พี่หนึ่งครับ
ก่อนอื่น ผมมาดหมายจะออกไปเพ่นพ่านในเมือง Malmö แล้วเอาเรื่องมาเล่าให้ฟังให้มันสาสมใจ
ตั้งใจว่าจะชวนพี่มานั่งดื่มด้วยกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความโกรธขึ้ง ความใฝ่ฝัน ความเป็นจริง ให้โลกมันหันมาฟังเราบ้าง
บังเอิญอยู่พอดี ที่ผมมา London เสาร์อาทิตย์นี้ เอาเป็นว่าชวนพี่มานั่งดื่มด้วยกันแถว Brick Lane นี้ก็แล้วกัน ฤดูใบไม้ผลิของลอนดอนปีนี้ดูจะเริ่มต้นค่อนข้างสุภาพเรียบร้อย (แน่นอนล่ะ อังกฤษ) มีแดดออกมาบ้างให้พอชื่นใจ แถมไม่มีลม
ก็เสร็จล่ะสิงานนี้ จะเหลืออะไร
ก่อนหน้าจะแวะเข้ามาที่ร้าน ผมจะชวนพี่ไปร้านหนังสือ Libreria สักหนนะพี่ เป็นประเภทร้านหนังสือเล็กๆ ที่หายไปแทบจะหมดแล้วในสวีเดน เขาจัดหนังสือด้วยการมี curator ต่างคนไปสำหรับแต่ละชั้นวาง เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเรียงตามตัวอักษร หรือเรียงตามประเภทงาน
เพราะฉะนั้นก็จะสามารถพบหนังของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอังกฤษ Douglas Murray วางเคียงคู่กับงานของ Ayn Rand อย่างไม่เคอะเขินอะไรเท่าใดนัก
ในร้านวันนั้น ผมหันไปเจอกับงานของนักเขียนที่ผมชอบที่สุดคนหนึ่ง José Saramago เรื่อง Journey to Portugal (1981)
พอมือระดับ Saramago มาเขียนอะไรที่เป็นงานนบันทึกการเดินทาง มันยกระดับงานสกุลนี้ไปอย่างบอกไม่ถูก ผมก็เลยหยิบ Journey to Portugal ไป เพื่อจะไปอ่าน ก่อนที่จะอ่านงานของ Bruce Chatwin
อันที่จริง งานของคนหลังนี้ก็น่าจะมีคนแปลเป็นภาษาไทยเหมือนกัน ผมว่าพี่น่าจะชอบงานของ Bruce Chatwin
ร้านที่ผมชวนมานั่งชื่อ Hookah Lounge ครับ เป็นร้านที่เปิดมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว อยู่เคียงคู่ย่าน Brick Lane สำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างนักศึกษาอะไรแบบนี้ ที่สำคัญคนไม่ดื่มก็ไม่มีปัญหา ถ้าคุณเป็นสายน้ำคุณก็ดื่มด่ำไปอย่างสบายใจ แต่ถ้าคุณเป็นสายควัน จะนับถือศาสนาหรือไม่ก็ตาม ก็มี eshisha บริการให้สูบกันในหมู่มิตรสหายทั้งชายหญิงอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ วันเสาร์ก็อย่างนี้ครับ ความคึกคักค่อยกุก่อตัวขึ้นบนท้องถนนและในร้านที่ผมกำลังนั่งอยู่นี้
นี่เป็นการมาลอนดอนครั้งแรกในรอบสิบกว่าปีครับ คืออันที่จริงผมก็มาอยู่บ้างสองสามครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่การมาสังเกตอย่างครั้งนี้
สิบกว่าปีก่อนปมเคยเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ ‘ม้าตัวนั้นสีขาว’ ด้วยอหังการอะไรบางประการ ที่ต้องการจะจับเอาสัจนิยมมหัศจรรย์มาใส่ไว้ในแก้วเบียร์ ตอนนั้นผมคิดว่าผมประสบความสำเร็จแบบใสๆ แบบลูกควบลูกครึ่ง แบบหลายเสาไฟฟ้าเลย แบบไม่เห็นแรงต้านเลย แบบแทงทีมต่อเท่าไหร่คือได้เท่านั้น
พอมาพลิกเห็นด้วยความบังเอิญไม่กี่เดือนก่อน อ่านไปอ่านมายังไงๆ มันก็เป็นเรื่องสั้นตลกไปเสียอย่างนั้น แล้วตลกแบบถูกต้องทางการเมืองอีก ชิบหายกันไปหมด พูดง่ายๆ คือรถผ้าป่าคว่ำ
ถึงว่าพี่หนุ่มแกก็อุตส่าห์เตือนผมเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้น ในคำ ‘นิยม’ ของรวมเรื่องสั้นเล่มนั้น ประมาณว่า “หรือเพราะเราไม่เคยเดินออกไปข้างนอกกันเลย”
ไอ้ตอนนั้นเราก็เด็ก เราก็ไร้เดียงสา เราก็โง่ ใครมันจะไปรู้ทันว่ามันเป็นคำเตือน
และแน่นอน, ถึงเตือนเราก็ไม่ฟังหรอกพี่ มันไม่ใช่เวลา มันไม่ถูก มันไม่ถูกกาลเทศะที่จะต้องมาฟัง มันใช่เวลาที่ไหน มันใช่ที่เหรอ
ใครมันจะไปรู้ พอตอนที่ Johnny Cash แกบอกว่า
What have I become ?
