1
อาย ชั่งใจอยู่นานว่าจะพูดดีไหม มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องโอ้อวด แต่ก็อยากบันทึกไว้ด้วยความภาคภูมิใจว่า ผมอ่าน ‘ต้องเนรเทศ’ ของ วัฒน์ วรรลยางกูร จบไปแล้วสองรอบ
ภูมิใจ เหมือนได้พิชิตภูเขาใหญ่สูงชัน ขรุขระ เต็มไปด้วยอันตราย ถ้าเปรียบว่ามันคือหนังสือปกแข็ง หนาแปดร้อยหน้า เนื้อหาเข้มข้นครบรส
ภูมิใจ เหมือนได้ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา แสดงความเคารพต่อคนจริง เสรีชนผู้ยิ่งยง และนักเขียนในดวงใจ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวชีวิต อุดมการณ์ และการต่อสู้ที่ยิ่งกว่านิยายของเจ้าของหนังสือเล่มนี้
ไม่รัก ไม่เคารพ ใครมันจะบ้าอ่านสองรอบ ในชั่วเวลาแค่ไม่กี่เดือน
2
‘ต้องเนรเทศ’ ( Seven Years in Exile) ของ วัฒน์ วรรลยางกูร สำนักพิมพ์อ่าน ถูกยกให้ติดอันดับ ‘หนังสือแห่งปี’ ของสื่อออนไลน์หลายสำนักและในหัวใจของใครหลายคน ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์
มันเป็นงานชิ้นสุดท้ายของเขา (เอาจริงๆ ยังเขียนไม่จบดีด้วยซ้ำ เจ้าตัวมาด่วนจากไปก่อน) ทว่ากลับเป็นงาน ‘มาสเตอร์พีซ’ ในสายตาของผม
มาสเตอร์พีซอย่างไร ?
รู้กันในหมู่แฟนหนังสือวัฒน์ว่า นักเขียนคนนี้เขียนได้หลากหลายเหลือเกิน ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดี บทเพลง บทหนัง บทละคร แถมยังหลากหลายแนว ตั้งแต่การเมือง โรแมนติกคอมเมดี้ อุดมคติและความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวยุคเดือนตุลาฯ ยันวิถีชีวิตชนบท ท้องทุ่ง สายน้ำ
ภาษาของเขาง่าย งาม พลิกพลิ้วไหลลื่นราวกับร่ายมนต์ บางครั้งเสกให้ฮึกเหิมอยากจับปืนสู้ บางคราวเสกให้หัวเราะท้องคัดท้องแข็งเหมือนคนบ้า เสกให้โศกเศร้าน้ำตาซึม หัวใจสลาย หรือจะเสกให้อิ่มเอมใจ ตกหลุมรัก ก็เอาอยู่หมัดทุกท่วงท่า
ผมรัก มนต์รักทรานซิสเตอร์ เพราะความครบทุกรสชาติของมัน ทั้งหวาน ตลก ขมขื่น ผมรัก ฉากและชีวิต เพราะความลึกซึ้งกินใจของมัน ผมรัก คือรักและหวัง เพราะความงดงามน่าสะเทือนใจของมัน ผมรัก บนเส้นลวด เพราะความเท่ ละมุนละไม ความสดใสแห่งวัยเยาว์ของมัน ผมรัก ตำบลช่อมะกอก กับ ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ เพราะความหลงใหลใฝ่ฝันของมัน ผมรัก สิงห์สาโท เพราะความสรวลเสเฮฮาของมัน ผมรัก คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน เพราะความยิ่งใหญ่และโศกนาฏกรรมเรื่องเล่าและตัวละคร ฯลฯ
แต่กับ ‘ต้องเนรเทศ’ วัฒน์บอกเล่าประวัติย่นย่อของตัวเขาเอง – ชายคนหนึ่งที่ฝันอยากเป็นนักประพันธ์ ใช้ชีวิตเยี่ยงอิสรชน แต่ดันมีอุดมการณ์เรื่องคนเท่ากันในประเทศศักดินาล้าหลังครองเมือง แถมยังเสือกเป็นคนดื้อ ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร เลือกเป็นฝุ่นเสรีที่ปลิวไปตามสายลมในโลกกว้าง ดีกว่าเป็นฝุ่นใต้ตีนเผด็จการ-ปรสิตชน
