the letter

ตึงๆ กับเมีย เพลียๆ กับธุรกิจ ติดๆ กับอนาคต

สวัสดีครับพี่หนึ่ง

สองสามวันมานี้ กิจวัตรปฏิบัติยามค่ำคืนของผมผิดเพี้ยนไปหมด จากเข้านอนแต่หัวค่ำแล้วค่อยตื่นแต่เช้ามืด กลายเป็นเข้านอนตอนเช้ามืดตื่นอีกทีตอนสายๆ เวลานอนเปลี่ยนเพราะอารมณ์แปรปรวน ตึงๆ กับเมีย เพลียๆ กับเรื่องธุรกิจ ติดๆ กับเรื่องอนาคต ครับ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อกับเรื่องบ้านและเกาะที่เราจะอยู่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ตั้งแต่หลายปีก่อนที่พวกเราเกริ่นกับหลายคนว่าอยากย้ายประเทศ (พร้อมๆ กับกระแสคนไทยอยากย้ายประเทศนั่นแหละครับ) ใครต่อใครก็มักบอกว่าน่าจะง่าย แพทย์เป็นอาชีพที่ประเทศไหนก็ต้องการ สมัครๆ ไปเดี๋ยวก็ได้ เอาเข้าจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น พรมแดนหรือกำแพงระหว่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องพาสปอร์ตและวีซ่า ผมเข้าใจว่าภาษาคือหนึ่งในปัจจัยชี้ขาดหลักเวลาคนจะย้ายงานข้ามประเทศ งานอะไรก็ใช้ภาษาทั้งนั้น แต่กับงานบางงาน ความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาษา’ นี่แหละ อาจเป็นตัวชี้ชะตาระหว่างความเป็นกับความตาย 

หมอผ่าตัดนั้นไม่ได้ทำแค่เฉือนหรือตัด มันมีขั้นตอนการซักประวัติและสอบถามอาการคนไข้ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด มีการปรึกษาหารือกับหมอเฉพาะทางด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการสื่อสารกับทีมหมอดมยาและพยาบาลระหว่างการผ่าตัด ภรรยาผมซึ่งมีโอกาสได้สัมภาษณ์งานทางออนไลน์กับโรงพยาบาลในออสเตรเลียไปหนึ่งครั้ง คงจะไม่สามารถสร้างความประทับใจด้านการสื่อสารให้กับโปรเฟสเซอร์ชาวออซซี่ได้ เลยตกสัมภาษณ์ไปในครั้งนั้น (นี่ผมเดาเอาเอง)

อาซีพหมออาจไม่ใช้ภาษามากเท่าอาชีพนักเขียนหรือทนาย แต่เราก็เห็นได้ว่าการเคลื่อนย้ายงานระหว่างประเทศในสาขาอาชีพนี้มีค่อนข้างน้อย และถ้าจะมีจริงๆ ก็มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ยังอายุไม่มากเท่าไร แต่ไม่เป็นไรครับ ผมยังมีความหวังด้วยการรอและผลักดันภรรยาให้สมัครเป็นหมอในต่างประเทศให้ได้ ตัวเองพร้อมเสมอที่จะเป็นผู้ติดตามที่ดี คอยทำงานบ้านและดูแลลูกชาย 555

สองวันหลังอาการโรคนอนไม่หลับ ผมตัดสินใจลองหาวิธีแก้แบบที่ไม่ต้องกินยานอนหลับหรือดูดกัญชา เช้าวันหนึ่งผมเดินไปหาดีนแล้วบอกกับลูกพี่ว่า ของานทำหน่อย เอาแบบที่ใช้แรงให้พอได้เหงื่อนะ

สายๆ วันถัดมาหลังจากจิบกาแฟและดูดยาตัวสองตัวกับดีนในตอนเช้า ผมเดินเข็นเครื่องตัดหญ้าไปมาบนสนามหญ้าที่อยู่หลังบ้านเช่าของเรา เข้าท่าอยู่เหมือนกันแฮะ ได้เหงื่อและรู้สึกสงบไปพร้อมๆ กัน เสียงเครื่องยนต์ที่หมุนใบมีดใต้เครื่องตัดหญ้าสร้างจังหวะดั่งกับการสวดมนต์ภาวนาของนักพรต เสียเหงื่อแต่ได้สมาธิตั้งแต่เช้า ยิ่งพอได้มากินข้าวเที่ยงแสนอร่อยฝีมือภรรยาอย่างแกงคั่วเห็ดแครง ไข่เจียว และข้าวสวยร้อนๆ นั่นก็พอทำให้อารมณ์ที่ขุ่นมัวใสกระจ่างขึ้นมาหน่อย

