1.
“พี่คะ มีหนังสือที่ให้กำลังใจบ้างไหม?” ฟังจากหนังสือที่ถาม พอจะกล่าวได้ว่าหนุ่มสาวของยุคสมัยกำลังทุกข์ใจกับเรื่องหลายประเภท
คำถามนี้ดังขึ้นบ่อยในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ดังมาจากน้องๆ หลายคนที่อยู่ในวัยเริ่มต้นชีวิตทำงาน ดังจนขาอำบางคนหยอกเล่นว่า หากมีหนังสือสักเล่มตั้งชื่อว่า “หนังสือให้กำลังใจ” ดูท่าจะขายดี
ทว่าเอาเข้าจริงการได้ยินคำถามเช่นนี้ถี่ๆ ไม่น่าจะใช่เรื่องควรยินดีนัก ในสถานการณ์ที่อย่าว่าแต่หนุ่มสาวซึ่งควรจะมีพลังพวยพุ่งจะรู้สึกหมดกำลังใจ เมื่อนึกถึงสิ่งที่เป็นอยู่วัยกลางคนหลายคนที่มีการงานทำอยู่ดีๆ ยังมีอาการไฟมอด นี่ทำให้ต้องยอมรับว่าปัญหาเชิงโครงสร้างได้ลดทอนพลังของผู้คนไปแล้วมากมายนัก ที่น่าดีใจอยู่บ้างก็ตรงที่เมื่อรู้ว่ากำลังอ่อนแรง เขาและเธอยังเลือกที่จะหันหน้าเข้าหาหนังสือ
แล้วหนังสือเล่มไหนกันที่จะดึงกำลังใจกลับมา ถึงตรงนี้ก็เป็นความท้าทายทั้งสำหรับคนเขียนและคนขายหนังสือ
หนังสือเล่มเดียวที่รักษาได้ทุกโรคนั้นน่าจะหายาก แต่การอ่านให้มากเข้าไว้น่าจะช่วยได้
“เล่มนั้นนิด เล่มนี้หน่อยค่อยๆ ประกอบร่าง” เลยแลกเปลี่ยนกับเจ้าของคำถามไปอย่างนั้น ครั้นมีคำถามกลับมาว่า
“หากอยากพักจากเรื่องราวหนักๆ บ้าง แต่ก็ยังอยากอ่านเรื่องที่มีพลังเพียงพอให้ค่อยๆ ลุกขึ้นใหม่ อ่านเล่มไหนดี?” นั่นเองจึงได้แนะนำให้เขาและเธอลองรู้จักกับเรื่องราวของใครคนหนึ่ง
ใครคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวเอกของหนังสือ “มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ”
2.
เรื่องมันเริ่มจากว่า เธอยังทำงานอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อตั้งแต่เรียนจบมา
ตอนนี้เธออายุ 36 แล้ว เธอทำงานพิเศษในร้านสะดวกซื้อมาตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย และทำมาถึงตอนนี้โดยยังไม่เคยคิดจะเปลี่ยนหรือไปหางานประจำทำ เธอทำงานเสร็จก็กลับที่พัก ไม่เคยมีคนรักหรือมีใครเข้ามาในชีวิตทั้งหมดนี้ เธอว่าเธอมีความสุขดี
ใช่! เธอมีความสุขดี ตรงนี้สำคัญ เรื่องราวใน “มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ” ซึ่งเป็นนิยายขนาดสั้นปูพื้นให้เรารู้จักกับชีวิตในเมืองใหญ่ของสาวญี่ปุ่นคนหนึ่งด้วยบริบทประมาณนี้ บทสองบทแรกความเชื่อที่เราเองก็ถูกฝังหัวมาว่าเมื่อเรียนจบก็ควรรีบหางานที่มั่นคงให้ไวๆ จะทำให้เรารู้สึกแย้งอยู่บ้างว่า
“เธอจะมีความสุขได้อย่างไร การที่เธอไม่มีงานมั่นคงทำ ซ้ำยังไม่มีใครเป็นเพราะเธอไร้ความสามารถหรือเปล่า?”
