nandialogue
essay

คำถามถึงการดำรงอยู่

การตั้งคำถาม ถูกเชื่อผิดๆ ว่าเป็นทักษะเฉพาะของคนทำงานสื่อสารมวลชน พูดให้แคบกว่านั้นคือ ‘นักข่าว’

ทั้งที่เอาเข้าจริง การตั้งคำถามควรเป็นทักษะของทุกคน ไม่ว่าประกอบอาชีพทำมาหากินอะไร และโดยที่เราต้องทำความเข้าใจว่า บางครั้งหรือหลายๆ ครั้ง คำถามสำคัญกว่าคำตอบด้วยซ้ำ

สำคัญเหมือนที่เราถามแม่ว่ามื้อเย็นจะกินอะไร แล้วแม่เดินไปรื้อตู้เย็นและหุงข้าวแทนคำตอบ

คำถามมันนำไปสู่คำตอบตามที่เราเข้าใจกัน แต่บางคำถามที่มันไม่มีใครตอบในตอนนี้กระตุ้นให้เราลุกออกไปแสวงหาคำตอบนั้น มันคือแรงผลักดันสำคัญให้มนุษย์ยุคแรกก้าวออกจากถ้ำ

คราวที่ผมลงมาชายแดนภาคใต้ใหม่ๆ ในราวปี 2005 ก็เพราะคำถามนี่แหละ –ที่ลงมาเพราะต้องทำงานนั้นก็ถูก แต่สังคมไทยกำลังเกิดคำถามว่า “คนที่นั่นฆ่ากันทำไม” หรือ “โจรใต้เป็นใคร” นี่เป็นคำถามที่เอาไปถามสิบคนก็ตอบกันไปคนละทิศละทาง เอาเรื่องความดีความชั่วของการลุกขึ้นมารบราฆ่าฟันทิ้งไปก่อน สกัดคำตอบที่เป็นข้อสรุปตื้นเขินเช่นนั้นออกไป จะพบว่าคำถามกระตุ้นให้เราเปิดโลกอีกใบ เปิดใจศึกษาข้อมูลที่ไม่เคยรู้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบันทึกคู่ขนานกับประวัติศาสตร์รุกล่าอาณานิคมของสยาม วัฒนธรรมเชิงอำนาจการปกครอง ฯลฯ รวมถึงความขัดแย้งบางอย่างที่สังคมภายนอกไม่เข้าใจ

แค่ฟังต่อๆ กันมามันยาก ต้องออกเดินทางเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง เพราะมีหลายคำถามผมจึงใช้เวลาหลายปีมากๆ กับการทำงานที่นั่น

ต้นปี 2022 ผมอยู่ที่ชายแดนใต้อีกครั้ง ขับรถผ่านเส้นทางถนนแคบๆ ที่ลากเลื้อยฝ่าทุ่งนาและป่าพรุ กินพื้นที่กว้างบนที่ราบตีนเขาบูโด อีกไม่กี่กิโลเมตรจะถึงชายหาด แต่รถที่ผมกำลังขับตามลงพื้นที่นั้นชะลอที่ด่านตรวจและเลี้ยวเข้าสถานที่แห่งหนึ่ง

มันคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล –ที่เราเรียกกันติดปากในอดีตว่า “สถานีอนามัย” ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวริมถนนโอบล้อมด้วยทุ่งนาและผืนป่า ส่วนข้างหน้ามีด่านที่ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ชินชาเป็นอย่างดี

ผมขับรถตามรถตู้โรงพยาบาลประจำอำเภอที่คุณหมอท่านหนึ่งและคณะของเธอลงชุมชนแถบนี้เพื่อเยี่ยมคนไข้ติดเตียงที่เธอดูแลอยู่ ทว่ารถตู้ที่เลี้ยวเข้าไปแล้วหยุดชะงักกับรถบรรทุกยีเอ็มซีที่จอดติดเครื่องอยู่

