the editor

ทาง เท้า เรา และเธอ

โดยทั่วไปแล้วทางไม่สวยเท่าหญิงสาวหรอก

ถนนบางสายคดโค้ง แข็งแกร่ง ลาดชัน บางเส้นทางอันตราย ทว่ามันก็มีเสน่ห์ เป็นเป้าดึงดูดสายตา ยิ่งถ้ายานพาหนะดีๆ ไดรเวอร์หนุ่ม รวมทั้งมีเงินและเวลาให้ใช้จ่ายอย่างเหลือเฟือ เกมแบบนั้นสนุก

‘เกม’ หมายถึงนานๆ ที นอกชีวิตประจำวัน ‘เกม’ คือการท่องเที่ยวเดินทาง เกมในการพาหัวใจออกไปเย้ยฟ้าท้าแดด ล้างรูทีนเมืองหลวง แน่นอนว่าเกมทำนองนี้สนุก และมันอยู่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ ‘กรอบ’ หรือเงื่อนไขข้อจำกัดที่เราไม่ได้อยากเล่น ไม่ใช่เวลาเล่น เส้นทางแม้เพียงมีน้ำเจิ่งนองเล็กน้อย บางค่ำคืนมันสร้างปัญหาหนัก

บ้านแค่ใกล้ๆ มันไกล และไม่แน่ใจว่าจะกลับถึงบ้าน

ไม่ต้องรีบหรอก ข้ามภูเขานี้ไป ภูเขาลูกใหม่ก็รออยู่

“กูไม่ได้รีบ” ผมเถียงบทกวีของตัวเองภายในใจ ทางที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็หาใช่ขุนเขายะเยือก มันคือทางเข้าบ้านซึ่งมีพิกัดทำเลห่างจากวัดภูมินทร์ไม่ถึง 7 กิโลเมตร พูดให้ง่ายก็คือ ณ จุดที่หายใจใช้ชีวิตอยู่เป็นเขตชุมชนกลางเมืองน่าน ‘เมือง’ แปลว่าโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จบสิ้น ถนน น้ำ ไฟ ไม่ต้องมาคุยกัน

ที่ต้องคุย ที่มันไม่จบ เพราะความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ฝนมา แทนที่จะดีใจเพราะแห้งแล้งฝุ่นแดงมานาน การณ์กลับกลายเป็นว่าเส้นทางสัญจรเละเป็นหลุมลึก ลื่น เรียกว่าต้องลากขาช่วยค้ำยันไปตั้งแต่ต้นซอยจนถึงท้ายซอย ไม่งั้นล้อหลังก็จ้องจะแซงล้อหน้าอยู่เรื่อย ยกเท้าขึ้นเมื่อไร มอเตอร์ไซค์ปัดซ้ายขวาเสียหลักตลอดเวลา

รถยนต์และคนหนุ่มอาจจะพอเอาตัวรอด แต่คนเจ็บป่วยท้องไส้ คนวัยชรา จะเข้าจะออกจากบ้านแต่ละทีมันคล้ายต้องกำหมัดตัดใจ ละลืมคำถามที่ยังหาคำตอบไม่เจอว่าทำไมเรื่องพื้นฐานเท่านี้ บ้านเมืองของเราจึงบริหารจัดการทรัพยากรได้ไม่ครอบคลุม งบประมาณแผ่นดินแต่ละปีถูกใช้ไปแบบไหน กอดกองอยู่กับผู้ใด

สองมือเกร็งควบคุมทิศทาง สองเท้าแปะป่ายพื้นเปียกแฉะประคับประคอง สมองไม่วายครุ่นคิด

ฝนตกติดต่อกันนานนับสัปดาห์ จิตตกล่วงหน้าไปไกลกว่านั้น บางวันที่ฝนซา ผู้คนร่วมทุกข์ในซอยเดียวกันถือจอบเสียมมาปรับหน้าดิน ปักเสาปูนกันรถกันคนไถลลื่นลงคลอง ทำกันเองด้วยสองมือ ใช้ทุนใช้แรงเท่าที่มี

