nandialogue
essay

จากบันนังสตาถึงชะตากรรมคนหนุ่มสาว กับเรื่องราวที่ไม่ปกติ

ผมขอเปิดหัวคอลัมน์นี้ด้วยคำสวัสดีผู้อ่าน nan dialogue ทุกท่านครับ

ก่อนจะว่าด้วยเนื้อหาอื่นใด ผมอยากแจ้งที่มาของคอลัมน์นี้สักเล็กน้อย เมื่อต้นเดือนธันวาคม ผมคุยกับคุณวรพจน์ผู้เป็นบรรณาธิการว่า ขอส่งงานเขียนของตัวเองใน nan dialogue ได้ไหม เพราะเห็นศักยภาพการเติบโตของเว็บไซต์เล็กๆ ที่แปลกและแตกต่างนี้ แน่นอนว่าผมรับรู้เบื้องหลังการก่อร่างสร้างพื้นที่ขีดเขียนประเด็นใหญ่ภายใต้อาภรณ์ของสื่อภูธรชื่อน่ารักมาก่อนแล้ว และติดตามการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ

จะว่าไปผมเองซึ่งมีงานประจำในฐานะเจ้าของบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์เล็กๆ ของตัวเองให้ปวดหัวอยู่ไม่น้อย และยังแบ่งเวลาไปรับงานดูแลการผลิตสารคดีโทรทัศน์ให้สื่อเอกชนแห่งหนึ่งด้วยสัญญาระยะยาวข้ามปี และเมื่อปลายปี 2020 ถึงกลางปี 2021 ในห้วงการชุมนุมของคนหนุ่มสาว ผมรับฟรีแลนซ์ให้สำนักข่าวหลายแห่งทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งยังมีงานเขียนประจำให้เพจใหญ่เพจหนึ่งต่อเนื่องด้วยนามปากกา แต่มันยังรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะเวิ้งว้างว่างเปล่า

พอนึกออกไหมครับ ทำอะไรตั้งหลายอย่างในชีวิต แต่มันเหมือนมีบางอย่างที่ค้างคา ช่วง 10 ปีหลังผมไปจับงานทีวี จนต้องละทิ้งการขีดๆ เขียนๆ ในความหมายของการเขียนหนังสือไปเลย แม้จะมีบทสารคดีโทรทัศน์จำนวนเกือบร้อยเรื่องผ่านมือ แต่มันก็ไม่ใกล้เคียงอยู่ดี สองปีที่ผ่านมาผมใช้เวลาชีวิตลงไปคลุกคลีกับการชุมนุมของคนหนุ่มสาว นำเรื่องราวต่างๆ มาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีคนติดตามอยู่จำนวนหนึ่ง ผมพยายามใช้หลัก ‘อธิบายปรากฏการณ์’ เพื่อเก็บประเด็นที่สื่อหลักส่วนใหญ่ไม่เล่น สุดท้ายมีสื่อต่างประเทศแห่งหนึ่งจ้างให้ผมช่วยเป็นฟรีแลนซ์ให้ และช่วงปลายปี เพื่อนหนุ่มที่เพิ่งไปรับหน้าที่บรรณาธิการให้สำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งแล้วต้องจัดการกับช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อนก็ขอให้ผมไปช่วยทำข่าวที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม

ผมใช้ทักษะสัมภาษณ์และเขียนข่าวอย่างต่อเนื่องทุกวัน รู้สึกเหมือนปลาในบึงได้กลิ่นแม่น้ำใหญ่

เดือนเมษายน 2021 ผมมีภารกิจต้องลงไปทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาระงานประจำของตัวเอง และในค่ำคืนที่ผมไปนั่งงงๆ หน้าแก้วชาร้อนในรีสอร์ทเล็กๆ ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ผมเจอกับชายคนหนึ่งในวัยห้าสิบกลางๆ สวมกะปิเยาะ นุ่งโสร่ง เข้ามาทักทาย เพราะเห็นว่าคนนอกพื้นที่คนหนึ่งมานั่งอยู่คนเดียว เขารินชาร้อนๆ ใส่แก้วใบเล็กให้ผม หันไปตะโกนสั่งชากลิ่นผลไม้ของตัวเอง หลังจากแนะนำตัวกันเสร็จสิ้น บทสนทนายาวเหยียดเกิดขึ้นก่อนน้ำตาของชายคนนั้นจะร่วงพรู

