ถามได้ใช่ไหม
เวลามันมีเรื่องหนึ่งเรื่องใดเกิดขึ้นมาในบ้านเมืองของเรา เวลามีเรื่องสำคัญๆ เรื่องอันควรต้องพูดคุยซักถาม
ถามดีกว่าหรือเปล่า คุยกันดีกว่าหรือเปล่า ก็ถ้าสิ่งนั้นมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ หรือจะเหยียบเอาไว้ให้จมอยู่กับความมืด ความเงียบ และความกลัว
เราเห็นว่าคำถามคือความงดงาม คำถามคือมรรคาวิถีที่นำไปสู่สังคมอารยะ
นี่คือคำถามของนักกฎหมาย สันติภาพ อินทรพัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
“มูลนิธิฯ เป็นนิติบุคคลประเภทไหน เป็นราชการสังกัดกระทรวง ทบวงอะไร ถึงมาใช้พื้นที่อันเป็นของส่วนราชการโดยชอบด้วยกฎหมายได้ อำนาจอะไรอนุญาต”
นี่คือคำถามของข้าราชการบำนาญ บุษกร จีนะเจริญ อดีตภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
“อาคารศาลากลางทั้งหลัง คุณจะมารื้อทุบเหมือนตึกแถวเลยเหรอ หน่วยงานราชการต่างๆ เขาอยู่ได้ยังไง ทำไมไม่มีปฏิกริยาอะไรเลย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างมหาดไทย คุณใช้อาคารหลังนี้มา ผู้ว่าฯ กี่คนที่นั่งทำงานที่นี่ ทำไมไม่รู้สึกอะไร”
และนี่คือคำถามของนักสังคมศาสตร์คนท้องถิ่น ศักรินทร์ ณ น่าน อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
“ทรัพยากรของเรากำลังจะหลุดมือไปสู่เอกชน เรายอมรับไม่ได้ที่เขาจะได้สิทธิ์บริหารจัดการต่อไปเรื่อยๆ แล้วประชาชนล่ะ คือปกติคุณต้องเปิดประมูลก่อนสิ ถ้าจะให้เอกชนทำ นี่ของเรา อะไรวะ เล่นกันจนไม่สนใจกฎเกณฑ์อะไรอีกแล้วเหรอ”
มีคำถาม มีคนสงสัย แปลว่ามันอาจมีอะไรไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับศาลากลาง (หลังเก่า) เรามาค่อยๆ ไล่เรียงลำดับ ว่าเกิดอะไรขึ้น ผ่านปากคำการให้สัมภาษณ์จากคนที่เกาะติดเรื่องนี้และมีความเห็นแตกต่าง
ไม่เป็นธรรม
ศาลากลางจังหวัดน่านปัจจุบันตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการ ตำบลไชยสถาน ย้ายไปเมื่อปี 2015 ศาลากลางเก่า (ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 1968) ยังไม่มีหน่วยราชการใดเข้าไปใช้งาน ปี 2016 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านเพื่อปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นหน่วยงานดำเนินการออกแบบ ซึ่ง อพท. อนุมัติงบประมาณ 5 ล้านบาท และออกแบบแล้วเสร็จในปี 2018 แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านไม่สามารถรับเป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการปรับปรุงได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องเงิน คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านจึงมอบหมายให้ อพท. รับเป็นหน่วยงานดำเนินการต่อไปซึ่งได้เสนองบประมาณดำเนินการปรับปรุงอาคารศาลากลาง จำนวน 270 ล้านบาท
“เรารู้ขั้นตอนของมันมาตลอด ไปร่วมเวทีบ้าง ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองถูกต้อง แต่จู่ๆ ได้รู้ว่าโครงการเดิมที่ อพท. ทำอยู่ ไม่ได้ไปต่อ เราก็ เอ๊ะ มันเป็นไปได้ยังไง เริ่มหาข้อมูล จุดที่ทำให้รู้คือบริษัทที่เขาจะเข้ามาทำงาน แล้วเข้าไม่ได้ เพราะมีหนังสือจากผู้ว่าฯ แจ้งว่ากระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้มูลนิธิรักษ์ป่าน่านใช้พื้นที่แล้ว” บุษกร จีนะเจริญ บอกเล่า
“เราพยายามแกะรอย สอบถามว่ามันเป็นยังไง ทุกคนก็ไม่รู้ ไม่มีคำตอบ จุดแรกที่เรามั่นใจว่าโครงการเดิมถูกปัดคือมีหนังสือบอกชัด มีเอกสารยืนยันซึ่งเราว่ามันไม่เป็นธรรม คุณมาได้ยังไง ทั้งที่โครงการเดิมเขาไปต่อได้ กำลังจะปรับปรุง และไม่มีการรื้อทุบอาคารเดิม”
คุณมาได้ยังไง ?
เอกสารประกอบการสร้างความรับรู้และเข้าใจโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) ประทับตรา ‘สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย’ และ ‘จังหวัดน่าน’ ที่แจกให้ประชาชนที่มาฟังความคืบหน้าเรื่องนี้ระบุว่าในปี 2019 มูลนิธิรักษ์ป่าน่านได้ติดต่อประสานงานมายังจังหวัดน่านและกระทรวงมหาดไทยในการขอใช้ประโยชน์อาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน วันที่ 29 มีนาคม 2022 รับทราบและเห็นชอบให้มูลนิธิรักษ์ป่าน่านดำเนินการปรับปรุงศาลากลางให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก งบประมาณการดำเนินการ 600 ล้านบาท และงบประมาณการบริหารจัดการระยะเวลา 10 ปี จำนวน 100 ล้านบาท
เก่าไป ใหม่ทุบ
“ทีแรกเราไม่เห็นแบบ ยังไม่รู้ว่าโครงการใหม่ที่เข้ามาจะทำอะไรบ้าง จนกระทั่งครั้งหนึ่งได้เข้าร่วมประชุม วันนั้นจริงๆ คือไปแทนประธานกองทุนอนุรักษ์อาคารเก่าเมืองน่าน เลยเห็นเอกสารที่เขาแจก ซึ่งอ้างเรื่องความมั่นคงของอาคาร ไม่แข็งแรงพอที่จะต้านแผ่นดินไหว ไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัย และเพื่อประโยชน์การใช้สอยในรูปแบบใหม่ๆ สรุปก็คือจะรื้อทุบอาคารศาลากลางหลังเก่านี้แล้วสร้างใหม่ เราทำงานเรื่องพวกนี้มาตลอดก็เห็นว่ามันไม่สมเหตุสมผล ไม่มีเมืองเก่าที่ไหนเขาใช้วิธีนี้ อาคารเก่าทั่วประเทศที่อยู่ในเขตเมืองเก่า เขาจะไม่ทุบ คือคุณจะเสริมสร้างความมั่นคงด้วยวิชาทางวิศวะฯ สถาปัตย์อะไรก็ว่ากันไป นี่โจทย์แรกของเขาคือทุบเลย เราว่ามันไม่ใช่ เหตุผลที่เขาอ้างมันฟังไม่ขึ้น ทำไมถึงไม่เห็นคุณค่าของอาคารเก่าเลยหรือไง”
บุษกรบอกว่าเวลานำเสนอ เขาจะเน้นเรื่องการออกแบบ พูดแต่สิ่งดี แนวคิดอาคารสีเขียว ซึ่งมันดี ทันสมัย น่าเอามาใช้ แต่ไม่ใช่ทุบอาคารเก่า คุณค่าเหล่านี้มันแลกกันไม่ได้
ปัญหาหลักๆ ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านคือ..
