1
รชา พรมภวังค์ คือใคร ?
จากประวัติผู้เขียนท้ายเล่ม เขาเป็นคนกรุงเทพมหานคร เกิดปี 1973 เรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พร้อมทำกิจกรรมนักศึกษาในนามกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อปริญญาโทมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มหัดเขียนบทกวีตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย
2
จากผู้เขียนในตอนต้นเล่ม แต่เดิมผู้เขียนใช้นามปากกาว่า รชา ส่วนคำว่า พรมภวังค์ ได้ วาด รวี เป็นคนตั้งเติมให้
“นึกไปถึงงานชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ก็เป็น เป้-วาด รวี นี่แหละที่คะยั้นคะยอแกมบังคับให้พิมพ์ต้นฉบับมา แล้วมันจะส่งไปมติชนสุดฯ ให้”
หัดอ่าน, หัดเขียน, ช่วยตั้งนามปากกา, ช่วยส่งต้นฉบับ, ช่วยวิจารณ์ชิ้นงาน ฯลฯ ตั้งแต่งานชิ้นแรกลงนิตยสาร จนตีพิมพ์รวมเล่ม
“คงไม่ใช่คำกล่าวเกินเลยหากบอกว่าตัวตนของ รชา พรมภวังค์ ที่เป็นคนเขียนบทกวี เป็นตัวตนที่ วาด รวี มีส่วนสร้างขึ้น”–จากผู้เขียน
3
วิกาลของลิงที่มาก่อน (2022) เป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มที่ 3 ของ รชา พรมภวังค์ ถัดจาก ‘พันธกาล’ (2014) และ ‘ย่ำรุ่งอันยาวนาน’ (2019)
คำอุทิศ–แด่…วาด รวี
4
‘ย่ำรุ่งอันยาวนาน’ และ ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ คือสองเล่มที่ฉันได้อ่าน (จะตามอ่าน ‘พันธกาล’ ภายหลัง) สิ่งที่ฉันชื่นชอบในบทกวีของ รชา พรมภวังค์ คงเป็นกลิ่นบางอย่างในความเป็น รชา พรมภวังค์–จริตบางอย่างในบทกวีของเขา ถูกจริตกับการอ่านของฉัน
ฉันทลักษณ์และกลอนเปล่าของรชาเรียบง่าย จังหวะของรชาเรียบง่าย การเลือกใช้คำของรชาเรียบง่าย ไม่หวือหวา ทว่าตรงไปตรงมา ความรู้สึกของฉันตอนที่อ่านบทกวีของเขา จึงเหมือนการได้ฟังเพื่อนคนหนึ่งบอกเล่าเรื่องราว ความคิด อุดมการณ์ –เพื่อนคนหนึ่งสู่เพื่อนคนหนึ่ง ด้วยความคิดคนเท่ากัน มิใช่บทกวีที่ชี้นิ้วสวมชฎาเทศนาสั่งสอน
ฉันเหมือน 14 อีกครั้ง
หัวใจไร้กรงขังเหมือนวัยเด็ก
เมื่อสายลมพัดเกสรดอกเล็กๆ
แต่หัวใจแกร่งเหมือนเหล็กฟุ้งกระจาย
ฉันกลับมากล้าอีกครั้ง
ที่เคยหลับก็กลับหวังมีความหมาย
เมื่อรู้ว่าฉันจะไม่เดินเดียวดาย
บนเส้นทางดอกไม้แห่งเสรี
คารวะทุกเกสรทุกดอกไม้
ซึ่งส่งต่อความท้าทายไปทุกที่
พัดปลิวตกทุกผืนน้ำสายนที
ไปแต่งแต้มเติมสีทั่วแผ่นดิน
(14 อีกครั้ง)