ผมควรจะเปิดเผยชื่อรีสอร์ทและตัวละครนี้ ทว่าล่าสุดต้นเดือนมกราคมเพิ่งจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงอีกครั้งในบันนังสตา ใกล้ๆ กับรีสอร์ทแห่งนั้น ต้องเข้าใจร่วมกันว่าก่อนหน้านั้นบันนังสตาแทบไม่มีเหตุรุนแรงมายาวนานหลายปี จนรีสอร์ทสไตล์โมเดิร์นพร้อมกับคาเฟ่ชิคๆ คูลๆ เกิดขึ้นมาใกล้ๆ กับตลาดในตัวอำเภอ นึกออกไหมครับ จากอำเภอทางผ่านที่ใครอยากไปเบตงก็ดันฝ่าเท้าให้มิดคันเร่ง เพื่อให้ผ่านบันนังสตาไวๆ แม้แต่ช่วงกลางวัน แต่ช่วงที่ผมเจอชายคนนั้น เป็นห้วงเวลาหนึ่งที่ความสงบมาเยือน ผู้คนใช้ชีวิตปกติมาก ผมใช้คำว่า ‘ปกติ’ เพราะไม่อยากใช้มาตรวัดสถานการณ์ที่หลากชีวิตต้องอยู่อย่างหวาดกลัวยาวนานหลายปีแทนความปกติในชีวิตของเขา คาเฟ่ใหม่ๆ ผุดขึ้นมามากมาย คนหนุ่มสาวที่เคยจากไปเรียนและหางานทำที่อื่นก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตในตัวอำเภอมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าความมีชีวิตชีวาก็กลับมาด้วย

ชีวิตของคนไม่ควรต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวครับ ผมยังจำได้ถึงวันที่ผมกับทีมงานขับรถตระเวนหาร้านอาหารนั่งกินมื้อเที่ยงกันแถวริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี (ชื่อแม่น้ำในบันนังสตา) นั่งคุยกับเจ้าของร้านบอกว่าเพิ่งเปิดมาได้สองปี หลังจากที่เหตุการณ์ความรุนแรงซาลง ซึ่งย้อนไปสิบห้าปีก่อนผมมาทำข่าวที่บันนังสตาเสร็จตอนเที่ยง ยังต้องขับรถไปหามื้อกลางวันกินที่ตัวเมืองยะลา

หลังมื้อเที่ยงวันนั้น ผมนั่งมองข้าราชการและคนท้องถิ่นมาจับกลุ่มกินอาหารโต๊ะใครโต๊ะมัน เสียงพูดคุย เสียงหัวเราะดังแข่งกับเสียงกอไผ่ริมแม่น้ำเสียดสีเพราะลมฤดูร้อน เป็นวันที่ผมนั่งแบบไม่ต้องนั่งระวังหลังเหมือนที่เคยทำมาหลายปี

เช่นเดียวกับบรรยากาศในรีสอร์ทใกล้ตัวอำเภอบันนังสตาที่เพิ่งจะเปิดมาได้เดือนเศษๆ คืนนั้น อาบน้ำเสร็จผมได้ยินเสียงเพลงสตริงคุ้นหูจากลำโพงในคาเฟ่ดังแทรกมาในสายลม จึงออกไปนั่งรับลมเย็นเยียบเหมือนฝนจะตก ดอกทุเรียนร่วงกราวจากต้นลงบนโต๊ะจนผมต้องชักถ้วยชาร้อนหนี อีกหลายโต๊ะถัดไปวัยรุ่นบันนังสตาจับกลุ่มกันนั่งสนทนาในถ้อยคำที่ผมฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง (เพราะเขาพูดไทยสลับกับมลายูถิ่น) แต่เสียงหัวเราะที่ดังมาเป็นระยะกับเสียงกีตาร์จากเด็กหนุ่มบนชั้นดาดฟ้าของคาเฟ่ ทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลายกับสังคมปกติในบันนังสตา

ความปกติที่ผมหมายถึงไม่ใช่สิ่งก่อสร้างอย่างรีสอร์ท คาเฟ่หรือชาร้อนในค่ำคืนของอำเภอที่อยู่ในลำดับความน่าหวาดหวั่นแห่งนี้หรอกครับ แต่มันคือบรรยากาศที่เอื้อให้คนได้ใช้ชีวิตตามแต่ปรารถนา ได้นั่งสนทนากันโดยไม่ต้องกลัวปืน ระเบิด หรือใครก็ไม่รู้ในเงามืด ความจริงผมควรดื่มด่ำกับบรรยากาศของคาเฟ่ในรีสอร์ทยามค่ำคืนได้นานกว่านั้น หากชายคนนั้นไม่เล่าเรื่องบางเรื่อง และร้องไห้กับบางเรื่องในชีวิตของเขาที่ผ่านห้วงเวลาแห่งความไม่ปกติมา ซึ่งผมจะเล่าในตอนหน้า

 

nandialogue

 

ผมกลับจากชายแดนใต้ ในห้วงยามที่กรุงเทพมหานครถูกห่อคลุมด้วยความไม่ปกติมากยิ่งขึ้น การชุมนุมที่เริ่มเห็นแนวโน้มการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องมากขึ้น คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งเริ่มถูกหมายจับ เห็นการต่อสู้ยิบตาในวิถีสันติวิธีของทนายอานนท์ เพนกวิ้น รุ้ง ไมค์ ไผ่ เบนจา ฯลฯ ก่อนถูกคุมตัวเข้าเรือนจำ เห็นการแจ้งความด้วยข้อหาตามกฏหมายอาญามาตรา 112 ของมวลชนทางการเมืองอีกฝั่งเพื่อจัดการกับคนรุ่นใหม่กลุ่มราษฎร เห็นการปรากฎตัวของเด็กหนุ่มสาววัยรุ่นที่ดินแดงและความสูญเสียที่ตามมา การข่มขู่ คุกคาม กดดัน สร้างความหวาดกลัว ไม่ให้คนรุ่นใหม่ใช้เสรีภาพของตนเอง

