the editor

บอกคำรักซ้ำๆ ยังเบื่อฟัง

หลายคนด่าเสียๆ หายๆ บางคนเสียดายที่บอลไทยตกรอบ หมดสิทธิ์ลุ้นไปบอลโลก

เตะกับจีนนัดเหย้า แพ้คาบ้าน แบบไม่น่าแพ้

เตะกับจีนนัดเยือน เสมอ แบบโคตรน่าชนะ

เตะกับสิงคโปร์นัดสุดท้ายที่กรุงเทพฯ ชนะ 3:1 ทั้งที่มีโอกาสอีกเป็นสิบ แต่ทำไม่ได้ ผลสกอร์รวมประตูได้เสียแพ้จีน ความหวังที่ทำท่าจะเป็นจริงสูญสลาย นักเตะหลายคนร่ำไห้ มันเป็นวันแห่งชัยชนะที่มีแต่น้ำตา

ผมไม่ด่าและไม่เสียดาย สิ่งที่เห็นและเป็นไปชอบธรรมแล้ว

นักบอลไทยพยายามเต็มที่แล้ว แต่ศักยภาพมีเท่านี้ เรายังไม่ดีพอ บอลแพ้ไม่ได้บอกแค่ว่า 11 ผู้เล่นในสนาม รวมทั้งทีมสตาฟโค้ชพ่ายแพ้ แต่มันสะท้อนมาตรฐานสังคม บอกคุณภาพประเทศ ว่าเราสู้เขาไม่ได้

ไม่ว่ามองมุมไหน ความเป็นมืออาชีพ ความเอาจริงเอาจัง ความต่อเนื่อง และแน่นอน, โครงสร้างที่ไร้กระดูกสันหลัง ซ้ำหวังพึ่งไสยศาสตร์ อธิบายออกมาแจ่มแจ้งแล้วในสนามฟุตบอลว่าเรายังเป็นพวกมือใหม่ ห่างไกลความเจริญ

nan dialogue ก่อตั้งในเดือนสิงหาคม 2021 ผลิตต้นฉบับรายสัปดาห์ต่อเนื่องมาได้ราวสองปี แล้วค่อยๆ แผ่ว กระทั่งเงียบหายในที่สุด

ด่าได้นะครับ เหมือนที่ใครอยากด่าบอลไทย วิพากษ์วิจารณ์ได้โดยไม่มีเพดาน

การยืนระยะได้เท่านี้ถือว่าน่าผิดหวัง พลังของคนทำสื่อกระแสรองยังปักหลักปักธงไม่สำเร็จ ความตั้งใจที่จะกระจายอำนาจทางข่าวสารให้มันเคลื่อนขยับออกนอกกรุงบ้าง ยังเป็นเพียงสายลมบางเบา โบกพัดและพับพัง หมดแรงรวดเร็ว

ใครมีทัศนะอย่างไร ว่ากันไป

สำหรับผู้เล่น ผู้ผลิต ผู้ออกแรงที่อยู่ในเกม ผมมองตัวเองคล้ายๆ สถานการณ์ฟุตบอลไทย คือเกือบๆ ใกล้ๆ ทำท่าจะดี แต่ที่สุดก็ไม่รอด

อาจมีข้อแตกต่างบ้างว่าขณะที่โลกของฟุตบอลมันชัด หลักฐานแสดงต่อหน้า ไปบอลโลกไม่ได้จะเอาอะไรมาคุย แต่อาชีพนักเขียน กวี หรือสื่อมวลชน ไม้บรรทัดอยู่ในอากาศ ถ้าสายตาเอียงขวาเอียงซ้าย ไม่ซื่อสัตย์ มันยากที่จะมองเห็นความจริง โชคดีผมผ่าต้อออกไปนานแล้ว เลยคิดว่าพอรู้ ว่าตัวเองกำลังเดินอยู่ในสวนหรือสุสาน

