the editor

พายุ

เคยเห็นในภาพข่าวหลายครั้ง ไม่ว่าสึนามิ หรือพายุรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มาเห็นที่เกิดเหตุ ณ ขณะบาดแผลยังสดหมาด

เทือกทิวเขาตระหง่าน ฝูงวัว ทุ่งนา กองไฟ วงข้าวยามเย็นหลังเลิกงาน และพระจันทร์ดวงกลมโตยามค่ำคืนในหมู่บ้านชนบท หากเพียงเป็นผู้ผ่านทาง ฉากนี้ไม่ต่างจากโปสต์การ์ดคลาสสิก พายุสงบแล้ว ไม่เดินเข้ามาย่อมไม่รู้อำนาจภัยพิบัติ และถ้าไม่เคยลงพื้นที่ไปรับฟังนั่งคุย มันยากเหมือนกันที่จะมองผ่านเมืองน่านในนิยามเดิมๆ

น่านปีนี้ร้อน แห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่พฤศจิกายน ทิ้งแบบไม่มีเยื่อใย ครั้นฝนมานึกว่าจะยิ้มได้ กลับกลายเป็นพายุพัดบ้านเรือนพังยับนับร้อยหลังคาเรือน

พัดลมเพดานยังอยู่ แต่หลังคาหายไปเมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2023

‘นุ่น’ ภาวดี จันทร์บุตดา เกิดที่บ้านหลังนี้ เกิดปี 2008 ปีเดียวกับที่พ่อแม่สร้างบ้าน

เด็กหญิงนั่งรถตู้จากหมู่บ้านซาวหลวงไปเรียนที่โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร เธอมีพี่ชายคนหนึ่ง เขาเรียนจบเทคนิคแล้วไปฝึกงานที่ชลบุรี ช่วงนี้ปิดเทอม นุ่นอยู่บ้านกับพ่อและแม่ นาทีที่พายุถล่ม ทั้งสามตื่นตกใจวิ่งหาที่หลบ ข้าวของกระจุยกระจาย แม่โชคร้ายกว่าใคร โดนไม้ฟาดเข้าเบ้าตา

พ่อวัยห้าสิบ เป็นคนพิษณุโลก มาพบรักกับแม่ซึ่งมีภูมิลำเนาที่นี่ เมื่อก่อนเขาทำงานซ่อมเครื่องยนต์ เป็นนายช่างที่ผู้คนไว้ใจ-เชื่อมือ ด้วยปัญหาสุขภาพ ภายหลังเขามาจับงานสีข้าว มีเครื่องจักรเล็กๆ ตัวหนึ่ง ให้บริการคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา แต่ส่วนใหญ่ที่ว่าก็อยู่ในปริมาณน้อยนิดเพราะเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก

“ส่งลูกเรียนได้ก็เพราะเครื่องนี้” เขาพูดเบาๆ พูดน้อย เดิมพูดน้อยอยู่แล้ว หลังพายุยิ่งน้อยใหญ่ ใบหน้าไร้รอยยิ้ม สูบบุหรี่จัด

สี่เดือนก่อนก็เพิ่งโดนพายุ รอบนั้นแค่หลังคาส่วนโรงสีและเพื่อนบ้านมาช่วยซ่อมเร็ว รอบนี้หลายคนโดนกันหมด ต่างฝ่ายก็ต้องหาทางจัดการบ้านตัวเองก่อน

เครื่องสีข้าวโดนพายุฝนเสียหาย รับงานไม่ได้ เงินก็ขาดมือ โรคเครียดของเขากำเริบ

ผลการเรียนล่าสุดของนุ่นอยู่ที่ 3.7 กลางเดือนพฤษภาคม–เปิดเทอมใหม่ในเร็ววันนี้ เธอจะขึ้นชั้น ม.3

“อยากเป็นทันตแพทย์” เด็กหญิงบอกความใฝ่ฝัน

วันว่างเธอชอบวาดรูป เลิกเรียนช่วยล้างจาน ยกถุงข้าวแบ่งเบาภาระบุพการี แต่ค่าเทอมสองพันกว่าบาทเป็นสิ่งที่พ่อแม่ยังปวดหัว ไม่รู้จะหาที่ไหน เอาเฉพาะเรื่องบ้านที่ต้องแก้ปัญหาก่อนก็มืดมน คิดไม่ตก

ถ้าได้กินยา พ่อจะอารมณ์ดีขึ้นบ้าง ยาแก้เครียดเดือนละพันกว่าบาท เดือนไหนไม่มีก็ไม่ได้กิน แต่สามสี่วันมานี้ต่อให้มียาก็เอาไม่อยู่ เขาบ่นเรื่องไม่มีเงินซ่อมบ้าน ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร

ปกตินอนรวมพ่อ-แม่-ลูก ยังไม่ได้แยกห้อง คืนวานอากาศร้อน นุ่นนอนอยู่ในเต็นท์ที่กางกันยุง อาศัยนอนชั่วคราวระหว่างรอก่อสร้างซ่อมแซมบ้านใหม่ นอนไม่หลับหรอก เพราะพ่อแม่มีปากเสียงกัน

ยามขาดแคลน อยู่ยาก กระทบกระทั่งกันง่าย

“พ่อแม่เครียด แต่นุ่นไหวนะ ไม่เครียดใช่มั้ย”

ได้ยินคำถามนี้ เด็กหญิงเงียบ เกร็ง กลั้นใจ สักครู่สะอื้นไห้ตัวโยน

วงสนทนาเว้นวรรคยาว ไร้บทสนทนา บางเราพยายามบิดประเด็น เปลี่ยนหาเรื่องผ่อนคลาย น้ำตานุ่นไม่แห้งจากสองแก้ม

ความช่วยเหลือยามฉุกเฉินที่ได้รับแล้วคืออาหารแห้งประทังชีพ และสังกะสี

ของเก่าพายุมันเอาไป พ่อแม่นุ่นตามเก็บซากมาได้จำนวนหนึ่ง

บอร์ดที่วัด รายงานเหตุการณ์ฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรงระบุครัวเรือนที่ประสบภัยว่ามีทั้งสิ้น 160 หลัง ดังนี้ หมู่ที่ 1 บ้านนาซาว 3 หลัง, หมู่ที่ 2 บ้านสะไมย์ 35 หลัง, หมู่ที่ 3 บ้านนาหิน 102 หลัง, หมู่ที่ 4-5 บ้านก๊อดและบ้านนวราษฎร์ หมู่บ้านละ 4 หลัง, หมู่ที่ 6 บ้านดอนคีรี 10 หลัง และหมู่ที่ 7 บ้านก๊อดใหม่พัฒนาอีก 6 ครัวเรือน

ครอบครัวนุ่น ภาวดี บ้านเลขที่ 132 หมู่ 5 บ้านซาวหลวง ต.บ่อสวก อ.เมือง จ.น่าน คล้ายจะตกสำรวจ ไม่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัย

ช่องว่าง-รอยโหว่บนหลังคาศาลาเป็นหลักฐานว่าวัดก็ไม่รอดจากแรงลมพายุ ข้าวของบริจาคส่วนหนึ่งจัดวางไว้ในโบสถ์ ซุ้มศูนย์ประสานงานตั้งด้านหน้า พ่อแม่หลายบ้านพาเด็กๆ มาเลี้ยงที่นี่ ป้อนข้าว แจกขนม ระหว่างการงานจิตอาสา ข้อมูลทั่วถึงหรือไม่ ความทุกข์ของผู้ประสบภัยจะไปถึงหูผู้มีอำนาจรับผิดชอบหรือเปล่า บ่อยครั้งก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้นำชุมชน ตำบลไหนกระตือรือร้น เอาใจใส่ อย่างน้อยการแก้ปัญหาเฉพาะก็ฉับไว หมู่บ้านตำบลใดเชื่องช้าอืดอาด ทุกอย่างก็ขาดแคลนไปหมด ที่ชัดเจนมากๆ คือข่าวสาร พอผิดพลาดตกหล่น ความช่วยเหลืออันพึงมีพึงได้โดยเร็วก็ต่อไม่ติด

ศรีลัย สายอุทธา วัย 66 ปี เป็นคนซาวหลวง พี่ชายแท้ๆ ของแม่นุ่น มาแต่งงานกับสาวนาหิน หมู่บ้านที่โดนหนักที่สุด โดนแทบทุกหลัง–ไม่มีปาฏิหาริย์ บ้านสองชั้นของเขาเละคล้ายสุสานทิ้งร้าง หลังคายุ้งฉางปลิวหายไปในอากาศ

ฟังว่าเบื้องต้นจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา 4.9 หมื่นบาท ข่าวแจ้งมาแบบนั้น แต่ไม่ระบุวันเวลา ตราบใดที่เงินยังไม่ถึงมือ ไม่มีอะไรแน่นอนอยู่แล้ว ระหว่างนี้เขาวิ่งหาคนมาช่วยทำเพิงพักชั่วคราว จ้างวันละสามร้อย บางคนขอรับครึ่งเดียว บางคนไม่เอา มาช่วยลงแรงแลกกัน วันหลังสลับไปทำบ้านเขาบ้าง

ในนาทีมรสุม สามีและลูกสาวลูกเขยไปทำงาน บุญแต่งอยู่บ้านคนเดียว

“หลบอยู่ตรงนี้” นางชี้จุด

ตั้งสติ พยายามโทรศัพท์ก็ไม่ได้ผล คนปลายสายล้มลุกคลุกคลานฝ่าลมฝน ขณะขี่รถกลับบ้าน

ตู้แตกล้มพับ ที่หลับที่นอนเปียกแฉะ ข้าวของเครื่องใช้พินาศ

“ทำอะไรไม่ได้ กลัว ตกใจ ร้องไห้อย่างเดียว”