เราควรยอมรับเรื่องนี้กันก่อนว่านี่ไม่ใช่วิถีปกติที่ควรจะเป็นไปในสังคมปกติ โดยเฉพาะในห้วงที่คนรุ่นใหม่เกิดมาไม่กี่ปีแล้วเห็นคนถูกล้อมฆ่ากลางเมือง เห็นคนถูกอุ้มฆ่าทิ้งแม่น้ำโขง เห็นผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหาย เห็นพระสงฆ์ถูกบีบบังคับให้ลาสิกขา และบางรูปถูกไล่ล่าด้วยกฏหมายต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้คนกลุ่มเดียวเสวยสุขกับอำนาจและผลประโยชน์

หากอยากขับเคลื่อนประเทศ อยากอยู่ในลมหายใจเดียวกับชาวโลก อยากก้าวไปยืนในจุดที่เป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์หลังจากเราเห็นภาพถ่ายหลุมดำใจกลางกาแล็คซี่ M87 ที่ห่างออกไป 55 ล้านปีแสง และการส่งกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ขึ้นไปสังเกตอวกาศห้วงลึกเพื่อทำความเข้าใจการก่อเกิดจักรวาลของเรา แต่ยังเกิดคำถามว่าคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะก้าวไปยืนจุดนั้นได้อย่างไร เมื่อสภาพสังคมบ้านเมืองของเราเป็นแบบนี้

เบนจา อะปัญ เด็กสาวที่อยากเป็นนักบินอวกาศ ผู้มุ่งมาดปรารถนาจะทำงานด้านนี้ถึงขั้นเปลี่ยนชื่อตนเองจากเบญจมาพรเป็นเบนจาเพื่อให้ฝรั่งเรียกง่ายเมื่อถึงวันที่เธอได้ไปยืนอยู่ในระดับนานาชาติอย่างที่ฝัน เด็กสาวสอบติดเข้าเรียนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ (นานาชาติ) ที่สถาบันเทคโนโลยีสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) สำเร็จแล้ว อีกไม่กี่ก้าวเธอก็ไต่ไปถึงจุดสุดยอดของชีวิต แต่กระบวนการยุติธรรมประเทศนี้ก็เอาเธอไปขังคุกโดยไม่ให้ประกันตัว เพียงเพราะเบนจาออกไปเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ควรเป็น

ในห้วงที่คนหนุ่มสาวออกมายืนแนวหน้าเพื่อต่อสู้กับโครงสร้างการเมืองและสังคมที่ไม่เป็นธรรม ผมได้สนทนากับพวกเขาจำนวนมากว่าด้วยเรื่องราวที่ไม่ปกติในบ้านเมืองนี้ เช่นเดียวกับสมรภูมิในมิติอื่นๆ รวมถึงชายแดนใต้ และคิดว่าคงถึงเวลาที่ผมต้องเขียนและพูดถึงมันอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เราชาชินกับความไม่ปกตินี้ ใช้ชีวิต คิด พูด และเขียนแบบต้องระวังหลังเหมือนที่คนบันนังสตาเคยเป็น และกลับมาเป็นอีกครั้ง

ผมรู้สึกว่าตัวเองยังเล่าเรื่องน้อยไป ยังเขียนหนังสือน้อยมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผมควรเขียนได้มากกว่านี้ แต่เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการงานสร้างครอบครัว นั่นเป็นหนึ่งในความรู้สึกเวิ้งว้างว่างเปล่าที่เกิดขึ้นภายในลึกๆ จนเกิดการยื่นมือไม้สะเปะสะปะขอความช่วยเหลือ จนเจอกับมือเย็นๆ หลังหยิบกระป๋องเบียร์ของคุณวรพจน์

เมื่อตัดสินใจเขียนที่ nan dialogue ผมก็ต้องลดการเขียนอะไรยาวๆ ในเฟซบุ๊กส่วนตัวลงเพื่อประหยัดพลังงาน (ขออนุญาตหัวเราะเล็กน้อยให้ตัวเอง)

ผมรับปากกับคุณวรพจน์ว่า เมื่อเขียนแล้วจะต้องต่อเนื่อง หากไม่มีอุปสรรคใดติดขัด เราจะพบกันทุกสัปดาห์ กับหลากหลายเรื่องราว ความคิด ความรู้สึกของผู้คน ในลมหายใจของทศวรรษนี้ครับ.

 

 

nandialogue

 

essay : บทสนทนาในประเทศไม่ปกติ 


เกี่ยวกับนักเขียน : ณรรธราวุธ เมืองสุข เป็นคนกระบี่ เข้ามาเรียนปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ จบแล้วประกอบอาชีพนักข่าว จากมีค่ายยาวนาน ถึงวันโลดแล่นฟรีแลนซ์อิสระ ปัจจุบันเป็นคนผลิตสารคดีโทรทัศน์ และนักวิจารณ์สังคมการเมือง

You may also like...