“คุณค่าของพื้นที่โดยรวม ความเป็นเมืองเก่าน่าน คุณค่าตัวอาคารที่อยู่ในเมืองเก่า ของมันปรากฏร่างกายให้เห็นมาห้าสิบกว่าปีแล้ว อยู่ๆ จะหายไป แล้วสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ ถึงคุณบอกว่าดีงามยังไง มันก็คือของใหม่ มันมาทดแทนกันไม่ได้ การตกแต่งภายในเราไม่ติดใจ จะปรับปรุงยังไง ว่าไป เราทำงานพิพิธภัณฑ์ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าหลายๆ แห่งคืออาคารเก่าทั้งนั้น เอามาปรับ ดัดแปลงปรับปรุงแค่ภายใน ภายนอกคงไว้เหมือนเดิม”
คนเดียวก็ค้าน
“เริ่มต้นด้วยตัวเราเอง ใช้พื้นที่ในเฟซบุ๊ก ค่อยๆ เปรียบเทียบให้คนเห็นคุณค่า เอาตัวอย่างที่อื่นมาแสดง เพราะคิดว่าวิธีที่จะทำให้คนเห็นคุณค่าคือให้ความรู้ ถ้าคนรู้เขาจะเข้าใจ แล้วจะเริ่มเห็นคุณค่าและหวงแหนสมบัติแผ่นดิน
“เกิดมาไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ค่อนข้างรู้สึกกับมันเยอะ เพราะมันไม่เป็นธรรม อยู่ดีๆ มูลนิธิรักษ์ป่าน่านเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้ยังไง มันบวกกันสองเรื่อง คือที่มา กับที่รู้สึกมากๆ คือพอรู้ว่าเขาจะทุบ ไม่สบายใจ เพราะเรารู้ว่ามีคุณค่า จะปล่อยให้ถูกทุบไปต่อหน้าต่อตาได้ยังไง ก็ใช้เฟซบุ๊กพูดไป จากแรกๆ นิ่มๆ ช่วงหลังเริ่มแรงขึ้น มีบางอันพูดว่าไม่ใช่ตึกแถวนะที่จะมาทุบกันง่ายๆ นี่อาคารศาลากลางทั้งหลัง คุณจะมารื้อทุบเหมือนตึกแถวเลยเหรอ”
มีคนอื่นร่วมต่อต้านมั้ย ?
“ไม่มี ช่วงแรกนี่คือโดดเดี่ยวมาก หันไปหาใคร เหมือนเขาจะเห็นด้วย แต่พอคุยจริงจัง ชวนว่าเรามาทำอะไรกันมั้ย สร้างกิจกรรมกระตุ้นให้ตื่น ไม่มีใครเอาด้วย ..ก็ไม่เป็นไร เราไปของเราแบบนี้ บางคนปลอบใจว่าศาลากลางไม่ใช่ของเราคนเดียว จนช่วงหลัง สักเดือนที่แล้วมั้งค่อยเริ่มมีคนมาเห็นด้วยมากขึ้น ในไลน์กลุ่มน่านก็คุยกันเยอะ เราใจชื้นขึ้นมาหน่อยที่หลายคนเริ่มมีอารมณ์ร่วม มีคนใหม่ๆ แอดเฟรนด์ขอเป็นเพื่อน ส่องดูก็โอเค มีความคิดเหมือนเรา เลยนัดเจอกัน คุยกัน คือมันมีพลังเงียบอยู่ แต่ปัญหาก็มีตรงที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้รายละเอียด ส่วนมากรู้แค่ข่าวเศรษฐีจะเข้ามาปรับปรุงอาคาร ก็ดีใจกันเพราะถูกทิ้งร้างมานาน เขาไม่รู้เรื่องราวทั้งหมด ทางราชการก็ไม่พูดชัดๆ ให้ทุกคนรับรู้ทั่วกันในวงกว้าง”
เดือนสองเดือนนี้นี่คือพยายามเคลื่อนไหวทางความคิดในเรื่องนี้ ?
“ใช่ๆ เป็นความสนใจหลักช่วงนี้ เราคุยภายใต้หลักการว่าเป็นเมืองเก่านะ เป็นอาคารประวัติศาสตร์ เขียนบทความเรื่องคุณค่าอาคารศาลากลางหลังเก่า โดยหวังว่าจะปลุกพลังได้ ช่วยกันค้าน ทำตามกำลังเท่าที่นึกออก ทำใบปลิวแจก เอาไปให้ผู้ใหญ่คนนั้นคนนี้”
เคลื่อนไหวในฐานะอะไร ?
“ประชาชน ด้วยตัวตนของเรา เราเป็นกรรมการกองทุนอนุรักษ์เมืองเก่าเมืองน่าน เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สืบเนื่องจากจังหวัดน่านได้เป็นเมืองเก่า เรามองทั้งบริบทเมือง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย มันควรต้องเป็นเนื้อเดียวกัน รณรงค์ให้คนเห็นคุณค่าของเก่า รักษาไว้ ทำเรื่องแบบนี้กับชุมชน บ้านเรือนเอกชน กองทุนนี้ตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่คิดคล้ายๆ กัน ไม่เกี่ยวกับราชการ เราทำเสื้อขาย ทำหนังสือขาย มีเงินฝากแบงก์นิดหน่อยไว้ทำกิจกรรม จนทาง อพท.รู้ข่าว เขาช่วยอุดหนุนเงินก้อนหนึ่ง พอรวมกับของเดิมก็ตั้งกองทุน ตั้งกรรมการขึ้นมา ทำจุลสาร ‘แป้นเกล็ด’ เมื่อก่อนออกรายสามเดือน ตอนนี้ต้นทุนทุกอย่างแพงขึ้นเลยลดเหลือปีละสองเล่ม สำรวจบ้านเก่า เอาข้อมูลเรื่องสล่ามาลง เพราะเขามีบทบาทโดยตรงในการอนุรักษ์บ้าน เราเน้นศิลปะ สถาปัตยกรรม รณรงค์การรักษาเมืองเก่าให้คงอยู่ ก็เหมือนที่ทำเรื่องนี้ คิดว่าการพูดออกไปอย่างน้อยก็สะกิดให้เขารู้ เราอาจไม่สำคัญขนาดจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แค่อยากให้เขาเคารพกฎกติกา ตอนนี้ถือว่าเราไม่ได้เดินคนเดียว เริ่มมีกลุ่ม มีพวก มีนักกฎหมาย มีเส้นทางที่จะไป เบื้องต้นที่คุยในจุดที่จะต่อสู้คือไม่ให้รื้อทุบอาคาร ก็สู้ไป ได้แค่ไหน แค่นั้น”
ในพื้นที่สิบไร่นี้จะสร้างอะไรใหม่ก็สร้างไป แต่อย่าทุบของเดิม ?
“ใช่, เรายอมรับไม่ได้ และเชื่อว่าถ้าคนน่านรู้รายละเอียดลึกๆ ก็รับไม่ได้”
รายละเอียดที่ว่า..
อาคารศาลากลางที่จะสร้างใหม่ระบุไว้ในแบบแปลนว่าบนชั้นสอง พื้นที่ 656 ตร.ม. เป็นสำนักงานมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน
บุษกรตั้งคำถามว่ามันเยอะเกินไปหรือเปล่า โดยปกติพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ มันคือสาธารณะทั้งหมด อย่างห้องนิทรรศการก็ควรเป็นห้องจัดแสดงทั้งหมด ไม่ใช่เป็นห้องทำงาน ควรแยกกัน นี่คือพื้นที่เพื่อสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการจัดนิทรรศการ ไม่ควรมีพื้นที่ส่วนบุคคลไปแทรกอยู่ในนั้น
เอกชนสามารถไปมีพื้นที่สำนักงานในสถานที่ราชการได้หรือ ?