ทว่าเมื่อเรื่องราวค่อยๆ พัฒนา และเผยให้เห็นสภาพสังคมญี่ปุ่นในระดับปัจเจก ความคิดที่ว่าเธอไม่น่ามีความสุขก็จางหาย
ใช่! เธอมีความสุขจริง ที่ผ่านมาชีวิตของเธอเท่ากับร้านสะดวกซื้อก็ว่าได้
อาหารที่เธอกินแต่ละวันมาจากร้านสะดวกซื้อ การเห็นภาพร้านที่สะอาดเรียบร้อยพร้อมเสียงตะโกน
“ยินดีต้อนรับ” ทำให้แต่ละคืนเธอหลับอย่างเป็นสุข ในฝันเธอยังเห็นตัวเองกำลังกดเครื่องคิดเงิน
นอกจากนี้เธอหาใช่คนขี้เกียจ บางครั้งแวะร้านสะดวกซื้อเจ้าอื่นเธอยังแอบสังเกตข้อบกพร่องเพื่อนำมาปรับใช้กับร้านตนเอง วันหยุดบางวันเธออาสามาทำงานเพิ่ม ไปเที่ยวกับเพื่อนเธอยังอยากกลับเพื่อไปทำงานที่ร้านเสียให้ไวๆ หากอยู่ในองค์กรหรือธุรกิจประเภทอื่นเชื่อได้ว่าการงานของเธอคงก้าวหน้าไปไกลแล้ว
หากตัดจบแค่นี้ คงกล่าวได้ว่าเธอคนนี้ค้นพบที่ทางของตัวเองแล้ว แต่ก็นั่นแหละ เธออธิบายกับตัวเองได้ว่าทำไปเพื่ออะไร แต่เธออธิบายให้สังคมเข้าใจและพอใจไม่ได้ว่าเธอยังทำงานที่ร้านสะดวกซื้อไปทำไม
เช่นเดียวกับที่เราในฐานะคนอ่านเคยสงสัยเธอในบทต้นๆ เมื่อยังทำงานแบบเดิมทั้งที่อายุก็เริ่มจะมาก เธอเองก็ถูกตั้งคำถามโดยถูกถามจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อนจากรั้วมหาวิทยาลัย จากพ่อแม่และจากน้องสาวที่แต่งงานมีครอบครัวอยู่อีกเมือง
สังคมญี่ปุ่นมีมารยาทพอที่จะไม่ถามตรงๆ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ถูกสังเกต แรกๆ ไม่มีใครพูด แต่เมื่อผ่านไปหลายปีผู้จัดการที่ร้านเริ่มเปรยๆ กับเธอว่า เมื่อไหร่จะมีใครกับเขาบ้าง พอไปพบปะเพื่อนเก่าซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในบริษัท บ้างก็แต่งงานเป็นแม่บ้านเต็มตัว เธอก็ถูกมองด้วยสายตาแปลกใจว่า ยังทำงานอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อหรือ? ทำไมไม่หางานที่มั่นคง? และทำไมจึงยังไม่มีใครสักคน?
ครั้นกลับบ้านไปเยี่ยมแม่เยี่ยมน้อง ก็เจอคำถามเดิม
เมื่อโดนถามบ่อยๆ เธอก็เริ่มไม่มีความสุขกับการไปเจอคนเหล่านั้น บทสนทนากับเพื่อนเก่าวนอยู่แต่เรื่องลูก เรื่องสามี และการตอบคำถามแบบขอผ่านไปทีว่า “ก็กำลังดูใจใครบางคนอยู่” ขณะที่น้องแท้ๆ ของเธอไปไกลกว่า เมื่อไม่มีเค้าว่าชีวิตพี่จะเปลี่ยนแปลง เธอก็ถูกน้องสาวถามว่าเมื่อไหร่จะใช้ชีวิตเป็น “มนุษย์ปกติ” กับเขาบ้าง
ถึงตอนนี้เธอก็เริ่มสั่นไหว
สิ่งที่สังคมสาดใส่เธออยู่โครมๆ ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ปกติ” อย่างที่น้องสาวบอก เป็น “สิ่งชำรุด” ที่ไม่สามารถเหมือนคนอื่น แม้จะเคยมีความสุขแต่เมื่อมาตรฐานโดยรวมทำร้ายเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่าความทุกข์ก็เริ่มขยาย จนเธอต้องขวนขวายหาทางออก
แล้ววันหนึ่งก็มีชายหนุ่มท่าทางขวางโลกคนหนึ่งมาสมัครงานที่ร้าน
ชายหนุ่มคนนี้นิสัยกระด้าง หยาบคาย เสื้อผ้าที่ใส่ค่อนไปทางสกปรก บอกอะไรไม่เคยทำตาม ทั้งยังชอบคุยอวดว่ากำลังรองานที่ดีกว่าอยู่ทั้งที่ก็เห็นชัดว่าเขามาทำงานที่นี่เพราะไปไหนไม่ได้ เธอได้รับมอบหมายให้มีส่วนสอนงานให้กับเขา ซึ่งปรากฏว่าทำได้ไม่กี่วันชายหนุ่มก็ถูกขอให้ออก
ประเด็นกระแทกใจก็คือ ช่วงเวลาสั้นๆ นั้นทำให้เธอพบว่าไอ้หนุ่มเฮงซวยคนนี้ก็เป็นส่วนเกินของสังคมเช่นเดียวกับเธอ เพียงแต่ครองตนอยู่ในร่างของผู้ชาย และนั่นทำให้หลายวันต่อมาเมื่อเธอบังเอิญเจอเขาในลักษณะจนตรอกอยู่ตรงมุมถนนแห่งหนึ่ง เธอได้ออกปากชวนให้เขามาอยู่ด้วยกันกับเธอในห้องพักเล็กๆ โดยยินดีดูแลเรื่องอาหารให้
เธอทำอย่างนี้เพราะคาดว่าถึงตอนนี้เธอก็สามารถบอกกับคนทั้งหลายได้เสียทีว่า นี่ไงฉันก็เป็นชิ้นส่วนปกติของสังคมเหมือนพวกคุณแล้ว นี่ไงฉันก็มีใครคนหนึ่งแล้วเหมือนกัน แต่ก็นั่นแหละ สังคมอาจไม่รู้แต่เธอรู้ รู้ว่านี่มันคือความสัมพันธ์ปลอมๆ หนามแหลมที่สังคมทิ่มแทงเธอ (และเขา) มาตลอดยังไม่ถูกบ่งออก การที่เธอเลือกหาทางออกด้วยวิธีจัดฉากเช่นนี้มีแต่จะตอกย้ำให้เจ็บช้ำ อย่างนี้มันใช่หรือ
3.