วัฒน์เล่าย้อนตั้งแต่ตอนเกิดและเติบโตริมคลองแห่งทุ่งเชียงราก ผจญวัยเยาว์รุ่นอันพลุ่งพล่านด้วยอุดมการณ์ที่หวังพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินสร้างสังคมใหม่ ระหกระเหินเป้ข้าว-แบกปืนบนเทือกเขาภูพานใต้คราบไคลทหารป่า ก้าวสู่อาชีพนักเขียนเต็มตัว ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับ ‘สหายรุ่งโรจน์’ เมียสาวยอดหญิงแกร่ง ลงหลักปักฐานเช่าบ้านชานกรุง โยกย้ายไปปักหลักท่าเสา กาญจนบุรี หวังสร้างวิมานริมไพร พร้อมกับลูกอีกสามคน
กระทั่งรัฐประหารในปี 2006 ไม่กี่ปีต่อมาพี่น้องประชาชนคนเสื้อแดงถูกสังหารหมู่กลางเมือง ถูกคอมแบตกระทืบซ้ำด้วยรัฐประหารอีกรอบโดย คสช. ความเดือดดาลคั่งแค้นทำให้นักเขียนไม่อาจนิ่งเฉย เขาขึ้นเวทีขับเคลื่อนแนวรบทางวัฒนธรรมอย่างดุดันกล้าหาญ จนถูกหมายหัวจากทางการ จึงตัดสินใจอพยพหนีราชภัยไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ตกระกำลำบากนานกว่า 5 ปี ก่อนโบยบินสู่ดินแดนกวีด้วยสถานะผู้ลี้ภัย รอดตายจากกรงเล็บมัจจุราชหวุดหวิด กระทั่งเสียชีวิตในเดือนมีนาคมปี 2022
3
วัฒน์สรุปไฮไลต์สำคัญของชีวิตตลอดอายุ 60 กว่าปีของเขา ให้อยู่แค่ 832 หน้า เขียนเหมือนคนอัดอั้นราวนักมวยร้างเวที ต้องเคาะสนิมชุดใหญ่ หลังเผชิญกับภาวะตีบตันเขียนไม่ออก เพราะความเครียดสะสมในช่วง 7 ปีที่ต้องเนรเทศ
สำนวนเก๋า ลูกเล่นชั้นเชิงเหลือรับประทาน อารมณ์ขันแพรวพราว วิจารณ์แดกดันเจ็บแสบ ขณะเดียวกันก็จริงใจ คมคาย มองทุกอย่างด้วยสายตาของคนเจนโลก แทรกความรู้ ข้อคิด ประสบการณ์ส่วนตัวลงในทุกบรรทัด เปิดเปลือยบทเรียนชีวิตอันสะบักสะบอมรากเลือดของตัวเองแก่คนรุ่นหลัง ยิ่งกว่าไลฟ์โค้ชคนใดจะมอบให้
แล้วจะไม่ให้มาสเตอร์พีซได้อย่างไร
4
ถามว่าหนังสือเล่มโคตรหนา นิยายชีวิตครบรส เต็มไปด้วยประสบการณ์ เรื่องเล่า แง่คิดมากมาย ผมประทับใจอะไรมากที่สุด ?
เหี้ย ตอบยากสัส
เดือนสิงหาคม-กันยายน 2022 อ่านรอบแรกด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ได้จดไว้ ผ่านไปไม่นานก็ลืม เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม อ่านอีกครั้ง คราวนี้ทั้งคั่นหน้า ทั้งจด แม่งก็ยังลืมอยู่ดี (HaHa)
แหม ก็เรื่องพี่เขาเยอะ ประสบการณ์โชกรัก โชกเลือด โชกเหล้าขนาดนั้น ใครจะไปจำได้หมด ไม่รู้จะหยิบจับเรื่องไหนมาเล่าดี ถ้าจะพูดว่าประทับใจหมด ชอบหมด ก็ดูมักง่ายไปหน่อย
นั่งคิดใคร่ครวญ ทบทวน เปิดหน้าที่คั่นไว้จนพรุน ดูสิ่งที่จดไว้ ความทรงจำที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแจ่มชัดขึ้น
5
แน่นอนที่สุด หัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้คือ ช่วง 7 ปีที่ต้องเนรเทศ