ว่ากันแบบแฟร์ๆ ลงสนามมา 30 ปี มีหนังสือเกือบๆ 30 เล่ม เป็นคนก่อตั้งเทศกาลบทกวี ‘น่านโปเอซี’ กระทั่งการริเริ่ม ‘เปิดน่านฟ้าบทสนทนาเสรี’ ในนาม nan dialogue (ซึ่งมีทั้งบทสัมภาษณ์ ผนึกกำลังกับเพื่อนนักเขียนคอลัมนิสต์ บางคนวิริยะอุตสาหะส่งงานมาเกือบร้อยชิ้น) ใครจะบอกว่างอมืองอเท้า ไม่เอาอ่าวไม่เอาทะเล ผมว่าก็ใจร้ายไปหน่อย

ด้วยความจริงใจ ผมกังวลกับตัวเองอยู่บ้าง ในข้อหา ‘ขี้เกียจ’

เท่าทันสันดานและตระหนักในจุดอ่อนข้อนี้ดี เลยพยายามตะเกียกตะกายวิ่งมาตั้งแต่แรกหนุ่ม ถึงวันนี้ก็พอกล้อมแกล้มปลอบตัวเองบ้าง หลอกตัวเองบ้างว่าไม่หรอกน่า คงไม่หรอก

กระนั้นก็ตาม ต่อรูปทรงที่เห็นและเป็นไป มันก็เหมือนบอลไทยคือนัวๆ เนียๆ อยู่แถวบ้าน เก่งแต่กับซีเกมส์ซึ่งผมคิดว่าแบบนี้ไม่มีอนาคต เป็นนักบอลเล่นไทยลีกอย่างเดียวไม่พอหรอก มันต้องออกไปเจอของจริงอย่างเจลีก หรือดิ้นรนไปยุโรป พัฒนาการจึงจะเกิด

เปรียบง่ายๆ เมื่อก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต เราอยู่กันมาได้ หอสมุดแห่งชาติอาจตอบโจทย์และเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสติปัญญา แต่ตอนนี้อินเทอร์เน็ตคือข้าวปลาอาหาร

คุณจะมีชีวิตอยู่ หรือพัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างไร ถ้าไม่ใช้เน็ต

เฉกเช่นกัน, เพื่อความก้าวหน้าและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ผมเห็นว่าเราแข็งขืนยืนยันอยู่แต่กับทักษะเดิมๆ ไม่ได้ บุญเก่าเริ่มร่อยหรอ ต้นทุนที่สะสมมาล้าสมัย พูดอย่างรวบรัดและโหดร้ายที่สุด ความรู้มันไม่ได้อยู่ในภาษาไทย

ตั้งแต่มหันตภัยโควิดซึ่งบังคับให้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ภาษาฝรั่งเศสถูกลากเข็นขุดรื้อขึ้นมาเรียนใหม่ แรกๆ ก็ไม่รู้เรื่องหรอก คำพื้นฐานบทที่หนึ่ง เช่น aujourd’hui ก็เขียนผิด ผันกริยา prendre สับสน (Je prends ตกลงว่ามันมี s หรือไม่มีกันแน่วะ) แต่นานวันเข้าผมพบว่าสิ่งนี้แหละที่ใช่ ภาษาเป็นประตูบานใหญ่ที่ไล่เราออกจากห้องแคบๆ มืดๆ ท้องฟ้าอยู่ทางโน้นตาเฒ่า ตื่นจากอคติและความลุ่มหลงในเผ่าพันธุ์ศักดิ์สิทธิ์เสียที

ครับ –เล่นไทยลีกมานาน ผมอยากออกไปสูดอากาศใหม่ๆ

คนใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สองที่สามในชีวิตประจำวันมาช้านานคงอดเอ็นดูไม่ได้ อีตาลุงนี่ไปอยู่ถ้ำที่ไหนมา

นั่นสิ โคตรโง่เลย โตเป็นควายป่านนี้ทำไมเพิ่งรู้คุณูปการของภาษา

อยู่ตรงนี้ อยู่ที่นี่แหละครับ อยู่กับมายาอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลว่า ภาษาไทยเจ๋งสุด ประเทศไทยจ๊าบสัส