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสิ่ง “ไม่ปกติ” หรือ “ชำรุดทางสังคม” สองชิ้นมาเจอกัน ถึงตรงนี้ขออนุญาตไม่เล่าต่อ อยากได้อรรถรสแนะนำให้ไปหาหนังสือมาอ่านเท่านั้น ที่บอกได้ก็คือ “มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ” เป็นหนังสืออีกเล่มที่สะท้อนสังคมได้หลายมุม และพูดแทนหนุ่มสาวของยุคสมัยได้ตรงใจ
บริบทของเรื่องซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อนั้นแสดงให้เห็นจิตวิญญาณในการทำงานแบบญี่ปุ่นอย่างละเอียด จะกล่าวทักทายหรือขอบคุณลูกค้าอย่างไร จะจัดวางสินค้าแบบไหนให้ดึงดูดสายตา อากาศร้อนแบบนี้ควรเน้นขายอะไรดี สต๊อกสินค้าเพื่อรับมือกับเทศกาลอย่างไรให้เหมาะสม ทำอย่างไรทุกคนจึงจะรักงานที่ทำ องค์ประกอบของเรื่องทำให้เราเข้าใจเลยว่าทำไมบริการแบบญี่ปุ่นจึงอยู่ในใจคนทั้งโลก นี่เป็นสิ่งคุ้มค่าอย่างยิ่งหากว่าคนทำธุรกิจค้าปลีกจะได้อ่าน
ขณะที่ประเด็นสำคัญของเรื่องก็ติดค้างอยู่ในใจจนยากจะเอาออก
ความขัดแย้งในชีวิตของตัวเอกนั้นเป็นความขัดแย้งที่เธอไม่ได้อยากขัดแย้งด้วย แต่สังคมต่างหากที่ลากเธอไปให้กลายเป็นคู่ขัดแย้ง
สิ่งที่ค้างอยู่กับเราเมื่ออ่านจบก็คือ เมื่อเราเจอกับสิ่งที่เรามีความสุขแล้ว เรามีความชอบธรรมที่จะอยู่ตรงนั้นต่อไปไม่ใช่หรือ? เราไม่อาจแตกต่างเลยใช่ไหม? ต้องเหมือนคนอื่นตลอดไปเท่านั้นใช่ไหมจึงเรียกว่า “ปกติ”? ทำไมจึงชอบจัด Grouping กันจัง? การปรากฏตัวของชายหนุ่มนิสัยกระด้างก็เช่นกัน
นี่คือตัวละครที่มีบุคลิกน่ารังเกียจ แต่เมื่ออ่านๆ ไปเห็นสภาพความกดดันที่หนุ่มสาวแต่ละคนแบกรับอยู่ก็แอบเอาใจช่วยเขาขึ้นมาบ้างทั้งยังเริ่มเข้าใจว่าที่กระด้างนั้นพอมีเหตุผล ถึงตอนนี้ความเข้าใจก็ดูเป็นเรื่องสำคัญ
และที่สำคัญ แม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นในญี่ปุ่น แต่ปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้นกับหนุ่มสาวที่ไหนก็ได้ สาระหลักของหนังสือเป็นสากล สามารถเชื่อมกับคนทั้งโลก ตราบใดที่เราเอามาตรฐานของคนส่วนใหญ่มาจับหรือตกอยู่ในกับดักที่ว่า
“สิ่งชำรุด” คงไม่ได้มีแค่สองชิ้นนี้แน่นอน พลังของหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงนี้
“พี่คะ มีหนังสือที่ให้กำลังใจบ้างไหม?” เวลาที่คำถามลักษณะนี้ดังขึ้นในร้านหนังสือนั้นว่ากันตามตรง มันก่อให้เกิดทั้งความรู้สึกดีใจและกังวลใจ
ดีใจที่หนังสือยังทำหน้าที่ กังวลใจเพราะคำถามเช่นนี้สะท้อนความรู้สึกโดยรวมของผู้คน ซึ่งหลายครั้งเราก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก นอกจากพยายามแนะนำหนังสือดีๆ สักเล่มให้อ่าน
“เข้มแข็งหน่อยนะ เชื่อเถอะว่าเราไม่ได้อ่อนแอหรือแปลกแยกอยู่คนเดียว”
ยื่นหนังสือ “มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ” ให้เขาหรือเธอแล้วบอกไปด้วยถ้อยคำประมาณนี้.
เรื่อง: หนุ่ม หนังสือเดินทาง