25 พฤษภาคม 2014 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต วัฒน์ วรรลยางกูร เขาเผ่นหนีจากเมืองไทย ลอบข้ามพรมแดนผ่าน ‘ช่องทางธรรมชาติ’ เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านแรก (กัมพูชา) หลังถูกออกหมายเรียกให้เข้าพบ คสช. และรู้ตัวดีจากหมายจับเป็นตั้งๆ ของตัวเองว่า — กลับไปคงได้แก่ตายในคุกแน่
“มีคนไปลี้ภัยต่างทวีป ขณะเดียวกันก็มีคนกลับไทยไปรายงานตัวกับ คสช. หลังรายงานตัวเสร็จ บางคนย้อนกลับมาเกลี้ยกล่อมให้พวกเรากลับไปรายงานตัว มองแง่ดี เขาก็อยากให้เรากลับไปมีชีวิตปกติสุข ไม่ต้องหลบลี้ไปอีกไม่รู้นานแค่ไหน อายุอานามก็มากแล้ว ใครจะล่วงรู้อนาคต
สำหรับสหายร้อย อ่านแนวทางอำนาจมาเฟียไทยได้แจ่มชัดเหมือนอ่านลายมือ อำนาจมาเฟียจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ไว้ใจไม่ได้ อย่าเสี่ยงเข้าไปอยู่ในกรงเล็บดีกว่า เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ขนาดสมุนบริวารของพวกเขาเองยังตายแบบแปลกๆ เมื่อเจ้านายเหม็นขี้หน้า” (หน้า 52-53)
เจตนารมณ์เด็ดเดี่ยวบนวินาทีแห่งความเป็นความตาย แน่วแน่แล้ว ตัดสินใจแล้ว ไม่มีลังเล ไม่มีคืนตั๋ว เช่นเดียวกับเมื่อครั้งตัดสินใจเข้าป่าตอนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976 ครั้งนี้เขาเลือกอยู่ใกล้เมืองไทยเพราะหวังจะอยู่สู้เผด็จการต่อไป อีกทั้งยังใกล้ลูกๆ เผื่อไปมาหาสู่ช่วยเหลือกันได้
“เมื่อต่อสู้ก็ต้องเตรียมหาทางหนีทีไล่ ช่วงหลังๆ ของการเคลื่อนไหว ผมเตรียมกระเป๋าเดินทางไว้เสมอ พร้อมหิ้วกระเป๋าขึ้นรถ แล้วขับรถออกจากบ้านท่าเสา ทันทีที่เกิดเหตุวิกฤติ (หน้า 238)
วัฒน์อยู่ในฐานะ ‘ผู้หลบภัย’ มิใช่ ‘ผู้ลี้ภัย’ ผู้ลี้ภัยยังมีสถานะรองรับจากรัฐบาลท้องถิ่น ปลอดภัยอุ่นใจกว่า แต่ผู้หลบภัย ต้องอยู่หลบๆ ซ่อนๆ เหมือนผี ไร้ตัวตน ถูกอุ้มหาย ถูกฆ่าตาย ก็ไม่มีใครสนใจ
เงินทุกบัญชีถูกอายัด เงินติดตัวก็เหลือไม่มาก วัฒน์ต้องดิ้นรนหาที่พักพิงเพื่อ ‘เล่นเกมยาว’ เน้นประหยัด สะดวก ปลอดภัย จะลงทุนทำธุรกิจทำอะไรก็ไม่ได้เพราะไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีวีซ่า ไม่มีการขึ้นทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจากหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น หรือหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนในทางสากล
“อย่าว่าแต่พาสปอร์ตเป็นโมฆะเลย แม้แต่บัญชีธนาคารก็โดนบล็อค เบิกเงินมาใช้ก็ไม่ได้ — จนกระทั่งทุกวันนี้ เงินจากหยาดเหงื่อแรงงานมันสมองทั้งสิ้น ทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินค่าเรื่องค่าลิขสิทธิ์ ทั้งจากการเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ข่าวสด, ออลแม็กกาซีน และจากการพิมพ์ซ้ำพ็อคเกตบุ๊คนวนิยาย ทุกบาทเป็นเงินสุจริต
จะเป็นรัฐประหารรัฐประห่วยครวยหมาอะไร สูไม่มีสิทธิ์มาปล้นหยาดเหงื่อแรงงานมันสมองของตูเช่นนี้” (หน้า 55)
