บนเวที ‘น่านโปเอซี’ ปีแรก มีหญิงสาวคนหนึ่งทำหน้าที่พิธีกร สำเนียงทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษของเธอฟังฉะฉาน เพลิดเพลิน
บนเวทีเสวนาอีกหลายต่อหลายครั้งที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ หญิงสาวคนนี้ก็มาช่วยงานซักถาม ชวนคุย เป็นผู้ดำเนินรายการขาประจำ
คลิปเก่าๆ ของไทยพีทีเอสบางตอน นำเสนอเรื่องหนังสือทำมือของโรงเรียนสตรีศรีน่าน เด็กสาวในจอก็เป็นคนคนเดียวกับผู้หญิงหน้าตาเบิกบานคนนี้
เวลาที่ ดั๊ก–พุทธิดา ดาดวง แนะนำตัวเอง เธอมักจะย้ำว่า ดั๊ก ไม่ใช่ duck แต่คือ ดึ๊กดั๊ก คำท้องถิ่นที่หมายถึงอยู่ไม่นิ่ง
เป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวค้าขาย บ้านอยู่ไกลจากตัวเมืองน่านประมาณยี่สิบกิโลเมตร
พ่อเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบ ม.ศ.5 แล้วมามีความรักกับแม่ซึ่งเป็นคนน่าน วุฒิการศึกษา ป.4
ดั๊กไม่เคยเรียนพิเศษ แต่เป็นเด็กหัวดี ติดท็อปไฟว์ของห้องมาตลอด จบปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันประกอบอาชีพเอ็นจีโอ ด้านป่าไม้
แต่งงานกับหนุ่มร้อยเอ็ดมาแล้วสองปี เพิ่งตั้งครรภ์ได้หกเดือน
วันที่เราเห็นตัวเลขอัตราการเกิดต่ำอย่างมีนัยสำคัญ พลันเกิดคำถามขึ้นมาว่า ชั่วโมงนี้คนท้องเขาคิดอ่านอย่างไร จะกิน จะอยู่ จะเลี้ยงดูบุตรธิดาแบบไหน ในสัจจะที่เด็กน้อยคนนั้นจำต้องยอมรับว่า ‘ฉันเกิดในรัฐบาลประยุทธ์’
ใบหน้าของหญิงสาวชื่อดั๊กลอยเข้ามาเป็นคนแรกๆ และเราขี่มอเตอร์ไซค์ไปสนทนากับเธอ
ความรู้สึกของการเป็นแม่ มันเป็นยังไง
โฟกัสเปลี่ยน เมื่อก่อนเห็นแค่ตัวเอง เอาตัวรอดแค่ตัวเองไปวันๆ ไม่สนใจเรื่องอื่นมาก แต่พอมีลูก คือเมื่อก่อนเราโฟกัสที่ตัวเองเยอะมากๆ ใช่มั้ย มันก็จะเครียดง่าย พอเป็นแม่ปุ๊บ เรื่องอื่นๆ ที่เคยมีผลกับเราก็ไม่มีผลกระทบเท่าเดิม แล้วโฟกัสกับเรื่องพื้นฐานมากๆ ความที่ลูกยังอยู่ข้างใน เราไม่อยากให้เขามารับในสิ่งที่เขาไม่ได้เลือก เช่น ความเครียด เลยพยายามกินให้เป็นเวลา นอนให้เป็นเวลา ขับถ่ายเป็นเวลา แต่ก่อนไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย
ความรู้สึกเปลี่ยนยังไงบ้าง
เรื่อยๆ นะ ถามว่าตื่นเต้นมั้ย ก็ดีใจตอนเห็นหัวใจเขาเต้นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นที่รู้ว่าท้องก็ยังงงๆ อยู่ ยังไงดีวะ แต่พอซาวด์ก็ดีใจ รู้สึกว่าเราต้องดูแลเขาให้ดี เพราะเขาอยู่กับเราแล้ว แต่รู้สึกแบบ มีความสุขตลอดเวลาหรือเปล่า มีพลังแรงใจอยากดูแลตลอดเวลามั้ย ก็ไม่ขนาดนั้น เพียงแต่ว่าอยากทำเรื่องพื้นฐานให้มันดีที่สุด
เคยได้ยินว่าเมื่อก่อนเป็นคนเครียดง่าย มีช่วงชีวิตที่เครียดหนักๆ ถ้าเทียบกับตอนนี้ถือว่า..
ดีขึ้นมากค่ะ น่าจะโฟกัสเปลี่ยน เราไม่ได้เห็นแค่ตัวเองอีกแล้ว จากที่เคยมีคำถามว่าทำไมงานเยอะ ทำไมต้องหนักอยู่คนเดียว ทำไมต้องขับรถ วนเวียนอยู่แบบนั้น หลุดพ้นจากความเครียดไม่ได้ พอเรากลับมาหาเรื่องพื้นฐาน เฮ้ย กิน นอน ลูกดิ้นแล้ว พวกนั้นก็อ่อนแรงไป พอไม่ปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับเรื่องเครียด มันโอเคกว่า
ตอนที่เครียดเยอะๆ อาการมันสักขนาดไหน
นอนไม่หลับ ทั้งที่เป็นคนนอนง่ายมาก กินไม่อร่อย คือพื้นฐานเป็นคนชอบกิน ชอบนอน เป็นคนทำได้ดีกับเรื่องนี้ด้วย แต่พอเครียดปุ๊บ นอนไม่หลับ เช่น พยายามเข้านอนตอนห้าทุ่ม มันจะสะดุ้งตื่นตีหนึ่ง ตีสอง ตื่นมาทำงาน ทำไม่เสร็จก็ปล่อยวางไม่ได้ จริงๆ ทุกคนคงมีงานค้างอยู่ แต่ดั๊กตื่นมาทำงาน ทำ และหลับไปอีกแป๊บนึง ตื่นอีก วนไป ทุกหนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง สลับ หนักสุดในเรื่องนอนคือเป็นแบบนี้ต่อเนื่องกันประมาณเกือบเดือน
เรียกว่าถ้านับเป็นชั่วโมง ไม่เคยนอนต่อเนื่องจากค่ำถึงเช้า ไม่มี ?
ใช่ๆ หรือบางทีนอนมันก็เหมือนหลับไม่สนิท แล้วก็ปวดท้อง เป็นโรคกระเพาะ อาจไม่ถึงขั้นเป็นแผล หรืออักเสบ แต่ปวดมาก
เป็นตอนทำงานหรือตั้งแต่เรียนหนังสือ ?
หนักๆ คือตอนทำงาน ตอนเรียนเคยเป็น แต่มีเพื่อน มันเลยพอจัดการได้ อีกอย่างที่หนักมากคือปกติเป็นคนชอบขีดเขียนวาดรูป ทำงานคราฟต์เล็กๆ น้อยๆ แต่พอเครียด กลายเป็นว่าเรื่องพวกนั้นทำไม่ได้ ไม่สามารถ ฟังเพลงไม่เพราะ วาดรูปไม่ได้ ไม่จดจ่อ ทั้งที่ก่อนนั้นถ้าเครียด ลองได้จับปากกามาวาดเล็กๆ น้อยๆ มันก็ผ่อนคลายได้ เราอยากได้ความรู้สึกแบบนั้นอีก แต่ทำไม่ได้ พยายามยังไงก็ทำไม่ได้เลย พอมันเครียดหนักๆ
ที่บอกว่ากินไม่ได้คือ..
มันไม่อร่อยค่ะ ไม่ถึงขั้นอดอยาก แค่ไม่อร่อย
ไม่นึกอยาก ?
แต่ก็กิน (หัวเราะ) ยังพอทำได้อยู่
ได้เข้าสู่กระบวนการรักษามั้ย
ก็มี สงสัยตัวเองว่าเป็นอะไรว้า คือโดยธรรมชาติจะชอบทบทวนตัวเอง ความรู้สึกเป็นยังไง แล้วเราจะจัดการกับมันยังไง คุยกับตัวเองตลอด พอเครียดหนักๆ มันวนลูป ออกจากความเครียดนั้นไม่ได้ อึดอัด เลยเข้าไปปรึกษานักจิตบำบัด
ไปโรงพยาบาล ?