คู่รักนั้นทะเลาะกันได้จากนานาสาเหตุ แต่วิธีการขอโทษนั้นอาจมีไม่กี่วิธี คนเราพออยู่ด้วยกันมานาน การกระทำบางอย่างอาจมีความหมายและคุณค่ากว่าคำพูดขอโทษหรือขอบคุณ คนเลือกกินอย่างผม พอภรรยาลงมือปรุงอาหารถูกปากให้สักหน่อย ก็คล้ายจะมีค่าเท่ากับการเอ่ยขอโทษสักยี่สิบครั้ง ปัญหาอยู่ที่ผมซะมากกว่า ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่เชี่ยวชาญพอที่จะขอโทษให้ดีกว่าการใช้แค่ปากพูด

ตกบ่ายดีนชวนไปช่วยล้อมรั้วพื้นที่ๆ เคยเป็นอาคารบ้านพักซึ่งถล่มลงมาเมื่อเดือนก่อน ได้ไปยืนตากแดดยิงแม็คยึดสแลนสีเขียวๆ กับโครงไม้ให้เหงื่อออกและแสบหลัง ระหว่างทางไปและกลับไซต์งานผมเล่าระบายความทุกข์ใจให้กับเพื่อนบ้านซึ่งปกติมักจะพูดมากกว่าฟังบ้าง นั่นก็พอทำให้ใจร่มๆ ลงไปได้อีก

ตกหัวค่ำก็พาตัวเองเข้านอนและหลับสนิทจนถึงเช้า วันรุ่งขึ้นผมตื่นมาตีห้าแล้วรีบขี่รถมอไซค์ไปท่าเรือเพื่อทักทายและลงเรือกับพี่วัฒน์ เพื่อนชาวประมงพื้นถิ่นที่มีคิวออกเรือไปเก็บอวนปูในวันนี้ 

ครั้งนี้แกพาพวกอีกสองคนมาช่วยงาน คนใต้ เวลาแหลงอะไรกันนี่ผมฟังแทบไม่รู้เรื่อง เห็นพวกเค้าคุยกันต่อหน้านี่ยังพอเดาและจับเนื้อความได้จากสีหน้าและแววตา แต่เวลาพี่วัฒน์คุยวิทยุสื่อสารกับชาวประมงในเรือลำอื่นๆ นี่สิ หูผมหนวกพอๆ กับฟังฝรั่งคนอังกฤษแท้ๆ คุยกันเอง คือแม่งไม่เข้าใจเลย ทั้งๆ ที่แม่งก็พูดภาษาอังกฤษนี่แหละ คือมันเต็มไปด้วยแสลง ความทรงจำร่วมทางวัฒนธรรม และสำเนียงต่างๆ นี่ทำให้ผมคิดได้ว่านอกจากภาษาอังกฤษที่ต้องฝึกฝนอีกเยอะแล้ว ภาษาใต้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งที่ผมควรฝึกไว้บ้างระหว่างที่อยู่พะงัน 

เด็กฝรั่งหรือเด็กลูกครึ่งที่นี่บางคนน่าจะเข้าใจภาษาใต้ดีกว่าผมเยอะ บางทีเวลาผมเห็นหรือได้ยินพวกเขาพูดไทยสำเนียงทองแดง ก็อดนึกชื่นชม ตลก และหัวเราะไม่ได้ 

เวลาที่มนุษย์พูดอะไรกันอย่างออกรส นั่นจะเป็นเวลาที่พวกเขาเปล่งสำเนียงกำเนิดหรือสำเนียงที่เคยชิน ถ้าเราเข้าใจภาษานั้น อารมณ์ของบทสนทนาก็จะลื่นไหลต่อเนื่อง การเอ่ยถามว่าเค้าพูดว่าอะไร หรือ pardon แม้ว่าจะควรทำในฐานะผู้ฟังที่สนอกสนใจ แต่ก็อาจขัดจังหวะการสนทนาซึ่งทำให้เสียโอกาสรู้จักคนหรือเรื่องราวในวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างแท้จริงอีก ว่าแล้วก็ขออนุญาตจบบทสนทนาทางจดหมายอย่างดื้อๆ เพียงเท่านี้ ลูกพี่ดีนเรียกไปช่วยย้ายนั่งร้านเพื่อต่อเติมอะไรสักอย่างในบ้านหลังใหม่

 

