‘สื่อใหม่ รายสัปดาห์ สัมภาษณ์คนน่านทุกสาขาอาชีพ’
เวลาเพื่อนถามว่าเป็นไงบ้าง ทำอะไรอยู่ ผมจะตอบสั้นๆ ประมาณนี้ ถ้าไม่รีบไปไหน สนใจลงลึกอีกก็ค่อยแจกแจงว่าคนน่านที่ว่านั้นหาใช่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเกิดที่นี่ มีบ้านช่องห้องหอ ทำมาหากินที่นี่เท่านั้น หากแต่อาจเป็นใครก็ได้ ที่บังเอิญมาเที่ยวมาพบปะ มีโอกาสแลกเปลี่ยนเสวนากัน ถ้าเห็นว่ามีแง่มุมสมควรจดบันทึกก็ขออนุญาตบันทึกเสียง ถ่ายภาพ นำมาบอกเล่าออนไลน์
‘ทำไปทำไม’ มีคนเคยถามบ้างเหมือนกัน
ถ้าว่างและเห็นว่าคนถามสุภาพ ใจดี และไม่มีอาวุธในมือ ก็อาจถามย้อนกลับไปด้วยไมตรีว่าแล้วคุณกินข้าวทำไม คงไม่ใช่คำตอบที่สะท้อนตรรกะที่ดีและมีเซ้นส์วอนเสียเลือดเสียเนื้ออยู่บ้าง เพียงแต่ก็คงอธิบายได้ว่ามันสำคัญ กับเรื่องข้าว เราคงเห็นพ้องกันแน่ๆ ว่าสำคัญ และเช่นกัน, สำหรับเรา ข่าวก็สำคัญ ความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ รสนิยม ก็ล้วนมีความหมายไม่ด้อยกว่า
กินไม่ได้หรอก แต่อิ่มเอม เพาะสร้างความแข็งแรงเติบโตได้
ไม่ได้เล่นลิ้น เราเชื่อของเราจริงๆ ว่าการคุยกันทำให้ชาติเจริญ
อาชีพของเราคือสื่อสารมวลชน
เคยทำที่กรุงเทพฯ มาแล้ว 25 ปี เมื่อย้ายมาอยู่ที่น่าน ก็คงยังทำอาชีพเดิม ทำด้วยสปิริตเก่าแก่ เพียงแต่ย้ายจากสนามเมืองกรุงสู่ภูธรชายขอบ จากดาราคนเด่นดังสู่ชาวบ้านสามัญชน
หาได้ชิงชังรังเกียจ celebrities แต่ไหนๆ อยู่ที่นี่ มันก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทำความรู้จักบ้านและเพื่อนบ้านของตัวเอง ชดเชยสิ่งที่เคยมองข้ามด้วย สนับสนุนส่งเสริมการกระจายอำนาจของข่าวสารด้วย โดยเฉพาะข้อนี้ เราเห็นว่าการกระจายนี่แหละคือคีย์เวิร์ด กระจายทรัพยากร กระจายอำนาจ กระจายโอกาส กระจายเสียง กระจุกคือต้นเหตุแห่งทุกข์ใหญ่หลวงของสังคมไทย
ไม่เชื่อ คุณลองพลิกงบประมาณบริหารแผ่นดินแต่ละปีขึ้นมาดู แล้วจะรู้ว่าใครใหญ่ ใครเป็นเจ้าของอำนาจ
ประชาชนของเราถูกทำให้เงียบเกินไป ไม่ใช่เงียบเพราะนอนหลับ หรือกินดีอยู่ดี มีสิทธิเสรีภาพ แต่เงียบด้วยถูกทำให้กลัว เงียบเพราะถูกเอาปืนจ่อปาก ไม่ให้พูด
ไม่พูดแล้วจะรู้ได้อย่างไร ไม่พูดแล้วเราจะรักกันได้อย่างไร ไม่พูดนานวันเข้า คนก็กลายเป็นก้อนหิน ไม่ให้พูดนานวันเข้า คนบังคับผู้อื่นก็กลายเป็นเผด็จการ เป็นผู้ที่มีหัวใจเป็นยักษ์เป็นมาร มองคนไม่เท่ากัน มองคนไม่เป็นคน
เราจึงปรารถนาช่วยทำหน้าที่กระจายเสียง
คุณจะไม่เห็นด้วยจริงๆ หรือ ว่าการมีสิทธิ์มีเสียงมันดีกว่า ศิวิไลซ์กว่าการถูกทำให้เงียบ เพราะถ้าเป็นเสียงแห่งทุกข์ เราจะได้ตระหนักรู้ เข้าใจ และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่นกัน, ถ้าเป็นเสียงหัวเราะเฮฮา เราจะได้เริงร่าไปด้วยกัน
ตุลาคมที่ผ่านมา เราสัมภาษณ์และนำเสนอชีวิตใครไปแล้วบ้าง
หนึ่ง สาวน่านนักเรียนอังกฤษ
สอง ครูที่อำเภอแม่จริม