ไม่ค่ะ ที่แอปค่ะ วันนั้นรู้สึกว่าอยากจะคุยตอนนี้แล้ว รอไม่ได้แล้ว ไม่มีความรู้ด้วยว่าถ้าอยากพูดคุยเพื่อการรักษา หาหนทาง เราต้องไปที่คลินิกไหน โรงพยาบาลไหน เปิดกี่โมง ก็เลยเสิร์ชกูเกิล พอเห็น ก็เอา ยอมเสียตังค์ จำไม่ได้ว่าหนึ่งพันหรือสองพัน มันจะมีหลายราคา เหมือนเราได้ปรึกษากับนักจิตบำบัด
ทำแบบนั้นกี่ครั้ง
ครั้งเดียว เพราะเปลือง (หัวเราะ) ก็ดีค่ะ จริงๆ รอบนั้นที่สมัครเข้าไป สมัครตอนสามโมง กว่าจะได้คุยก็ทุ่มสองทุ่ม เหมือนกับพอเราได้เริ่มคิด ต้องรู้ให้ได้ว่าเราเป็นอะไร มันก็ผ่อนคลายเบาบางไปบ้าง พอได้คุยก็โอเค เป็นความอยากรู้ของเราด้วย ไม่ได้แค่อยากรักษา เขาจะตอบกลับมายังไง เขาจะค้นหาเจอมั้ย ทำไมเราออกจากวนลูปไม่ได้สักที เป็นต่อเนื่องมานานมาก เขาชวนคุยจนเราเบาใจขึ้น
พอรู้ว่าท้อง เครียดน้อยลง ?
น้อยลง ดั๊กไม่ได้ฝืนว่าห้ามคิด เพียงแต่ว่าก็น้อยลง พอมีอะไรขึ้นมาอาจจะโวยวายๆ กับตัวเองนิดนึง แล้วทำอย่างอื่นก็หาย ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่โวยวาย นั่งและจมอยู่กับมัน ไม่ลุกไปทำอะไร จะอยู่อย่างนั้น
เป็นการท้องที่คุยกันสามีภรรยา เตรียมตัวว่าพร้อมแล้ว ?
ไม่
แล้วคุยกันไว้ยังไงบ้าง ตั้งแต่หลังแต่งงาน
กึ่งๆ ว่าจะมีน้องหรือไม่มี ฝ่ายแฟนก็ยัง.. เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็อาจจะหกสิบ ที่ไม่อยากมี กังวลเรื่องการเลี้ยงดู การเติบโต ฝ่ายดั๊กก็คงสักห้าสิบห้าที่ไม่อยาก น่าจะพอๆ กัน
แต่งงานมานานเท่าไรแล้วนะ
สองปี มันมีจุดที่ทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนคือเลี้ยงหมา เลี้ยงตั้งแต่อายุ 31 วัน เราไม่เคยเลี้ยงสิ่งมีชีวิตอะไรที่เด็กขนาดนั้นมาก่อน ให้เขาอยู่ในบ้าน ต้องคอยเช็ดฉี่เช็ดอึ ตอนกลางคืนร้องไห้ก็ต้องออกมาดู สองชั่วโมง ออกมาดู เป็นห่วง นอนเฝ้า พอได้เลี้ยง เราก็.. ทำไมมีความสุขจัง ถ้ามีลูกก็ไม่น่าจะแย่มั้ง แต่ก็ไม่ได้วางแผน ปล่อยตามธรรมชาติ
คือตั้งแต่คบกันมาก็ไม่เคลียร์ว่าเราจะมีลูกด้วยกันหรือเปล่า ?
ไม่ได้คุย พอแต่งก็เกริ่นๆ ไม่ได้คุยจริงจังหรือตัดสินใจเรื่องนี้ร่วมกัน เคยคุยบ้างค่ะ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ และกลายเป็นเรื่องที่ญาติพี่น้องถามเยอะมาก
ตอบเขาไปยังไง
ตอนนั้นพอดีโควิดมา ก็บอกโควิด (หัวเราะ) ไม่รู้จะตอบยังไง พ่อแม่พี่น้องคาดหวัง คิดว่าแต่งงานแล้วก็ต้องมีลูกสิ นู่นนี่นั่น ทางเราไม่ได้มองว่าต้องแบบนั้น
คำถามพวกนี้กดดันมั้ย
เฉยๆ แต่แฟนจะรู้สึก มีบ่นๆ นิดว่าทำไมจะต้องถาม เมื่อไรจะมีลูก ไม่มีไม่ได้เหรอ ประมาณนี้
โอเค พอมีแล้ว ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง จัดการอะไรต่างๆ นานายังไง ไม่ว่าเรื่องงาน สุขภาพ ?
ปกติออกพื้นที่เยอะมากๆ ลุย ไปไหนไปกัน พอรู้ อะไรที่ต้องเดินเยอะๆ ไกลๆ พวกเดินป่า ก็จะปฏิเสธ หาวิธีจัดการที่ไม่ต้องทำมาก เรื่องงานอื่นๆ ด้วย มันน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกัน จุดพีกที่จะเปลี่ยนงานคือเวลาที่เราไม่มีความสุขกับสิ่งที่เราเคยมีความสุข อันนั้นทำให้ตัดสินใจจะเปลี่ยนงาน และคาดหวังเงินเดือนเยอะขึ้น พอสมัครงาน หลังจากนั้นสองสัปดาห์มีน้อง เป็นช่วงจังหวะเดียวกัน ที่เรื่องเศรษฐกิจ การเงินต้องวางแผนมากขึ้น ที่ไม่ใช่แค่ดูแลตัวเองเท่านั้น ก็คิดว่าจะทำไงดี เมื่อก่อนได้เงินเดือนเท่านี้ ใช้แค่เรา ดูแลพ่อแม่นิดหน่อย แต่ตอนนี้ต้องคิดเยอะมากๆ
ยังทำงานที่เก่าหรือหาใหม่
หาใหม่แล้ว รอเขาคอนเฟิร์มอยู่
งานแบบเดิม อยู่น่านเหมือนเดิม ?
อยู่ชุมพรค่ะ แต่ก็ไม่รู้จะได้หรือเปล่า
ถ้าได้ ต้องไปอยู่ชุมพร ?
ใช่ หลังลาคลอดครบสามเดือน เขาอยากให้ไปประจำที่โน่น
แฟน ?
ไปด้วยกัน งานเขาทำที่ไหนก็ได้
นอกจากงาน เตรียมอะไรอีกบ้าง
ดูเรื่องข้าวของนิดหน่อย ของเด็กอ่อน ที่นอน เสื้อผ้า ขวดนม
ยังไม่ได้ซื้อ ?
ใช่ ถามคุณแม่รุ่นพี่ว่า มีของมือสองให้เอฟต่อมั้ยคะ เพราะส่วนตัวไม่อยากซื้อเยอะ เปลือง เด็กตัวโตไว เอาแบบที่จำเป็นก่อนจริงๆ แล้วพอคนรู้ว่าท้อง เขาก็ฝากเสื้อให้นมบุตรมาให้ ประมาณนั้น ยังไม่ได้ซื้ออะไรเอง หรืออาจารย์ก็ให้กระโถนมา กับถุงเท้าลูกเค้า
จากเดิมที่ดื่มบ้าง..
ค่ะ ตอนนี้ไม่ได้ดื่มเลย ตั้งแต่ท้อง แต่ก็อยากดื่มนะ (หัวเราะ)
ปกติดื่มทุกสัปดาห์ ?
ไม่ขนาดนั้นค่ะ พอมาอยู่น่านไม่ค่อยมีแก๊งเพื่อนไปดื่มด้วยกัน
คิดถึง ?
