the editor
the editor

หนึ่งเดือน ‘น่าน ไดอะล็อก’ สนามใหม่ พื้นที่ใหม่ และเพื่อนร่วมงานใหม่

กลางเดือนกรกฏาคม ‘แดนซ์อธิวัฒน์ อุต้น ขี่มอเตอร์ไซค์จากสมุทรสาครขึ้นมาหาผมที่จังหวัดน่าน กักตัว 14 วัน และเริ่มต้นทำงานด้วยกัน

ก่อนหน้านั้น ผมโทรฯ หาเขาครั้งหนึ่ง เล่าสิ่งที่คิด ไอเดียการทำสื่อใหม่ ไม่นานต่อมานัดเจอตัว นั่งคุยในชั่วระยะเบียร์สามขวด และเขาตอบตกลง

 

แดนซ์เกิดเดือนพฤษภาคม ปี 1993 ปีเดียวกับที่ผมเริ่มต้นอาชีพนักข่าว

ลูกสาวผมเกิดปี 1995 ว่าไป เขาก็อยู่ในรุ่นลูก วันนี้มาเป็นเพื่อนร่วมงาน

 

เขาเป็นนักฟุตบอล นักดนตรี (มีผลงานลงยูทูบ แต่งเอง ร้องเอง ภายใต้ชื่อ–เยิงบอย) เคยผ่านค่ายบ่มเพาะนักเขียน มีประสบการณ์กับ a day ช่วงสั้นๆ นอกนั้นก็เวียนว่ายอยู่ในวิถีฟรีแลนซ์ รู้จักพบหน้ากันครั้งแรกตอนเขารับจ็อบให้ GM เดินทางมาสัมภาษณ์ผมที่สวนไผ่รำเพย

จะเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ที่สัมภาษณ์พูดคุยกันถึงตีสี่คืนนั้นหรือเปล่า–ไม่รู้ ที่ทำให้เขาตัดสินใจโยกย้ายส่ายสะโพกจากโลกเมืองหลวง สู่หุบเขาเมืองชายขอบรอบนี้

 

มันไม่ง่ายนัก กับการย้ายชีวิตประจำวัน พรากจากครอบครัวคนรัก มาทำสื่อใหม่ไซส์จิ๋ว ไกลจากวงจร celebrities และความ popular

ก็แปลกดี, เขากล้าแลก และพร้อมเผชิญโชค

ผมไม่มีอะไรชื่นชม เช่นเดียวกับไร้ถ้อยคำตำหนิ

คุณจะเอาอะไรกับนักบอลที่เพิ่งลงสนามไปได้ห้านาที

ถนนนักเขียนเป็นถนนที่ยาวไกล ต้องดูกันนานๆ ไกลๆ ดูกันลึกๆ

แต่รู้สึกขอบคุณ ที่มาเดินด้วยกัน

 

เมื่อแรก เราคิดกันแค่กรอบของเฟซบุ๊ก ต่อมาขยายสู่การทำเวบไซต์ เพราะดูข้ออ่อนแข็งแล้วคิดว่า บทสัมภาษณ์ยาวๆ ควรผ่านการออกแบบจัดหน้า เพื่อให้อ่านง่าย ซึ่งเวบไซต์ตอบโจทย์ข้อนี้ดีกว่า แน่นอนว่าผมไม่มีความรู้ใดๆ เลยเรื่องเทคโนโลยี แดนซ์ก็ไม่เชี่ยวชาญนัก แต่คนวัยเขาใช้เวลาลูบๆ คลำๆ นั่งแกะนั่งอ่าน ถอดสมการ ราวสักสัปดาห์ nan dialogue ก็มีรูปร่างหน้าตา มีชีวิตขึ้นมาในโลกออนไลน์

ความรับผิดชอบของเขาจึงเพิ่มโดยฉับพลัน ต้องจัดหน้า ดูแลการออกแบบ ขณะเดียวกัน งานหลักเรื่องการวิ่งสัมภาษณ์ผู้คนก็ค้ำคอ เป็นกระดูกสันหลัง

 

เรื่องไอที เทคโนโลยีต่างๆ ผมฟังอย่างเดียว เพราะไม่รู้เรื่อง

ในนามของผู้มาก่อน มีประสบการณ์มากกว่า หลักๆ ผมพูด ผมเล่า แนะแนววิธีหาข่าว จับประเด็น แยกแยะเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก กวาดขยะออกไป เลือกเก็บไว้เฉพาะชิ้นส่วนสำคัญ