ช่วงแรกเขาไปหลบพักอาศัยกับพี่น้องคนเสื้อแดงที่เผชิญวิบากกรรมเดียวกัน แต่มากคนก็มากความ เต็มไปด้วยปัญหาจุกจิกขี้หมูราขี้หมาแห้ง แถมอยู่แคมป์ใหญ่ก็เสี่ยงอันตราย จึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าโบกมือลา ไปอยู่ที่ที่เล็กกว่า แต่สบายใจกว่า
จาก ‘ชั้น 8 โรงแรมเก่าๆ ริมแม่น้ำโขง’ ในประเทศเพื่อนบ้านที่หนึ่ง วัฒน์นั่งรถตะลุยฝุ่นคลุ้งหลายร้อยกิโลเมตรข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สอง (ลาว) พักชั่วคราวบน ‘คอนโดยี่สิบชั้น’ อันวุ่นวายด้วยสารพัดผู้คนที่หนีร้อนมา ก่อนย้ายอีกครั้งไปปักหลัก ณ เนินลมโชย โดยอาศัยพึ่งใบบุญของ ‘นายพล ส.’ สหายคอมมิวนิสต์เก่าแก่
ที่นั่นเขาดูพึงพอใจกับสภาพแวดล้อมรอบแคมป์ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ อากาศสดชื่น ผู้คนใจดี
วัฒน์กินอยู่อย่างสมถะ ในความหมายของคำว่า ‘รัดเข็มขัด’ สร้างกระต๊อบเล็กๆ ตื่นเช้าชงกาแฟ รดน้ำพรวนดินผักสวนครัว มะเขือ ฟักทอง โหระพา ถั่วฝักยาว คะน้า ต้นหอม ผักชี พริก มะนาว ฯลฯ ออกดอกออกใบเขียวสะพรั่ง เผาไม้ทำฟืนเอง ไล่จับแมลงที่มีมหาศาลจนกินไม่มีหมด ปศุสัตว์อย่างหมู เป็ด ไก่ กบ ปลา เขาและพรรคพวกก็เลี้ยงไว้บริโภค
บางวันออกไปหาผักหญ้าตามริมห้วย ไม่ว่าจะผักตำลึง ผักอีเลิด ส้มป่อย ผักปัง ผักกูด ผักบุ้งนา มะลอกอ มะกอก ฯลฯ เยอะแยะไม่หวาดไม่ไหว ด้วยทักษะเข้าครัวมาค่อนชีวิต เขารู้จักพืชผักกินได้ทุกชนิด รู้จักปลาน้ำจืดทุกสายพันธุ์ อย่างไหนเหมาะทำเมนูแบบไหน แซ่บอีหลี delicious กะด้อกะเดี้ย
“เพียงสัปดาห์แรกที่ได้มาอยู่ ผมออกสำรวจแหล่งเสบียงฟรีทั่วถึงหมดแล้ว” (หน้า 341)
“นี่คือวิถีชีวิตตามอุดมคติของผู้ลี้ภัย ในเมื่อไม่สามารถทำอาชีพหากินได้ตามปกติ ต้องอยู่ด้วยความเมตตาของเทวดาฟ้าดิน ที่บันดาลของฟรีไว้ตามป่าตามห้วย” (341)
“ตกปลาทุกวัน ทดลองตกปลาตั้งแต่เช้า เที่ยง บ่าย จนรู้นิสัยปลาว่า ปลาจะหิวเหยื่อและฮุบเบ็ดดีในช่วงเวลาราวๆ บ่ายสามโมง เป็นเวลาแดดแรงจัด ได้ฝึกสมาธิตากแดดอย่างอดทน” (หน้า 337)
“คิดย้อนทบทวนดู ผักที่เราปลูกกันไว้ในแคมป์และที่มีในธรรมชาติแวดล้อม มันมีมากหลากหลายกว่าผักที่มีขายอยู่ในห้างใหญ่ของฝรั่งเศสเสียอีก” (หน้า 348)
กิจวัตรประจำวันเป็นไปอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว เขาเปรียบตัวเองเหมือน ‘ต้นไม้ไร้ราก’ มิอาจปักหลักยึดผืนดินผืนใดได้ถาวร จะถูกสั่งให้อพยพวันไหนก็ไม่รู้ ยังต้องเจอกับความเครียดวิตกกังวล ทั้งเงินทองที่ร่อยหรอลงทุกวัน ทั้งอันตรายจากเผด็จการรามาวตารที่ยังคงไล่ล่า อนาคตสิ้นหวังมืดมน
“ชีวิตในยามต้องเนรเทศ การบริหารเงินนับว่ากินแรงสมองมากทีเดียว”
“มีเรื่องเล่าว่าคนนั้นไปเปิดร้านอาหาร คนนี้เปิดร้านหมูสะเต๊ะ โดยขอระดุมทุนจากญาติมิตรผู้เห็นใจสนับสนุน ไม่มีใครรอดสักรายในทางธุรกิจ และยังเสี่ยงภัยต่อการเสียลับ”