ใช่ (หัวเราะ) กลับมาอยู่น่านก็คิดถึงบรรยากาศที่อิสระแบบนั้นมากๆ เหมือนกัน อาจเพราะตอนนั้นอยู่หอในเมือง มีกลุ่มเพื่อนที่ทำงาน ที่เรียน มีกิจกรรมหลากหลาย มีดริงก์กันบ้าง จริงๆ ที่น่านจะทำบ้างก็ได้ แต่เกี่ยวกับเรื่องเดิมมั้งคือจัดการกับความเครียดของตัวเองไม่ได้ เลยไม่อยากทำอย่างอื่น ไม่นึกสนุกเท่าสมัยเรียนเชียงใหม่
ตอนนี้คือท้องหกเดือน มันเปลี่ยนแปลงชีวิตเยอะมั้ย ชีวิตประจำวัน
ไม่ค่อยนะ มีปวดหลัง พยายามขับถ่ายให้ได้ทุกวัน เท่านั้นที่เห็นว่าเปลี่ยน ขับรถเหมือนเดิม ออกกำลังกาย จากวิ่ง เปลี่ยนเป็นเดิน
ก่อนหน้านั้นเคยวิ่งประจำ ?
จะบอกว่าประจำก็ไม่ใช่ (หัวเราะ) วิ่งบ้างละกันค่ะ ตอนนี้เดิน ปั่นจักรยาน
คิดยังไงกับข่าวสารที่บอกว่าสองสามปีมานี้ อัตราการเกิดลดลงไปมาก ไม่มีใครอยากมีลูก แต่เรามีซึ่งก็ถือว่าสวนกระแสพอสมควร
มันเป็นทางเลือกส่วนบุคคล ดั๊กว่าการมีลูกหรือไม่มี มันไม่ได้เป็นปัญหา มันคือเรื่องส่วนบุคคล เรื่องครอบครัวว่าจะจัดการยังไง แต่ภาพใหญ่ๆ แน่นอนว่าเราเป็นสังคมผู้สูงอายุเยอะ ประชากรเกิดใหม่น้อย ก็ต้องหาวิธีจัดการเพื่อให้ระบบไปต่อ
เห็นด้วยมั้ยว่าบรรยากาศบ้านเมืองมันก็ไม่น่าจะมีลูกสักเท่าไร
ก็คิด ช่วงติดตามข่าวที่ร้อนๆ ก็ นะ ลูกจะเกิดมายังไงวะเนี่ย เขาจะได้เติบโต ผลิบาน สดใส เท่าที่เขาอยากเป็นได้ขนาดไหน แล้วถ้าเขาต้องมาอยู่ในกรอบ ถ้าเขาไม่ได้เติบโตอย่างเต็มที่ ก็เป็นกังวลอยู่เหมือนกันกับการจะให้เขาเกิดมา แต่ไม่ได้หาคำตอบให้ชัดว่าจะมี หรือไม่มี เหมือนกับฝ่ายหนึ่งบอกว่าจะดีมั้ย จะเติบโตยังไง เราก็เห็นตัวอย่าง และอีกฝ่าย จากคนที่เราเคารพนับถือ ทำงานร่วมกัน เขาก็มองว่าการมีลูกค่อนข้างเปลี่ยนชีวิต และอยากให้ลองมี เราก็ เฮ้ย แบบไหนดี บางทีเหตุผลทางสังคมมีผลกับเราเยอะ บางทีก็ไม่ แต่กับแฟน อิทธิพลทางสังคมน่าจะมีผลกับการตัดสินใจของเขามากกว่า คือไม่ได้อยากมีเท่าไร ดั๊กเองบางทีก็คิดว่าเรายังใช้ชีวิตไม่เต็มที่เลย แล้วเราจะไปดูแลอีกชีวิตหนึ่ง เราจะทำได้ดีเหรอ
ที่บอกว่ายังไม่ได้ใช้ชีวิตเต็มที่ แล้วเท่าไรถึงจะพอ
นั่นสิคะ ยังบอกไม่ได้ แค่รู้สึกว่าป่านั้นยังไม่ได้เที่ยว ประเทศนั้นยังไม่ได้ไป หรืออันนี้ยังไม่ค่อยได้กินเท่าไร (หัวเราะ) จริงๆ ก็เป็นคนติดเพื่อนประมาณนึง เยอะอยู่ คิดเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนจะแต่งงาน ว่าถ้าแต่ง ชีวิตครอบครัวจะเป็นยังไง แฮงเอาต์กับเพื่อนได้มั้ย กับลูก เลยไม่มีคำถามว่าจะไปอีกมั้ย เพราะเพื่อนก็ไปมีลูกกันหมดแล้วเหมือนกัน (หัวเราะ)
คิดว่ารัฐบาลหรือประเทศมีอำนาจ หรือสัมพันธ์กับการเติบโตของเด็กคนหนึ่งมั้ย มีอิทธิพลแค่ไหนกับเด็กคนหนึ่ง เช่น โตมาในรัฐบาลประยุทธ์
มีแน่ๆ และมันไม่ใช่แค่เด็ก พวกเราทุกคนที่ต้องอยู่กับมัน ที่ได้รับอิทธิพลจากการบริหารของเขา มีผลหมด ตั้งแต่เกิด เรียนหนังสือ ที่สำคัญมากๆ น่าจะเป็นเรื่องการเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งผูกโยงกับวัฒนธรรม ความเชื่อ การบริหาร การจัดสรรงบประมาณ มันเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ตอนนี้ลูกอยู่ในท้อง เราอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเขา และต้องพยายามอย่างมากที่จะให้เขาได้รับสิ่งเหล่านั้น เช่น อยากให้เรียนโรงเรียนที่ดี ต้องหาเงินเยอะๆ เพื่อให้เรียนนานาชาติ อยากให้เขาได้ภาษา เรียนดนตรี อยากให้เขารับรู้ถึงศิลปะ เหมือนกับเราซึ่งเป็นผู้ปกครองจะต้องใช้ความพยายามมากๆ เพื่อให้เขาเข้าถึงสิ่งเหล่านั้น
รัฐบาลที่เป็นอยู่ตอนนี้ดีหรือแย่อย่างไร พร้อมมากมั้ยสำหรับการเติบโตของลูก สมมุติว่าต้องให้คะแนนของรัฐบาลหรือประเทศ มันลบหรือบวกอย่างไร อยู่ในวันเวลาที่ดี สวยงาม หอมหวาน สำหรับการเติบโตหรือเปล่า
จากมุมมองคนธรรมดาที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารมากนะคะ คิดว่าสามเต็มสิบ ประมาณนั้น เรามองว่ามันน่าจะดีได้มากกว่านี้ จากทรัพยากรที่มี ดั๊กเห็นครูเก่งๆ เยอะ ครูที่รักเด็ก ศิลปินที่มีความรู้ความสามารถ แต่เขาไม่ได้ออกมามีพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้อย่างเต็มที่
สามเต็มสิบแปลว่าอยู่ในช่วงเวลาไม่ดี ฉะนั้น คนเป็นพ่อแม่ต้องออกแรงเยอะ ถ้าจะผลักดันให้ลูกเติบโตไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี ?