หนุ่มฉกรรจ์ชุดครึ่งท่อน กางเกงผ้าเวสปอยท์สีดำ นุ่งทับชายเสื้อยืดฝึกสีน้ำตาล โบกมือให้รถทุกคันเข้าไป รถตู้ของโรงพยาบาลเคลื่อนช้าๆ ไปจอดอยู่หน้าอนามัย แต่ไม่มีใครลงจากรถ ผมเลี้ยวผ่านรถยีเอ็มซีที่มีชายชุดดำอยู่เต็มคันไปจอดหลบรถตู้หมอ จึงพบว่าข้างในมีรถยนต์ส่วนตัวอีกหลายคัน กวาดสายตาไปด้านข้างอาคารทรงสูงของสถานีอนามัยซึ่งเป็นรูปทรงเดียวกันทั้งประเทศและมองทะลุไปด้านหลังจึงเพิ่งรู้ว่าที่นี่คือที่ตั้งฐานของกองร้อยทหารพรานหน่วยหนึ่ง ตาข่ายกรองแสงสีดำห่อคลุมบังเกอร์กระสอบทรายสูงท่วมหัว และสิ่งก่อสร้างจากไม้และสังกะสีอีกจำนวนหนึ่งคือสิ่งบ่งบอกว่ามีการสร้างที่อยู่อาศัยกึ่งถาวรมานานปีแล้ว

เด็กหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ สองสามคนผู้ทำหน้าที่เป็นเวรยามมองรถเอสยูวีคันใหญ่ติดฟิล์มดำที่ผมขับมาทำงานด้วยความสงสัย บรรยากาศในฐาน-ไม่ใช่สิ สถานีอนามัยไม่ค่อยผ่อนคลายนัก จนทีมงานผมที่นั่งอยู่เบาะหลังโพล่งออกมาว่า “เขายังรับรักษาคนอยู่ไหมวะ”

ผมไม่ทันออกความเห็น รถตู้ของหมอก็ถอยหลังออกมาโดยไม่มีร่างของเจ้าหน้าที่ของอนามัยแห่งนี้ปรากฏที่ประตู ผมก็ถอยและขับตามออกจากกองร้อย-สถานีอนามัยแห่งนั้น และมารู้ทีหลังจากชาวบ้านแถบนั้นว่ามักไม่ค่อยเห็นเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงาน หรือหากเข้าไปทำงานก็ปิดก่อนค่ำ ทั้งที่เวลาราชการกำหนดให้ปิดสองทุ่มครึ่ง จึงไม่แปลกที่หมอสาวจากโรงพยาบาลประจำอำเภอไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งนี้ได้ และต้องลงพื้นที่ต่อโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอนามัยซึ่งรู้จักพื้นที่ดีพอเข้ามาร่วมด้วย

ผมนั่งรอคุณหมอขึ้นไปตรวจคนป่วยบนบ้าน หลบไปนั่งสูบบุหรี่และแอบมองเด็กหนุ่มที่ง่วนอยู่กับรถใหม่เอี่ยมสีน้ำเงินสดที่โถงหลังบ้าน

เด็กหนุ่มชอบรถซิ่ง เขาว่าชอบเสียงของมัน และฟีลลิ่งตอนใบหน้าโต้ลมอยู่หลังเบาะ เขาเพิ่งถอยฮอนด้าเวฟ 125i สีน้ำเงินสดราคาห้าหมื่นนิดๆ มาไม่กี่วัน เขาจัดแจงถอดตะกร้าหน้า กระจกข้างไม่ใช่สิ่งปรารถนา เปลี่ยนท่อ รื้อล้อเดิมเอายางใหม่เล็กกว่ามาใส่แทน ใส่วาล์วไอดี คาบูเอ็นโปร ถอดดิสก์หลังโยนไปไว้ข้างฝาเพื่อลดน้ำหนักรถ ฯลฯ

“ไม่มีเบรกหลัง ไม่กลัวแหกโค้งเหรอ” ผมถาม

“กลัว แต่เบรกหน้าพอแล้ว เอาอยู่” เด็กหนุ่มสิบเก้าตอบด้วยคำไทยสำเนียงมลายูถิ่น

“เคยล้มหรือแหกโค้งไหม”

“ไม่เคย ผมแค่ชอบแต่งแต่ขับไม่เร็ว”

“ถ้าล้มเจ็บ จะไปทำแผลที่อนามัยหรือเปล่า”

เด็กหนุ่มชะงัก ส่ายหน้าแล้วยิ้มอย่างมีนัย

“ทำไมล่ะ”

