the editor

ดอกไม้แด่ ‘กิโลเมตรที่ 79’ ภัทรุตม์ สายะเสวี

นั่งอยู่ด้วยกันในร้านอาหาร จู่ๆ ภัทรุตม์ สายะเสวี ก็หัวเราะออกมา

และเล่าเรื่อง “แม่บอกว่าอย่ามอง เวลาคนอื่นกิน”

เขาคงพลาดไปมอง และนึกถึงถ้อยคำเก่าแก่ของบุพการี

คำว่า ‘พลาดไปมอง’ ไม่มีความหมายอื่นหรอก ทุกครั้งที่เห็นเด็กๆ เขาทนไม่ได้ สะกดจิตตัวเองก็แล้ว บังคับขัดขืนแล้วก็พ่ายแพ้ทุกที

เขาชอบเด็ก ภาพเขียนจำนวนมากของเขาเล่าเรื่องเด็กๆ ที่ผ่านพบ ภาพเด็กยิ้มก็มี แต่ส่วนใหญ่ใบหน้าเรียบนิ่งสะท้อนลมฝนเศรษฐกิจของคนเป็นพ่อแม่

พูดถึงแม่ เขาบอกว่าคิดถึง บางครั้งอยากกอด แต่แม่ไม่อยู่ให้กอดนานแล้ว

ตอนที่ยังอยู่ เขาใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้อยเกินไป ไม่ได้ตอบแทนในบางวาระที่น่าจะตอบแทนได้

“แม่เคยขอตังค์ผม บอกจะเอาไปทำบุญ แกอยากทำบุญ แต่ไม่มีตังค์ ผมบอก ผมก็ไม่มีเหมือนกัน” เขาหัวเราะ

เสียงหัวเราะของเขาเหมือนภาพเขียนสีพาสเทลหวานแซมเศร้า

สองปีที่แล้ว, ไม่สิ–ก่อนหน้านั้นอีก เขาคุยให้ผมฟังว่าอยากไปฝรั่งเศส

ไม่ใช่ไปเที่ยว เขาอยากไปทำงาน

ไม่ใช่เดือนสองเดือน เขาอยากไปเป็นปี อยากกลับไปอยู่ในบรรยากาศยุโรปที่เคยบินไปซ่อมแซมอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังสมัยยังรับราชการ อยากทำงานให้ก้าวหน้า อยากรู้ว่าภูเขาศิลปะที่เขาเดินทางอยู่ทุกค่ำเช้าจะไปจบที่จุดไหน

ใช่, เขาไม่อยากหยุดอยู่เท่านี้ ไม่อยากฝังตัวเองไว้ในแผ่นดินเดียว

ไปยังไง ?

“ไม่รู้” เขาหัวเราะเหมือนเดิม และบอกเล่าความหวัง “ถ้าขายรูปได้ ก็คงไปได้”

เงินบำนาญเดือนละหมื่นกว่าบาท ใช้กันสองคนสามีภรรยา รูป.. ไม่แน่ใจว่านับนิ้วมือข้างเดียวจะครบมั้ย สำหรับปริมาณที่เคยขายได้

ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งการทำงานหรอก ไม่มีอะไรขวางกั้นศรัทธาในศิลปะ จะขายได้–ไม่ได้ เช้าค่ำ เขาก็ทำในสิ่งที่รัก คุยตลก คุยสนุกด้วย แม้ว่ามองหาเส้นทางการเงินไม่เจอ ไม่รู้จะหายังไงให้เจอ

เท่าที่ทำอยู่ ทำได้คือเขียนรูป และนานๆ ทีก็หาที่จัดแสดง

ที่น่าน เขาทำโชว์หลายครั้ง ทั้งกลุ่มและเดี่ยว ที่กรุงเทพฯ เขาเคยแสดงในหอศิลป์จามจุรี ที่เชียงใหม่ เขาพยายามหาหนทางไป เคยไป และเก็บ ถือกลับเท่าจำนวนที่ถือไปจัดแสดง