ใช่ ต้องพยายามเยอะมาก
ถ้าประเทศดี พ่อแม่อาจไม่ต้องพยายามเยอะ ถูกมั้ย
ใช่ ดั๊กอาจเป็นเพ้อฝัน อยากมีโรงเรียนใกล้บ้าน อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เรื่องการศึกษา อินมาตั้งแต่ก่อนมีลูก ก่อนแต่งงาน เพราะมีหลาน อยากให้หลานได้เรียนที่ดีๆ อยากให้เข้าถึงการศึกษาที่ดี แต่มันก็ น่าจะดีได้มากกว่านี้ คือเห็นความพยายามของครู เห็นครูสอนภาษาอังกฤษน่าประทับใจ หลานออกเสียงภาษาอังกฤษได้ดี แต่ทำไมบางเรื่องหลักสูตรยังเท่านี้อยู่ ทั้งที่เขาควรมั่นใจ คิด เป็นตัวของตัวเองมากกว่านี้แล้ว คือมันไม่ใช่แค่เนื้อหา
แล้วจะเลี้ยงลูกกันยังไง เพราะปัจจัยภายนอกมันเลือกไม่ได้ ก็อยู่ในประเทศแบบนี้ รัฐบาลเป็นแบบนี้
ช่วงแรกๆ หนึ่งปีถึงสามปีแรก คงเลี้ยงให้เขารู้จักหินดินทราย ให้ความรักกับเขา สอนให้ใช้ชีวิตพื้นฐานด้วยตัวเองให้ได้ ดูแลตัวเองให้รอด เป็นช่วงยังอยู่ในการควบคุม คงพอรับมือได้ แต่พอเข้าโรงเรียนก็น่าปวดหัว น่าหนักใจอยู่เหมือนกัน เพราะเคยทำงาน เคยทำค่ายให้เด็กนานาชาติ เคยสัมผัสกับเด็กหลายๆ โรงเรียนหรือเด็กจากต่างชาติ เราเห็นความแตกต่างของเด็กมากๆ และคิดว่าถ้าเป็นไปได้ ก็เริ่มคาดหวัง อยากให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดของตัวเองแบบเด็กฝรั่ง หรือเด็กในโรงเรียนนานาชาติ กับเด็กไทยที่เคยเห็น จะไม่เถียง ส่วนใหญ่จะ.. ได้ค่ะ โอเคค่ะ ซึ่งเราว่ามันไม่โอเค
หมายความว่าจะส่งเรียนใกล้บ้าน หรือส่งเรียนอินเตอร์
ตอนนี้มันไม่มีทางเลือก เท่าที่เห็น โรงเรียนที่มีคุณภาพก็น่าจะไม่มี
แปลว่ายังไงก็ต้องไปทางอินเตอร์ ?
ใช่
เท่านั้น ?
ใช่ เลยต้องตั้งใจหาเงิน แล้วโรงเรียนอินเตอร์มันไม่ใช่แค่ค่าเทอม ค่ากิจกรรม เราอยากให้เขาได้เห็นโลก อยากให้มีทางเลือก ดั๊กมีความสนใจเยอะตั้งแต่เด็ก แต่พ่อแม่ไม่ได้มีเงินเยอะๆ ที่จะส่งเราไปเรียนดนตรี หรือกีฬาการต่อสู้ ซึ่งเราสนใจ เคยอ่านนิยายมาแล้วคิดว่าสนุกจัง อยากทำบ้าง แต่ไม่มีโอกาสนั้น เราไม่อยากให้ลูกเป็นแบบนั้น อยากให้เขาได้เรียนเรื่องพื้นฐานที่เราพอจะซัพพอร์ทได้ หรือเขาอยากรู้จักอะไร ก็อยากซัพพอร์ท ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากเข้าโรงเรียน
เบื้องต้นคือไม่เชื่อมั่นในโรงเรียนไทยเลย ?
ใช่
เพราะอะไร ปัญหาคือ..
เราเรียนในกรอบ โรงเรียนไทยไม่ได้สอนให้คิด โรงเรียนไทยสอนให้ท่องจำ ไม่เชิง.. แต่กระบวนความคิดมันไม่ได้ มันยังเป็นกรอบอยู่ เราคิดมากกว่านั้นไม่ได้ คือไม่ได้บอกว่าคิดไม่เป็นเลย แต่นี่คือตำรา นี่คือการแข่งขัน นี่คือเกรด ต้องได้เกรดนี้ ดั๊กว่ามันไม่ใช่ การศึกษาไม่ใช่เกรด ไม่ใช่ปริญญาบัตร แต่มันคือพื้นฐานของความคิดที่ผู้เรียนจะหยิบเอาไปต่อจุดอย่างไร ทำอะไรให้ชีวิตของเขา สังคมของเขา เพื่อโลกใบนี้
มีอีกมั้ย ที่เห็นอีกในโรงเรียนไทย ที่ไม่อยากให้ลูกไปเรียน
ห้ามเถียงมั้ง และวัฒนธรรมในโรงเรียนที่มีเรื่องชนชั้น เช่น ห้องน้ำครูต้องแยก คุณครูใส่รองเท้าขึ้นได้ เด็กทำไม่ได้ ต้องถอด หรือต้องทำความสะอาดห้อง มีเวรต้องทำ ถ้าเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเริ่มที่ห้องเรียนของเรา มันโอเคนะ แต่ถ้าถูกสั่งให้ทำ มันคนละเรื่อง แม้ว่าผลลัพธ์คือห้องเรียนสะอาดเหมือนกัน พื้นฐานคนละอย่าง การสั่งกับความรู้สึก ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนั้นก็เรื่องแย่งกันกิน แย่งกันอยู่ ซึ่งเหนื่อยเหลือเกิน ดั๊กเรียนโรงเรียนในเมือง ต้องตื่นตีห้าครึ่ง ออกจากบ้านหกโมงเช้า รถโรงเรียนวนหลายที่ พ่อแม่ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าให้เราไปกินข้าว ค่ารถ ยังดีที่ดั๊กไม่ได้เรียนพิเศษ การเรียนเยอะเกินไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ด้วยความที่โรงเรียนกระจุกตัวอยู่ในเมือง เด็กก็ไปแย่งกันเรียนอยู่ข้างใน ‘สตรีศรีน่าน’ ของดั๊กเลยไม่มีสนามฟุตบอล ซึ่งจริงๆ สนามบอลเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับห้องเรียน หรือห้องสมุดใหญ่ๆ ก็สำคัญ มันไม่มีพื้นที่ให้คนได้เติบโต มีแต่ที่เรียน สอบเข้ามหา’ลัย อีกอันที่ไม่ชอบมากๆ คือขึ้นป้าย
ที่เอารูปเด็กขึ้นป้ายหน้าโรงเรียน ?
ใช่ เข้ามหา’ลัยได้ เข้าคณะแพทย์ได้ ขึ้นป้าย แล้วคณะอื่นๆ ล่ะ ทั้งที่คณะวิชาอื่นก็มีความสำคัญเหมือนกัน กับส่วนต่างๆ ในประเทศนี้ กับโลกใบนี้ กลายเป็นก็ยกย่องอยู่ไม่กี่คณะ เด็กคนอื่นที่เก่งมากๆ ในด้านอื่น พัฒนาสังคมได้ เขาเลยรู้สึกว่าอาจต้องสอบหมอ เพื่อขึ้นป้ายให้พ่อแม่ดีใจ โรงเรียนยกย่อง
ที่พูดนี่คือเคยขึ้นป้ายหรือไม่เคย
ไม่เคยค่ะ แต่ไม่อิจฉา (หัวเราะ) รู้สึกว่าไม่เป็นไร ช่วงนั้นไม่สวย
แต่รู้สึก ?
อือ ได้หมอแล้วยังไง ถ้าเพื่อนสอบได้ เพื่อนอยากเรียน โอเคนะ ยินดีด้วย แต่ถ้าเพื่อนไปเพราะฉันเรียนเก่ง ต้องเรียนหมอ แล้วยังไงวะ มีอีกเรื่องที่ไม่ชอบ ดั๊กไม่ชอบเรียนเยอะเกินไป จำได้ว่ามีอยู่ห้องหนึ่งเริ่มเรียนตั้งแต่เจ็ดโมง เป็นห้องพิเศษ เลิกหกโมง ไรงั้น และส่วนใหญ่ไปเรียนพิเศษต่อ ไม่เข้าใจว่าจะต้องเรียนเยอะขนาดนั้นไปทำไม เด็กเหล่านั้นรู้จักห้องสมุดวัฒนธรรมมั้ย ที่ทำหนังสือ ‘ฝั่งน้ำน่าน’ รู้จักแม่น้ำน่านหรือเปล่า ตอนเรียนหนังสือ ดั๊กชอบไปแม่น้ำน่าน คือมันไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนอย่างเดียว ไม่รู้โรงเรียนนานาชาติที่เราอยากให้ลูกไปเรียนมันเป็นแบบที่ว่านี้หรือเปล่า แต่โรงเรียนรัฐที่เราเคยอยู่มามีแต่เรื่องเรียนจริงๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องเรียนอย่างเดียวจริงๆ และสิ้นเปลืองด้วย
พอมองชีวิตเด็กคนหนึ่ง เรื่องแรกที่ต้องคิดเลยคือการศึกษา ?