“ในนั้นมีแต่ทหาร” เขาตอบ

สี่ปีก่อนพ่อของเด็กหนุ่มคนนี้ซึ่งเคยทำอาชีพรับจ้างเลื่อยไม้เกิดอาการสโตรกแล้วกลายเป็นอัมพาต เด็กหนุ่มสืบทอดอาชีพเลื่อยไม้ต่อจากพ่อ แต่ที่เขาหาทางออกไม่ได้คือ จะดูแลอาการพ่ออย่างไร ก็จัดการไปตามมีตามเกิดจนพ่อกลายเป็นคนไข้ติดเตียงและค่อยๆ ทรุดลง

ความจริงก่อนหน้านี้เคยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาช่วยทำกายภาพให้พ่ออยู่บ้าง แต่วันหนึ่งเมื่อสองปีก่อน จู่ๆ ไฟไหม้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ไม่ได้เยอะหรอก แค่ขอบๆ อาคารและดับทัน แต่หลังจากนั้นทหารก็ย้ายเข้ามาตั้งฐาน ชุมชนก็เหมือนต้องห่างออกไป เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือที่เขาเรียกว่าหมออนามัยก็เริ่มหายหน้า

ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของกองร้อยทหารพรานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งนั้น เช่นเดียวกับอีกหลายชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีฐานปฏิบัติการของทหารในโรงเรียน ในวัด ในสถานที่ราชการ วันดีคืนดีโจรถือปืนไปยิงใส่เจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธเสมอกัน แต่ข่าวออกว่าโจรยิงโรงเรียน ยิงใส่พระในวัด ยิงใส่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และประชาชนธรรมดาล้วนถูกลากออกมาแบ่งฝักฝ่าย พุทธ อิสลาม พวกคุณเป็นคนของรัฐหรือพวกโจร ฯลฯ

ไม่มีใครกล้าถามทหารที่ด่านว่า ทำไมมาตั้งฐานในสถานีอนามัยของหมู่บ้าน เพราะตัวทหารก็ไม่รู้จะตอบยังไง หรือถ้ารู้ก็ไม่ตอบคำถามชาวบ้านตัวเล็กๆ แต่คนถามคงหลับตานอนไม่สนิท ไปไหนมาไหนก็เสียวสันหลัง เพราะบางคำถามในประเทศนี้ ถามแล้วคนถามจะถูกผลักไสอยู่ขั้วตรงข้ามทันที ไม่มีการไตร่ตรองมองเจตนา

 

nandialogue

 

ผู้คนที่นี่จึงอยู่กันชาชินแบบนี้ มีคำถามอยู่ในใจแต่ไม่กล้าถาม จากคำถามก่อเกิดเป็นช่องว่างทางความรู้สึกแม้ทหารเหล่านั้นหลายคนจะพูดภาษาเดียวกับเขา เด็กหนุ่มก็เลี่ยงที่จะขับรถไปบนเส้นทางที่มีด่านตรวจอยู่หน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพราะเขาเองเคยถูกค้นตัวอย่างไม่สบอารมณ์เพราะถูกถ่ายบัตรประชาชนพร้อมใบหน้า แต่ไม่กล้าหืออือหรือตั้งคำถามตอบโต้ ตัวอย่างใดๆ เคยมีมาแล้วในหมู่บ้านไม่ไกลจากนี้ วัยรุ่นโดนจับเข้าไปสอบในค่าย แต่เขามีพ่อป่วยติดเตียงอยู่ในบ้าน คงไม่กล้าตั้งคำถามแลกกับอิสรภาพ

“ที่นี่ไม่มีเหตุมานานแล้ว นานมาก จริงๆ จนเขาประกาศยกเลิก พ.ร.ก.อำเภอเดียวของปัตตานี แต่พอมีการเผาอนามัย ฐานทหารมาตั้ง ก็เริ่มมามีเหตุการณ์ เดือนตุลาปีที่แล้วก็ระเบิดรถตำรวจ…” ชาวบ้านคนหนึ่งบอก