เห็นภาพเช่นนี้ คำถามแสนสามัญยิ่งวนเวียนคุคลั่ง–ตกลงเราจะแยกแยะไม่ได้จริงๆ หรือว่าระหว่างรถถังและซุ้มสีทองขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์ กับถนนราดยาง อันไหนควรจัดอันดับไว้ก่อนหลัง อะไรสำคัญไม่สำคัญกับชีวิตประชาชน

ที่น่าน ถนนเลขสาม ‘ป๊อป’ จริงๆ คนแห่ไปถ่ายรูปอวดกัน ทางด่วน ทางบายพาสเลี่ยงเมือง หลายที่ทำได้ดีแล้ว น่าชื่นใจ น่าปรบมือ แต่เรารับรู้กันแค่ไหนว่าในหลายตำบลอำเภอยังมีถนนอีกมากที่คล้ายปลักควาย ถนนที่คนในชุมชนต้องควักเนื้อแชร์กันจ่ายค่าถมหลุมบ่อ เพราะรอเท่าไร งบก็ไม่เคยตกมาถึง

ทนมาสองวัน ดูท่าไม่น่าจะหายเอง ผมตัดสินใจไปโรงพยาบาล

คล้ายๆ อุบัติเหตุ ความป่วยไข้บางชนิดมันมาปุบปับฉับพลัน มาทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด มาก็มา และถ้าต้องบำบัดรักษาก็เอา ไม่มีใครชอบไปงานศพแน่ๆ ไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล แต่โลก เราเอาแต่เรื่องที่ชอบไม่ได้

ใต้อักษรภาษาไทยที่อ่านได้ใจความว่า ‘ห้องตรวจโรค’ มีอักขระลาวกำกับแนบซับไทเทิล (โรค=พะยาด/ น่ารักใช่มั้ย)

แม้นิ้วโป้งเท้าขวาจะบวมเป่ง เดินไม่ถนัด แต่ผมรู้สึกเบิกบานกับความเอื้อเฟื้อมีเยื่อใยต่อคนไข้ประเทศเพื่อนบ้าน มันไม่ได้ยาก ไม่มีต้นทุน แต่การมีวิชันเช่นนี้ ผลดีทางการสื่อสารเกิดขึ้นทันที

“เป็นอะไรมาครับ” บ่ายแก่ๆ แล้ว คุณหมอยังดูกระฉับกระเฉง พร้อมวินิจฉัย ที่จริงเมื่อช่วงสายผมมาแล้วรอบหนึ่ง คุณพยาบาลให้ข้อมูลว่ามีคนไข้รอร้อยกว่าคิว ยังไงหลังเที่ยงมาใหม่น่าจะดีกว่า เธอคงเห็นว่าอาการไม่ได้หนักหนา แต่ก็ถามซ้ำๆ ว่าพอเดินไหวนะ จะนั่งรถเข็นหรือเปล่า

ผมปฏิเสธ และกลับมารอภาคบ่าย ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน และใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงก็ได้พบแพทย์

เขาจับบีบเบาๆ บริเวณที่บวม พลิกดูรอบด้าน ก่อนแจ้งว่าน่าจะติดเชื้อ ก่อนหน้านี้ผมลุยทุ่งนามาหลายวัน ไม่มีร่างกายส่วนไหนเป็นแผล ไม่ได้โดนแมลงสัตว์กัดต่อย เท่าที่รู้ตัวคือแบบนั้น แต่มันก็อาจมีที่เราไม่รู้ตัว และเพียงช่องทางเล็กๆ เชื้อร้ายก็ทำให้นิ้วเท้าปูดบวม สวมรองเท้ายาก เดินคล้ายคนขาไม่เท่ากัน