ทั้งชีวิต ผมสนิทคุ้นเคยกับศิลปินสามคน หนึ่งคือ สุมาลี เอกชนนิยม สองคือ ตะวัน วัตุยา และสาม ภัทรุตม์ สายะเสวี

สองคนแรกรู้จักคบหาด้วยผลพวงจากการไปสัมภาษณ์ แล้วเลยเถิดพัฒนาสู่วงเวียนชีวิตกันและกัน ส่วนคนที่สามรู้จักตัวตนก่อน แล้วสัมภาษณ์ (สองครั้ง/ เผยแพร่ออนไลน์ใน 101 และ nan dialogue ตามลำดับ) ไม่นึกว่าถึงวันหนึ่งจะกลายมาเป็นผู้ร่วมจัดงาน คงเพราะทนไม่ได้นั่นแหละ เห็นหยาดเหงื่อ เห็นหัวใจ เห็นการงานของเขาแล้วอยากตะโกนบอกต่อ

กับโชว์ครั้งนี้ เรื่องมันเริ่มจากการไปรู้จักศิลปินโคราชที่ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ ‘แพร’ พัชราภา อินทร์ช่าง พูดคุยความเป็นไปได้ และสุดท้ายเคาะว่าทำ เธอแนะนำแกลเลอรี่ 8 space กำหนดวันเวลา หาคนติดตั้ง แจ้งข่าวทำประชาสัมพันธ์

ผมตั้งชื่องานว่า ‘กิโลเมตรที่ 79’ ตามอายุศิลปิน ด้วยวัยนี้ หากใครคนหนึ่งยังยืนยันทำงาน เขาสมควรได้รับช่อดอกไม้

ไม่มีขั้นตอนของการคัดสรรผลงานใดๆ ทั้งสิ้น ..ถ้าจะมี ผมคัดคนและเชื่อมั่นในเส้นมาตรฐาน

9 มิถุนายน รถตู้จากจังหวัดน่าน เดินทางมุ่งสู่เชียงใหม่

10 มิถุนายน ติดตั้งผลงาน บนอาคารชั้น 3 The Goodcery Th

และรุ่งขึ้น เย็นวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน เปิดนิทรรศการ (จัดแสดงไปถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2023)

นราวุธ ไชยชมภู เพื่อนร่วมงานสมัยที่ทำนิตยสาร open ชวนคุยในช่วง artist talks

Judha Su จาก Literary Agency กลุ่ม soi ช่วยแปลข้อความที่ผมเขียนบอกเล่าตัวตนศิลปิน

หลายอย่างค่อนข้างกระชั้น ฉุกละหุก แต่ทุกอย่างก็ผ่านไป ผ่านและอาจมีบางสิ่งตกค้างในใจผองเพื่อนใหม่เก่า โดยเฉพาะสีสัน รูปทรง และพลังของศิลปินวัยเจ็ดสิบเก้าที่แสดงให้เราเห็นในอำนาจมนุษย์ ซึ่งใครจะหยุดก็หยุดไป เขาไม่หยุด

ไม่มีประธาน ไม่มีพิธีกรรม หน้าเวที ผมเขียนเรื่องนี้ไปอ่าน..

แม่ดุเสมอว่าผมมือแข็ง บอกให้ไหว้ใคร เด็กชายหนึ่ง วรพจน์ ไหว้ยากไหว้เย็น

ที่จริงการยกมือไหว้ทำไม่ยาก ผมแค่.. ตั้งแต่เด็ก ถ้ารู้สึกว่าใครไม่น่าไหว้ ใจมันไม่ไป พอใจไม่ไป มือก็ขืน-แข็ง ตามคำของแม่

ถ้าการไหว้คือสัญลักษณ์ของการนับถือ ให้เกียรติ เคารพใครสักคน ผ่านกาลเวลามานาน คงเป็นความจริงว่าผมไหว้คนยาก ขณะที่สองมือเดียวกันกลับยกแก้วเหล้าง่ายๆ ทำเป็นปกติ ไม่ขัดเขิน แม้เวลากลางวัน แม้กระทั่งในวันพระใหญ่ที่รัฐไทยถือไม้เรียวหวดห้าม

