nandialogue books
the book

‘ปรัชญาเกรียน’ รากเหง้าและเงาสีแดงของผู้สร้าง ‘สมบัติทัวร์’

1 สิงหาคมที่ผ่านมา มี Car Mob ครั้งสำคัญ ทั้งใจกลางกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศที่ประกาศจุดยืน แสดงเจตนารมณ์ร่วม ‘ไล่ประยุทธ์’

จนถึงนาทีนี้ ปรากฏการณ์ม็อบรูปแบบใหม่ล่าสุดดังกล่าวยังคงแพร่ลาม ผลิบานมากขึ้นๆ

เป็นที่รับรู้กัน ว่าไอเดียต้นทางหรือแกนนำวาระนี้คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่เขาคิดแคมเปญยั่วล้อว่า ‘สมบัติทัวร์’ ซึ่งได้ผลและจุดติดเหมือนกับเมื่อสิบปีก่อนที่เขาทำ ‘วันอาทิตย์สีแดง’ และ red around the world

 

สำหรับผม บ.ก. ลายจุด, หนูหริ่ง หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็น ‘แดงสายพิราบ’ ที่มีคุณูปการสูงอย่างยิ่งในช่วงหลังการล้อมปราบคนเสื้อแดง เมื่อเดือนเมษาฯ พฤษภาฯ 2553 เพราะเขาอย่างแท้จริง ความคับแค้นท่วมหัวใจของคนเรือนแสนเรือนล้านจึงค่อยทุเลา คลี่คลาย และย้ายสมรภูมิจากใต้ดิน สู่การแสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผย ‘บนดิน’

 

ความโกรธแค้นไม่ได้สูญหาย แต่คล้ายมันมีที่ปลดปล่อยระบาย

อดทน เล่นตามเกม และยืนในที่แจ้ง

 

ไม่ง่ายนะครับ ทั้งกับตนเองในฐานะเสรีชนที่เป็นผู้ถูกกระทำ และยิ่งไม่ง่าย กับบทบาท ‘นักกอบกู้’ ที่แม้ตนเองบาดเจ็บ แต่ยังแข็งแกร่ง แข็งใจยื่นมือไปโอบประคองมิตรสหายร่วมรบซึ่งนอนซมจมกองเลือดให้ลุกขึ้นยืน เช็ดน้ำตา และรักษาความชอบธรรมไว้ในฐานะประชาชนที่ยืนยันในหลักสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย

 

sombut ภาพ: ธิติ มีแต้ม 

“จำไม่ได้ว่า ชีวิตนี้ผ่านการรัฐประหารกี่ครั้ง จำได้เพียงว่า เข้าร่วมต่อต้านรัฐประหารมา 3 ครั้ง ครั้งแรก 23 ก.พ. 34 ของคณะ รสช.
ครั้งที่สอง 19 ก.ย. 49 คปค. ต่อมาเรียก คมช. ครั้งที่สาม 22 พ.ค. 57 นำโดยพลเอกประยุทธ์ ไม่เคยคิดหรือวางแผนว่าต้องทำอะไร รู้แต่เพียงว่าผมไม่สามารถนิ่งเฉยต่อการล้มล้างการปกครองแบบนี้ได้ ไม่เคยคิดว่าจะต่อต้านสำเร็จ แต่ทำเพราะต้องตอบคำถามตนเองในอนาคตว่า ณ วันเวลาเหล่านั้น เราได้มีท่าทีต่อเหตุการณ์รัฐประหารอย่างไร ประชาธิปไตยเป็นคุณค่าของชีวิต เพราะมันให้ลมหายใจ ให้เสรีภาพ ให้สถานะของคนตัวเล็กๆ อย่างเรามีที่ยืนเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน หนทางยาวไกล จงต่อสู้ด้วยความเบิกบาน”

 

ข้อความในเครื่องหมายคำพูดนี้เป็นของ สมบัติ บุญงามอนงค์

ธิติ มีแต้ม ลอกมาจากเฟซบุ๊กสมบัติ คัดสรรและเทวางไว้ในหนังสือ ‘ปรัชญาเกรียน’