“เราไม่เห็นด้วยหรอกกับการมีออฟฟิศไปอยู่ในนั้น แต่ด้วยการเรียกร้องของเรา เท่าที่คิดกันนะ ถ้าเราเอาหลายเรื่อง ในที่สุดมันจะไม่ได้สักเรื่อง ก็เลยเลือกสู้ไปทีละเรื่อง อะไรที่มันเห็นชัด ซึ่งสรุปก็คือจี้ไปที่เรื่องรื้อทุบอาคารก่อน ถ้าสู้จนเขายอมที่จะไม่ทุบอาคาร เรามองว่าเรื่องออฟฟิศก็ต้องปรับอยู่ดี เพราะแบบต้องปรับใหม่ ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะลงเอยยังไง ถามว่าเราโอเคมั้ยกับการที่มีออฟฟิศของมูลนิธิฯ ไปอยู่บนนั้น มันไม่โอเคอยู่แล้ว”
ประเด็น
เอกสารจากมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน จัดทำในวันที่ 15 มิถุนายน 2022 แจ้งหลักการบริหารการใช้ประโชน์อาคารและสถานที่ไว้ 5 ข้อ โดยข้อ 3 ง. เขียนว่า–ไม่มีการจัดสรรพื้นที่การใช้ประโยชน์ให้กับหน่วยงานหรือคณะใดๆ แบบถาวร (ยกเว้นในส่วนที่เป็นที่ทำการของมูลนิธิฯ และที่เป็นพิพิธภัณฑ์ของรัชกาลที่ 9)
ส่วนข้อ 5 เขียนว่า ‘มูลนิธิรักษ์ป่าน่านจะได้รับสิทธิแต่ผู้เดียวในการจัดการอาคารสถานที่นี้ไปเป็นเวลา 10 ปี โดยมูลนิธิฯ จะจัดหางบประมาณเพื่อพันธกิจนี้เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และเมื่อครบกำหนด 10 ปีแล้ว มูลนิธิฯ มีปุริมสิทธิที่จะเลือกต่อสัญญาการจัดการไปอีก 10 ปี ตามเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ข้างต้น’
พอวันที่ 4 สิงหาคม 2022 พบว่าเอกสารที่แจกมามีการแก้ไขในข้อ 5 กลายเป็นดังนี้–เพื่อให้การดำเนินงานของอาคารสถานที่แห่งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดกิจกรรมเรียนรู้สร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชนและคนน่าน มูลนิธิฯ จะเป็นผู้ดูแลการจัดการอาคารสถานที่นี้เป็นเวลา 10 ปี และจะจัดหางบประมาณสนับสนุนพันธกิจและกิจกรรมเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และเมื่อครบกำหนด 10 ปีแล้ว มูลนิธิฯ จะทำการประเมินผลเพื่อหาแนวทางการบริหาร รวมถึงปุริมสิทธิเลือกต่อสัญญาการจัดการไปอีก 10 ปี โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการมุ่งสร้างเยาวชนคนน่านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีพื้นที่สร้างสรรค์ที่สมบูรณ์แบบต่อไปในอนาคต
โดยในหลักการบริหารข้อที่ 4 ยังคงข้อความเดิมคือ ‘มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน เป็นผู้จัดการโดยสมบูรณ์ทุกด้านของอาคารสถานที่แห่งนี้’
บุษกร จีนะเจริญ ชี้จุดอันตราย หรือส่วนที่เธอกังวลมากๆ ก็คือประเด็นที่บอกว่าสำนักงานจะตั้งอยู่บนศาลากลางอย่างถาวร และมูลนิธิฯ มีปุริมสิทธิในการต่ออายุการบริหารจัดการออกไปสิบปี
“เราคุยกันอยู่ โดยเฉพาะกับภาษากฎหมาย คือพอสู้ มันมีหลายเรื่องในโครงการนี้ที่เราเห็นว่าไม่ชอบมาพากล ไม่เป็นธรรม ทำไมมูลนิธิฯ นี้ได้สิทธิ ทำไมมูลนิธิฯ อื่นไม่ได้สิทธิ”
เขาก็คงบอกว่าจ่ายตังค์แล้ว ?
“ใครมีตังค์ซื้อก็ได้เหรอ ในที่สุด พื้นที่รัฐก็จะค่อยๆ หายไป ..ตอนนี้ฝ่ายเชียร์ก็บอกว่าเงินมา 600 ล้าน คนน่านไม่เอาเหรอ เขามาทำให้ หมอก็พูดแบบนี้ พระก็พูดแบบนี้ ไหนจะเจ้าหน้าที่รัฐอีก เป็นฝ่ายเดียวกันหมด”
ตกลงรัฐไม่มีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินรัฐแล้วเหรอ ?
“ก็ใช่ไง เราถึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะเห็นๆ อยู่ว่ามันไม่ถูกต้องชอบธรรม”
คนที่คุณก็รู้ว่าใคร
“ถามว่ารู้มั้ย กำลังสู้กับใคร ก็รู้ แต่เรามองว่าเราคือมนุษย์คนหนึ่ง เขาก็มนุษย์คนหนึ่ง และเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราทำในหลักการ สู้ด้วยหลักการ สู้ด้วยวิชาชีพเรา สิ่งที่เราคุ้นเคยคือเมืองเก่า อาคารเก่า”
มูลนิธิฯ นี้เป็นของใคร ?
“เท่าที่รู้ก็คุณบัณฑูรก่อตั้ง นั่งรองประธาน และอัญเชิญเบื้องสูงมาเป็นประธานกิตติมศักดิ์”
มีปัญหาอะไรในทางส่วนตัวกับคุณบัณฑูรหรือเปล่า ?
“ไม่มี ไม่เคยเจอ ไม่รู้จัก”
เพลียใจ
ออกจากหอประชุมที่วัดพระธาตุแช่แห้ง หลังทางจังหวัดเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา บุษกรบอกเพลียใจที่หลายคนมองไปที่เรื่องเงินอย่างเดียว ให้ความสำคัญกับคนมีเงิน ยอมทิ้งหลักการหมดทุกอย่าง
“ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ไปหมด เห็นกับเงินที่เขาเอามาให้ ถึงกับยอมยกหัวใจของตัวเองให้เขานี่มันเหลือเชื่อ เงินมาตั้งหกร้อยล้าน ทำไมไม่เอา เขาดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ถ้าสังคมเห็นแต่คุณค่าของเงิน ในที่สุดเราจะเหลืออะไร แม้กระทั่งคุณค่าในตัวเองก็ไม่เหลือ ยกให้เขาไปหมดแล้ว ยอมหมดทุกอย่าง
“ที่รู้สึกแย่อีกอย่างคือมันไม่บาลานซ์ มันไม่มีแรงต้าน เฮไปทางเดียวเลย จริงๆ ต้องเป็นราชการใช่มั้ยที่จะต้านทานสิ่งเหล่านี้ได้ นี่ไม่เอาเลย นี่ก้มหัวยอมกันหมด เขาโยนเงินมาตูม ทุกคนอ้าแขนรับ อย่างเรื่องที่จะทุบอาคาร มันไม่ควรมาถึงเราหรอก เมืองน่านมีคณะอนุกรรมการดูแลอยู่ เขารู้และควรคัดค้าน
“สังเกตว่าโครงการอื่นๆ ในเมืองเก่าน่าน ไม่ว่าจะก่อสร้างหรือปรับปรุงอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าของรัฐของเอกชน มันจะต้องมาเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการก่อน พิจารณารูปแบบว่าเหมาะสมมั้ย ทำได้มั้ย ตรวจสอบเข้มข้นมากกับโครงการอื่นๆ แต่กับอันนี้ทำไมไม่เข้มข้น ทั้งที่ควรปกป้องเพราะเขาให้อำนาจคุณมาแล้ว ในการดูแลเมืองเก่าให้เป็นไปตามกติกา มีแผนแม่บท มันน่าแปลกใจว่าทำไมเขาไม่ทำหน้าที่ ทำไมเขาปล่อยมาจนให้ประชาชนต้องเถียงกันเอง
“เรามารู้ทีหลังว่ามหาดไทยไม่ได้ยกพื้นที่ให้ อพท. ยังเก็บไว้อยู่ และยังไม่ส่งคืนธนารักษ์ แล้วอยู่ดีๆ มหาดไทยก็อนุญาตให้มูลนิธิฯ ใช้ นี่คือความเคลือบแคลง ไม่โปร่งใส ชวนให้ตั้งคำถามว่าแบบนี้ก็ได้เหรอ”
บรรทัดฐานเงิน
“มันจะเป็นตัวอย่างให้ที่อื่นๆ ทำตาม แล้วต่อไปภาครัฐจะเหลืออะไร พื้นที่อันเป็นทำเลทอง ใจกลางเมือง คุณยังอนุญาตให้เขาได้เลย แล้วที่อื่นๆ ล่ะ ตอนนี้ที่เราคุยกันในกองทุนอนุรักษ์อาคารเก่าว่าควรจะยกเลิกกองทุนไปเถอะ เพราะเราคงไปขอความร่วมมือจากชาวบ้านไม่ได้แล้ว ถามว่าเพราะอะไร ก็ อ้าว ขนาดศาลากลางยังเหมือนถูกปล้นไปเลย สมบัติเก่าแก่ราชการเขายังทุบ คุณจะไปบอกชาวบ้านให้รักษาบ้านเก่า บอกเขาว่าอย่าไปรื้อ ใครจะฟัง ในเมื่อบรรทัดฐานต่างๆ พังหมดแล้ว หลักการล้มระเนนระนาด”
สู้แค่ไหน
“บอกไม่ได้ ไม่รู้ ..เท่าที่รู้ก็จะพูดไปเรื่อยๆ ตอนนี้ฝ่ายโน้นคงรู้แล้วว่ามีคนไม่เห็นด้วย ก็โอเค อย่างน้อยเขาย่อมรับรู้ว่ามันไม่ราบรื่นไปซะทั้งหมด มีคนไม่เห็นด้วย ถึงเสียงเราไม่ดังมากมาย แต่คนคัดค้านมันมีอยู่จริงนะ และหลายคนเขาก็ยังไม่กล้าเปิดหน้า”
ยืนยันอีกสักครั้งได้ไหมว่าที่คัดค้านไม่ใช่ตัวบุคคล ?
