the letter

ride or die: โปรดอ่านหนังสือจากเมืองของฉัน

พี่หนึ่ง

หวังว่าบาดแผลเริ่มดีขึ้นบ้างแล้วนะคะ แมวหนุ่มที่บ้านเคยโชว์ความซ่าตามประสาชายแท้ด้วยการไปฟัดกับแมวตัวผู้ในซอย จนกลับบ้านมาพร้อมแผลลึกที่ขา แล้วคนที่ลำบากคือแม่มันนี่แหละ ช่วงนั้นต้องพาเค้าเดินเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อล้างแผลต่อเนื่องทุกวันอยู่เกือบ 2 สัปดาห์ เห็นสีหน้าบนเตียงหมอทีไรก็สงสาร จากสปิริตแมวหง่าวกลายเป็นแมวหงอยเลยทีเดียว

ก่อนที่จะเล่าถึงงานเปิดตัวหนังสือ The Fabulist ของ ‘พี่ม่อน’ อุทิศ เหมะมูล ให้ฟังตามสัญญา ขออธิบายหัวจดหมายก่อน เผื่องงว่าใช้ภาษาลิเกอะไรของเอ็ง คือมันล้อประโยค ‘โปรดมาเที่ยวที่เมืองของฉัน’ ของอาภัสรา หงสกุล ตำนานเกิดใหม่บนโลกอินเทอร์เน็ต หลังจบมุขตลกที่เราแลกกันไปมาผ่านโทรศัพท์ ไอ้ประโยคนี้เข้ามาในหัวพอดี

คงไม่ต้องสาธยายว่าอาภัสราบนเวทีนั้นสวยหยดย้อยขนาดไหน แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือไดนามิกระหว่างอาภัสราและพิธีกร [of course, ชายผิวขาว] บทสนทนาสั้นๆ ประมาณนี้:

  • “Miss Thailand, if I came to your country, what would you most likely show me?”
  • “Palace. Buddha.”
  • “In Thailand, it has gold leaves all over, doesn’t it? — Do you understand ‘gold leaves’?”

ไม่รู้อาภัสราเข้าใจมั้ย ส่วนตัวเองนี่คือไม่เข้าใจ ‘gold leaves’ ที่ว่าคืออะไร แต่นั่นมันปี 1965 อ่ะนะ เข้าใจได้อยู่ แม้จะสงสัยต่อด้วยว่า ถ้าให้พูดถึงประเทศไทยบนเวทีนางงามตอนนี้มันมีเนื้อหาอะไรต่างไปจากเดิมแค่ไหน ? — ที่ตลกอีกอย่างคือพิธีกรคนนั้น patronising โคตรๆ ไม่อ่านภาษากายนอกแว่นวัฒนธรรมของตัวเองเอาเสียเลย เค้าพูดต่อว่า ‘this poor little girl is so scared of my question.’ เอิ่ม… แล้วแถม ‘Your English is pretty good’ ฟังแล้วอยากช่วยตอบกลับไปว่า ‘My English is perfect when I curse – care to hear?’

เมื่อพี่หนึ่งบ่นมา เลยขอบ่นกลับไปบ้าง — ปีก่อนเขียนอะไรคล้ายๆ กับที่เราคุยกันลงใน booklet ที่แนบเป็นเนื้อในของ boxset ไตรภาคแก่งคอย ประมาณว่า:

[…] ปัญหาของความขาดแคลนไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราไม่มีการผลิตงานแปลตัวบทภาษาไทยไปเป็นภาษาอื่น แต่คือความแร้นแค้นทางความคิดที่จะหนุนเสริมให้การแปลงานแตะคุณภาพที่คัดง้างและพูดกลับไปหาต้นฉบับได้อย่างสมศักดิ์ศรี ไหนจะการสื่อสารวรรณกรรมไทยในดินแดนใหม่ที่นักอ่านส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยไปมากกว่าภาพลักษณ์โหลๆ ที่ผลิตซ้ำผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหรือองค์กรภาครัฐ แล้วเราจะสลายแอกเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ โดยไม่ละเลยรายละเอียดกระจ้อยร่อยที่ทำงานอยู่กับผู้คนจริงๆ ได้อย่างไรบ้าง ? คำถามนี้เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำงาน เมื่อเราต้องเล่าถึงงานวรรณกรรมแต่ละชิ้น จะทำอย่างไรให้ผู้อ่านเห็นความจำเพาะเจาะจงของบริบทที่สร้างมันขึ้นมาโดยไม่ติดหล่มคำอรรถาธิบายตรงตำแหน่งของการเป็น ‘วัฒนธรรมอื่น’ ที่เสี่ยงเป็นคอกล้อมตัวผลงาน ทำให้วิ่งวนในสนามที่เราเป็นเพียงแต้มนับของเกมการตลาดที่ใช้ฉลากสวยๆ ว่า ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ?