ไม่กี่เดือนก่อน เกิดเหตุเจ้าที่หน้าที่ปิดล้อมหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลจากนี่หลังสังหารคนร้ายแล้ว วัยรุ่นหลายร้อยชีวิตขี่มอเตอร์ไซค์เป็นขบวนไปร่วมละหมาดญะนาซะห์ (ละหมาดให้ผู้เสียชีวิตก่อนฝังศพ) ภาพถูกส่งออกไปตามโลกโซเชียล และทำให้พื้นที่ละแวกนี้บรรยากาศกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง จึงเห็นเจ้าหน้าที่ลุกขึ้นแต่งตัวเต็มยศสะพายปืนออกมายืนจังก้าตามด่านทุกวัน เน้นตรวจบัตรประชาชนและถ่ายรูปกลุ่มวัยรุ่น แสดงให้เห็นว่าคนพื้นที่คิดแบบหนึ่ง รัฐคิดอีกแบบหนึ่ง เหมือนเดิม

การดำรงอยู่ของบางอำนาจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ก็ชวนให้ถามกลับไปเช่นกันว่า 17 ปีแล้ว จะวนลูปปัญหาเช่นนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน

 

ค่ำคืน 14 ตุลาคม 2020 ผมเข้าไปยืนอยู่กลางฝูงชนหลายพันชีวิตที่เคลื่อนไปถึงแยกมิสกวัน เจอกับรั้วเหล็กของทหารใส่เสื้อเหลืองที่วางเป็นแนวกั้นไม่ให้มวลชนเคลื่อนผ่านไปทางกองทัพภาคที่ 1 พระบรมรูปทรงม้า และพระที่นั่งอนันตสมาคม ลานพระราชวังดุสิต

ชายหนุ่มผิวขาวร่างท้วมคนหนึ่งขึ้นไปยืนบนรถกระจายเสียงท่ามกลางแสงสลัวของไฟถนน และเริ่มปราศรัยเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว ไผ่ ดาวดิน และเพื่อนที่ถูกควบคุมตัวไปก่อนหน้านั้น ก่อนตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของอำนาจตุลาการและสถาบันกษัตริย์ท่ามกลางโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชน

คำถามอันเฉียบคมของ อานนท์ นำภา ก่อนหน้านั้นเขาเคยสวมชุดครุยขึ้นปราศรัย ‘เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย’ และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นครั้งแรกมาแล้วเมื่อ 3 สิงหาคม 2020 แต่ถูกตอบโต้กลับด้วยปฏิกิริยารุนแรงของบรรดาอุลตร้ารอยัลลิสต์และลิ่วล้อรัฐบาล

เมื่อเรียกร้องไม่ได้ ทนายอานนท์ก็ตั้งคำถาม

อย่างที่เรารู้ว่าท้ายที่สุดทนายอานนท์ ,เพนกวิน ,ไผ่ ดาวดิน ,ไมค์ ระยอง ถูกคุมขังและถูกศาลปฏิเสธให้ประกันตัวคดีแล้วคดีเล่ากระทั่งถูกจองจำมายาวนาน แต่คำถามของทนายอานนท์ในค่ำคืน 14 ตุลาคม 2020 นั้นกำลังเดินหน้าต่อไป จากคนที่พัน คนที่หมื่น คนที่แสน หรือคนที่ล้าน รวมถึงคนหนุ่มสาวและเด็กรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต มันถูกกระจายไปไกลแสนไหลทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบางคำถามไม่ได้ต้องการคำตอบเสมอไป และแน่นอนว่าบางคำถามก็ต้องแลกกับอิสรภาพของคนกล้าที่ลุกขึ้นมาถาม

แต่เราต้องไม่ลืมว่า ความสงสัยและคำถามเท่านั้นที่พามนุษยชาติมาไกลถึงเพียงนี้

จะวนลูปปัญหาอีกนานแค่ไหน จะดำรงอยู่กันอย่างไร ภายใต้คำถามและความคิดที่ต่างไปอีกแบบ ไม่ว่าที่ชายแดนใต้หรือที่ไหนในประเทศ.

 

 

nandialogue

 

essay : บทสนทนาในประเทศไม่ปกติ 


เกี่ยวกับนักเขียน : ณรรธราวุธ เมืองสุข เป็นคนกระบี่ เข้ามาเรียนปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ จบแล้วประกอบอาชีพนักข่าว จากมีค่ายยาวนาน ถึงวันโลดแล่นฟรีแลนซ์อิสระ ปัจจุบันเป็นคนผลิตสารคดีโทรทัศน์ และนักวิจารณ์สังคมการเมือง

You may also like...