ใช่
ได้ข้อสรุปว่าการศึกษาของโรงเรียนไม่เวิร์ก ?
ใช่ และหนักข้อขึ้นด้วย ช่วงหลังเห็นรุ่นน้องดูอัดการเรียนมาก โดยเฉพาะระดับมัธยมฯ ลงไป อนุบาล บางคนเรียนพิเศษกันแล้ว มันไม่น่าใช่
โรงเรียนอินเตอร์สมัยนี้ค่าใช้จ่ายมันสักเท่าไร
หาข้อมูลไว้คร่าวๆ ต่อเทอมนะ ประมาณสองแสน ปีหนึ่งมีสองเทอม เอาว่าประมาณปีละห้าแสน
นี่คือที่กรุงเทพ ?
มองไว้ที่ร้อยเอ็ด บ้านแฟน แต่ถ้าได้งานที่ชุมพร ก็อาจไปที่โน่น ที่ชุมพรก็มีโรงเรียนอินเตอร์ ที่เชียงใหม่มีที่หนึ่งที่เคยไปทำค่ายให้เด็ก ชอบมาก อากาศดีมาก อยากเรียนเอง เทอมละห้าแสนห้า (หัวเราะ) คือพ่อแม่จะต้องมีเงินเดือนเท่าไร ถึงจ่ายได้ ยังไม่รวมอื่นๆ พ่อแม่ต้องทำงานอะไร เราถูกหวยยังไม่กล้าส่งไปเลย พูดจริงๆ ว่าดั๊กก็ยังไม่มั่นใจว่าเราจะมีศักยภาพพอหรือเปล่า เป็นความอยากล้วนๆ เลย อยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดี
เมืองนอกล่ะ
สนใจ ถ้าสักสิบสามสิบสี่แล้ว ไปเลย แล้วแต่นะ อยากให้เขาเลือกเอง ถ้าเขาอยากไป ไปได้ ไปเลย
ไม่กอดลูกไว้ ?
ไม่ สิ่งที่อยากทำคือให้เขาแข็งแรง เติบโต ทำในบทบาทของเรา เช่น ไม่กินเหล้าช่วงตั้งท้อง เพราะเขาอาจไม่อยากกินหรือส่งผลต่อสุขภาพเขา นั่นคือสิ่งที่เราทำได้ ให้ความรักกับเขา ส่วนถ้าเขาโตขึ้น ก็เชียร์อัพให้เขาไปมีชีวิตของตัวเอง จะยังไงก็ได้ อยู่ไทย อยู่ต่างประเทศ ได้หมด การไปเห็นโลก มันดีแน่ๆ เลือกเอาว่าอยากอยู่ที่ไหน หรืออยากทำอะไร
น่าจะมีลูกกี่คน
อาจจะสอง อันนี้คิดไว้เฉยๆ
เทอมละสองแสนนะ ?
นั่นสิ หนักเหมือนกัน ต้องหารายได้เพิ่ม ต้องมีอาชีพที่สอง สาม สี่.. ถ้าอยากให้เขาเรียนก็ต้องหาทาง
ทำไมถึงให้ความสำคัญกับการศึกษาขนาดนี้
เพราะมันเป็นพื้นฐานทางความคิด เป็นการเติบโตทางความคิด การศึกษาทำได้หลายทาง เช่น ห้องสมุดหรือการพูดคุยกับคนอื่น แต่จะเป็นไปได้ด้วยอีกเหมือนกัน ถ้าเราเลือกบรรยากาศการศึกษาที่ดีให้กับเขา การศึกษาเป็นพื้นฐานเลยจริงๆ ในการจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง และทุกคนควรมีพื้นฐานนี้ ควรจะมี ควรจะเลือกได้ เราต้องการพื้นฐานที่แข็งแรง
ภาพเหล่านี้ ความคิดนี้คือจำมาจากหนังเรื่องไหน หนังสือเล่มไหน หรือเห็นจากประสบการณ์ตัวเอง
เห็นมาคาตาเรานี่แหละ จากประสบการณ์ตรงๆ เลย
ดั๊กไม่ได้เรียนอินเตอร์ ถูกมั้ย
ใช่
โตมากับการศึกษาไทยซึ่งดั๊กวิจารณ์ว่าไม่ดี คำถามคือแล้วพอใจในประสิทธิภาพ หรือชีวิตตัวเองหรือเปล่า คือทำไมเติบโตมาได้ ทั้งที่นั่นก็แย่ นี่ก็แย่
โตมาได้เพราะหนังสือในห้องสมุด เราเห็นมุมมอง คิดได้ว่าเราไม่ต้องเป็นหมอ คนที่เป็นหมอเพราะอยากเป็นหมอน่าชื่นชมกว่าคนที่เรียนเก่งแล้วเป็นหมอตามกระแส หนังสือทำให้เราเกิดคำถาม
เรียนสายวิทย์ ?
ที่จริงอยากเรียนศิลป์ ฝรั่งเศส
ทำไมไม่เรียน
มันไม่มีให้เรียน ที่โรงเรียนไม่มี มีแค่ศิลป์ จีน กับศิลป์ คำนวณ
เคยอยากเป็นหมอเหมือนเพื่อนๆ มั้ย ?
แค่แวบๆ ตอนดูซีรีส์ มีช่วงหนึ่งสารภาพว่าเราต้องการการยอมรับ ถ้าเป็นหมอได้ โอ้โฮ พ่อแม่หน้าบาน ก็เคยคิดว่าจะเอาหน่อยมั้ย ช่วงเลือกคณะเลยท้าทายมาก
ที่ไม่ไปหมอเพราะคะแนนไม่ถึงหรือเปล่า เรียนไม่เก่งหรือเปล่า
ก็อาจจะใช่ เพราะคะแนนไม่ถึงหมอด้วย ดั๊กคิดว่าถ้าพยายามจริงๆ มันก็ได้แหละ เพียงแต่ตอนนั้นเรายังอะไรเอ่ยอยู่ งงๆ ว่าต้องการอะไร เลยไม่พยายามกับมันมากพอ
สรุปคือเลือกคณะ..