เมื่อลูกๆ และสามีกลับมาแล้วก็นั่งเฝ้าระวังกันอยู่ทั้งคืน ระแวงว่าฝนจะมาซ้ำ เวลานอนไม่ได้นอน เวลาตื่นมองห้องหับแล้วก็สังเวช อเนจอนาถโชคชะตา ตั้งแต่เกิดมา นี่คือที่สุดแห่งความทุกข์ทรมาน เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด เห็นทุกอย่างเกิดขึ้นต่อหน้า แต่ปกป้องอะไรไม่ได้ คิดแค่เอาตัวรอด ต้องมีชีวิตรอดให้ได้

บุญแต่งและครอบครัว ‘สายอุทธา’ มีอาชีพทำนา เลี้ยงวัว รับจ้าง

นา 5 ไร่ ทำได้ปีละครั้ง เพราะเป็นหมู่บ้านแห้งแล้ง ไม่มีระบบชลประทาน ขุดสระก็ไม่อุ้มน้ำ นอกฤดูจะปลูกถั่วปลูกผักเหมือนหมู่บ้านอื่นก็ทำไม่ได้ ส่วนวัว 4-5 ตัวนั้นเลี้ยงไล่ทุ่งตามมีตามเกิด ช่วงนี้อยากขายหาเงินทำบ้าน ราคาก็ถูกเกินทำใจยอมรับ

พายุแห่งความจนพัดไปพัดมาไม่มีที่สิ้นสุด

วัยเด็ก บุญแต่งเรียนหนังสือถึงชั้น ป.5 พ่อเสียชีวิต ถัดมาอีก 9 วัน แม่ก็จากไปอีกคน จำต้องหยุดเรียน

“สมุดเล่มหนึ่งใช้เขียนสองวิชา แบ่งครึ่งหน้า-หลัง พอหมด ไปขอครู เขาบอกไม่มี”

ออกมาทำงานรับจ้าง แบกข้าวโพด บางช่วงชีวิตเคยไปตัดอ้อยถึงสุโขทัย ..อะไรก็ได้ ขอให้มันได้เงิน

บุญแต่งออกเรือนในวัยยี่สิบเอ็ดกับศรีลัย ใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้มาสี่สิบกว่าปี

ลูกสาวสองคนไม่เคยสร้างปัญหา เช่นเดียวกับสามี แม้ยากจน ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวราบรื่น สุขสงบ ประคับประคองทำมาหากินกันไป ไม่นึกฝันว่าวันหนึ่งบ้านจะกลายเป็นซากหักพัง ไม่เคยเตรียมใจเรื่องภัยธรรมชาติ ใครจะไปคิด

“ทุกวันนี้ก็คิดกันอยู่ คิดไม่ตกว่าจะกู้ที่ไหน ทำยังไงจะสร้างบ้านใหม่ ของเก่ามันเอาคืนไม่ได้แล้ว”

นางมองผลงานเถื่อนของลม รำพึงรำพัน “มันเอาแรงจากไหนนักหนามาพัดทุกอย่างพังหมด คนสามสี่คนยังยกไม่ได้เท่านี้”

เสาไม้สักอายุสักสิบปี ขอซื้อญาติมาต้นละร้อย กระดานพื้นรื้อเอาจากบ้านเก่า อาศัยว่าลูกเขยเป็นช่างและเพื่อนบ้านมาช่วยลงแรงรีบด่วน ใช้เวลาสามวัน ที่พักชั่วคราวก็แล้วเสร็จ

“เมื่อคืนก็นอนตรงนี้ กางมุ้ง เป่าพัดลม” บุญแต่งเล่า “ลูกสาวลูกเขยนอนมุ้งตรงโน้น”

ฝาด้านหน้าไม่มี ไม่กั้นห้อง มีแค่หลังคากันแดดฝน

ซากบ้านเก่าที่เคยอยู่มาสี่สิบปีเป็นฉากแห่งความเจ็บช้ำอยู่เบื้องหน้า อาลัยอาวรณ์ไปก็เท่านั้น ขัดขืนใดๆ ไม่ได้เลย นอกจากทำใจยอมรับ

“น่าจะนอนแบบนี้ไปนานเท่าไร” ผมถาม

“ไม่รู้ ..ก็คงเป็นปี”