ด้วยมิตรภาพ

จ๊อก

ปล. วันก่อนเห็นลูกปลาสอดซึ่งทุกวันนี้มีอยู่หลายสิบตัวในบ่อ เจ้าตัวหนึ่งกระดูกสันหลังไม่ตรง มันว่ายบิดๆ เอียงๆ ขึ้นมากินอาหารร่วมกับตัวอื่นๆ เห็นแล้วอดนึกและคิดถึง ‘หมาป่า ผู้หิวโหยหนังสือ’ ไม่ได้ แปลกดีนะครับ ครั้งหนึ่งเจ้าลูกชายผมก็เคยพบกับแก ศิลป์เรียกว่า ‘ลุงปลาทอง’ น่าจะแปร่งและเพี้ยนมาจากชื่อที่พวกเราเรียกแกว่าเรืองรองนั่นแหละ 55

 

 

nandialogue

 

 

ตอบ จ๊อก

คนที่เรียนรู้ภาษาอื่นได้เก่งมากสำหรับเราคือ ไผ่ (ไม้หนึ่ง)

ไปอยู่ลาวสี่ห้าเดือน พูดคล่อง โอเค ไทยกับลาวมันใกล้กัน ใครๆ ฟังก็เข้าใจ ข้อสังเกตนี้ถูกและผิด ลาวแบบลึกฟังไม่ง่ายนะ ยิ่งถ้าลองพูดก็จะรู้ ยิ่งกับคนไม่เคยฝึก ไม่ให้ใจ ลิ้นมันแข็ง พูดยังไงก็ไม่คือ แต่ไผ่ทำได้เร็ว ทำได้ดี และที่เราบอกว่าไผ่เก่งก็คือพอย้ายไปอยู่กัมพูชาเพียงไม่นาน ก็พูดจาสื่อสารได้คล่องแคล่ว เรานี่โตมาในหมู่บ้านที่พูดสามภาษานะ คือไทย (โคราช) ลาว และขะแมร์ แต่ทั้งลาวและขะแมร์นี่หูไม่กระดิก เรียกว่าความรู้เป็นศูนย์ เหตุผลคงเพราะนิสัยไม่ใช่คนขวนขวายแสวงหาความรู้ พอบวกกับสันดานคนไทย (รัฐไทย) ที่สั่งสอนกันมาทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจให้ ‘เหยียด’ ประเทศพื้นบ้าน ก็เป็นอันว่าจบข่าว คุณลองดูสิว่า พม่าอยู่แค่นี้ มีพรรคพวกเราคนไหนพูดภาษาเขาได้บ้าง คือแม่งโคตรแปลก บ้านอยู่ติดกันแท้ๆ

เคล็ดลับของไผ่ เวลาพูดขะแมร์คือให้นึกถึงราชาศัพท์ เขาเป็นนักเรียนวรรณคดีด้วยไง พื้นก็เลยค่อนข้างแน่น ที่เราฮามากๆ มันบอกว่าถ้าจวนตัว นึกอะไรไม่ออกจริงๆ ให้พูดไทยไปเลย อันนี้เป็นท่าไม้ตาย คือไม่ว่าคุยกับจีน ลาว ฝรั่ง ไผ่พูดไทยใส่ ประมาณว่ายืนยันความคิด ‘คนเท่ากัน’ ด้วย ก็ทีมึงยังพูดภาษามึง กูก็พูดภาษากูนี่แหละ ไม่มีใครใหญ่หรือใครสำคัญกว่าใคร การส่งเสียงออกไปบ่งบอกว่าพยายาม พอพยายาม เดี๋ยวความเข้าใจก็จะค่อยตามมา

เคยมองพี่วัฒน์ แกก็อยู่ลาวนานปี แต่เวลาพูดก็กล้อมแกล้มน่ะ เราว่าแกไม่เก่ง ไม่มีใจฝึกฝน เหตุผลก็อย่างที่รู้ๆ กันนั่นแหละ คนหนีตายมา แค่เอาตัวรอดไปวันๆ มันก็ไม่ง่าย ไหนจะมีการงานภายในใจ priority คือเรื่องอื่น ภาษาก็เอาพอผ่านๆ ไม่ทุ่มเท ไม่ซีเรียสกับมัน

ย้อนมองตัวเอง อยู่น่านมาห้าปีกว่า เราก็พูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้เลย ไม่มีความพยายามด้วย ภาษาน่านคล้ายภาษาลาว ที่เหมือนเข้าใจง่ายๆ แต่ไม่จริงเลย เวลานั่งอยู่ในหมู่คนน่านออริจินัล เราก็ใบ้แดก ฟังอะไรแทบไม่รู้เรื่อง สัมภาษณ์บางคนยังถึงขั้นต้องมีคนช่วยแปล ไม่งั้นไม่เข้าใจ เพราะศัพท์แสงเฉพาะมีมากมาย คงคล้ายๆ คุณ เวลาพลัดหลงไปอยู่ในวงคนใต้ กระทั่งคนอังกฤษที่มองผิวเผินควรจะรู้เรื่องใช่มั้ย เออ มันมีมุมที่เรายังไม่เข้าใจอีกมาก