“หน้าที่ของผู้หลบภัย คืออยู่เงียบๆ เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เหมาะทำธุรกิจค้าบริการใดๆ งานที่เหมาะที่สุดน่าจะเป็นพวกการเกษตร ปลูกพืชผัก เลี้ยงเป็ดไก่หมูปลา ว่ากันไป สามารถหามุมสงบอยู่อย่างค่อนข้างปิดลับ แต่อย่าหวังรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะชุมชนเล็ก ตลาดขายของย่อมเล็ก ผู้คนรอบข้างไม่ค่อยมีเงินสด” (หน้า 418 – 419)
อยู่ไปอยู่มา วันดีคืนดีเกิด ‘เสียลับ’ มีข่าวลือแว่วลอยลมมาว่า คนท้องถิ่นเริ่มสงสัยไถ่ถามถึงเพื่อนบ้านแปลกหน้าชาวไทย ต้องระเห็จไปยังแคมป์ใหม่ ‘สลัม ออน เดอะวอเตอร์’ ที่วัฒน์กับเพื่อนผู้หลบภัยต้องพบกับความยากลำบากแสนสาหัส ถูกหลอกขายที่ดินน้ำท่วมซ้ำซาก โดนขูดรีดเอารัดเอาเปรียบสารพัดจากเจ้าของที่ดิน
ไหนจะความหวาดผวาจากข่าวร้ายรายวัน พี่น้องผู้หลบภัยทยอยถูกอุ้มหายไม่ทราบชะตากรรม ไม่ก็ถูกฆ่าอย่างป่าเถื่อน ศพลอยโผล่แม่น้ำโขง เริ่มจากกรณีอุ้มหายของ ‘ดีเจซุนโฮ’ อิทธพล สุขแป้น ปี 2016 ตามมาด้วย ‘โกตี๋’ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ปี 2017 ‘สุรชัย แซ่ด่าน’ ‘ภูชนะ’ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และ ‘กาสะลอง’ ไกรเดช ลือเลิศ ถูกฆ่าถ่วงน้ำ ปี 2018 ขณะที่ ‘ลุงสนามหลวง’ ชูชีพ ชีวสุทธิ์ ‘สหายยังบลัด’ สยาม ธีรวุฒิ หายตัวไปในปี 2019 และ ‘ต้า’ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหาย ปี 2020
การฆ่าพวกเขานั้นง่ายดายเหมือนจับปลาในกระชัง
“ชีวิตเหมือนผักปลา
ถ้าจับปลาในกระชัง เลือกสวิงตักได้อย่างใจ
ปลาตัวที่เป็นเป้าหมายไม่มีทางรอด
กระชังผืนพลาสติกสีฟ้าถูกดึงรั้งสะบัด
เพื่อให้ปลาที่เป็นเป้าหมายอยู่ในระยะสวิงตัดได้สะดวก
ถ้าจับปลาในคลองน้ำ คนล่าหมายจะจับปลาตัวหนึ่ง
เมื่อจับไม่ได้ ก็เปลี่ยนไปล่าปลาอีกตัวหนึ่ง
ล่าปลาตัวใหญ่ไม่ได้ ก็ล่าตัวเล็ก ไม่มีการกลับมือเปล่า
ล่าเพื่อเอาใจนายผู้โกรธกริ้ว สอพลอเพื่อบำเหน็จรางวัลยศชั้ันราชการ
ล่าปลาตัวที่ระมัดระวังไม่ได้ ก็ไปล่าปลาตัวที่ชะล่าใจ
ชีวิตเหมือนผักปลา” (หน้า 16-17 )
ช่วงนั้นว่ากันว่า วัฒน์ตรอมใจ ข้าวปลาไม่กิน หันหน้าเข้าสุราพื้นบ้านดีกรีแรงวันแล้ววันเล่าจนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ส่งผลต่อสุขภาพของเขาในเวลาต่อมา สุดท้ายจำต้องย้ายฐานที่มั่นอีกครั้งมายัง ‘มายโกลเดนพอนด์’ บ้านริมบึง
“แม้ตั้งใจบอกตัวเองว่าต้องไม่เจ็บป่วยในยามยากเช่นนี้ แต่สังขารเป็นไป ใครเล่าจะบังคับได้ อยากบอกเงามรณะที่ชอบมาโฉบผ่านหลังคาแคมป์ สอดส่องจ้องพิฆาตพวกเราว่า กูแก่แล้ว นับวันมีแต่จะแก่ไปข้างหน้า ไม่ต้องมาตามฆ่า เดี๋ยวกูก็ตายเอง” (หน้า 437)