แปลกดี ทั้งที่มาตุภูมิก็มีขนาดแค่เม็ดทรายบนแผนที่โลก ทำไมถึงคิดไม่เป็น ทำไมมองไม่ขาด ว่าโอกาสมันอยู่ข้างนอก ไม่รู้จักแหกตาดูเสียบ้างเลยว่าแต่ไหนแต่ไรพวกราชนิกุลเขาอ่านเขียนเรียนรู้อะไรกัน

ร็อกสตาร์ เก็บเอามาเป็นไอดอลได้ แล้วไยกับโลกการพัฒนาไม่รู้จักมองหาไอดอล

สองสามปีกับการเรียนหนังสือ แม้ฝีไม้ลายมือยังอยู่ในระดับ ก ไก่ ก กา แต่ตอนนี้ตาสว่างแล้วครับ

กบน้อย ณ บึงข้างบ้านตัวนี้ตระหนักแล้วว่าท้องทะเลแสนกว้างใหญ่ ทุบกะลาแล้วหันหางเสือล่องเรือสู่โลกของความรู้

ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเมืองนอกเมืองนาที่ไหน ผมเรียนเอาเองใน YouTube เรียนโดยไม่สนใจวุฒิหรือประกาศนียบัตร

เรียนเพื่อรู้ เรียนเพื่อให้สื่อสารใช้งานได้

เรียนแบบเด็กเอาแต่ใจ ไร้หลักการ วันนี้อยากดูซีดาน ก็ดู วันนี้สนใจการเดินทางท่องเที่ยว อีกวันเลียบเลาะศึกษาชีวิตนักร้องนักดนตรี หรือบางทีเปิดแช่ช่องข่าว FRANCE 24 ปล่อยไหลยาวๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมและความคุ้นเคย

มีให้เลือกล้นทะลักจริงๆ ครับ รายการสารคดีที่ยอดเยี่ยม (เช่น Passe-moi les jumelles และ ARTE) บทสัมภาษณ์หลากหลาย (เช่น inPower Podcast, MentorShow และ LEGEND) กระทั่งรายการที่เน้นสอนภาษาโดยตรง ในกลวิธีร่วมสมัยที่คล้ายวิจารณ์วิจัยมาแล้วว่าได้ผล (เช่น Français Authentique)  

เหมือนกินเบียร์–ผมรู้สึกแบบนั้น เรียนหนังสือมีแต่เรื่องน่าสนุก ยิ่งเรียน ยิ่งมันส์ ผูกพันหลงใหล ขวดเดียวไม่เคยพอ

“บอกคำรักซ้ำๆ ยังเบื่อฟัง” สมพงค์ ศิวิโรจน์ เขียนเนื้อร้องท่อนนี้ไว้ในเพลง ‘กลับกลาย’ อัลบั้มที่ 3 ของมาลีฮวนน่า

มีนาคม 1993 ผมเริ่มต้นชีวิตนักข่าว ทำต่อเนื่องทุกเดือน ทุกปี อยู่กับงานสัมภาษณ์มาตลอด ไม่เคยมีเว้นวรรค

ต่อให้รักอย่างไร มันก็ต้องมีล้า ความคิดสร้างสรรค์ผลิตไม่ทันวันเวลา ยิ่งหลังสี่สิบห้าสิบมานี้นาฬิกาที่บ้านเดินไวกว่าวิ่ง นับไม่ค่อยจะทันว่าสงกรานต์ ปีใหม่ นั่นยังไม่เท่าคลื่นข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งกว่า

ถามว่าไหวมั้ย พอเอาอยู่หรือเปล่า คำตอบผมว่าก็เหมือนบอลไทย คืออาการมันคงจะวนๆ เวียนๆ เขียนกันเอง ชมกันเองในวงแคบๆ มองหานวัตกรรมและแรงสั่นสะเทือนใหม่ๆ ไม่มี

ก่อนที่ผู้อ่านจะโห่ไล่ลงจากเวที ผมตัดสินใจเลือกหยุดพักตัวเอง เพื่อหาที่ว่างเปิด space ใหม่ๆ โดยสัญญาใจกับ ‘น่านไดอะล็อก’ ยังคงอยู่ แต่บรรณาธิการขอลาไปเรียนหนังสือ

7-8 เดือนที่ห่างหายไปนั้น ขออนุญาตกล่าวลาย้อนหลังกันอย่างเป็นทางการนะครับว่า ‘พัก’

พักนานเท่าไร ?