“คงต้องดูดหนองออกนะ” คุณหมอพูดพลางพิมพ์คอมพ์ระรัว ลงลายมือยุกหยุยบนกระดาษ ก่อนยกมือไหว้และส่งใบวินิจฉัยให้ผมไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน

พอๆ กับจำนวนเตียง พยาบาลห้าหกคนว่างพอดี เธอคนหนึ่งบอกผมให้ไปนอนรอที่เตียงด้านในสุด

วงเสวนาไม่ได้หยุด บทสนทนาดำเนินไปเคล้าคลอเสียงหัวเราะ ขณะที่ใครคนหนึ่งลากถาดเครื่องไม้เครื่องมือมาตรงเท้า ผมพับขาซ้าย สอดเท้าไว้ใต้เข่าขวา สองมือเกาะกุมแนบอก หลับตา แต่งหน้าอารมณ์ตัวเองทำนอง.. โรคชั้นต่ำ อยู่ตั้งไกลหัวใจ ไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก

“เดี๋ยวเจ็บนิดนึงนะ ฉีดยาชา” สิ้นเสียง ผมรับรู้ว่ามีของแหลมจิ้มลงบริเวณโคนนิ้วโป้ง เจ็บนิดๆ สักอึดใจ ถัดมามีมือบีบคลึงรอให้ยาชาออกฤทธิ์ ครู่เดียว ความเจ็บจับใจก็พุ่งจี๊ดจากคมมีดที่กรีดใต้นิ้วเท้า ผมว่ามันยังไม่ได้ชานะครับคุณพยาบาล แต่สายไปแล้ว ผมบีบมือแน่น ใจคิดถึงภาพคนชำแหละเนื้อสันคอหมู ตอนยืนดูมันก็น่ากินดี ตอนนี้ไม่ใช่

‘เจ็บจนเจียนตาย ไม่อาจร้องให้ใครเห็น สิ่งที่เราเป็น ผ่านมาคืออะไร’ ผมปรับโหมดคิดถึงเพลงล่าสุดของ เสก โลโซ ‘แม้จะเจ็บเจียนตาย จะยังก้าวไป ก้าวให้ไกลกว่าเดิม’ มันไม่ได้ช่วยให้หายเจ็บ หายก็บ้าแล้ว แต่นอนอยู่คามีดคาเขียงแบบนี้เราจะไปทำอะไรได้ แหกปากร้องเหมือนเด็กอนุบาลสองงี้ ตลกตาย เจ็บก็ทนเอาและคิดเรื่องอื่น พี่เสกเอาไม่อยู่ใช่มั้ย ผมคิดถึง คลินต์ อีสต์วูด อันนี้ไม่ตลกตาย แต่ตลกจริง อย่าถามหาเหตุผลเลยว่าอะไร ยังไงเหรอ เล่ามาๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่นึกถึงภาพคาวบอยนั่งบนอานม้าย่างเหยาะไปในทุ่งแสงตะวันแล้วมันคึกเคลิ้ม ล่องไหล ไม่ใช่ม้าก็ได้ อาจจะขับรถกระบะตอนเดียวเหมือนในหนัง The Bridges of Madison County บางช่วงจอดแวะถ่ายรูป เก็บดอกหญ้าริมทาง อุบายปัญญาอ่อนแบบนี้ช่วยให้ความเจ็บทุเลาหรือเปล่า คำตอบคือไม่เลย แค่มันก็ยังดีกว่านอนเฉยๆ คุณเคยหรือเปล่า สมมุติตัวเองเป็นดาราหนังคาวบอย ทำงานหนัก ใช้ชีวิตเร่ร่อน อยู่กับความเหงา ร้านเหล้า บางทีมีบาดแผลต้องใช้มีดกรีดกระสุนออก..