บ้านผมอยู่จังหวัดน่าน ปกติกินเหล้าที่บ้าน แต่ที่กินเหล้าอีกแห่งที่ชอบมากคือริมระเบียงบ้านของจิตรกร ภัทรุตม์ สายะเสวี ไปบ้านเขาหลายครั้ง พบว่าน้อยครั้งเต็มทีที่บทสนทนาระหว่างเราไม่มีเหล้า ผมไม่แน่ใจว่าเขาชอบกินเหล้าแค่ไหน แค่พยายามนั่งเป็นเพื่อน ขัดไม่ได้ หรืออย่างไร แต่ครั้งหลังๆ เมื่อรู้ว่าผมจะไป เขาจะเตรียมเครื่องดื่มชุ่มคอไว้รอท่า

ผมชอบกินเหล้ากับเขา แต่สิ่งที่ชอบมากกว่าคือระเบียงใต้ซุ้มต้นแก้ว ต้นแก้วที่มีตุ๊กตาเก่าแก่แขวนระโยงระยางตามกิ่งก้าน บางตัวน่าจะห้อยโหนอยู่ที่นี่เกินห้าปีเจ็ดปี สังเกตจากร่องรอยแสงแดดและสายฝน บางตัวอาจเพิ่งมาไม่นานนัก ผมชอบบึงน้ำกว้างๆ ข้างบ้านที่บางวันจะมีเรือหาปลาลำเล็กๆ มองคล้ายภาพเขียนจีนแบบ one stroke painting ชอบต้นไม้ใหญ่ ชอบเถาวัลย์ที่เลื้อยเลาะป่ายปีนเหมือนคนเอาแต่ใจ ชอบแมวชื่อหมอก ชื่อเหมย ที่ไม่เคยยอมให้เข้าใกล้ และแน่นอนว่าชอบภาพจิตรกรรมใหม่เก่าที่เขาเขียน

กินเหล้าไม่มาก กรึ่มๆ มึนเมาบางเบา มันทำให้หัวใจเราสดชื่น และ ณ ริมระเบียงต้นแก้วนั้นคล้ายว่าหลายครั้งผมเมาดอกไม้ เมาชีวิตประจำวันที่ห้อมล้อมห่อหุ้มด้วยความงาม เมาน้อยๆ บางเบา มันทำให้หัวใจของเราเบิกบาน

บ้านแห่งความรักของเขาเกือบจะล้อมรอบด้วยบึงใหญ่ ซุ่มซ่อนอย่างเปิดเผยกลางพฤกษ์ไพร บางวันเขาชวนผมไปเก็บเงาะสดๆ ในสวน บางวันผมขอปันกิ่งลั่นทมสีส้ม ขอหน่อกล้าสร้อยสายเพชรที่ผมหลงใหลพวงพุ่มกลีบสีขาวอ่อนโยนของมัน ฤดูหนาวขับเน้นให้ดอกไม้นามนี้ยิ่งตราตรึง จากบ้านท่าวังผาของเขา ทั้งลั่นทมและสร้อยสายเพชรขยายแพร่พันธุ์มาถึงผาสิงห์ บ้านของผม ปีที่ผ่านมาต้นไม้ทั้งคู่ให้ดอกงอกงาม เวลาเดินชื่นชมดอกไม้หน้าบ้าน ผมมักคิดถึงเรื่องเล่าใต้ซุ้มแก้วของศิลปินท่าวังผา ขอบคุณที่เผื่อแผ่ความงามมาให้

ไม่ใช่แค่ไม้ดอกไม้ประดับ นึกย้อนทบทวนชีวิตห้าหกปีที่ผมรู้จัก แวะเวียนไปเสวนากัน ผมคิดว่าเขาได้ปลูกเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสุนทรียศาสตร์ในเนื้อตัวของผม ยืนยันเรื่องหน้าที่ ชี้ชวนให้ตระหนักคุณค่าและข้อจำกัดของเวลา