อ่ะพอ มาที่ซอยสวัสดีกันดีกว่า..

งานเปิดตัวหนังสือของพี่ม่อนจบลงได้อย่าง ‘หนักแน่นและนุ่มนวล’ (แขกที่มางานเค้าบอกอย่างนี้) คนมาเยอะตามคาด ทำเอารถติดในซอยและที่จอดรถไม่พอ แขกบางคนมาถึงข้างหน้าแล้วถอดใจ เลี้ยวรถกลับออกไปก็มี ตรงนี้แก้ไม่ตกจริงๆ แม้พยายามวางแผนรับมือไว้แล้ว

อย่างที่พี่รู้ว่าคนรันงานนี้ก็มีแค่เจนกับเพลิน เราแบ่งหน้าที่กันตั้งแต่แรก โดยเพลินดูเรื่องเชิญแขกและประสานกับ Soho House ส่วนเจนดูคอนเท้นท์ของงานและสื่อสารกับพี่ม่อน ส่วนสถานที่ที่เราได้มาฟรีๆ ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกจากทีม Soho House ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมจนจบงานในคืนวันนั้น

ช่วงลงทะเบียน ตัวเองวิ่งลงไปยืนร่วมกับกลุ่มรีเซ็ปชั่นชั้นหนึ่ง เพื่อจะได้รอเจอแขกทีละคน มีแขกบางคนที่พี่ม่อนเชิญมา เราก็ไม่เคยรู้จักหน้า เลยต้องพยายามจับคู่ชื่อกับหน้าให้ได้เพื่อทักทายต้อนรับตามหน้าที่โฮสต์ ส่วนเพลินคอยดูความเคลื่อนไหวอยู่ชั้น 3 และประสานกับทีมในบ้าน คิดว่าวันนั้น ตัวเองขับเคลื่อนด้วยอะดรีนาลีนล้วนๆ เพราะสิ่งที่ตกถึงท้องทั้งวัน มีแค่ครัวซองต์และกาแฟดำที่กินไปตั้งแต่เช้า อ้อ มีปลอบประโลมกันเองด้วยเพลงที่ฟังบนรถระหว่างเดินทางมาทำงานด้วย ช่วยได้เยอะจริงๆ ..แต่อย่าให้บอกเลยว่ามีเพลงอะไรบ้าง

ช่วงต้อนรับ แขกบางคนที่เพิ่งเคยเข้ามาดูจะงงๆ กับสถานที่พอสมควร ส่วนบางคนก็เหมือนจะรู้สึกเกร็งช่วงแรก อะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่เราคุยกันมาตั้งแต่เริ่มทำงานแล้วเหมือนกัน เรารู้ว่ามันจะมี ‘ภาพ’ ที่คนเห็นเป็นฉากแรก การออกแบบความรู้สึกจึงเป็นงานสำคัญของอีเว้นท์เสมอ และมันก็ไม่ง่ายหรอก เอาเข้าจริง เราก็ทำได้แค่บางส่วน อีกส่วนคือรอดูและรับมือไปเป็นกรณีๆ แถมยังมีอีกส่วนที่เหลือก็คือ ความคิดและความคาดหวังของคนมางานที่จะมีผลกับประสบการณ์และการประเมินของเค้าเอง เรื่องภายในแบบนี้คงเข้าไปจัดการอะไรไม่ได้