นี่ก็ใช่

“ในสังคมเผด็จการ ความสงบหมายถึงความเงียบ เชื่อฟัง คิดเหมือนผู้นำ

ในสังคมประชาธิปไตย ความสงบหมายถึงทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ มีความยุติธรรม”

 

เช่นเดียวกับข้อความนี้ “เมื่อความกลัวอยู่เหนือความถูกต้อง เราจะนิ่งเฉย เงียบสงบ
เมื่อความถูกต้องอยู่เหนือความกลัว เราจะลุกขึ้นยืนแล้วบอกว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง แล้วความกลัวจะสงบลง”

 

สมบัติเขียนไว้ในเฟซบุ๊กของเขา ธิติเลือกลอกความคิดบางอย่างมาเรียบเรียง จัดวาง สัมภาษณ์และเขียนเล่าเรื่อง จนสำเร็จออกมาเป็นรูปเล่มหนังสือ ‘ปรัชญาเกรียน’

การเลือกลอกบางข้อมูลเก่า สัมภาษณ์ และถอดเทปมาเขียนนี่เอง ที่ชี้วัดและบ่งบอกฝีมือนักสื่อสารมวลชน ว่าอ่อนหรือแข็ง แม่นยำหรือหลงประเด็น บอกเล่าแล้วผู้อ่านมองเห็น ‘ตัวละคร’ ทะลุปรุโปร่งหรือเปล่า

 

สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นคนมีชื่อเสียงในสังคมไทยที่ถูกสัมภาษณ์มามาก

เช่นเดียวกับผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดอื่นๆ ถ้อยคำและความคิดของเขาอาจเป็นคนละโลกเลย เมื่ออยู่ในมือ ในงาน ของนักสื่อสารแต่ละคน

 

สมบัติคนเดิม คิดและเชื่อแบบเดิม แต่หากสื่อมวลชนไม่ถามจี้จุดนั้น เขาอาจไม่มีโอกาสได้บอกเล่า หรือถามแล้ว เล่าแล้ว แต่โชคร้าย สื่อรายนั้นหูหนวก ไม่ได้ยิน ปล่อยผ่าน เรื่องเล่านั้นก็เลือนละลาย ส่งไม่ถึงผู้รับสาร

โลกนี้มันมีกระทั่งสื่อหูดี แต่นิสัยเลว ผู้ให้สัมภาษณ์พูดอย่างหนึ่ง ดันบิดเบือนเอาไปเขียนอีกอย่างหนึ่ง ต่อกรณีนี้ สังคมการอ่านการเขียนของเราจึงยังไม่ได้อยู่ในวันเวลาที่น่าชื่นชมนัก เปื้อนเปรอะ รุงรัง เดินทางอ้อม และความจริงเป็นสิ่งที่อยู่ไกล

 

โดยสถานะ หนังสือหนาแค่ 140 กว่าหน้าเล่มนี้เป็นงานสัมภาษณ์ และตัวละครอย่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ ก็น่าสนใจอย่างไม่ต้องสงสัย

เราต้องเข้าใจร่วมกันก่อนว่า บางความคิด บางถ้อยคำ มันไม่ได้ลอยออกมาเอง จู่ๆ ก็เคลื่อนหล่นลงจากฟ้า แปรรูปมาเป็นตัวหนังสือ แต่มันเกิดจากการทำการบ้าน หาข้อมูล หาแง่มุม โต้เถียง จดจ่อรอคอย ซักถาม และฟังๆๆๆ ด้วยสติสมาธิที่วอกแวกอ่อนแอไม่ได้เลย
กล่าวให้สั้นและโหดกว่านั้น ถ้าไม่มีคนถาม บางเรื่องเล่าและความคิดดีๆ มันก็จะไม่มีตัวตนอยู่ในโลก

ถ้าไม่มีคนไปถาม ผู้ให้สัมภาษณ์เองก็อาจจะคิดไม่ได้ ไม่เคยคิด ไม่เคยทบทวนพิจารณา

 