หากใครสักคนถามเขาว่าเอาฟืนไฟมาจากไหน ทำไมทำงานได้สม่ำเสมอ ในร่างกายวัยเจ็ดสิบเก้าที่ไม่สู้จะแข็งแรงนัก ทำไมไฟไม่มอดดับ ผมคิดเอาเองว่าเขาไม่คิดเรื่องไฟหรอก มันเลยจุดนั้นไปนานแล้ว หน้าที่ต่างหาก หน้าที่ศิลปินคือการทำงานสร้างสรรค์ ส่วนเรื่องเวลา เวลาคือเพื่อนที่คอยกระซิบว่าอย่าโอ้เอ้ รีรอ ปล่อยผ่าน เวลาพูดกับทุกคนเบาๆ ว่ามันเดิน ถ้าคุณไม่เดิน ไม่ศึกษาเรียนรู้ คุณจะตกยุคหลุดสมัย ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง

ผมเห็นเขาเป็นนาฬิกาเรือนใหญ่ เข็มที่กระดิกเดินไปแต่ละครั้งคล้ายจังหวะพู่กันที่วาดแต้มไปบนแคนวาส

จังหวะที่เท่าทัน สอดคล้อง ลงตัว ชีวิตและผลงานศิลปะก็ออกมามีสีสัน เปี่ยมเสน่ห์

ผมเห็นเขาเป็นไม้ใหญ่ที่หยั่งรากแทงลึกลงไปบนผิวโลกแห่งงานสร้างสรรค์ ไม้ใหญ่ยืนสงบ ไม่หวั่นไหว ไม่ไหลตามกระแส หากยืนหยัด ยืนระยะ ไม้ใหญ่ที่ถ้าใครอยากเห็นก็ต้องไปหา

อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านอยู่ไกล ถ้าคุณยังไม่สะดวกจะไป วันนี้ผมขออนุญาตแบกบางกิ่งก้านมาให้ชม อาสาเป็นตัวเชื่อมร้อยเพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางศิลปะให้แข็งแรง หยั่งรากลึก สนามวรรณกรรมบ้านเรามีน้อย สนามจิตรกรรมก็เช่นกัน หนำซ้ำเมื่อรัฐไม่ฟังก์ชัน ไม่เห็นคุณค่า มันจำเป็นที่เราต้องออกแรง สุดแรงเท่าที่มี ขอบคุณเพื่อนพี่น้องทุกคนที่ช่วยกันออกแรง จับมือกันสร้างระบบนิเวศให้สมดุล น่าอยู่ 

เมื่อระบบนิเวศดี ทุกชีวิตย่อมมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ยากไร้นัก

ดีใจและขอบคุณอีกครั้งที่มางานวันนี้ มือทุกมือของทุกคนเป็นสิ่งที่ผมระลึกจดจำ

แม่มักบอกว่า ผมมือแข็ง ..น่าจะใช่ เพราะแท้จริงในชีวิตประจำวัน พักหลังผมก็ยกมือไหว้เขาน้อยลงๆ บางทีถือวิสาสะไปจับแขนบีบไหล่ พูดจาหยอกล้อแรงๆ เหมือนไม่รู้สัมมาคารวะ

ในทุกการกระทำของคนมือแข็ง ผมไม่คิดว่าตัวเองปีนเกลียว เทียบรุ่น ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ หรือไม่เคารพ 

กล่าวชัดๆ กับทุกคน ณ สถานที่อันแวดล้อมด้วยภาพเขียนที่งดงามแห่งนี้ ผมคิดว่าการเคารพมีหลากหลายรูปแบบ

และแน่นอน, การรับเป็นธุระ ถืองานศิลปะมาให้พวกเราทุกคนชื่นชมในวันนี้ สำหรับผม นี่คือการแสดงความเคารพ เท่าที่นักเขียนคนหนึ่งจะสามารถแสดงต่อหน้าศิลปินที่แท้จริงคนหนึ่ง

สามทุ่ม, แสงไฟในห้องยังส่องสว่าง ใครบางคนนิ่งพินิจอ่านข้อความข้างผนัง

An artist of Tha Wang Pha, Nan province, seventy-nine years old, Patarut is still painting, like breathing. His passion is abundant, his persistence like that of a stallion: robust and potent. 