เราจึงตั้งใจทำในส่วนที่เราจัดการได้ให้ดีที่สุด

ช่วงเตรียมงาน เราคุยถึง flow และการสร้าง vibe ให้คนระหว่างที่รอกิจกรรมบนเวทีเริ่ม เจนกับเพลินมองหน้ากัน เราทั้งคู่ไม่เหมาะกับงานทำนองนี้ ต้องหาคนที่สามารถชวนคนคุยไปเรื่อยๆ อย่างเป็นมิตร โดยไม่เผลอแผ่รังสี intense แทรกไปในอากาศ ชื่อแรกในใจคือ ‘ปูเป้’ เพื่อนผู้ทำหน้าที่ mc ในวันนั้นได้อย่างงดงามตามที่คาดไว้

คิดว่าโทนของงานเปลี่ยนไปอีกครั้งตอนเริ่มอ่านสปีซ หรืออาจจะเรียกว่าคน ‘surprised’ [อันนี้ประมวลเอาจากคอมเมนท์ของหลายๆ คนเหมือนกัน] แต่ความประหลาดใจที่เกิดก็บอกเป็นนัยเหมือนกันนะว่า คนอาจมีภาพในใจมาก่อนอีกแบบ (?) เมื่อไหร่ที่มันแหกออกจาก stereotype อะไรพวกนั้น มันก็คงทำงานกับประสบการณ์คนเป็นพิเศษรึเปล่า ? — พี่แอลบอกว่า มองเสื้อผ้าที่ใส่ตอนแรกแล้วดูไม่ไปด้วยกันกับสิ่งที่พูดออกมา เค้าเลยถามว่า ‘คิดมารึเปล่า’ ?

ตอบไปสั้นๆ ว่า ‘คิดค่ะ’ แต่ไม่แน่ใจ ว่าจริงๆ ตัวเองคิดคำนวณแค่ไหน ความจริงแล้วมันเป็นสัญชาตญาณการดมกลิ่นของตัวเองมากกว่า คนประเมินเราแบบหนึ่ง แล้วเราก็ทำอีกแบบ ผลของการตัดสินตอนแรก กลับไปย้อนถามคนประเมินเองน่ะสิ — พอทำงานแบบนี้ ก็เราก็รู้โดยธรรมชาติว่าสารพัดสิ่งนานามีผลกับการ ‘อ่าน’ และความรู้สึกของคนทั้งนั้น จะเป็นอะไรไปได้ถ้าจะไม่พูดว่า aesthetic device มันก็เป็นเนื้อหนังของการเมืองทางวัฒนธรรมที่ไม่ควรอ่านกันตื้นๆ เราจะตีตรากัน จะคุยกันตรงฉาก เสื้อผ้า หนังหน้า หรือจะคุยถึง ‘ความปรารถนา’ ที่ขับเคลื่อนสิ่งที่ปรากฏออกมาเบื้องหน้าดีล่ะ ?

แต่พูดอย่างนี้ไม่ใช่จะ talk down อะไรหรือใครทั้งนั้น เพราะสปีซเองก็ถูกเขียนอย่างจริงใจเท่าที่ตัวเองจะเล่าให้กับคนอื่นๆ ได้ในตอนนั้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้ามันจะไป touch คนฟังหลายคนในคืนนั้น >> อ่านสปีชทางนี้

ส่วนการทำงานกับพี่ม่อนราว 3 ปีนั้นลื่นไหลพอสมควร การสื่อสารตรงไปมา หน้า-หลังเหมือนกัน ไม่ต้องตีความให้วุ่นวาย สมดุลที่เกิดจากการเคารพตัวเองและวินัยที่มีไม่ขาด ทำหน้าที่เป็นฐานที่มั่นให้คนร่วมงานได้ดีทีเดียว 