ประเด็นก็คือผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง คือธิติ มีแต้ม ทำหน้าที่ของตัวเองได้แค่ไหน

ขุด คัด จัดวาง เอารากเหง้าและเงาสีแดงออกมาได้ครบถ้วนอิ่มเอมหรือไม่

 

เราลองไปดูการงานของเขาด้วยกัน

 

“หลายคนมองว่าผมมีบุคลิกที่กวนตีน ดูมีสีสัน แต่จริงๆ ผมเป็นคนไม่กวนตีนนะ ผมไม่ใช่ ผมเป็นคนที่แสดงออกว่ากวนตีนเมื่อผม   เพอร์ฟอร์ม ถ้าไม่เพอร์ฟอร์ม ผมเป็นคนน่าเบื่อมาก จริงๆ ผมไม่มีอะไรเลย เป็นคนเชย น่าเบื่อ เซ็งๆ แต่ที่รู้สึกว่าผมมีสีสัน หรือมีของ มันเริ่มมาจากผมเข้าสู่วงการเอ็นจีโอ จากการเป็นอาสาสมัครการละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน มันเป็นโครงการที่ใช้กระบวนการในการพัฒนาคน เพียงแต่ว่าผมใช้ละครเป็นเครื่องมือในการที่จะสื่อสาร หรือเปลี่ยนแปลงทางสังคม”

 

“ผมอยากจะใช้คำว่ามันสร้างระบบคิดและจิตวิญญาณ เวลาคุณจะทำละครเรื่องหนึ่ง คุณต้องพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ก่อนว่ามันคืออะไร เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้สังคม มันถึงจะเข้าใจตัวละครได้ เป็นเครื่องมือสำคัญ ละครมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์”

 

“ผมได้เริ่มเรียนรู้ผ่านการทำละคร มันเปลี่ยนจากคำว่าเรียนหนังสือเป็นเรียนรู้ ผมตรงข้ามกับเนติวิทย์ (โชติภัทร์ไพศาล) หรือเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) นั่นมันเด็กฉลาด ที่เรียนไปแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมามันกระจอก แต่ผมไม่มีความรู้เลย ผมไม่เคยเข้าเรียนเลย ผมเข้าโรงเรียนด้วยการปีนเข้าโรงเรียน แล้วก็ปีนออกจากโรงเรียน ผมเข้าโรงเรียนแบบนี้ทุกวันเพราะผมมาสาย เด็กแบบเนติวิทย์คือพยายามไปปรับเปลี่ยนในระบบ แต่วันนี้ผมตกผลึกว่าคนแบบผมไม่ใช่การปรับเปลี่ยนระบบ มันคือการจุดพลังการเรียนรู้ภายใน คือถ้าปรับให้ระบบมันเอื้อในการสนับสนุนการเรียนรู้ก็โอเค

“แต่ถ้าคนมันมีพลังภายใน ต่อให้คุณไม่มีโรงเรียน คุณยังมีอินเทอร์เน็ต เพราะการเรียนรู้มันเริ่มที่คุณอยากจะรู้ก่อน ต่อให้ความรู้แม่งยากยังไง พอคุณอยากจะรู้ วันหนึ่งคุณมีโอกาส คุณจะคว้ามัน แล้วมันจะพัฒนาการเรียนรู้ของคุณไปเรื่อยๆ ต่อให้เป็นเรื่องที่โคตรยาก แต่ถ้าคุณอยากจะรู้ ถ้าคุณยังรักษาพลังงานความอยากรู้คุณได้ นี่แหละคือกุญแจแห่งการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง”

 

“ผมเคยผ่านช่วงเวลาการสื่อสารแบบแรงๆ แล้วไม่เวิร์ก เช่น ตอนปี 2535 ผมขึ้นเวทีที่หน้ารัฐสภา ผมด่าแม่ พล.อ.สุจินดา (คราประยูร) ออกลำโพงเลย พี่ที่เป็นโฆษกบอกว่า ต่อไปนี้เด็กคนนี้ห้ามขึ้นเวที”

 