“ไม่ใช่”
สมมุติว่าพรุ่งนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาทำแบบนี้ คุณจะค้านหรือเปล่า ?
“คัดค้านสิ ในเมื่อมันไม่ถูกต้อง ไม่ว่าใครก็ตาม อาคารศาลากลางเป็นทรัพย์สินของรัฐ รัฐต้องดูแล ไม่มีสิทธิยกให้ใครโดยหลบๆ ซ่อนๆ มันไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ที่มามันไม่ถูก กระบวนการไม่โปร่งใส สมควรถูกตรวจสอบใหม่หมด”
บุษกรเปิดใจว่าแต่ไหนแต่ไรไม่เคยคิดที่จะมาทำเรื่องพวกนี้เลย ไม่ชอบ ไม่ถนัด
“เรามันพวกโลกสวย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวตนอีกด้านคือเราทนไม่ได้ ถ้ามันไม่ชอบธรรม ความเป็นไปของสังคมมันต้องถูกต้องดีงามสิ ไม่คิดว่าจะต้องมาทำ แต่มันจำเป็น รู้สึกว่าไม่ทำไม่ได้ ถึงขั้นนอนไม่หลับน่ะ แปลกมาก อินมาก กระทบความรู้สึกรุนแรง เป็นเรื่องใกล้ตัวด้วยมั้ง เราทำงานมาสายนี้ เรารบในเรื่องที่เราถนัด”
ตอนรับราชการเคยเจอเรื่องทำนองนี้มั้ย ?
“ไม่มี ไม่เคยเจอ โดยพื้นฐานเราไม่ใช่คนหัวรุนแรง แต่มีหลักการ มีอุดมการณ์อยู่ ยิ่งกับเรื่องนี้มันชัดมาก ถ้าไม่พูดหรือไม่สู้อะไรเลย คงนอนไม่หลับ”
เสี่ยงหรือเปล่าที่สู้ ?
“ไม่คิด.. ไม่รู้ว่าเสี่ยงมั้ย เราไม่ได้ทำอะไรผิด”
กังวลเรื่องความปลอดภัยบ้างหรือเปล่า ?
“ไม่”
ล่าสุดมีแนวร่วมกี่คน ?
“ที่คุยจริงจังมีประมาณสิบคน สุมหัวคุย เพิ่งมาเห็นหน้ากันสองสามอาทิตย์นี้แหละ คุยว่าทำยังไงเราจะปกป้องอาคารศาลากลางไว้ได้ คำตอบคือต้องพูด ต้องอธิบาย บอกเล่าคุณค่ามรดกนี้ให้มากที่สุด ถ้าในภาพใหญ่กว่านั้นก็คงเกินกำลัง การต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลซึ่งมาในนามนักบุญมันไม่ง่าย ก็ทำไปเท่าที่ทำได้ ทุกวันนี้กลไกรัฐเราอ่อนแอ ขณะที่พ่อพระนักบุญอย่างเขายิ่งใหญ่มาก คุมท้องถิ่นได้หมดทุกวงการ โดยเฉพาะในสายสาธารณสุข กับวัด”
ในฐานะคนที่วิ่งขึ้นลงดอย ทำงานอยู่กับชาวบ้านมาเป็นสิบๆ ปี คุณมองการทำงานของมูลนิธิรักษ์ป่าน่านยังไง ?
“ยังไม่เข้าใจถึงสภาพปัญหาจริงๆ ก็เหมือนคนกรุงจำนวนมากที่มองว่าชาวบ้านเป็นจำเลย”
เราอยู่กันหลายคน
ความหมายของเมืองข้อแรกๆ แปลว่าอยู่ร่วม หลายคน หลายฝ่าย หลายความคิด เมืองคือคำอธิบายความหลากหลายของโลกและชีวิตผู้คน
ศักรินทร์ ณ น่าน หนึ่งในคนที่ลุกขึ้นตั้งคำถามต่อเรื่องนี้กลางเวทีรับฟังความเห็น บอกว่าถ้าเสียงส่วนใหญ่เอาไง ก็เอาตามนั้น เพียงแต่ปรารถนาการถกเถียงเพื่อให้เห็นกว้างและรู้ลึกมากที่สุด ต่อเมื่อเข้าใจกระจ่างแจ้งทุกซอกทุกมุมแล้วปล่อยให้ประชาชนเป็นคนเลือก
หลักคิดเป็นแบบนั้น แล้วโดยส่วนตัวคุณคิดเห็นยังไง ?
“ใจผมอยากให้กลับมาสู่ท้องถิ่น หลักใหญ่คือให้ท้องถิ่นจัดการ ตอนนี้ฝั่งหนึ่งเขาเสนอโมเดลทุบทิ้ง ผลักไปให้เจ้าสัวเลย ผมว่ามันไม่ควร ถ้าจะทำวิธีนี้จริงๆ มหาดไทยต้องบายพาสอำนาจนี้มาให้ท้องถิ่นก่อน แล้วค่อยส่งต่อเจ้าสัว แบบนี้เจ้าสัวและท้องถิ่นยังคงร่วมมือกันได้อยู่ใช่มั้ย แต่ทางมหาดไทยข้ามหัวพวกเราไปหาเจ้าสัวเลยตรงๆ ทรัพยากรท้องถิ่นก็หลุดมือไป เจ้าสัวไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อย่าง อปท. ชั่วๆ ดีๆ ประชาชนยังคุมเสียงเขาได้ ถ้าบริหารไม่ดี เราวิจารณ์ได้และเขาต้องเกรงใจประชาชนบ้าง เพราะอำนาจยึดโยงกันอยู่ แต่ถ้าตกไปอยู่ในมือเจ้าสัว มันหลุดจากท้องถิ่นไปเลยนะซึ่งไม่น่าส่งผลดีในระยะยาว”
Information is power
“ผมสู้เรื่องทรัพยากรในท้องถิ่น อย่างน้อยที่สุดก่อนจะทำอะไร เราต้องได้ข้อมูลครบถ้วนที่สุด อย่างเรื่องนี้ควรมีคนลุกมาถกโดยไม่ต้องเกรงใจเจ้าสัว ตลอดเวลาที่เราเห็น โอ้โฮ ฝั่งอวย ไม่ว่าคลิปตุ๊เจ้าทั้งสองรูป โดยเฉพาะคำพูดที่บอกว่าเขาเอาเงินมาให้–ถ้าไม่เอาก็ง่าว มันน่าตกใจว่าทำไมเป็นแบบนี้ ผมอยากให้คนมีข้อมูลและถกเถียงกันให้รอบด้าน เพราะถึงที่สุดเลยข้อดีของกระบวนการนี้คือความศักดิ์สิทธิ์ของการจัดพื้นที่ให้คนได้คุยกัน ก่อนหน้านั้นคุยเฉพาะคณะอนุกรรมการซึ่งเราไม่เคยรู้เลยว่าคุยอะไรกันบ้าง แต่ถ้าเวทีใหญ่ เอาสิ ซัดก็ซัด สู้กันด้วยข้อมูล ไม่ใช่พอเริ่มมาก็ชี้นิ้วด่าคนอื่นว่าโง่”
ผลพวงของการพูด
“ผมโดนผู้ว่าฯ โทรฯ มาหา เขาบอกว่าผมทำแบบนี้ไม่จงรักภักดี เฮ้ย อะไรวะ แค่เสนอให้พูดคุยกันทุกมุม ผมโดนข้อหาไม่จงรักภักดีเฉยเลย”
เคยเจอผู้ว่าฯ มั้ย ?
