า กรุงเทพฯ ออกวันละสองฉบับเช้าบ่าย ต่างจังหวัดฉบับเดียว ของร้านผม ต้องมีรถไปขนเฉพาะ มาจากพิษณุโลก มาลงเวียงสาและไปร้านใหญ่ที่ตัวอำเภอเมืองน่าน”

“ร้านเจริญภัณฑ์ก็ญาติกันนะ มีญาติที่แพร่ด้วย แต่เขาร้านใหญ่เป็นบุ๊คเซ็นเตอร์ ขายเครื่องเขียนหนังสือตระกูลเดียวกันมีสามร้าน แพร่ เวียงสา น่าน ถ้านิตยสารไหนขายหมดก็วิ่งรถไปเอาในเมือง”

ตอนนี้ยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ไหม ? 

“สายตาผมไม่ค่อยดี ตัวหนังสือมันเล็กด้วย อ่านหน้าปกกับพาดหัว เปิดทีวีดูข่าวไทยรัฐ”

เจ้าของร้านส่วนใหญ่ยอมรับว่าคิดกันหนัก ข่าวปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ หนังสือพิมพ์เลิกผลิต นิตยสารลดลง กระทบกับร้านขายสื่อสิ่งพิมพ์ต่างจังหวัด กำลังหาทางปรับตัวขายของอย่างอื่น ต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

นับเวลาถอยหลังกับโลกของกระดาษ.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ: ซัน แสงดาว

You may also like...