เบื้องต้นคิดว่ายาวๆ ไปจนถึงสิ้นปี โดยสรุปก็คือ 2024 อุทิศให้เป็นปีแห่งการศึกษาภาษาฝรั่งเศส

5-8 ชั่วโมงต่อวัน ก้มหน้าก้มตาฝึกฝนฟิตซ้อม โชคดี พ.ศ.นี้ไม่ต้องมีสตางค์บินไกลถึงปารีสก็ร่ำเรียนที่บ้านได้ และเช่นกัน, อย่าสร้างเงื่อนไขข้อจำกัดให้ตัวเองกับเรื่องอายุ ใครจะล้อว่าเป็นนักเรียนโข่งก็ช่าง มันน่าอับอายอย่างไรหรือกับการเรียนหนังสือ

เชิดหน้า ประกาศต่อโลกไปเลยว่าฉันจะเป็นนักเรียนที่ชราที่สุดในโลก

ก่อนหน้าบอลไทยจะเตะไม่กี่วัน ได้ดู โจ ณัฐวุฒิ ชกกับ ตะวันฉาย ใช่มั้ยครับ

ผมเป็นแฟนตะวันฉายที่ย้ายค่ายเทใจให้โจ ไอ้หนุ่มโคราชที่เข้ามาค้ากำปั้นในกรุง ต่อมาย้ายไปแสวงโชคอยู่เกาะพะงัน ปัจจุบันมีบ้านอยู่แอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา (เริ่มต้นจากล้างจานจนมือเปื่อย) ผลการชกที่ออกมาค้านสายตาแฟนๆ ก็ว่ากันไปนะครับ เรื่องที่ผมสนใจมากกว่าคือทัศนคติของโจ เขาเกิดมายากจนและเป็นนักมวยระดับกลางๆ ที่สร้างชีวิตขึ้นมาน่าทึ่ง เป็นเทรนเนอร์ในยิม ทำครัว ทำงานโรงแรม ขายเหล้าริมหาดริ้นในคืนฟูลมูนปาร์ตี้ (เลิกขายก็ดื่มและเต้นต่อจนเช้า) เล่นกีตาร์ เรียนภาษาอังกฤษ แน่นอนว่าตอนนี้เขาใช้งานได้คล่องไม่น้อยกว่าภาษาแม่ (ล่าสุดเป็น citizen อเมริกันไปแล้ว) เวลาว่างชอบอ่านหนังสือ รักการเดินทางไกล คลั่งไคล้สโนว์บอร์ด

ส่วนเรื่องหมัดมวยซึ่งเขาโด่งดังมาจากมวยแทนนั้นยิ่งเหลือเชื่อ (บางไฟต์ รู้ล่วงหน้าแค่สองสามวัน) ความลังเล กังวล หวาดกลัว ไม่มีอยู่ในเนื้อตัวผู้ชายคนนี้เลย ทั้งที่เป็นรองและเวลาเตรียมตัวน้อย เขาขึ้นเวทีเลือดเหมือนยืนทำกับข้าวในครัว คนแวดล้อมล้วนรู้สึกกดดัน แต่เขาสงบ มุ่งมั่น โฟกัสในเกม

มีครั้งหนึ่ง โดนเตะหน้าแข้งแตก เขาบอก แตกก็แตก ไปสนใจทำไมกับอีแค่ขาข้างเดียว ในเมื่อหมัดก็ยังมี

หลายช่วงชีวิตที่เรื้อเวทีและมีไฟต์ในฐานะมวยแทน โจบอกหนังสือมีส่วนช่วยมาก มันเหมือนทำให้สายตาดีขึ้น แก้เกมเร็ว อ่านออกว่าถ้าคู่ชกมาไม้นี้ควรหลบเลี่ยงและเอาคืนยังไง ว่างๆ ลองไปเปิดเทปไฟต์ที่สองกับตะวันฉายดูเถอะ ซ้ายดาราที่เตะใครคนอื่นขาแขนหักมาแล้ว วันที่ปะทะกับโจ เขาเตะวืดไปกี่สิบครั้ง