My sweetest friend
Everyone I know goes away
In the end
And you could have it all
My empire of dirt…
ใครมันจะไปรู้จักอาณาจักรความใฝ่ฝันที่มันมีแต่ฝุ่นผงโง่ๆ ประกอบเข้าไว้ด้วยกันครับพี่ ก็ตอนนั้นมันคือเวลาของการสร้างอาณาจักร ก่อจักรวรรดิ ขยายอำนาจ กินเนื้อความออกไปข้างนอก รวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาในตัวมัน เน้นมุ่งหาความสัมบูรณ์บางประการที่มีสูงสุดอยู่เพียงประการเดียว เพราะมันคือจักรวาลที่เรามุ่งไปหา
ตอนนั้นมันไม่ใช่ฝุ่นไงพี่ แม่มันคือประกายเพชรห่าเหวอะไรที่เตรียมตัวประกอบกันขึ้น ส่องระยิบระยับสาดทำลายอย่างแสงจากนิ้วเพชรนนทก กวาดทำลายไอ้พวกเหล่าเทพยดาทั้งหลาย
กว่าจะรู้ตัวว่านิ้วเพชรนั้นชี้มาที่เข่าตัวเอง มันก็ผ่านมานานเสียแล้ว
ดังนี้ นี่จึงเป็นการมา London หลังจากหลายปีมาแล้วครับพี่ เป็นการกลับมาอย่างเงียบๆ อย่างศิโรราบ อย่างพ่ายแพ้ จ้องมองเฝ้ารอโอกาสและจังหวะในการเป็นผู้ตามที่ดี
ผมเริ่มด้วย Lucky’s สักช็อตนึง ซึ่งก็คือ Jack Daniel ผสมกับ Amaretto ถือเป็นเครื่องดื่มเปิดหลังจากอาหารกลางวัน การค้นพบ Amaretto ของผมไม่กี่ปีก่อนทำให้อาหารกลางวันของวันอาทิตย์เปลี่ยนไปตลอดกาล จริงๆ แล้วถ้าจะต้องนั่งทำงานตอนบ่ายวันอาทิตย์ พี่เหยาะ Amaretto ลงในกาแฟสักหน่อยนะพี่ ก็กลมกล่อมทีเดียว
เมื่อมองออกไปข้างนอก ผู้คนพลุกพล่าน กำลังเริ่มเตรียมตัวตั้งบ่าย แน่นอนครับพี่ คนลอนดอนนี่เริ่มดื่มกันตั้งแต่เพล เพราะฉะนั้นในผับตลอดทางก็จะเริ่มมีคนยืน คนนั่งพร้อมกับเบียร์ที่พร่องลงไปบ้างแล้ว นี่ถ้าไม่นับว่ามีฟุตบอลเข้าไปอีก ก็เริ่มวุ่นวายกันตั้งแต่ก่อนเวลานกหวีดช่วงบ่ายแล้ว วันที่ผมไปมันมีดาร์บี้แมตช์ลอนดอนด้วย นั่นคงเป็นสาเหตุของความคึกคัก
ย่าน Brick Lane นี่เป็นที่รู้จักเรื่องขนมปัง begel พี่ ครั้งก่อนผมมาแถวนี้อยู่จนผับปิด ตีสองตีสาม ทุกคนก็จะหิว มันก็จะมีร้าน begel เปิด คนก็จะต่อคิวกันยาวเหยียด รองท้องก่อนจะหารถเมล์กลางคืนหรือไม่ก็เรียกแท็กซี่กลับบ้าน
พอ Lucky’s ของเราพร่องไปแล้ว ก็คงถึงเวลาของเบียร์ง่ายๆ สักขวดครับพี่ ร้านนี้เขาไม่มีเบียร์ให้เลือกหลากหลายนัก ผมก็เลยเลือก Asahi มาแก้ขัด ซึ่งอันที่จริงแล้วผมชอบมาก มันเป็นเบียร์ที่รวบรัด ไม่ตีโพยตีพาย
ร้านนี้เป็นร้านชั้นเดียว มีโต๊ะสักสิบกว่าโต๊ะได้ เขาจัดร้านเป็นสไตล์ตะวันออกกลาง แอฟริกาอาหรับ จะมีโซฟาตัวยาวๆ ให้นั่งนานๆ ได้ไม่ต้องรีบร้อน บทสนทนาของคนก็ผสมกันเข้าไปกับดนตรี (ผมเดาเอาว่าเป็นดนตรีอียิปต์) ของร้าน
ระหว่างทางที่เดินอยู่ผมก็เลยถือโอกาสแวะซื้อ begel ซะเลยให้มันรู้แล้วรู้รอด ร้าน Beigel Bake เปิด 24 ชั่วโมง และถือเป็นร้านคู่ย่าน Brick Lane
พอดีวันที่ผมไปเขาทำแบบสีฉูดฉาดลายรุ้ง ผมก็เลยซื้อติดมาสองสามชิ้น เปิดกินมันเสียให้หนำใจ ไหนๆ ก็มา Brick Lane แล้ว
ไม่นานจากนี้ท้องฟ้าก็จะมืดลงแล้วพี่ อากาศก็คงจะเย็นลง ช่วงเวลานี้ของปีเบียร์ของผมก็จะสีเข้มขึ้นเป็น ale เสียส่วนใหญ่ หรือจะเป็นเบียร์ดำอย่าง stout หรือ porter ไปเลย
ก่อนลากัน ก่อนระฆังจะเตือนแก้วสุดท้ายจะขอชนแก้วด้วย stout กันสักแก้วนะพี่
เชียรส์ครับ
ปรีดี
1 ตุลาคม 2022
เกี่ยวกับผู้เขียน : ปรีดี หงษ์สต้น นักเขียน นักแปล นักวิชาการ ย้ายไปอยู่ประเทศสวีเดน เลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กับสังเกตสังกาชีวิตที่เคลื่อนย้ายผ่านเวลาสถานที่ ภายใต้ระเบียบเสรีนิยมประชาธิปไตย