เป็นคนทำสื่อ อ่านประเด็นไม่เป็น มันก็โดนเขาหลอกง่าย หลงทางมวย กระแสไหนพัดแรงหน่อยก็ลู่ล้ม เอน ทรุด

เป็นคนเขียนหนังสือ แยกแยะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ไม่ได้ โอกาสนอนตายจมอยู่ในกองขยะก็มีสูง

 

ตัวอย่างมีสารพัดในแต่ละวัน เช่น ตอนผู้ชุมนุมบางคนไปพ่นสีขีดเขียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องดีงามนะครับ ใครก็รู้ ใครลงมือต้องรับโทษเท่าไรก็ว่ากันไปตามกฎหมายบ้านเมือง ใครจะก่นด่าตำหนิก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ประเด็นก็คือเวลาด่า กรุณามองให้ครบถ้วน มาตรฐานเดียวกัน ว่าถ้าพ่นสีขีดเขียนมันผิด แล้วการยกย้าย รื้อถอน กระทำอนุสาวรีย์ปราบกบฏให้สูญหายนั้น ช่วยตะโกนดังๆ ด้วยได้ไหมว่ามันโคตรแห่งความผิด

 

เลือกด่าเฉพาะเคสพ่นสี เขาเรียกหลงประเด็น อคติ ไม่มีมาตรฐานวิชาการ

เลือกด่าเฉพาะเคสพ่นสี เขาเรียกเด็กดีที่ไร้เดียงสา สนใจแต่ไส้เดือน ขณะที่งูเห่างูจงอางชูคอ อ้าปากอยู่ตรงหน้า กลับมองไม่เห็น

 

กรณี ลูกนัทโดนยิงตาบอด (หรือใครว่าไม่บอด ยังสรุปไม่ได้ ก็รอพิสูจน์กันต่อไป) ประเด็นของเรื่องมันคือการสร้างความรุนแรงโดยรัฐ ความพยายามบิดเบือนมาสู่เกมพนันบอดจริง บอดปลอม เป็นเกมบิดเบือน ชี้นำให้สังคมลืมแก่นลืมหลักการ สุดท้ายผู้ร้ายตัวจริงก็นั่งยิ้มอยู่ในกลีบเมฆ เหมือนการฆ่า ‘เสื้อแดง’ เมื่อสิบปีก่อน

 

กรณี โจ้ เฟอร์รารี่ หรือโจ้ ถุงดำถุงก๊อบแก๊บ เราเห็นความพยายามอย่างยิ่งของตำรวจและสื่อใหญ่หลายสำนัก ที่บิดพลิ้วไปได้ไกลถึงขั้นชี้ชวนกันชมรูปโฉมตำรวจหญิง ทั้งที่เด็กอนุบาลที่ไหนก็รู้ ว่านี่คือคดีฆาตกรรมบนโรงพักซึ่งลงมือโดยตำรวจระดับผู้กำกับ

 

ประเด็นถูกพรากเสมอ ในสังคมแห่งศรีธนญชัย สังคมแห่งคนป่วยไข้

เมื่อหลงประเด็น ใจกลางของปัญหาก็เลือนหาย หลงลืม เป็นประเทศที่ปกครองด้วยปืน ใครไม่ยอมปิดปาก ใครไม่ยอมปิดตา นั่งอยู่ในความมืด เงียบ ก็โดนเล่นงาน

กรณีปลด สุชาติ สวัสดิ์ศรี นั้นชัดเจนเหลือเกิน

 

ความประพฤติเสื่อมเสียของรัฐไทยแปลว่าอะไร

ถ้าไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์ สนับสนุนการปฏิรูปกษัตริย์ และยกเลิกมาตรา 112

ทั้งที่สุชาติทำในสิ่งแสนสามัญ คือเป็นนักเขียน ก็เล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็น

เป็นศิลปินแห่งชาติ รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ก็ต่อสู้ ก็ปกป้อง เพื่อประโยชน์ของประชาชน

 