ส่วนทางนักแปล เจนได้นั่งคุยกับเพลินและพลอยก่อนหน้า เหมือนกลับไปอ่านทวนว่าเรามีประเด็นอะไรที่จะมีประโยชน์กับคนฟัง ไล่ไปทีละตอนของหนังสือ ต้องบอกว่านับถือเพลินและพลอยอยู่หลายครั้ง เพราะการแปลงานชิ้นไหนๆ มันก็ไม่ง่ายทั้งนั้น ไม่ใช่ท้าทายแค่ฝีมือการแปล แต่มันล้วงเข้าไปเขย่าและทดสอบโลกข้างในตัวเราเองด้วย ยิ่งผ่านช่วงขึ้นลงด้วยกันมามาก หลายครั้งแค่สบตากันก็ไม่ต้องพูดอะไรให้ยาวแล้ว

ทอล์กก็เป็นอีกส่วนที่คนมางานหลายคนบอกว่าตรึงเค้าไว้ได้ ตอนวางแผน ก็ตั้งใจไว้ว่าจะ highlight เล่มภาษาอังกฤษ เพราะนั่นคือเหตุผลหลักของการจัดงานครั้งนี้ เราอยากให้ presence ของนักเขียนและนักแปลบนเวทีมีเท่าเทียมกัน มันน่าจะเพลาๆ ลงบ้างกับเวทีที่มีแต่ a bunch of ‘writers bro’ ยกยอโอ้โลมนักเขียนกันจนเข้าขั้นบูชา ผลักผู้คนเบื้องหลังให้กลายเป็นเพียงตัวประกอบ เพราะใน composition แบบนั้น คนดูก็ไม่ได้ความรู้ในเชิงปฏิบัติที่มันรอบด้านอะไรเลย — จะว่าไป สิ่งที่เราทำมันก็ไม่ได้วิเศษพิสดารอะไรสักนิด เพียงถ้าเราใช้จินตนาการเพิ่มอีกหน่อย ใครก็สร้างกิจกรรมที่เป็นมากกว่าการทำตามกันด้วยความเคยชินได้ทั้งนั้น

นี่เป็นครั้งแรกที่นักเขียนและนักแปลหนังสือเล่มนี้อยู่บนเวทีสาธารณะร่วมกัน จะรวมตัวเองที่เป็นเอเจ้นท์เข้าไปด้วยก็ได้ เมื่อมาประกอบร่างกันอย่างนี้ ถ้าไม่สามารถเอาเนื้อหนังอะไรออกมาให้คนฟังได้บ้าง ก็ควรกลับบ้านไปนอน — เบื้องต้น การคุยวางไว้เป็นสองส่วนคือ ช่วงแรกเกี่ยวกับตัวบทและการแปล อีกส่วนคือกระบวนการขายไปจนถึงผลิตหนังสือ แต่ถึงเวลาจริง เจนต้องตัดส่วนหลังออกไป เพราะเวลาล่วงเลย ทำให้นึกได้ว่ามันน่าจะเป็นประเด็นแยกให้นั่งคุยได้ในอนาคต

ยังไงดีล่ะพี่หนึ่ง อาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้คิดว่าไอ้ความมืดหม่นจะยิ่งยาวนานกว่าที่คิดไว้ ตาสว่างกี่ครั้งก็ยังคลำกันอยู่ในอุโมงค์เดิม แถมไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ยังได้ยินข่าวว่าฟิลิปปินส์เป็น Guest of Honour ของ Frankfurter Buchmesse 2025 งานบุ๊กแฟร์ประจำปีที่ใหญ่ที่สุด [Guest of Honour ของปีนี้คือสโลเวเนีย และปี 2024 คือ อิตาลี] พอเป็นงานใหญ่มันก็ต้องเตรียมการนาน 2-3 ปีแบบนี้แหละ

ยินดีกับฟิลิปปินส์จริงๆ นอกจากไม่เคยเป็นรองเรื่องนางงาม ยังร้องเพลงกันเก่งด้วย ตอนนี้ก็ถือเป็นประเทศที่สองในภูมิภาค ตามอินโดนีเซียที่ได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นเมื่อปี 2015 เป็นประเทศแรก นี่จะบอกว่า ‘เคย’ ฝันไปเองว่า ไทยอาจเป็นประเทศที่สองที่จะได้เป็น Guest of Honour แต่หลังจากผ่านอะไรต่างๆ มา กระทั่งได้ข่าวล่าสุดนี้ นอกจากเราจะไม่ได้เป็นที่สองของภูมิภาค เราอาจไม่ได้เป็นลำดับสามด้วย ให้เดาตอนนี้ ประเทศที่จะตามฟิลิปปินส์มาติดๆ คือ เวียดนาม …apparently,  ไอ้ความลำพองใจอย่างไทยๆ ก็มีไว้ใช้ฟาดฟันกันเองให้ตายคาบ้านเท่านั้นจริงๆ