“สังคมประชาธิปไตย คุณเปลี่ยนผ่านไม่ได้หรอก ถ้าคุณไม่เปลี่ยนผ่านความรู้หรือทัศนะ ซึ่งมันอาศัยแค่เชิงปริมาณไม่ได้ มันเหมือนน้ำเดือดแค่นั้นเอง แต่ความหมายของความรู้มันคือการสะสมอุณหภูมิน้ำทีละองศาต่างหาก ดังนั้น คุณต้องคิดเรื่องการศึกษาอุณหภูมิน้ำทีละองศา คุณต้องเปลี่ยน มันคือการปฏิวัติวัฒนธรรม

“ไม่ใช่แค่เรื่อง คสช. อยู่ ไม่อยู่ ซึ่งผมโอเค ถ้าคุณมองออกว่า คสช. เป็นปัญหา แต่ถ้าเมื่อไรคุณเข้าใจว่าการปลูกต้นไม้แล้วมัวแต่ดูว่ากิ่งก้านมันเป็นอย่างไร แต่ไม่ดูดินเลย แบบนี้อาจไปไม่รอด แล้วมันจะดูดอะไรขึ้นไปเลี้ยงต้นเลี้ยงใบ ก็ต้องกลับมาที่รากฐาน ถ้าดินคุณดีนะ ไอ้ใบหงิกใบงอมันฟื้นตัวได้ แต่ถ้าดินเสียหรือมีแบคทีเรียเข้าไปกัดรากเมื่อไหร่นะ เน่าตาย”

 

nandialoguebooks

 

หนังสือปรัชญาเกรียน แบ่งภาคเป็น ‘ก่อนเกรียน’ ‘เกรียนเอกชน’

และนี่เป็นอีกบางส่วนจาก ‘เกรียนเผด็จการ’

“เหตุการณ์ปี 2553 ผมโกรธ ผมป่วย มันเหี้ยมจริงๆ การไล่ฆ่ากันมันเกินไป มันไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมือง แต่เป็นความสกปรกทางการเมือง ถ้าคุณจะเล่นกันทางกฎหมาย ผมรู้สึกยังพอรับได้ หรือจะใช้คำบิดเบือนใส่ร้ายยังทนได้ ที่น่าสะอิดสะเอียนที่สุดคือการอ้างความดีเพื่อกระทำกับอีกฝ่าย อ้างธรรมาธิปไตยส้นตีน คุณไม่ได้เชื่อเรื่องความดี ถ้าความดีของคุณคือการเชียร์ให้มีการไล่ฆ่ากัน ผมรับไม่ได้ แบบนี้เหี้ยเกินไป”

 

“หลายคนคิดว่าคดีความทางการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว จริงๆ แล้วใกล้ตัวเรามาก สังคมไทยวันนี้พร้อมที่จะปิดหูปิดตา ปิดทวารทั้ง 5 โสตประสาททั้งหมดไม่รับรู้ ปัญหาเกี่ยวกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักโทษทางความคิด เมื่อก่อนผมเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมคนไทยที่มีความเข้าใจว่า คนไทยมีจิตใจโอบอ้อมอารี แล้วเหตุใดความโอบอ้อมอารีเหล่านี้ถึงไม่สามารถสัมผัสหรือแตะต้องได้ ปัญหาที่มีคนจำนวนหนึ่งถูกกระทำอย่างอยุติธรรม ด้วยเหตุผลเพียงเพราะเขามีความคิดที่แตกต่างทางการเมือง แต่เป็นความคิดที่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่พวกเขาถูกสร้างภาพให้ถูกเกลียดชังถึงขั้นฆ่าแกงได้”

 

“ปัญหาการเมือง 10 ปีที่ผ่านมาทำให้คนเพี้ยน มันทำลายระบบสมอง ผมงงนิดหน่อย เช่น เวลามีเหตุการณ์ระเบิด มันจะฟันธงง่ายๆ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่กล้าฟันธง ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ว่าอะไรถูกต้อง มันหายสาบสูญไปตั้งแต่ตอนน้ำท่วมปี 2554 หรือเปล่า แล้วที่มักง่ายที่สุดคือการโยนให้เสื้อแดง ผมว่ามันทุเรศ”