การปลดสุชาติแท้จริงจึงคือการเปลี่ยนประเด็น

กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง แต่โยนความผิดให้ศิลปิน

เป็นการฟาดงวงฟาดงาของเครือข่ายกลไกคณะรัฐประหารซึ่งยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

เรื่องก็มีอยู่เท่านี้เอง

เรื่องมันกลายเป็นว่านักเขียนศิลปินที่ปกป้องประชาชนกลายเป็นคนประพฤติเสื่อมเสีย พวกก้มหัวลงเลียตีนศักดินาได้ดิบได้ดี

 

ผู้ใหญ่กับเด็ก เรื่องเล็กกับเรื่องใหญ่ ผมว่าเราต้องแยกแยะ วางตัวให้ถูก

ผมไม่มีเพื่อนร่วมงานมานานแล้ว เอาจริงก็แถวๆ ช่วงที่ บินหลา สันกาลาคีรีลิกทำนิตยสารไรท์เตอร์ การกลับมามีใครสักคนร่วมคิดร่วมทาง อย่างแรกๆ คือเราต้องฟังกัน ใครถนัดจุดไหน เสนออะไรมาอีกคนก็อย่าเพิ่งล้มกระดาน ลองฟังและคิดนานๆ ก่อน

อยู่วงเดียวกัน มันเล่นไปคนละทิศละทางไม่ได้

อยู่ประเทศเดียวกัน เราปล่อยให้คนแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมามีอิทธิพลชี้นิ้วกำกับยุทธศาสตร์ชาติให้คนอีก 60-70 ล้านคน ทำตาม.. บ้าหรือเปล่า

 

ผู้ใหญ่ไม่ได้ถูกทุกอย่างหรอก และเด็ก ก็ไม่ใช่ตุ๊กตา หรือก้อนหินดินโป่ง

เราต่างมีส่วนร่วมในแผ่นดินเดียวกัน แชร์ผลประโยชน์กันและกัน

การถามการฟัง การเสวนาแลกเปลี่ยน จึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

เล่าสู่กันฟังเล่นๆ วาระครบรอบเดือนแรก น่าน ไดอะล็อก

สื่อใหม่ สนามใหม่ ที่ยืนยันไอเดีย ‘ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพ’

แน่นอน, ประเทศไทยไม่ใช่สมบัติหรือ ‘ของเล่น’ ของผู้ชราบ้าอำนาจ ถือปืนมาปกครอง หากมันเป็นของทุกคน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นพลังและทรัพยากรใหม่ มีความฝันใหม่ๆ อันแตกต่างเหลือเกินจากโลกใบเก่าของไดโนเสาร์ที่คุ้นเคยการอยู่เหนือ และเสพติดการชี้นิ้วสั่ง

ต่อให้ฝืนใจ หรือไม่ถนัดแค่ไหน ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองเถอะ

เพราะมันไม่ใช่เลย มันใช้ไม่ได้

 

มีเพียงโลกของเผด็จการล้าหลังเท่านั้นที่เชื่อในคำสั่งบังคับ

อายเด็กๆ บ้าง หัดรู้ตัวเสียบ้าง ว่ามันถ่อยเถื่อน ล้าสมัย

กล่าวในนาม น่าน ไดอะล็อก–เราเชื่อว่าโลกศิวิไลซ์ดำรงอยู่ได้ด้วยการพูดคุย เสวนา.

 

nandialogue

 

 

หมายเหตุ: 1. พบกันทุกวันศุกร์และเสาร์ พร้อมคอลัมน์และเนื้อหาใหม่ๆ ที่จัดเตรียมรอไว้เสิร์ฟ

                  2. งานสัมภาษณ์ในรอบเดือนที่ผ่านมา

                      “เราอยู่ในยุคที่ได้รับความเจ็บปวดมาก ขอเห็นอะไรที่ดีๆ บ้างได้ไหม”

                      เปิดกระเป๋าสาวแกร็บเมืองน่าน จากวันละพันห้า วันนี้เป็นศูนย์

                      จากเมียตำรวจ ถึงนายกรัฐมนตรีทหาร “ทหารมีความรู้แต่สายทหาร เปลี่ยนผู้บริหารเถอะค่ะ”

                      ช่างฟ้อนตกงานและความฝันที่อยากมีเพศสภาพตรงกับจิตใจ

 

เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์

You may also like...