รอบนี้ดูเหมือนจะอยู่ได้ยาว แต่ก็ต้องหนีอีกแล้ว เพราะความตายคืบคลานบีบกระชับเข้ามาเรื่อยๆ จวนถึงตัว แต่คราวนี้จะเป็นการหนีครั้งสุดท้าย โบยบินข้ามโลกไปยัง ‘แผ่นดินกวี’
6
มีวันหงอยเหงาเศร้าซึม ก็ย่อมต้องมีวันชื่นคืนสุข แม้ต้องเผชิญกับภาวะ ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ หมายความว่ากลับเมืองไทยก็ไม่ได้ จะขอลี้ภัยไปประเทศที่สามก็ยากเย็น แต่วัฒน์ยังคงเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน เขามีเรื่องเฮฮาตลกขบขัน มีเกร็ดสนุกๆ เล่าสู่กันฟังเสมอ สร้างกระท่อม ทำอาหาร ปลูกผัก จับปลา เที่ยวเล่นในชนบท ตำจอกแก้กลุ้มอย่างครึ้มอกครึ้มใจ ตามประสาเฒ่าหำเหี่ยวขี้เมาเจ้าสำราญ
กระนั้น ความเป็นจริงอันปวดร้าวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นคือวัฒน์แทบไม่มีอารมณ์เขียนหนังสือ เพราะอยู่ภายใต้ความกดดันยาวนาน ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะได้อยู่ต่อหรือต้องย้ายหนีอีก เดือนปีที่ล่วงเลยมีแต่ข่าวชวนหดหู่ใจ
“ในวิถีชีวิตของคนต้องคอยหลบลี้ภัย ไม่เป็นอันจะตั้งสมาธิขีดเขียน สร้างงานอย่างที่ตั้งใจไว้ พลังชีวิตหมดไปกับการดิ้นรนเอาตัวรอด วิถีชีวิตไม่ปกติ ไม่อาจทำมาหาเลี้ยงชีพได้ การมาหลบภัยไม่ใช่ทัศนศึกษา ไม่ใช่ทัวร์สำราญบานใจ แค่รักษาสภาพจิต มิให้จิตตก ไม่ปล่อยตัวให้จ่อมจม แค่นั้นก็เต็มกลืน” (หน้า 429)
นี่คือชีวิตจริงของผู้หลบภัยที่มิได้มีคนอุปถัมภ์ค้ำชู ไม่ได้พเนจรท่องเที่ยวอย่างสุขสบาย อย่างที่ใครเข้าใจผิด
7
สิ่งที่วัฒน์ชอบเขียนถึงบ่อยๆ ในช่วงระหกระเหเร่ร่อน สะท้อนความปรารถนาลึกๆ ในใจของเขา คือ ช่วงชีวิตสมัยที่ยังอยู่บ้านป่าท่าเสา ได้นั่งเขียนหนังสือ เข้าครัว ร่ำเมรัย ท่ามกลางลูกเมียพร้อมหน้า
“ใน พ.ศ.นั้น ที่ดินท่าเสาราคาไม่แพง ยังมีป่าเขาลำเนาไพร ขณะเดียวกันก็อยู่ห่างกรุงเทพฯ เพียงหนึ่งร้อยเก้าสิบห้ากิโลเมตร ผมเลือกที่นี่ให้เป็นภูมิลำเนาของลูกๆ เขาจะเติบโตที่นี่ มีความทรงจำที่นี่ จะได้สัมผัสสายน้ำ ภูเขา ต้นไม้ ใบหญ้า นกหนู แมลง รวมทั้งเรื่องราวของผู้คนในชุมชน ที่จะได้รู้จักกันไปจนถึงเทือกเถาเหล่ากอ ไม่ใช่สัมพันธ์กันเพียงผิวเผิน
ช่วยให้การเรียนรู้โลก เรียนรู้สิ่งแวดล้อม เรียนรู้มนุษย์ เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น
สหายรุ่งโรจน์และสหายร้อย คิดเช่นนี้ เราร่วมปรารถนา… (หน้า 107 )
วัฒน์รักภรรยามาก สหายรุ่งโรจน์ หรือเจ๊เล็ก ขวัญใจของหมู่แม่ค้าตลาดท่าเสา ผู้สนใจทุกข์สุขของชาวบ้านอย่างจริงใจ
จากวันแรกที่ทั้งคู่พบกันบนเทือกเขาภูพาน ออกจากป่าคืนสู่เมืองก็มาร่วมหัวจมท้ายสร้างครอบครัว เธอเสียสละดูแลภาระทุกอย่างในบ้าน สอนหนังสือลูก เพื่อให้สามีได้เขียนหนังสือดังตั้งใจ
เหนื่อยก็เข้าครัวทำกับข้าว จิบไวน์ผลไม้ทำเอง นอนดูฝูงนกเงือกบินข้ามหลังคา ว่างก็พาชวนลูกไปว่ายน้ำ สัมผัสธรรมชาติ
โอ้ ความสุขเรียบง่ายของเจ้าป่าศิลปิน