อย่าลืมว่าโจอายุสามสิบสี่ มากกว่าแชมป์ตะวันฉายถึงสิบปีเต็มๆ

มองกี่ทีๆ ภาพร่ำไห้ของ ศุภโชค สารชาติ หลังเสียงนกหวีดในสนามรัชมังคลากีฬาสถาน ก็เจ็บเหลือเกิน

เขาทุ่มเททั้งตัวแล้ว อีกแค่เม็ดเดียว อีกลูกเดียวเท่านั้น แต่ทีมชาติไทยก็ยิงนกตกปลา ทำไม่สำเร็จ

มวยคือปัจเจก จะชั่วจะดีอยู่ที่ตัวคนเดียว แต่ฟุตบอลคือสังคม คือประเทศ เราวางภาระการแบกไว้บนบ่าใครคนหนึ่งไม่ได้ คิดจะเปลี่ยนแปลงต้องออกแรงช่วยกันเดิน (คล้ายเกมชิงชัยในศึก ส.ว. ที่กำลังร้อนอยู่ตอนนี้ ขอสดุดีผู้กล้าบนถนนประชาธิปไตยทุกคน)

คลาสศุภโชค หรือธีราทร อยู่ระดับเจลีก แต่เพื่อนหลายคนยังไปไม่ถึง ผลจึงออกมาเช่นนี้ อย่างที่ผมบอกว่า ก็ถูกต้องชอบธรรม ไปมัวก่นด่าหรืออาลัยทำไมกับอดีต

คำถามที่น่าสนใจ –ทำไมความพ่ายแพ้ของโจมีแต่เสียงสรรเสริญ (และเป็นเขาอีกนั่นเองที่ออกมาสะกิดเอฟซีว่าอย่าโห่ตะวันฉาย เพราะนักมวยทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ผลตัดสินเป็นเรื่องของกรรมการ) ทำไมโจดูไม่ยี่หระเลยกับความพ่ายแพ้ ขณะที่ feedback ต่อทีมฟุตบอลไทยกลับเป็นไปอีกอย่าง ผมคิดว่าโจเทิร์นโปรไปหมดแล้ว ทั้งในสังเวียนและเวทีชีวิต บนใบหน้าอันเบิกบานและเงียบงัน เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงวิธีคิดพื้นฐานข้อหนึ่งว่า–เพลาๆ ลงบ้างเถอะ เรื่องชาวบ้านน่ะ เสือกแต่เรื่องของตัวเองก็พอ พัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้า หลังการชก เขาพูดปกติอย่างยิ่งว่าชนะก็ไปฉลอง แพ้ก็ไปฉลอง (อีกวันต่อมามีภาพเขาร้องคาราโอเกะ) เกมวันวานจบไปแล้ว เกมหน้าว่ากันใหม่

ด้วยความเคารพ, ยอมรับกันได้แล้วว่าฟุตบอลไทยยังด้อยพัฒนาและล่องลอยอยู่ตามยถากรรม สิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนประเทศไทยซึ่งยังไม่มีโครงสร้างที่แข็งแรง แตะไปตรงไหนก็เจอแต่แผล เอาแค่รัฐธรรมนูญเรื่องเดียวก็พูดไม่จบ นับไม่ถูกว่าฉีกว่าเขียนมากี่ครั้ง

มาตรฐานเรามีเท่านี้ ตราบเท่าที่ยังไม่ยอมรับ ไม่ปรับปรุงแก้ไขให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง กี่ปีกี่ปี บอลโลกก็จะยังคงเป็นเรื่องเล่าและการบอกรักซ้ำๆ เก่าๆ เป็นดวงดาวไกลแสนไกล

ด้วยคารวะต่อทุกคนที่ไม่ยอมจำนนในเงื่อนไข และปรบมือรัวๆ แด่ทุกหัวใจขบถที่พยายามยกระดับเส้นมาตรฐานให้บ้านเมืองของเราก้าวสู่อารยะ

อีกครั้ง, ขอลาไปเรียนหนังสือนะครับ.

 

 


 

เรื่องและภาพโดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

You may also like...