เตียงข้างๆ มีคนไข้ใหม่เข้ามานอนร้องโอดโอย พยาบาลบอกว่ากำลังช่วยอยู่ หยุดร้องซะที เขาไม่หยุด บ่น ด่า เอะอะ กึ่งๆ เพ้อ พยาบาลเอาน้ำเย็นเข้าลูบ พูดอ่อนหวาน ปลุกปลอบ ก่อนชวนคุยสอบถามชื่อแซ่

“ลุงชื่ออะไรคะ”

“สรพงศ์ ชาตรี” เขาตอบเสียงดังแบบคนมั่นใจในตัวเอง

พยาบาลทั้งห้องฮาครืน ผมไม่ฮา แต่เหมือนไม่เจ็บไม่ปวดใดๆ แล้ว คิดในใจอย่างสุภาพอ่อนโยนว่า–เหี้ย แม่งหนักกว่ากูอีก

ผ่านไปสามเดือนเต็มๆ ที่เลือกตั้งแล้วยังหาตัวนายกฯ ไม่เจอ ตั้งรัฐบาลไม่ได้

พรรคก้าวไกลชนะ มี ส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะ ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่โหวตให้ บ้างหน้าด้านหนีประชุมดื้อๆ ไม่สู้หน้า ไม่กล้าเผชิญสถานการณ์ความเป็นจริงที่ตนต้องรับผิดชอบ

ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอยู่เพราะรัฐธรรมนูญเขียนกติกาไว้แบบนี้ รัฐธรรมนูญจากเครือข่ายรัฐประหาร พฤษภาคม 2014 ที่ตอนทำประชามติ ไปไล่จับคนคัดค้าน ไม่รับร่าง ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายคิดเห็นแตกต่างอภิปราย พูดง่ายๆ ว่าเป็นประชามติที่ขาดความชอบธรรม ‘ไม่ฟรีและไม่แฟร์’

ความเป็นจริงก็คือ ทั้งที่รู้ว่า ‘ไม่ฟรีและไม่แฟร์’ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราจำยอมใช้อยู่ เพราะผลการโหวตออกมาว่ามีประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่าฝ่ายไม่รับ

เส้นทางขรุขระ เละๆ ลึกๆ เป็นหลุมบ่อ ที่รถยนต์ยวดยาน เด็ก ผู้ใหญ่ ใช้กันอยู่ตอนนี้คือผล บนแผ่นดินเดียวกัน เราไม่อาจอ้างได้ว่า อ้าว ผมไม่รับ ดิฉันรังเกียจ ในเมื่อมวลชนส่วนใหญ่เขาเอาแบบนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะชอบ ลองดู หรือไม่รู้ข้อมูลเพียงพอเพราะถูกปิดกั้น เกมมันโอเวอร์ไปแล้ว เราต้องรับชะตากรรมเดียวกัน

ต่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส.ว. เป็นกลุ่มบุคคลมีอำนาจที่สามารถทำให้ถนนสายนี้ดีขึ้นโดยเร็วได้ แต่พวกเขาและเธอไม่ทำ หลายคนเชิดหน้าชูคออ้างสถาบัน ซึ่งนั่นก็เป็นผลอีกเช่นกัน เขาและเธอมาจากการแต่งตั้งของคณะปืน ยืนอยู่ใต้ร่มเงาชนชั้นนำซึ่งถ้าหากใครก้าวล่วงวิพากษ์วิจารณ์ ก็เสี่ยงคุกตะราง

เพื่อไทยในฐานะพรรคที่มีเสียงอันดับสองรับไม้ต่อ ดูทรง รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าคงมุ่งไปทางทิศ ‘สลายขั้ว’ รวมทุกฝ่ายที่เคยผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ปรองดอง ลืมอดีต เริ่มต้นกันใหม่ และนิมนต์ก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้าน