“เจอตอนเป็นข่าวครั้งแรก ผู้ว่าฯ ขอนัดกินกาแฟคุยกับผม ถามว่าทำไมถึงออกมา ผมบอกว่าคุณบัณฑูรทำแบบนี้ไม่ถูก ถ้าคุณอยากได้จริงๆ ทำเวทีก่อนสิ เปิดข้อมูลทุกอย่างให้คนเห็น ไม่ใช่คุยกันเองแล้วเอาเลย คุณต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน ถึงจะสง่างาม ถ้าไม่ทำ ผมก็ต้องคัดค้าน เพราะโครงการแรกผ่านสายตาประชาชนมาแล้ว เขากำลังดำเนินการอยู่ วันดีคืนดีคุณบัณฑูรจะมาหักเอาไปโดยไม่สนใจชาวเมืองแบบนี้ไม่ได้
“เราเริ่มล่ารายชื่อแล้วตอนนั้น ผู้ว่าฯ ถึงตื่นตัว ว่ามันมีคนสนใจ ผมทำเพจประชาชนเฝ้าติดตาม ตอนคุย ผมก็พูดกับท่านด้วยความสุภาพที่สุด รักษามารยาทมากที่สุด ผมว่าดีนะที่ได้คุยกัน แต่ควรมีเวทีใหญ่ด้วย และต่อไปจะกลายเป็นมาตรฐานว่าอนาคตถ้ามีเรื่องอื่นก็ต้องแบบนี้นะ ทุกครั้งถ้าจะมาทำอะไรที่น่าน คุณต้องคุยกับประชาชนก่อน อย่าเอาอำนาจมากดหัวพวกเรา อยากทำอะไร อยากได้อะไร มาคุยกับพวกเราดีๆ”
ผลพวงของการพูด (อีกครั้ง)
“ถามว่ากลัวมั้ย ผมว่าประเด็นมันไม่ใช่เรื่องความมั่นคงขนาดนั้น เขาจะเอาอะไรมาเล่นเรา ถ้าเปิดเวทีก็คือแค่ถกเถียงกัน แต่เชื่อมั้ย เรื่องเท่านี้ ผมโดนตำรวจตามตัวสองสามรอบ อาจจะเนื่องจากเรามีประวัติอยู่ในกลุ่มคนที่ยื่นรายชื่อให้พิจารณาเรื่อง 112 ว่ามันไม่ถูกต้อง มีหนหนึ่ง ก่อนพระเทพฯ มาน่าน ตำรวจมาถามผมว่าจะทำอะไรมั้ย ไปหาที่มหา’ลัย มาตามถึงบ้าน เจอพ่อแม่ คือมีทั้งโทรฯ ทั้งตามตัว ผมก็ อะไรวะ ผมไม่ได้มีอะไรเลย ไม่ได้คิดทำอะไร แต่ถ้าพวกคุณมารังควานแบบนี้ต่อไปมันไม่ได้นะ ผมไม่เคยคิดอะไรไม่ดี ถ้ามีอะไรอยากคุย มาคุยต่อหน้า ผมไม่หนีไปไหน พูดตรงๆ เลยก็อยากคุยกับพวกคุณด้วยซ้ำ”
กลัวมั้ย ?
“ทำไมจะต้องกลัว เรื่องมันไม่ได้คอขาดบาดตาย ถ้าคุยเรื่องแค่นี้ยังทำไม่ได้ เรื่องอื่นก็ไม่ต้องพูดกัน มันไม่ใช่เรื่องฆ่าแกงใคร ไม่ได้กระทบกระเทือนความมั่นคงอะไร เราคุยเรื่องศาลากลาง ตึกเก่าในเมือง ว่าจะจัดการยังไงดี เอาไงดีครับ ทุบรื้อหมดหรือเหลือไว้ มันไม่ใช่เรื่องอันตราย
“กังวลบ้างมั้ย มันก็มีบ้าง แต่พอมองไอ้ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) มองคนหนุ่มสาวที่มันเคลื่อนกันอยู่ เทียบแล้วของเรามันเล็กน้อยมาก ไอ้กวิ้น (พริษฐ์ ชิวารักษ์) มันยิ่งกว่าผมไม่รู้เท่าไหร่ ผมป๊อดจะตาย และผมไม่ได้ตัวใหญ่ที่ฝ่ายความมั่นคงจะมาเล่น ประเด็นที่เคลื่อนก็ไม่ได้แรงอะไร ทางมูลนิธิฯ เองก็ไม่เคยออกตัวว่าเป็นพระประสงค์ ถ้าแบบนั้นก็บอกมาตรงๆ แต่ถ้าอยู่ดีๆ มาบอกว่าผมไม่จงรักภักดี เฮ้ย อะไรวะ ผู้ว่าฯ มาพูดแบบนี้ได้ยังไง เสียดายตอนนั้นอัดเสียงไม่ทัน ไม่งั้นก็เป็นเรื่อง มาข่มขู่แบบนี้ได้ไง ก็อึดอัดใจเหมือนกัน ไหนจะโดนพระด่าอีกว่าใครไม่เห็นด้วยก็ง่าว โอ๊ย ฟังแล้ว..”
คำพระและตรายาง
“ถ้าตุ๊เจ้าว่าญาติโยมศรัทธาง่าว ตุ๊เจ้าก็ง่าวเหมือนกัน เพราะดูจากการวิเคราะห์ การรับรองเจ้าสัวว่าเป็นคนดี ไม่เล่นการเมือง ขอโทษครับ ท่านเป็นบอร์ด เป็นระดับซูเปอร์บอร์ดของการบริหารเมืองไทยมาไม่รู้กี่ปีแล้ว อันนี้ไม่ใช่การเมืองเหรอ พระพยายามประทับตราแสตมป์ให้ว่าเขาเป็นคนดี ลึกๆ แล้วแม้จะคันปาก ผมพอเข้าใจท่าน การอยู่กับเงินบริจาคมามากก็เป็นแบบนี้
“มองดีๆ เราจะเห็นว่าเขากำลังแปลงยุทธศาสตร์จากป่าสู่เมือง แปลงทั้งจังหวัดน่านเข้ามาเป็นทุน ต่อแขนต่อขา รีโพสิชันตัวเองผ่านการบริจาค มหาเศรษฐีระดับโลกก็ทำแบบนี้ เขาใช้การบริจาคแปลงเป็นทุน โพสิชันตัวเองว่าทำแล้วไม่หวังผล จริงๆ มันคือการเคลื่อนของทุนที่จะไปต่อในทางเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาเครือข่ายตัวเองให้กว้างขึ้น เมื่อมีทุนทางสังคม ก็ไปรีโพสิชันทางวัฒนธรรมและมีอำนาจทางการเมืองได้ต่อ นี่คืออำนาจทางการเมืองในฝั่งที่เป็นพันธมิตรกับรัฐเรียบร้อยแล้ว ผู้ว่าฯ ก็เทไปทางนั้นหมด อำนาจภาคประชาสังคม ผู้นำต่างๆ ไม่ว่าพระสงฆ์ ไม่ว่าหมอ เด้งออกมารับลูกทั้งหมด เขากำลังผ่องถ่ายทุนครั้งมหาศาล ทั้งทุนตัวเงิน สัญลักษณ์ วัฒนธรรม และกลายเป็นการตัดสินใจในการเมืองท้องถิ่น เอกชนเข้ามาจัดการทรัพยากรพับลิก โดยที่องค์กรพับลิกอย่าง อปท. ก็ถอยให้ ถามว่าคุณไม่อายเหรอ
“แทนที่จะเป็นพาร์ทเนอร์ คนน่านกำลังยกทรัพยากรตัวนี้ให้คุณบัณฑูรจัดการ มูลนิธิฯ เขาจะมีที่ทำงานใหม่โอ่อ่า และพวกเราเป็นผู้ขอใช้ ด้วยสำนึกซาบซึ้งน้ำตาไหลว่าท่านใจบุญ นึกออกมั้ยว่าผมเห็นอะไรก็พยายามพูดซึ่งถ้าหลังจากนี้เกิดอะไรขึ้น น่านไม่ใช่บ้านของผมคนเดียว ทุกคนก็รับผลกระทบไปด้วยกัน ในเมื่อรับรองกันขนาดนี้”
แก่นของเรื่อง
ศักรินทร์เห็นว่าทรัพยากรของเมืองกำลังหลุดมือไปสู่เอกชน มันไม่ควรเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้
เราอยู่กันหลายคน หลายความคิด กฎเกณฑ์กติกามันต้องมี
“เรื่องทุบ ไม่ทุบ ผมไม่สนใจมาก ความงาม สุนทรียะ ความเป็นน่าน ผมไม่เชื่อทั้งนั้นแหละ เพราะเรามองว่าเป็นการเอาของที่ไม่มีอยู่ทำให้มีอยู่ ทุกอย่างสร้างขึ้นมาทั้งนั้น มันเป็นวาทกรรมหมดแล้ว ประเด็นเป็นเรื่องหลักการ คือจะทำอะไรก็ควรเห็นหัวประชาชนบ้าง
“ถ้าเราทำให้เป็นเวทีที่ประชาชนต่อรองผู้มีอำนาจได้ มันจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะที่ผ่านมาอำนาจต่อรองของประชาชนมีน้อย เลยชวนให้หลายคนเข้าใจว่าเงินไม่มี เรามันจน เขาเอาเงินมาให้ ไม่เอาก็ง่าวแล้ว แต่ถ้ามองลึกลงไป ทำไมรัฐเราถึงอ่อนแอ คุณไม่มีคำถามพวกนี้บ้างเลยเหรอ ทำไมเราไม่ช่วยกันทำให้แข็งแรงขึ้นมา ทำไมเราไม่พูดถึงการจัดการภาษีท้องถิ่น ซึ่งหากองค์กรท้องถิ่นมีอำนาจทางนโยบายและงบประมาณใหม่ๆ มันจะเสริมคุณภาพการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นได้ดีขึ้นมั้ย”
ไม่ใช่เอาชีวิตหรือชะตากรรมของบ้านเมืองไปแขวนไว้ในมือเศรษฐี ?