กลางๆ คือวิทยาศาสตร์ แม้แต่ตอนเรียนปีหนึ่ง ก็มีคำถามว่าใช่เหรอ ทำไมเราไม่ไปคณะนั้น คณะโน้น เป็นปีหนึ่งที่ไม่มีความสุขเลย พอปีต่อมา เปลี่ยนไปเรียนนิเวศวิทยา ชีววิทยา เรื่องสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้หัวใจเต้นแรงซึ่งเราไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ามีสิ่งนี้อยู่ในโลกใบนี้
ย้อนมองกลับไป คิดว่าอะไรทำให้รอดมาได้ ทั้งที่ก็เติบโตมาในระบบการศึกษาที่ไม่ดี
หนังสือ ข้อหนึ่งแหละ และสอง คิดว่าครอบครัวไม่กดดัน ดั๊กเรียนค่อนข้างดีมาตั้งแต่ประถมฯ ทางบ้านไม่เคยพูดว่าถ้าสอบได้ที่หนึ่ง จะได้นั่นนี่ ไม่เคยเอาเรื่องนี้มาต่อรอง และไม่เคยถูกชมว่าเก่งมากเลยลูก หนูต้องเป็นโน่นนี่ ไม่เคยถูกบังคับว่าจบไปต้องเป็นอะไร คือแล้วแต่เรา อาจเพราะค่อนข้างหัวดี พ่อสอนการบ้านเก่ง เรียนท็อปไฟว์มาตลอด ความเป็นท็อปไฟว์ทำให้มั่นใจในตัวเองเรื่องการเรียน รู้สึกว่าเราเรียนเก่ง ซึ่งก็ต้องไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็น norm ของสังคมด้วยมั้ง เลยอยู่รอดมาได้เรื่อยๆ มองย้อนกลับไป เราอาจโชคดีที่เป็นท็อปไฟว์ แต่คนที่ไม่ได้เท่าเรา บางคนถูกทำให้หายไป ถูกมองไม่เห็น มันก็ไม่แฟร์กับเขา เราไม่รู้ว่าลูกเราจะเป็นยังไง คือถ้าเด็กบางคนไม่ติดท็อปไฟว์ แล้วเขาสูญเสียความมั่นใจที่เรียนไม่เก่ง คนไม่ยอมรับ แล้วชีวิตหลังจากนั้นเขาก็ไม่มีความมั่นใจไปเลย มันก็น่าเป็นห่วง และไม่แฟร์
วิธีเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนเยอะมั้ย เขาเลี้ยงแบบไหน
เล่นกับเรา
เล่นอะไร
ทุกอย่างเลย วาดรูป ขายของ พ่อเป็นคนชวนระบายสีผนังบ้าน เอาชอล์กมาช่วยกันวาดบนผนัง ชวนกันทำเลย แม่ชวนเล่นขายของ ดั๊กซื้อบาร์บี้ แม่ช่วยกันตัดชุด มีเวลาทำโน่นนี่กับเรา พ่อขี่มอไซค์พาไปห้องสมุดเวียงสาทุกเสาร์อาทิตย์ ให้เวลากับเราเยอะ เพราะเป็นลูกคนเดียว ช่วงที่ดั๊กอายุสามสี่ขวบ พ่อติดเหล้ามาก ออกไปข้างนอกตลอด จนเกือบจะเลิกรา แม่ยื่นคำขาดว่าจะเลือกฉันหรือเลือกเหล้า พ่อเลยปรับตัวซึ่งก็โอเค ดีขึ้น พอไม่กินเหล้าก็ดีขึ้น ดั๊กจำภาพตอนที่พ่อติดเหล้าหนักๆ ไม่ได้ รู้แค่ว่าเขาทะเลาะกัน จำความรู้สึกที่เสียใจไม่ได้ หรือร้องไห้ จำไม่ได้ ช่วงที่พ่อออกนอกบ้าน ที่จำได้คือเขามาเล่นกับเราแล้ว พ่อจะมีความงุ๊งงิ๊งๆ จะว่าสมูธตลอด ก็ไม่เชิง จ้ำจี้จ้ำไชบ้างในสิ่งที่เรามองว่าไม่เป็นเหตุผล แต่ข้อดีคือเขาพยายามฟัง โอเค ดั๊กไม่ได้คุยทุกเรื่องกับที่บ้าน ไม่ได้รู้สึกเซฟขนาดนั้น เพราะพ่อกับแม่ยังรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ถูก คอนเซอร์เวทีฟนิดนึง แต่ก็จะฟัง ดั๊กชอบเล่า ไม่รู้เอานิสัยนี้มาจากไหน เล่าให้เขาฟังตลอด แต่บางเรื่อง อย่างตอนมีแฟนคนแรก เราไม่กล้าเล่าให้เขาฟัง เขาจะ.. ไม่ได้นะเรื่องนี้ เลยต้องเก็บบางเรื่อง คุยไม่ได้ คุยกับเพื่อนได้ทุกเรื่องมั้ย ก็ไม่ แต่มีเพื่อนสนิทมากๆ คนหนึ่ง
ตอนเรียนมหา’ลัยคืออยู่หอ ?
ใช่ อยู่กับเพื่อน คนละคณะ ความสนใจคนละอย่าง ..กำลังจินตนาการว่าถ้าเราได้เรียนอินเตอร์อย่างที่อยากให้ลูกเรียน ดั๊กจะเป็นยังไง นึกไม่ออกนะคะ
ถ้าลองคิดว่าคนที่รอดกับไม่รอด จากโรงเรียนแบบนี้ การศึกษาแบบนี้ มันเป็นเพราะอะไร
คนที่ไม่รอด เท่าที่เห็น เขาน่าจะทำอย่างอื่นได้มากกว่านี้ มีศักยภาพในอย่างที่เขาชอบ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าเขาจบแค่พนักงานรับเงินเดือน ไม่รู้ว่าปีหน้าฉันอยากทำอะไร ความต้องการ อยากเห็นชีวิตเป็นแบบไหน สังคมแบบไหน รับเงินเดือน ทำไปวันๆ
งานของดั๊กนี่เรียกว่าอะไร
เอ็นจีโอค่ะ เป็นคนประสานงาน หน้าที่คือไปช่วยส่งเสริม นำกระบวนการเรื่องการฟื้นฟูป่าให้มันเกิดขึ้นจริง กลไกที่ว่าคือหนึ่ง, ต้นไม้ต้องมีมากขึ้น สอง, คนที่อยู่กับป่าต้องสร้างรายได้จากมันได้ นี่คือบทบาทหน้าที่ปัจจุบัน ชื่อองค์กร ‘ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า’ คนไทยก่อตั้ง แต่มีสมาชิกเจ็ดประเทศ โครงการที่ทำอยู่ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน แต่มีเพื่อนๆ ได้จากสหภาพยุโรปบ้าง เท่าที่รู้ ไม่ได้จากรัฐบาลไทย
ตรงกับความสนใจ ?
ก็โอเค สนุก เอาว่าถ้าเป็นงานที่เราไม่ได้เบียดบังคนอื่น ไม่ต้องโกงใคร และความรู้ความสามารถของเรายังมีประโยชน์อยู่ แล้วรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ดูแลความฝันของเราได้ มันก็โอเค แต่ถามว่าชอบขนาดนั้นมั้ย รักตลอดเวลาเลย ก็ไม่นะ มีบางวันที่ขี้เกียจบ้าง
เรียนโทจบแล้ว
จบแบบทุลักทุเล (หัวเราะ) เหตุผลเรียนโทก็ประหลาด คือดั๊กมีคำถามตลอดว่าเราเป็นใคร ต้องการอะไร สิ่งที่ชอบคืออะไร แล้วพอจบมหาวิทยาลัย โลกหลังจากนี้มันจะเป็นยังไงนะ เลยลองทำหมดเลย ไม่รู้ว่าอยากเป็นนักวิชาการหรือเปล่า ก็ลองไป ลองเรียน ทำงาน มีกิจกรรมอะไร ก็ไปทำ เข้าไปดูว่าเราชอบมั้ย สนุกดี ค้นหา มองไปเรื่อยๆ
หัดพูดภาษาอังกฤษตอนไหน
หัดจริงๆ เลยตอนที่ทำงาน เพราะในห้องเรียนมัธยมฯ มี 52 คน skill ภาษาอังกฤษของดั๊กน่าจะอยู่ที่ 45 คือพื้นฐานแย่ ไม่มั่นใจในตัวเอง ตอนปีสาม เลยพยายามเข้าไปเรียน เทคคอร์สแยก เรียนกับคณะมนุษย์ และเจอ assignment อันนึง อาจารย์ให้ไปสัมภาษณ์ฝรั่งที่ท่าแพ หรือที่ไหนก็ได้ แต่ต้องเป็น native speaker ไปชวนเขาคุย เขาก็ให้คอมเมนต์มาว่าภาษาอังกฤษเราดีกว่าที่เราคิด แต่ต้องมั่นใจในตัวเอง เลยเปลี่ยน mind set นั่นคงเป็นเมล็ดพันธุ์แรก มาเรียนจริงๆ จังๆ อีกที ตอนทำงานที่แรกเพราะหัวหน้างานเป็นคนอังกฤษ เขาไม่ได้กดดัน แต่ตอนนั้น จุดเปลี่ยนจริงๆ มันมีฝ่ายการศึกษาที่จะรับนักเรียนนานาชาติไปเดินป่า อธิบายนั่นนี่ บทบาทที่ดั๊กทำคือเสิร์ฟขนม เตรียมอุปกรณ์ เราก็ อะไรวะ เรียนมาตั้งนาน ทำไมมาทำอย่างนี้ เลยบอกพี่ที่ทำงานด้วยกันว่าไม่ได้แล้ว วันนี้หนูจะสอน เอาดิกฯ เล่มใหญ่มาเปิด พยายามคุยกับเขา ก็เค้นมาเรื่อยๆ จนมันคล่องไปเอง ก็ได้มาเรื่อยๆ ..สอนการเพาะเมล็ด หนูไม่เสิร์ฟน้ำแล้ว ให้คนอื่นทำ (หัวเราะ) น่าจะเริ่มจากจุดนั้น พอเริ่มพูดได้ เราไม่สนใจแล้วว่าพูดผิดพูดถูก บรรยากาศน่าพูดด้วยไง ไม่มีใครมาหัวเราะเยาะว่าเราออกเสียงถูกมั้ย มันเลยฝึกมาเรื่อยๆ จนดีขึ้น
ความคิดที่จะเรียนฝรั่งเศส หรืออื่นๆ มีอยู่มั้ย
มีอยู่เสมอ อยากเรียน น่าสนุก น่าสนใจ ดั๊กเรียนวิทย์ ชีวะ มีศัพท์ละตินบางคำ มันสนุกที่มีรากเดียวกัน เชื่อมโยงไปมา เห็นประวัติศาสตร์ด้วย อยากเรียนฝรั่งเศสกับเยอรมัน
ทำไมภาษาอังกฤษไม่พอ
มันเป็นความอยากรู้จักเพิ่ม อยากอ่านหนังสือ หลักๆ คืออยากอ่านหนังสือจากเจ้าของภาษา
คิดว่ายังมีเรี่ยวแรงเรียนอยู่ ?