เปรียบให้เห็นภาพชัดๆ ประเทศของเราประกอบด้วยคนหนุ่มสาว กับคนสูงวัย ก้าวไกลเป็นตัวแทนกลุ่มแรก และที่เหลือคือผู้อาวุโส เกมการเมืองที่กำลังเดินกันอยู่เป็น ‘ทางเลือก’ และ ‘โลก’ ของคนอายุมาก ทั้งที่จริงสังคมอุดมคติก็เหมือนทีมฟุตบอล เราต้องผสมผสานและโอบรับความฝันของคนทุกกลุ่ม

ที่กำลังเกิดขึ้นคือคนหนุ่มสาวถูกปฏิเสธ ที่กำลังเกิดขึ้นคือความเห็นแก่ตัวของผู้อาวุโส สำหรับเขาและเธอ ความฝันหรือจินตนาการใหม่ๆ เป็นความเพ้อเจ้อ

ยอดพีระมิดมีอยู่นิดเดียว แต่ผู้อาวุโสก้มกราบ ยอมจำนน พลีชีพ ปกป้องคุณค่าอนุรักษ์นิยมไว้อย่างแข็งกร้าว มันน่าแปลกใจไม่น้อย ว่าพวกเขาและเธอไม่รู้จริงๆ หรือว่าโลกนี้หาได้มีคุณค่าเดียว คุณค่าเดิมแบบที่เขาผูกขาดยึดถือ ทำไมไม่เปิดใจต่อคุณค่าใหม่ๆ ของโลกสมัยใหม่ อ่านไม่ออกและมองไม่เห็นจริงๆ หรือว่าเบื้องหน้าของความชราอาวุโสคือสุสาน

ระหว่างเรา มันจึงเป็นวันเวลายากลำบากที่คล้ายอยู่โลกคนละใบ แทนที่จะแลกรับหลวมรวม ฝ่ายผู้อาวุโสระดมสรรพกำลังทุกต้นทุนขับไล่นักฝัน ไม่ให้พื้นที่คนหนุ่มสาว ทั้งที่สังคมผู้สูงวัยกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ ทั้งที่คนหนุ่มสาวคือความจำเป็น คือผู้สร้างผู้ผลิต ผู้ใช้แรงงาน คือผู้กล้าหาญที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ แต่โชคร้าย ถูกความโง่เขลาเห็นแก่ตัวของคนผ่านโลกมามากปิดประตูใส่หน้า

ถามว่า เราจะมองหาอนาคตจากสังคมนี้ได้อย่างไร พูดตรงๆ ว่าพยายามคิดจนหัวจะแตกแล้วผมเองก็ยังมองไม่เห็น

เอาไงกันดี–นั่นสิ ใครนึกทางออกใดได้บ้าง

เจอมิตรสหายแต่ละครั้ง ทั้งที่อยากคุย หากบ่อยครั้งก็ต่างนั่งคลึงแก้วกลืนกินความเงียบ เราจะต้องถามกันด้วยหรือว่าทศวรรษที่ผ่านมาใครมีเงินออมเพิ่มขึ้นบ้าง หรือใครกี่คนมีชีวิตที่ดี

เอาแค่เดือนๆ หนึ่งเอาตัวให้รอด เอาแค่ปีๆ หนึ่งไม่มีหนี้สินพอกพูนเพิ่มเติม ความรู้ใหม่ๆ ไม่ต้องพูด จะเอาเวลาที่ไหนไปเสาะแสวงหา เวลาว่างเพื่อพิจารณาทบทวนชีวิตไม่รู้จัก แม้อยู่กับคนรัก ทุกคืนต้องกดนาฬิกานับเวลานอน รีบหลับ เพื่อจะรีบตื่น แยกย้ายกันไปทำมาหากิน