ตัดภาพมาวันที่ต้องไกลบ้าน เศร้าใจอยู่ลึกๆ เมื่อคิดว่าวัฒน์จะรู้สึกอย่างไรในยามนึกถึงอดีตที่ไม่มีวันหวนคืน เขาเจ็บปวดรวดร้าวแค่ไหน เมื่อต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ บ้านแตกสาแหรกขาด สูญสิ้นทุกอย่างแม้กระทั่งอิสรภาพ
“ในความเป็นจริง เรามีทั้งบ้าน เมือง ประเทศ ชาติ สัญชาติ เชื้อชาติ มีทะเบียนบ้าน มีพาสปอร์ต มีบัตรประชาชน มีใบขับขี่ มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี มีผู้คนรักใคร่นับถือ แล้วทุกอย่างถูกทำให้โมฆะหมด จนแทบไม่เหลืออะไรเลย” (หน้า 457)
8
ช่วงเดินเรื่องลี้ภัยไปฝรั่งเศส ไม่อยากเขียนลงรายละเอียดมาก ไปอ่านเองดีกว่า แต่บอกได้ว่าเป็นมันช่วงเวลามีความหมายสำคัญยิ่ง
วัฒน์ได้รับการช่วยเหลือให้ทำเรื่องลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศสอย่างเร่งด่วน ด้วยความช่วยเหลือจากลูกๆ และมิตรสหายผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ที่เจ้าตัวเรียกขานว่า ‘ลมใต้ปีก’ ช่วยโอบอุ้มประคองให้นกไร้รังตัวนี้ได้บินหนีจากกรงเล็บมัจจุราช
ช่วงเตรียมเอกสาร ต้องทำงานแข่งกับเวลา ปิดปากเงียบสนิท ต้องระวังไม่ให้ความลับรั่วไหล ต้องไม่ทำให้เสียลับด้วยประการทั้งปวง เพราะอาจถูกบล็อค ถูกสกัดระหว่างดำเนินการได้
“ไม่เห็นน้ำ อย่าตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอก อย่าง้างหน้าไม้”
“การเดินป่ายามแล้งกันดาร เสบียงน้ำหมดระหว่างทาง หวังได้ดื่มน้ำบ่อหน้า ปราชญ์โบราณสอนว่า ยังไม่ทันเห็นน้ำ อย่าได้รีบด่วนตัดกระบอกรอใส่น้ำ เพราะยังไม่มีอะไรแน่นอนว่าจะพบบ่อน้ำช่วงไหน เป็นเรื่องที่เรากำหนดไม่ได้ ทันทีที่คิดหรือลงมือตัดกระบอกน้ำ ผลร้ายที่เกิดขึ้นทันทีคือเป็นการสร้างแรงกดดันกับตัวเอง เคยทุกข์อยู่แล้ว เครียดอยู่แล้ว ยิ่งทุกข์ยิ่งเครียดหนักไปอีก เพราะกดดันตัวเอง” (หน้า 83 )
วันที่วัฒน์และลูกสาวเหยียบสนามบินชาร์ลส์ เดอ โกล กรุงปารีส ก็พาให้รู้สึกโล่งใจไปเปลาะใหญ่ นั่นหมายถึงพวกเขาได้เดินทางถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพแล้ว
วัฒน์ต้องปรับตัวหลายอย่างทั้งเรื่องสภาพอากาศเหน็บหนาว ต้องเรียนภาษาฝรั่งเศส วันว่างก็เดินออกสำรวจชีวิตผู้คน ตลาดร้านรวง อาหารการกิน โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพี่น้องชาวเสื้อแดงในปารีส บักหำเหี่ยวตุหรัดตุเหร่จึงค่อยยิ้มออก พร้อมเริ่มชีวิตใหม่บนแผ่นดินเสรีภาพ
“คิดย้อนไป เจ็ดปีในยามต้องเนรเทศ ผมมีเรี่ยวแรงรอดมาได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ก็เพราะมิตรภาพ ความรักใคร่ห่วงใย ทั้งจากมิตรสนิทและไม่สนิท กระทั่งบางคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยแม้แต่นิดเดียวมากมายหลายคน” (หน้า 547)
9