แน่นอน ที่เรากำลังพูดกันไม่ใช่ความปรารถนาต่อ ‘ยศถาบรรดาศักดิ์’ ไม่ใช่ชื่อเสียงเงินทองอะไรเทือกนั้น – who even cares? [อันที่จริง เราไม่ควรจะต้องมาอธิบายอะไรพวกกันอีกแล้วนะ] แต่มันคือการผลักดันการทำงานให้เป็นชิ้นเป็นอัน ให้มันหลงเหลือความหวัง ให้มันไปอยู่ในพื้นที่ที่ทำให้ ‘เห็น’ และ ‘ถูกเห็น’ และได้มีบทสนทนากับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่จะช่วยเติมเต็มตัวเราเองต่อไป

Guest of Honour ของ Frankfurter Buchmesse นี่เป็นหนึ่งในประเด็นแรกๆ ที่เราค้นคว้ากันตอนช่วงเริ่มทำซอยใหม่ๆ จนมากระจ่างว่า ลำพังเอกชนตนไหนก็อย่าได้หวัง ให้เอาเงินมากองรวมกันก็ยังไม่ได้ [พี่ลูกเกด: “บีก็ทำไม่ได้ คริส…อย่าหวังเลย”] เพราะสิ่งที่ประเทศนั้นๆ ต้องพิสูจน์กับทางเทศกาลคือ ‘แผนพัฒนาในเชิงนโยบาย’ ที่ภาครัฐต้องร่วมมืออย่างจริงจัง นั่นก็คือ เราต้องอธิบายให้เห็นว่า หลังจากได้แสงได้หน้าแล้ว เรามี ‘แผนการทำงานระยะยาว’ ยังไงบ้าง เช่น แผนระยะ 20 ปีหลังจากได้ปรากฏในงานบุ๊กแฟร์ที่มี traffic สูงสุดในโลก (ยาวนานประมาณแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับเดินหน้าเข้าคลองของเรานั่นแหละ) ถือเป็น requirment ที่สมเหตุสมผล ทางคนจัดควรจะได้รู้ว่าการที่เรา ‘เสนอหน้า’ ไปอยู่ตรงนั้น เราไม่ได้ทำอย่างคนสายตาสั้นแล้วหวังผลกอบโกยแบบผักชีโรยหน้า ไม่ได้หวังแค่จะเก็บรูปหมู่มาลงบันทึกผลงานประจำปี ไม่ใช่ไอเดียการสร้างห้องสมุดที่ไร้เนื้อหาและร้างคน — แต่เราจะมีแผนอะไรยาวขนาดนั้นได้ล่ะ ?

พรุ่งนี้ หรือเดือนหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เรายังได้แต่นั่งมองตาปริบๆ กันอยู่เลย

ช่วงเตรียมงาน เจนพลิกอ่านสมุดโน้ตตัวเอง มีหนึ่งประโยคเขียนไว้ในช่วงเดือนพฤษภาคม:

Let me be foolish.

Let me break my heart with my own hands.

มาอ่านใหม่อีกรอบในต่างกรรมต่างวาระ โดยเฉพาะในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่จู่ๆ ปาหี่การเมืองอันยืดเยื้อก็เปิดจบปานฟ้าแล่บ จนรู้ซึ้งขึ้นมา (อีกครั้ง) ว่า ปัญหาใดๆ ในบ้านเมืองนี้ ถ้ามันไม่ก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่เพราะเราไม่มีปัญญาทำมัน แต่เป็นเพราะคนกลุ่มหนึ่งต้องการให้มันย่ำอยู่อย่างนี้ แม้เราส่งเสียงและเลือกทำตามความปรารถนาของเราไปอย่างชัดเจน ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะ ‘ได้รับอนุญาต’ ให้สร้างดอกผลอะไรจากแรงปรารถนานั้น บางครั้ง ‘ความเป็นไปไม่ได้’ คือปัจจัยภายนอกที่เกินกำลังปัจเจกคนหนึ่งจริงๆ