คนรุ่นๆ ผม ที่อายุห้าสิบบวกลบ เราเคยสัมผัสลิ้มรสของคำว่า ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ เศรษฐกิจดี ตีง่ายๆ เอาว่าหลังส่งทหารเข้ากรมกองปลายปี 1992 เป็นต้นมา โบนัสเป็นคำในชีวิตประจำวัน คุ้นเคย สบายใจกระทั่งบางเราเอาไปตั้งชื่อลูก โอเค วิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 บวกเปลี่ยนค่าเงินบาท พังกันไปพักหนึ่ง ไฟแนนซ์ล้ม นักข่าวตกงาน ถ้อยคำร่วมสมัยเวลานั้นคือ ‘เลย์ออฟ’ และ ‘เปิดท้ายขายของ’ แต่เพียงสองปีก็ฟื้น ธุรกิจเอสเอ็มอีผลิบาน ตลาดแรงงานกลับมาเติบโต บ้านและที่ดินเฟื่องฟูกว่ายุคชาติชาย แวดวงหนังสือ สำนักพิมพ์ แมกกาซีน คึกคักเป็นปรากฏการณ์ กระทั่งรัฐประหารกันยายน 2006 ทุกอย่างที่กำลังรุ่งเรืองก็ย่อยยับ และเละเข้าไปได้อีกในปี 2010 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กระสุนจริงฆ่าคนเสื้อแดง ปี 2013 เทพจำแลงแปลงเป็นประชาชนนกหวีดออกมาม็อบ สุดท้ายก็อย่างที่เห็น รัฐประหาร ‘ใครสั่งมา’ เมื่อพฤษภาคม 2014 คือบาดแผลใหญ่ที่ล้มรื้อทำลายทุกองคาพยพ หลักการและคุณค่าสมัยใหม่ถูกฉีกทิ้งไม่เหลือซาก ศาลสถิตยุติธรรมมีอยู่จริงแค่บนป้ายชื่ออาคาร

ตั้งแต่เกิด คนรุ่นสามสิบกลางๆ ลงไป พวกเขาและเธอไม่เคยมีโอกาสสัมผัสรับรู้เลยว่าเศรษฐกิจดี สังคมดี ชีวิตที่ดีคืออะไร

ถามว่า ผลลัพธ์ตรงหน้าหรือตราบาปเหล่านี้ พวกเขาและเธอเป็นคนทำใช่ไหม ทำแล้วก็รับไปสิ จะมาโวยวายอะไร

คำตอบที่แสนเศร้าคือเปล่าเลย, มันเป็นเส้นทางที่คนรุ่นพ่อแม่ขุดหลุมวางกับดักเอาไว้ปักชนักลูกหลานของตัวเอง

ถนนดีๆ ไม่มีให้ ยังใจร้ายทิ้งระเบิดเวลาไว้รอตลอดสองข้างทางเดิน

น้ำใสๆ ในลำธาร กับน้ำเน่าเจิ่งนองบนถนนลูกรังขรุขระแตกต่างกันแน่นอน

เช่นกัน, เท้าที่แข็งแรงปลอดโรคภัย กับเท้าติดเชื้อบวมโตเป็นแตงโมจินตหราก็ไม่เหมือนกัน ..ดีสิ ทำไมจะไม่ดี ถ้าเลือกได้

จ่ายเงินสามสิบบาทค่าผ่าตัดทำแผลแล้วผมขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน แวะซื้อรองเท้าบู๊ตคู่หนึ่งไว้ใส่กันน้ำโคลนเปื้อนเปรอะ แต่แผลสดๆ หุ้มผ้าก็อชหนาเตอะ มันยังเจ็บปวด ยัดเท้าเข้าไปไม่ได้ เจ้าของร้านชำแนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกห่อชั่วคราว เอาพอไม่ให้เปียก เผื่อฝนตกระหว่างทางหรือพลาดทิ้งเท้าแหย่พื้นผิวน้ำบนถนน

ลำพังเส้นทางเละลึกเป็นหลุมบ่อก็ต้องแปะป่ายคลานสี่เท้าอย่างเคร่งเครียดอยู่แล้ว พอมีโบนัสสองเด้งบวกเท้าเป็นแผลบวมระบม เวลานาทีสองนาทีบนหลังอานคือฤดูกาลในนรกโดยแท้