“แน่นอน, ไม่ใช่ลักษณะ โอ้โฮ เพราะท่านเมตตา..”
สายมู ?
“ที่ผ่านมาคุณบัณฑูรไม่เคยมาร่วมเวที ถ้ามา ผมอยากถามเขาว่าต้องการอะไรกันแน่ครับ มีข่าวว่าท่านสายมูเหลือเกิน อันนี้จริงหรือไม่จริง ถึงกระเสือกกระสนจะมานั่งศาลากลางให้ได้ ตกลงอันนี้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เอาเยาวชนมาอ้างหรือเปล่าครับ ท่านกล้าพูดมั้ยว่าต้องการที่ตรงนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นที่แห่งอำนาจ ผมอยากได้ พูดมาแมนๆ เลยมั้ย เพราะฟังว่าให้ที่อื่น ท่านก็ไม่เอา เขาว่ากันมาแบบนี้ ท่านจะยอมรับมั้ยว่าที่ดิ้นขนาดนี้เพราะท่านเชื่อฮวงจุ้ย ถ้าไม่ใช่ ก็บอกมา
“ผมเชียร์ให้ทุกฝ่ายคุยกันให้สุด ให้จริงจัง เปิดกว้าง คิดอะไร เชื่อยังไง ต้องพูดได้โดยไม่มีใครมาประทับตราว่าโง่ ว่าไม่จงรักภักดี คุยกันให้สุดทุกแง่มุม หลังจากนั้นถ้าประชาชนว่ายังไง นั่นคือเสียงของเขา อย่างที่บอก ผมห่วงว่าในความคลุมเครือแบบนี้ที่สุดของมันจะหลุดมือ นึกออกมั้ยว่า ถ้า อปท. ดูแลอยู่ อย่างน้อยเรามีตัวแทนประชาชนบริหารทรัพยากรของเรา แต่ถ้าตกไปอยู่กับมูลนิธิฯ ถามว่าใครจะควบคุม ตรวจสอบ”
พร้อมที่จะแพ้ ?
“ถ้าเราถือหางข้างนี้ก็ยอมรับว่าเตรียมใจ แต่ขอให้ได้คุยแบบสุดๆ ก่อน เราอยากเซ็ตมาตรฐานในภายหน้าว่าผู้มีอำนาจจะทำอะไรต้องทำเวทีเปิดเผยนะ ยิ่งถ้ามันกระทบกับประชาชน คุณต้องมาคุยกับพวกเรา อันนี้จะเป็นมาตรฐาน เป็นเสน่ห์ ถ้าเราอยากส่งเสริมให้ประชาธิปไตยเบ่งบาน”
แม้ครั้งนี้อำนาจจะหลุดมือไปจริงๆ ?
“ก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีคนเอาด้วย ผมยอมรับได้ จังหวัดน่านไม่ใช่ของเราคนเดียว ไม่ว่าแพ้หรือชนะ การต่อสู้แบบนี้จะสร้างมาตรฐานในอนาคต คุยกันแล้วเลือกยังไง ว่าไป ผมไม่มีปัญหา ยอมรับว่านี่ก็เป็นทัศนะของคนชั้นกลางเหมือนกัน เราทำได้เท่านี้
“ในอีกด้านหนึ่ง มันคือจังหวะของการเคลื่อนเข้าสู่ creative city เป็นกระแสโลก เมืองต่างๆ ต้องแต่งหน้าทาปาก ต้องมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เป็นการท่องเที่ยวที่ตอบสนองคนชั้นกลาง ผมเสียใจอยู่หน่อยที่ได้ยินว่าคนน่านจะได้ศูนย์ส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่มีงานทำ จะได้ไม่ต้องไปกรุงเทพฯ ลูกหลานเกษตรกรมีพื้นที่เรียนรู้ ไม่ต้องไปทำไร่เลื่อนลอยหรือทำลายป่า นี่เป็นความคิดของชนชั้นนำ เจ้าสัวก็มองแบบนี้ คือคิดว่าคนบนดอยมีปัญหา ต้องไปจัดการเขา ทัศนะแบบนี้แพร่หลายมาก แม้กระทั่งการสร้างศูนย์นี้ก็อ้างว่าจะเอาลูกหลานเกษตรกรมาสอนให้เขาไม่ทำลายป่า
“คุณคิดว่าตึกเท่านี้จะพลิกผันเมืองน่านได้เหรอ มันจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเปลี่ยนแปลงถึงขั้น โอ้โฮ เกษตรกรไม่ทำลายป่า ลูกหลานมีงานทำ ธุรกิจการท่องเที่ยวเล็กจะตายเมื่อเทียบกับภาคเกษตร รายได้จากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่นิดเดียว แม้ว่าคุณบอกว่าปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวมาก แต่พื้นที่เท่านี้จะทำอะไรได้ คนมาพูดมาเชียร์เป็นคนในธุรกิจท่องเที่ยว เจ้าของรีสอร์ตเขาก็ยินดีสิที่จะมีสิ่งนี้ดึงดูด แต่เท่านี้คุณก็สนับสนุนเขาแล้ว ผมอยากให้คิดดีๆ ก่อน”
ทำไมพระกับหมอจึงอุ้มเจ้าสัว ?
“ผมติดตามหมอพวกนี้มานาน เขาอยู่ในสายสิ่งแวดล้อม เป็นรอยัลลิสต์ จริงๆ รอยัลลิสต์มีทั้งสองฝั่งนะ ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ฝั่งที่เห็นด้วยคือกลุ่มที่เป่านกหวีดด้วยกันมา ก็ไม่แปลกใจ ถ้าหากจะมีคนลุกขึ้นมาโดยไม่ใช้โครงสร้างท้องถิ่น ขอให้ทำสิ่งดีๆ เป็นฮีโร่ที่มาพลิกผัน ลัทธิบูชาตัวบุคคลว่างั้นเถอะ เขายินดีรับ ยิ่งมีทุนที่เป็นสัญลักษณ์คนดี มาแบบสีขาว และไม่หวังผลประโยชน์ มันเข้ากับจริตเขาอยู่แล้ว หมอบางคนก็เป็นนักต่อรอง ชอบเข้าหาผู้มีอำนาจ ชอบอยู่ในสปอตไลท์ ไมค์อยู่ในมือ คุณก็รู้ ไมค์อยู่ในมือใคร คนนั้นมีอำนาจ ฝ่ายเรากว่าจะได้พูดแต่ละที ยกมือรอนานมาก (หัวเราะ) ส่วนพระ อยู่ในกลุ่มรอรับบริจาค ขอให้มีคนบริจาค ท่านก็ชอบ เงินบริจาค ใครไม่เอาก็ง่าว ผมไม่แปลกใจเรื่องพระ ปัญหาคือท่านมาช่วยแสตมป์เครือข่ายคุณบัณฑูรให้เป็นเศรษฐีใจบุญ”
วิธีทำถูกหรือผิด
“เขาต้องรู้ แต่เขาจะทำ ซึ่งทางเราย้ำว่าจะทำก็ต้องมีเวที เปิดให้คุย และฝ่ายนั้นก็อัดทุกทาง บน ล่าง ทำคลิปออกมาจากจังหวัดเพื่อแก้ต่างให้เจ้าสัว มหาดไทยก็เทใจไปให้ทางมูลนิธิฯ ส่วน อปท. ตาใส บอกเราไม่มีศักยภาพ ไม่มีตังค์บริหาร ..ตายๆ”
แสงแห่งความหวัง
“ทำได้เท่าที่ทำได้ครับ เราอย่าไปหวังอะไรมาก ขอเป็นแค่ก้อนกรวดก้อนทรายในรองเท้าของเขา เราประมาณกำลังของตัวเองได้เท่านี้ ไม่คิดว่าจะชนะ แต่อย่างน้อยที่สุดอาจมีอะไรติดรองเท้าหน่อย ชะลอ กระตุ้นให้คนคุยกัน เราไม่มีอำนาจ เราหวังแค่เรื่องพื้นที่ เวที เปิดข้อมูลแฟร์ๆ ต่อกัน
“ฝั่งโน้นเขามีอำนาจครบ ทั้งเงิน ทั้งเทคโนโลยี สื่อมวลชนน่านก็ทำตัวเป็นพีอาร์มากกว่า หน้าที่ watch dog ของคุณอยู่ที่ไหน ..ผมสู้ด้วยความเข้าใจ ทำได้เท่าที่ทำได้ อย่างน้อยที่สุดเรามองหน้าตัวเองได้ว่าลงมือลงแรงทำแล้ว เราไม่ได้นิ่งดูดาย ส่วนจะเกิดอะไรขึ้น หรือผลสรุปเป็นยังไง ปล่อยให้มันเป็นไป”
ถึงนาทีนี้คนเลือดน่านแท้ๆ ที่ชื่อ ศักรินทร์ ณ น่าน ยังไม่ถอดใจ ?