ได้ แข็งแรง ดั๊กไม่ได้รู้สึกว่าต่างจากตอนอายุยี่สิบเท่าไร (หัวเราะ) ได้อยู่ๆ โชคดีด้วยที่เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ เข้าถึงง่าย กูเกิลมีทุกอย่าง ยูทูบมีทุกอย่าง
เคยได้ยินคำว่าเด็กเป็นตัวกินฝันมั้ย แล้วในอีกสามสี่เดือนก็จะมีลูกแล้ว กังวลเรื่องนี้หรือเปล่า
กลืนน้ำลายเลย (หัวเราะ) เคยคิดบ้าง แต่ก็มองว่ามันอยู่ที่เราด้วย ก็อยากเที่ยว อยากเดินทางอยู่ ก็ ไปด้วยกัน ไม่รู้ว่าจ่ายเงินเข้าโรงเรียนนานาชาติจริงๆ แล้วจะเหลือเท่าไร กลัวเหมือนกัน แต่เราก็กินฝันของพ่อแม่มาก่อน เราเห็นพ่อแม่มีศักยภาพเรื่องอื่นๆ เช่น เขาวาดรูปสวยมาก ชอบท่องเที่ยว พอมีเรา เขาต้องทิ้งทุกอย่าง ฉะนั้น เราเองก็มีส่วนกินฝันพ่อแม่ แล้วในอนาคต..
เราไปกินฝันของลูกต่อ ?
(หัวเราะ) เราคงไม่กินฝัน ลูกอาจมาแบ่งฝันเรา ต้องพยายามมากๆ ที่จะดูแลลูกด้วย และดูแลความฝันของเราด้วย มันต้องพยายามมากๆ ไม่ใช่แค่ทำงานแล้วเราจะได้รับได้เห็นสิ่งนั้นเลย แต่เราต้องพยายามสามสี่เท่ามั้ง เพื่อที่จะได้เป็นในสิ่งที่เราอยากจะทำ
เกมยากขึ้นมั้ย เมื่อมีใครอีกคนเพิ่มขึ้นมาในชีวิต
ยากแหละ น่าจะยากเยอะอยู่ เวลาในการตามใจของเราก็คงน้อยลง เวลาขี้เกียจก็คงน้อยลง น้อยมากๆ ไม่มีเวลาขี้เกียจอีกแล้ว
กลัว กังวล ?
ประมาณหนึ่ง
เอาอยู่ ?
ไม่ๆ (หัวเราะ) เอาไม่อยู่ ถามว่ากังวลมั้ย กังวลแหละค่ะ กลัว แต่ไม่กังวลมากจนไม่มีแรง คือรู้ว่าน่าจะยากขึ้น แค่การมีเด็กคนหนึ่ง สุขภาพร่างกายเรา พลังงานเราก็ต้องหมดไปกับเขา และในอนาคตจะยังไงต่อ มันไม่ได้ใช้แค่เราแล้ว ก็กังวล โดยเฉพาะเรื่องเงิน เราอยากเลือก แต่ไม่มีอำนาจเลือกได้ทุกอย่างขนาดนั้น
เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ความสวย ความสาวของตัวเองมั้ย ?
ดั๊กสวยอยู่แล้ว (หัวเราะ) เห็นคุณแม่เขาคลอดลูก ออกกำลังกาย มันก็ได้อยู่นะ แต่ของดั๊กก็ไม่รู้จะยังไง หลังคลอด เพราะก่อนท้องก็ไม่ออกกำลังกายนัก
ตอนนี้คิดเรื่องเลี้ยงลูกก่อน ?
อือ แค่เรามีความสุข สุขภาพดี มันก็สวยเอง ไม่ได้มองว่าต้องผอมต้องขาว ตามมาตรฐานที่เขาว่ากัน แค่มีความสุขก็โอเค
สามีเตรียมตัว หรือเป็นห่วงอะไรมั้ย
พยายามออกกำลังกาย ลดความอ้วนอยู่ จะได้แข็งแรง เลี้ยงลูกไหว ที่คุยกันเยอะหน่อยคืออาชีพที่สอง สาม สี่ ห้า..ของเรา การหาเงิน คุยกันเยอะมากๆ เรื่องอื่น ไม่เท่าไร กำลังมองหารายได้เพิ่ม
เช่น อาชีพอะไร ความเป็นไปได้..
เปิดร้านขายนมขายขนมปังตอนกลางคืน ขายประกัน แล้วก็แฟนชอบเรื่องรถ กำลังคิดว่าหรือจะซื้อมาแล้วขายต่อ ดูราคา หรือเปิดให้เช่า ดูว่าเราพอจะทำอะไรได้ สานต่อยังไง หรืออย่างดั๊กพอวาดรูปได้นิดหนึ่ง แฟนถามว่า หัดวาดในไอแพดมั้ย แล้วขายในเอ็นเอฟที ทุกวันนี้ช่องทางหาเงินหลากหลายขึ้น แฟนก็เทรดหุ้น ตั้งใจเทรดมากขึ้น ตลาดอเมริกา อดหลับอดนอนไป นี่คือที่เขาลงมือทำแล้ว อาจไม่ใช่ในความหมายอาชีพที่สอง สาม สี่.. แต่ต้องหาเงิน
โลกทุกวันนี้ ภาษาเดียวไม่พอ อาชีพเดียวไม่พอ ?
ใช่ เงินเดือนไม่พอจริงๆ ไม่พอจริงๆ นะ อยู่กันสองคนก็ไม่พอ ยิ่งมีลูกยิ่งไม่พอ เพียงแต่สองคนอาจจะคล่องตัวและไม่พะวักพะวงมาก
ยังไง โลกวันนี้คุณจะมีคุณภาพชีวิตดีได้คือต้องหาเพิ่ม ?