ในเงื่อนไขว่าทุนน้อย โอกาสต้อยต่ำ คำว่าชั่วคราวของบางคนมันไม่ได้แปลว่าชั่วคราว

จากบ้านริมถนน เดินเข้าตรอกซอกซอยบ้านนาหิน ไม่ว่าซอยไหน หันซ้ายขวาก็เห็นแต่บ้านที่ไม่มีหลังคา เหมือนผีหัวขาด โปสต์การ์ดสวยๆ ภาพจำของคนชั้นกลางถูกพายุเปิดเปลือยให้เห็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจ กระปุกออมสินแตกตั้งแต่ภัยพิบัติใหญ่ยังไม่มา หลังคาแห่งความมั่นคงไม่เคยมี มีแต่หนี้ที่สร้างแล้วยากจะลบ เดินลึกเข้าไป บางหลังมีช่างป่ายปีนซ่อมบำรุงอยู่ ขณะที่บางหลังระเกะระกะด้วยเศษซากสังกะสี ฟูก หมอน เสื้อผ้า วางตากทิ้งริมรั้ว ตุ๊กตาบางตัวที่ครั้งหนึ่งคงเคยมีสีสดใสนอนฟุบคล้ายคนป่วย

โศกนาฏกรรมบ้านนาหินและหลายพื้นที่ในจังหวัดน่านเกิดขึ้นในช่วงใกล้เลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2023 สองสามวันที่ผ่านมามีผู้สมัคร ส.ส. บางพรรคเข้ามาติดตามถามไถ่ ผู้ว่าฯ และหน่วยราชการต่างๆ ทยอยกันเข้ามาหาทางดับทุกข์ แต่มันก็ยังน้อย เชื่องช้าและเงียบเหงา ด้วยถนนทุกสายและความสนใจของสังคมวันนี้คือการเลือกตั้ง ข่าวสารเลือกตั้งบดบังกลบน้ำตาประชาชน มันเป็นตลกร้ายที่ไม่รู้จะกล่าวโทษใคร มองป้ายหาเสียงที่เต็มไปด้วยความรักความฝัน เราต่างก็รอคืนวันฟ้าสีทองผ่องอำไพ อยากให้การเลือกตั้งแปลว่าการเลือกตั้ง แฟร์ และรู้แพ้รู้ชนะ เหนืออื่นใดคือการจัดสรรงบประมาณที่เห็นหัวประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่จ้องแต่ประจบสอพลอ เอาภาษีจากคน 99% ไปเลี้ยงดูบูชาคนจำนวน 1% บนยอดปิรามิด

ความป่วยไข้บางชนิด ถ้าถูกนำส่งถึงมือแพทย์โดยเร็วทันท่วงที มันรักษาชีวิตมนุษย์ได้ แน่นอนว่าเรื่องช้า-เร็ว มีความหมาย

คนไม่มีบ้านจะอยู่ มันรอไม่ได้ พายุพัดบ้านเรือนพังพินาศ เป็นเรื่องความเป็นความตายขั้นร้ายแรง ไม่อนุญาตให้ผัดวันประกันพรุ่ง คุณนึกภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายวิ่งไปจับคนเขียนพ่นกำแพงวัดพระแก้วได้ใช่ไหม แบบนั้นแหละ เท่านั้นแหละ ต่อกรณีพายุและทุกภัยพิบัติร้ายแรง เราต้องการการแก้ปัญหาอย่างฉับไวในอัตราทัดเทียมกัน

พายุสงบมาสี่ห้าวันแล้ว ผมชวนเพื่อนหนุ่มคนหนึ่งมาช่วยป่ายปีนซ่อมห้องน้ำที่บ้าน พายุพัดหลังคาสังกะสีหลุดลอยไปหลายแผ่น ยังดีที่ตามเก็บได้ และมองยังไงมันก็เล็กน้อย เมื่อเทียบกับความสูญเสียของชาวบ้านนาหิน นาซาว

เสียงค้อนตะปูระรัวดังไม่เท่าคำถามที่อึกทึกอยู่ข้างใน ว่าระหว่างภัยพิบัติธรรมชาติ กับโอกาสอันขาดแคลนจนแทบไม่มีอยู่จริง สิ่งไหนแก้ยาก-ง่าย หรืออะไรโหดร้ายกว่า แล้วกับลูกหลานคนจนที่โดนมรสุมทั้งสองลูกนี้พร้อมๆ กันล่ะ พวกเขาและเธอจะสร้างอนาคต หรือออกแบบจัดวางชีวิตที่ดีจากรากฐานหรือองค์ประกอบใด ยังหลงเหลือทางเลือกบ้างหรือเปล่า ที่คนธรรมดาสามัญจะสามารถก้าวเดินไปสู่ความใฝ่ฝัน

น้ำตาบนแก้มเด็กหญิงบางคนบอกผมว่าพายุใหญ่บางลูกยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบง่ายๆ.

 

 

nandialogue

 

 

เรื่องและภาพ วรพจน์ พันธุ์พงศ์

You may also like...