และด้วยการอ่านอีกรอบฉันจึงพบว่า เป็นความตั้งใจของบรรณาธิการ ประกาย ปรัชญา การเรียงตัวของบทกวีในเล่มเป็นไปตามวันเวลา ฉันจึงได้เห็นว่า เหตุการณ์ใดที่กระทบจิตใจของผู้เขียนจนระเบิดระบายออกมาเป็นบทกวี ราวกับการได้อ่านไดอารี่ของใครคนหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนเอาไว้ (เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎรที่สูญหาย, วาระ 7 ปีการจากไปของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที, การปะทะที่สามเหลี่ยมดินแดง ฯลฯ)
5
นิสัยหนึ่งของฉันเวลาอ่านหนังสือคือต้องมีสมุดโน้ต / กระดาษและดินสอไว้ใกล้มือเสมอ
เพื่อว่าเวลาอ่านเจอสิ่งที่ถูกใจ เจอความคิดอะไรที่น่านำไปคิดต่อ ฉันจะจดบันทึกเอาไว้ บ้างบางทีก็จดไว้เป็นเลขหน้า บ้างบางทีก็จดไว้เป็นชื่อบท ฉันพบว่าตอนที่ฉันอ่าน ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ ฉันจดทดไว้เยอะมากทีเดียว (สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าชอบทั้งเล่ม)
ราษฎรทั้งหลาย, ฉากจบของนิทานหลอกเด็ก, ข้าแต่พระราชา, เราหมดศรัทธาแล้ว, การมาถึงของฤดูร้อน, เด็กหญิงโบว์ขาวกลางแยกราชประสงค์, น้ำตาที่ต่างกัน ฯลฯ มีบทกวีหลายบทที่ฉันอยากหยิบยกมาพูดถึง
บท ‘สามัญสำนึก’ นั้นฉันก็ชอบ บท ‘เรื่องเดียวกัน’ นั้นฉันก็ชอบ บทกวีหลายบทคือหมัดตรงที่พุ่งเข้าปลายคาง
หากราชประสงค์ให้ลงกราบ
ขอยืนยันให้ทราบว่าเราไม่
ถึงสี่แยกก็เดินแยกแตกทางไป
ศักดินาหรือไพร่ใครยืนยง
ราษฎรประชาชนคนสามัญ
ขออนุญาตดึงดันขัดราชประสงค์
อุดมการณ์คนเท่าเทียมขอปักธง!
ต่อจากนี้จะยืนตรงนิรันดร
(ขัดราชประสงค์)
6
ความเห็นของคุณแจ่มชัด แต่มันแห้งแล้ง
ความรักของคุณสูงส่ง แต่มันเย็นชา
จิตใจของคุณสะอาด แต่มันว่างเปล่า
เกียรติยศของคุณล้ำค่า แต่มันเงียบงัน
ความคิดเราอึงอล
เราส่งเสียง
เราหิวโหย ดิ้นรนและปรารถนา
เราชุ่มฉ่ำ เปรอะเปื้อน
เราต่างหากที่ถูกจดจำ
สิ่งที่คงอยู่
ไม่ใช่เครื่องประดับในหลุมฝังศพ
แต่คือตัวหนอนที่แทะซากศพของพระองค์
เราแทรกตัวอยู่ในอณูอากาศที่คุณหายใจ
เราอยู่มาตลอด
คุณต่างหากที่จะถูกลืม
บทกวีบทนี้ชื่อ ‘เราและคุณ’ ยกตัวอย่างบทนี้ขึ้นอีกบทเพราะอ่านแล้วถูกใจ ทำให้ฉันนึกนึกถึงบทกวีชื่อ ‘ขบถ’ ของ ไม้หนึ่ง ก. กุนที บรรทัดสุดท้ายของขบถเขียนไว้ว่า “เราไม่เคยสูญสลาย”
7
หน้าปกของหนังสือ ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ มีดวงจันทร์, ดวงดาว, มคลื่น, เกาะ, และลิงหนึ่งตัวที่มีมงกุฎเส้นประอยู่บนหัว..
มงกุฎสมมติ เจ้าลิงเอย, วิกาลแล้ว เจ้าลิงเอย.
เรื่องโดย กัญชญา อิสรวิถี
ปล. 1 อยากให้คุณอ่านจริงๆ บทกวีชื่อ ‘เรื่องเดียวกัน’ และ ‘สามัญสำนึก’ ตัดเรื่องของการเมืองไปเลยก็ได้ สองบทนี้ใช้สามัญสำนึกอ่าน ใช้ความเป็นมนุษย์อ่าน
ปล. 2 บท ‘ชายผู้น่าสงสาร’ ก็น่าสงสารจริงๆ นะ หัวใจของผมน้ำตาซึมด้วยความเห็นใจ.