ใช่ ถ้าเงินเดือนเราเท่านี้นะ มันไม่พอ คือถ้าเราเลือกคุณภาพชีวิตเท่าที่รัฐให้ มันก็น่าจะพอได้ แต่เราว่ามันไม่ใช่ไง มันไม่ดี ฉะนั้นก็ต้องหาเพิ่ม
ด้วยงานที่ทำอยู่ ด้วยชีวิตตอนนี้ คิดว่าคุณภาพชีวิตโอเคมั้ย
ก็กลางๆ ไม่ได้แย่ โชคดีที่ยังพอเลือกได้ ว่าจะทำ จะกิน จะอยู่ยังไง อยากได้อะไรก็พอเลือกได้ ขณะที่เวลามองไปดูญาติพี่น้อง ก็เป็นห่วงและอยากซัพพอร์ทเขา แต่ทำไม่ได้ เราอยากให้เขามีชีวิตที่ดีกว่านี้
ที่ดินตรงนี้ไม่ได้ซื้อ ?
ของแม่ เราแค่สร้างบ้าน สองปีแล้ว ค่อยทำไปทีละส่วน
มีความคิดเรื่องย้ายประเทศมั้ย
เคยคิด ก่อนมีลูก แฟนเคยไปอเมริกาครึ่งเดือน เขาบอก ราคาน้ำมันเท่าบ้านเราเลย แต่ชั่วโมงหนึ่งหาเงินได้เยอะกว่าของเราทั้งวัน เขาชวนไปขับรถสิบล้อที่อเมริกา (หัวเราะ)
ทิ้งความฝันนั้นหรือยัง
ยังไม่ทิ้ง
ไม่ได้ยึดติดว่าต้องอยู่ต้องตายที่เมืองไทย ?
ไม่ ไม่ได้ยึดติดด้วยว่าต้องอยู่น่านไปตลอด ไม่ติดประเทศไทยหรือที่ไหนเลย แล้วแต่
ถ้ามีเพื่อนถามว่ามีลูกดีมั้ย จะตอบว่า..
แล้วแต่เลย ไม่กล้าแนะนำ จะเล่าเรื่องตัวเองให้ฟัง ก่อนท้องเป็นไง ท้องแล้วเป็นไง ดั๊กไม่แนะนำให้ใครท้อง หรือไม่ท้อง ปล่อย แล้วแต่ชีวิต
แล้วฝ่ายเราดีหรือไม่ดี เทียบกับเมื่อก่อนที่ไม่อยากมี
โพสิทีฟนะ อย่างตอนนี้ที่เห็นชัด เขาทำให้เราเห็นความสำคัญเรื่องอื่นๆ มากกว่าเรื่องตัวเอง อันนี้ต้องขอบคุณเขามากๆ เรามองเห็นสิ่งอื่นมากขึ้น เคยฟังจากพี่ที่ทำงาน เขาเล่าให้ฟัง แต่ไม่เก็ต จนมีเอง เราเก็ตแล้ว มันเป็นความอิ่มเอมข้างในด้วย อิ่มเอมที่จะได้ดูแลอีกหนึ่งชีวิต มีเค้าอยู่ แล้วเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าใหญ่ ที่มีแต่ตัวเอง มันเบาบางลง เราไม่ได้เห็นแค่ตัวเองอีกแล้ว นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
แม้ว่าลูกเราต้องเกิดในรัฐบาลประยุทธ์ ?
อย่างที่บอกค่ะ มองได้สองระดับ ถ้าส่วนตัวมันโอเค แต่ในรัฐบาลประยุทธ์ เขาเกิดมาแล้วก็ต้องเหนื่อยหน่อย เหนื่อยเยอะๆ เลยมั้ง ดั๊กว่าไม่ว่าจะยังไง เขายังผลิบานได้อยู่ ไม่ว่ารัฐบาลไหน ไม่รู้ว่ารัฐบาลต่อไปที่ไม่ใช่ประยุทธ์ อาจจะแย่กว่านี้อีกหรือเปล่า ก็ต้องพยายาม ถึงมองว่าการศึกษาต้องแข็งแรง
ถ้าคลอดลูกแล้วมีแพลนอยากทำอะไรมั้ย หรือมองตัวเองตอนสักอายุสี่สิบห้าสิบยังไงบ้าง
อยากเที่ยว อยากเดินทาง ไม่ใช่ตอนสี่ห้าสิบ อยากไปตอนนี้ (หัวเราะ) อยากมีสุขภาพที่ดี อยากแข็งแรง อยากเห็นโลกใบนี้ เป็นแผนร่วมกันของสามีภรรยา
แล้วที่บอกว่าโรงเรียนเมืองไทยไม่ดี สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยพัฒนามันมั้ย เช่น มาทำอะไรเพื่อการศึกษา ในฐานะที่ตอนนี้ขยับบทบาทมาเป็นแม่
ตอนนี้ก็คิดอยู่ แต่คิดในระดับห้องสมุด อยากทำแบบเคลื่อนที่ มันไม่ใช่แค่หนังสือ เรื่องหนังด้วย หนังดีๆ มันกระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ กว่าจะไปก็ยาก อยากให้เด็กทุกคน เด็กแถวบ้าน อยากให้เขาได้เห็น ได้อ่าน ได้ดูสารคดี หนังดีๆ เคยถามตัวเองว่าเราควรไปเป็นครูด้วยมั้ย แต่ยังคุยกับตัวเองไม่จบ หรือจะไปเป็นนักการเมืองดีหรือเปล่า นี่ก็คิด มันมีทั้งเรื่องที่เราทำได้ ทำไม่ได้ คิดวนไปวนมา เพราะการเข้าไปอยู่ในบทบาทการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญ ครูยังมีเพดาน อาจทำได้ในระดับเปลี่ยนห้องเรียน แต่ถ้าขยับไปภาพใหญ่ขึ้นมันมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงมากกว่า
ครูอาจเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กได้ทีละสิบคน แต่นักการเมือง ถ้าทำได้ดี อาจเปลี่ยนได้ทีละสองแสน ?
ใช่ คิดตั้งแต่ก่อนมีลูก ก่อนแต่งงาน ชีวิตเรามันวนเวียนกับการบริหาร ถ้าอยากให้มันดี คือถ้าเขาไม่ทำ เราต้องทำหรือเปล่า เคยคิดอยากเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็น อบต. คิดเยอะ ยิ่งหลังๆ ทำงานกับป่าแล้วไม่ได้มีแค่ป่า มันมีคนด้วย แล้วเราเห็นว่าบทบาทนักการเมือง ไม่ว่าท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล มันมีพลังมากๆ เลย ถ้าเราเลือกเครื่องมือหรือวิธีการที่โอเค นั่นขนาดหมู่บ้านตำบล ถ้าระดับประเทศจะขนาดไหน มันต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาก
คิดว่าจะเลี้ยงลูกแบบไหน ตีมั้ย ห้ามอะไร เรื่องไหนซีเรียส
ตีมั้ย ยังตอบไม่ได้ ห้ามมั้ย ก็ไม่รู้ แค่อะไรที่เป็นอันตรายกับชีวิต เช่น ลงสระน้ำคนเดียว จะจมน้ำตาย คงต้องห้าม หรือวิ่งข้ามถนน ไม่มองซ้ายขวา นี่ต้องห้าม อื่นๆ ยังนึกไม่ออก
น่าจะเป็นแม่ใจดีหรือแม่ใจร้าย
ใจดี น่าจะดีค่ะ อยากให้เขาคุยกับเราทุกเรื่อง เราไม่ต้องเป็นเซฟโซนก็ได้ แต่ถ้ามีอะไร อยากให้คุยให้เล่าหน่อย แชร์กัน ถ้าเขาสบายใจที่จะเล่า
อยากปลุกปั้นให้เป็นอะไร หรือปลดปล่อย
ปล่อย แค่อยากให้เป็นคนที่รู้หน้าที่ตัวเองและเคารพสิทธิคนอื่น พอแล้ว ส่วนจะเป็นคนดี ไม่ดี อันนั้นพูดยาก ดีเลวคืออะไร เอาว่าไม่ไปละเมิดใครก็พอ.
nandialogue
เรื่องและภาพ: วรพจน์ พันธุ์พงศ์