ในฐานะควายแดง ผู้เคยสวามิภักดิ์ต่อพรรคเพื่อไทยก็ย่อมรู้สึกเจ็บลึกๆ เป็นธรรมดา ไม่เคยคิดแบกและไม่ขอประณามก่นด่าอะไรหรือใครทั้งนั้น ไม่เสียดายกับความเชื่อที่เคยมีให้ แต่หากภายหลังความรักกลายเป็นความเขลาขึ้นมา เราก็ขยี้ความเชื่อเก่าให้มันแหลกลาญด้วยน้ำมือตัวเองได้เหมือนกัน

หวังว่า การประกอบร่างใหม่ในครั้งนี้ แรงปะทะใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้เราอ่อนแรงลงได้ สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือ คำถามต่อ commitment ของตัวเอง ต่อเวลาและแรงกำลังว่าจะใช้ไปกับ ‘อะไร’ และ ‘ใคร’

พี่หนึ่งคะ งานเปิดตัวหนังสือ The Fabulist ในคืนนั้นได้ทำหน้าที่ดีที่สุดที่มันจะทำได้แล้ว รู้สึกขอบคุณการโอบกอดและความเข้าใจที่ได้จากหลายคนในวันนั้น แต่พลุสว่างวาบอยู่ไม่พ้นข้ามคืนเหมือนอย่างที่เรารู้กัน มาร่วมทำงานท่ามกลางความมืดกันต่อไป มาร่วมสร้างงานจากทรัพยากรที่เราหามาได้ ทรัพยากรที่ควรจะเป็นของทุกคนตั้งแต่แรก — เรารู้กันอยู่เต็มอกว่า เราไม่ได้ทำงานเพราะปรารถนาจะใหญ่เป็นโต [มึงคิดจริงๆ เหรอว่า กูอยากได้อะไรที่ไร้ค่าไร้ราคาต่อหน้าความตายแบบนั้น ?] และมาถึงตอนนี้ เราน่าจะหมดภาระที่จะอธิบายหรือพิสูจน์อะไรต่อใครแล้วด้วย

 

What can I do to myself? Bones
and dusty skin. Heavy eyes twisted
between the adequate thighs of all
humanity (a little h). strumming my head
for a living. Bankrupt utopia sez tell me
no utopias. I will not listen. Except the raw wind
makes the hero’s eyes close, and the tears that come out
are real.

History As Process by Amiri Baraka

กลับไปหาบารากากี่ครั้งก็ได้รับพลังเหมือนเดิม – นั่นสินะ อย่าใส่ใจมหาบุรุษให้มาก ลองเงี่ยหูสดับเสียงลมที่สาดเข้าหน้านั่นดูสิ น้ำตานองหน้านั้นต่างหากคือ ‘ของจริง’

มาร่วมสร้างความงามจากความอัปลักษณ์ ความสิ้นหวัง คำหยามเหยียด ผลิบานจากความแหลกสลายเพื่อเอามาท้าทายความยะโสของ (ความเป็น) เจ้า/นาย ที่สวมทรงอยู่ในหลายร่างทรง หลายธงทางการเมือง เพื่อสลัดหลุดคู่ตรงข้ามที่ตรึงนาย-บ่าว เจ้า-ข้า ก้าวหน้า-ล้าหลัง เข้าไว้ด้วยกัน แล้วพูดกลับไปว่า–นี่ไง ไม่ใช่แค่พวกมึงที่ ‘มีวัฒนธรรม’

ดูแลรักษาตัวค่ะ

จ.
24.08.2023

 

 


 

เรื่อง จุฑา สุวรรณมงคล
ภาพ ฑิฆัมพร ธรรมเที่ยง


เกี่ยวกับผู้เขียน: จุฑา สุวรรณมงคล ก่อตั้ง ‘ซอย’ ในปี 2020 ทำงานกับตัวหนังสือและสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมตัวมัน

You may also like...