เราอยู่กันหลายคน หลายแนวคิดความเชื่อ น่าเสียดาย.. คนบางกลุ่มทำตัวเหมือนมีแต่พวกตัว หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาแข่งขันที่พวกเขาเป็นคนกำหนดกติกา พอผลออกมาก็ไม่ยอมรับ ไม่เอา ไม่ยอม ไม่เรียนรู้การเป็นผู้แพ้ ถนนหนทางที่ควรจะดี มันก็เละเทะ ถามว่าบนแผ่นดินเดียวกัน คุณจะหนีไปไหน ถึงอย่างไรเราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมทาง

ทางไม่ดี ช่วยกันทำให้ดี ‘ดีกว่า’ ไม่ใช่ผมคนเดียวหรอกที่ป่วยไข้ ไม่ใช่ผมคนเดียวแน่ๆ ที่ต้องไปโรงพยาบาล ใครจะรู้ พรุ่งนี้บางทีก็อาจเป็นคุณ เป็นคนที่คุณรัก

โลกไม่ได้มีแต่รถยนต์และคนหนุ่ม เช่นกัน, โลกไม่ได้มีแต่คนสูงศักดิ์ที่ไม่รู้จักแคร์และเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว

เราอยู่กันหลายคน หลายแนวคิดความเชื่อ โชคร้าย เวลานี้เหล่าผู้อาวุโสและผู้มีอำนาจล้มกระดานหลักการทั้งหมด ทางที่เรามีมันแคบลงเรื่อยๆ เละ ลื่น น้ำเน่าขังเจิ่งนอง

เอาไงกันดี–นั่นสิ ใครนึกทางออกใดได้บ้าง นาทีที่พยายามประคับประคอง เกร็งสองขาสองมือให้ทรงตัวสมดุลพาตัวเองคืบคลานไปให้ถึงบ้าน ผมคิดว่าชีวิตที่ดีประกอบด้วยคุณภาพทางและเท้า ระหว่างเราและเธอ จำเป็นที่ต้องหมั่นตรวจสอบเฝ้าระวัง ถ้าทางไม่ดี เท้าต้องแข็งแรง เดิน ยืนให้องอาจมาดมั่น เท้าไม่ดีมันมีชีวิตยาก บนเส้นทางป่าเถื่อนรกชัฎ ในห้วงยามมืดมนที่พายุฝนกระหน่ำซัดไม่หยุดหย่อน

ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงที่สุดแล้วเท้าไม่สู้จะเป็นปัญหาเท่าไร เท้าใครเท้ามัน เราฝึกฝนฟูมฟักได้อย่างที่ใจต้องการอยู่แล้ว แม้จะมีอุบัติเหตุบ้าง ทางนั่นแหละที่น่าเป็นห่วง บ้านเมืองของเราขาดแคลนนักบุกเบิกแผ้วถางเส้นทางใหม่ๆ ทางเลือก ทางออก ทางที่เท่าเทียม ครั้นพอมีคนกล้าลุกขึ้นมาทำก็ปิดทางขวางกั้น บั่นทอนให้ท้อแท้สิ้นหวัง กลิ่นความเจริญที่ทุกคนรอคอยจึงเดินทางมาถึงช้า

แต่จะช้าอย่างไร วันหนึ่งมันก็ต้องมา คนเดินบ่อยๆ เดินเยอะๆ ป่าก็เปลี่ยนเป็นทาง ยิ่งช่วยกันออกแรงเดินมาก ทางก็ยิ่งเพิ่มมาก หลากหลาย

มือ เราใช้กันไปแล้วตอนกาบัตรเลือกตั้ง ระหว่างเรา ระหว่างเธอ ถัดจากนี้ถ้าเข้าใจไม่ผิด ผมคิดว่าอาจถึงเวลาต้องใช้เท้า.

 

 


 

เรื่องและภาพโดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

You may also like...