His body is indeed a metropolis of diseases: alzheimer, parkinson, depression, dermatitis, covered in scabs, numbness, headaches, and coughing. He cannot fall asleep without a ventilator. 

“My trembling hands are frustrating. My paintings are no longer satisfactory. I’m shaking, but some days I’m stable. My painting doesn’t require stillness so I let my body tremble. Let it shake (laugh). Emotion flows. Thinking grows. Imagination sparks. Music also helps. It has pressure and pulse like painting. A pleasant melody is like a beautiful colour.” 

Can you paint with trembling hands?

I think I can. It’s not a dead end. 

Does your desire to paint has fade away? 

No, it’s a duty. …No, it’s not. It’s a necessity. 

How so? 

I need to paint, or else I feel worthless, lonely. I paint to kill loneliness, to de-stress. I would feel obsolete if I don’t paint and let the time go by. My time is running out.

How do you feel about your life today?

Fine

Do you consider it a pleasant time? 

It cannot be perfect. I’m old. Luckily, I’m not debilitated. I still want to paint. That desire is still alive and well. That’s all. 

Are you satisfied with your own works? 

Fifty-fifty. It could be better, I think. I’m not a hundred percent certain for I have observed my peers and wonder why they feel stuck so easily. [laugh] Oh, so you quit? Given up? I will seek a new way out.. Anything but surrender. 

Why?

Because I own my life and my mind. Painting is more fullfiling than eating. It’s spiritual, I guess. I have faith in it. 

For over thirty-seven years, Patarut Sayasevi has worked as a civil servant to conserve mural paintings. But he quit one year before his retirement. One year was too long to wait; even one more day was too much to bear. He yearned to paint like the young boy who walked into the gates of Silpakorn University he once was.

From the day he quit his job to now,  the day that his biological clock strikes at kilometre no. 79, he paints with complete dedication. 

เก็บตกและตัดตอนจากบทสัมภาษณ์ ผมเขียนเรื่องนี้ด้วยภาษาไทย แต่มีเพื่อน มีคนร่วมทาง บางอย่างที่อาจไม่เคยคิดมาก่อน มันเป็นไปได้ แน่ละ, อีกหลายเรื่องต่อให้หมกมุ่นคิดและพยายามทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็อาจไม่เป็นจริง ระดับความยากง่ายและปัจจัยที่หลากหลายเป็นตัวแปรชี้วัด

“พอจะไปฝรั่งเศสได้มั้ย” ภัทรุตม์ สายะเสวี มองที่ภาพเขียนบนผนัง 8 space แล้วหันมาสบตาถามด้วยรอยยิ้ม

ผมไม่ได้ตอบ แต่คิดไปถึงเหตุการณ์หนึ่งเมื่อหลายปีก่อน

ไม่น่าเชื่อ แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่มันเคยเกิดขึ้น

ในม็อบที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันเมื่อปี 2019 ผมบังเอิญเจอเขาที่สนามหลวง ค่ำมืด คนเป็นหมื่นๆ คนน่านสองคนโคจรไปพบเจอกันโดยไม่ได้นัดหมาย พอรู้พื้นความคิดเขาอยู่ รู้ความห่วงใย เฝ้าติดตามการบ้านการเมือง แต่ใครจะนึกว่าจากน่าน ศิลปินอาวุโสคนหนึ่งจะเดินทางไกลมาร่วมขบวน สอดเสริมประกอบส่วนกับคนหนุ่มสาว เดินอยู่ในสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะออกแรงโดยไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย

พอจะไปฝรั่งเศสได้มั้ย–ไม่ว่ากับคำถามนี้หรือคำถามไหน ผมคิดว่าทุกอย่างมันตอบตัวเองไปหมดแล้ว

ด้วยมือและเท้าที่ก้าวหน้าอยู่ทุกวันๆ.

 

 


เรื่องและภาพโดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

You may also like...