เราน่าจะอยู่ในกลุ่ม ‘เลือกที่รัก มักที่ชัง’ คืออันไหนไม่สนใจก็ว่างเปล่า ไม่มีแรง ไม่มีใจ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น (เช่น ภาษาจีน ยอมจริงๆ ทั้งรูปและเสียง สติปัญญาอย่างเราเรียนรู้ไม่ได้เลย) แต่ถ้าเป็นฝรั่งเศสที่เรียนอยู่ (ที่จริงก็สนใจอยู่อย่างเดียว สมองมีเท่านี้) รู้สึกว่ามันสนุก อย่างที่เคยเปรียบเปรยบ่อยๆ ว่าเหมือนเตะบอล เหมือนกินเบียร์ คือความเบื่อหน่ายเป็นยังไง ไม่รู้จัก ก็หวังว่าจะสนุกตลอดไป เราไม่มีเป้าหมายกับมันในเชิงทำข้อสอบ หรือต้องผ่านการวัดผลระดับนั้นระดับนี้ (เลยวัยแล้วป่ะ) เราเรียนในความหมายที่รักที่ชอบอยู่กับมัน ใช้เวลากับมัน เป็นวิถีชีวิต (น่าจะเหมือนกินเบียร์จริงๆ) คล้ายเราเป็นคนรักต้นไม้ แค่อยู่ใกล้หรือได้มองก็เพลินน่ะ พึงพอใจที่ได้อยู่ใต้ร่มเงา และถ้าวันหนึ่งจะได้เก็บเกี่ยวหรือดื่มกินผลผลิตมันด้วย ก็ดี เป็นผลพลอยได้ที่ไม่คาดหวัง เพราะทุกๆ วันที่อยู่กับมันเราก็สนุกทุกนาที รื่นรมย์เบิกบานที่ได้รู้ ได้เห็น ได้ซึมซับเรื่องเล่ามุมมองใหม่ๆ ตลอดเวลา

บางคนเคยพูดว่าคงดี ถ้าโลกทั้งใบใช้ภาษาเดียวกัน ประมาณว่าจะได้ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาเรียน เจอหน้าก็คุยรู้เรื่อง เข้าใจกันหมด

ฟังทีแรกก็เคลิ้มนะ เห็นด้วย แต่พอคิดจริงจังขึ้น เราว่าธรรมชาติออกแบบมาดีแล้ว ลงตัวแล้ว มันไม่จริงเลยว่าพูดภาษาเดียวกันจะเข้าใจกัน ทั้งที่มันง่ายมาก แต่ความจริงคือคนไม่ฟัง ยังไงก็ไม่ฟังอยู่ดี คนไม่อ่าน ยังไงก็ไม่อ่านอยู่ดี ที่สุดก็คือไม่เข้าใจกัน ภาษาที่แตกต่างเป็นจุดเริ่มต้นของแบบฝึกให้เรารู้จักเคารพผู้อื่น ถ้าอยากรู้จัก อยากเข้าใจ ก็ต้องใช้แรง ใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ ความเข้าใจภาษาใหม่ทีละน้อยนั่นเองที่เป็นประตูหัวใจ เปิดไปสู่การฟัง การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย กล่าวอย่างสั้นๆ ภาษาเป็นแค่สิ่งเดียวที่สะท้อนความแตกต่าง แท้จริงมีอีกหมื่นแสนล้านเรื่องที่มนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกันเลย การจะเข้าไปรู้จัก สัมพันธ์ หรือรู้สึกรัก จึงต้องใช้การศึกษาเรียนรู้เท่านั้น การฝึกฝนภาษาใหม่มันคือหลักฐานว่าเราพร้อมแล้วที่จะเปิดใจ ลงแรง น้อมรับ และเคารพกัน แน่นอนว่าเมื่อใครคนหนึ่งถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เรื่องอื่นๆ ก็ไม่น่าจะยาก.


เกี่ยวกับผู้เขียน : จ๊อก (ชัยพร อินทุวิศาลกุล) เป็นคนทำโรงพิมพ์ที่สนใจศิลปะ วรรณกรรม และสังคมการเมือง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทศกาลหนังสือเล็กๆ หลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มานานปี วันนี้ตัดสินใจย้ายไปเป็นชาวเกาะพะงัน

You may also like...