สาม อานนท์ นำภา ทนายความที่ตอนนี้ถูกจองจำอยู่ด้วยคดี 112
สี่ คนเลี้ยงวัวแห่งบ้านสวนหอม
และห้า–ล่าสุด พ่อค้าคนทำลาบ ก้อย ซอยจุ๊
ในสต็อกที่สัมภาษณ์แล้ว รอเขียนเล่าเรียบเรียง มีนักดนตรีกลางคืน พ่อเลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกสองคนเป็น LGBT ทั้งคู่ และอีกเทปยาวๆ กับ พส. แน่นอนว่า ทุกวันสายตาของเรายังเปิดกว้าง มองหาตัวละครใหม่ๆ มาจับเข่าพูดคุย
น่านเป็นเมืองแห่งขุนเขา ถูกต้อง น่านเป็นเมืองแห่งศิลปะ วัฒนธรรม ถูกต้อง น่านป๊อบที่สุดคือภาพกระซิบรัก วัดภูมินทร์ ถูกต้อง และน่านมีคนน่าน ซึ่งหมายถึงผู้คนทุกหมู่เหล่าชาติพันธุ์ น่านมีคนหนุ่มสาวที่เดินทางออกไปแสวงหาความรู้ บางคนได้กลับมาบ้าน บางคนเลือกที่จะไม่กลับ และทุกๆ วัน น่านมีผู้คนเข้ามาใหม่ มาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้านหลังนี้
เราน่าจะเห็นพ้องกันว่าการรู้จักชื่นชมธรรมชาติป่าเขา แม่น้ำลำธาร คือความงดงาม การเสพศิลปะ วัฒนธรรม ภาพเขียนโบราณ คือความงดงาม และการทำความรู้จัก เข้าใจต่อมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ก็คือความงดงาม
ในฐานะคนร่วมสมัย จำเป็นที่เราควรได้ศึกษาแลกเปลี่ยนกัน และในเมื่อคนไม่ใช่ปลากัด คนมีปาก มีสมอง เราเห็นว่าจำเป็นที่ต้องยืนยันสิทธิเสรีภาพในการพูด
กว่าสองเดือนแล้วที่คนหนุ่มสาวไทยจำนวนไม่น้อยถูกจับขังเพียงเพราะพวกเขาและเธอพูด วิธีสื่อสารในโลกมีเยอะนะครับ แต่พวกเขาและเธอ ‘เลือก’ วิธีที่สันติและอารยะที่สุด นั่นคือการพูด แต่ผลของมันก็อย่างที่เห็น บ้านป่าเมืองเถื่อนแห่งนี้ยังเดินทางไม่ถึงคำว่า ‘สมัยใหม่’ เคยชินแต่กับการใช้ความรุนแรง เรื่องน่าเศร้าที่ผู้มีอำนาจไม่เคยสำนึกเลยก็คือ กฎหมายล้าหลังคลั่งอำนาจและคุกคือการควักดวงตาและกัดกินแขนขาของตัวเอง
ปิดประตูคุกโดยเร็วที่สุด หยุดไล่ล่าจับคนพูดความจริงไปกักขัง
คุกไม่ใช่ทางออก คุกไม่ใช่คำตอบ
สงบสติอารมณ์ นั่งคุยกันดีกว่า พูดความจริงในที่แจ้ง
พูดกันแบบผู้ใหญ่ พูดด้วยการใช้เหตุผล
พูดไม่ใช่นินทา พูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย
‘ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112’ เมื่อวานผมเห็นป้ายนี้ในพื้นที่ข่าวสารทางกรุงเทพฯ ฝนฟ้าไม่เอื้ออำนวยเลย แต่คนก็แน่นหน้าเซ็นทรัลเวิลด์
เปิดเฟซบุ๊ก เห็นมีคนนำโปสเตอร์เก่าๆ ปี 2012 ตอนที่ ครก.112 ล่ารายชื่อแก้ไขกฎหมายปิดปากมนุษย์มาเผยแพร่ใหม่ ไล่สายตาดูก็เห็นร่องรอยความคิดของใครต่อใคร หนึ่งในนั้นมีชื่อของตัวเอง
เป็นความรู้สึกที่บอกเล่าลำบาก ไม่รู้จะหัวร่อหรือร่ำไห้ ยิ่งเมื่อไล่อ่านข่าวไปแล้วเห็นภาพหญิงสาวคนหนึ่งกรีดเลือดตัวเอง บอกว่าจะขอใช้ทั้งร่างกายและจิตใจต่อสู้เพื่อเสรีภาพ
ผ่านมาจะสิบปี ที่สุดภาระและสิ่งที่ไม่ควรจะเรียกว่ามรดกก็ตกไปอยู่บนไหล่บ่าของลูกหลาน.
เรื่อง: วรพจน์ พันธุ์พงศ์