“ไม่ๆ ผมยังเดินอยู่ สู้อยู่ทุกวัน เวทีเหลืออีกครั้งคือวันที่ 19 สิงหาฯ นี้ ผมหวังว่าคุณบัณฑูรจะมา”
จะมีโอกาสได้พูดอีกมั้ย ?
“คุณดูสิ องครักษ์เขาเพียบ ก่อนผมจะได้พูดต้องต่อคิวเท่าไร ก็ลองดู ดอกผลที่ท่านหว่าน ต่อแขนต่อขามา ท่านจะเห็นพวกเราเป็นพาร์ทเนอร์มั้ย ในความเห็นผม เราเป็นพาร์ทเนอร์กันนะ ไม่ใช่คนรอส่วนบุญ รอความเมตตา”
พาร์ทเนอร์มีบทบาทอะไร ?
“อย่างน้อยสุด คุณจะทำอะไรต้องบอกเรา ทุนได้มาเท่านี้นะ ใช้อันนี้ ในเมื่อคุณแปลงจังหวัดน่านเป็นทุนซึ่งเป็นวิธีคิดที่เราเห็น คุณได้ฉันทานุมัติจากพวกเราให้ไปรีฟอร์มตัวเองใหม่ มีเน็ตเวิร์กกว้างใหญ่ ฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ วันที่ 19 นี้ต้องทำ social contract คือฉันทานุมัติจากคนน่านให้คุณบัณฑูร ไม่ใช่รอความเมตตา ซาบซึ้งน้ำตาไหล เราไม่ต้องการรอรับส่วนบุญ ของอยู่ในบ้านเราแท้ๆ บางคนโตมาพร้อมกับศาลากลางหลังนี้ มีอะไรต้องบอกกล่าว ให้เกียรติกันและกัน
“คุณกล้าพอมั้ยในการทำ social contract เราไม่รู้ว่าเขาจะมาหรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับเรา เห็นเราเป็นพาร์ทเนอร์หรือผู้รอรับส่วนบุญ โดยส่วนตัว ผมหวังว่ามันจะเป็นโมเมนต์ที่ดี หวังว่านี่จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการเมืองมวลชน ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสินใจในทรัพยากรของตัวเอง”
เสียงจากนักกฎหมาย
บนเวที วันที่ 4 สิงหาคม 2022 สันติภาพ อินทรพัฒน์ พูดชัดถ้อยชัดคำว่า–ความเป็นธรรมจะต้องเกิดกับคนบนแผ่นดินน่านทั้งหมด ไม่เฉพาะคนหนึ่งคนใด
คำถามของเขายิ่งน่ารับฟัง
“มูลนิธิฯ เป็นนิติบุคคลประเภทไหน เป็นราชการสังกัดกระทรวง ทบวงอะไร ถึงมาใช้พื้นที่ อันเป็นของส่วนราชการโดยชอบด้วยกฎหมายได้ อำนาจอะไรอนุญาต”
อยู่ดีๆ มูลนิธิฯ เข้ามาเฉย–เขาไม่เข้าใจ
สามวันถัดมา, ที่สำนักงานกฎหมายในหมู่บ้านสันติภาพ nan dialogue จับประเด็นนี้ไปคุยกับเขาต่อ
เมื่อมีเหตุให้ถาม ก็ต้องตาม ต้องถามให้รู้
กับเรื่องที่ใหญ่ที่สำคัญ เรื่องอันเป็นสาธารณะ เราจะจมอยู่ในความเงียบไม่ได้
“เขามีปัญหาและมาร้องผม ว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้ๆ ผมก็ต้องไปแสดงความคิดเห็น เรื่องจะสร้างจะทุบ ผมไม่พูดหรอก แต่กระบวนการต้องชอบด้วยกฎหมายก่อน ผมพูดเสมอว่า ทุกคนอยู่ใต้บทบัญญัติของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เราต้องเคารพ จะไปใช้ความเป็นอภิสิทธิ์ชนไม่ได้ ไม่งั้นมันก็กลายเป็นบ้านเมืองที่ไม่มีขื่อมีแป ถ้าคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจ มีเงิน และไม่เคารพกฎหมาย บ้านเมืองจะอยู่ยังไงล่ะ”
ในอนาคตอันใกล้ สันติภาพตั้งใจจะลงสมัครนายกฯ อบจ. ก่อนขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นเรื่องศาลากลาง มีบางเสียงเตือนเขาว่าระวังจะเสียคะแนน ลงแล้วคนไม่เลือก
“ผมไม่สนใจหรอก ถ้าหลักมันเสีย ความยุติธรรมเสียไป แค่อยากจะได้ตำแหน่งแล้วผมต้องกลืนในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือวางเฉย ความยุติธรรมไม่มี เพื่อให้ได้เป็น แบบนั้นไม่เอา ผมไม่อยากเป็น ไม่ต้องมาเลือกผม ยังไงความเป็นธรรมมันต้องมีสิ ถ้าให้นาย ก ได้ นาย ข ก็ต้องได้ ถูกมั้ย ความเป็นคนเหมือนกัน สิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ทุกคนพึงได้รับเหมือนกัน อย่าเลือกปฏิบัติ
“เรื่องนี้ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่รู้ว่ามันมีเงื่อนงำอะไรสักอย่าง ถ้าผมมีอำนาจในท้องถิ่น ผมทำเองเลย ไม่ใช่ปล่อยให้คนมาดูถูกดูแคลนว่าคนน่านไม่มีปัญญาทำ ผมว่าเราทำได้ ยิ่งพอมองข้อเท็จจริง พอเขาจัดซื้อจัดจ้างเสร็จ แล้วอยู่ๆ หลุดมาได้ไง การเข้ามาตรงนี้คุณตอบให้ได้ก่อน ถ้าไม่อยากให้คนน่านมาเถียงกัน ก็ไปมีมติคณะรัฐมนตรีกันเสีย กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย ไปคุยกันให้จบ
“และไหนๆ จะทำ ก็เปิดประมูล ให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ที่ดินแปลงนี้ สิบไร่ หนึ่งงาน สามสิบเก้าตารางวา ใครมาประมูลก็ยื่นแข่งขัน ถ้าไม่มีใคร คนเสนอก็ได้ไป แต่ต้องมีเงื่อนไขในข้อกฎหมายให้ชัดว่าประมูลเสร็จ คุณบริหารภายในกี่ปี และภายในอีกกี่ปีต้องตกมาเป็นของแผ่นดิน เหมือนศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ..ไม่ใช่มาลับๆ ล่อๆ แบบนี้ กระบวนการมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ไม่ชอบยังไง ?