 

“ผมเคยคุยกับเพนกวิน เรื่องการสอนวิชาปรัชญาในระดับมัธยมฯ ปรัชญาคือตัวแอนตี้ไวรัสที่ดีที่สุด ถ้าระบบคิดคุณเป็นเหตุเป็นผล การโน้มน้าวหรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เราเป็นซอมบี้ ผมเชื่อว่าเราจะติดไวรัสยาก ผมสังเกตว่ามีคนจำนวนหนึ่งผลิตไวรัสความคิด ผลิตคำสั่งไวรัสออกมา คนอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ คนอย่างชัย ราชวัตร หรือเปลว สีเงิน มีอีกหลายคนที่ผลิตความคิดบางอย่างออกมา ผมไม่ติดเรื่องตัวบุคคล แต่ประเด็นผมสนใจว่าคนพวกนี้ผลิตความคิดอะไรออกมา แล้วทำให้คนกลายเป็นซอมบี้

 

“สังเกตไหม คนพวกนี้ผลิตความคิดออกมาป้อนสังคม เช่น ช่วงร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ผมขนลุกมาก มันคือความคิดที่บอกว่าถ้านักการเมืองไม่เอา ถ้านักการเมืองบอกว่าสิ่งนี้ไม่ดี แสดงว่าสิ่งนี้ดี นี่คือเขาคิดแล้วนะ เขาคิดว่ามันเป็นชุดความคิดที่ดี เป็นตรรกะประเสริฐ แล้วความคิดนี้ระบาดไวมาก คนติดไวรัสความคิดนี้อย่างกว้างขวาง ไม่น่าเชื่อนะ

 

“เหมือนที่ผมเคยบอก ถ้านักการเมืองกินข้าว แล้วคุณไม่เห็นด้วยกับนักการเมือง คุณต้องไม่กินข้าวใช่มั้ย หรือไม่คุณก็ต้องไปกินขี้ มันเป็นตรรกะที่ใช้ไม่ได้ แต่ซอมบี้จะไม่ใช้เหตุผล ผมไม่ได้กล่าวประณามประชาชนนะ เขาไม่มีความผิด แต่คุณสังเกตในหนังมั้ย ซอมบี้ไม่ผ่านกระบวนการทางความคิดเลย ผมขอชี้เป้าว่านี่คือใจกลางปัญหา

 

“ถ้าคุณจะเปลี่ยนประเทศนี้ คุณต้องพุ่งตรงไปที่ใจกลางที่ผลิตความคิดเหล่านี้ ด้วยการแสดงความคิดเห็นทลายตรรกะนั้นให้ได้ ด้วยการชี้ อธิบาย ทำลายทีละเปราะ เราต้องหักล้างความคิดเหล่านั้นออกให้หมด ตอนนี้เราวนอยู่ในอ่าง วนอยู่ในวิกฤติ ไม่ไปไหนสักที แต่ผมอาจจะโลกสวยนะ ผมมองว่าเหลืองสร้างแดง แดงสร้างสลิ่ม เราเป็นผลผลิตของกันและกัน เราผลิตศัตรู ถ้าผมเป็นมนุษย์ต่างดาว ผมคงบอกว่าพวกนี้แม่งสมรู้ร่วมคิดกัน ดังนั้น เราต้องไม่ผลิตศัตรู ตีวงให้แคบลง สร้างแนวร่วมไว้ การสร้างศัตรูไว้มหาศาลมันไม่คุ้ม”

 

nandilogue books

 

ส่วนข้อความนี้ตัดทอนมาจากบทสุดท้ายที่ใช้ชื่อว่า ‘เกรียนการเมือง’

“จุดอ่อนของขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยตอนนี้คือ มันด่าแต่เผด็จการ อำมาตย์ มันไม่สร้างประชาธิปไตย มันพูดประหนึ่งว่าถ้าโค่นล้มเผด็จการหรืออำมาตย์ได้แล้ว จะเกิดประชาธิปไตย แต่ไม่จริง มันมีผลบ้าง แต่มันไม่เกิด คุณต้องสร้างประชาธิปไตย มันต้องเกิดจากการสร้าง อีกอย่างถ้าเห็นว่าอำมาตย์มันไม่อารยะ เราควรจะอารยะกว่ามัน