วาระสุดท้ายของ วัฒน์ วรรลยางกูร ชีวิตเขายังคงมีขึ้นมีลง เปี่ยมด้วยสีสันคาดไม่ถึง สมกับเป็นชีวิตนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่
จากเด็กน้อยลอยคอในลำคลองเชียงราก นุ่งขาสั้นวิ่งหนีตีนคู่อริที่ลพบุรี ฉายแววนักหนังสือพิมพ์ดาวรุ่ง จับปืนเข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์ เล่นบทพ่อผู้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเขียนหนังสือ ปลีกวิเวกไปอยู่บ้านป่าท่าเสาหวังแสวงหาความสงบ แต่โชคชะตาเล่นตลกให้กลับมาขึ้นเวทีไฮด์ปาร์กขับไล่ศักดินา กลายเป็นนักเขียนขบถในสายตาเพื่อนร่วมวงการ หลบหนีการไล่ล่าจนเกือบไม่รอด สู่นิยายภาคใหม่กับสถานะผู้ขอลี้ภัยในฝรั่งเศส
ดูเหมือนทุกอย่างกำลังจะเข้าที่เข้าทาง
ดูเหมือนทุกอย่างกำลังจะแฮปปี้เอ็นดิ้ง
หลังมาอยู่ที่ดินแดนใหม่ได้เพียงสองปีเศษ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 67 ปี รายล้อมด้วยลูกทั้งสามคน ณ โรงพยาบาลบนเนินเขา นอกกรุงปารีส
เขาจากไปในขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับ ต้องเนรเทศ ค้างไว้ยังไม่ทันเสร็จดี แม้สติสัมปชัญญะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ แต่ก็อุตส่าห์เขียนจนถึงนาทีสุดท้าย เขียนจนกระทั่งลายมือโย้เย้อ่านไม่ออกเพราะไม่มีแรงเขียนอีกต่อไป ดังที่คุณจะได้เห็นในหน้าท้ายๆ ของหนังสือเล่มนี้
10
จบการรีวิวหนังสือแห่งปี 2022
ผมเชื่อว่ามันจะเป็นหนังสือดีตลอดกาลของใครอีกหลายคน
วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนไทยที่เนรเทศตัวเองจากแผ่นดินเกิดไปเป็นผู้ลี้ภัยในต่างแดน เรียกตัวเองว่าไอ้หมาวัด ต้นไม้รากลอย นกไร้รัง บักหำเหี่ยวตุหรัดตุเหร่ เจ้าป่าขี้เมา ฝุ่นลอยลม ฯลฯ
ชายที่พูดจริงทำจริงมาชั่วชีวิต กล้ายืดอกยิ้มรับในสิ่งที่ตัวเองเลือก โดยไม่ก่นด่าโชคชะตา ไม่โอดครวญเรียกร้องความเห็นใจจากใคร
“อย่าเอ่ยคำว่า ถ้า เลย
ชีวิตจริง เราต้องอยู่กับปัจจุบัน
อย่าอ่อนแอไปกับคำว่า ถ้า
เพราะมันอาจไม่เป็นจริง
บางที ถึงขั้นต้องตัดใจ
อย่าปล่อยอารมณ์สงสารตัวเองเกินไป
ไม่ว่าเงื่อนไขชีวิตจะเป็นอย่างไร
จะต้องลุกขึ้นยืน ยืนอย่างแข็งแรง
ยังมีภารกิจต่างๆ รออยู่
ภารกิจแห่งหัวใจ ภารกิจแห่งอุดมการณ์
ภารกิจที่จะต้องร่วมแรงกันงัดกะลาใบยักษ์นั้นออกทิ้ง” (หน้า 655)
ดังที่บอกไว้ตอนต้น ถ้าหนังสือขนาดมหึมาเล่มนี้เปรียบเหมือนภูเขาสูงชัน และบนยอดเขาลูกนั้นมีนักพรตศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตดูแลอยู่
ผมก็ภูมิใจเหลือเกินที่ได้ปีนป่ายขึ้นไปคารวะ.
เรื่องโดย อินทรชัย พาณิชกุล
เกี่ยวกับนักเขียน : เดียร์ – อินทรชัย พาณิชกุล อดีตคนข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, บรรณาธิการ The Momentum, BrandThink ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ (เจ้าของหนังสือสารคดี ‘อย่าด่าอินเดีย’)