“ถ้าคุณคิดบริจาคให้รัฐ ก็ต้องให้ไปเลย คือเอากระบวนการให้ชอบ เอาเงินเข้าระบบ เพราะมันจะต้องตรวจสอบได้สิว่าหกร้อยล้านนี้มีใครหยิบไปทำอะไรบ้าง ในสัญญาต้องชัดว่าประมูลแล้วให้ใช้ประโยชน์กี่ปี แต่ละปีมีค่าตอบแทนเท่าไร ไม่ใช่บริจาคให้โรงพยาบาลเท่านั้นเท่านี้ แล้วพอมาตรงนี้ ทุกคนต้องยอมให้ มันไม่ใช่
“คุณเอาอำนาจอะไรไปให้คนใช้ ใครมีอำนาจให้ และมูลนิธิฯ ที่ว่า สังกัดกระทรวง ทบวงอะไร ถึงมาใช้พื้นที่ส่วนราชการ อยู่หน่วยไหน ถ้าไม่ใช่ ก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี ใครอนุญาตก็คุกสิ มันเป็นสมบัติแผ่นดิน วิธีการอย่างเดียวคือมีมติคณะรัฐมนตรีมา แล้วไปดำเนินกระบวนการให้ถูกต้อง อยากได้ที่ตรงนี้ บริจาคให้รัฐมาสร้างตรงนี้ พอสร้าง เขาก็ต้องมีคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการใช้จ่ายเงิน ไม่ใช่พูดเองเออเอง
“เอาให้ชัดนะว่าผมไม่ค้านเขา การพัฒนาเป็นสิ่งที่ดี ใครๆ ก็อยากพัฒนา แต่ไม่ใช่เหตุที่ใครคิดจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่เคารพกฎหมาย ผมอึดอัดเรื่องนี้อย่างเดียว”
ผิดกฎหมายมั้ย ?
“มันยังไม่เกิด ผิดหรือไม่ผิด ผมไม่รู้ แต่กระบวนการตอนนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถ้าฝืนทำต่อไป อาจจะผิด คุณอย่าเอื้อกันจนไม่เคารพกฎหมายสิ การเคารพกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องนี้ ที่มามันไม่ชอบ ผมเตือนแล้ว หน่วยงานที่ทำต้องไปตัดสินใจเอง
“กรณีศูนย์สิริกิติ์ ใครสร้างไม่สำคัญ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน แต่ถ้าจะให้เอกชนใช้ คุณประมูลมาสิ ปีหนึ่งตอบแทนรัฐเท่าไร ต้องเขียนไว้ในสัญญา ไม่ใช่ทำตามใจฉัน มันไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนตัว ไม่ว่าใครก็ตาม จะมาถืออภิสิทธิ์ว่าฉันเคยบริจาคให้ที่นั่นที่นี่มา มันไม่ใช่ ต้องแยกส่วนให้ออก”
ทำไมถึงออกมาพูดเรื่องนี้ ?
“ผมเป็นนักกฎหมาย และไม่ได้ไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ถ้าจะให้ผมมีส่วนร่วม คุณร้องมา เขาก็ร้องมาตามระบบ ให้ผมไปพูด ผมชี้เป้าให้ว่ามันไม่ชอบด้วยกฎหมายยังไง แต่เขาจะฟังหรือไม่ ผมไม่รู้ เรื่องรถชน ปล้นฆ่า คดีไหน ผมไม่ปฏิเสธทั้งนั้น และไม่มีอคติ
“ผมทำไปตามปกติวิสัย ใครไม่ได้รับความเป็นธรรมมาหาผม ผมทำ ใครจะมีอภิสิทธิ์อะไรก็ช่าง ทำไมผมต้องไปกลัวด้วย คนเราถ้ากลัวในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็จบ ยิ่งเป็นทรัพย์สินเป็นมรดกแผ่นดิน เป็นของทุกคน จะมีคนหนึ่งคนใดใช้อภิสิทธิ์ไม่ได้ ผมดูข้อเท็จจริงและพยายามตักเตือน บอกว่าอันนี้ไม่น่าใช่นะ คุณไปทำให้ถูกซะ การเตือนไม่ได้ไปขัดขวาง ผมไม่คิดเรื่องว่าท่านเป็นใครๆ ผมดูเนื้อหา ดูหลักกฎหมายและความเป็นธรรม
“จำได้มั้ย รอบก่อนเขาจะทุบสะพานกรุงศรี มีผมคนเดียวที่ออกมาค้าน ชยันโตผู้ว่าฯ เลย รอบนี้ผมไม่ได้ออกมาเรียกร้อง แค่เตือนว่าขอให้ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก แล้วสอง สาม.. คุณว่าไป นี่เม็ดแรกไม่ถูก แต่มีคนเชียร์โดยไม่ดูข้อกฎหมายเลยว่ามูลนิธิฯ เข้ามาโดยอำนาจอะไร
“ผมไม่ได้รวยเหมือนธนาคาร แต่สามสิบกว่าปีที่น่านผมสู้มาตลอด ไม่ว่ากับใครหน้าไหน เรายืนในหลักสุจริต เวลามีอะไร คนถึงมาร้องเรียนกับผม ผมทำเท่าที่อำนาจผมมี ผมไม่ไปก้าวก่ายอำนาจคนอื่น ย้ำว่าผมไม่ได้ต้านเขานะ แต่ใครจะทำอะไร อย่าทำแบบใช้อำนาจปิดปาก อย่าทำแบบมีเงินปิดปาก มันไม่ถูกต้อง บ้านเมืองอยู่ไม่ได้หรอกครับ”
จบไหม
“ผมชี้เป้าให้เท่านี้ จบนะ กระบวนการที่คนจะแสวงหาความเป็นธรรมก็ว่าของเขาไป สี่สิบสามปีของการเป็นนักกฎหมาย ตั้งแต่จบมหา’ลัย การทำคดีของผมตรงยิ่งกว่าไม้บรรทัด เวลาทำงาน ผมเป็นคนเอาพวก รักพวกพ้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าฝีมือความสามารถมันห่างกันหลายกิโลฯ แล้วจะให้เอาพวก ผมไม่ทำ ความยุติธรรมสูญเสียไป มันไม่ได้ ผมไม่เอา ยืนหลักนี้มาตลอด คนที่เสียประโยชน์อาจไม่ชอบ แต่คนอื่นที่เขาบอกว่าสันติภาพทำถูก เป็นเราเป็นเขา ถ้าได้รับความเป็นธรรม มันก็น่าภูมิใจ เพราะการสะสมสิ่งที่เราทำจนกว่าสังคมจะยอมรับมันไม่ใช่ง่าย ต้องพิสูจน์จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ของแท้หรือของปลอม”
สันติภาพ อินทรพัฒน์ เป็นคนสงขลา มาน่านครั้งแรก บางคนเรียกว่าไอ้ปักษ์ใต้ ไอ้หมาหลง เขาอดทนสู้จนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
นี่เป็นเดิมพันอีกครั้งหนึ่งที่เขาออกมาให้ความเห็นทางกฎหมาย มากบ้างน้อยบ้างย่อมมีผลต่อคะแนนในการเลือกตั้งที่เขาจะลงต่อสู้ ใครก็รู้ว่าทิศทางลมมาทางไหน และใครเป็นผู้มากบารมีในจังหวัด การส่งเสียงสวนกระแสจึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับคำถามที่แทงเข้าตรงใจกลางปัญหาศาลากลาง ว่าด้วยเรื่องที่มาของอำนาจ
ยังไม่จบ
รัฐธรรมนูญโดยคณะราษฎรเมื่อครั้งแรกเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประกาศไว้อย่างสง่างามว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ รอดูกันต่อไปว่ารอบนี้ กับเรื่องนี้ อำนาจแท้จริงจะเป็นของใคร
ในนามของความเสมอภาค อยากให้ทุกฝ่ายร่วมพิจารณาชะตากรรมศาลากลางอีกสักครั้ง ว่าเรากำลังจูงมือกันเดินไปสู่หุบเหวหรือสรวงสวรรค์.. สุสานหรือสวนดอกไม้ ?
ละวางอคติ รวบรวมสมาธิ และวิเคราะห์ข้อมูลในทุกมุมอย่างช้าๆ
ณ นาทีนี้ คนน่านยังมีสิทธิเลือก.
เรื่องและภาพ: วรพจน์ พันธุ์พงศ์