“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องการสิ่งที่ก้าวหน้ามากกว่านี้ แค่นี้ยังไม่พอ สังคมไทยตอนนี้ไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยแบบตัวแทนเท่านั้น เรามาถึงยุคที่ต้องการประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม ก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพกว่า ประชาธิปไตยที่ฟัง ให้เกียรติ ไม่มูมมาม นี่คือสิ่งที่จะพาเราออกจากความขัดแย้งเดิม”

 

ทั้งหมดนี้คือคำพูดของ สมบัติ บุญงามอนงค์ โดย ธิติ มีแต้ม เป็นคนซักถามและจดบันทึก

Shine Publishing House พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2561

ผมจงใจลอกมาเล่า เพื่อชี้เป้าให้คุณไปหาอ่านต่อ.

nandialogue

 

ปล. บางบรรทัดใน ‘ปรัชญาเกรียน’ เขียนว่า

“ผมไม่เห็นประโยชน์อะไรสำหรับคนอ่านเรื่องของผม เพราะผมใช้เฟซบุ๊กสื่อสารอยู่แล้ว ..ทำไมเราถึงอ่านหนังสือ เพราะมันเหมือนได้คุยกับปราชญ์ที่อยู่ไกล หรือตายไปแล้ว แต่นี่กูเกิดไม่ทัน ก็ต้องพึ่งหนังสือ หนังสือมันทำหน้าที่นี้

“การอ่านหนังสือคือการได้คุยกับมหาบุรุษ หนังสือสมัยก่อนเป็นแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้ก็เปิดดูยูทูบได้หมดแล้ว”

นั่นเป็นความเห็นของ สมบัติ บุญงามอนงค์

ก็เรื่องของสมบัติ

ส่วนผมคิดว่า เฟซบุ๊ก ก็ดี ยูทูบ ก็ดี มันต่างทำหน้าที่อย่างหนึ่ง และเช่นกัน, หนังสือก็ทำอีกหน้าที่หนึ่งซึ่งไม่สำคัญว่า ‘สาร’ นั้นจะออกมาจากปากมหาบุรุษหรือไม่ เป็นปราชญ์หรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่แบบหนึ่ง ชาวไร่ชาวนา ตำรวจ ทหาร นักการเงิน หรือกวีศิลปิน ก็มีการงานของตัวเองในอีกแบบหนึ่ง มันคงไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปง่ายๆ ว่าปราชญ์เท่านั้นสมควรอยู่ในหนังสือ (เอาผมคนเดียวก่อนก็ได้ ผมเห็นว่าสมบัติคือนักคิด) โจรก็อยู่ในหนังสือได้ ตัวตลกก็อยู่ได้ มันอยู่ที่ฝีมือและชั้นเชิงคนคิด คนเขียน คนจัดพิมพ์
แน่นอนว่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องพระหรอกที่อ่านแล้วได้ประโยชน์ ดีไม่ดี อ่านเรื่องโจรแล้วอาจได้ประโยชน์มากกว่า

ส่วนเรื่องรูปธรรมในสถานะของหนังสือนั้น มันเป็นรสนิยม (เช่น ผมผู้เป็นมนุษย์ที่หลงใหลรสสัมผัส) ความคุ้นเคย ความพอดี กระทั่งเงื่อนไขบางสถานการณ์ เช่น เราอาจไม่มีไฟฟ้าหรืออินเทอร์เน็ตที่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา บางสถานที่ซึ่งไม่เอื้อกับเครื่องไม้เครื่องมือแห่งยุคสมัย ริมลำธารในหุบเขาป่าเปลี่ยว เพียงแสงสลัวของเปลวเทียนเล่มน้อย เราก็นอนอ่านหนังสือได้
เช่นที่ผมกำลังทำกับ ‘ปรัชญาเกรียน’ อยู่ตอนนี้

 

เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์

You may also like...